ถ้าเราเจอเขานอกเมืองสงขลา

คงจะไม่รู้เลยว่า สิ่งที่เขาทำ ตัวตนที่เขาเป็น ยิ่งใหญ่และน่าสนใจเพียงใด

ถ้าเราเจอ เอ๋-ปกรณ์ รุจิระวิไล ในเมืองสงขลา เดินไปด้วยกันย่านถนนนางงาม เดือดร้อนแน่ถ้ารีบ เพราะปกรณ์รู้จักทุกคนในย่านนั้น ถ้าไม่โดนทักก็โดนลากมานั่งจิบชาด้วยกัน แลกเปลี่ยนสังสรรค์ตามประสาคนคุ้นเคย

เขาเป็นคนไทยเชื้อสายจีนในสงขลา เกิดและโตในครอบครัวชาวประมง แต่กลับเป็นที่รู้จักมากที่สุดจากการทำ a.e.y.space พื้นที่แสดงงานศิลปะและกิจกรรมเกี่ยวกับเมืองสงขลา ที่นี่เป็นเหมือนบ้านของคนสงขลารุ่นใหม่ที่สนใจวัฒนธรรมดั้งเดิม และอยากต่อยอดด้วยวิธีใหม่ ๆ 

เอ๋-ปกรณ์ รุจิระวิไล

งานใหญ่ล่าสุดที่ปกรณ์มีส่วนร่วมมาก คือเทศกาลออกแบบปักษ์ใต้ (Pakk Taii Design Week 2023) มีนักออกแบบและศิลปินในภาคใต้มาร่วมคับคั่ง งานกระจายตัวใน 4 จังหวัด คือสงขลา ตรัง ปัตตานี และนครศรีธรรมราช 

เทศกาลนี้มีความหมายกับปกรณ์มาก เป็นเหมือนการรวมตัวเครือข่ายคนสงขลารุ่นใหม่ที่เขาทำงานด้วยทั้งหมด อีกนัยหนึ่ง นี่คืองานที่สรุปชีวิตปกรณ์ในรอบ 10 กว่าปีที่กลับมาทำงานพัฒนาเมืองในสงขลาอย่างสมบูรณ์

ปกรณ์ออกสื่อบ่อย ส่วนมากคือการโปรโมตงาน บอกว่าเขาทำอะไร

แต่ไม่ค่อยมีคนถามว่าเขาทำสิ่งเหล่านี้ไปทำไม เป้าหมายจริง ๆ ของเขาคืออะไร นั่นคือเหตุผลที่เราชวนเขานั่งคุย 

แรงปรารถนาเพื่อเมืองที่ดี ผลิบานในใจคนที่เคยอยากหนีไปเสียจากบ้านได้อย่างไร

涓滴成河

หยดน้ำน้อยรวมกันเป็นแม่น้ำใหญ่

เคยมั้ย จะไปเที่ยวไหน คนใกล้ตัวถามว่า – มีอะไรเที่ยวบ้าง 

ส่วนมากคำตอบจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันโด่งดัง เป็นเหมือนแลนด์มาร์กในเมืองนั้น 

เมื่อหลายจังหวัดจัด Design Week คำตอบของคำถามข้างบนกำลังเริ่มเปลี่ยนไป ด้วยการลงแรงจากองค์กรหลักอย่างสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) หน่วยงานรัฐและเอกชนในท้องถิ่น 

เทศกาลออกแบบทำให้คนเห็นว่าชีวิตที่ดำเนินอยู่อย่างธรรมดา เรื่องในครอบครัวที่คุยกันในบ้าน ร้านค้าที่อุดหนุนกันเองจนชิน มีมูลค่าทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ เมืองและคนจึงต้องปรับตัวครั้งใหญ่เพื่อรับคลื่นคนนอกพื้นที่ 

เทศกาลออกแบบทำให้คนอาวุโสยอมเปิดบ้านให้คนรุ่นใหม่มาศึกษา ไปจนถึงการร่วมมือแบบ Collab กับนักออกแบบรุ่นลูก สร้างสิ่งใหม่ในธุรกิจ แม้ต้องแลกกับการไม่คุ้นชินเมื่อมีนักเที่ยวทำคอนเทนต์หามุมถ่ายลง Instagram

เหตุการณ์ทั้งหมดนี้จะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้าขาดคนรุ่นใหม่ที่อินเรื่องทำนองนี้ คอยช่วยไปพูดคุย เจรจา ผลักดันให้งานเกิดได้จริง

สงขลาเมื่อ 10 กว่าปีก่อนไม่ได้เป็นแบบนี้ ก่อนจะมี CEA หรือ a.e.y.space ปกรณ์เล่าว่าเมืองอาจไม่ได้น่าอยู่นักหากมองจากมุมคนรุ่นใหม่ ถนนนางงามยังมีร้านอาหารดั้งเดิมน่าแวะ แต่ย่านอื่นค่อนข้างเงียบ มีธุรกิจบริการที่มีลูกค้าเป็นชาวประมง เหล่านี้คือภาพเมืองที่ปกรณ์เห็นจนคุ้นชิน 

การเปลี่ยนแปลงในสงขลาเกิดขึ้นหลายจุด เริ่มจากคนตัวเล็ก การสร้าง a.e.y.space เป็นหนึ่งในนั้น

ปกรณ์เจออาคารที่คิดว่า ‘น่าจะทำอะไรได้’ เมื่อ 10 กว่าปีก่อน เขาได้ไอเดียการเปลี่ยนตึกเก่าเป็นพื้นที่ศิลปะ จากประสบการณ์สมัยเรียนออกแบบในต่างแดน การมีที่เหล่านี้ทำให้ศิลปะและชีวิตคนใกล้กันมากขึ้น ตึกเก่าส่วนมากตั้งอยู่ในชุมชน แวดล้อมด้วยบ้านและร้านค้า การเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนเป็นองค์ประกอบชั้นดีในการจัดกิจกรรมเชิญชวนให้คนมีส่วนร่วมกับเมือง

มีงานอยู่ 2 ประเภทที่สำคัญมาก a.e.y.space ในช่วงเริ่มต้น หนึ่ง คือนิทรรศการภาพถ่าย เขาเดินไปขอภาพถ่ายของครอบครัวคนรู้จักนำมาจัดแสดง งานแรกของปกรณ์ที่ใช้เป็นงานเปิดพื้นที่ด้วย

“ช่วงแรกผมกลัวมาก กลัวว่าเราจะเป็นของประหลาดในชุมชน กลับมาจากการไปเรียนที่อื่นกลายเป็นของแปลกที่คนไม่รับ วันแรกผมไปจูงมือ ป้าบ่วย เจ้าของร้านชาฮับเซ่งที่สนิทกัน เหล่าซือที่เคยสอนภาษาจีนร้านไอติมยิว เพื่อให้เขามาดูนิทรรศการภาพถ่าย บอกเขาว่ามันเป็นอย่างนี้ ๆ ค่อย ๆ ไต่ระดับทำให้ที่นี่เป็นย่านศิลปะ สักพักก็เชิญเขามาเล่าเรื่องของบ้านตัวเอง

“งานนั้นเซอร์ไพรส์มาก คนรู้สึกว่าไอ้ a.e.y.space ที่เปิดบ้างไม่เปิดบ้าง มันเข้าถึงได้นะ เรารู้สึกว่าการทำที่แบบนี้ไม่มีสูตรสำเร็จ เป็นไปไม่ได้ที่เปิดปุ๊บ คนจะยอมรับ อย่างน้อยที่สุด ให้คนแถวนี้คนประหลาดน้อยก่อนแล้วกัน”

งานสำคัญที่ 2 สำหรับปกรณ์ คือการจัดฉายหนัง ซึ่งเป็นวิธีที่พื้นที่ศิลปะเกิดใหม่มักใช้กัน 

เคล็ดลับของปกรณ์ คือเขาฉายหนังทุกประเภท ทั้งหนังแมส หนังอิสระ หรือหนังรางวัล เพราะเป้าหมายของการจัดฉายหนัง คือมอบความสุขให้คนท้องถิ่น การหาหนังดี ๆ มาให้คนรู้จักนั้นดีอยู่แล้ว แต่จะดียิ่งขึ้นถ้าเพื่อนบ้านเรารู้จักและอินตามไปด้วย

ภาพยนตร์เป็นสื่อบันเทิงที่เชื่อมโยงคนได้ดีมาก งานแบบนี้นอกจากทำให้คนรู้จัก a.e.y.space ในวงกว้าง ทุกการฉายหนังมักมีคนมารวมกลุ่มกันเสมอ เริ่มจากคุยเรื่องหนัง สักพักต่อไปถึงเรื่องศิลปะ สังคม วัฒนธรรม เกิดเป็นเครือข่ายคนทำงานสร้างสรรค์ในสงขลา กระจายตัวไปอย่างรวดเร็ว

เทศกาลออกแบบปักษ์ใต้มีกิจกรรมมากมาย แต่งานไหนที่เขาอินที่สุด งานฉายหนังเป็นคำตอบแรก งานนี้ชื่อว่า ‘Singorama’ เทศกาลฉายหนังริมทะเลสาบสงขลา 

Singorama อยู่ภายใต้โปรแกรมที่ชื่อว่า Homecoming ที่ใช้ชื่อนี้ เพราะการฉายหนังมีส่วนทำให้คนหนุ่มสาวสงขลาได้กลับมารวมตัวกัน หลายคนตัดสินใจจากเมืองหลวงมาอยู่บ้าน สร้างสิ่งใหม่เหมือนที่ปกรณ์ทำเมื่อ 10 ปีก่อน 

ปัจจุบันย่านที่มีธุรกิจของคนหนุ่มสาวสงขลาเยอะ คือบ้านสงครามโลก ถนนนครนอก ถ้าอยากพบพวกเขา ควรมาเยือนสักครั้ง

งานที่ 2 ที่ปกรณ์อิน คือ ลอง Table Food Fest พื้นที่ทดลองเสิร์ฟอาหารแนว Chef’s Table เอ๋มองว่าอาหารแนวนี้มักดูสูงส่ง ราคาแพง เขาทดลองทำให้กิจกรรมลงมาหาผู้คนมากที่สุด จัดบริเวณท่าน้ำศักดิ์สิทธิ์พิทักษ์ เราจะได้ชิม 25 เมนูจาก 25 เชฟ นำวัตถุดิบท้องถิ่นมาปรุงในเมืองที่รุ่มรวยทางอาหารมากที่สุดแห่งหนึ่ง

งานสุดท้ายที่ปกรณ์พูดถึง คือนิทรรศการที่เขามีส่วนร่วมและชวนเพื่อนๆ มาทำด้วยกัน ชื่อว่า Chinese Spring : Home, Spirit, Bloom นิทรรศการ 3 แห่งที่เล่าเรื่องชีวิตคนจีน 5 เหล่าในสงขลา

เพราะเป็นงานตัวเอง เขาจึงเล่าค่อนข้างเยอะ แต่สิ่งที่เขาเล่าไม่ใช่เรื่องงาน แต่เป็นชีวิตที่ตามหาตัวตนของตัวเองมาตลอดหลายสิบปี

落葉歸根 

ใบไม้หล่นคืนสู่ราก

ใครเป็นเด็กจีน คงเคยเจอเรื่องนี้ 

เจอผู้ใหญ่ครั้งแรก ทักทาย ถามไถ่ ถึงจุดหนึ่งท่านจะถามว่า – ลื้อเป็นจีนอะไร

จีนนั้นกว้างใหญ่ คนจีนก็มีหลายก๊กหลายเหล่า เมื่อย้ายประเทศมาตั้งรกรากในไทย คนจีนที่มีสัดส่วนมากที่สุดคือจีนแต้จิ๋ว ปกรณ์เองก็เช่นเดียวกัน 

ถ้าเจาะลงไปในสงขลา คนจีน 5 เหล่าที่มาตั้งรกรากในเมืองท่าแห่งนี้ ได้แก่ ฮกเกี้ยน ไหหลำ กว่องสิว ฮากกา และแต้จิ๋ว

เมื่อยังเป็นเด็กชายเอ๋ เขาเฉย ๆ กับความเป็นจีน ครอบครัวของปกรณ์ทำประมงทั้งฝั่งพ่อและแม่ 40 – 50 ปีก่อนการประมงในสงขลาคึกคัก จนกระทั่งมีการออกกฎระเบียบใหม่ บวกกับปัญหาแรงงานข้ามชาติ ทำให้การออกหาปลาธรรมชาติลำบากขึ้น 

ครอบครัวของปกรณ์ปรับตัวด้วยการทำประมงแบบแพปลา ส่งออกไปสิงคโปร์และมาเลเซีย งานแบบนี้ต้องสื่อสารเรื่องธุรกิจด้วยภาษาจีน การได้ยินภาษาจีนในบ้านจึงเป็นเรื่องคุ้นชิน 

สมัยนั้นเด็กทุกคนในย่านเมืองเก่าจะส่งไปเรียนภาษากับเหล่าซือเจ้าของร้านไอติมยิว (ร้านจิ่นกั้วหยวน ไอติมยิว ย่านถนนนางงาม) ถึงได้เรียนก็ไม่เข้าหูสักเท่าไหร่

จุดเปลี่ยนของปกรณ์เกิดเมื่อครอบครัวส่งไปเรียนภาษาที่ประเทศจีน เริ่มที่ปักกิ่ง ด้วยภาวะคนหนุ่ม เขาเที่ยวไปทั่ว จากปักกิ่งไปซัวเถา ไหหลำ ไปจนถึงเมืองลาซา ประเทศทิเบต 

“เราได้ไปเห็นว่าไหหลำ แท้จริงแล้วเป็นเกาะ ส่วนซัวเถาก็อาหารอร่อยมาก เหมือนอยู่ในเยาวราช” เหตุการณ์นี้เปลี่ยนปกรณ์ให้เห็นว่าความเป็นจีนที่เหมือนอยู่โดดเดี่ยว แท้จริงนั้นหลากหลายและรุ่มรวยวัฒนธรรมแค่ไหน ทั้งยังได้เห็นความเชื่อมโยงของจีนในแต่ละเหล่าว่าเกาะเกี่ยวสัมพันธ์กันอย่างไร” 

เมื่อกลับมา เขาสำรวจความเป็นจีนในสงขลาใหม่ แล้วพบลักษณะพิเศษข้อหนึ่งของคนจีนในย่านนี้

“เราเริ่มค่อย ๆ ทำความรู้จักเมืองเก่าเมื่อ 10 ปีที่แล้วใหม่ว่ามีอะไรดี มีชุมชนอะไรอยู่บ้าง ทำไมถนนนางงามถึงคึกคัก ทั้งที่ธุรกิจเส้นถนนนครนอกและนครในตายไปแล้ว เราพบว่าคนจีนที่ย้ายมาถนนนางงามเพิ่งย้ายมาประมาณช่วง 100 ปีนิด ๆ สั้นมาก คนจีนรุ่นสองและสามที่พูดจีนได้จึงยังมีชีวิตอยู่ เผลอ ๆ คนจีนรุ่นหนึ่งอาจจะเพิ่งเสียไปเอง เพราะฉะนั้น ความเข้มข้นของวัฒนธรรมจีนจึงยังมากอยู่ในสงขลา อาหารที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษจึงยังอยู่

“จีนฮกเกี้ยนคือคนจีนเหล่าแรกที่มาถึงสงขลาเมื่อ 200 ปีที่แล้ว พวกเขามาตั้งรกราก เราจึงเห็นบ้านเรือนจีนฮกเกี้ยนที่มีอายุ 150 – 180 ปีในสงขลา ต้นตระกูลแซ่เฮ้าในสงขลาก็เป็นฮกเกี้ยน คนจีนชุดหลังที่ย้ายมามีความหลากหลายมาก มีทั้งแต้จิ๋ว ไหหลำ ถนนนางงามเป็นย่านที่คนจีนกลุ่มนี้กระจายเข้ามา” 

การตามหาความเป็นจีนเกิดขึ้นพร้อมกันกับการสร้าง a.e.y.space และได้เริ่มทำงานเกี่ยวกับเมือง เมื่อต้องทำงานด้านวัฒนธรรม เขาจึงได้กลับไปค้นประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เรียนรู้เรื่องชุมชนของตัวเองผ่านการใช้ชีวิต ได้เห็นมิติของเมืองที่ซ่อนอยู่ ประกอบร่างขึ้นมาเหมือนต่อจิ๊กซอว์เป็นภาพใหญ่

ปกรณ์เล่าว่าเขามักเจอบ้านเก่าแก่ของคนจีนฮกเกี้ยนกำลังถูกรื้อทิ้ง ไม่ก็ซ่อมผิดวิธี ไม่รักษาของเดิม เขามักเดินไปหาเจ้าของบ้านโดยไม่รู้ตัว หาวิธีรักษาบ้านเก่าในหลายวิธี ยิ่งดูก็ยิ่งอิน เขายกตัวอย่างบ้านของคนจีนฮกเกี้ยนที่มักจะมีช่องกระจกเล็ก ๆ ไว้ในทิศที่เห็นทะเลได้สะดวก ถ้าเห็นเรือสำเภาในช่องนี้เมื่อไหร่ แปลว่าได้เวลาหารายได้ ออกไปหาสินค้าในเรือมาขายในเมือง เป็นตัวอย่างการปรับบ้านให้สอดคล้องกับการใช้ชีวิต

นิทรรศการความเป็นจีน 5 เหล่าเป็นทั้งบันทึกการตามหาความเป็นจีนที่ตกหล่นระหว่างทาง ทั้งของเมืองสงขลาและตัวเขาเอง ตั้งแต่ช่วงที่กลับมาทำงานพัฒนาเมืองที่บ้านเกิด 

飲水思源  

ดื่มน้ำพึงระลึกถึงต้นธาร

ปัจจุบันปกรณ์เลี้ยงชีพด้วยการทำธุรกิจโรงพิมพ์ ลูกค้าของเขามีทั้งหน่วยงานราชการ ผู้ประกอบการรายย่อย ไปจนถึงบริษัทต่างชาติที่ทำธุรกิจนอกชายฝั่ง (Offshore) ที่ยังมีมากในสงขลา

เขาตัดสินใจออกจากธุรกิจประมงของบ้าน มาทำโรงพิมพ์เพื่อนำความรู้ด้านการออกแบบมาใช้ บริการของเขาไม่ใช่แค่พิมพ์ แต่หลากหลายตั้งแต่ออกแบบลวดลายไปจนถึงงานปรับภาพลักษณ์องค์กร 

คนที่กลับบ้านมาทำธุรกิจมักเจอปัญหาเงินในตลาดน้อยกว่าเมืองหลวง ปกรณ์ก็ไม่ต่างกัน เขายกตัวอย่างว่า การคิด ‘ค่าออกแบบ’ แยกออกมาต่างหากเป็นเรื่องยากในบ้านเกิด วิธีที่ดีกว่าคือการรวมค่าคิดงานรวมอยู่ในค่าการผลิตทั้งหมดจะตอบโจทย์ลูกค้ามากกว่า

งานของโรงพิมพ์ส่วนหนึ่งยังมาจากงานพัฒนาเมืองหรือเทศกาลที่เกี่ยวกับศิลปะและการออกแบบ แม้ไม่ใช่รายได้หลัก แต่ทำให้เขาทำงานสะดวก อยากได้งานดึกก็สั่งพิมพ์ได้อย่างสะดวกใจ ไม่กวนคนอื่น

ชื่อเสียงของปกรณ์ดึงดูดให้คนที่สนใจงานพัฒนาเมืองเข้ามาปรึกษา หาวิธีปรับใช้ในพื้นที่อื่นบ้าง

เราลองถามถึงบทเรียนในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมา พอจะสรุปได้ดังนี้

บทเรียนที่ 1 อย่าใช้มุมมองจากคนเมืองมาตัดสินคนท้องถิ่น

เมื่อทำงานพัฒนาเมือง ร้อยทั้งร้อยมักพูดถึงการรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมเอาไว้ไม่ให้หายไป ซึ่งถูกส่วนหนึ่ง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด

“เด็กรุ่นใหม่ที่กลับบ้าน อยากเห็นความเจริญของบ้านมากกว่า มันไม่ใช่หน้าที่ของเขาที่จะมาสานต่อวัฒนธรรมใด ๆ ต้องหาสมดุลที่ดี เราเชื่อว่าคนที่อยากรักษาวัฒนธรรมก็มีนะ วัฒนธรรมคือรากของเรา เป็นสินทรัพย์อย่างหนึ่ง ถ้าคนรุ่นใหม่กลับบ้าน รู้จักหยิบออกมาใช้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และมีความเป็นตัวเอง ผมเชื่อว่าเขาจะเปลี่ยนสินทรัพย์ให้กลายเป็นทุนบางอย่างให้ไปต่อยอดได้”

“ผมเชื่อเรื่องการทำรีเสิร์ชนะ ความโชคดีอย่างหนึ่ง คือเราอยู่ในย่านนั้นอยู่แล้ว การจะเข้าไปพูดคุย ใช้เวลานาน ๆ เป็นเรื่องปกติ เขาจะดึงเรามานั่งคุย กินของนิดหน่อย ได้สัมผัสเรื่องราวของเขาจริง ๆ เขาไม่ได้เล่าแบบให้คนทำรีเสิร์ชฟัง แต่เล่าเหมือนเราเป็นลูกหลาน เขาจะไม่กั๊กเลย 

“เราวิเคราะห์หลายอย่าง เช่น ถ้าจะทำงานกับร้านอาหาร แกมีลูกน้องกี่คน ถ้าผลักดันงานที่ยากมาก ๆ แกก็จะไม่ทำ เราค่อนข้างโชคดีที่สนิทกับชุมชนแถวนี้มาก ๆ ต้องขอบคุณเขาที่เปิดใจมาก ๆ กล้าเล่าในสิ่งที่ไม่เคยเล่า ทำให้เราประกอบร่างที่เหมาะสมได้ว่า ทำยังไงที่จะไม่กระทบเขา ทั้งในแง่ความรู้สึก หรือทำให้เขาสูญเสียความเป็นตัวเอง 

“ถ้ากลัวเละ ทางเดียวที่แนะนำเลย คือพยายามสร้างการรวมตัวของคนข้างใน ความจริงการรวมตัวกันไม่ยากเลยนะ ใครอยากทำอะไร โยนเข้ามาก่อน ผมก็เริ่มอย่างไม่มีกลุ่มก้อน เริ่มจากตัวเองอยากทำพื้นที่ศิลปะเล็ก ๆ ไม่ได้มองภาพใด ๆ เลยว่าอีก 10 ปีจะเป็นแบบไหน หลังจบงานใหญ่ ก็กลับไปทำงานเล็ก ๆ อาจจะเจอคนใหม่ ๆ ที่ได้ทำงานกับเราอีก 

“ไม่ว่าทำงานอะไร เราพยายามให้ความสำคัญกับคนท้องถิ่นมาก ๆ ให้ความรู้สึกว่าผมไม่ได้ครอบงำเขานะ เราไปด้วยกัน อยากทำโปรเจกต์ด้วยกันให้เสร็จ แล้วเขาเป็นคนสำคัญที่เราแคร์มาก ๆ 

“ทุกคนมีสิทธิในเมืองเมืองนี้ ไม่ใช่เมืองของใครคนใดคนหนึ่ง เด็ก ๆ ก็ทำงานเมืองแบบของเขาได้ ถ้าให้โอกาส งานอย่างเทศกาลออกแบบปักษ์ใต้คือแพลตฟอร์มให้เขามีที่ยืน มีที่แสดงออก การกลับบ้านครั้งนี้ไม่สูญเปล่าแน่นอน

บทเรียนที่ 2 สร้างสิ่งที่คนท้องถิ่นขาด ดีกว่าการยัดเยียดไอเดียของเราเอง

2 งานสำคัญที่ทำให้ปกรณ์เป็นที่รู้จัก คือ Portrait of Songkhla นิทรรศการภาพถ่ายครอบครัวสงขลาเมืองเก่า ที่ทำร่วมกับ โรงเรียนสังเคราะห์แสง และกลุ่มช่างภาพท้องถิ่นสงขลา เขาเห็นงานนี้จากการตั้งใจไปชม Portrait of Chareonkrung ที่กรุงเทพฯ ต่อมา CEA ติดต่อให้เขามาร่วมทำงานแบบนี้ในสงขลา 

เขาได้สัมภาษณ์คนสงขลาร่วม 76 ครอบครัว และได้รู้ว่าธุรกิจหลายแห่งในสงขลากำลังจะหายไปเพราะไม่มีคนสืบทอดต่อ เช่น ร้านแต้เฮี้ยงอิ้ว ร้านอาหารเจ้าดังในสงขลาที่จะหายไปในอีกไม่ช้า 

ช่วงโควิด-19 เขาต่อยอดงานใหม่กับ CEA กับงาน Made in Songkhla นำศิลปิน นักออกแบบ เชฟ และคนรุ่นใหม่ มาทำร่วมกับร้านค้าเก่าแก่คู่เมืองสงขลา 12 ร้าน สร้างงาน Collab ช่วยแก้ปัญหาให้ธุรกิจ

กฎเหล็กของงานนี้ คือเขาจะทำในสิ่งที่ธุรกิจนั้นขาดเท่านั้น เช่น จากการค้นข้อมูลพบว่าร้านค้าขาดการจัดการสินค้าที่สามารถนำออกไปกินที่อื่นในช่วงโควิด

ตัวอย่างที่ชัดเจนสำหรับปกรณ์ คือร้านน้ำชาฮับเซ่ง สภากาแฟประจำเมืองที่คนสงขลาฝากท้องมานาน ปัญหาของฮับเซ่ง คือสังขยาสูตร 100 ปีเสียง่าย กินแบบกลับบ้านไม่สะดวกเท่าไหร่ ปกรณ์เลยจับร้านนี้มาให้ นิรามย์ วัฒนสิทธิ์ จากร้าน Eden’s ที่โดดเด่นเรื่องการจัดการอาหารเช้า นำสังขยามาดัดแปลงเป็นขนมปังกดลายที่มีการห่อด้วยกระดาษ บอกเล่าความเป็นตัวตนของร้าน คู่กับเครื่องดื่มที่สั่งกลับบ้านแบบ Grab and Go รักษารสชาติดั้งเดิมเหมือนกินที่ร้าน

Made in Songkhla ทำให้ฮับเซ่งมีความหวัง เปลี่ยนธุรกิจที่ใกล้ปิดตัวให้กลับมามีชีวิต คนในครอบครัวเริ่มหาทางขยับขยายกิจการหลังวิกฤตโรคระบาด ทั้งหมดนี้เริ่มจากแนวคิดการร่วมงานที่ถูกต้อง คิดถึงใจคนท้องถิ่น รวมถึงให้แขกต่างเมืองได้แสดงฝีมือเต็มที่

บทเรียนที่ 3 การสานต่อมีหลายรูปแบบ ไม่จำเป็นต้องยึดติดกับแบบใด

ปัญหาหนึ่งของคนกลับบ้านที่อยากสร้างการเปลี่ยนแปลง คือโดนปิดกั้นโดยคนอาวุโส ซึ่งปลายทางมักจบด้วยการสูญสลายไม่หวนคืน

ปกรณ์มองว่าเราไม่จำเป็นต้องสานต่องานของคนรุ่นก่อน 100% หยิบจับบางองค์ประกอบมาสานต่อในแบบของเรา ถ้าเป็นไปได้

แม้จะอินเรื่องจีนแค่ไหน แต่การกลับมาทำงานดัานวัฒนธรรมของจีน 5 เหล่าก็เจอปัญหาไม่น้อย เพราะติดกับดักว่าการรักษารากต้องทำในรูปแบบเดียว

ไม่ต้องพูดถึงใคร ยกตัวอย่างตัวเอง ปกรณ์ตัดสินใจแล้วว่าเขาคงไม่กลับไปทำธุรกิจประมงของครอบครัว แต่เขาอยากสืบทอดความรู้และประสบการณ์ในธุรกิจครอบครัว ไปกับงานที่เขาทำอยู่ ทั้งงานใน a.e.y.space งานในเทศกาลออกแบบ นั่นคือทางที่เหมาะกับเขามากกว่า

“พอผ่านไปหลายงาน ได้สัมผัสคน ก็เหมือนเราถอดตัวเองเพื่อมาดูตัวเองอีกทีหนึ่ง เราไปนั่งฟังเขา ก็นึกย้อนกลับมาหาเรื่องตัวเองทุกครั้ง บ้านผมทำประมงตั้งแต่รุ่นอากง มาถึงรุ่นพ่อแม่ก็ทำ เราโตมากับท่าเรือ คุ้นชินกับกลิ่นปลา กลิ่นน้ำมันเรือ มันเป็นเรื่องปกติของเรามาก 

“ผมเชื่อว่าเรามีวิธีการสานต่อด้วยวิธีอื่น อาจเป็นการทำงานแบบนี้ ไปทำบางงานให้มันกระเพื่อมในแบบของเรา ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนตัวเองขนาดนั้น ไม่ใช่ว่าพออินเรื่องจีน ต้องมาพูดภาษาจีนทุกวัน ก็ยังเป็นคนเดิม แค่มุมมองในการเห็นเรื่องนี้มันแหลมคมขึ้น เห็นโอกาสที่จะทำเรื่องนี้ได้อีกเยอะแยะเลย หรือเราอาจเป็นตัวกลางที่ทำให้สมาคมคนจีนรุ่นใหม่สนใจรากของตัวเอง กลับไปหยิบรากเหล่านี้มาสานต่อได้”

善有善報

ทำกุศล ย่อมมีกุศลเป็นเครื่องตอบแทน

งานใด ๆ ย่อมใช้แรง แต่การทำงานพัฒนาเมืองคู่ไปกับงานเลี้ยงชีพ ดูจะใช้แรงมากเป็นพิเศษ 

ทำไมถึงยังมีแรง – เราถามง่าย ๆ ปกรณ์ก็ตอบง่าย ๆ ว่าเขาทำสิ่งที่มีความสุข เข้าออฟฟิศทุกวันนี้เหมือนไม่ได้มาทำงาน แต่มาใช้ชีวิต

กว่าจะตอบได้แบบนี้ ยิ้มอย่างนี้ ปกรณ์เจอพายุมามากมาย วันนี้เขาผลิบานได้เพราะรู้แล้วว่างานของเขามีความหมาย

ธีมของเทศกาลออกแบบที่ว่าด้วยการ ‘ผลิบาน’ จึงไม่ใช่แค่ธีมที่ครอบการจัดงาน แต่เป็นสิ่งที่เขาอยากพูดกับตัวเองและคนทำงานพัฒนาเมืองทุกคนด้วย

“ผลิบานไม่จำเป็นต้องใช้แค่กับคนรุ่นใหม่ ทุกคนผลิบานได้ในแบบของตัวเอง ไม่ว่าคุณจะอยู่ในช่วงเวลาใดของชีวิต ถ้าคุณรู้ เข้าใจ และสร้างสมดุลที่ดีกับมันได้ ทุกคนก็ผลิบานในแบบของตัวเองได้”

ไม่ใช่ต้นไม้ทุกต้นที่ผลิดอกออกผล เช่นเดียวกับคนที่ต้องเผชิญขวากหนามมากมาย

ชายคนหนึ่งออกตามหาตัวตนและรากเหง้าของหัวใจ ฝ่าพายุมากมาย วันที่ผลจากงานงอกงาม เขาจึงเบิกบานเพราะรู้ว่าดอกไม้ที่ผลิบานหลังผ่านพายุมีคุณค่ามากมายเพียงใด

Writers

ศิวะภาค เจียรวนาลี

ศิวะภาค เจียรวนาลี

บรรณาธิการที่ปั่นจักรยานเป็นงานหลัก เขียนหนังสือเป็นงานอดิเรก

Avatar

จิรณรงค์ วงษ์สุนทร

Art Director และนักวาดภาพประกอบ สนใจเรียนรู้เรื่องราวเบื้องหน้าเบื้องหลังของอาหารกับกาแฟ รวบรวมทั้งร้านที่คิดว่าอร่อย และความรู้เรื่องอาหารไว้ที่เพจถนัดหมี และรวมร้านกาแฟที่ชอบไปไว้ใน IG : jiranarong2

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

ชอบอ่านเขียนตั้งแต่จำความได้ สนใจวิชาสังคมศึกษาตั้งแต่จบอนุบาล ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่อยู่ประถม หัดแต่งนวนิยายตั้งแต่เรียนมัธยม เขียนงานสารพัดด้วยนามปากกา “แพทริก เหล่า” ตั้งแต่เข้ามหา’ลัย

Photographer

เอกพงษ์ สราญเศรษฐ์

เอกพงษ์ สราญเศรษฐ์

ผู้กำกับภายนตร์อิสระ ปัจจุบันเขาอาศัยอยู่ในประเทศที่ทำรัฐประหารสำเร็จไปแล้ว 13 ครั้ง