“หลบเรินตอใด” (กลับบ้านเมื่อไหร่)

คำถามที่ลูกหลานชาวใต้ผู้มองหาเส้นทางเติบโตในต่างถิ่นมักได้ยินหรือหวนนึกถึงในทุกช่วงเทศกาลสำคัญ ทว่าคลื่นของการหวนคืนบ้านเกิดซึ่งก่อตัวในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้สร้างแรงกระเพื่อมไปถึงใครอีกหลายคนจนนำมาสู่การพยายามหาคำตอบของคำถามว่า “แล้วกลับไปทำอะไร” 

เทศกาล ‘Pakk Taii Design Week 2023’ จึงชวนทุกคนมาหาแรงบันดาลใจ ผ่านงานสร้างสรรค์จากรากทางวัฒนธรรมและอดีตที่เคยผลิบานแบบครบทุกประสาทสัมผัส เพื่อจุดประกายให้ชาวปักษ์ใต้พลัดถิ่นได้หันกลับมาแสวงหาโอกาส ต่อยอด ผลิใบ และเบ่งบานในดินแดนบ้านเกิด 

เทศกาลออกแบบปักษ์ใต้ 2566 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “The Next Spring หลบเรินแล้วผลิบาน” นับเป็นกิจกรรมน้องใหม่ที่ทางสํานักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) ร่วมกับภาคีเครือข่าย นักขับเคลื่อนและพัฒนาเมือง นักสร้างสรรค์จาก 14 จังหวัดภาคใต้ ตลอดจนผู้ประกอบการและสถานศึกษาในพื้นที่ ต่างผนึกกำลังเนรมิตภูมิภาคฝนแปดแดดสี่แห่งดินแดนด้ามขวานให้มี “ฤดูแห่งการผลิบาน” ด้วยความคิดสร้างสรรค์ กับกิจกรรมภายใต้ 5 กรอบคิด กว่า 65 โปรแกรม กว่า 30 พื้นที่หลักในจังหวัดสงขลา และ 2 จุดจัดแสดงย่อยในจังหวัดตรังกับปัตตานี ตั้งแต่วันที่ 12-20 สิงหาคม 2566  

คอลัมน์ Take Me Out ชวนออกเดินทางไปสำรวจหนทางแห่งความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ผ่าน 15 ไฮไลท์ ทั้งนิทรรศการ ศิลปะการแสดง ดนตรี เวิร์คช็อป ภาพยนตร์ ตลาด ตลอดจนอาหารและเครื่องดื่ม รับรองว่าการ “หลบเริน” ครั้งนี้ ทำให้ความฝันในการกลับบ้านของใครหลายคนผลิบาน! 

#01

Chinese Spring : Home, Spirit, Bloom 

สำรวจเรื่องเล่าขานการผลิบานของคนจีน 5 เหล่า

3 นิทรรศการ ใน 3 สถานที่ตั้ง ชวนทอดน่องไปเรียนรู้ความเป็นมาของชาวจีน 5 เหล่าในภาคใต้ ครอบคลุมเรื่องการย้ายถิ่นฐาน การปรับตัว ความเชี่ยวชาญ และการพัฒนาเมืองสงขลาในแต่ละช่วงเวลา เริ่มจาก นิทรรศการ Chinese Spring – Home ฟ้า, ดิน, ถิ่น, บ้าน : การเดินทางในระหว่างกลาง โดย นักรบ มูลมานัส ณ บ้านเก้าห้อง พาผู้ชมไปเดินเรือเพื่อสำรวจการเดินทางลงหลักปักฐาน และนิยามความเป็นบ้านผ่านศิลปะจัดวางที่ได้แรงบันดาลใจจากภาพถ่ายเก่าชาวจีนในสงขลา 

ต่อกันที่สมาคมฮกเกี้ยน กับ Chinese Spring – Spirit จิตวิญญาณ ‘จีน’ ที่ไม่เคยจางหาย โดย SOUL SOUTH STUDIO ที่เปิดเผยข้อมูลเชิงลึกถึงการก่อร่างสร้างตัว และจิตวิญญาณของคนจีนที่ฝังรากมายาวนาน มีไฮไลท์เป็นวีดิทัศน์สัมภาษณ์ 5 ครอบครัวที่นำเสนอตัวตนของจีนแต่ละเหล่าอย่างเด่นชัด

ปิดท้ายด้วยการชมภาพยนตร์สารคดีสั้น ร้อยเรียงจากบทสัมภาษณ์กลุ่มชาวไทยเชื้อสายจีน ซึ่งแตกต่างด้วยอายุและอาชีพ อันจะเผยทุกปัญหา ความท้าทาย พร้อมมุมมองความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการผลิบานอีกครั้งกับ Chinese Spring – Bloom โดย ไพสิฐ หวังรังสีสถิตย์ ณ a.e.y space 

ยังมีโปรแกรมฉายภาพบริบทของจีนสงขลาอย่างลึกซึ้งผ่าน 3 งานเสวนา ได้แก่ เรื่องเล่าจีน 5 เหล่าในสงขลา พาดูคลื่นการอพยพครั้งใหญ่ของกลุ่มชาวจีนโพ้นทะเลเมื่อครั้งอดีต จีน 5 เหล่ากับเหล่าทายาทรุ่นสอง ชวนย้อนมองกลับไปยังจุดเริ่มต้นและการก้าวเดินของร้านน้ำชาและร้านขายยาจีนเก่าแก่ในสงขลา และปรุงรสอร่อยแบบฉบับชาวจีนสงขลา พาผู้สนใจไปสำรวจประวัติศาสตร์รอบจานอาหาร 

Chinese Spring – Home ฟ้า, ดิน, ถิ่น, บ้าน : การเดินทางในระหว่างกลาง
  • บ้านเก้าห้อง ถนนหนองจิก (แผนที่)
  • วันที่ 12-20 สิงหาคม 2566 เวลา 10.00-20.00 น.
Chinese Spring – Spirit จิตวิญญาณ ‘จีน’ ที่ไม่เคยจางหาย
  • สมาคมฮกเกี้ยน ถนนนางาม (แผนที่)
  • วันที่ 12-20 สิงหาคม 2566 เวลา 10.00-20.00 น.
Chinese Spring – Bloom
  • เอ.อี.วาย สเปซ ถนนนางาม (แผนที่)
  • วันที่ 12-20 สิงหาคม 2566 เวลา 10.00-20.00 น.
#02

Melayu Living: BILLAH บินละห์ 

พลิกชีวิตท่าเรือแหลมสนและชุมชนหัวเขา

บินละห์ (BILLAH)

ประติมากรรมทรงแปลกตา ถอดแบบจากท่วงท่าการโบยบินของว่าวกำลังจะพลิกชีวิตท่าเรือแหลมสน ด้วยการพาเรื่องราวของคนในหมู่บ้านชาวประมงชุมชนหัวเขาไปอยู่ในความสนใจของคนในวงกว้าง! 

ศิลปะจัดวางออกแบบโดยกลุ่ม Melayu Living มองความสัมพันธ์ระหว่างทะเลสาบสงขลาและอ่าวปัตตานี เป็นความเชื่อมโยงระหว่างพื้นดิน ท้องฟ้า และสายน้ำ ซึ่งลักษณะความคล้ายคลึงทางภูมิศาสตร์ ส่งผลให้สองพื้นที่มีรากวัฒนธรรมใกล้เคียงกัน ทั้งบทบาทเมืองท่าทางการค้า วิถีชีวิตที่ผูกพันกับศาสนาอิสลาม ตลอดจนมีภูมิปัญญาพื้นถิ่นคือ การเล่นว่าว ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวเหมือนกัน

ว่าวควายจากชุมชนหัวเขา และว่าวเบอร์อามัสแห่งดินแดนมลายู จึงถูกใช้เป็นจุดเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างสองดินแดน โดยการตั้งชื่อชิ้นงานหมายถึง “การเอ่ยนามของพระผู้เป็นเจ้า” มักใช้ในการเริ่มต้นทำกิจกรรมต่าง ๆ ทำให้ประติมากรรมบินละห์ไม่ใช่แค่เพียงศิลปะที่กำลังจะสร้างชีวิตชีวาแก่พื้นที่ หากยังสื่อถึงการเริ่มต้นใหม่ เป็นสายลมที่กำลังพัดพาฤดูกาลแห่งการผลิบานมาสู่พื้นดินนี้    

ณ ที่ซึ่งพื้นดิน ท้องฟ้า และสายน้ำมาบรรจบกัน ประติมากรรมรูปทรงแปลกตาอวดโฉมริมทะเลสาบสงขลา ณ ท่าเรือแหลมสน รอให้ทุกคนมาตีความได้ตลอดเทศกาลออกแบบปักษ์ใต้แล้ว

  • ท่าเรือแหลมสน (แผนที่)
  • วันที่ 12 – 20 สิงหาคม 2566 เวลา 10.00 – 20.00 น.
#03

“บี๋ไทบาก” ในมุมมองชาวเปอรานากัน

ฟื้นชีวิตขนมที่เคยร่วงโรยให้กลับมาผลิบาน

เวิร์คช็อปทำ (กิน) ขนมบี๋ไทบาก นำเสนอความเป็นไปได้ของการฟื้นชีวิตให้ความดั้งเดิมที่เคยตายจาก พาไปสัมผัสประสบการณ์ความอร่อยสุดพิเศษ ด้วยการลิ้มรสเมนูขนมของชาวจีนฮกเกี้ยนโบราณที่หายไป โดยการรังสรรค์ใหม่จากมุมมองปรมาจารย์ด้านอาหารเปอรานากันอย่าง เชฟอุ้ม-คณพร จันทร์เจิดศักดิ์ จาก ตรัง โคอิ ซึ่งความน่าสนใจไม่ใช่แค่การสวมหมวกเชฟเพื่อเสิร์ฟขนมหวาน แต่ยังชวนทุกคนมาร่วมนวดแป้ง ปั้นเส้น พร้อมเสิร์ฟความรู้ผ่านประวัติศาสตร์ในถ้วยขนมจากบทบาทของนักวิชาการ

อีกหนึ่งความพิเศษของ ‘บี๋ไทบาก’ คือการเปิดร้านกาแฟของคนรุ่นใหม่อย่าง The Stand Brew.Bake ให้เป็นพื้นที่โอบรับความดั้งเดิมที่ร่วงโรยตามกาลเวลาได้กลับมาผลิบานอีกครั้ง

สถานที่ : The Stand Brew.Bake ถนนนครใน ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา (แผนที่)

วันที่ 13, 17 และ 19 สิงหาคม 2566 เวลา 14.00 – 15.30 น.

#04

Thai Craftaholic – Local Creative

ต่อยอดงานฝีมือช่างศิลป์ชั้นสูงภาคใต้ด้วยความคิดสร้างสรรค์

Thai Craftaholic โดย Creative Nakhon นำเสนอผลงานสร้างสรรค์จากการหยิบจับงานช่างในท้องถิ่นมาต่อยอดเป็นชิ้นงานร่วมสมัย อันเป็นผลลัพธ์จากการจับคู่ศิลปิน นักออกแบบ และนักสร้างสรรค์ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ดินแดนที่ขึ้นชื่อว่ารวบรวมครูช่างศิลป์ชั้นสูงไว้มากมาย และยังปรากฏงานช่างที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายของสกุลช่างไทยพุธ โดยคัดเลือกมาจัดแสดงจำนวน 10 คู่ผลงานที่ไม่เพียงแสดงถึงความสวยงามและความละเมียดละไมในเชิงช่าง หากยังสะท้อนคุณค่าและความเป็นไปได้ในการพัฒนาอย่างไม่รู้จบ นิทรรศการนี้ยังชวนทุกคนไปร่วมประสบการณ์สุดพิเศษ รับชมการแสดงสด ศิลปะที่ร่วมสร้างสรรค์โดยช่างศิลป์ ศิลปิน นักดนตรี และนักเต้น เพื่อร่ายรำท่ามกลางมนต์ขลังของวัดมัชฌิมาวาส นับเป็นไฮไลท์ของงานที่นำมาซึ่งความผลิบานของโบราณสถานที่มีอายุเก่าแก่กว่า 400 ปี 

ถ้าอยากสัมผัสงานศิลปะที่เต็มเปี่ยมด้วยกลิ่นอายของสกุลช่างไทยพุธ ไม่ควรพลาด!

  • หอศิลป์สงขลา 2 ถนนนครนอก และวัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร (แผนที่)
  • วันที่ 12 – 20 สิงหาคม 2566 เวลา 10.00 – 20.00 น.
#05

ลอง Table

เสิร์ฟอาหารไร้ชนชั้นริมทะเลสาบสงขลา

นี่คือพื้นที่และแพลตฟอร์มเชิงทดลองของเชฟเทเบิ้ลไม่มีชนชั้นริมทะเลสาบสงขลา ณ ท่าน้ำศักดิ์สิทธิ์พิทักษ์ ผ่าน 25 เมนูใหม่จาก 25 เชฟ ร่วมกับ 5 นักออกแบบผลิตภัณฑ์ ภายใต้ 5 คอร์ส โดยเป็นการออกแบบใหม่ผ่านการตีความคำขวัญของจังหวัดสงขลาทั้ง 5 ประโยค นั่นคือ 

นกน้ำเพลินตา
สมิหลาเพลินใจ
เมืองใหญ่สองทะเล
เสน่ห์สะพานป๋า
ศูนย์การค้าแดนใต้

เมื่อ Chef’s Table หรือ Fine Dining เป็นสิ่งที่ยากจะเอื้อมถึงสำหรับคนทั่วไป ขณะเดียวกันพื้นที่สงขลาและใกล้เคียงนั้นเต็มไปด้วยนักสร้างสรรค์ผู้มีใจรักการทำอาหาร พื้นที่และแพลตฟอร์มเชิงทดลองจึงเกิดขึ้นเพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสสร้างสรรค์อีเวนต์สุดพิเศษ พร้อมเลือกสรรวัตถุดิบในท้องถิ่นมาร้อยเรียงเป็นเรื่องราวบอกเล่าความอร่อยบนโต๊ะแบบ Long Table เปิดรับทุกคนที่ต้องการเปิดประสบการณ์ใหม่ทางด้านอาหาร และตั้งใจเป็นพื้นที่ของการนั่งชิม นั่งคุย และแชร์ทุกเรื่องราวกับเพื่อนใหม่ร่วมโต๊ะ 

  • ท่าน้ำศักดิ์สิทธิ์พิทักษ์ (แผนที่)
  • วันที่ 12 – 13 สิงหาคม 2566 เวลา 16.00 – 21.00 น.
  • ลอง Table ราคา 1 คอร์ส (เมนู) ไม่เกิน 100 บาท และ 5 คอร์สราคา 350-500 บาท
#06

Singorama 

เทศกาลฉายหนังริมทะเลสาบสงขลา

เทศกาลภาพยนตร์นอกบ้าน 9 วัน 9 คืน ในบรรยากาศริมทะเลสาบสงขลา พื้นที่จะนำพา หนัง คนดูหนัง และคนทำหนัง มาพบกันในช่วงเวลาพิเศษ โดยการนำเสนอโปรแกรมหนังที่แสดงความสัมพันธ์เชิงพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประพันธ์ชาวใต้ การถ่ายทำ หรือการกำกับการแสดงโดยคนใต้ 

สอดแทรกด้วยกิจกรรมที่ไม่ได้ให้อรรถรสแค่ดูหนัง หากยังสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ชมกับผู้อยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมภาพยนตร์ อาทิ ห้องสมุดมีชีวิต พูดคุยกับ The Master สายภาพยนตร์ชาวใต้ การพากษ์สด การวาดโปสเตอร์หนังบนผ้าใบ จนถึงการเป็นส่วนหนึ่งของผู้สร้างภาพยนตร์สั้นประจำเทศกาลฯ 

โดยไฮไลท์คือการปรับเปลี่ยนบางส่วนของร้านหนังสือ dot.b ให้เป็นพื้นที่พบปะและแลกเปลี่ยน​บทสนทนาในบรรยากาศสบายระหว่างบุคคลทั่วไปกับแขกรับเชิญของ Singorama ผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ พร้อมจะมาถ่ายทอดประสบการณ์ให้แก่ผู้สนใจแบบตัวต่อตัว เปรียบเสมือนการอ่านหนังสือเล่มใหญ่ที่อัดแน่นด้วยข้อมูล แต่ไม่ใช่ในห้องสมุดธรรมดา หากแต่นั่นเป็น ‘ห้องสมุดมนุษย์’ 

  • หอศิลป์สงขลา 2 ถนนนครนอก (แผนที่)
  • วันที่ 12 – 20 สิงหาคม 2566 เวลา 19.00 – 22.00 น. และ วันที่ 18 สิงหาคม 2566 เวลา 19.00 – 00.00 น.
  • Singorama Film Festival
#07

The Living Theatre 

เนรมิตเมืองเก่าสงขลาเป็นโรงละครแห่งความสร้างสรรค์ 

The Living Theatre เป็นการต่อยอดศิลปะการแสดงของภาคใต้ให้ร่วมสมัย ด้วยการเปิดพื้นที่ให้คนทั่วไปเข้าถึงศิลปะการแสดงได้ง่าย ผ่านบ้านเรือน อาคาร และสถาปัตยกรรมในเมืองสงขลา 

ไฮไลท์การเนรมิตบ้านเมืองให้เป็นโรงละครขนาดใหญ่ คือศิลปะการแสดงที่บอกเล่าเรื่องราวของชาวจีนสงขลา จำลองวิถีชีวิต ซึมซับบรรยากาศในยุคแห่งความหวัง โดยจัดแสดงผ่าน 3 ช่วงเวลาเสมือนเป็นอาหาร 3 มื้อ เริ่มจากมื้อเช้า Next Spring ร้านน้ำชา ละคร Immersive ที่จะพาผู้คนไปซึมซับบรรยากาศยามสายของ “สภากาแฟปักษ์ใต้ ณ ร้านฮับเซ่ง” มื้อเที่ยง Next Spring บ้านเก้าห้อง ละคร Site-Specific ที่ผู้ชมถูกพาย้อนไปสู่สมัยแรกของการตั้งรกรากในเมืองสงขลา ณ Amazon บ้านเก้าห้อง (บ้านจีนโบราณ) ปิดท้ายด้วยมื้อค่ำ Young SPRING ยังผลิบาน ฉายภาพความประทับใจวัยเยาว์ของสองศิลปินผ่านการแสดงโนราและละครหุ่นเงายามโพล้เพล้ริมทะเลสาบสงขลา ณ หอศิลป์สงขลา 

“NEXT SPRING” THE DILOGY: Next Spring ร้านน้ำชา 
  • ร้านฮับเซ่ง ถนนนางงาม (แผนที่)
  • วันที่ : 12 – 13 สิงหาคม 2566 เวลา 10.30 – 11.45 น. จำนวนรอบละ 45 คน
“NEXT SPRING” THE DILOGY: Next Spring บ้านเก้าห้อง 
  • บ้านเก้าห้อง ถนนหนองจิก (แผนที่)
  • วันที่ : 12 – 13 สิงหาคม 2566 เวลา 14.30 – 15.15 น. และ 16.15 – 17.00 จำนวนรอบละ 30 คน
Young SPRING ยังผลิบาน
  • หอศิลป์สงขลา 2 ถนนนครนอก (แผนที่)
  • วันที่ : 12,19, และ 20 สิงหาคม 2566 เวลา 18.30 – 19.30 น. จำนวนรอบละ 45 คน
#08

ทริป The Singora in Harmony x The City Of Lagoon

การเดินทางเพื่อเข้าถึงทุกแง่มุมของความเป็นสงขลา

การเดินทางสุดพิเศษที่ชวนทุกคนไปสัมผัสทุกแง่มุมและเรื่องราวของเมืองสงขลา ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตที่ผูกพันกับสายน้ำมาอย่างยาวนาน ผ่านทริป The Singora in Harmony เดินเท้าลัดเลาะตรอกซอกซอย สำรวจร่องรอยอดีตแห่งความรุ่งเรืองผ่านจุดเช็กอินสำคัญในย่านเมืองเก่าสงขลา ต่อด้วยทัวร์เรือหางยาว The City Of Lagoon ที่ฉายให้เห็นบรรยากาศวิถีชีวิต ความศรัทธา ตลอดจนความผูกพันระหว่างผู้คนและสายน้ำในลุ่มทะเลสาบสงขลาอย่างชัดเจน

โปรแกรมการเดินทางของทั้งสองทริป จะพาทุกคนไปพบกับแลนด์มาร์คสำคัญของเมือง เป็นทั้งหลักฐานทางประวัติศาสตร์และศูนย์รวมของคนในท้องถิ่น อาทิ ศาลหลักเมืองศักดิ์สิทธิ์ ชุมชนมุสลิมเก่าแก่ วัดสำคัญอายุกว่า 400 ปี ตลอดจนจุดชมวิวสวยงามในจุดต่าง ๆ 

The Singora in Harmony
  • หอศิลป์สงขลา 2 ถนนนครนอก (แผนที่)
  • วันที่: 13, 17, และ 19 สิงหาคม 2566 เวลา 15.30 – 17.30 น. จำนวนรอบละ 20 คน, ค่ากิจกรรม 100 บาท
The City Of Lagoon
  • หอศิลป์สงขลา 2 ถนนนครนอก (แผนที่)
  • วันที่ 12-13 สิงหาคม 2566 เวลา 14.00 – 16.00 น. จำนวนรอบละ 20 คน, ค่ากิจกรรม 160 บาท 


Facebook : SKA Heritage

#09

ทริปเข้าใจสงขลา ผ่านพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น

 การเดินทางสำรวจสงขลาจากอดีตสู่ปัจจุบัน 

ท่องไปในพิพิธภัณฑ์ ทำความรู้จักกับสงขลาตั้งแต่ภาพใหญ่ไปจนถึงสิ่งละอันพันละน้อยที่มีความหมายกับการเดินทางที่จะทำให้ทุกคน “เข้าใจสงขลา” ในเชิงลึก ตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน ผ่านหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่จะบอกเล่าความเป็นมาของเมืองอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ พร้อมกับกูรูตัวจริงที่รับบทเป็นไกด์นำเดินทางพาทุกคนย้อนอดีตไปเรียนรู้สงขลาในแต่ละยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา ไม่ได้เป็นเพียงแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของสงขลา หากเป็นโบราณสถานที่ทรงคุณค่ายิ่งทางด้านศิลปกรรม ด้วยสถาปัตยกรรมจีนผสมตะวันตกที่ถูกกล่าวขานว่าสมบูรณ์และสวยงามที่สุดในภาคใต้ พร้อมบทบาทสำคัญในฐานะศูนย์กลางเมืองสงขลามายาวนานกว่า 140 ปี 

  • พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา (แผนที่)
  • วันที่ 16 สิงหาคม 2566 เวลา 10.30-11.30 น.  จำนวนรอบละ 15 คน, ค่ากิจกรรม 150 บาท พร้อมรับของที่ระลึก
#10

Revisiting Gimyong – กลับมาเยี่ยมกิมหยงอีกครั้ง

งานทดลองที่จะทำให้ตลาดกิมหยงกลับมาผลิบานอีกครั้ง

คุณไปเยือนกิมหยงครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ ? 

งานทดลองพัฒนาพื้นที่ตลาดกิมหยง โดยกลุ่ม Hatyai Connext นำเสนอนิทรรศการที่จะทำให้ตลาดแห่งนี้กลายเป็น “Make Gimyong Great Again!” ด้วยการแปลงโฉมเป็นพื้นที่นำเสนอเรื่องราว 3 รูปแบบ ใน 3 ส่วนของตลาด ส่วนแรกว่าด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนผ่าน จากอดีตอันเรืองรองสู่ปัจจุบันที่โรยรา ส่วนนิทรรศการภาพถ่ายสตรีท และ Photo Essay เปิดพื้นที่ให้นักสร้างสรรค์ในหาดใหญ่มาปล่อยของกันอย่างเต็มที่ ตลอดจน Projection Mapping ที่จะวาดภาพอนาคตและโอกาสความเป็นไปได้ใหม่ ๆ 

หลักใหญ่ใจความของการทดลองนี้ก็เพื่อชวนทุกคนให้หวนกลับมากิมหยงอีกครั้ง และยังมุ่งหวังให้แลนด์มาร์คทางการค้าของชายแดนใต้แห่งนี้ได้กลับมาเป็นมากกว่าตลาดที่เคยรุ่งเรือง แต่ยังเป็นพื้นที่ที่กำลังจะเปลี่ยนผ่านสู่ยุคสมัยแห่งการผลิบานในฉากทัศน์ใหม่ด้วย

  • ตลาดกิมหยง หาดใหญ่ (แผนที่)
  • วันที่ 12-20 สิงหาคม 2566 เวลา 10.00 – 20.00 น. 
#11

The Next Spring Space

หลาดนัดสร้างสรรค์

              โครงการทดลองและพัฒนาจัดทำพื้นที่สาธารณะ เนรมิตรบริเวณลานจอดรถเทศบาลให้กลายเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของเมือง โดยรังสรรค์ให้เป็นทั้งตลาดนัดหลักของเทศกาล รวบรวมสินค้าแฮนด์เมดมากกว่า 30 ร้านค้า และเป็นศูนย์ข้อมูลของนักท่องเที่ยวในเวลาเดียวกัน 

นอกจากนี้ยังจัดพื้นที่เป็นลานกิจกรรม ให้มีพื้นที่สำหรับเวิร์กช็อป ตลอดจนให้วงดนตรีท้องถิ่นในหลายจังหวัดภาคใต้จำนวน 12 วงมาขับขานเสียงเพลง โดยเป้าหมายของโครงการยังต้องการเปิดโอกาสให้ทุกคนในเมืองได้มาเติมเต็มแรงบันดาลใจและปลดปล่อยพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ เพื่อสนับสนุนความเป็นไปได้ใหม่ ๆ และร่วมสร้างฤดูใบไม้ผลิให้กับพื้นที่แห่งนี้ไปด้วยกัน

  • จุดให้บริการ / ลานสร้างสรรค์ (แผนที่)
  • วันที่ 12 – 13 และ 18 – 20 สิงหาคม 2566 เวลา 10.00 – 21.00 น.
  • วันที่ 14 – 17 สิงหาคม 2566 เวลา 13.00 – 18.00 น.
#12

Open Stage Music 

ฟัง เสียง สำเนียง ปักษ์ใต้

เวทีเปิดมองเห็นได้แบบ 360 องศาที่กำลังจะเกิดขึ้นบริเวณลานจอดรถเทศบาล จะกลายเป็นพื้นที่ขับขานบทเพลงของ ‘ศิลปินสำเนียงใต้’ จำนวน 12 วงดนตรี จากหลากหลายจังหวัดภาคใต้ อาทิ กระบี่ นครศรีธรรมราช พัทลุง ภูเก็ต และสงขลา โดยแต่ละวงมีความโดดเด่นด้วยการนำดนตรีท้องถิ่นดั้งเดิม และสำเนียงภาษาใต้อันเป็นเอกลักษณ์ มาผสมผสานกับแนวทางดนตรีที่หลากหลายและเรื่องราวร่วมสมัย ถ่ายทอดสีสันใหม่ ๆ ของดนตรีปักษ์ใต้ในยุคปัจจุบันให้ทุกคนได้รู้จัก เช่น รองแง็งสวนกวี บินหลาแจ๊ส อาดัมแอนด์ซัน วงแฮมเมอร์ สมรมแบนด์ สวนไดโนเสาร์ วิทยา ฟลามิงโก้ ฯลฯ

Open Stage Music : ฟัง เสียง สำเนียง ปักษ์ใต้ เป็นหนึ่งในความตั้งใจสำคัญของงานที่ต้องการเปิดพื้นที่ให้เหล่านักสร้างสรรค์ชาวใต้ในหลายจังหวัดได้มีพื้นที่ในการโชว์ศักยภาพและร่วมนำเสนอความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ไม่รู้จบในฤดูกาลแห่งการเริ่มต้นใหม่ครั้งนี้ไปด้วยกัน และหนึ่งในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่มีความสำคัญไม่แพ้กลุ่มนักออกแบบหรือคนทำภาพยนตร์ ก็คือเหล่า ‘ศิลปินนักดนตรี’

  • จุดให้บริการ / ลานสร้างสรรค์ (แผนที่)
  • วันที่ 12 – 13 และ 18 – 20 สิงหาคม 2566 เวลา 17.00 – 21.00 น.
#13

 แปลงโฉมใหม่ให้กับตลาดบ้านบน

หลาดสร้างสรรค์ของชุมชนเข้มแข็ง

 ตลาดนัดชุมชนมัสยิดบ้านบนในความรับรู้ของคนสงขลากำลังจะเปลี่ยนไปตลอดกาล เมื่อมีการต่อยอดจากตลาดชุมชนที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกอาทิตย์ ยกระดับให้กลายเป็น  Attraction แห่งใหม่ของเมืองสงขลา ผ่านการปรับปรุงทัศนียภาพโดยรอบ และการงานออกแบบสร้างสรรค์ โดย พจน์ อักษรสนาน หรือ อาจารย์ธีรวัฒน์ พจน์วิบูลศิริ ผู้มาแปลงโฉมตลาดอาหารฮาลาลเล็ก ๆ ร่วมกับภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม คณะกรรมการมัสยิดบ้านบน นักออกแบบ และชาวชุมชน ให้ออกมาในรูปแบบใหม่ 

พูดคุยเบื้องหลังการทำงานและการบริหารจัดการตลาดสร้างสรรค์ของชุมชนมุสลิมกลางย่านเมืองเก่าสงขลา กับ แม-ดนัย โต๊ะแจ พร้อมชิมช้อปอาหารฮาลาล ผ่านเมนูหากินยากและรสชาติเฉพาะตัว โดยไฮไลท์ของตลาดคือการแสดงของวงอัสลีมาลาแบบเต็มวง  บอกได้คำเดียวว่าเตรียมพบกับเซอร์ไพรส์ที่จะมาเปลี่ยนตลาดแห่งนี้ให้เป็นจุดหมายปลายทางที่ใคร ๆ ก็อยากแวะเวียนมาเยือนสักครั้ง

  • มัสยิดบ้านบน (แผนที่)
  • วันที่ 13 และ 20 สิงหาคม 2566 เวลา 17.00 – 20.00 น. 
#14 

Creative Talk – ถอดรหัสปัตตานี

 ร่วมคิดและมองปัตตานีในมุมใหม่ 

             เสวนาสร้างสรรค์ โดย กลุ่ม Melayu Living ชวนภาคีเครือข่าย ผู้มีประสบการณ์ทั้งภายในและนอกจังหวัดปัตตานี มาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ทั้งในด้านการพัฒนาพื้นที่ การส่งเสริมและขับเคลื่อนเมืองด้วยเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ตลอดจนร่วมมองอนาคตของเมืองนี้ไปด้วยกัน

            การเกิดขึ้นของ Creative Talk – ถอดรหัสปัตตานี มีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาย่านเล็ก ๆ ในจังหวัดปัตตานี ผ่านงานสร้างสรรค์และงานศิลปะ อีกทั้งหวังเชิญชวนผู้ที่มีบทบาทหน้าที่มาร่วมสนับสนุน โดยกิจกรรมแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ เสวนาว่าด้วยทิศทางการสร้างเมืองด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เสวนาชวนถอดบทเรียนเทศกาล Pattani Decoded และ Workshop: Lulu x Pattani โดย Lulu Kouno ศิลปินร่วมสมัยจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมาจัดกิจกรรมวาดเมืองด้วยจิตรกรรมฝาผนังร่วมกับเยาวชนในปัตตานี

  • มลายู ลีฟวิ่ง ถนนปัตตานีภิรมย์ ตำบลอาเนาะรู อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี (แผนที่)
  • วันที่ 19 สิงหาคม 2566 เวลา 14.00 – 18.30 น. 
#15

เถตรัง : The-Trang

เปิดพื้นที่ให้เหล่านักสร้างสรรค์ตรังได้แจ้งเกิด

             นิทรรศการงานออกแบบ คอนเซ็ปต์ “หัว born” จากเหล่านักสร้างสรรค์ชาวตรังทั้งรุ่นใหม่และรุ่นเก๋า จำนวน 11 กลุ่ม ได้แก่ Plantoys, Sarnsard, Damdin Ceramic, Matu Gallery, ท้องมังกร, ธนพล เลิศชัยฤทธิ์ MIN., Dania, ศูนย์ศิลปะวิถี, ลูกปัดมโนราห์ โรงเรียนวัดทุ่งหวัง และผ้ามัดย้อม เกาะสุกร ที่หยิบวัสดุท้องถิ่นมาต่อยอดนำเสนอในรูปแบบใหม่ เพื่อประกาศให้คนในพื้นที่เห็นว่าของตรังก็มีดี! 

             โดยเปิดตัวบนพื้นที่สร้างสรรค์แห่งใหม่ Chata Creative Space – ตรัง อันเป็นความพยายามร่วมกันของเครือข่ายนักสร้างสรรค์และหน่วยงานราชการในท้องถิ่น ในการฟื้นชีวิตให้อาคารเก่าที่ไม่ได้ใช้งานมากว่า 10 ปี อย่างโรงพยาบาลตรังชาตะ รังสรรค์ใหม่ให้เป็น Creative space ของเมืองต่อไป  

  • รพ.ตรังชาตะเก่า อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง (แผนที่)
  • วันที่ 12,13, 18-20 สิงหาคม 2566 เวลา 10.00 – 21.00 น. และ วันที่ 14-17 สิงหาคม 2566 เวลา 10.00 – 20.00 น. 

ติดตามโปรแกรมทั้งหมดของเทศกาลงานออกแบบปักษ์ใต้ 2566  ได้ที่ Pakk Taii Design Week 2023

Writer

ธีรนาฎ มีนุ่น

ธีรนาฎ มีนุ่น

ภัณฑารักษ์ทาสแมว ผู้รักการถ่ายภาพ การท่องเที่ยว การเขียน และการสื่อสารประวัติศาสตร์