โดนัท-มนัสนันท์ พันเลิศวงศ์สกุล ปรากฏตัวที่กรอบประตูห้องประชุม เธอดูสวยสะดุดตาในชุดเสื้อสูทสีขาวและกางเกงยีนส์ทะมัดทะแมง แต่หากเพ่งพิศ จะเห็นร่องรอยอิดโรยบางเบาบนใบหน้าสวยหวาน

เรามีนัดกันตอนสิบโมงครึ่ง เวลาตีห้าวันเดียวกัน หญิงสาวเพิ่งได้ล้มตัวนอนบนเตียง

เหตุผลการใช้จ่ายเวลานอนคือ การปลูกปั้น The Journey บันทึกทางไกล…ถึงพ่อ ผลงานภาพยนตร์สารคดีเรื่องแรกของเธอหลังหันมาอยู่ในสายงานเบื้องหลังได้พักใหญ่ เนื้อหาบันทึกการเดินทางของในหลวงรัชกาลที่ 9 ตั้งแต่เมื่อครั้งประทับ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อทรงศึกษาต่อใน พ.ศ. 2476 ถึง พ.ศ.2494 ผ่านเสี้ยวความทรงจำที่บางชิ้นเราอาจไม่เคยเห็น ตั้งแต่พระราชหัตถเลขา ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ วีดิทัศน์พระราชทานสัมภาษณ์ จนถึงการสัมภาษณ์บุคคลสำคัญที่เคยถวายงานพระองค์ 

หากใครติดตามชีวิตโดนัทอยู่บ้าง คงรู้ว่าเธอมีอีกมุมในชีวิตเป็นนักเดินทางผู้มีหนังสือเรื่องการเดินทางมาแล้ว The Journey ในมุมมองของฉันจึงไม่ใช่หนังของนักแสดงที่หันมารับบทผู้กำกับ

แต่คือบันทึกการเดินทางของกษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รัก โดยนักเดินทางที่มีพระองค์เป็นแรงบันดาลใจ

โดนัทนั่งลงฝั่งตรงข้าม ฉันกดปุ่มอัดเทป บทสนทนาของเราเริ่มต้นที่การเดินทางครั้งสำคัญซึ่งกำลังจะปรากฏสู่สายตาผู้ชม

และจบลงที่การเดินทางของนักเดินทางสาวบนเส้นทางการงานและชีวิต

แรงบันดาลใจของการเดินทางที่ชื่อ ‘The Journey บันทึกทางไกล…ถึงพ่อ’ เริ่มต้นจากไหน

เริ่มจากเราอ่านหนังสือของคุณลีซองดร์ เซไรดำริส ลูกชายของคุณเกลย์อง เซไรดาริส อดีตครูที่ปรึกษาส่วนพระองค์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 และผู้แต่งหนังสือเรื่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและเจ้านายในโลซานน์ แล้วพบว่ามีพระราชหัตถเลขาที่ทรงเขียนถึงคุณเกลย์องระหว่างเดินทาง นี่เป็นสิ่งที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน และสำหรับเรา การเดินทางเป็นสิ่งที่มีความหมายมาก เป็นสิ่งที่ทำให้คนเรามองโลกไม่เหมือนเดิม เราเลยรู้สึกว่าการเดินทางของในหลวงรัชกาลที่ 9 สร้างแรงบันดาลใจมาก ตลอดเวลาที่ท่านประทับอยู่สวิตเซอร์แลนด์ ท่านต้องเสด็จพระราชดำเนินไกลหลายทริป ระหว่างทางท่านทรงเห็น ทรงเจอ ทรงเขียนเล่าเรื่องอะไร นี่คือจุดเริ่มต้นให้เกิดการทำหนังสารคดีเรื่องนี้ ซึ่งทุกครั้งที่ตัดต่อ เรารู้สึกว่า The Journey คือหนังสารคดีเดินทาง

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นนักเดินทางแบบไหน

เราคิดว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นนักเดินทางที่สนใจวิทยาศาสตร์ ชนิดที่เรียกว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ได้เลย มันเลยทำให้การเดินทางของพระองค์น่าสนใจ เพราะเราจะเห็นมุมมอง เช่น เรื่องจากพระราชหัตถเลขาฉบับหนึ่งที่เราตัดต่อเสร็จเมื่อคืน พระองค์ทรงพูดถึงความเร็วเรือพระที่นั่งของพระองค์ ทรงอธิบายว่า ถ้าเปรียบเทียบเรือลำนี้กับเรืออีกลำที่เพิ่งออกมาในช่วงเวลานั้น ลำไหนจะชนะ เป็นเรื่องแบบที่ถ้าเราเองนั่งเครื่องบิน คงไม่บอกว่าเครื่องบินลำนี้บินช้า ท่านจะมีความเป็นนักคิด นักคำนวณ อยู่ด้วย ในขณะเดียวกัน ก็ทรงเป็นนักเดินทางที่มีความเป็นศิลปินค่อนข้างสูง คุณลีซองดร์ให้ข้อมูลว่า ภาษาฝรั่งเศสที่ทรงใช้ในพระราชหัตถเลขา ในไปรษณียบัตร เป็นภาษาฝรั่งเศสที่สวยงามจนไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นคนเกิดที่ประเทศอื่น

ผลงานของคุณบันทึกการเดินทางของในหลวงรัชกาลที่ 9 ตลอดเวลาหลายปี คุณเห็นความเปลี่ยนแปลงของพระองค์ไหม

เราได้เห็นในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงค่อยๆ เติบโตขึ้น ตั้งแต่เมื่อกำลังจะทรงมีพระชนมายุ 11 พรรษาใน ค.ศ. 1938 ช่วงนั้นพระองค์ยังไม่ค่อยทรงเขียนอะไร จะเป็นสมเด็จย่าที่ทรงเขียน แต่นั่นก็ทำให้เราได้ฟังเรื่องเล่าของในหลวงผ่านสมเด็จย่า เป็นความน่ารักอีกแบบที่เราไม่เคยเห็น พอถึง ค.ศ. 1946 เป็นการเดินทางที่พระองค์ท่านเสด็จนิวัติประเทศไทยโดยเครื่องบินกับในหลวงรัชกาลที่ 8 การเดินทางครั้งนี้เราไม่ได้เล่าถึง เพราะถ้าลองคิดว่าเป็นตัวเรา มันคือการเดินทางกลับบ้านกับพี่ชาย แต่ขากลับต้องกลับคนเดียว เราเลยเลือกเล่าแค่ช่วงที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จนิวัติสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ท่านทรงเริ่มเขียนเยอะขึ้น ทรงเล่าถึงความรู้สึกของท่านว่าการเดินทางครั้งนี้มันเหงาแค่ไหน ผ่านบทพระราชนิพนธ์ เมื่อข้าพเจ้าจากสยามสู่สวิทเซอร์แลนด์ ซึ่งหลายคนน่าจะเคยได้อ่าน เป็นการเดินทางที่เหงาที่สุดของพระองค์เลยก็ว่าได้ หลังจากนั้น พระองค์ก็เสด็จฯ มาประเทศไทยอีกรอบใน ค.ศ. 1950 เพื่อทรงเข้าพิธีราชาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ แล้วก็เสด็จฯ กลับไปสวิสฯ ก่อนจะเสด็จนิวัติประเทศไทยถาวรใน ค.ศ. 1951 ซึ่งช่วงนั้นเราจะเห็นความสนใจเรื่องการถ่ายภาพฟิล์ม 16 มม. ในพระราชหัตถเลขาชัดเจน ทรงล้างรูปขาวดำบนเรือ นับได้ว่าเราได้เห็นการเดินทางงดงามของพระองค์ท่านในหลายช่วงเวลา

ความเป็นนักเดินทางของคุณส่งผลต่อหนังสารคดีเดินทางเรื่องนี้มั้ย

สำหรับเรา ความหมายของการเดินทางไม่ใช่ภาพใหญ่ ไม่ใช่เป้าหมายยิ่งใหญ่ที่รออยู่ แต่คือความรู้สึกระหว่างทาง สิ่งที่เราเจอ สิ่งที่เราเรียนรู้ หนังสารคดีเรื่องนี้เลยถ่ายทอดเรื่องราวการเดินทางของในหลวงรัชกาลที่ 9 ผ่านสิ่งเหล่านี้ และการทำหนังสารคดีเรื่องนี้ก็คือการเดินทางของเราด้วย  ระหว่างทาง เราและเพื่อนทีมงานทุกคนก็ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไปด้วยกัน

หนังสารคดีควบคุมได้ยากกว่าหนังหรือละครที่คุณเคยทำ คุณมองว่าสิ่งนี้เป็นอุปสรรคหรือเปล่า

เรามองว่ามันคือสิ่งที่ทำให้เซอร์ไพรส์ ไม่รู้ว่าจะได้เจอสิ่งใหม่วันไหนมากกว่า เวลาตัดแล้วรู้สึกว่าอยากได้สิ่งนี้จัง เราก็ต้องหาทางค้นไปจนกว่าจะเจอ พอเจอแล้วก็จะรู้สึกว่า โอ้ มายก้อด ซึ่งเราคิดว่าการควบคุมไม่ได้มันดีนะ ทำให้เราได้รู้ข้อมูลถูกต้องที่สุดด้วย

รู้มาว่าคุณเป็นคนตั้งใจกับงานมาก ในงานนี้มีสิ่งที่คุณจะไม่ยอมประนีประนอมมั้ย

หนังสารคดีเรื่องนี้จะฉายวันพฤหัสหน้า (12 ตุลาคม) พี่ลี ชาตะเมธีกุล ที่มาช่วยตัดต่อบอกว่า โดนัท เราไม่มีเวลาแก้แล้ว แต่เราก็ยังไม่หยุด รู้สึกว่าต้องทำออกมาให้ดีที่สุด ครบถ้วนที่สุด ขณะเดียวกัน ก็ต้องถวายพระเกียรติพระองค์ท่านมากที่สุดด้วย โบ-พรมนัส รัตนวิชช์ ที่ร่วมสร้างหนังเรื่องนี้ด้วยกันก็จะเกลียดเรานิดหนึ่ง ถามเราว่า ดึกแล้ว นอนมั้ย เพราะถ้ายังไม่นอนเดี๋ยวเราก็จะส่งงานไปอีก

คุณเคยบอกว่างานเบื้องหลังคือสิ่งที่ใช่ หลังลองทำจริงมาพักใหญ่ยังรู้สึกอย่างนั้นมั้ย

เราก็ยังชอบอยู่นะ

ไม่เคยรู้สึกเหมือนตอนแสดงละครที่ตื่นมาแล้วคิดว่า What am I doing? เลยใช่มั้ย

ตอนนี้จะมีช่วงที่ตื่นมาแล้วรู้สึกว่า เอ๊ะ เราบ้าไปหรือเปล่า บางทีสิ่งที่ทำอยู่ก็ไม่ได้สำคัญขนาดนั้นหรือเปล่า คือเรารู้สึกว่า พวกเรามันบ้าเนอะ ไม่หลับไม่นอน ตื่นเช้าออกกอง ตากแดด บิลด์ให้คนอื่นทำสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง แล้วต้องทะเลาะกัน หลังๆ บางทีเราก็เริ่มรู้สึกว่าสิ่งที่ทำไม่ได้สำคัญขนาดนั้นหรอก

ไม่ได้สำคัญขนาดนั้นแปลว่าอะไร

ตัวเอง ละครเรื่องหนึ่งหรือหนังเรื่องหนึ่งเข้าฉายเสร็จ คนดูสนุก ตลก จบแล้ว มันไม่ได้เป็นสิ่งยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต เราก็คิดว่า จริงเหรอ ต้องอดหลับอดนอน ตื่นมาเป็นบ้า ทีมอาร์ตลืมเอาเลือดปลอมมาก็ทะเลาะกับมัน เสื้อผ้าผิดก็ต้องตีกัน เครียด สุดท้ายแล้ว มันก็หนึ่งวันที่ออกอากาศแล้วก็จบ ไม่ใช่คำว่าไม่คุ้มนะ แต่เอาเข้าจริงมันสำคัญขนาดนั้นเหรอ สิ่งที่เราทำอยู่น่ะ

แต่เราไม่ได้ไม่ชื่นชมสิ่งที่เราทำนะ เรารู้สึกว่าสิ่งสำคัญคือ เรามีความสุขกับชีวิต กับสิ่งที่เราทำอยู่ขนาดไหน เรากำลังทำอะไรอยู่ แล้วก็ต้องรู้จักหน้าที่และทำให้ดีที่สุด เพียงแต่โลกใบนี้คงไม่ได้หยุดหมุนถ้าเราเลิกกำกับ ดีของเราอาจไม่ได้สำคัญสำหรับคนอื่นขนาดนั้น ความรู้สึกนี้อาจจะเริ่มต้นตั้งแต่เราเริ่มดูสารคดี เราว่าสิ่งนี้มีความหมาย ความทุ่มเทนั้นมันมีประโยชน์ต่อคนอื่น ไม่ได้บอกว่าถ้าอย่างนั้น ฉันจะลุกมาทำสิ่งที่เป็นประโยชน์นะ แต่เรารู้สึกว่าอยากให้สิ่งที่มีประโยชน์ขึ้นอีก เราก็พยายามทำสิ่งที่รู้สึกว่ามีความหมายและสำคัญ ก็เลยมาทำหนังสารคดีเรื่องนี้

ไม่นานนี้คุณเพิ่งตรวจพบว่าเป็นโรคภูมิแพ้ตัวเอง สิ่งนี้ส่งผลกระทบต่อชีวิตคุณมั้ย

ไม่เลย คือเราก็ป่วยแหละ แต่เป็นไม่ค่อยซับซ้อนกับเรื่องแบบนี้ในชีวิต อย่างเวลาทำงาน ถ้าเจอคน emotional มาก เราจะหงุดหงิดว่างานคืองาน อย่าเอาไปปนกับเรื่องส่วนตัว คุยกันแค่งานแล้วก็จบ คืออารมณ์ส่วนตัวมันมีอยู่แล้ว แต่เราว่าไม่ควรเอามารวมกัน และตอนจบมันก็คือเราได้ทำสิ่งที่มีความหมายด้วยกัน มีความสุขด้วยกัน

ตอนนี้สิ่งที่คุณให้ความสำคัญคืออะไร

เรายังทำงานหนักมากเหมือนเดิม ทำไม่หยุด แต่ก็พยายามหาสมดุลของชีวิต บางคนที่ทำงานจนป่วย เรารู้สึกว่า เฮ้ย มันไม่ขนาดนั้น ไม่ใช่ว่าเราไม่ตั้งใจทำนะ แค่ต้องมองมันแล้วเข้าใจ

ชีวิตปัจจุบันเป็นการเดินทางที่มีเป้าหมายมั้ยว่าจะต้องไปทางไหน

ไม่มีนะ แล้วก็ไม่ได้คิดว่าฉันจะต้องดัง แค่คิดว่าก็ทำไปให้มันดี แค่นี้ จบ

*ภาพยนตร์สารคดี The Journey บันทึกทางไกล…ถึงพ่อ จะเข้าฉายให้ประชาชนชมฟรี ในวันที่ 12-15 ตุลาคม 2560 ที่โรงหนัง SF Cinema และช่วงปลายเดือนตุลาคมที่โรงหนัง Bangkok Screening Room

Writer

ธารริน อดุลยานนท์

ธารริน อดุลยานนท์

สาวอักษรฯ ผู้หลงรักการเขียนเสมอมา และฝันอยากสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ด้วยสิ่งที่มี ณ จุดที่ยืนอยู่ รวมผลงานการมองโลกผ่านตัวอักษรไว้ที่เพจ RINN

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล