ศิลปินหลายคนเลือกสงขลาเป็นที่ปักหลักเพื่ออยู่อาศัยและสร้างสรรค์ผลงาน คนสูงวัยเลือกที่นี่เป็นบ้านใช้ชีวิตหลังจากเกษียณอายุ คนรุ่นใหม่เลือกเป็นที่ริเริ่มความฝัน สงขลาเป็นเช่นนั้น เป็นทั้งเมืองที่น่าอยู่และควรค่าแก่การเดินทางมาท่องเที่ยว (สักครั้งสองครั้งหรือมากกว่านั้น)

เมื่อมีทั้งคนไทย คนจีน และคนมุสลิมอยู่ร่วมกัน สงขลาจึงเป็นเมืองพหุวัฒนธรรม มีของกินอร่อย ๆ หลากหลายสัญชาติตั้งอยู่ทุกมุมเมือง หากเดินทางจากเมืองแห่งแสงสีอย่างหาดใหญ่ไปไม่ไกลก็ได้ใกล้ชิดธรรมชาติทั้งน้ำตกและทะเลสาบสงขลาอันเป็นเอกลักษณ์ แถมยังมีย่านเมืองเก่าซึ่งเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์สุดเท่ที่ต้องมาเช็กอิน

ครั้งนี้ฉันกลับบ้านในฐานะนักเขียนพิเศษในแคมเปญ Happy City ได้ไปพำนักที่สงขลาเป็นเวลา 1 เดือนเต็ม ใน 20 สถานที่นี้มีหลายที่ที่ฉันเคยไป หลายที่ที่ฉันอยากไป และหลายที่ที่ไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีที่แบบนี้ด้วย 

การเดินทางครั้งนี้ทำให้ฉันได้รู้จักสงขลาในมิติที่ลึกซึ้งขึ้น หลงรักมากขึ้นกว่าเดิม ไม่ใช่เพราะเป็นบ้านเกิดและมีอาหารรสชาติถูกปากเท่านั้น แต่วันนี้สงขลากลายเป็นเมืองสุดคูล มีสิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาคือความอาร์ต ทั้งแกลเลอรีศิลปะ ร้านหนังสืออิสระ ห้องสมุดประจำเมือง โรงละคร พื้นที่ฉายหนังทางเลือก และอีเวนต์สร้างสรรค์ที่ทำให้เมืองสนุกขึ้น จากหลายพื้นที่ Lost Space กลับมามีชีวิตอีกครั้ง และกลายเป็นพื้นที่มหัศจรรย์ ต่อยอดนำไปสู่เรื่องราวอื่น ๆ อีกมากมาย ฉันจึงอยากชวนทุกคนออกมาสำรวจความอาร์ตและรู้จักคนสงขลาไปพร้อมกัน

#01

ฮับเซ่ง, ถนนนางงาม สงขลา

ร้านน้ำชาเก่าแก่บนถนนนางงามที่มี น้าอ่าง-ปรก ปฐพีทอง และ ป้าบ่วย-ยุพิน เกียรติโชติชัย เปิดต้อนรับผู้มาเยือนตั้งแต่ 6 โมงเช้า มีเมนูอาหารเช้าให้เลือกหลากหลาย ทั้งขนมปังปิ้ง ขนมจีบ ซาลาเปา บ๊ะจ่าง ไข่ลวก ขนมปังชุบไข่ทอด ชุดอาหารเช้ามีไข่ดาว แฮม เลือกจับคู่กับเครื่องดื่มร้อนและเย็นอย่างชา กาแฟ โอวัลติน โกโก้ นมสดหมี และมีกาแฟคั่วสดให้เลือกอีกด้วย

ซิกเนเจอร์ที่ห้ามพลาด คือขนมปังสังขยาสูตรไหหลำที่ทำเองทุกขั้นตอนอย่างพิถีพิถัน ใช้เวลากวนกว่า 8 ชั่วโมง เติมความร่วมสมัยด้วยเทคนิคกดลายบนขนมปัง ที่สำคัญคือราคามิตรภาพ อย่างขนมปังกดลายชุดละ 25 บาท ชาร้อนโบราณ 13 บาทเท่านั้น

ฮับเซ่งนับเป็นสภากาแฟที่พิเศษ เพราะแม้จะเป็นร้านที่นักท่องเที่ยวรู้จัก แต่เข้ามาในร้านกี่ครั้งต่อกี่ครั้ง บรรยากาศสภากาแฟก็ยังคงเป็นร้านของคนท้องถิ่นเหมือนเคย ดังนั้นทุกคนจะได้เห็นภาพอาแปะอากงนั่งล้อมวงสนทนากันอย่างออกรส มีเด็ก ๆ นักเรียนที่พ่อแม่พามากินอาหารเช้าก่อนเข้าโรงเรียน เป็นคอมมูนิตี้ยามเช้าสุดน่ารักบนถนนแห่งนี้

ฮับเซ่ง
  • 152 ถนนนางงาม ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา (แผนที่)
  • เปิดทุกวัน วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 06.00 – 12.00 น. วันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 06.00 – 15.00 น.
  • 08 9018 2828
  • ฮับเซ่ง – Hub Seng
#02

a.e.y.space, ถนนนางงาม สงขลา

a.e.y.space’ สเปซสุดสร้างสรรค์ ตั้งอยู่ในตึกแถวเก่าสไตล์จีนผสมยุโรป เจ้าของคือ เอ๋-ปกรณ์ รุจิระวิไล ที่คนรุ่นใหม่ยกให้เป็นพ่อเมืองแห่งย่านเมืองเก่าสงขลา เพราะนำศิลปะหลากหลายแขนงมาขับเคลื่อนเมือง ทำให้คนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่โคจรมาเจอกันผ่านอีเวนต์ต่าง ๆ เช่น Portrait of Songkhla, Made in Songkhla, Pakk Taii Design Week 2023 หรือ Chinese Spring: Home, Spirit, Bloom

สำหรับ a.e.y space แบ่งพื้นที่ด้านล่างส่วนหนึ่งเป็น Art Gallery จัดแสดงนิทรรศการจากศิลปิน โดยพื้นที่ส่วนนี้เข้ามาชมได้ในช่วงวันที่มีนิทรรศการจัดแสดง ส่วนพื้นที่ที่เหลือเอ๋ออกแบบให้เป็นที่พักเท่ ๆ ตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์ งานศิลปะ และออกแบบให้ปลอดโปร่ง เพื่อเป็นที่พำนักของศิลปิน นักวาด นักเขียนที่สลับเปลี่ยนหมุนเวียนมาพักตลอดทั้งปี 

อยากแนะนำให้ทุกคนมาที่นี่ในช่วงที่ย่านเมืองเก่าสงขลาจัดอีเวนต์ รับรองว่าจะได้สัมผัสความสนุกและได้รู้จักย่านนี้ในรูปแบบใหม่ ๆ ที่ทำให้ใจเต้นอย่างแน่นอน

a.e.y.space
  • 140-142 ถนนนางงาม อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา (แผนที่)
  • 09 5649 9656
  • a.e.y.space
#03

ห้องสมุด ยับ เอี่ยน ฉ่อย, ถนนนครนอก สงขลา 

ห้องสมุด ยับ เอี่ยน ฉ่อย เป็นอีกหนึ่งในสถานที่ที่ฉันอยากให้ทุกคนมาเช็กอิน นอกจากเสาหนังสือที่เหมือนงานศิลปะชิ้นใหญ่ซึ่งแข็งแรงจนแทบใช้การเป็นเสาจริง ห้องสมุดแห่งนี้ไม่เหมือนที่อื่น เพราะตั้งอยู่ในโกดังข้าวอายุกว่า 100 ปี ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และยังเป็นห้องสมุดประจำเมืองที่เข้าถึงง่าย เพราะตั้งอยู่ในย่านเมืองเก่า

ห้องสมุดแห่งนี้เกิดขึ้นโดย ครูมกุฏ อรฤดี คุณตาสมุดบันทึกแห่งสำนักพิมพ์ผีเสื้อ ชาวอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ด้วยความตั้งใจให้ที่นี่เป็นห้องสมุดวัฒนธรรม ให้ชาวบ้านได้เข้ามาอ่านหนังสือ ให้คนท้องถิ่นและบุคคลอื่นมาใช้เป็นศูนย์กลางเผยแพร่ความรู้ เจตจำนง และอุดมการณ์ ที่นี่จึงมีหนังสือความรู้ประวัติศาสตร์เมืองสงขลาให้ศึกษาอยู่หลายเล่ม

ความน่ารักคือมีบรรณารักษ์ใจดีคอยแนะนำหนังสือและคอยตอบคำถามต่าง ๆ หากมาในวันธรรมดาจะพบกับบรรยากาศของความสุขสงบ เหมาะกับอ่านหนังสือหรือนั่งทำงานยาว ๆ ตลอดวัน หากเดินทางมาในวันหยุดจะเจอกับความคึกคักของนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ ทำให้ห้องสมุด ยับเอี่ยน ฉ่อย มีชีวิตชีวา

ห้องสมุด ยับ เอี่ยน ฉ่อย
#04

dot.b, ถนนนครใน สงขลา

เหตุผลของคนรักร้านหนังสือมีไม่เหมือนกัน บางคนก้าวเข้าไปในร้านเพื่อตามหาหนังสือสักเล่มกลับบ้านไปด้วยกัน บางคนต้องการบางประโยคเพื่อปลอบประโลมใจ หรือหากร้านพอจะจัดที่นั่งให้ การได้นั่งทำงานในร้านหนังสือก็เป็นบรรยากาศที่หลายคนตกหลุมรัก

ที่ร้านหนังสือ dot.b เองก็เช่นกัน เป็นความตั้งใจของ โก้-ธีระพล วานิชชัง ที่ออกแบบร้านหนังสือเพื่อให้ตัวเองอยู่อาศัย นอกจากเป็นร้านหนังสืออิสระที่มีทั้งแนวสังคม วรรณกรรม ปรัชญา และการเมืองให้เลือกซื้อแล้ว ยังจัดโซนที่นั่งสำหรับคนที่ต้องการมาทำงาน มีพื้นที่ชั้น 2 สำหรับเชิญชวนศิลปินทุกแขนงนำผลงานมาจัดตั้งเป็นนิทรรศการเปิดให้เข้าชมฟรี หรือบ่อยครั้งก็เป็นเวทีเสวนาสุดอบอุ่นที่ต้อนรับผู้มาเยือนจากทั่วสารทิศ 

ทั้งยังมีพื้นที่ให้นักเขียนนักฝันที่มีหนังสือเป็นของตัวเองได้นำผลงานมาฝากวาง สร้างแรงบันดาลใจให้นัก (อยาก) เขียนไปฝันต่อ และอาจมีฝันใหญ่ไปจนถึงการเปิดร้านหนังสือของตัวเองอีกด้วย ท่ามกลางความคึกคักบนถนนนครใน ฉันอยากให้ทุกคนลองเปิดประตูเข้าไปในร้านหนังสือ dot.b

dot.b
  • 115 ถนนนครใน ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา (แผนที่)
  • เปิดทุกวัน วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.00 – 24.00 น. และวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 10.00 – 24.00 น.
  • 06 5017 1667
  • dot.b
#05

แต้เฮี้ยงอิ๊ว, ถนนนางงาม สงขลา 

“มานางงามต้องกินร้านแต้ให้ได้” หลายคนบอกฉันแบบนั้น และฉันอยากบอกต่อแบบเดียวกันกับทุกคน ร้าน ‘แต้เฮี้ยงอิ๊ว’ หรือคนสงขลาเรียกสั้น ๆ ว่า ‘ร้านแต้’ ตั้งอยู่บนถนนนางงาม นอกจากรสชาติอร่อยถูกปาก ร้านนี้ยังเปิดมานานถึงเกือบ 100 ปี นับตั้งแต่รุ่นแรก และสิ่งที่ทำให้ฉันรู้สึกนับถือคือความเด็ดเดี่ยวในการเลือกใช้วัตถุดิบที่ต้องเป็นของสงขลาเท่านั้น เช่น พริกเผาจากร้านสินอดุลย์พันธุ์ ซีอิ๊วดำ ซีอิ๊วขาว เต้าเจี้ยว หรือพริกไทยจากหาดใหญ่ เจ้าไหนเลิกทำเลิกผลิตก็ยกเลิกเมนู หมูเห็ดเป็ดไก่ปลาก็ต้องมีในตลาดสดสงขลา ไม่มีเท่ากับไม่ขาย 

ไพโรจน์ พงษ์สุขเจริญกุล คุณอาเจ้าของร้าน บอกว่าเมนูแนะนำจะทำเป็นตัวอักษรหนาไว้ในใบเมนู เช่น ยำมะม่วง เป็ดพะโล้หมูแดง ต้มยำปลากะพง เต้าหู้ราดหน้า (กุ้งสับ หมูสับ) เนื้อปูผัดพริกขี้หนู และหากได้ไปเยือนย่านเมืองเก่าสงขลาในช่วงฤดูฝน อย่าลืมสั่งเมนูปลากระบอกทอดหรือแกงส้มปลากระบอก ปลากระบอกสามน้ำจากทะเลสาบสงขลาทั้งนุ่มและมัน สำหรับอาหารทุกจาน ชไมพร พงษ์สุขเจริญกุล ยังยืนผัดต้มผัดแกงทอดอยู่หน้าเตา แน่นอนว่ารสชาติเมื่อ 30 กว่าปีก่อนเป็นอย่างไร วันนี้ก็ยังอร่อยแบบนั้นไม่มีเปลี่ยน 

แต้เฮี้ยงอิ๊ว
  • 85 ถ.นางงาม ต.บ่อยาง อ.เมือง จ.สงขลา (แผนที่)
  • เปิดทุกวัน (หยุดวันพุธ) เวลา 11.30 – 14.00, 17.00 – 20.00 น.
  • 07 431 1505
#06

เดินทัวร์ 5 ศาลเจ้าในย่านเมืองเก่าสงขลา

ในอดีตย่านเมืองเก่าสงขลาเป็นย่านที่คนจีนอพยพมาตั้งรกรากถิ่นฐาน ที่นี่จึงมีศาลเจ้าตั้งอยู่ตามถนนสายหลักและในตรอกซอกซอยกลมกลืนไปกับบ้านเรือนของผู้คน ครั้งนี้เราให้ ตี๋-เตชธร ตันรัตนพงศ์ ลูกหลานรุ่นที่ 4 ของ ‘ร้านยาจีนงี่เทียนถ่อง’ ซึ่งมีบ้านอยู่ตรงข้ามศาลหลักเมือง ทำวิจัยปริญญาโทเรื่องคติความเชื่อที่พบในศาลเจ้าหลักเมือง และตี๋เรียกเจ้าพ่อศาลหลักเมืองว่า อากง พาเดินทัวร์ 5 ศาลเจ้า

“ในพงศาวดารเขียนว่าศาลเจ้าหลักเมืองเริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. 2385 เจ้าพ่อหลักเมืองจึงเป็นทุกสิ่งทุกอย่างให้คนสงขลา ตั้งแต่เกิด เจ็บ และตายตั้งแต่นั้นมา” ​ตี๋เล่า

ติดกับศาลหลักเมือง เดินทะลุไปศาลเจ้าพ่อกวนอูซึ่งเป็นเทพที่ดูแลเรื่องคุณธรรมได้ เพราะสงขลาเป็นเมืองท่า คนทำอาชีพค้าขาย พ่อค้าแม่ค้ามาไหว้เพื่อนำคุณธรรมของท่านมาใช้ในอาชีพ 

เกือบปลายถนนนางงามคือศาลเจ้าตั้งเซ่งอ๋อง (อยู่ในระหว่างการปรับปรุง) นับเป็นศาลที่เก่าแก่ที่สุดของคนจีนตระกูลตั้ง ก่อนจะไปต่อที่ถนนหนองจิก แวะซื้อเครื่องดื่มเย็น ๆ จากคาเฟ่สักแก้ว ที่นั่นมีศาลเจ้าปุนเถ้ากง เป็นศาลเจ้าที่ทุบแล้วสร้างขึ้นใหม่ ตัวศาลเจ้าจึงมีลักษณะร่วมสมัย คนหนุ่มสาวชอบมายืนถ่ายภาพกันหน้าศาลเจ้าแห่งนี้ จากนั้นให้เดินต่อมายังถนนยะลาจะเจอกับศาลเจ้าโป้ยอันเตียนที่ในอดีตถนนเส้นนี้ชาวบ้านทำอาชีพตีเหล็ก เจ้าองค์นี้จึงคุ้มครองเรื่องเกี่ยวกับอัคคีภัยนั่นเอง

สำหรับคนที่ชอบเดินเล่น ลองตั้งมิชชันนี้ไว้ก็ทำให้การเดินเล่นในย่านเมืองเก่าสงขลาสนุกขึ้นนะ

#07

ThanBoho’me, ถนนรามัญ สงขลา

ThanBoho’me (ธัญญ์โบโฮม) ร้านที่มีน้ำ กาแฟ ขนม และกลิ่นหอมอ่อน ๆ ของดอกไม้ลอยอบอวล เจ้าของร้านคือหญิงสาวที่หลงใหลในความงามของดอกไม้และปรารถนาจะอยู่ท่ามกลางกลิ่นหอมกรุ่นของกาแฟ เธอคือ บีม-ธัญญ์ฐิตา ศรีสงศักด์ธนา

แค่หน้าร้านก็น่ารัก จากบ้านไม้เก่าสู่คาเฟ่สไตล์วินเทจ มีเมนูเครื่องดื่มให้เลือกทั้งกาแฟ ชา หรือโซดา เลือกจับคู่กับขนมสักชิ้นอย่างสโคน เค้กแคร์รอต หรือเค้กเลมอนที่ทำสดใหม่ทุกวันจากครัวขนมเล็ก ๆ หลังบ้าน บรรยากาศอบอุ่นแบบนี้ไม่ใช่แค่นักท่องเที่ยวผู้มาเยือนที่ต้องมนต์เสน่ห์ แต่คนสงขลาเองก็รู้สึกหลงใหลไม่ต่างกัน

ในมุมหนึ่งของร้านจะเห็นเสื้อผ้าที่มีลวดลายของใบไม้และดอกไม้ที่ใช้เทคนิค Eco Print หรืองานผ้าพิมพ์ธรรมชาติที่ทั้งหมดเป็นงานคราฟต์ของบีมในชื่อแบรนด์ ThanBoho ที่ให้ลูกค้าที่ชื่นชอบงานสไตล์นี้ได้เลือกซื้อ และหลังจากที่เธอตระเวนจัดเวิร์กช็อปในอีเวนต์ต่าง ๆ บีมกำลังมีแพลนจัดเวิร์กช็อปที่ร้าน เพื่อให้คนที่สนใจได้ทดลองตอกดอกไม้ลงบนผืนผ้าด้วยตัวเอง เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่คนรักดอกไม้และงานคราฟต์ต้องลอง

ThanBoho’me
  • 95 ถนนรามัญ ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา (แผนที่)
  • เปิดทุกวัน เวลา 11.00 – 18.00 น.
  • 09 9293 6945
  • Thanboho 
#08

หาดสมิหลาและหาดชลาทัศน์ 

มาถึงเมืองสงขลาทั้งทีก็ต้องมาให้เห็นทะเลสาบสงขลาที่มีจุดเช็กอินสำคัญคือนางเงือกทองที่ตั้งอยู่บนชายหาดสมิหลา มองไปด้านหลังนางเงือกเห็นเกาะหนูเกาะแมว ตำนานอันโด่งดัง มีร้านอาหารทะเลเก่าแก่ที่เป็นร้านรับแขกบ้านแขกเมืองตั้งเรียงราย

จากหาดสมิหลาเดินมายังหาดชลาทัศน์ที่ริมหาดคึกคักตั้งแต่เช้ายันค่ำได้ จุดเด่นของริมหาดชลาทัศน์คือต้นสนต้นใหญ่คอยให้ร่มเงา ทุกคนคือเจ้าของสถานที่แห่งนี้ ไม่ว่าใครก็เดินเข้ามาจับจองที่นั่งเพื่อปูเสื่อปิกนิก กินข้าว กินส้มตำ นั่งเหม่อ ฟังเพลง หรืออ่านหนังสือได้ สิ่งที่ฉันชอบมาก ๆ คือบรรยากาศการรวมตัวกันของครอบครัวและเด็ก ๆ ที่ได้วิ่งเล่นอย่างอิสระ นอกจากเสียงคลื่นทะเล เราจะได้ยินเสียงหัวเราะดังขึ้นมาพร้อมกันเสมอ

สำหรับใครที่ชอบออกกำลังกาย เชื่อว่าอดใจไม่ไหวอย่างแน่นอน เพราะบรรยากาศชิลล์ ๆ ริมทะเลนี้เชื้อเชิญคนสงขลาให้ออกจากบ้านมาเดิน วิ่ง เล่นกีฬา ถ้าอยากขยับร่างกายกับเขาบ้าง อย่าลืมติดรองเท้าผ้าใบมาสักคู่ รับรองว่าเส้นทางริมหาดสมิหลาและหาดชลาทัศน์เรียกเหงื่อได้อย่างแน่นอน 

#09

บ้านในนคร, ถนนนางงาม ย่านเมืองเก่าสงขลา

บูทีกโฮเต็ลตั้งอยู่หัวมุมถนนโดดเด่นด้วยสีสันและความสดชื่นของแมกไม้ อยู่ใกล้ร้านอาหาร คาเฟ่ มัสยิด ศาลเจ้า และทะเลสาบสงขลา หากมองภายในอาจสงสัยว่าที่นี่เป็นคาเฟ่ เป็นบ้านคน หรือเป็นที่พัก

ฉันขอบอกว่าที่นี่เป็นทุกอย่าง เพราะ แม-ดนัย โต๊ะแจ ออกแบบพื้นที่ไว้เช่นนั้น ที่นี่เป็นบ้านที่แมอยู่อาศัยในทุกวัน มีโซนสวนสวยที่เปิดรับให้นักท่องเที่ยวเข้ามาชิมโรตีแกงไก่และน้ำผลไม้สด มีห้องพักที่ตกแต่งอย่างแตกต่าง บางห้องเป็นงานโมเสกที่แมหยิบจับทั้งกระเบื้องและชามสีสวยลายสวยมาเป็นงานศิลปะ จัดวางทีละชิ้นอย่างบรรจง กลายเป็นดอกไม้ดอกเล็กดอกใหญ่เรียงสลับกัน บางห้องเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับประมง เปลี่ยนขยะจากท้องทะเลเป็นข้าวของเครื่องประดับชิ้นใหม่ หลังจากได้นอนค้างคืนมาเกือบเดือน ขอคอนเฟิร์มว่าเตียงนอนนุ่ม ผ้าห่มหนา หลับสนิทและสบาย 

ในยามเช้าที่ไม่รีบร้อนอยากชวนทุกคนเข้ามานั่งในสวน ยิ่งในช่วงฤดูฝนที่ต้นไม้สดใส แค่ก้าวเข้ามาก็รู้สึกสดชื่น สูดหายใจได้เต็มปอด ทุก ๆ เช้าแมจะเตรียมข้าวต้มไก่สับ โรตีแกงไก่ และผลไม้ตามฤดูกาลไว้ เชื่อว่าทุกคนที่ก้าวเข้ามาต้องอยากอยู่ที่นี่อีกนาน ๆ อย่างแน่นอน

บ้านในนคร บูติกโฮเต็ล
#10

Arkrit’s Farm, เกาะยอ สงขลา 

ข้ามสะพานติณสูลานนท์จากเมืองสงขลาไปเกาะยอ เกาะที่อยู่กลางทะเลสาบสงขลาตอนล่าง เพื่อชิมเมนูสุดสร้างสรรค์จาก Arkrit’s Farm ที่มีพระเอกในจานคือปลากะพงจากทะเลสาบสงขลาที่ขึ้นชื่อว่าอร่อยที่สุดในประเทศไทย!

Arkrit’s Farm เริ่มต้นธุรกิจจากการทำ Smoked Premium White Sea Bass เนื้อปลากะพง 24 เดือน แล่เป็นชิ้น รมควันด้วยกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์ ก่อนต่อยอดเป็น Fresh Frozen White Sea Bass ผลิตภัณฑ์ปลากะพงตัดแต่งเกรดพรีเมียม 24 เดือน ส่วนหลังส่วนท้องสำหรับการประกอบอาหาร

อากฤษฏิ์ ศศิอังกูร อธิบายว่า “ปลากะพงจากทะเลสาบสงขลามีความพิเศษคือเป็นปลากะพงสามน้ำ คือน้ำเค็ม น้ำจืด และน้ำกร่อย ทำให้มีแร่ธาตุอุดมสมบูรณ์ ตรงข้างหน้าเราคือทะเลสาบหมู่ที่ 4 เป็นจุดที่น้ำโฟลว์ที่สุด ปลากะพงตรงนี้เลยตัวใหญ่ สีปลาที่ขึ้นมาเกล็ดจะแววทอง มีจุดเด่นคือเนื้อหวานและมัน”

ทุกคนเดินทางมาชิมปลากะพงสงขลาได้ถึงที่กับโปรเจกต์กินข้าวบ้านเพื่อน เสิร์ฟเมนูสลัดปลากะพงรมควัน ซุปครีมเห็ดปลากะพง ซาชิมิปลากะพง ท้องปลากะพงลวกจิ้ม และสเต๊กปลากะพงในบรรยากาศสุดชิลล์ติดริมทะเลสาบสงขลา

Arkrit’s Farm
  • หมู่ 4 ตำบลเกาะยอ อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา (แผนที่)
  • 09 8389 2546
  • Arkrit’s Farm

#11

ชุมชนบ้านหัวเขา, สิงหนคร 

ชวนท่องเที่ยวชุมชนแบบ One Day Trip ด้วยการนั่งเรือหางยาวจากย่านเมืองเก่าสงขลาข้ามฟากไปชุมชนบ้านหัวเขา อำเภอสิงหนคร เพื่อสำรวจชุมชน มัสยิด วัดเก่า และวิถีชีวิตชาวประมงกับ บังหมีด-สุวัต หัสบุญเล๊าะ ไกด์ชุมชนในกลุ่ม Ecotourism Songkhla Thailand ชาวประมงผู้รู้จักทะเลสาบสงขลาเป็นอย่างดี

ลงสำรวจชุมชนด้วยการนั่งรถซาเล้งผ่านถนนเส้นเล็ก ๆ เจอทั้งวัดเก่าอย่างวัดบ่อทรัพย์ วัดสุวรรณคีรี และมัสยิดอายุหลายร้อยปีชื่อมัสยิดยาบัลโรดเหร๊าะหม๊ะ ที่มีซอยเล็ก ๆ ให้เดินขึ้นไปยังจุดชมวิว ก่อนจะกลับลงมาทำเวิร์กช็อปไข่ครอบของดีสงขลา ชิมอาหารทะเลสด ๆ และพิซซ่าหน้ามันปูที่โรยใบขลู่ทอดกรอบ ซิกเนเจอร์ของร้าน Songkhla Pier เป็นเส้นทางการท่องเที่ยวที่ หนิง-ปาริชาติ สอนสุภาพ ประธานกลุ่ม Ecotourism Songkhla Thailand อยากให้ทุกคนได้รู้จักชุมชนบ้านหัวเขาในหลากหลายมิติ

เมื่อสนธยาใกล้เข้ามา ฉันได้ขึ้นเรือหางยาวอีกครั้งเพื่อชมวิวพระอาทิตย์ตกดินกลางทะเลสาบสงขลาที่ขอบอกว่าในวันฟ้าเปิดอากาศแจ่มใสรู้สึกประทับใจไปกับเส้นทางแห่งวิถีชีวิตและธรรมชาติ เลยอยากให้ทุกคนได้มาเห็นความสวยงามนี้ไปพร้อมกัน

Ecotourism Songkhla Thailand
#12

ทับ ปาลา รีสอร์ต, เมืองสงขลา 

พักค้างคืนใกล้ภูเขากับที่พักที่ได้ยินเสียงน้ำไหลตลอดเวลาที่ ทับ ปาลา รีสอร์ต ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองสงขลาหรือนางเงือกทองไม่ถึง 10 กิโลเมตร 

บ้านพักของที่นี่เป็นพูลวิลล่าส่วนตัว 4 หลัง มี เอจ-วีรณัฐ อนุกูล เป็นเจ้าของที่ควบตำแหน่งสถาปนิก วิศวกร และนักอนุรักษ์โบราณสถานของกรมศิลปากร เขาจึงตั้งใจออกแบบที่พักให้กลมกลืนกับธรรมชาติ ใส่ใจสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เอจเล่าถึงความสำคัญของพื้นที่แห่งนี้ว่า “อ่างเก็บน้ำตรงหน้าคืออ่างเก็บน้ำสวนตูล เก็บน้ำที่ไหลมาจากเทือกเขาเทวดา เทือกเขาที่สำคัญของสงขลา มีน้ำตก 3 สายไหลมารวมกัน เป็นป่าต้นน้ำที่สำคัญของสงขลาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2”

ส่วน ทับ ปาลา มีความหมายว่า ทับ เป็นภาษาใต้ แปลว่า ขนำ ปาลา มาจากคำว่า ปาละ แปลว่า มะพร้าว เพราะบ้านทำมาจากไม้มะพร้าวอายุกว่า 60 ปี และคำว่า ปาละ ยังแปลว่า ผู้รักษา ‘ทับ ปาลา’ จึงให้ความหมายได้ว่า ‘บ้านของผู้พิทักษ์รักษาป่า’

ส่วนกิจกรรมที่มาแล้วต้องลอง คือพายคายัคไปเล่นน้ำตกสวนตูลแล้วกลับมาเล่นสระน้ำเกลือต่อที่บ้านพัก หรือใครเป็นสายชิลล์ แค่นั่งเล่นมองวิวเพลิน ๆ ก็สบายใจสุด ๆ สำหรับอาหารเช้าเสิร์ฟข้าวยำทับ ปาลา ที่รวมของดีเมืองสงขลาไว้ในจานเดียว หากมีโอกาสไปสงขลาแล้วอยากพักผ่อนท่ามกลางธรรมชาติ ต้องลองไปค้างคืนที่ทับ ปาลา รีสอร์ต ให้ได้สักครั้งนะ

ทับ ปาลา รีสอร์ต
#13

สวนสาธารณะเทศบาลนครหาดใหญ่

สวนสาธารณะเทศบาลนครหาดใหญ่ เท่ตรงที่เป็นภูเขา ทุกตารางเมตรคือความร่มรื่น มีถนนตัดขึ้นเขาที่สะดวกและสบาย เหมาะกับการมาท่องเที่ยว พักผ่อน ออกกำลังกาย และมาเดต!

ขึ้นไปบนยอดเขาคอหงส์ แวะสักการะพระพุทธมงคลมหาราช พระยืนองค์ใหญ่เพื่อความเป็นสิริมงคล เดินมาด้านหน้าเป็นจุดชมวิวที่เห็นเมืองหาดใหญ่แบบ 360 องศา อาคารบ้านเรือนที่ย่อส่วนเป็นไซซ์จิ๋ว ถ้าโชคดีมาในวันที่ฟ้าเปิด ทางขวามือไกล ๆ เราจะเห็นมัสยิดกลางจังหวัดสงขลาและทะเลสาบสงขลาอีกด้วย โดยเราขึ้นไปชั้นบนสุดของเขาคอหงส์ด้วยรถมอเตอร์ไซค์หรือรถยนต์ได้ ระหว่างทางจะเห็นคนมาออกกำลังกายที่นี่ บ้างเดิน บ้างวิ่ง บ้างปั่นจักรยาน

ที่ชั้น 1 มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ฉากหลังเป็นภูเขา มองเห็นท้องฟ้ากว้าง ทำให้รู้สึกปลอดโปร่ง ให้อาหารปลา ปูเสื่อปิกนิก ปั่นเรือเป็ดสีสดใส ถ่ายรูปที่สวนดอกไม้ หรือปล่อยให้เด็ก ๆ วิ่งเล่นได้ มี Mini Zoo ให้เด็ก ๆ ได้เจอสัตว์จริง ๆ อีกด้วย และทุกเช้าของวันเสาร์-อาทิตย์ มีตลาดนัดสุขภาพให้เดินช้อปผลผลิตทางการเกษตร ขนมพื้นบ้าน และชมการแสดงจากนักเรียน เรียกว่าเป็น Public Space ที่เหมาะกับทุกคน ทุกเพศ และทุกวัย

สวนสาธารณะเทศบาลนครหาดใหญ่
#14

หลวงทีปขนมจีนสด

ร้านขนมจีนเส้นสดเจ้าแรกของหาดใหญ่ที่มีน้ำยาขนมจีนให้เลือกถึง 7 แบบ ได้แก่ น้ำยาปักษ์ใต้ แกงไตปลา น้ำพริกหวานกุ้งสด น้ำยาภาคกลาง น้ำยาป่า แกงเขียวหวานไก่ และน้ำยาปู น้ำยาน้องใหม่ที่เพิ่งทำขายเมื่อ 2 – 3 ปีที่ผ่านมาที่ ชัช กลิ่นเลี้ยม เจ้าของร้านกระซิบว่าเป็นน้ำยาที่หมดเร็วที่สุด!

 วิธีการกินขนมจีนของที่นี่แตกต่างจากร้านอื่นที่ให้เลือกน้ำแกงแล้วราดลงบนขนมจีน แต่ที่นี่จะเสิร์ฟขนมจีนเส้นสดม้วนสวยน่ากินมาเป็นถาด และน้ำยาต่าง ๆ เสิร์ฟเป็นถ้วย เพราะร้านอยากให้ชิมเส้นขนมจีนก่อน และตามด้วยชิมน้ำแกงแบบเป็นคำ ๆ ทีเด็ดอยู่ตรงผักสดพื้นบ้านไร้สารเคมีตามฤดูกาล ตักได้ไม่อั้น อย่างช่วงหน้าฝนเราจะได้กินใบแมงลัก ยอดหมุย ผักชีล้อม มันปู กฐิน ชะอม ผักกระเฉด ถั่วพู และมะเขือเปราะ มีอาหารทานเล่นอย่างไก่ทอด กุ้งทอด และทอดมันให้เลือกด้วย อ้อ! อย่าลืมตบท้ายด้วยของหวานสักถ้วย ไม่ว่าจะเป็นรวมมิตร ลอดช่อง หรือข้าวเหนียวทุเรียนที่ส่งตรงจากสวนเจ้าของร้าน ถือว่าจบมื้ออร่อยด้วยอาหารคาวและหวานได้ในร้านเดียว

หลวงทีปขนมจีนสด
#15

Lorem Ipsum, หาดใหญ่ 

บ้านเรือนสีลูกกวาดบนถนนนิพัทธ์อุทิศ 1 หรือถนนสาย 1 ที่คนหาดใหญ่เรียกกัน แค่นั่งรถผ่านก็รู้สึกสดใส ซึ่งหนึ่งในบ้านเก่าหลายหลังอายุกว่าร้อยปีที่ตั้งเรียงกันคือร้าน ‘Lorem Ipsum’ ที่เป็นทั้งคาเฟ่ พื้นที่ฉายหนังทางเลือก และ Art Space

Lorem Ipsum เกิดขึ้นจากการรวมตัวของคนที่ชอบดูหนังตั้งแต่ พ.ศ. 2561 ในนามกลุ่ม ‘เรื่องนี้ฉายเถอะ คนหาดใหญ่อยากดู’ จัดตาม Co-working Space ในหาดใหญ่ มี ต้น-พรชัย เจียรวณิช, โจ้-จักรพงศ์ บุญวรรณโณ และ นุ่น-ปิยฉัตร บุรณพร เป็นเจ้าของร่วมกัน ก่อนจะมีพื้นที่ฉายหนังของตัวเองใน พ.ศ. 2565 ที่ชั้น 2 ของร้าน

เมื่อมาที่นี่ นอกจากมาคาเฟ่เพื่อนั่งดื่มเครื่องดื่มสักแก้ว เค้กสักชิ้น ยังจองเข้ามาเพื่อดูหนังสักเรื่องแล้วแลกเปลี่ยนความคิดหลังหนังจบได้ หรือช่วงไหนที่มีอีเวนต์ก็ได้สนุกไปกับนิทรรศการภาพวาด ภาพถ่าย และเวิร์กช็อป เรียกว่าเป็นคอมมูนิตี้ที่ชวนคนสายอาร์ตให้มารวมตัวกัน รู้จักกัน และเป็นการเริ่มต้นสัมพันธ์ที่นำไปสู่โปรเจกต์อื่น ๆ อีกมากมาย

Lorem Ipsum
  • 135 ถนนนิพัทธ์อุทิศ ตำบลหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา (แผนที่)
  • เปิดทุกวัน เวลา 09.00 – 18.00 น.
  • 06 3526 3554
  • Lorem Ipsum
#16

Sanehar Paradiso, หาดใหญ่

ชั้น 2 ของห้างลี การ์เดน พลาซ่า ที่เคยเงียบเหงาเป็นพื้นที่ Lost Space วันนี้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง เพราะเมื่อกลาง พ.ศ. 2566 ที่นี่กลายเป็นสเปซน้องใหม่ตั้งอยู่กลางเมืองหาดใหญ่ชื่อว่า ‘Sanehar Paradiso’ (เสน่หา พาราดิโซ่) โดยที่มาของชื่อมาจากการนำชื่อ Sanehar ที่มาจากชื่อถนนเสน่หาสุนทร ซึ่งเป็นที่ตั้งของห้างมาบวกกับคำว่า Paradiso ชื่อหนัง Cinema Paradiso หมายถึง การระลึกความหลัง 

โปรเจกต์นี้เกิดขึ้นจาก นอท-ภัฏ รักษ์ทองธนา คนรุ่นใหม่ที่กลับบ้านมาเพื่อทำ Creative Space จับมือกับ โต้-โตมร อภิวันทนากร นักละครจากกลุ่มมานีมานะที่มีความฝันอยากทำละครเวทีที่หาดใหญ่ และ อาจารย์สุบิน เมืองจันทร์ นายกสมาคมศิลปินนานาชาติภาคใต้ เนรมิตพื้นที่ชั้น 2 เป็นโรงละคร และแกลเลอรีแสดงงานศิลปะ สำหรับโซน Artist Village หรือพื้นที่อาร์ตแกลเลอรีเป็นพื้นที่ที่รวบรวมศิลปินท้องถิ่นภาคใต้ นำอัตลักษณ์ วัฒนธรรมในท้องถิ่นมานำเสนอผ่านงานศิลปะหลายแขนง ทั้งงานวาด งานปั้น และงานประดิษฐ์ ส่วนอีกหนึ่งโซนสำคัญคือโซนโรงละครไซซ์เล็กที่มาเปิดประสบการณ์การชมละครเวที ณ ใจกลางเมืองหาดใหญ่ เล่นมาแล้วหลายเรื่อง เช่น ละครเวทีเรื่อง ART ละครเวทีเรื่อง คนธรรมดา เป็นต้น

Sanehar Paradiso
  • 29 ถนนประชาธิปัตย์ ตำบลหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา (แผนที่)
  • 08 4259 8829
  • Sanehar Paradiso
#17

Lunaray, หาดใหญ่

ร้านขนมหวานของครอบครัวที่ชอบทำขนมและรื่นรมย์กับการจัดดอกไม้ในแจกัน บรรยากาศในร้านจึงอบอุ่นและอบอวลไปด้วยกลิ่นของความรัก

มา Lunaray ต้องชิมบัวลอยโฮมเมด แป้งบาง ไส้เต็มคำ ทั้งไส้งาดำ ไส้คัสตาร์ดไข่เค็ม ไส้มะพร้าว ไส้ข้าวเหนียวทุเรียน และไส้กล้วยบวชชี เพราะ ปุ่น-ธัญจิรา วงศ์หิรัญเดชา เจ้าของร้าน เป็นนักคิด ชื่นชอบการรังสรรค์เมนูขนม โดยเลือกวัตถุดิบท้องถิ่นมาใช้ นอกจากบัวลอย ฉันอยากแนะนำอีก 2 เมนู คือขนมปำ ขนมขึ้นชื่อของสงขลา หน้าตาคล้ายขนมตาล ตัวเนื้อคล้าย ๆ เค้กโมจิ กินคู่กับคาราเมลน้ำตาลมะพร้าว มะพร้าวขูด และขนมขี้มอด และอีกเมนูอย่าง Icy Blossom ที่ปุ่นนำน้ำตาลสดจากอำเภอสทิงพระไปทำเป็นเกล็ดน้ำแข็งกรานิต้า รับประทานกับเนื้อสับปะรดที่นำไปเคี่ยวกับน้ำตาลโตนดจนเข้าเนื้อ ด้านบนเป็นพานาคอตต้ารสดอกเก๊กฮวย เนื้อเนียนนุ่ม กลิ่นหอมแบบธรรมชาติ ราดด้วยซอสคาราเมลน้ำตาลมะพร้าว กินเข้ากันสดชื่นสุด ๆ

นอกจากเป็นร้านขนมหวานแล้ว Lunaray ยังชอบจัดอีเวนต์ เคยจัดทั้งเวิร์กช็อปปั้นดิน เวิร์กช็อปจัดดอกไม้ และอีกงานน่ารัก ๆ คือจัดเสิร์ฟข้าวคลุกกะปิสูตรเด็ดฝีมือคุณแม่ให้ทุกคนได้ลองชิม

Lunaray
  • 188/3 ถนนรัถการ ตำบลหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา (แผนที่)
  • เปิดทุกวัน เวลา 12.00 – 20.00 น.
  • 08 3185 7661
  • Lunaray
#18

ตลาดเกษตร ม.อ., หาดใหญ่ 

ตลาดขายผักอินทรีย์ อาหารทะเลสด ๆ และขนมอร่อย ๆ ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่เกษตรกรหิ้วผักจากแปลงผักนอกเมืองส่งถึงมือผู้บริโภคกลางเมืองหาดใหญ่

‘ตลาดเกษตร ม.อ.’ เปิดมานานกว่า 23 ปี มีการตรวจสอบคุณภาพอาหารโดยเจ้าหน้าที่และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เรียกว่าเป็นตลาดคู่บุญของคนหาดใหญ่ เพราะที่ตลาดแห่งนี้มีผักสดตามฤดูกาล อาหารทะเลที่ชาวประมงพื้นบ้านจับได้ในช่วงเวลานั้น ๆ มาวางขาย รวมถึงไข่ไก่จากฟาร์มไก่ไข่อารมณ์ดี และข้าวสารจากนาข้าวของสงขลา

ก่อนจะลงไปเดินตลาดอย่าลืมเตรียมตะกร้า กระเป๋าผ้าใส่ผัก ใส่ผลไม้ เพราะที่ตลาดรณรงค์ไม่ใช้ถุงพลาสติก ดังนั้นที่นี่เราจะเห็นคนถือถุงผ้าหรือลากรถเข็นเล็ก ๆ เข้ามาซื้อของ นอกจากนี้ที่นี่ยังจัดโซนสำหรับนั่งรับประทาน มีขนม เครื่องดื่ม และอาหารปรุงพร้อมรับประทานให้เลือกหลายอย่าง ทั้งผัดไทยกุ้งสด กุยช่าย สลัดผัก ก๋วยเตี๋ยวลุยสวน พิซซ่า ราดหน้า ข้าวปลาแกะ เกี๊ยวต้ม และอีกมากมาย นอกจากนี้ตลาดยังจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในทุกเทศกาล เพื่อชวนชาวตลาดมาทำกิจกรรมสนุก ๆ ร่วมกันสานสัมพันธ์จนทำให้ที่นี่เป็นครอบครัวตลาดเกษตรที่แข็งแรง

ตลาดเกษตร ม.อ.
  • มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา (แผนที่)
  • เปิดจันทร์-ศุกร์ เวลา 14.00 – 19.30 น. วันเสาร์ เวลา 06.00 – 11.00 น.
  • ตลาดเกษตร ม.อ.
#19

Greenbook Cafe-Space, สะเดา

ร้านหนังสืออิสระแห่งเดียวในอำเภอสะเดาที่มีหนังสือวรรณกรรม ปรัชญา และศาสนา รวมถึงกิจกรรม Self-care, Read and Sleep Program โปรแกรม 2 วัน 1 คืน พร้อมห้องพัก และอาหาร 3 มื้อ

หากมาจากหาดใหญ่ให้เลี้ยวเข้าทางปากซอยตำบลปริก ตรงไปเรื่อย ๆ จะเจอบ้านสีเหลืองก่อนถึงอบต.ทุ่งหมอ อยู่ซ้ายมือ มี เชค-ดิเรก ชัยชนะ ยืนต้อนรับด้วยรอยยิ้มอยู่หน้าบ้าน ที่นี่เป็นร้านหนังสืออิสระที่ตั้งอยู่ในบ้านสุดอบอุ่น มีทั้งไม้เลื้อย ไม้ยืนต้น ไม้ดอกออกดอกสวยและหอม มีหมาเด็ก 2 ตัวสีน้ำตาลและสีดำวิ่งวนอยู่รอบ ๆ และมีแมวที่หลับตลอดเวลาอยู่บนเก้าอี้

ในโปรแกรมนี้ทุกคนจะได้สนุกกับกิจกรรมเรียนรู้การหมักยีสต์และทำขนมปังจากยีสต์ธรรมชาติ เรียนรู้การจัดดอกไม้อิเคบานะ – วิถีแห่งดอกไม้ที่นำเราเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ ดื่มชาวรรณกรรม พร้อมขนมทำเอง อบเอง กินเอง และดูหนังสารคดีพลางดื่มเหล้าบ๊วยกับโทนิก นอนที่พักสบาย ๆ กลางสวนยางล้อมรอบด้วยธรรมชาติ เป็น 2 วัน 1 คืนคุณภาพที่ฉันได้รับ และคิดว่าทุกคนควรหาเวลามาที่นี่สักครั้ง

 

Greenbook Cafe-Space
#20

เมืองสะเดา 

สะเดาเป็นเมืองเล็ก ๆ ใช้เวลาเดินทางจากหาดใหญ่ประมาณ 1 ชั่วโมง หลายคนรู้จักว่าเป็นทางผ่านเพื่อข้ามชายแดนไปยังประเทศมาเลเซียตรงด่านปาดังเบซาร์และด่านนอก แต่ฉันอยากแนะนำเมืองสะเดาให้ทุกคนได้รู้จักมากขึ้น เผื่อใครที่ชอบท่องเที่ยวชุมชนและรู้สึกอยากสโลว์ไลฟ์สักวัน

ในฐานะคนตำบลสะเดาโดยกำเนิดอยากชวนทุกคนค้างที่นี่สักคืนสองคืน เพราะสะเดาอากาศดี สายผจญภัยลองตื่นเช้า ๆ ไปเดินขึ้นเขาเล่ดูทะเลหมอก หรือสายชิลล์ก็เดินแกว่งแขนเล่น ๆ ที่สนามกลางสะเดากับคนสะเดาที่ตื่นมาออกกำลังกายกันอย่างคึกคัก แล้วแวะชิมโจ๊กและขนมปังสังขยาที่ร้าน ‘สะเดาโอชา’ ที่เปิดมานานกว่า 50 ปี มื้อเที่ยงแวะชิมอาหารใต้รสเด็ดที่ ‘ร้านอาหารพี่แผ้ว’ นอนกลิ้งสักพักเพื่อเก็บแรงไว้ช้อปปิ้งเสื้อผ้ามือสองที่ตลาดศาลากลางน้ำ ใครที่ชอบชิมขนมพื้นบ้านและอาหารของคนมุสลิมต้องแวะเดินเล่นที่ตลาดน้ำท่าพรุ รับรองว่าตื่นตาตื่นใจกับเกือบร้อยร้านค้าที่ตั้งเรียงราย ส่วนค่ำคืนที่สะเดาสงบเงียบ ชวนให้พักผ่อนและนอนหลับได้เต็มอิ่ม

Happy City เป็นแคมเปญในความร่วมมือของ The Cloud, สถาบันอาศรมศิลป์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีเป้าหมายในการสื่อสารความสำคัญของการพัฒนาเมืองและสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ

ความพิเศษของแคมเปญนี้คือ ทีมงานก้อนเมฆไม่ได้เป็นคนเล่าเอง แต่เฟ้นหาผู้สนใจ 5 คน มาทำหน้าที่ ‘นักเขียนพิเศษ’ แทนพวกเรา ตลอดระยะเวลา 1 เดือน ผู้ได้รับเลือกทั้ง 5 ต้องไปใช้ชีวิต ทำความรู้จักผู้คน กิจการ อาณาบริเวณต่าง ๆ ใน 5 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี ระยอง เชียงใหม่ อุบลราชธานี และสงขลา แล้วเขียนถ่ายทอด 20 เรื่องราวสุขภาวะของจังหวัดนั้น ๆ ออกมาเป็นหนังสือคนละ 1 เล่ม และบทความคอลัมน์ Take Me Out อีกคนละ 1 บทความ

บทความด้านบนเป็นเพียง 1 ใน 5 บทความของแคมเปญ Happy City เท่านั้น เราหวังว่าคุณจะติดตามอ่านจนครบ 5 จังหวัดด้วยความเพลิดเพลิน 

ถ้าอ่านแล้วอยากลุกขึ้นมาร่วมสร้างเมืองน่าอยู่อีกแรง พวกเราและเหล่านักเขียนพิเศษก็จะดีใจที่สุด!

Writer

เสริมสิน ชินวุฒิวงศ์

เสริมสิน ชินวุฒิวงศ์

แม่ค้าร้าน intro.word.s ชอบหยิบเรื่องราวสะกิดหัวใจมาเขียน ลองทำเป็น zine กุ๊ก ๆ มาแล้ว 5 เล่มและยังทำนู่นนี่ที่ชอบอยู่เรื่อย ๆ

Photographer

กิจพิมุกข์ ถาวรสุข

กิจพิมุกข์ ถาวรสุข

ช่างภาพสงขลา ลูก 1 ผู้ที่มีความฝันสูงสุดคือการได้เป็นเพื่อนคนแรกของ น้องจินนิค (ลูกสาว)