ใครเคยมาขึ้นรถไฟที่บางซื่อบ้าง ขอดูมือหน่อย!

ฮั่นแน่! เห็นนะว่ามีคนแอบยกมือน่ะ

สถานีรถไฟบางซื่อกับตัวเราผูกพันกันมานานแสนนานนนน ไม่ได้หมายความว่าเราสิงสู่อยู่กับสถานีนี้มาตั้งแต่วันแรกที่เปิดสถานีนะ อันนั้นดูน่ากลัวไปนิดหนึ่ง เหมือนเป็นเจ้าที่เจ้าทาง จริงๆ แล้วเรากับสถานีบางซื่อผูกพันเกี่ยวโยงกันมาเพราะว่าที่นี่เหมือนเป็นเซฟโซนสำหรับเรา 

คนบ้าอะไรมีเซฟโซนเป็นสถานีรถไฟ เคยสงสัยตัวเองเหมือนกัน แต่พอคิดไปคิดมาแล้วเวลาที่จะไปต่างจังหวัดก็มาขึ้นที่นี่ เวลาเซ็งๆ ตอนเรียนก็มานั่งดูรถไฟที่นี่ เวลาเบื่อๆ ตอนทำงานก็มานั่งเล่นที่นี่ มิหนำซ้ำ ตอนที่นัดเพื่อนก็ต้องนัดที่นี่… 

สถานีรถไฟบางซื่อก็เลยเหมือนแหล่งหลบภัย พื้นที่นั่งส่องรถไฟ รวมถึงพื้นที่บำบัดจิตใจยามโศกศัลย์

แล้วจะไม่ให้เล่าเรื่องของที่นี่ได้ยังไงกันล่ะ

ชุมทางบางซื่อ

สถานีรถไฟบางซื่อ คือชื่อตามทะเบียนราษฎร์ของการรถไฟฯ เกิดตั้งแต่ 26 มีนาคม 2439 อายุอานามก็ 120 กว่าปีเข้าไปแล้ว ความน่าภูมิอกภูมิใจกับสถานีนี้คือ เป็น 1 ใน 10 สถานีแรกของประเทศไทยพร้อมๆ กับการเดินรถไฟครั้งประวัติศาสตร์อีกด้วยนะ 

มันทำหน้าที่เป็นสถานีรถไฟระหว่างทางมาเรื่อยๆ จนในสมัยรัชกาลที่ 6 การรถไฟฯ มีแผนเชื่อมทางรถไฟสายใต้ ซึ่งเมื่อก่อนมีสถานีบางกอกน้อยเป็นต้นทางให้วิ่งเข้ามาถึงสถานีกรุงเทพได้

วาดแผนที่ปร๊าดๆ หวยก็มาออกที่สถานีบางซื่อที่มีชัยภูมิงดงามในการสร้างทางแยกเพื่อไปต่อกับทางรถไฟสายใต้ที่สถานีตลิ่งชัน สถานีบางซื่อจึงได้ยศพิเศษนำหน้าเป็น ‘สถานีชุมทางบางซื่อ’ ซึ่งคำว่า ชุมทาง หมายถึงสถานีรถไฟที่ทำหน้าที่เป็นทางแยกนั่นเอง

ชุมทางบางซื่อ

หลังจากที่สถานีกรุงเทพคับแคบจากขบวนรถโดยสารและรถสินค้าที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ การรถไฟฯ จึงหาทางออกโดยการจัดสรรพื้นที่ของบางซื่อที่เป็นทุ่งกว้าง (มาก) เนรมิตให้เป็นพื้นที่หลักของการรับส่งสินค้าทางรถไฟ เจ้ารถสินค้าทั้งหลายก็เลยต้องอัปเปหิตัวเองออกจากสถานีกรุงเทพริมคลองผดุงกรุงเกษมมาอยู่ที่บ้านใหม่ริมคลองบางซื่อ แล้วทิ้งให้รถโดยสารทั้งหลายยึดครองสถานีกรุงเทพแทน 

สถานีชุมทางบางซื่อโฉมใหม่ในยุคนั้นก็เมกโอเวอร์ตัวเองจากสถานีเล็กๆ ไซส์เจียมเนื้อเจียมตัว กลายเป็นสถานีขาใหญ่คุมย่านพหลโยธินและจตุจักร มีสถานีรถโดยสาร ย่านรถสินค้า พื้นที่รับส่งสินค้า โรงรถจักร บ้านพักพนักงาน เป็นนครย่อมๆ ที่ตั้งอยู่ด้านทิศเหนือของกรุงเทพฯ ชุมชนรอบข้างสถานีรถไฟบางซื่อก็เติบโตขึ้นตามกาลเวลาที่ผ่านไป จนสถานีบางซื่อกลายเป็นสถานีรถไฟที่สำคัญรองลงมาจากสถานีกรุงเทพ

สถานีรถไฟบางซื่อ

ในปี 2532 สถานีบางซื่อโดนแยกเป็น 2 อาคาร มันก็คล้ายๆ การแบ่งเทอร์มินัลของสนามบิน นั่นเป็นเพราะว่าสถานีบางซื่อออริจินัลนั้นรองรับรถไฟที่มีปริมาณมากขึ้นทุกวัน และมาอัดกันในสถานีเดียวไม่ไหวแล้ว โดยเฉพาะตอนช่วงเวลาเร่งด่วนที่รถไฟสายเหนือ สายอีสาน สายใต้ ดาหน้ากันเข้ามาจอดที่สถานีในแทบทุกๆ 5 นาที

สถานีรถไฟบางซื่อ

สถานีบางซื่อ 1 

เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กรูปแบบทันสมัยตามสไตล์อาคารในยุค 70 มีชานชาลากว้างขวาง มีต้นไม้ให้ความร่มรื่นปลูกอยู่กึ่งกลางของชานชาลาที่ถูกล้อมรอบไว้ด้วยทางรถไฟขาขึ้นและขาล่อง ด้านทิศเหนือมีสะพานกึ่งปูนกึ่งไม้ที่ทอดยาวมาจากถนนเทอดดำริห์ข้ามทางรถไฟมาแลนดิ้งตรงกลางชานชาลาพอดิบพอดี ให้คนใช้สัญจรได้อย่างปลอดภัยโดยไม่ต้องหิ้วข้าวของข้ามทางรถไฟ

ชุมทางบางซื่อ

สถานีบางซื่อ 2 

เป็นอาคารคอนกรีตขนาดเล็กพร้อมหลังคาชานชาลายาวเหยียดสุดลูกหูลูกตา ตัวสถานีตั้งอยู่ติดกับโรงงานปูนซีเมนต์ไทย และจำได้ขึ้นใจว่ามันมีเซเว่น อีเลฟเว่น

ทั้งสองสถานีแยกออกจากกันเพื่อทำคนละหน้าที่ สถานีบางซื่อ 1 ใช้งานสำหรับรถไฟสายเหนือ สายอีสาน และสายใต้ ส่วนสถานีบางซื่อ 2 ใช้งานเฉพาะรถเร็วสายใต้ ก่อนจะให้รถไฟสายใต้ทั้งหมดมาใช้งานที่นี่ ทิ้งให้บางซื่อ 1 รับแขกเฉพาะสายเหนือกับสายอีสานเท่านั้น

การแยก 2 สถานีนั้นสร้างผลดีพอสมควร เพราะปริมาณผู้โดยสารถูกแยกออกจากสายของขบวนรถ ไม่แออัดกันในสถานที่ที่จำกัด นอกจากนั้น เวลาที่รถไฟ 2 สายเข้ามาในเวลาไล่เลี่ยกันก็ไม่ต้องพะวงว่าจะไม่มีชานชาลาให้เข้าเพราะเรามีถึง 2 สถานีแล้ว

สถานีรถไฟบางซื่อ

การเปลี่ยนแปลงอีกครั้งเป็นสิ่งที่ยิ่งตอกย้ำว่าบางซื่อไม่ใช่แค่สถานีกลางทาง เมื่อมีการย้ายรถธรรมดาและรถเร็วสายเหนือกับสายอีสานมาใช้ต้นทางที่สถานีบางซื่อแทนสถานีกรุงเทพ เพื่อลดปัญหาการจราจรที่เขาอ้างว่ารถติดเพราะรถไฟ ทำให้รถไฟบ้านตาคลี สุรินทร์ นครราชสีมา หนองคาย และอุบลราชธานี ต้องระเห็จมาตั้งต้นทางที่นี่ และยิ่งรถไฟฟ้า MRT เปิดใช้แล้วยิ่งทำให้การเดินทางมาต่อรถไฟง่ายขึ้น รวมถึงการใช้สถานีบางซื่อเพื่อเป็นสถานีสำรองเวลาที่รถไฟไม่สามารถใช้สถานีกรุงเทพได้ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่าที่นี่เป็นสถานีสำคัญจริงๆ

สถานีรถไฟบางซื่อ
สถานีรถไฟบางซื่อ

แอบบอกไปตอนแรกแล้วว่าที่นี่คือเซฟโซนของเรา

สำหรับเรา บางซื่อคือที่สังสรรค์กับเพื่อน ที่นั่งดูรถไฟ ที่หลบภัยมารดา และที่ถ่ายรูปรถไฟชั้นดี

ความตลกอย่างหนึ่งที่เราถูกจับโป๊ะจากที่บ้านได้คือตอนที่เรียนมหาวิทยาลัย 

ด้วยความอยากนั่งรถไฟจัด วันไหนเรียนคาบบ่ายก็ต้องมาที่สถานีบางซื่อเพื่อนั่งรถไฟจากบางซื่อไปดอนเมือง แล้วต่อรถเมล์สาย 538 ไปคลองหก ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเรานั่งรถเมล์สาย 538 จากบ้านที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปคลองหกเลยยังง่ายกว่า

แต่แฟนพันธุ์แท้รถไฟต้องคงคอนเซปต์ ลำบากแค่ไหนถ้าใจเราสู้การนั่งรถไฟเพื่อไปต่อรถเมล์ก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไร แถมเลิกเรียนแล้วก็ไปนั่งเล่นดูรถไฟที่สถานีจนมืดค่ำแล้วค่อยกลับบ้าน ซึ่งแม่ก็สงสัยตั้งแต่ตอนเรียนแล้วว่า เรียนบ่ายทำไมออกจากบ้านแต่เช้าแล้วกลับบ้านซะมืดค่ำ แม่เก็บความสงสัยเอาไว้อย่างเนิ่นนานจนโป๊ะแตกที่มีคนไปเจอที่สถานีรถไฟแล้วเอามาบอกแม่ 

แม่โกรธจ้ะ เคืองมากที่บ้านช่องไม่กลับ แต่ลูกก็ยังทำเหมือนเดิมจนแม่ใจอ่อน (หรือระอาก็ไม่รู้) แม่ก็เลยสถาปนาสถานีชุมทางบางซื่อให้เป็นบ้านหลังที่ 3 ถ้าวันไหนลูกชายหายออกจากบ้านอนุมานไว้เลยว่าจะหาตัวเจอได้ที่สถานีบางซื่อ ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่เลิกนิสัยนี้นะ

สถานีรถไฟบางซื่อ

สิ่งที่ทำให้เราผูกพันกับที่นี่คงเป็นความโปร่งโล่งสบายของสถานที่ที่กว้างใหญ่ มองไปทางไหนก็เจริญหูเจริญตา ไหนจะมีรถไฟวิ่งขวักไขว่ให้เห็นแบบสบายๆ ไม่แออัดเหมือนในเมือง จึงก่อให้เกิดงานอดิเรกที่เรียกว่า ‘นั่งดูรถไฟ’ 

กว่า 10 ปีที่เรา ‘นั่งดูรถไฟ’ เราเห็นวงจรชีวิตของสถานีที่เกิดขึ้นซ้ำไปซ้ำมาจนกลายเป็นชีวิตประจำวันของมันเหมือนตารางเรียนที่นักเรียนทุกคนต้องเข้าเรียนอย่างเคร่งครัด

ชุมทางบางซื่อ

รถไฟขาเข้าจากสายต่างๆ เริ่มทยอยเข้ามาตั้งแต่เช้ามืด ขบวนแรกเปิดตลาดที่ตี 3 ครึ่งและเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงอรุณเบิกฟ้านกกาโบยบิน มวลมหาประชาชนที่มาจากทั้งต่างจังหวัดและชานเมืองต่างก็กรูกันเข้ามากับรถไฟขบวนต่างๆ เพื่อมาทำหน้าที่ของตัวเอง โดยส่วนใหญ่แล้วเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ของทั้งขบวนลงที่บางซื่อ บ้างก็มาต่อรถแท็กซี่กลับบ้าน บ้างก็มาต่อรถไฟฟ้า MRT เพื่อไปที่หมายใหม่ บ้างก็เคลื่อนย้ายจากบางซื่อ 2 ไปบางซื่อ 1 เพื่อต่อรถไฟอีกขบวนไปสายอื่น พอตกสายก็จะเริ่มมีรถไฟขบวนเปล่าจากสถานีกรุงเทพมาเก็บตัวเพื่อพักระหว่างวัน 

ราวๆ บ่ายความโกลาหลก็เริ่มต้นขึ้นเมื่อรถไฟสายใต้ที่มุ่งหน้าสู่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เริ่มออกเดินทาง ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่รถเปล่าค่อยๆ ทยอยเข้าสถานีกรุงเทพ

พอตกช่วงเย็นเป็นคิวของรถไฟชานเมือง มวลมหาประชาชนที่ลงรถไฟไปเมื่อเช้าเป็นกองทัพก็กลับมาที่สถานีบางซื่อทั้ง 1 และ 2 อีกครั้ง ก่อนจะจับรถไฟชานเมืองกลับบ้านเพื่อพักผ่อนหลังจากที่เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้ากับการงานมาแล้วทั้งวัน 

สถานีรถไฟบางซื่อ
สถานีรถไฟบางซื่อ

ช่วงหัวค่ำรถไฟทางไกลสายต่างๆ เริ่มเดินทาง ทั้งสองสถานีเต็มไปด้วยผู้โดยสารที่หอบหิ้วสัมภาระมาเพียบ หลายคนมาเริ่มต้นการเดินทางที่นี่ ช่วงเวลาตั้งแต่ 5 โมงเย็นลงจนถึง 3 ทุ่ม คือช่วงเวลาที่วุ่นวายที่สุดของสถานี ขบวนรถขึ้นเหนือล่องใต้ไปอีสานเข้ามาจอดที่ชานชาลากันอย่างไม่ขาดสาย ก่อนจะเริ่มเบาบางลงหลัง 3 ทุ่มและขบวนสุดท้ายช่วงก่อนเที่ยงคืน หลังจากนั้นสถานีบางซื่อก็กลับไปสู่โหมดพักผ่อนเพื่อรอรับรถไฟขาล่องเที่ยวแรกที่จะเดินทางมาถึงในช่วงตี 3 ของวันถัดไป เป็นวงจรแบบนี้ทุกๆ วัน 

ถ้าเป็นตารางเรียน นี่คงเป็นคลาสที่เรียนได้โหดสุดๆ ไปเลยล่ะ

การสร้างรถไฟสายสีแดงช่วงบางซื่อ–รังสิต และสายสีแดงอ่อนช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน

ปี 2552 เริ่มมีการสร้างรถไฟสายสีแดงช่วงบางซื่อ–รังสิต และสายสีแดงอ่อนช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน เพื่อพัฒนาโครงข่ายระบบรถไฟชานเมืองและรถไฟพื้นฐานให้แข็งแกร่งขึ้นตามการเจริญเติบโตของเมือง การรถไฟฯ เองต้องการเพิ่มรอบรถไฟชานเมืองออกไปทางทิศเหนือและทิศตะวันตกให้มีรอบมากขึ้น ทางรถไฟเดิมจึงต้องรองรับประชากรรถไฟที่เพิ่มขึ้นให้ได้ สถานีบางซื่อก็เลยเหมือนหวยออกให้อัปเกรดสถานีใหม่ยิ่งใหญ่กว่าเดิมภายใต้ชื่อสถานีกลางบางซื่อ เพื่อเป็นตัวตายตัวแทนสถานีรถไฟกรุงเทพ

พื้นที่ย่านพหลโยธิน (ย่านรถสินค้า) ถูกกำหนดให้เป็นอาคารสถานีกลางบางซื่อ ส่วนอีกฟากหนึ่งของทางด่วนตรงโรงปูนหลังเจเจมอลล์เป็นพื้นที่ซ่อมบำรุง สถานีรถไฟบางซื่อ 1 และ 2 จะถูกปรับให้เป็นถนนทางเข้าสถานีจากฝั่งเตาปูนและถนนโลคอลโรด

เมื่อกำหนดจุดแล้วการก่อสร้างก็เริ่มขึ้นทันที การรถไฟฯ มีมติให้ยกเลิกสถานีชุมทางบางซื่อ 1 และย้ายทุกอย่างไปรวมกันที่สถานีชุมทางบางซื่อ 2 

สถานีรถไฟบางซื่อ

สถานีชุมทางบางซื่อ 1 ยุติบทบาทของตัวเองลงในเวลา 09.00 น. ของวันที่ 15 สิงหาคม 2559 หลังจากที่รับใช้ประชาชนมาร่วม 120 ปี ตั้งแต่เป็นสถานีไม้จนกลายเป็นสถานีคอนกรีต รถไฟขบวนสุดท้ายที่จอดรับส่งผู้โดยสารคือรถด่วนพิเศษที่ 7 กรุงเทพ-เชียงใหม่ หลังจากรถไฟขบวนนั้นเคลื่อนออกจากสถานีก็เป็นการปิดฉากสถานีบางซื่อ 1 ลงอย่างถาวร พร้อมๆ กับการเริ่มหน้าที่ใหม่ของสถานีชุมทางบางซื่อ 2 ในฐานะสถานีชุมทางบางซื่อเพียงหนึ่งเดียว ไม่แยกอาคารอีกต่อไป

สถานีชุมทางบางซื่อ

หน้าที่ของสถานีชุมทางบางซื่อในปัจจุบันอาจไม่ต่างจากสมัยที่แยกเป็น 2 อาคาร มันเป็นบทพิสูจน์ว่านี่คือสถานีที่มีความสำคัญลำดับต้นๆ ของรถไฟไทย ด้วยตำแหน่งที่ตั้งสถานี พื้นที่ชุมชน ที่ตั้งโรงรถจักร ย่านเก็บรถโดยสาร รวมถึงสถานีจุดเปลี่ยนถ่ายระหว่างรถไฟฟ้า MRT และรถไฟทางไกล ทำให้สถานีบางซื่อยังคงมีชีวิตชีวาต้อนรับผู้คนหลากหลายที่ทั้งเป็นคนคุ้นเคยและขาจรที่เดินทางมาขึ้นรถไฟที่นี่

ภาพของผู้คนที่เดินทางสับเปลี่ยนหมุนเวียนไป  

ภาพแม่ค้าที่ขายของริมหน้าต่างรถไฟ 

ภาพของรถเมล์หลายสายที่เปลี่ยนเวียนวนเข้ามารับผู้โดยสาร ภาพของรถไฟที่เข้ามาจอดและออกไป 

ภาพมุมตัดผมฟรีที่ใครจะเข้าไปตัดก็ได้

ภาพของผู้โดยสารที่นั่งรอคอยรถไฟที่มาตรงเวลาบ้างไม่ตรงเวลาบ้าง 

ภาพของคนถือกล้องนับ 10 คน ที่กรูเข้ามาสถานีเมื่อรถจักรไอน้ำปรากฏในวันสำคัญ 

ภาพของความวุ่นวายในสถานีช่วงเทศกาลและวันหยุดยาวที่ประชาชนพร้อมใจกันเดินทางกลับภูมิลำเนา

สถานีชุมทางบางซื่อ
สถานีชุมทางบางซื่อ
สถานีชุมทางบางซื่อ
สถานีรถไฟบางซื่อ

ภาพเหล่านี้ยังคงเกิดขึ้นตลอดทุกๆ ครั้ง 

ตราบที่สถานีรถไฟแห่งนี้ยังมีลมหายใจ แม้ว่าภาพสถานีกลางบางซื่อที่ก่อสร้างอยู่จะดึงดูดความสนใจแรกเมื่อก้าวเข้ามาถึง ภาพสถานีที่ใหญ่มากจนเห็นได้ชัดแม้ยังก่อสร้างไม่เสร็จจะทำให้ผู้คนจินตนาการถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในอนาคต แต่ก็เชื่อเหลือเกินว่าเมื่อถึงวันที่เปลี่ยนถ่ายจากสถานีเก่าสู่สถานีใหม่ ความรู้สึกของคนที่ผูกพันกับสถานีรถไฟแห่งนี้จะยังคงตรึงอยู่ในความทรงจำตลอดไป แม้ว่าวันนั้นจะไม่มีสถานีชุมทางบางซื่อตั้งอยู่ตรงนี้แล้วก็ตาม

เตรียมนับถอยหลังเพื่ออำลาสถานีชุมทางบางซื่อเวอร์ชันคลาสสิกกันเถอะ

สถานีรถไฟบางซื่อ

ขอขอบคุณ : โรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ

Writer & Photographer

Avatar

วันวิสข์ เนียมปาน

มนุษย์ผู้มีรถไฟไทยเป็นเพื่อนสนิท และอยากแนะนำเพื่อนให้ชาวบ้านสนิทด้วย รักการเดินทางและชอบเดินเป็นชีวิตจิตใจ