‘รองเง็ง’ หรือ ‘รองแง็ง’ เรียกชื่อไหนก็ได้ไม่มีผิด กระทั่งชาวบ้านบางกลุ่มยังเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ‘เพลงตันหยง’ เป็นการแสดงพื้นบ้านเก่าแก่ มีทั้งการบรรเลงดนตรี การขับร้อง และการร่ายรำ

หากว่ากันตามประวัติศาสตร์กว่าพันปี รองแง็งมีรากฐานอยู่บนการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมอินเดียใต้กับวัฒนธรรมชวา-มลายู เกิดขึ้นตามหมู่เกาะโดยชาวเล การมีเส้นทางการค้าทางทะเลเป็นช่องทางสืบสาน (เส้นทางสายไหมทางทะเล) ส่งผลให้เกิดการควบรวมกับวัฒนธรรมดนตรีต่างประเทศ เช่น จีน อาหรับ และดนตรีตะวันตกยุคล่าอาณานิคม หลังจากนั้นค่อย ๆ เคลื่อนขึ้นบกเรื่อยมาจนถึงจังหวัดกระบี่ ชาวกระบี่ถือว่าเป็นดนตรีท้องถิ่นที่สืบทอดกันมาหลายร้อยปี เป็นสำเนียงแห่งจิตวิญญาณของชาวเล

เสียงน้ำซัดเข้าไปในถ้ำ ก่อให้เกิดเป็นเสียงฆ้อง

เสียงลมทะเลพัดพา ก่อให้เกิดเป็นเสียงไวโอลิน (ในอดีตอาจหมายถึงซอรือบับ)

เสียงคลื่นซัดกระแทกหาด ก่อให้เกิดเป็นเสียงกลอง (ในอดีตอาจหมายถึงรำมะนา)

เครื่องดนตรีทั้ง 3 ชิ้นนี้บรรเลงร่วมกันเป็นดนตรีรองแง็ง และผู้ที่เล่าที่มาที่ไปข้างต้น พร้อมบรรเลงดนตรีของชาวเลให้เราได้ฟังคือ อาร์ต-ธีรวัชร์ อุกฤษณ์ หัวหน้าวงรองแง็งสวนกวีร่วมสมัย ผู้นำดนตรีเคล้าเสียงคลื่นระดับชุมชนหมู่บ้านเข้ามาสู่ชุมชนเมือง หรือก็คือกรุงเทพฯ เพื่อให้เป็นที่รู้จักผ่านการเพิ่มเติมความร่วมสมัยเข้าไป โดยมีจุดประสงค์คือ ไม่อยากให้ดนตรีชนิดนี้จมหายไปตามกาลเวลา

รองแง็งสวนกวี วงดนตรีร่วมสมัยของคนรุ่นใหม่ที่ตั้งใจอนุรักษ์รองแง็งและจิตวิญญาณชาวเล

เราถามอาร์ตว่าเขาจะทำอย่างไรให้ดนตรีอายุกว่าพันปีมีความร่วมสมัยมากขึ้นตามความตั้งใจ

เขาตอบอย่างเรียบง่ายพร้อมเสียงหัวเราะ “ก็นั่นน่ะสิ…”

สำนักรองแง็งสวนกวี

เรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า รองแง็งในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท

หนึ่ง คือฝั่งอ่าวไทย เน้นการบรรเลงมากกว่าขับร้อง มีความเป็นดนตรีราชสำนัก 

สอง คือฝั่งอันดามันที่ครบถ้วนไปด้วยการร้องรำทำเพลง มีทั้งภาษามลายูโบราณและภาษาไทยที่ชาวบ้านนำมาแปล โดยยังล้อไปกับวิถีชีวิตของคนใต้ พร้อมเรื่องเล่าดังตำนานประจำเมือง

“ในเนื้อเพลงมีท่อนที่ร้องว่า ถูกเสน่ห์น้ำตาปลาดุหยง มันคือน้ำมันพราย ไม่ได้มาจากผีท้องแก่ แต่มาจากน้ำตาพะยูน เปรียบพะยูนเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่บริสุทธิ์ที่สุด ตอนพะยูนร้องไห้ คนจะเอาสำลีไปเช็ดน้ำตามาใส่ขวด นางรำจะถือผ้าเช็ดหน้า พอสะบัดใส่ใคร คนนั้นก็จะหลงไปเลย” อาร์ตเล่า

กลับมาที่วงรองแง็งสวนกวี อันที่จริงแล้ววงของอาร์ตแยกย่อยตัวเองออกมาจาก ‘สำนักรองแง็งสวนกวี’ ตั้งอยู่ที่จังหวัดกระบี่ มีความเป็นมาไม่สั้นสักเท่าไหร่ เพียงแต่ว่าผู้มาเล่านั้นไม่ใช่อาร์ต แต่เป็น วินัย อุกฤษณ์ คุณพ่อของเขา หรือแวดวงนักเขียนรู้จักกันในนามปากกา วารี วายุ กวีร่วมสมัยผู้แต่งเพลง นกสีเหลือง เพื่อไว้อาลัยวีรชนและเชิดชูจิตวิญญาณประชาธิปไตยในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516

รองแง็งสวนกวี วงดนตรีร่วมสมัยของคนรุ่นใหม่ที่ตั้งใจอนุรักษ์รองแง็งและจิตวิญญาณชาวเล

“ผมร่วมกับ อาจารย์ยรรยง แก้วใหญ่ และ อาจารย์กลิ่น คงเหมือนเพชร กลุ่มนักเขียนท้องถิ่นในจังหวัดกระบี่ศึกษาเรื่องรองแง็ง ค้นประวัติ ทำบันทึก และเขียนหนังสือรวบรวมบทเพลงที่เขาขับร้องกันในท้องถิ่นนี้ ทำเป็นเชิงวิชาการอยู่ช่วงหนึ่ง เพราะกลัวมันจะหายไป ซึ่งพวกเราไม่มีใครเล่นดนตรีได้เลย จึงไปชวน อาจารย์อภินันท์ จิตต์โสภา ที่เขาอยากศึกษาเรื่องนี้มาร่วมจัดตั้ง ‘ศูนย์ศึกษาและสืบสานรองแง็งฝั่งอันดามัน’ แล้วส่งเขาไปฝังตัวทำโครงการอยู่ 3 ปี ให้ไปฝึกเล่นให้ได้”

คุณพ่อเล่าเสริมอีกว่า หลังจากครบ 3 ปีจึงถอนตัวจากเกาะลันตา แล้วโยกย้ายมาตั้งสำนักรองแง็งสวนกวีอยู่ที่สวนกวี โค้งปลาลัง จังหวัดกระบี่ สาเหตุที่ชื่อ ‘สวนกวี’ มาจากการที่วงของพวกเขาใช้วิธีการทำวงแบบ ‘สวนครัว’ ใครว่างก็มาเล่น ใครไม่ว่างก็เอาอีกคนมาแทน หรือไม่ก็ชวนเด็กและคนละแวกนั้นมาเรียนเครื่องดนตรี ไวโอลินบ้าง กลองบ้าง ไปจนถึงแอกคอร์เดียนก็มี

ขณะเดียวกันในช่วงระหว่าง 3 ปีบนเกาะลันตา อาร์ตในวัย 7 – 8 ขวบ ตลอดช่วงปิดเทอม พ่อมักส่งเขาไปเรียนไวโอลินในฐานะมือซอ หรือว่ากันง่าย ๆ ตามที่อาร์ตบอกคือ โดนพ่อบังคับ

รองแง็งสวนกวี วงดนตรีร่วมสมัยของคนรุ่นใหม่ที่ตั้งใจอนุรักษ์รองแง็งและจิตวิญญาณชาวเล

“วัยเรียนเราสลับไปมาระหว่างกรุงเทพฯ-กระบี่ ประถมอยู่กรุงเทพฯ มัธยมต้นอยู่กระบี่ มัธยมปลายอยู่กรุงเทพฯ แต่มหาลัยไปเรียน ม.บูรพา บางแสน ตอนนั้นไม่ได้เล่นจริงจังอะไรเลย เล่นไปเรื่อย ๆ ใครจะไปคิดว่าวันหนึ่งเราจะเป็นนักดนตรี พอช่วงมหาลัยก็เบนสายไปเล่นอินดี้ แต่ก็ไม่ลืมรองแง็งนะ”

เราสงสัยนิดหน่อยว่า ตกลงแล้วอาร์ตเป็นคนที่ไหน

“เป็นคนทุกที่” หัวเราะกันอีกสักยกก่อนเข้าถึงเรื่องกันต่อ

Larangan

ภาษามลายู แปลเป็นไทยว่า ห้าม หรือ ข้อห้าม

จากเดิม สำนักรองแง็งสวนกวีนั้นมีแนวคิดว่า ‘ศึกษาและสืบสาน’

โดยเน้นความพื้นบ้านกลิ่นอายเดิม ไม่ทิ้งการขับร้องและร่ายรำ กลับกัน อาร์ตยอมรับว่าการมากรุงเทพฯ ย่อมเล่น Full Band ไม่ได้เท่าถิ่นตั้งต้น เขาจึงตัดสินใจนำมาแค่ดนตรีและพกแนวคิดใหม่มาด้วย นั่นคือ ทำให้รองแง็งมีความร่วมสมัยมากขึ้น พร้อมกับความคิดว่า “ถ้าเราไม่ทำ แล้วใครจะทำ”

อาร์ตกลับมาเป็นครูสอนรองแง็งในกระบี่ พอโควิด-19 ระบาด เขาเลยตัดสินใจขึ้นมากรุงเทพฯ เริ่มต้นการผจญภัยของวงรองแง็งสวนกวี แต่ก็อย่างที่อาร์ตบอกไปตั้งแต่ต้น

ก็นั่นน่ะสิ…จะทำอย่างไร

จนถึงตรงนี้อาจมีคนสงสัยว่า ทำไมต้องทำ

ตามที่อาร์ตบอก “มันจะหายไปอยู่แล้ว” ก็อาจสงสัยต่อไปอีกว่า จะหายไปอย่างไร

ก็ตามที่อาร์ตบอกอีกนั่นแหละ “คนเล่นตาย นายซอตาย คนขับเพลงตาย ไม่มีคนสืบทอด อาจมีคนที่ยังแข็งแรงอยู่บ้าง อย่างวงสังกะอู้ของชาวเลดั้งเดิมที่เราเคยไปคลุกคลีเรียนรู้ด้วย แต่ก็ใช่ว่าทุกวงจะแข็งแรงแบบนั้น ราว 4 – 5 ปีก่อนกลุ่มมุสลิมยังเจอปัญหา รองแง็งโดนแบนจากกระทรวงวัฒนธรรมอยู่เลย”

รองแง็งสวนกวี วงดนตรีร่วมสมัยของคนรุ่นใหม่ที่ตั้งใจอนุรักษ์รองแง็งและจิตวิญญาณชาวเล

ใช่ครับ รองแง็งโดนแบน แค่ภายในจังหวัดกระบี่เพียงเท่านั้น

เนื่องจากบางคณะมีการเล่นร่วมกับรำวงเวียนครก แล้วเพลง ยาโฮ้ง ที่มีการสวมกระโปรงเต้นฉีกแข้งฉีกขา อีกทั้งยังคาบเกี่ยวกับบางคณะที่เป็นมุสลิม แต่ถ้าว่ากันตามความจริง ส่วนใหญ่แล้วไม่ใช่นางรำเสียด้วยซ้ำไป กลับเป็นคนทั่วไปที่เข้ามาผสมโรงเต้น เพราะรองแง็งอันดามันไม่ใช่การแสดงบนเวที แต่เปรียบเสมือนรอบกองไฟบนลานที่ชาวบ้านเข้าไปร่วมเต้น ร่วมรำได้ตามต้องการ จึงไม่แปลกที่เห็นการออกท่าทางตามอารมณ์ที่อาจไม่ได้สวยงามเฉกเช่นการร่ายรำ

ถึงอย่างนั้น กระทรวงวัฒนธรรมและคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดกระบี่ก็ไม่ได้มองในจุดเดียวกับเรา พร้อมออกหนังสือประกาศว่า หนึ่ง การเต้นรองแง็งไม่ใช่วัฒนธรรมอิสลาม สอง การเล่นรองแง็งเป็นบาป ซึ่งออกคำสั่งจากผู้ว่าฯ จังหวัดว่า ในนามของหน่วยงานราชการจังหวัดกระบี่ ห้ามให้การสนับสนุน ส่งเสริม หรือจัดรองแง็งที่มีมุสลิมเป็นผู้เล่นเด็ดขาด ถึงปัจจุบันข้อห้ามดังกล่าวไม่มีผลในทางปฏิบัติแล้ว แต่ส่งผลในช่วงเวลาที่ผ่านมานับแต่นั้น รองแง็งกำลังค่อย ๆ ถูกวัฒนธรรมอื่นกลืนหายหรือเข้ามาแทนที่อย่างทำอะไรไม่ได้ และยังไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างที่ควรจะเป็น

 Bermain Muzik

ภาษามลายู แปลเป็นไทยว่า เล่นดนตรี

“วงพื้นบ้านที่จังหวัดกระบี่ก็ยังเล่นต่อไปด้วยนโยบาย ศึกษา และสืบสาน ซึ่งเราต้องรักษาไว้ให้ได้ ด้วยการเล่นแบบพื้นบ้านทั้งหมด มีร้อง มีรำ มีบรรเลง” คุณพ่อพูดถึงสำนักรองแง็งสวนกวีที่กระบี่

“ส่วนรองแง็งสวนกวี กรุงเทพฯ ปัญหาคือต้องแสวงหาพื้นที่แสดงและทำให้คนรู้จัก” ลูกชายเปรย

อาร์ตพูดถึงความคิดไม่ตกที่ตนต้องเผชิญในวันที่พกรองแง็งขึ้นมาด้วยที่กรุงเทพฯ

แต่ก็ใช่ว่าเขาจะมืดร้อยแปดด้าน เพราะมีบางสิ่งบางอย่างที่เขาได้ลองทำไปแล้ว

ลองบรรเลงแบบแจ๊สก็ใช้ได้ ลองร้องแบบบลูส์ก็ดีไปอีกแบบ หรือลองเอาดับเบิลเบสกับเชลโลมาร่วมโซโลก็เข้าท่า เหลืออีกอย่างหนึ่งที่เขายังไม่ได้ลอง นั่นคือ พารองแง็งไปตีตลาดแก้บน

“ช่วงหนึ่งรองแง็งอยู่ได้ด้วยการแก้บนเลยนะ” อาร์ตเกริ่น

“ใครที่ไปบนศาลเจ้าพ่อ-เจ้าแม่ ถ้าถูกหวยเดี๋ยวจะมาแก้ด้วยการเล่นรองแง็งให้ฟัง ความศักดิ์สิทธิ์อยู่ที่ศาล แต่รองแง็งดันเป็นตัวประกอบที่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ชอบดู” คุณพ่อหัวเราะขณะเล่า

“เดี๋ยวพรุ่งนี้ผมลงโฆษณาเลย รองแง็งรับแก้บน ยิง Ads ทำเป็นวิดีโอให้เจ้าที่พูดเองเลย ‘ดนตรีไทยอีกแล้ว รำน้ำแดงอีกแล้ว เปลี่ยนมาเป็นรองแง็งบ้างไหม’ ” ไม่รู้ว่าอาร์ตจริงจังกับเรื่องนี้ขนาดไหน หรือนี่อาจเป็นตัวเลือกสุดท้ายจริง ๆ หากวงของเขาไปไม่รอด แต่ที่แน่ ๆ พวกเราหัวเราะกันไม่น้อยเลย

รองแง็งสวนกวี วงดนตรีร่วมสมัยของคนรุ่นใหม่ที่ตั้งใจอนุรักษ์รองแง็งและจิตวิญญาณชาวเล
รองแง็งสวนกวี วงดนตรีร่วมสมัยของคนรุ่นใหม่ที่ตั้งใจอนุรักษ์รองแง็งและจิตวิญญาณชาวเล

ในอีกมุมหนึ่ง อาร์ตมองว่าวงรองแง็งสวนกวีและดนตรีของพวกเขาไม่ต่างอะไรจากดนตรีพื้นถิ่น (Traditional Music) วงอื่น ๆ ที่กำลังเป็นที่นิยมกันอยู่ในตอนนี้ ถ้าอีสานโจ๊ะ ๆ ได้ รองแง็งก็โจ๊ะ ๆ ได้ เหมือนกัน หรือจะเป็นดนตรีบรรเลง (Instrumental Music) รองแง็งก็บรรเลงได้ไม้แพ้กัน

สิ่งที่อาร์ตและเพื่อน ๆ กำลังทำในตอนนี้ คือการพยายามหาโอกาสให้ตัวเองมีพื้นที่แสดงเสียงดนตรีของพวกเขา แม้จะเข้าเนื้อ พวกเขาก็ยินดี เพราะอย่างน้อย ๆ ก็อยากให้บทบรรเลงจากจิตวิญญาณของชาวเลได้กระทบหูคนเมือง แม้จะไม่รู้จักในตอนนี้ แต่ความประทับใจอาจตามมาหลังจากนั้น

“จากการไปแสดง ฟีดแบ็กดีนะ เพราะว่าดนตรีรองแง็ง คนจีนมาฟังก็บอกว่า โอ้! นี่เหมือนเพลงจีนเลยนะ คนนอร์เวย์มาฟังก็บอกว่า นี่เพลงบ้านเขาเลย เมื่อก่อนก็เล่นกันแบบนี้ คนสเปนมาฟังก็บอกว่า นี่เพลงสไตล์สเปนเลย คนอาหรับเองก็ อ๋อ นี่แหละคือเพลงอาหรับ แล้วทุกคนก็เอนจอยกันมาก เพราะรากฐานของมันมาจากการผสมผสานดนตรีของหลาย ๆ ชาติ ล่าสุดเราไปเล่นงาน Shambhala In Your Heart ที่เชียงดาว ฝรั่งชอบ ญี่ปุ่นชอบ คนไทยก็ชอบ บางงานเราก็อยากไปเล่นเอง ถึงเข้าเนื้อก็ช่าง”

Memelihara

ภาษามลายู แปลเป็นไทยว่า บำรุงรักษา หรือ ปกปักรักษา

อาร์ตรู้ตัวว่าพวกเขาเป็นวงที่อยู่ในกระบวนการ ‘กำลัง’ ทำอยู่ และเอาเข้าจริงแล้ว การทำสิ่งนี้ก็ไม่ได้มีพื้นฐานอยู่บนความคิดสู้ตายเพื่ออุดมการณ์ ต้องสำเร็จ ต้องโด่งดัง ต้องเป็นรองแง็งสตาร์ในสักวัน และไม่ได้จำเป็นต้องประสบความสำเร็จชนิดได้ไปทัวร์ต่างประเทศด้วยดนตรีรองแง็ง นั่นไม่ใช่ 

“เมโลดี้บางอย่างของรองแง็งเป็นยุคโบราณ ซึ่งบางอย่างก็คือการนั่งล้อมรอบกองไฟ แล้วเล่นเพลงง่าย ๆ สนุก ๆ เพราะฉะนั้น เป้าหมายทางดนตรีของเรา คือทำให้เรียบง่ายและเป็นวิถีชีวิต”

เรียบง่าย หมายถึง เขาแค่อยากบรรเลงดนตรีที่เรียบง่ายต่อไป ไม่จับใจคนก็ได้ ถ้าจับใจคนก็ดี 

อย่างเพลง ช้าง ช้าง ช้าง น้องเคยเห็นช้างหรือเปล่า มันเป็นเพลงแสนธรรมดา แต่แฝงไปด้วยความสุข ความสนุก ในยุคที่หลายอย่างรวดเร็วและไร้เหตุผล โฆษณา 5 วิต้องปัง ซีรีส์เน็ตฟลิกซ์ต้องฮุกใส่คนดูตั้งแต่ครึ่งชั่วโมงแรก กระทั่งการสีไวโอลิน หากไม่ขยี้อารมณ์จนปรอทเสียงแตกก็อาจไม่สะใจ

วิถีชีวิต หมายถึง การสืบทอดจิตวิญญาณของชาวเลที่เขาอยู่ร่วมมาตั้งแต่เด็ก

อาร์ตอยากให้ใครหลาย ๆ คนมีความสุขกับดนตรีของเขา กับวัฒนธรรมที่เขาพบเจอมา อยากส่งต่อ และวิวัฒนาการมันในแบบที่จะไม่มีวันถูกคลื่นลมของกาลเวลาซัดหายจมลงไปในก้นทะเล

“เรามีวิถีบางอย่างที่สืบทอดต่อไปได้ เรื่องราวของรองแง็งยังคงอยู่ อย่างเรื่องน้ำตาปลาดุหยง เรื่องพวกนี้ก็ยังอยู่ มันมีเรื่องราวแบบนี้ เหมือนเราได้ไปนั่งเล่าเรื่องให้ทุกคนได้จดจำสักครั้งหนึ่ง มีคำพูดหนึ่งที่ว่า เราตายได้ แต่เรื่องเล่าของเราห้ามตาย”

ว่ากันอย่างสรุป สิ่งที่อาร์ตมองว่าเขากำลังทำอยู่ คือการรักษารองแง็งเอาไว้

แน่นอนว่าวงของเขาย่อมคาดหวังอยากให้ ‘มัน’ ประสบความสำเร็จ และอยากให้คนรู้จักมากขึ้น ไปจนถึงอยากให้เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งสำหรับคนรุ่นใหม่ที่อยากเล่นดนตรี

ขณะเดียวกัน ความคาดหวังอยากสำเร็จก็ไม่ได้ฉาบฉวย และ ‘มัน’ บนย่อหน้าข้างต้นไม่ได้หมายถึงวง แต่หมายถึงรองแง็งที่เขาปกปักรักษา อาร์ตมองอีกมุมหนึ่งว่า สิ่งนั้นไม่จำเป็นต้องประสบความสำเร็จในยุคของเขา การคงอยู่ย่อมตามมาด้วยการถูกหยิบยกขึ้นมาอีกครั้งโดยคนรุ่นใหม่ที่เก่งกว่าเขา ร่วมสมัยกว่าเขา และท้ายที่สุดคือประสบความสำเร็จมากกว่าเขา สำหรับอาร์ตแล้ว นั่นเป็นเรื่องน่ายินดีไม่ใช่น้อย

เราถามอาร์ตว่า หลังจากนี้เขามีวิธีอย่างไรที่จะทำให้ผู้คนคงระลึกรองแง็งโดยไม่สาบสูญ

เขาคิดอยู่ครู่หนึ่งก่อนตอบว่า “คงต้องทำไปเรื่อย ๆ” เขาจบบทสนทนาด้วยเสียงหัวเราะ

Writer

Avatar

พัทธนันท์ สวนมะลิ

เด็กกรุงเทพฯ ผู้เป็น Sneakerhead และ Cinephile ที่หอบเสื่อผืนหมอนใบมาเรียนเชียงใหม่ แล้วสุดท้ายก็กลับไปตายรังที่กรุงเทพฯ

Photographer

โตมร เช้าสาคร

โตมร เช้าสาคร

ชอบถ่ายวิวมากกว่าคน ชอบกินเผ็ดและกาแฟมาก เป็นคนอีโค่เฟรนลี่ รักสีเขียว ชวนไปไหนก็ได้ไม่ติด ถ้ามีตัง