“การทำสารคดีเป็นข้ออ้างที่ดีที่จะได้ไปสอดรู้สอดเห็นชีวิตคนอื่น ได้ไปอยู่ในที่ที่ไม่จำเป็นต้องไปอยู่ หรือที่ที่เขาไม่ให้ไปอยู่ ก็เหมือนการสัมภาษณ์ครั้งนี้ อยู่ดีๆ ก็มาเสือกเรื่องของเรา รู้ เข้าใจชีวิตเรา การทำสารคดีก็เหมือนกันแหละ เราก็อยากไปเข้าใจคนอื่น”
ชื่อของ ไก่-ณฐพล บุญประกอบ เริ่มเป็นที่คุ้นหูในวงกว้างตอนที่เขากำกับภาพยนตร์สารคดีเรื่อง 2215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว ที่เล่าถึงโครงการก้าวคนละก้าวของตูน บอดี้สแลม กับการวิ่งระยะไกลจากอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ถึงอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เพื่อระดมทุนให้กับโรงพยาบาลต่างๆ
เส้นทางการเป็นผู้กำกับของเขาเริ่มต้นจากการเลียนแบบพี่ชายมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการวาดรูป อ่านการ์ตูน ฟัง Fat Radio เล่นดนตรี เรียนสายศิลป์-ฝรั่งเศส เข้าคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เลือกสาขาการภาพยนตร์และภาพนิ่ง แต่สุดท้าย ความสนใจของเขาก็เบนไปทางสารคดีจนตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาโทที่นิวยอร์ก
วิทยานิพนธ์ของไก่คือสารคดี Come and See ที่เราได้เห็นโปสเตอร์บนอินเทอร์เน็ตเมื่อไม่นานมานี้ หนังเล่าถึงความเชื่อที่แตกต่างและเหตุการณ์โจมตีวัดพระธรรมกายทางกฎหมายเมื่อ 2 – 3 ปีก่อน และกำลังจะได้ไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซานในอีกไม่กี่วัน
นั่นคือสิ่งที่หลายคนอาจจะรู้แล้วเกี่ยวกับเขา แต่บทสนทนาต่อไปนี้ทำให้เรารู้จักเขามากขึ้นว่า
หนึ่ง คนในวงการหนังและโฆษณารู้จักเขาในนาม ‘เจ๊ไก่’
สอง ไก่ไม่ใช่ผู้กำกับสารคดี อย่างน้อยเขาก็ไม่ต้องการนิยามตัวเองว่าอย่างนั้น เขาว่าเขาเป็นนักสื่อสาร และสารคดีเป็นเพียงเครื่องมือที่จะนำสิ่งที่เขาอยากพูดไปสู่คนฟัง
สาม ข้อจำกัดทางภาษาคืออุปสรรคของการเรียนรู้และการทำหนังสำหรับเขา แต่สามารถข้ามผ่านมันไปได้ด้วยความตั้งใจและความพยายาม
สี่ คนทำหนังควรมีความคาดหวังต่อหนังทุกเรื่องที่ทำ และหนังทุกเรื่องไม่จำเป็นต้องดังก็ได้ถ้ามันตอบโจทย์นั้นแล้ว
ห้า เขาผิดหวังกับโรงเรียนในนิวยอร์กมาก จึงพยายามร่วมกิจกรรมนอกห้องเรียนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งทำให้เขาเห็นภาพและบริบทของสังคมตัวเองได้ชัดขึ้น
หก อุปสรรคของอุตสาหกรรมสารคดีในเมืองไทยสำหรับเขาคือ ทั้งเรื่องคน เงิน และความเข้าใจของคน
เจ็ด สารคดียังเป็นหนังกระแสรองไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ซึ่งเขาคิดว่านั่นไม่ใช่ปัญหาเลยแม้แต่น้อย
แปด ก่อนจะมาเป็นสารคดี Come and See เขาอยากทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับชายที่เล่นดนตรีให้แมวฟังใน ดี.ซี.
และสุดท้าย ไก่เป็นคนมองโลกตามความเป็นจริงในทุกๆ เรื่อง ดังนั้น บทสัมภาษณ์ข้างล่างนี้จึงไม่ได้มีแค่ด้านบวก เพราะอย่างที่เขาบอก ว่าสารคดีเป็นเรื่องของคน แล้วคนจะมีด้านเดียวได้อย่างไร
ผู้กำกับคืออาชีพที่อยากเป็นมาตลอดเลยหรือเปล่า
มันไม่ใช่ความ ‘กูจะเป็นผู้กำกับหนัง’ มันเป็นไปเอง เราทำแล้วชอบ ถนัด มันไม่ใช่การเลือกหรือไม่เลือก
แต่ถ้าถามว่ามีโมเมนต์ที่ต้องเลือกว่าอยากจะไปทางไหนไหม ก็มีนะ สมัยเรียนเราชอบถ่าย ชอบตัด ชอบกำกับ ตอนเรียนจบมาได้สักพักก็มีจังหวะที่พี่ๆ โปรดิวเซอร์ที่ทำงานด้วยเริ่มถามแล้วว่า ตกลงอยากทำอะไรกันแน่ เพราะเห็นเราชอบทำหลายอย่าง เขาบอกว่า ต้องเลือกนะ เพราะสายงานมันไม่เหมือนกัน ซึ่งตอนนั้นก็แบบ เออ ไอ้เหี้ย ทำไงดีวะ ไปทางไหนดี สุดท้ายก็เลือกมาทางนี้
ซึ่งเราพยายามจะไม่จำกัดตัวเอง อันนี้จำคำเท่ๆ ของคนอื่นมาอีกที เราพยายามจะไม่จำกัดตัวเองเป็นคำนาม นักทำหนัง ตากล้อง พวกนี้คือคำนาม แต่เราจะใช้คำกริยา คือเราถ่ายหนัง เรากำกับหนัง เราเขียนบท จะทำอะไรก็ทำไป มันก็เป็นตัวกูนี่แหละ แค่ว่าในช่วงนั้นทำอะไรเท่านั้นเอง
เสน่ห์ของการทำหนังคืออะไร
หลักๆ น่าจะมาตั้งแต่ตอนเรียนนิเทศฯ มีกิจกรรมที่ต้องทำวิดีโอ เอ็มวี ทำหนังสั้น แล้วตอนที่ฉายให้คนดูพร้อมกันทั้งคณะจะมีเสียงกรี๊ด เสียงเฮฮา เราไม่เคยรู้ตัวนะ แต่พอโตขึ้นมาแล้วมองย้อนกลับไป เลยได้รู้ว่าตรงนั้นเป็นรากฐานที่ทำให้เราอยากทำหนังที่สื่อสารกับคนหมู่มาก นี่คือหน้าที่ของสิ่งที่เราทำ
แล้วทำไมถึงตัดสินใจไปเรียนต่อสาขาสารคดี
ก็ตอนนั้นแหละที่มีคนถามว่าเราอยากเป็นอะไรกันแน่ เราอยากไปเรียนเป็นตากล้องไหมวะ หรือเราอยากไปเรียนเป็นผู้กำกับ คิดไม่ตกสักทีเพราะความสนใจเราหลากหลาย เราไม่ได้อยากเป็นตากล้องขนาดนั้น โฟกัสกับเรื่องภาพอย่างเดียวไม่ได้ และเราก็อาจจะทำได้ไม่ดีขนาดนั้นด้วย หรือจะไปเรียนกำกับล่ะ เราก็รู้สึกว่าการกำกับมันเป็นเรื่องระหว่างคนกับคน เป็นเรื่องวัฒนธรรม ซึ่งเราไม่แน่ใจว่าการเรียนต่อจะช่วยอะไรได้
ในขณะนั้นก็เริ่มสนใจสารคดีมากขึ้น ได้ทำ ‘รู้สู้! Flood’ แอนิเมชันปลาวาฬช่วงน้ำท่วมปี 54 กับพี่ๆ น้องๆ ที่คณะ เพื่อสร้างความเข้าใจในข้อมูลเกี่ยวกับน้ำท่วมให้กับคนทั่วไป หรือเวลาเขียนอะไรเกี่ยวกับสารคดีก็จะเขียนยาวกว่าหนัง Fiction แต่ก็ยังไม่ได้คิดว่าจะไปเรียนด้านนี้ จนกระทั่ง เบนซ์ (ธนชาติ ศิริภัทราชัย) เพื่อนเราตั้งแต่ประถมฯ ไปเรียนที่นิวยอร์กและเขียนหนังสือ New York 1st Time ซึ่งเราได้อ่านแล้วรู้สึกว่า โห มันไปเห็นโลกกว้างมาเยอะเลยว่ะ เราอยากไปเห็นบ้าง เบนซ์ก็แนะนำว่า เห้ยมึง ที่โรงเรียนเพิ่งมีสาขาสารคดีเปิดนะ เราเลยเริ่มคิด ด้วยทุนที่มี ด้วยเวลาที่มี สาขานี้ก็ไม่ได้มีสอนเยอะ สุดท้ายก็เลยไปเรียนตามไอ้เบนซ์
New York 2nd Time?
ไอ้เบนซ์ก็ปัจจัยหนึ่ง แต่อีกปัจจัยคือเรารู้สึกว่าสารคดีมันลึกลับ เราไม่รู้ว่าเบื้องหลังสิ่งที่เราชอบ สิ่งที่เราอิน คอนเทนต์แบบนี้ ต้องมีวิธีการจัดการยังไง ในเมืองไทยแทบหาไม่ได้เลย คนทำน้อยมาก อุตสาหกรรมนี้แทบไม่มีอยู่เลยด้วยซ้ำ
แต่การที่รู้อยู่แล้วว่าเมืองไทยไม่มีอุตสาหกรรมนี้ไม่ได้ทำให้ลังเลที่จะไปเรียนเหรอ
ไม่เกี่ยว เพราะเราไม่ได้คิดว่าจะไปเพื่อที่จะกลับมารวย คือถ้ารวยก็ดี (หัวเราะ) แต่เราเชื่อว่าถ้าเราทำอะไรได้ดี มันก็จะมีที่ทางของมันเอง
นอกจากแอนิเมชัน รู้ สู้! Flood ก่อนไปเรียนที่นิวยอร์กเคยทำสารคดีมาก่อนไหม
เคย เป็นสารคดีเกี่ยวกับการประกวดธุรกิจเพื่อสังคม ตอนนั้นไม่รู้อะไรเลย ทำแบบงูๆ ปลาๆ ไปถ่ายมา เสียงก็เหี้ย กล้องก็ห่วย เอามาตัดเองให้มันเสร็จ ทำอยู่ปีหนึ่ง ได้เรียนรู้ว่าการทำสารคดีมันเหนื่อย แต่มันเปิดโลกของเรา เพราะพาไปเจอคนในสังคมใหม่ๆ ได้เห็นคนแบบอื่น การทำงานแบบอื่น ทำให้เราเข้าใจมิติของสังคมที่ลึกขึ้น
จากคนที่ทำสารคดีแบบงูๆ ปลาๆ มาก่อน พอได้ไปเรียนเกี่ยวกับสารคดีจริงๆ เจอเซอร์ไพรส์อะไรบ้าง
เซอร์ไพรส์ว่าแม้แต่คนทำสารคดีระดับโลกก็ยังไม่รู้เหี้ยอะไรเลย (หัวเราะ)
อ้าวพี่…
ไม่ๆ เราชอบจินตนาการว่าคนที่ได้ออสการ์ชีวิตจะต้องหรู มีไม้วิเศษในการคิด ในการทำงาน พอไปเรียนเลยได้รู้ว่าในแง่สกิลล์การทำงาน ระหว่างเรากับฝรั่งไม่ได้ต่างกันมาก แต่เป็นเรื่องต้นทุนทางภาษามากกว่า การที่คนคนหนึ่งโตมากับภาษาอังกฤษ เขาสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ที่ใหญ่กว่าภาษาไทยเป็นหมื่นแสนเท่า มันกว้างมากจนเข้าใจเลยว่า โอ้โห นี่คือกูสู้แบบขึ้นเขาอยู่นะ ในการมาอยู่ มาเรียนที่นี่ ต้องพยายามทำความเข้าใจวัฒนธรรมนี้และตามพวกมึงให้ทันเนี่ย
ซึ่งในแง่การทำงาน การแก้ปัญหา ไหวพริบ ฝรั่งก็ไม่ได้ต่างจากเราขนาดนั้น แต่สุดท้ายเขามีแต้มต่อเรื่องภาษา มีแต้มต่อของการเป็น Citizen สังคม เพื่อนที่เขาทำงานอยู่ด้วย สภาพแวดล้อม หรือความเข้าใจต่างๆ ของคนทั่วไป
คิดง่ายๆ สมมติทำหนังอินดี้ในนิวยอร์ก หนังไม่ได้ดีมาก แต่พอฉายปุ๊บ The New York Times มาดู ขึ้นเว็บปึ้งไปทั่วโลก ในขณะที่กูทำหนังอยู่ House RCA (หัวเราะ) กว่าจะไปถึงตรงนั้นมันไกลมาก และสิ่งเหล่านี้มันเกินกว่าชีวิตคนคนหนึ่งไปมหาศาล มันคือการสั่งสมทางวัฒนธรรม ซึ่งก็โทษใครไม่ได้ มันเป็นภาพใหญ่ของโลกที่เคลื่อนไปเรื่อยๆ ปัจจัยมันเยอะมากๆ สิ่งนี้คือสิ่งที่เรียนรู้จากการไปเรียนนิวยอร์ก
บรรยากาศการเรียนฟิล์มที่นั่นมันเป็นยังไง
มีวิชาหนึ่งที่เราชอบมากชื่อ Process and Style ทุกอาทิตย์เขาจะเชิญคนทำหนังจากข้างนอกมาฉายหนัง เขาจะเล่าให้ฟังว่าทำอะไรไปบ้าง เจอปัญหาอะไร เรารู้สึกว่าจริงๆ แล้ววิธีการเรียนที่ดีที่สุดคือการเรียนจากข้อผิดพลาดของคนอื่น สารคดีมันกำหนดอะไรได้ไม่เยอะ ทฤษฎีมันก็มีอยู่แต่อาจจะไม่ได้จำเป็นขนาดนั้น
แต่โดยรวมเราผิดหวังกับโรงเรียนมากๆ นะ (หัวเราะ) เพราะโรงเรียนก็เป็นธุรกิจ บางโรงเรียนก็พยายามจะรันให้ได้โดยการรับคนเข้ามามากๆ ลดเกณฑ์ของตัวเองลง หรือพยายามสร้างชื่อเสียงเพื่อดึงดูดลูกค้า คนที่มาสอนก็มีชื่อเสียงแต่อาจจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับการสอน เพราะมันไม่ใช่อาชีพหลักของเขา
มีคนจากหลายสาขามาเรียนสาขาวิชานี้ บางคนเป็นนักข่าว บางคนเป็นนักกายภาพบำบัด เป็นคนที่อยากจะย้ายสาย โรงเรียนแบบนี้ก็จะรับคนเหล่านี้มา แต่เราดันมีพื้นฐานการทำหนัง 7 – 8 ปี มาตรฐานของโรงเรียนเลยไม่ได้สูงเท่าที่เราคาดหวัง แล้วโรงเรียนเป็น Project-based ไม่ค่อยสอนทฤษฎี เขาจะให้ทุกคนทำหนังแล้วมาถกกัน ปีสองทำทีสิส แล้วก็ถกทีสิสกันไปเลยทั้งปี มีสิบกว่าเรื่องก็ถกกันไปว่าถึงตรงไหนแล้ว เจอปัญหาอะไรเอามาคุยกัน คอมเมนต์เพื่อน พอโมเดลเป็นแบบนี้แล้วเพื่อนห่วยมากๆ หลายครั้งเราก็รู้สึกว่าเสียเวลา ซึ่งนั่นเป็นข้อดี คือกูมองให้มันดีหมด เพราะเสียเงินมาแล้วไง (หัวเราะ)
แล้วข้อดีคือ…
ข้อดีคือทำให้เราโกรธแค้นโลกใบนี้ ทำไมกูต้องเสียเวลาฟังมึงพูดสไลด์ที่มึงไม่ได้อ่านมาก่อนด้วยซ้ำ แม้ว่ามึงจะมีชื่อเสียงมากในวงการสารคดี
พอผิดหวังกับโรงเรียน เราเลยต้องไปอีเวนต์ต่างๆ มากมายที่มีทุกวันในนิวยอร์ก งานทอล์กประหลาดๆ ที่ไม่เกี่ยวกับฟิล์ม เช่น เรื่องการเขียนโค้ดคอมพิวเตอร์เพื่อศิลปะ เป็นโลกใหม่มากที่เราได้ไปเจอที่นู่น มันคือการเอาโค้ดมาเป็นวัตถุดิบในการสร้างงานอาร์ต เคยไปฟังหมอพูดเปรียบเทียบการผ่าตัดกับการทำงานฝีมือ ให้หมอไปเวิร์กช็อปปั้นดินเพื่อนำกลับมาประยุกต์ใช้กับการดูแลอวัยวะคน เคยไปฟังเรื่องควอนตัมด้วย มั่วซั่วมาก อยู่โน่นเราไม่ได้สนใจแค่เรื่องฟิล์มอย่างเดียว ทุกอย่างมันปรับใช้ด้วยกันได้หมดแหละถ้าเราเปิดรับ
การเป็นผู้กำกับแล้วได้ไปอยู่ในเมืองอย่างนิวยอร์กน่าจะเป็นความฝันของหลายๆ คน
มันมีอะไรให้เราดูเยอะ บางคนอาจจะมองว่าไปนิวยอร์กมึงต้องกลายเป็นคนใหม่ ต้องเก่ง เราว่าไม่เกี่ยว ถ้าเปรียบเทียบให้เห็นภาพ สมมติเราว่ายน้ำอยู่ในบึงเล็กๆ ชื่อว่าเมืองไทย บึงบึงหนึ่งที่มีทรัพยากร มีข้อมูลที่เข้าถึงได้ตามสภาพ พอไปอยู่นิวยอร์ก เหมือนเราถูกโยนลงไปในทะเลสาบที่มีทรัพยากรเยอะกว่ามากๆ แต่ทุกอย่างอยู่ที่ว่าเราจะว่ายมากเท่าไหร่ ไม่ได้เกี่ยวกับว่าบึงใหญ่แค่ไหน
อยู่นี่มันก็เข้าถึงได้แหละ ผ่านอินเทอร์เน็ต แต่อยู่โน่นมันเป็น Firsthand Experience เป็นประสบการณ์ตรง ได้คุย ได้เจอหลายๆ อย่างที่ไม่มีบนอินเทอร์เน็ต เลยเป็นข้อได้เปรียบ เราเลยพยายามเก็บเกี่ยวให้มากที่สุด เพราะกูขาดทุนกับโรงเรียนไปแล้ว (หัวเราะ)
อะไรในนิวยอร์กที่ส่งอิทธิพลคุณในฐานะผู้กำกับหรือกระทั่งคนคนหนึ่ง
เปรียบเทียบเหมือน… เกิดมาเราอาศัยอยู่ในสังคมหนึ่ง วัฒนธรรมหนึ่ง เรากินช็อกโกแลตยี่ห้อหนึ่งมาตลอดชีวิต แล้วมีช่วงเวลาหนึ่งที่เราเสือกไปกินอีกยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งไม่เกี่ยวกับว่าอร่อยกว่าหรือไม่อร่อยกว่า แต่ทำให้เกิดการเปรียบเทียบขึ้น
การไปเที่ยวนี่ไม่นับว่าเป็นการไปอยู่เมืองนอกนะ ไม่เหมือนกันเลย เพราะการไปอยู่ที่นั่นมันเป็นการทำความเข้าใจการใช้ชีวิตใหม่หมด ต้องหาเพื่อนใหม่ ทำอะไรจิปาถะในชีวิต เราต้องรับรู้เรื่องราวเยอะมากๆ ทำให้มองกลับมาที่บ้านเรา ซึ่งสำหรับเรา เรารู้สึกว่าชัดขึ้น เราเห็นบางอย่างที่วนอยู่กับที่ เปลี่ยนแปลงได้ หรือควรจะเปลี่ยนในภาพกว้าง เห็นความเป็นไปได้บางอย่าง เห็นความกลัวของตัวเอง เห็นความกลัวของคนอื่น เราว่าการไปอยู่ก็ช่วยให้เห็นสิ่งเหล่านี้นะ ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็ก แต่ในความรู้สึกเรามันสำคัญ
การเห็นปัญหา ความเป็นไปได้ และความกลัวในเรื่องราวต่างๆ มันน่าจะเป็นข้อได้เปรียบของคนทำสารคดีเหมือนกันนะ
เอาคำว่า สารคดี ออกไปเลย เราว่ามันเหมือนกัน สารคดีก็เป็นการแสดงออก เป็นการสื่อสารอย่างหนึ่ง ไม่ต้องมีคำนี้เลยก็ได้ เราพูดกันแบบไหนในสังคม เราพูดถึงเรื่องอะไร ความสนใจเราอยู่ที่ไหน คนในสังคมเปิดรับฟังกันแค่ไหน เราพูดคุยประเด็นที่ควรจะคุยลึกซึ้งแค่ไหน
สารคดีเป็นปลายทาง เป็นเครื่องมือหนึ่งที่มาช่วยในการสื่อสารเท่านั้นเอง มันอาจจะมีอิมแพคของมัน หรืออาจจะไม่มี บางคนอาจจะตั้งกำแพง สุดท้ายก็กลับไปที่ต้นตอ ซึ่งก็คือการรับรู้ของคนที่มีต่อเรื่องราวรอบตัวในสังคม และการแสดงออกว่าเปิดรับแค่ไหน
ซึ่งการพูดถึงเรื่องพวกนี้ในอเมริกาน่าจะเสรีมากๆ
ฟรีมากจนบางคนกลัว จนบางคนก็รู้สึกว่า ‘นี่มึงฟรีไปเปล่าวะ’ อย่างเราเคยไปถ่ายงานหนึ่งตรง Wall Street เขาบอกว่า โป๊ปจะเสด็จวันนี้ คนก็มาเต็มเลย แล้วมีแก๊งสุดโต่งมากมาถือป้ายประท้วงว่า ‘พระเจ้าเกลียดพวกตุ๊ด’ ‘สมน้ำหน้าไอ้พวกทหารตุ๊ดที่ตายไป’ อีกฝั่งก็ ‘Pope is faggot!’ แรงมาก ประท้วงกันไป แต่ก็อยู่บนพื้นฐานของกฎหมาย มีตำรวจมาเฝ้าและตั้งรั้ว ไม่มีการทำร้ายร่างกาย ซึ่งมีคนทำสารคดีเกี่ยวกับแก๊งนี้ไปแล้ว คือเรื่อง The Most Hated Family In America
แต่นิวยอร์กอาจจะเป็นตัวอย่างที่สุดโต่งเกินไป
เอาจริงๆ มันเป็นปัญหาทางการสื่อสารเลยนะ ในแง่ที่บางทีทุกคนเหมารวมว่าอเมริกาเป็นอย่างโน้นอย่างนี้โดยมองจากนิวยอร์ก บางคนก็อาจจะเห็น Midwest เป็นแบบนี้ อเมริกาทั้งหมดก็คงจะเป็นแบบนี้ หรือทรัมป์คืออเมริกา แต่จริงๆ อเมริกามันกว้างมาก มันเป็นทวีปเลยนะ เราคุยกันแบบเหมารวมเยอะเกินไป มองว่าเมืองไทยเป็นแบบนี้ทั้งๆ ที่เมืองไทยก็กว้างนะ จริงๆ ทำหนังพี่ตูนนี่เห็นเลยว่ากว้างแค่ไหน (หัวเราะ)
อุตสาหกรรมสารคดีที่นั่นเฟื่องฟูไหม หรือก็ยังเล็กอยู่ดีเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมหนังทั้งหมด
อันนี้ชอบเล่ามาก มีอีเวนต์หนึ่งชื่อ Doc NYC งานเทศกาลสารคดีที่เขาเคลมว่าใหญ่มาก เขานำหนังของนักศึกษาคณะเราไปฉาย ของเราก็ได้รับเลือก งานจัดที่สำนักงานใหญ่ของ Kickstarter เป็นพรีปาร์ตี้ที่เอาคนทำหนังมาเจอกันก่อนเทศกาลจะเริ่ม
เราเข้าไปในห้องฉายหนังที่เล็กกว่าห้องนี้ (ห้องฉายหนังคณะนิเทศศาสตร์ ม.กรุงเทพ) ตอนแรกคิดว่าจะต้องเป็นเหมือนงานออสการ์
หรืออย่าง Ross Kaufman ที่ปรึกษาเราที่ได้รางวัลออสการ์จากหนังสารคดีเรื่อง Born into Brothels (2004) ซึ่งนึกว่าจะมีชีวิตหรูๆ แต่เขาก็ยังทำหนัง ทำโฆษณาหากินอยู่ ด้วยธรรมชาติของเนื้องานและความเข้าใจที่คนมีต่อสารคดี มันไม่มีทางเป็นกระแสหลัก มีกลุ่มคนดูระดับหนึ่ง แต่อเมริกาอาจจะเป็นฐานที่ใหญ่มาก ทำทีหนึ่งฉายทั่วโลกเพราะเป็นภาษาอังกฤษ กลับมาเรื่องภาษาอีกแล้วเห็นไหม เมืองไทยอาจจะเล็ก วัฒนธรรมย่อย (Subculture) ของไทยก็เลยจะเล็กสุดๆ เมื่อเทียบกับของอเมริกา แต่ด้วยเทคโนโลยี แพลตฟอร์มต่างๆ และอินเทอร์เน็ต มันก็เริ่มทำให้สารคดีเข้าถึงคนมากขึ้น
แต่ยังไงสารคดีก็จะเป็นกระแสรอง
และก็ไม่จำเป็นจะต้องเป็นกระหลัก เพราะสุดท้ายความเป็นกระแสรองกระแสหลักสำคัญยังไงล่ะ มันอยู่ที่ว่ามีงานที่ดีให้คนดูหรือเปล่า ดูเป็นเรื่องๆ ไป นี่คือหนังที่ดีหนึ่งเรื่อง และหนังเรื่องนี้สร้างขึ้นด้วยปัจจัยอะไร ในสังคมแบบไหน โจทย์ของเขาคืออะไร ไม่จำเป็นต้องไปจำกัดความเลยว่าวงการสารคดีจะรุ่งเรือง คนพยายามจะพูดว่าสารคดีกำลังเฟื่องฟู เราว่ามันไม่ใช่เรื่องจำนวน ไม่ใช่เรื่องรางวัลที่หนังได้ด้วยซ้ำ เรื่องเหล่านี้เป็นมายา
หนังเป็นแค่การสื่อสาร เราพูดกับใคร เนื้อหาเหมาะกับใคร เราต้องการจะพูดกับคนกลุ่มเล็กหรือกลุ่มใหญ่ และมันประสบความสำเร็จในเป้าหมายนั้นหรือเปล่า มันผลักดันให้เกิดแอคชั่นอะไร หรือเราไม่ได้คาดหวังเลย แต่มันดันฮิต ซึ่งคนทำหนังควรจะมีสิ่งเหล่านี้ การทำหนังเพื่อมุ่งไปสู่อะไรแบบ ‘ทำไมหนังไทยไม่ไปฮอลลีวูด’ นั่นแปลว่าอะไร อยากหรือไม่อยากก็ส่วนหนึ่ง แต่ถ้ากลับมามองแค่เรื่องภาษาก็จบแล้ว แล้วมันก็ไม่ได้จำเป็นสำหรับหนังทุกเรื่อง ในการทำหนังแต่ละเรื่องความคาดหวังมันต่างกันแหละ
แล้วความคาดหวังในการทำสารคดีของตัวเองเปลี่ยนไปไหมจากตอนเริ่มต้น
เรามีเป้าหมายในใจสำหรับทุกเรื่องนะ เราเป็นคน Realistic มาก ถ้ารู้ว่าโจทย์คืออะไร เราจะไม่กล้าคิดเกินจากนั้น สมมติว่ามีกระดาษเปล่าหนึ่งแผ่น แต่ไม่รู้ว่างบเท่าไหร่ เราจะไม่กล้าเขียนมั่วๆ เราเป็นคนติดกับการต้องทำได้จริง แล้วค่อยแก้โจทย์จากตรงนั้น พอทำหนังเรื่องหนึ่งเราจะไม่กล้าตั้งโจทย์ให้ไกลมาก
เช่นสารคดี Come and See เรื่องนี้ โจทย์คือให้เราเรียนจบ เพราะตลอดการทำงานเรารู้อยู่แล้วว่าข้อจำกัดคืออะไร ประเด็นแบบนี้จะไปไกลได้แค่ไหน หรือถ้าเราจับมันไปอยู่ในกลุ่มแมสจะเกิดอะไรขึ้น เราบวกลบคูณหารในหัวตลอด ได้คำตอบมาว่า วิธีการฉายเราจะเป็นวงปิด เราอยากให้มันเกิดผลลัพธ์จากการพูดคุย ฉายในเทศกาลหนัง แล้วยังไงต่อค่อยดูเป็นสเต็ปๆ ไป เราไม่ได้ตั้งเป้าว่าหนังทุกเรื่องจะต้องดัง ต้องฉายโรง มันไม่จำเป็น เพราะเรื่องทุกเรื่องไม่ได้เหมาะกับทุกคน และคนทุกคนไม่พร้อมจะฟังทุกเรื่อง เราเป็นคนพูด เราต้องรู้ว่าจะพูดกับใคร และจะพูดด้วยน้ำเสียงแบบไหน บางคนที่มองว่าหนังคือศิลปะ เขาอาจจะด่าเราก็ได้นะ
แล้วอย่างหนังพี่ตูนล่ะ
ตอนเรียนจบเรามีธงว่าอยากอยู่ต่ออีกปีหนึ่ง เพราะเราอยากจะเห็นมากกว่านี้ ปีสองอยู่แต่ในห้องตัด ยังไม่เห็นนิวยอร์กเลยด้วยซ้ำ ปีที่สามก็ควรจะอยู่เพื่อจะได้เห็นอุตสาหกรรมหนังมากขึ้น พอหนังพี่ตูนเข้ามา เราก็บวกลบคูณหารในหัวแล้วรู้สึกว่าการทำหนังเรื่องนี้เป็นโอกาสที่ดีในการสร้างการรับรู้เรื่องสารคดีในเมืองไทย ทำเกี่ยวกับคนคนนี้ อีเวนต์นี้น่าจะช่วยให้คนดูเปิดรับสารคดีมากขึ้น ได้ทำงานกับทีมที่เราไว้ใจ และอาจจะเป็นการปูเส้นทางการทำงานของเราในเมืองไทย ปีหนึ่งที่เหลือก็เลยช่างมัน เราก็คาดหวังให้คนดูเยอะที่สุด ซึ่งก็ไม่ได้เยอะ (หัวเราะ)
แต่มันทำให้เราเห็นแลนด์สเคปของกลุ่มคนดูในเมืองไทยมากขึ้น คนกลุ่มแมส เปิดรับ ไม่เปิดรับ ข้อจำกัดของอีเวนต์ที่คนรู้กันทั้งประเทศ เขาจะกลับมาดูอีกครั้งไหม มันเป็นรายละเอียดที่ได้รู้มากขึ้น มีคนดูในทีวี ดูในโรง คนมองว่าสารคดีเป็นแบบไหน เรื่องนี้ก็ช่วยเปิดหลายคนเหมือนกันนะ ก็มีฟีดแบ็กที่ดี ถือเป็นสเต็ปแรกที่ดี
ปัจจัยแรกสุดที่คนทำหนังสารคดีต้องมีคืออะไร
การเลือกประเด็นที่เราสนุกหรือสนใจจริงๆ อยากติดตามคนคนนี้ อยากเข้าใจชีวิตเขา สิ่งนี้แหละที่จะเป็นแรงทำให้เราทำต่อไปได้เรื่อยๆ เพราะว่าการทำสารคดีมันเหนื่อย เราต้องมีความรับผิดชอบและต้องแบกสิ่งนี้นาน สารคดีเรื่องหนึ่งทำเป็นปี สองปี สามปี อย่าง Come and See ก็ทำมาสี่ปี
เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นเรื่องที่ไม่ได้อินหรือไม่ได้สนใจ มันก็ไม่สนุก มันจะเหนื่อย และพร้อมจะโยนทิ้งตลอดเวลา ทำไมกูต้องตื่นไปถ่ายวะ กูไม่รู้ด้วยซ้ำว่าหนังเรื่องนี้จะจบไหม ถ่ายมาสองปีตอนจบจะเป็นยังไงวะ หรือมันจะไม่จบ หรือมันจะไม่เวิร์ก กูขี้เกียจตัดแล้ว ฟุตเยอะ มันจะมีอะไรแบบนี้แทรกมาในหัวตลอด แต่ถ้ามันเป็นสิ่งที่เราอิน เราจะมีแรงอยู่แล้ว
ทีนี้มาเรื่อง Come and See ที่ตอนเริ่มเป็นแค่วิทยานิพนธ์ปริญญาโทให้เรียนจบ และตอนแรกจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับแมว
(หัวเราะ) ตอนแรกจะเป็นเรื่องนักดนตรีคนหนึ่งที่ทำดนตรีให้แมว เป็นนักเชลโลที่ค้นพบทฤษฎีวิทยาศาสตร์ว่าการใช้ Material แบบนี้ แต่งออกมาเป็นเพลงคลาสสิกแบบนี้ จะทำให้แมวผ่อนคลาย เขามีตัวตนจริงๆ นะ อยู่วอชิงตัน ดี.ซี. ชื่อ David Teie มีโปรเจกต์ใน Kickstarter ที่ฮิตมาก เพราะคนรักแมวเข้ามาสนับสนุน
เรารู้สึกว่าเรื่องมันสนุก เลยไปขอถ่ายแล้วเอามาเสนอเป็นทีสิส ซึ่งอาจารย์ก็ ‘มึง… ใครจะแคร์วะว่าแมวจะแฮปปี้หรือเปล่า’ แต่เรารู้สึกว่าคนรักแมวมีอยู่ทั่วโลก แล้วเขาก็กำลังจะเซ็นสัญญากับค่ายเพลงใหญ่ของอังกฤษ ตอนนั้นเลยยังไม่ตัดใจนะ ยังอยากทำอยู่
เป็นช่วงเดียวกับที่กลับมาซัมเมอร์ที่เมืองไทยแล้วเจอดราม่าวัดธรรมกายพอดี เราก็รู้สึกว่า เห้ย ทำไมวัดนี้ยังอยู่ เราเคยไปงานบวชเพื่อนตอน ม.3 แล้วก็ไม่รู้เกี่ยวกับวัดนี้อีกเลย เพราะไม่ได้อยู่ในแวดวงชีวิตเรา ตอนที่ไปกลัวมากนะ ที่นี่คือที่ไหน ทำไมมันให้อารมณ์เหมือนการ์ตูน 20th Century Boys เลยตัดสินใจเปลี่ยนมาทำเรื่องนี้
แต่มันเป็นประเด็นถกเถียงมากเลยนะ
ใช่ แต่อยากเข้าใจ เราเห็นภาพคนนั่งสมาธิขวางตำรวจในข่าวแล้วเกิดคำถามว่าคนเหล่านี้คิดอะไรอยู่ เขาเป็นใคร ตอนแรกก็มีอคตินะ เพราะดูเป็นการกระทำที่สุดโต่งมากๆ
แล้วพอได้ทำ หนังเรื่องนี้เปลี่ยนความคิดตัวเองต่อความสุดโต่งนั้นไหม
เปลี่ยน มันเปลี่ยนความคิดเราไม่ใช่แค่ต่อวัด แต่ต่อหลายอย่างมาก ถ้าเปรียบเทียบเป็นสนามฟุตบอล เราเดินเข้ามาและเห็นสองทีมแข่งกันอยู่ เราอยากเข้าใจว่าทำไมทีมนี้เตะแบบนี้วะ ทำไมเตะประหลาดๆ แล้วทำไมอีกฝ่ายมันเตะแรงจัง
การทำหนังเรื่องนี้ไม่ใช่แค่การทำความเข้าใจว่าทำไมเขาถึงเตะแบบนี้ และทำไมอีกฝ่ายถึงไม่เห็นด้วยกับการเตะแบบนี้ แต่คือการเรียนรู้ว่าฟุตบอลคืออะไร ทำไมกีฬานี้ถึงถูกคิดขึ้นมาแบบนี้ ทำไมถึงต้องเตะอยู่แค่ในสนามแบบนี้ ทำไมกรรมการถึงรับมือกับกีฬาด้วยวิธีแบบนี้ เป็นการมองอีกมุมหนึ่งที่ไม่ใช่แค่ว่าฝ่ายไหนถูกฝ่ายไหนผิด หรือมีถูกหรือผิดหรือเปล่า แต่เป็นการตั้งข้อสงสัยกลับไปในคำถามอีกที ไม่ใช่แค่หาคำตอบจากคำถามตั้งต้นอย่างเดียว
ถ้าคำถามตั้งต้นคือ ทำไมเขาจึงมานั่งสมาธิขวางตำรวจนะ การทำหนังเรื่องนี้ไม่ได้แค่ตอบคำถามว่าทำไม แต่คือการบอกว่าอะไรทำให้มาถึงจุดนี้ แล้วมันโอเคหรือเปล่า เรามีอคติแบบไหน หรือไม่มีอคติอะไรเลย มันคือการมองภาพมุมสูง
คนจะชอบถามว่า เป็นไง พอทำหนังเสร็จแล้วชอบวัดธรรมกายขึ้นไหม คำตอบของเราไม่ใช่เรื่องชอบหรือไม่ชอบ แต่คือการที่เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น เข้าใจมุมมองที่ตัวเองมีต่อศาสนามากขึ้นในภาพกว้าง เข้าใจประเทศตัวเองมากขึ้นว่ารัฐรับมือกับศาสนายังไง
จากที่ดู เรารู้สึกว่าสารคดีเรื่องนี้เป็นกลางมาก คนที่ไม่ชอบวัดอยู่แล้วก็คงรู้สึกเหมือนเดิม ในขณะที่คนในวัดมาดู ความรู้สึกก็น่าจะไม่เปลี่ยนเหมือนกัน
คนชอบบอกว่า ดูหนังเรื่องนี้แล้วรู้สึกเป็นกลาง เราว่าอาจจะไม่ใช่คำว่าเป็นกลาง พอเราพูดว่าเป็นกลาง แปลว่าเรามองว่ามันคือซ้ายกับขวา แต่สำหรับเรามันไม่ใช่ซ้ายกับขวา มันคือการที่เราแฟร์ต่อสิ่งนี้ เราแฟร์ต่อทุกฝ่ายหรือเปล่า แฟร์ในการเปิดพื้นที่ให้เขาแสดงความคิดเห็นออกมาในอย่างที่เขาเป็นมากที่สุดหรือยัง
ถ้าถามว่าเราพยายามจะบาลานซ์ให้มันเป็นกลางหรือเปล่า การบาลานซ์มันอาจจะต้องเป็นแบบที่ทุกคนมีห้านาทีเท่ากัน หรือกระทั่งการจะทำให้ฝ่ายหนึ่งดูเป็นตัวตลกก็ทำได้ง่ายมาก แต่เราไม่เลือกทำแบบนั้น เพราะเรารู้ว่ากำลังพาหนังไปไหน และสิ่งเหล่านั้นไม่จำเป็นเลย
เราว่ามันคือการเปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้พูด สุดท้ายมันไม่ใช่การเลือกฝั่ง A หรือฝั่ง B เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคนดูจะเข้าใจสิ่งนี้ โอเค ดูจบไม่ต้องเลือกนะว่าจะอยู่ฝ่ายไหน แต่เห็นหรือยังว่ากีฬานี้ถูกออกแบบมายังไงมากกว่า
แล้วเท่าที่เห็น หนังพาคนดูไปถึงตรงนั้นไหม
เราเคยให้อาจารย์เอาหนังมาฉายที่ ม.กรุงเทพ ให้เด็กร้อยกว่าคนดู ซึ่งเป็นรอบแรกที่คนทั่วไปดูโดยที่เขาไม่ได้อยากมาดูเอง แบบไม่รู้อีโหน่อีเหน่เลย ฉายเลย ดูจบอาจารย์ก็ให้เขียนคอมเมนต์ ทำให้เห็นภาพกว้างมากขึ้นว่าเจ็ดสิบถึงแปดสิบเปอร์เซ็นต์ก็ยังมองเป็นชอยส์ A หรือ B ที่ต้องเลือกฝ่ายอยู่ดี อาจจะมีสักคนสองคนที่มองมันจากมุมสูง
และเราไปฉายให้คนที่วัดดู ก็มีเสียงหัวเราะตัวเองเยอะมาก ซึ่งเราช็อก มันเปิดโลกเรามาก ทำให้เห็นเลยว่า เลเยอร์ของกลุ่มสังคมหนึ่งที่เราคิดว่าเขาคิดเหมือนกันหมดก็ไม่จริง เขาก็วิพากษ์ตัวเอง มีกลุ่มคนที่ไม่ได้เห็นด้วยกับทุกอย่างในวัด กลุ่มคนที่พร้อมจะปรับเปลี่ยน มันก็มีอยู่ในทุกสังคมนั่นแหละ
ถ้าอย่างนั้น ความคาดหวังต่อ Come and See จากที่แค่จะทำให้เรียนจบเปลี่ยนไปหรือยัง
ก็ไม่นะ (หัวเราะ) เรายังไม่ได้คาดหวังอะไรไปมากกว่านั้น ถ้ามันจะไม่ได้ฉายก็คงไม่เดือดร้อน เพราะเราต้องเดินต่อไป ต้องทำเรื่องอื่น และสำหรับเรา หนังเรื่องนี้มันทำหน้าที่เกินกว่าที่คิดมาเยอะมากแล้ว แต่ตอนนี้พอเริ่มมีทีมอื่นๆ เข้ามาช่วย ก็รู้สึกว่าอาจจะต้องพามันไปให้ไกลเหมือนกัน เพราะก่อนหน้านี้มีเราคนเดียวเลยรู้สึกว่าแค่นี้ก็พอแล้ว
หลังจากที่ทำสารคดีมาหลายเรื่อง คิดว่าสิ่งที่ทำให้อุตสาหกรรมสารคดีในบ้านเรายังไม่ไปไหนคืออะไร
มีสามอย่างที่เป็นอุปสรรคต่อสารคดีในเมืองไทย หนึ่งคือ ความเข้าใจของคนต่อสารคดี สารคดีเหมือนยาขม เหมือนลุงแก่ๆ มาสอนในความรู้ ดูตามทีวีก็พอ ไปดูในโรงทำไม นี่เป็นปัญหาทางวัฒนธรรม ทำให้คนไม่เปิดรับหรือตั้งกำแพง
นำมาสู่ส่วนที่สอง เงิน การทำสารคดีต้องใช้เวลา ต้องอาศัยเงินทุนที่ไม่ได้ไปกำหนดเนื้อหาหรือวิธีการของหนัง เพราะเราอาจจะค้นพบอะไรใหม่ๆ หรือวิธีการใหม่ๆ ตลอดช่วงเวลาที่ทำหนังห้าปี ทุนในการทำสารคดีเมืองไทยอาจจะยึดตามวิธีการของทีวีที่เริ่มจากส่งข้อเสนอ แล้วไปถ่ายมาหนึ่งเทปหกสิบนาที เป็นไปตามที่เขียนมาไหม แบบนี้ก็จะได้สารคดีแบบหนึ่ง
แต่สารคดีแบบอื่นต้องการความยืดหยุ่นมากกว่านั้น เช่น สารคดีที่ต้องอาศัยการติดตามชีวิตคนคนหนึ่งเป็นเวลานาน ต้องยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนเนื้อหา มันอาจจะต้องอาศัยเงินทุนอีกแบบหนึ่ง อย่างทุนที่เมืองนอกเขาไม่ได้ล็อกว่าหนังคุณต้องทำตามกระดาษที่ส่งมาให้ตอนแรก Proposal เป็นแค่ตัวแสดงว่าคุณสนใจและต้องการจะทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง สุดท้ายถ้าหนังจะออกมาในทิศทางอื่น ก็ไม่มีใครมาดูว่ามันไม่ตรงกันหรอก ซึ่งวิธีการแบบนี้ทำให้เกิดสารคดีที่หลากหลาย และความเซอร์ไพรส์ก็เป็นเสน่ห์ของสารคดี
ข้อที่สามคือ สารคดีนำเสนอความเทาของมนุษย์ ซึ่งคนไทยยังไม่พร้อมจะโชว์ตรงนั้น บ้านเรามองแค่ขาวดำ คนตายคือสีขาว สมมติเราจะทำเรื่องคนหนึ่งที่ตายไปแล้ว เราไปพูดด้านไม่ดีของเขาก็ไม่ได้แล้วนะ ญาติไม่ยอม และเราว่าส่วนใหญ่คนไทยก็ไม่ยอม เลยไม่มีการเรียนรู้จากบทเรียนที่ผิดพลาดในอดีต เพราะสังคมไม่เปิดรับให้เรื่องเหล่านี้ถูกถ่ายทอดออกมา มันเลยไม่เอื้อให้เกิดประเด็นดีๆ ให้พูดถึง ซึ่งจริงๆ มีเยอะมาก แต่ต้องต่อสู้กับอะไรหลายๆ อย่างเพื่อทำขึ้นมา อย่างสารคดีพี่ตูน พี่ตูนนี่ประเสริฐที่สุดแล้ว ไม่สกรีนอะไรเลย ลองนึกว่าถ้าเขาสกรีนขึ้นมาแล้วหนังมีแต่ด้านดีของเขา มันจะเหมือนเราทำ Propaganda ให้ใครอยู่
สุดท้ายการดูหนังสารคดีมันคือความเป็นมนุษย์แหละ มันคือเรื่องของคน แล้วคนจะมีด้านเดียวได้ยังไง
มีประเด็นไหนที่อยากทำต่อจากนี้ไหม
มี แต่บอกไม่ได้…
จริงเหรอ
เป็นความลับ (หัวเราะ)