The Cloud x Museum Siam
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือ วัดพระแก้ว เป็นหนึ่งในสถานที่ยอดนิยมประจำกรุงเทพฯ หากมาเยือนถิ่นพระนครแล้วไม่จดไว้ในลิสต์ เห็นทีจะมาไม่ถึงรัตนโกสินทร์
วัดหนึ่งเดียวในรั้วของพระบรมมหาราชวัง ไม่ได้มีเพียงพระคู่บ้านคู่เมืองอย่างพระแก้วมรกต แต่ภายในวัดเต็มไปด้วยสถาปัตยกรรม จิตรกรรม และงานศิลปกรรมแขนงต่างๆ ที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์และทางจิตใจในฐานะสมบัติแห่งชาติ ความสวยงามที่ดูอย่างไรก็ไม่มีวันครบถ้วน เราจึงเชื่อว่ายังต้องมีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่คุณอาจเคยมองข้ามไป
ลองแวะไปได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30 – 16.30 น. แล้วลองตามหามุมเหล่านี้ดู คุณอาจได้เห็นวัดพระแก้วในมุมใหม่ไม่ซ้ำใคร
นครวัดจำลอง
ปราสาทปูนย่อส่วนที่ถอดแบบนครวัดมาทุกซอกทุกมุม

ปราสาทหินจำลองแบบขอมที่ตั้งอยู่ในบริเวณวัดพระแก้ว ทำให้เรานึกย้อนเรื่องราวกลับไปในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อครั้งที่เมืองเสียมราฐยังเป็นส่วนหนึ่งของสยาม รัชกาลที่ 4 มีพระราชประสงค์ให้คนไทยเห็นถึงความมหัศจรรย์ของปราสาทหิน จึงให้ช่างไปรื้อปราสาทหินสักแห่งมาสร้างใหม่ที่พระนคร แต่คงยากเกินจะเป็นไปได้จริง พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้ช่างวัดสัดส่วนและจดบันทึกลวดลายต่างๆ ของปราสาทนครวัดทุกซอกทุกมุม ก่อนนำกลับมาสร้างด้วยซีเมนต์ แล้วนำมาไว้ที่วัดพระแก้วเพื่อให้คนรุ่นหลังได้ชม ปราสาทจำลองนี้จึงเป็นสิ่งเตือนใจให้เราจดจำว่า ครั้งหนึ่งนครวัดเคยอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ของไทย
ภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมืออาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต
ภาพวาดฝีมือศิลปินแห่งชาติที่ห้องหมายเลข 159

จิตรกรรมฝาผนังพระระเบียงวัดพระแก้ว ภาพเขียนที่ยาวที่สุดในโลก เป็นงานจิตรกรรมชิ้นเอกของไทยที่สะท้อนฝีไม้ลายมือของจิตรกรไทยที่รังสรรค์ร้อยเรียงเป็นเรื่องราวจำนวน 178 ห้อง ภาพจิตรกรรมถูกเขียนแล้วลบใหม่ขึ้นหลายครั้งที่มีการบูรณะ ไม่ใช่ภาพดั้งเดิมที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 แต่ภาพที่ปรากฏให้เราเห็นในปัจจุบันเป็นรูปแบบของศิลปะแบบสมจริง มีแสงเงาที่ใกล้เคียงธรรมชาติ รวมถึงตัวละครต่างๆ ที่มีลวดลายของกล้ามเนื้อชัดเจน ที่ห้องหมายเลข 159 เป็นผลงานของอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ผู้ได้รับยกย่องเป็น 1 ใน 52 นายช่างเอกในรอบ 200 ปีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำ พ.ศ. 2543 จึงไม่ควรพลาดการได้ดูงานของศิลปินเอกท่านนี้อย่างเด็ดขาด
ภาพกาก
ความขำขันตามจิตรกรรมฝาผนัง 178 ห้อง


ลองใช้เวลาสำรวจดูจิตรกรรมฝาผนังรอบพระระเบียงอีกสักหน่อย แล้วจะพบกับเรื่องราวอารมณ์ขันชั้นครูที่แฝงความสนุกเอาไว้ในงานจิตรกรรม ภาพเหล่านี้เรียกว่าภาพกาก เป็นภาพนอกเหนือจากโครงเรื่องหลัก จิตรกรวาดเพื่อสร้างสีสัน สะท้อนความเป็นอยู่ต่างๆ รวมถึงสื่ออารมณ์ขันปนทะลึ่ง โดยจุดสนใจของภาพส่วนใหญ่มักอยู่ตรงกลางระดับสายตา ภาพกากจึงปรากฏอยู่ที่ด้านล่างหรือไม่ก็ด้านบน ลองไปยืนทำ Photo Hunt กับภาพกากดูสักครั้ง จะช่วยสร้างสีสันให้การมาเดินชมวัดพระแก้วได้มากขึ้นทีเดียว
พระศรีรัตนเจดีย์
เจดีย์สีทองที่ถอดแบบจากเจดีย์วัดพระศรีสรรเพชญ์

พระศรีรัตนเจดีย์ จุดถ่ายรูปยอดฮิตของทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเจดีย์องค์นี้ขึ้น มีรูปแบบเป็นเจดีย์ทรงระฆังแบบลังกา โดดเด่นด้วยสีทองอร่าม นำต้นแบบมาจากเจดีย์สามองค์ของวัดพระศรีสรรเพชญ์ในพระราชวังโบราณแห่งอาณาจักรอยุธยา เพื่อสร้างเป็นเจดีย์องค์สำคัญของวัดคู่บ้านคู่เมืองแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถานที่ประดิษฐานสิ่งสำคัญอย่างพระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญมาจากลังกา
พระธยานิพุทธศิลา
โบราณวัตถุของฝากจากเกาะชวา

หากแวะชมพระมณฑปยอดปราสาท 7 ชั้น อาจสะดุดตากับพระพุทธรูปหินองค์สีดำ เนื้อผิวเป็นรูพรุนประดิษฐานอยู่ตามมุมทั้งสี่ของอาคาร เรียกว่าพระธยานิพุทธศิลา เป็นศิลปะชวาภาคกลาง ทำจากหินภูเขาไฟ ได้มาเมื่อคราวที่รัชกาลที่ 5 เสด็จฯ เยือนชวา ในระหว่างนั้นพระองค์ทรงสนพระทัยเกี่ยวกับโบราณวัตถุต่างๆ รัฐบาลฮอลแลนด์ที่ปกครองชวาอยู่ในขณะนั้นจึงน้อมเกล้าฯ ถวายพระพุทธรูปองค์นี้ ปัจจุบันเป็นรูปจำลองที่หล่อขึ้นใหม่ ส่วนองค์จริงเก็บอยู่ที่พิพิธภัณฑ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
หอระฆัง
หอสีพาสเทลกับระฆังที่ไม่ค่อยได้ตี

หอระฆังทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสสูงตระหง่าน ประดับด้วยเครื่องกระเบื้องเคลือบชิ้นเล็กชิ้นน้อย สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 ก่อนได้รับการบูรณะแล้วสร้างใหม่อย่างสวยงามในสมัยรัชกาลที่ 4 ระฆังบนหอนี้สร้างขึ้นตามธรรมเนียมและไม่ค่อยได้ตีสักเท่าไหร่นัก เพราะวัดตั้งอยู่ในเขตพระบรมมหาราชวัง จึงมีเพียงเขตพุทธาวาส ไม่มีเขตสังฆาวาสที่ภิกษุสงฆ์จำพรรษา โดยมีเพียงโอกาสพิเศษในวันสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชเท่านั้นที่จะได้ยินเสียงระฆังที่ดังกังวานจากหอระฆังนี้
พระบรมราชานุสาวรีย์ประจำรัชกาล
อนุสาวรีย์ช้างเผือกคู่บารมี

ใครหลายคนอาจไม่เคยรู้ว่าที่วัดพระแก้วมีช้างเผือกสีดำอยู่ในบริเวณวัด ช้างเผือกสีดำที่ว่าอยู่บริเวณฐานบุษบกรอบพระมณฑป ในบริเวณเดียวกันกับพระบรมราชานุสาวรีย์ประจำรัชกาล ช้างยืนแท่นหล่อด้วยโลหะรมดำเปรียบเป็นช้างเผือกประจำรัชกาล นับว่าเป็นสัตว์คู่พระบารมีของพระมหากษัตริย์ไทย สร้างขึ้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 ต่อมาในคราวสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี จึงมีการสร้างอนุสาวรีย์ช้างเผือกคู่บารมีเพิ่มจนมีจำนวนครบถึงรัชกาลที่ 9
ครุฑยุดนาค
ประติมากรรมประดับฐานพระอุโบสถ

พระอุโบสถ เปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุ ศูนย์กลางของจักรวาลและอำนาจของกษัตริย์ที่เชื่อว่าพระนารายณ์อวตารลงมา ความเชื่อของครุฑจึงถูกหยิบยกมาเป็นส่วนหนึ่งของประติมากรรมที่ตกแต่งพระอุโบสถ ประติมากรรมครุฑที่นี่นำตำนานความเชื่อเรื่อง ‘ครุฑยุดนาค’ มาใช้ประดับที่ฐานของพระอุโบสถ ทำให้รูปแบบงานประติมากรรมที่นี่ต่างไปจากที่อื่น ที่โดยปกติจะใช้ประดับเพียงองค์เจดีย์ หากได้แวะมาดูแล้ว ลองเดินชมโดยรอบแล้วนับดูว่านับครุฑได้ครบ 112 ตัวหรือไม่
พระพุทธรูปทรงเครื่อง
ประติมากรรมตัวแทนกษัตริย์ในยุคที่ยังไม่สร้างพระบรมรูป

ในยุคสมัยที่สยามยังไม่มีธรรมเนียมสร้างพระบรมรูปเหมือนของพระมหากษัตริย์อย่างตะวันตก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 มีพระราชปรารภให้สร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องอย่างจักรพรรดิ์ มีเครื่องประดับเหมือนที่พระมหากษัตริย์ทรง หุ้มด้วยทองคำ จารึกพระนามพระพุทธรูปองค์ด้านซ้าย ‘พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก’ และองค์ด้านขวา ‘พระพุทธเลิศหล้านภาลัย’ เป็นตัวแทนพระมหากษัตริย์เพื่อสักการะบูชา
พิพิธภัณฑ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ชมศิลปวัตถุจากสมัยแรกก่อตั้งวัด

สิ่งต่างๆ ภายในวัดพระแก้วล้วนบูรณะปฏิสังขรณ์ให้คงความงดงามตามเดิมไว้ แต่ถ้าอยากเห็นศิลปวัตถุสมัยแรกเริ่ม วัตถุที่มีความสำคัญ หรือโบราณวัตถุที่บอบบาง ควรมาปิดท้ายที่พิพิธภัณฑ์วัดพระแก้วเป็นอย่างยิ่ง
สองสิ่งที่แนะนำว่าควรชมด้วยตาตัวเองสักครั้ง คือฉากลายรดน้ำ รูปพระราชพิธีอินทราภิเษก พิธีที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่ของกษัตริย์ที่เหนือพระเจ้าแผ่นดินทั้งหลาย เป็นงานประณีตศิลป์ที่นำมาจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และโบราณวัตถุชิ้นสำคัญอย่างพระแท่นมนังคศิลาบาตรที่นำมาจากสุโขทัย พระแท่นที่ประทับของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ซึ่งรัชกาลที่ 4 ชะลอมาไว้ที่กรุงรัตนโกสินทร์
อ่านเรื่องราวของ 200 ที่เที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์เพิ่มเติมได้ที่นี่
