ทั่วประเทศมีเทศกาลย่านสร้างสรรค์มากมายหลายงาน เช่น Bangkok Design Week, Chiang Mai Design Week, สกลจังซั่น แพร่คราฟต์ และ Pattani Decoded ล่าสุดมีงานน้องใหม่ เทศกาลงานสร้างสรรค์ Creative Nakhon โดยมีแนวคิดหลัก RE-SET คิดใหม่ ในย่านเก่า ระหว่างวันที่ 1 – 12 ธันวาคม 2564 ที่ย่านท่าวัง-ท่ามอญ อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช งานนี้จัดมาเป็นครั้งที่ 4 แล้ว แต่ 3 ครั้งแรกจัดในระดับอีเวนต์เล็ก ๆ ในอาคารเดียว ปีนี้ถึงเริ่มยกระดับเป็นเทศกาลที่มีงานให้ชม 19 งาน กระจายตัวทั่วย่าน

ถือเป็นงานย่านสร้างสรรค์รสชาติใหม่ เพราะมีทั้งการนำอัตลักษณ์ของศิลปินใต้มาต่อยอดเป็นงานศิลปะ มีเรื่องอาคารเก่า เรื่องอาหาร และอีกหลายประเด็น งานนี้จัดโดยกลุ่ม Creative Nakhon โดยมีหัวเรือหลักคือ ศุภชัย แกล้วทนงค์ นักออกแบบชื่อดังผู้ตัดสินใจทิ้งชีวิตในเมืองใหญ่กลับมาทำงานที่บ้าน และมีสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA เป็นพี่เลี้ยง

ในวาระที่ The Cloud ได้ไปร่วมงานด้วย ก็เลยชวนทีมงานพัฒนาเครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของ CEA และกลุ่ม Creative Nakhon มานั่งคุยกันเพื่อถอดบทเรียนที่ทุกเมืองสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ ถ้าอยากเปลี่ยนย่านซบเซาให้สร้างสรรค์นั้นไม่ยาก เริ่มต้นได้จากการทำตาม 10 ขั้นตอนดังต่อไปนี้

ถอดบทเรียนจากงาน Creative Nakhon 10 วิธีเปลี่ยนย่านซบเซาให้สร้างสรรค์ที่นำไปใช้ได้ทุกเมือง
ถอดบทเรียนจากงาน Creative Nakhon 10 วิธีเปลี่ยนย่านซบเซาให้สร้างสรรค์ที่นำไปใช้ได้ทุกเมือง

01 รู้จักย่านซบเซา

ทุกจังหวัดล้วนมีย่านการค้ากลางเมืองที่เคยคึกคัก แต่ด้วยการเจริญเติบโตของเมืองทำให้มีการขยายเมือง ย้ายสถานที่สำคัญออกไปรอบนอก รวมไปถึงพฤติกรรมที่คนนิยมเดินห้างสรรพสินค้า ทำให้มีจำนวนคนเข้ามาจับจ่ายในย่านกลางเมืองลดลงเรื่อย ๆ ในฝั่งของเหล่าลูกหลานกิจการต่าง ๆ เมื่อได้เรียนหนังสือในเมือง ก็อาจจะเจองานใหม่ที่ตอบโจทย์ชีวิตมากกว่า จึงไม่กลับไปสานต่อกิจการของครอบครัว

ความซบเซาของย่านไม่ได้มีผลแต่เศรษฐกิจของย่าน แต่ในย่านเหล่านั้นยังมีประวัติศาสตร์ สินทรัพย์ เรื่องราว และเสน่ห์เฉพาะตัว ที่หากหายไป ชีวิตยุคใหม่ในทุกจังหวัดคงไม่แตกต่างกัน หัวใจของการทำงานฟื้นฟูย่านซบเซาคือ การหาอัตลักษณ์ให้เจอ แล้วทำในสิ่งที่ยิ่งกว่ารักษาเอาไว้ ก็คือต่อยอดให้คงอยู่อย่างเข้ายุคเข้าสมัย

02 การฟื้นฟูย่านเก่าเป็นหน้าที่ใคร

หนึ่ง คนในพื้นที่ ซึ่งเป็นคนที่เข้าใจดีที่สุด และมีส่วนได้ส่วนเสียมากที่สุด

สอง หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ตอนนี้ ‘เศรษฐกิจสร้างสรรค์’ อยู่ในยุทธศาสตร์ชาติแล้ว บางจังหวัดก็นำไปใส่ในแผนของจังหวัดแล้ว หน่วยงานอย่างกลุ่มงานแผนและยุทธศาสตร์ สำนักงานจังหวัด ถือเป็นกลุ่มที่สำคัญ เพราะบรรจุนโยบายนี้ในแผนจังหวัดระยะ 5 ปีได้ ไม่ว่าจะเปลี่ยนทีมผู้บริหารเป็นใคร แผนนี้ก็จะยังอยู่ รวมถึงเมื่อมีแผน ก็จะมีงบประมาณมาใช้ดำเนินการด้วย นอกจากนี้ก็ต้องอาศัยความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ด้วย

สาม นักสร้างสรรค์ในเมืองนั้น ๆ กลุ่มคนที่ทำงานขับเคลื่อนเมือง ทั้งบริษัทพัฒนาเมือง บางจังหวัดก็มีคณะกรรมการเศรษฐกิจสร้างสรรค์ รวมถึงหน่วยงานนอกจังหวัดเช่น อพท. CEA หรือหน่วยงานที่ดูแลเรื่องแผนอนุรักษ์เมืองเก่า

สี่ องค์กรต่าง ๆ ตั้งแต่องค์กรท้องถิ่นไปจนถึงองค์กรต่างประเทศ เช่น บริติช เคานซิล หรือ เจแปนฟาวน์เดชั่น เพราะการขับเคลื่อนเมืองทำได้ตั้งแต่ระดับผลิตภัณฑ์ไปจนถึงชุมชน และต้องทำหลายส่วนประกอบกัน จึงจะนำไปสู่ชุมชนที่มีความสุข จึงต้องการองค์ความรู้และประสบการณ์ที่หลากหลาย

ถอดบทเรียนจากงาน Creative Nakhon 10 วิธีเปลี่ยนย่านซบเซาให้สร้างสรรค์ที่นำไปใช้ได้ทุกเมือง
ถอดบทเรียนจากงาน Creative Nakhon 10 วิธีเปลี่ยนย่านซบเซาให้สร้างสรรค์ที่นำไปใช้ได้ทุกเมือง

03 เราฟื้นเมืองด้วยงานออกร้านขายของแบบเดิม ๆ ไม่ได้หรือ

เราฟื้นเมืองได้หลายวิธี แต่ละวิธีก็ดีคนละแบบ เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายที่ต่างกันออกไป งานออกร้านขนาดใหญ่มีข้อดีหลายอย่าง แต่ร้านค้าจำนวนมากก็เดินสายไปทุกจังหวัด หรือรับของคล้าย ๆ กันมาขาย ทำให้แต่ละงานแทบไม่ต่างกัน งานที่น่าสนใจจจึงเป็นงานที่สร้างเอกลักษณ์ขึ้นจากอัตลักษณ์ของตัวเอง อย่างเช่นงานสกลเฮ็ด ที่ทำให้คนอยากใส่ผ้าย้อมครามไปเดินงาน เสน่ห์ของงานแบบนี้อยู่ที่กลุ่มนักสร้างสรรค์ผู้จัดงาน โปรแกรมในงาน ซึ่งจะดึงดูดกลุ่มเป้าหมายที่สนใจสิ่งเดียวกัน

04 CEA ใช้กระบวนการอะไรฟื้นย่านซบเซา

CEA ขับเคลื่อนย่านสร้างสรรค์ด้วย 5 ยุทธศาสตร์ คือ 

หนึ่ง การขับเคลื่อนเชิงนโยบาย ทำให้ไปอยู่ในแผนของจังหวัด 

สอง พัฒนาพื้นที่เชิงกายภาพ ศึกษาปัญหาและความต้องการของคนในย่าน แล้วทำออกมาเป็นโปรเจกต์ต้นแบบให้คนลองใช้และหน่วยงานรัฐได้เห็น ถ้าตอบโจทย์ก็อาจจะถูกนำไปใช้จริงในระยะยาว

สาม พัฒนาธุรกิจสร้างสรรค์ ทั้งระดับผลิตภัณฑ์และธุรกิจ ถ้าย่านน่าสนใจ และนักธุรกิจเห็นโอกาสก็จะเข้ามาเชื่อมต่อเอง

สี่ หาอัตลักษณ์และทำแบรนด์ให้ย่าน 

ห้า ชวนภาคส่วนต่าง ๆ มามีส่วนร่วม 

จากยุทธศาสตร์ทั้งห้า บางเมืองอาจจะต้องการแค่การพัฒนาเชิงกายภาพ แต่บางเมืองก็อาจจะเกิดเป็นอีเวนต์ อย่างเช่น ครีเอทีฟนคร เชียงใหม่ดีไซน์วีก หรือ สกลจังซั่น ให้คนได้เห็นการนำความคิดสร้างสรรค์มาทดลองแก้ปัญหา

ถอดบทเรียนจากงาน Creative Nakhon 10 วิธีเปลี่ยนย่านซบเซาให้สร้างสรรค์ที่นำไปใช้ได้ทุกเมือง
ถอดบทเรียนจากงาน Creative Nakhon 10 วิธีเปลี่ยนย่านซบเซาให้สร้างสรรค์ที่นำไปใช้ได้ทุกเมือง
ถอดบทเรียนจากงาน Creative Nakhon 10 วิธีเปลี่ยนย่านซบเซาให้สร้างสรรค์ที่นำไปใช้ได้ทุกเมือง

05 หาคนขับเคลื่อนให้ได้

สิ่งสำคัญที่สุดในการฟื้นเมืองคือ การหากลุ่มแกนนำของแต่ละเมืองให้ได้ เพราะไม่มีทางที่คนนอกจะเข้าไปทำได้โดยลำพัง และงานที่ออกมาก็ไม่มีทางดีแน่นอน ถ้าคนในย่านไม่ร่วมด้วย เมื่อได้กลุ่มคนทำที่มีทั้งไฟและไอเดียแล้ว ก็ต้องเชื่อมให้ทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐประจำจังหวัด รวมไปถึงควรหาหน่วยงานที่จะเป็นเจ้าภาพหลัก ซึ่งจะเป็นหน่วยงานรัฐหรือหน่วยงานประจำจังหวัด อย่างหอการค้าจังหวัดก็ได้ แล้วแต่ผู้ว่าฯ จะเห็นว่าควรมอบหมายให้ใครดูแล

06 เรียนรู้จากงานที่มีอยู่แล้ว

ในประเทศไทยมีงานที่นำความคิดสร้างสรรค์ไปฟื้นย่านมากมาย เมืองที่เพิ่งเริ่มต้นสามารถหยิบยกรูปแบบที่เหมาะกับพื้นที่จากงานต่าง ๆ มาใช้ได้ อย่างงานครีเอทีฟนครก็มีงาน Bangkok Design Week เป็นต้นแบบ เริ่มตั้งแต่การจัดงานเป็นย่านแทนที่จะจัดในสถานที่เดียว มีข้อดีคือ ได้นำงานสร้างสรรค์เข้าไปในย่าน ได้พาคนเข้าไปสัมผัสเสน่ห์ของย่าน และกระตุ้นเศรษฐกิจของย่าน นอกจากนี้ก็ยังนำรูปแบบการจัดนิทรรศการ เวิร์กชอปมาใช้ โดยปรับเนื้อหาให้เข้ากับพื้นที่ อย่างภาพถ่ายย่านเก่า ก็ได้รับเสียงตอบรับดีมากจากผู้สูงอายุ ทำให้พวกเขาเปิดใจกับโครงการแล้วเปิดสถานที่ให้ใช้จัดงานด้วย

ชวนกลุ่ม Creative Nakhon และ CEA ถอดรหัสวิธีคิดในการใช้ความคิดสร้างสรรค์ฟื้นย่านซบเซา ที่ย่านท่าวัง-ท่ามอญ อำเภอเมือง จ. นครศรีธรรมราช
ชวนกลุ่ม Creative Nakhon และ CEA ถอดรหัสวิธีคิดในการใช้ความคิดสร้างสรรค์ฟื้นย่านซบเซา ที่ย่านท่าวัง-ท่ามอญ อำเภอเมือง จ. นครศรีธรรมราช

07 พลิกแพลงสิ่งที่เหมือนให้ต่าง

แม้ว่างานครีเอทีฟนครจะนำโครงสร้างงานของ Bangkok Design Week มาใช้ แต่ตัวเนื้อหาของงานก็เอาสินทรัพย์ วัตถุดิบ และภูมิปัญญาของย่านที่มีมาต่อยอด ที่เห็นได้ชัดในงานครีเอทีฟนครก็คือ งานศิลปะจากยางพาราของ แก้วตระการ จุลบล

08 อยากให้ใครมาเดิน

หนึ่ง งานนี้ควรอยู่ในหูในตาของผู้กำหนดนโยบาย เพื่อที่เขาจะได้เข้าใจและเห็นพลังของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อันจะนำมาซึ่งการสนับสนุนในรูปแบบต่าง ๆ ต่อไป การจัดงานของ CEA จึงมีนักการเมืองตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับประเทศมาร่วม ทั้งมาเลือกและตั้งใจเชิญ เพราะคนเหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญในการช่วยอธิบายและสนับสนุนในที่ประชุมต่าง ๆ

สอง นักท่องเที่ยวซึ่งอาจจะไม่ได้สนใจเรื่องงานสร้างสร้างมาก่อน จะได้กิจกรรมสนุก ๆ ของคนเมืองเพิ่มอีกอย่าง รวมถึงได้แรงบันดาลใจบางอย่างกลับไป สิ่งสำคัญคือนักท่องเที่ยวเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ด้วย มีการคำนวณว่างานเชียงไหม่ดีไซน์วีกทำให้เงินหมุนเวียนมากถึง 800 – 900 ล้านบาทเลยทีเดียว

สาม ผู้ประกอบการ เช่น นักธุรกิจในเมืองที่อาจจะไม่รู้จักกลุ่มนักสร้างสรรค์ของเมืองมาก่อน รวมถึงกลุ่ม Buyer ที่จะนำสินค้าไปขายต่อ และคนที่อาจจะมาใช้พื้นที่จัดงานลักษณะนี้บ้าง

สี่ กลุ่มนักสร้างสรรค์ที่ได้เห็นถึงคุณค่าของงานตัวเอง และได้แรงบันดาลใจจากการดูงานคนอื่น

ห้า คนในชุมชนจะได้เห็นศักยภาพของพื้นที่ตัวเองซึ่งไม่เคยเห็นมาก่อน

ชวนกลุ่ม Creative Nakhon และ CEA ถอดรหัสวิธีคิดในการใช้ความคิดสร้างสรรค์ฟื้นย่านซบเซา ที่ย่านท่าวัง-ท่ามอญ อำเภอเมือง จ. นครศรีธรรมราช
ชวนกลุ่ม Creative Nakhon และ CEA ถอดรหัสวิธีคิดในการใช้ความคิดสร้างสรรค์ฟื้นย่านซบเซา ที่ย่านท่าวัง-ท่ามอญ อำเภอเมือง จ. นครศรีธรรมราช

09 ทำไมต้องใช้เศรษฐกิจสร้างสรรค์มาฟื้นย่าน

เศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นแค่เครื่องมือหนึ่ง ใครถนัดสิ่งไหนก็ทำสิ่งนั้น โดยที่แต่ละย่านควรจะหาเอกลักษณ์ของตัวเอง โดยนำสินทรัพย์และเรื่องราวที่มีมาใส่ความคิดสร้างสรรค์เข้าไป เพื่อพลิกแพลง ต่อยอดให้เป็นสิ่งใหม่ คนที่มาเดินจึงได้เห็นทั้งชิ้น ศักยภาพของพื้นที่ และแรงบันดาลใจที่จะนำไปใช้ทำอะไรต่อก็ได้ โดยปลายทางของเศรษฐกิจสร้างสรรค์คือ คุณภาพชีวิตของคนที่ดีขึ้น อยู่ดี กินดี เพิ่มมูลค่าให้ชีวิต และส่งเสริมให้ธุรกิจประเทศเดินหน้า

10 ย่านสร้างสรรค์ทำให้นักสร้างสรรค์กลับมาอยู่บ้านได้

การทำให้นักสร้างสรรค์เห็นว่า นี่คือย่านสร้างสรรค์ เป็นพื้นที่ที่ผลิตงานได้ ขับเคลื่อนบ้านเกิดของตัวเองด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้ จะทำให้นักสร้างสรรค์กลับมาพัฒนาบ้านเกิดตัวเอง ไม่ไปแออัดในเมืองใหญ่ เมืองรองก็จะแข็งแรง ส่งผลให้เกิดการกระจายตัวของเศรษฐกิจทั่วประเทศ

ชวนกลุ่ม Creative Nakhon และ CEA ถอดรหัสวิธีคิดในการใช้ความคิดสร้างสรรค์ฟื้นย่านซบเซา ที่ย่านท่าวัง-ท่ามอญ อำเภอเมือง จ. นครศรีธรรมราช

ภาพ : นันทโนราห์ ธรรมชาต, ณนัทธ์ อารีกุล และ ธนัช สาธรณ์

Writer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป