สานสาด เป็นภาษาท้องถิ่นใต้ หมายถึงการสานเสื่อ
SarnSard เป็นแบรนด์สินค้าไลฟ์สไตล์น้องใหม่ที่สานต่อหัตถกรรมจักสานเตยปาหนัน จังหวัดตรัง ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมทางศาสนาอิสลาม ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง กุ๊กไก่-มนัสนันท์ ทวีวรสุวรรณ (Art Director) เป็ด-วิศรุต ทวีวรสุวรรณ (Product Designer) และช่างฝีมือชาวมุสลิมกว่า 40 คนในชุมชน
เป็นเวลาหนึ่งปีในการลงพื้นที่พัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกัน เพื่อจุดหมายที่อยากพางานคราฟต์แดนใต้และเตยปาหนัน พืชกอใหญ่ริมทะเลที่ซ่อนความงามภายใต้หนามแหลมคม ออกเดินทางทำความรู้จักผู้คนทั่วประเทศ ผ่านการออกแบบร่วมสมัย เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ ทว่ายังคงธรรมชาติดั้งเดิมของงานหัตถกรรมโบราณ
ด้วยความพยายามอันดีทำให้ SarnSard น่าจับตามอง จนถูกเลือกให้เป็นหนึ่งใน Young Thai Designers ของ Talent Thai & Designers’room 2019 และผลงานสะดุดตาจนดีไซเนอร์ชาวฝรั่งเศสชวนให้นำเตยปาหนันมาเป็นส่วนหนึ่งของเฟอร์นิเจอร์ใน Mahanakhon Bangkok SkyBar บนยอดตึกสูงระฟ้ากลางกรุงเทพฯ
หัวใจสำคัญของ SarnSard คือการทำให้ช่างสานกลับมาเห็นคุณค่าและเกิดความภาคภูมิใจในภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ สำหรับเรา สิ่งที่พวกเขากำลังทำและกำลังจะทำ คงมีเหตุผลมากพอให้นั่งลงสนทนากับเขาและเธอ
สานสาด
เป็ด เป็นดีไซน์เนอร์ ส่วนกุ๊กไก่ เป็นผู้กำกับดีไซเนอร์อีกที เธอมีความชอบและสนใจด้านศิลปะ หัตถกรรมไทย เป็นทุนเดิม ที่สำคัญครอบครัวเธอเป็นคนตรัง ทั้งสองคนสารภาพว่าไม่เคยรู้จัก ‘เตยปาหนัน’ มาก่อน เพิ่งเคยสัมผัสและเป็นเจ้าของก็ตอนเดินเที่ยวงานที่สวนลุมพินี ประจวบกับ จันทร์เพ็ญ ปูเงิน ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรดุหุนสามัคคี จังหวัดตรัง ทายาทรุ่น 4 ของครอบครัวจักสานเตยปาหนันมาออกร้านขายผลิตภัณฑ์จักสานชุมชนพอดี
หลังจากใช้กระเป๋าเตยปาหนันมาหนึ่งปี กุ๊กไก่ติดใจงานสานจากแดนใต้และคุณสมบัติของเตยปาหนัน ไร้เสี้ยน เนื้อสัมผัสนุ่ม และผิวเงางาม จนทำให้เธอจับมือชวนเป็ดออกเดินทางค้นหาพืชมีหนามริมทะเลถึงบ้านเกิด
“เริ่มจากความชอบ เราเลยชวนเป็ดลงไปเซอร์เวย์ ที่นั่นเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่ชาวบ้านมีดวงตาเป็นประกาย เขาอยากจะทำอะไรสักอย่างเพื่อให้หมู่บ้านเจริญขึ้นมา เราเริ่มจากขอเขาศึกษาดูงานก่อน และได้เห็นว่าผลิตภัณฑ์เขาสวยมาก ตอนแรกคิดจะซื้อมาขายไปดีมั้ย แต่พอพูดคุยกับช่างสานแต่ละบ้าน ได้เห็นว่าเขามีอะไรบ้างที่น่าสนใจ
“ประมาณหนึ่งปีที่เราลงไปอยู่กับชุมชน ทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่ได้อยากเป็นแค่คนซื้อมาแล้วขายไป เราอยากทำอะไรบางอย่างที่พัฒนาไปด้วยกันกับเขาได้ นั่นเป็นจุดหักความคิดของเราเลย” เธอเล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้น
“ตอนนั้นชุมชนเขามีโครงการท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีพอดี ชาวบ้านก็มานั่งล้อมวงกินข้าวกัน มีคนจากหน่วยงานรัฐมาอธิบายกิจกรรมให้ฟัง เราเป็นใครไม่รู้สองคนไปนั่งกินข้าวกับเขา เราได้เห็นวิถีชีวิต ได้เห็นความอบอุ่น เรารู้สึกทันทีว่าตรงนั้นมันจริงมาก เราน่าจะใช้บทบาทดีไซเนอร์ของตัวเองทำอะไรให้กับที่นี่ได้” เป็ดอธิบายเสริม
สานศาสตร์
จากการลงพื้นที่ศึกษาข้อมูล เจ้าของแบรนด์เล่าให้ฟังว่า เจ้าต้นเตยปาหนันมักขึ้นเองตามธรรมชาติบริเวณริมทะเลและป่าโกงกาง ลักษณะใบเรียวยาวสีเขียว มีหนาม 3 ด้าน ด้านซ้าย ด้านขวา และด้านหลัง ส่วนจักสานเตยปาหนันมีประวัติศาสตร์ยาวนานมากเกือบร้อยปี เป็นหัตถกรรมจักสานที่ผูกพันกับวัฒนธรรมของอิสลาม
ส่วนวิธีการแปลงเตยปาหนันมาเป็นตอกสำหรับสานก็ไม่ง่าย ต้องเก็บใบเตยปาหนันมาลนไฟ ริดหนามทั้ง 3 ด้านของใบออกให้หมด จากนั้นใช้เล็บแมว อุปกรณ์ภูมิปัญญาประดิษฐ์ ลักษณะคล้ายคัตเตอร์ 3 ใบต่อด้ามไม้ เอามากรีดเตยปาหนันให้เป็นตอก ขนาดตอกจะต่างกัน ขึ้นอยู่กับความห่างของใบมีด ใช้ด้ามไม้อีกฝั่งของเล็บแมวนวดเส้นตอกให้นิ่ม คลายความแข็ง เอาตอกแช่น้ำให้เน่าประมาณ 2 คืน เพื่อให้จุลินทรีย์พาสีเขียวออกให้หมด
จากนั้นตากให้แห้ง ถ้าใช้สีธรรมชาตินำไปสานได้เลย ถ้าอยากให้สะดุดตา ย้อมสีสันได้ตามใจชอบ
“ขั้นตอนนี้แสดงถึงความมานะของคนสานเหมือนกันนะ เขาจะพยายามหาเตยเส้นที่ดีได้หรือเปล่า กฎหลักคือเตยต้องไม่อ่อน ไม่แก่ ถ้าได้ต้นที่แข็งแรงสมบูรณ์ เตยจะแข็งแรง เหนียว ใบยาว ความหนาชัดเจน” กุ๊กไก่เล่า
ช่างสานส่วนมากเป็นผู้หญิง สมัยก่อนนิยมสานเสื่อเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันและประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เช่น คู่บ่าวสาวปูเสื่อเพื่อรับขันหมากตามพิธีของศาสนาอิสลาม รองศพบนเสื่อก่อนนำไปฝัง รองนั่งตอนละหมาด สานเป็นกระเชอ ใส่ข้าวเปลือก ขมุกยา กล่องทรงเกือบเหลี่ยมพร้อมฝาปิดใส่ยาเส้น และสานเป็นกระปุกเก็บของ
“ความจริงมันเป็นวัฒนธรรมของอินโดนีเซียอีกทีหนึ่ง เป็นการแลกกันกับผ้าปาเต๊ะของเรา เขาเอาผ้าปาเต๊ะไป แล้วเอาวิธีการสานเตยปาหนันมาแลก ซึ่งมันตอบโจทย์ชาวมุสลิม เพราะเขาอยู่ใกล้แหล่งน้ำ ต้นเตยก็ขึ้นอยู่ริมทะเล หลายอย่างมันมีที่มาที่ไปของมัน ลงล็อกมาก” เป็ดเล่าข้อมูลที่ได้จากการลงพูดพื้นที่พูดคุยกับช่างสาน
ด้วยความคลุกคลีกับช่างสาน เธอและเขาสนิทกับยายเกียะ ช่างสานเตยรุ่นเก๋าระดับชำนาญการ ยายเกียะพาทัวร์หมู่บ้านที่ทำจักสานเตยปาหนันแวะเยือนตามบ้าน พาไปดูงานสานยุคเก่าที่ยังใช้ได้ดีในปัจจุบัน มีทั้งกระบุง กระจาด อายุอานาม 20 ปีขึ้นทุกชิ้น ไม่มีมอดกัด ไม่มีแมลงกัด เว้นแต่เจ้าหนูอาจจะกัด ความพิเศษของจักสานเตยยุคเก่าคือลายสานโบราณ ปัจจุบันไม่สานกันแล้ว เพราะทำยาก ไม่ทันกินทันใช้ และคนที่สานลายนี้ได้มีน้อย
“เราเจอว่าทำไมงานโบราณถึงน่าสนใจ เพราะเขาสานสองรอบ มันเพิ่มความแข็งแรง ถ้าดูจะเห็นว่าลายข้างนอกกับลายข้างในจะไม่เหมือนกัน เราเลยลองมาแกะลายกับพี่จันทร์เพ็ญ กว่าจะสานกันได้ปาไปเป็นอาทิตย์ และเราค่อนข้างทึ่งกับวิธีการสานสมัยก่อน เลยอยากอนุรักษ์ลายพวกนี้เอาไว้” เธอเล่าพลางเดินไปหยิบกระปุกขนาดพอเหมาะมือมาให้เราดู “อันนี้ยายเกียะให้มาเป็นของขวัญ อายุยี่สิบกว่าปีแล้ว” เราลองสัมผัส ผิวเตยยังคงนิ่ม ลายสานแน่นแข็งแรง ยิ่งผ่านกาลเวลา ยิ่งขับเน้นให้เห็นความสวยงามจากธรรมชาติเด่นชัดขึ้นมาทันตา
SarnSard
“เราเริ่มจากการลองผิดลองถูก ทดลองหาความเป็นไปได้ในการต่อยอด ลายโบราณหายไปแล้ว เราขอให้เขาช่วยแกะลายให้ เหมือนเราเอาสูตรนั้นมาขยายต่อ มาเล่นสีสัน ดูว่าประยุกต์เป็นผลิตภัณฑ์อะไรได้บ้าง”
ลายดอกจัน ลายโบราณที่พวกเขาฟื้นมันกลับขึ้นมาอีกครั้ง เป็นลายที่ทำให้คนจำได้ว่านี่คือ SarnSard
“ช่างสานที่สานลายนี้ได้มีแค่สี่คน เพิ่มขึ้นทีละคนเราก็ดีใจมากแล้ว มันท้าทายมากว่าเขาจะลองเปิดใจสานลายที่เขาร้างมือไปนานมากแล้วหรือเปล่า บางคนไม่เคยสานลายนี้ด้วยซ้ำ เคยเห็นแต่รุ่นยายทำ” เป็ดเล่า
ลายมิติ (ดอกจัน) ในเส้นทางของแบรนด์จักสานเตยปาหนันน้องใหม่ ถูกแปลงโฉมให้เป็นสินค้าไลฟ์สไตล์ ใช้งานง่ายในชีวิตประจำวัน อาทิ กระเป๋าคลัช กระเป๋าถือ กระเป๋าสะพาย สายคล้องกล้อง สายคล้องแว่นตา และแผ่นรองคอมพิวเตอร์ (Desk Mat) ความเก๋ไก๋สะดุดตาเราขอยกให้สีสัน คู่สีสวยจนต้องยกนิ้วให้คะแนนเต็มสิบ ดีไซเนอร์กำหนดชุดสีเอาไว้ 6 ชุดสี เป็นสีที่ได้จากอารมณ์ ความรู้สึก และแรงบันดาลใจ ขณะทำงานกับชุมชนที่ตรัง
“อย่างสียอแสง มาจากพระอาทิตย์กำลังตกดิน สีจินต มาจากจินตนาการ สีแต่ละสีมันเกิดจากตอนที่เราอยู่ที่นั่น อันนี้สีหรรษา เป็นสีที่พี่จันทร์เพ็ญชอบ เขาบอกว่าพอมีสีเหลืองปุ๊บ มันสนุก สีนี้สานยากที่สุดนะ ปกติการสานเราจะใช้สามสีในการวางเส้น แต่หรรษามีห้าสี มันลายตาก็จริง แต่คนทำเขาสนุก เหมือนท้าทายตัวเขาด้วย
“ด้วยความโชคดี พี่จันทร์เพ็ญมีความเป็นศิลปิน สิ่งที่เขาทำค่อนข้างสวยอยู่แล้ว พอเราบอกเฉดสี ลองวางสี พี่จันทร์เพ็ญทำให้เราเซอร์ไพรส์หลายครั้ง สำหรับเรา เรามองว่ามันสวยนะ สวยด้วยธรรมชาติของมัน” กุ๊กไก่อธิบาย
เอกลักษณ์อีกอย่างของ SarnSard คือการเลือกเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้กับงานหัตถกรรมจักสาน เป็ดเลือกใช้ 3D Printing ที่เขาถนัดมาช่วยขึ้นรูปและสื่อสารให้แม่ช่างสานเข้าใจและเห็นภาพ ช่วงแรกเขาขึ้นรูปเป็นกระปุกหกเหลี่ยม ตอนขึ้นงานจริงเขาใส่ขอบพลาสติกทรงหกเหลี่ยมลงไปในชิ้นงานด้วย เพื่อกำหนดขอบและรูปทรง
การสานลาย SarnSard จะเลือกตอกใหญ่ เพราะเห็นลายชัดและสวยงาม ชวนสะกดสายตาเสมือนเชิญให้คนอยากเข้ามาสัมผัสและทำความรู้จักเตยปาหนัน เป็นความสวยงามจากธรรมชาติที่แฝงวัฒนธรรมท้องถิ่นไทย-มุสลิม
“เราอยากยกระดับให้ได้มากที่สุดและอยากทำให้คนสานเห็นคุณค่าของเขาให้ได้” กุ๊กไก่เผยหัวใจของการทำ SarnSard ก่อนเป็ดจะเสริมว่า “เราต้องมองหาความแตกต่าง เป็นที่มาว่าทำไมสานสาดต้องเริ่มจากลายโบราณ”
สารศาสตร์
“การสื่อสารที่ดีที่สุด คือการใช้ใจ เราจะทำยังไงให้เราซื้อใจเขาได้” เธอยิ้ม
“วิธีแรกเราต้องปลุกใจเขาก่อน เวลาลงชุมชนมักเป็นเวลาเดียวกับที่พี่จันทร์เพ็ญเขาอยากจะเปลี่ยน เขาพูดว่าทำไมขายได้เท่านี้ บางครั้งพ่อค้าคนกลางบีบราคา แต่คนกลางดันมองข้ามว่าเป็นงานสานนะ งานทำมือนะ
“พอเรารู้จุดอ่อนเขา เราบอกเขาว่าต้องเปลี่ยน ต้องทำงานเป็นระบบมากขึ้น เราก็พยายามเปลี่ยนแบบค่อยเป็นค่อยไปนะ ต้องทำให้เขาเห็นก่อนว่าเราพาเขาเดินไปด้วยกันกับเราได้ อันดับแรกเขาต้องภูมิใจกับงานฝีมือของเขาก่อน มันโชคดีอย่างหนึ่งตรงเราได้ทำงานกับ King Power หลายคนตกใจทำไมเราไปถึงตรงนั้นได้ แต่มันก็ทำให้เด็กรุ่นใหม่อยากกลับบ้านมาทำงานพวกนี้มากขึ้น” กุ๊กไก่เล่าความตั้งใจที่อยากจะเดินไปพร้อมกัน
“เราพยายามจูงใจเขาจากโปรเจกต์มหานคร (Mahanakhon Bangkok SkyBar) งานโลคอลที่อยู่บนตึกที่สูงที่สุดของประเทศ มันมีศักยภาพไปถึงจุดนั้นได้จริงๆ แล้วคนเลือกงานเราเป็นดีไซเนอร์จากฝรั่งเศสด้วย”
การทำงานกับชุมชนไม่เคยง่าย แต่เราเชื่อว่าความพยายามและความจริงใจที่ออกมาจากเบื้องลึกของเขาและเธอจะทำให้ชุมชนจักสานเตยปาหนัน จังหวัดตรัง สัมผัสสิ่งนั้นได้ และพร้อมก้าวเท้าออกเดินไปพร้อมกันกับ SarnSard
สาน ศาสตร์สานสาด
SarnSard อยากจะเป็นผู้สาน (ต่อ) ศาสตร์สานสาดแบบไหนในอนาคต เราถาม
“หนึ่ง เราอยากทำ Ecotourism ให้คนเข้าใจว่าจักสานเตยปาหนันเป็นงานคราฟต์ประเภทไหน เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมแบบไหน แล้วเขาจะกลับไปบอกเล่าเรื่องราวนี้ได้ยังไง สอง สำคัญมาก เราอยากกระตุ้นคนในชุมชน กระตุ้นเด็กให้หันกลับมาเห็นคุณค่าของภูมิปัญญา เพราะเรารู้ว่าพี่จันทร์เพ็ญทุ่มเทกับสิ่งนี้มาทั้งชีวิต เขาอยากให้มันประสบความสำเร็จ และเราเชื่อว่าสิ่งที่ออกมาจากความภูมิใจของเขา เขาจะทำมันได้ดีที่สุด
“ถ้าเมื่อไหร่เขาเกิดความภูมิใจ เขาจะเกิดความรู้สึกอยากสานต่อ”
สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันและเรามองเห็นจากแววตาของกุ๊กไก่และจันทร์เพ็ญคือนักสู้ ใช่ พวกเธอคือผู้หญิงที่พร้อมจะสานต่อและพาเพื่อนผู้หญิงอีกหลายสิบชีวิตเดินหน้า ด้วยมรดกจากบรรพบุรุษชาวมุสลิมที่มอบไว้ให้
“ภาพที่เราอยากเห็นคือเขาทำสิ่งนี้เป็นกิจวัตร กลับมาเป็นภาพเดิมเหมือนเมื่อก่อน มีลานกว้างแล้วทุกคนมานั่งช่วยกันสานเป็นครอบครัว เพราะสิ่งนี้ขับเคลื่อนชีวิตเขาได้จริงๆ ซึ่งมันย้อนกลับไปว่า เราแค่อยากให้เขาได้เห็นคุณค่าของสิ่งที่เขาทำ มันเป็นภูมิปัญญาที่เกิดมาพร้อมกับเขา เติบโตมาพร้อมกับเขา แล้วเขาก็มุ่งมั่นที่จะทำมันต่อไปด้วยความเชื่อว่ามันจะทำให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้นได้ ส่วนหนึ่งเราก็ภูมิใจที่ปลุกเขา ปลุกหมู่บ้านเขาขึ้นมาอีกครั้ง”
“เรามองถึงความยั่งยืนนะ ชุมชนยั่งยืนบนวิถีของเขา” เป็ดเล่าด้วยแววตามุ่งมั่น
เขาและเธอสบตาเป็นสัญญาณว่าจะพาเตยปาหนันกู่ก้องให้ไกลกว่าตรัง และอนาคตที่ไกลกว่าประเทศไทย
SarnSard
เว็บไซต์ : www.sarnsard.com
Facebook: SarnSard
ติดต่อ 09 4636 4542