ใกล้หิดเดียว… เมื่อเห็นป้ายไม้เล็ก ๆ เขียนว่า ‘ทับ ปาลา’ พร้อมลูกศรเลี้ยวขวาไปตามทางเรื่อย ๆ ก็รู้สึกว่า ใกล้หิดเดียว ในภาษาใต้หมายความว่า ใกล้นิดเดียว เพราะ ‘ทับ ปาลา รีสอร์ต’ ตั้งอยู่ใกล้ตัวเมืองสงขลานิดเดียว หรือว่ากันง่าย ๆ ก็อยู่ห่างจากรูปปั้นนางเงือกทองไม่เกิน 10 กิโลเมตรนั่นเอง

เรามาเยือนทับ ปาลา ในวันที่สงขลาคือฤดูฝน ฝนตกแบบตก ๆ หยุด ๆ ตลอดวัน

ตกหนักตกเบาสลับกันไป เราเลยได้เห็นเม็ดฝนเป็นวงกระจายทั่วผืนน้ำกว้างตรงหน้า 

เอจ-วีรณัฐ อนุกูล เจ้าของที่พักเดินมาทักทายเราในชุดเสื้อยืดกางเกงเล ก่อนชวนเรานั่งพักที่โต๊ะไม้ พร้อมเสิร์ฟชาร้อนให้จิบพลาง ๆ ระหว่างนี้เอจเริ่มเล่าถึงความสำคัญของพื้นที่แห่งนี้

“อ่างเก็บน้ำที่เห็นด้านหน้า คืออ่างเก็บน้ำสวนตูล เก็บน้ำที่ไหลจากเขาเทียมดาหรือเขาเทวดา ส่วนหนึ่งในกลุ่มเทือกเขาของอำเภอเมืองสงขลา เป็นต้นน้ำของเมือง มีน้ำตก 3 สายไหลมาบรรจบ ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารญี่ปุ่นเคยมาตั้งกองกำลังที่นี่ เพราะเป็นแหล่งน้ำแหล่งเดียวในบริเวณนี้ ส่วนพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ที่คุณพ่อซึ่งเป็นทหารเคยซื้อไว้ เราอยากอนุรักษ์พื้นที่ให้เป็นป่าที่ยั่งยืนของสงขลา จากเดิมเป็นสวนมะม่วงหิมพานต์ เราปลูกต้นไม้เพิ่ม ต้นยางนา ต้นสะเดา ซึ่งเหมาะกับสภาพแวดล้อม” 

เอจเสริมว่า ถ้าที่นี่เป็นเพียงผืนป่าอาจโดนบุกรุกได้ง่าย ด้วยความที่เขาเป็นสถาปนิก วิศวกร และนักอนุรักษ์โบราณสถานจากกรมศิลปากร จึงออกแบบรีสอร์ตในแนวทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ให้แขกใกล้ชิดธรรมชาติและเห็นคุณค่าของป่าต้นน้ำ สอดคล้องกับชื่อทับ ปาลา ที่เอจเล่าด้วยความภูมิใจ

“ทับ เป็นภาษาใต้ แปลว่า ขนำ ปาลา มาจาก ปาละ แปลว่า มะพร้าว เพราะบ้านทำจากไม้มะพร้าว คำว่า ปาละ ยังแปลว่า ผู้รักษา ทับ ปาลา จึงมีความหมายว่า บ้านของผู้พิทักษ์รักษาป่า” 

พื้นที่รับแขก แรงบันดาลใจจากโกดังท่าเรือ

ระหว่างที่นั่งคุยกัน มีลมอ่อน ๆ พัดโชยตลอดเวลา เบื้องหน้าเป็นผืนน้ำและภูเขา

ขณะเดียวกัน หยดน้ำฝนจากมุงจากไหลลงมาไม่ขาดสาย นี่เรากำลังติดฝนในโกดังท่าเรือ

“ที่นี่เคยเป็นหมู่บ้านค้าขายกับเมืองสงขลา เอาเรือขนของป่าออกไปขายตามเมือง เราสร้างตรงนี้ให้คล้ายโกดังท่าเรือ จากท่าเรือโบราณที่เก็บของป่า เรารื้อ ทุบ ด้วยความสนุกของตัวเอง พื้นที่ตรงนี้จึงกลายเป็นร้านอาหารทำจากท่าเรือ เพราะถ้าออกแบบเป็นร้านกาแฟตั้งแต่แรกจะไม่เข้ากับบริบทรอบ ๆ” 

พื้นที่ตรงนี้จึงเป็นพื้นที่ส่วนกลางให้แขกนั่งรับประทานอาหาร นั่งทำงาน นั่งพักผ่อน หรือนั่งชมวิวก็ย่อมได้ ต้องบอกว่าเพลินมาก ๆ จนไม่อยากลุกไปไหน แต่เมื่อชาของเราหมดแก้ว เอจชวนเดินชมรีสอร์ต เริ่มจากทักทายคุณปู่ต้นชะเมาอายุ 100 ปีที่แผ่กิ่งก้านเป็นรูปหัวใจ มอบความรักให้พื้นที่แห่งนี้ 

ต่อด้วยบ้านในฝันที่เอจโยนคำถามมาหาเราว่า – “ตอนเด็ก ๆ เคยวาดบ้านในฝันกันไหม”

“เรากำลังจะสร้างบ้านแม่บ้าน พอเห็นต้นไม้ต้นนี้เลยสร้างเป็นบ้านในฝัน”

เอจชี้ให้เราดูบ้านหลังนั้น บ้านสีน้ำตาลชั้นเดียว มีประตู หน้าต่าง และต้นไม้ใหญ่อยู่ข้าง ๆ บ้านในป่าที่เคยฝันของเอจเกิดขึ้นจริง ๆ และบ้านหลังนี้พิเศษที่มีเพื่อนบ้านสลับกันเข้ามาอาศัยอยู่ใกล้ ๆ

พูลวิลล่าส่วนตัว 4 หลัง ออกแบบให้เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ

 ฝั่งตรงข้ามบ้านในฝัน คือวิลล่าที่ตั้งอยู่ใกล้ ๆ ในแนวระนาบเดียวกันทั้ง 4 หลัง เมื่อเราผลักประตูไม้ไผ่สานตรงทางเข้า ก็พบกับวิลล่าส่วนตัวที่มีชานบ้านตรงทางเข้าเหมือนบ้านในชนบท 

“หลังคามุงจากแท้นะ” เอจชี้ให้ดูหลังคาบ้าน เป็นมุงจากเย็บเรียงกันอย่างเป็นระเบียบ เมื่อเย็บจากให้ถี่จึงแข็งแรง ทนทาน กันแดด-กันฝน และทับ ปาลา เพิ่งเปลี่ยนหลังคามุงจากครั้งแรกในรอบ 8 ปี ส่วนผนังลอนโค้งทำจากไม้มะพร้าวอายุ 60 – 70 ปี จากสวนเก่าแก่จังหวัดนราธิวาสและจังหวัดปัตตานี เป็นวัสดุเหลือทิ้งที่สั่งตัดตามแบบ ไม้ส่วนอื่น ๆ ได้มาจากโรงไม้ที่ประมูลมาจากโรงเรียนที่ถูกรื้อทิ้งอีกที 

ภายในวิลล่ามีเตียงน่านอนขนาดใหญ่ เห็นแล้วรู้เลยว่าคืนนี้ต้องหลับฝันดีแน่ ๆ

เตียงมีมุ้งห้อยด้านบนกันแมลงเพราะอยู่ในป่า มีเก้าอี้และโต๊ะที่ทำเองทุกชิ้นอยู่ตามมุมห้อง ทั้งด้านในและด้านนอก ในวันที่ท้องฟ้าข้างนอกเป็นสีเทา ๆ อย่างวันนี้ แต่ภายในห้องกลับสว่าง 

“เราออกแบบให้รับกับอากาศของสงขลา บานหน้าต่างและบานประตูจึงยาวถึงพื้น เพื่อระบายความชื้นออกจากบ้าน และติดกระจกใสรอบทิศทางรับแสงธรรมชาติได้ถึง 70% อยู่ตรงไหนของห้องก็มองเห็นวิว ขณะเดียวกันก็ยังเป็นส่วนตัวสูง ช่วงที่อากาศดี ๆ เปิดบานหน้าต่างรับลมได้รอบทิศ”

เขาให้เราลองสังเกตไม้ทุกชิ้นที่ต่อเติมจนกลายเป็นบ้านว่าไม่มีพื้นที่ไหนในนี้ที่สมบูรณ์แบบ เพราะตั้งใจให้ไม่เนี้ยบ “ทั้งพื้นไม้ ประตู กำแพง หรือกล่องปิดท่อตรงสระว่ายน้ำอาจดูเผยอ ๆ หรือเห็นลวดลายไม้ไม่ชัด สีแตกต่างกันไป เพราะเลือกแล้วว่าไม่ตั้งใจเนี้ยบ แต่ตั้งใจออกแบบนะ ไม่อยากให้เพอร์เฟกต์ เพราะอยากให้แขกที่มาพักรู้สึกสบาย ๆ โดยไม่รู้ตัว เหมือนนอนบ้านเพื่อน บ้านญาติ” 

เราเดินตามเอจออกมาตรงชานบ้านอีกฝั่งที่มองเห็นสระน้ำส่วนตัวและอ่างน้ำสวนตูล

ทันใดนั้น เจ้าจอห์นนี่ แมวส้มตัวอ้วนเจ้าถิ่นเดินมาคลอเคลีย 

“ก่อนหน้านี้เราไม่ฉีดยากำจัดปลวกเลย จะใช้วิธีโรยทรายรอบ ๆ บ้าน เป็นภูมิปัญญาของคนสมัยก่อน ตอนนี้เปลี่ยนเป็นทาไม้กันปลวกด้วยเกลืออินทรีย์ ไม่มีพิษ ไม่เป็นอันตรายกับคนและสิ่งแวดล้อม เพราะแมวมาขี้ที่กองทราย ต้องเลี้ยงไว้ให้ช่วยจับหนู ทุกหลังเลยมีแมวประจำบ้านเฝ้าอยู่” 

พูดจบเอจก็กลายร่างเป็นพ่อแมวเดินไปลูบตัวเจ้าจอห์นนี่

เขาเสริมว่าการออกแบบที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมนี้ เอื้อต่อสัตว์ป่าที่มาหากินตอนกลางคืนอย่างนกฮูก นกเค้าแมว ซึ่งประโยชน์ของการมีนก 2 ชนิดนี้ภายในพื้นที่ คือนกจะกินงูที่เข้ามาในเขตรีสอร์ตได้ 

อีกความน่ารักของที่นี่ คือมู่ลี่ไม้ไผ่ม้วนบริเวณสระน้ำ เอจสั่งทำจากชุมชนจังหวัดสตูล

เอจบอกเหตุผลที่เขาเลือกใช้ข้าวของจากชุมชนใกล้เคียง ก็เพื่อลดคาร์บอนฟุตพรินต์ในการขนส่ง เช่นเดียวกับแก้วกาแฟ อ่างล้างหน้า และฝาครอบสวิตช์ไฟทรงกลมที่ออกแบบให้กลมกลืนกับบ้านไม้แห่งทับ ปาลา รีสอร์ต โดยเฉพาะ ซึ่งทั้งหมดที่ว่ามาล้วนเป็นผลงานเครื่องปั้นดินเผาปั้นมือของ อาจารย์ผดุงเกียรติ รัตนศรี ศิลปินเชิดชูเกียรติจังหวัดสงขลา สาขางานเครื่องเคลือบดินเผานั่นเอง

ในบ้านมีประตูอีกบานที่เมื่อผลักออกไปคือโซนห้องน้ำและห้องอาบน้ำกลางแจ้ง

“เราพยายามทำโรงแรมที่สะดวกสบาย แขกได้สัมผัสชีวิตกลางแจ้ง ห้องน้ำเลยเหมือนอาบน้ำหลังบ้านหรือเล่นคลองหลังบ้านในวัยเด็ก ตอนแก้ผ้าอาบน้ำจะรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ” เอจยิ้ม

พายคายัคไปเล่นน้ำตกโตนลาด ต้นน้ำของอ่างเก็บน้ำสวนตูล

“พร้อมไปน้ำตกไหม” เอจเอ่ยถามหลังจากทัวร์วิลล่าครบทั้ง 4 หลัง

เราพยักหน้าและตามไปยังจุดเก็บเรือคายัคสีส้มด้วยความตื่นเต้น ก่อนจะหยิบเสื้อชูชีพที่แขวนอยู่มาสวมเพื่อความปลอดภัย มือหนึ่งถือไม้พาย อีกมือหนึ่งจับเชือกลากเรือคายัคลงน้ำ 

ฤดูฝนนี้ เขาเทวดามีน้ำตก 3 สายไหลลงมาเติมอ่างน้ำบ้านสวนตูลจนเต็ม ทำให้เราพายเรือไปถึงน้ำตกสายที่ใหญ่ที่สุดได้ เอจบอกว่าทุก ๆ ปีเขาจะเฝ้ารอเวลานี้ เมื่อถึงเดือนกันยายนน้ำในอ่างจะลดลงจนอ่าวด้านหน้าแห้งเห็นพื้นทราย พอปลายตุลาคม เป็นช่วงที่ฝนตกหนัก ทำให้น้ำเต็มอ่างจนล้นลงสู่ทางระบาย จากอ่างน้ำที่เคยแห้งขอด กลายเป็นน้ำเต็มตลิ่งในชั่วข้ามคืน แม้น้ำจะน้อยลง ไม่เต็มล้นทางระบายเหมือนเมื่อก่อน นั่นเป็นเพราะป่าด้านบนถูกบุกรุกทำลายไปมาก แต่เอจก็ดีใจที่ได้เห็นน้ำเต็มอ่าง

เราพายคายัคสลับซ้ายขวา สายน้ำไหลเอื่อย ๆ ผ่านไปตามแรงพาย

เราเงยหน้ามองบนท้องฟ้ากว้างใหญ่ พลางคิดในใจ ตัวเราช่างเล็กนิดเดียว ยิ่งมีภูเขาสีเขียวล้อมรอบตัว ทำให้เราไม่แปลกใจเลยที่เอจตั้งใจจะรักษาเขาเทวดาให้เป็นป่าต้นน้ำของคนสงขลา

จนถึงจุดหนึ่ง เราได้ยินเสียงน้ำตก เอจบอกว่า “ตรงนี้ออกแรงหน่อยนะ” เพราะต้องพายฝ่าไม้น้ำเข้าไป แต่ไม่ยากเกินความสามารถมือใหม่หัดพายอย่างเรา เมื่อจอดเรือ ถอดชูชีพ และลงเดิน เราเห็นน้ำตกสวนตูลอยู่ตรงหน้า นับได้ 3 – 4 ชั้นโดยประมาณ หน้าน้ำนี่น้ำเยอะอย่างที่เอจว่า เราอดใจไม่ไหวค่อย ๆ เดินไปแช่น้ำ ให้สายน้ำตกนวดคอ บ่า ไหล่ บอกเลยว่าสะใจสุด ๆ เล่นน้ำตกจนหนำใจ ระหว่างทางเดินกลับเอจชวนเก็บขยะที่เกาะตามรากไม้ เพราะที่นี่มีนักท่องเที่ยวแวะเวียนมาเล่นน้ำอยู่ตลอด ๆ 

สำหรับระยะทางพายคายัคไป-กลับประมาณ 1 กิโลเมตร อันที่จริงใช้เวลาครึ่งชั่วโมงก็เพียงพอ แต่เราใช้เวลาเป็นชั่วโมง เพราะท้องฟ้า ภูเขา สายน้ำที่ล้อมรอบตัว สวยงามจนทำให้ลืมเวลาไปเลย 

เล่นน้ำตกเสร็จแล้ว ขึ้นมาเล่นน้ำสระสมกับได้มาพักในพูลวิลล่า

กลับมาวิลล่า เราตักน้ำในโอ่งมาล้างทรายล้างโคลนก่อนขึ้นบ้าน เหมือนบ้านเรือนไทยโบราณสมัยก่อนที่ต้องมีโอ่งน้ำหน้าบ้าน พอเข้าวิลล่าแล้วเห็นสระน้ำใส ๆ ก็อดใจไม่ไหว ขอกระโดดลงไป ตู้ม!

“ไม่คิดเหมือนกันว่าลูกค้าจะชอบกระโดดน้ำ สระน้ำของเรากระโดดลงได้ เป็นสระน้ำเกลือ ไม่แสบตา เราสร้างขั้นในสระเพื่อให้เด็ก ๆ ลงไปนั่งเล่น ผู้ใหญ่เองก็ว่ายได้สัก 2 สโตรกพอเพลิน ๆ

“ส่วนวิลล่าหลังที่ 1 เราต่อเรือนสปาเพิ่มด้านข้างของสระ ประตูทำเป็นบานเฟี้ยมเปิดโล่ง เผื่อใครอยากแช่น้ำแล้วถ่ายภาพคู่กับวิวสวย ๆ” หลังเอจเล่าจบ เราเห็นพ้องว่ามุมนี้สวยอย่างที่เขาว่าจริง ๆ

ยิ่งในวันฝนพรำแบบนี้ เราเชื่อว่าทุกคนที่ได้แช่น้ำอุ่นแล้วทิ้งตัวลงบนเตียงนุ่ม มีเสียงฝนตกลงบนหลังคาใบจากดังเป็นจังหวะ ‘เปาะแปะ เปาะแปะ’ อย่างในคืนนี้จะทำให้หลับอย่างไม่รู้ตัวแน่นอน

ชิมข้าวยำทับ ปาลา ที่รวมของดีสงขลาไว้ในจานเดียว

เราแจ้งพนักงานให้นำอาหารเช้ามาเสิร์ฟที่ห้องตอน 9 โมงเช้า เป็นบริการจากรีสอร์ตซึ่งต้องการมอบความเป็นส่วนตัวให้แขกที่อยากอ้อยอิ่งอยู่ในวิลล่า โดยไม่ต้องรีบเร่งในยามที่วันใหม่เริ่มต้น

อาหารเช้าของที่นี่มีให้เลือก 4 เมนู ได้แก่ อาหารมังสวิรัติ เบรกฟาสต์ ข้าวต้มทับ ปาลา และอาหารพื้นเมืองอย่างข้าวยำทับ ปาลา ที่รวมของดีเมืองสงขลาไว้ ทั้งดอกดาหลา (ปลูกในรีสอร์ต) ใบชะพลู ปลาป่น ไข่ครอบ ปลากะพงทอดกรอบ กุ้งทะเลต้ม หอยเชลล์อบ และข้าวใหม่ไรซ์เบอร์รี ปลูกแบบออร์แกนิกจากนาระโนดในที่ราบลุ่มทะเลสาบสงขลา เมื่อรับประทานให้ราดน้ำบูดูแล้วคลุกเคล้าให้เข้ากัน

 “เราอยากให้ทุกคนชิมอาหารท้องถิ่น อย่างข้าวยำบ้านเราที่จัดจานสวยงามขึ้น ใส่วัตถุดิบของดีเมืองสงขลา ทำให้ทุกคนได้รู้จักสงขลาผ่านอาหาร ซึ่งฤดูฝนแบบนี้เราลดราคาค่าห้องและเปลี่ยนอาหารที่เสิร์ฟเป็นข้าวยำทับ ปาลา เพราะเมื่อเรือออกไม่ค่อยได้ อาหารที่เสิร์ฟจะเป็นอาหารบก จากซีฟู้ดก็เปลี่ยนเป็นไก่ ซึ่งเราจะแจ้งให้แขกทราบล่วงหน้าก่อน เพราะอยากให้แขกรู้ข้อมูลเกี่ยวกับเรามากที่สุด”

เราชิมข้าวยำทับ ปาลา พลางรื่นรมย์กับวิวธรรมชาติตรงหน้า ทั้งอิ่มท้องและอิ่มใจ เมื่อถึงเวลาต้องเก็บกระเป๋า เราเดินมาบอกลาเจ้าจอห์นนี่แมวส้มตัวอ้วน เจอแขกห้องอื่น ๆ ที่เริ่มทยอยกันออกจากวิลล่า ฝนแรกของวันลงเม็ดทักทาย คู่รักคู่หนึ่งเดินควงแขนพลางชี้ชวนกันมองต้นไม้ สายน้ำ และภูเขาที่โอบล้อม

เห็นภาพนี้แล้วปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ‘ทับ ปาลา’ ทำให้หน้าฝนที่สงขลาโรแมนติกเป็นที่สุด

3 Things You Should Do

at ทับ ปาลา รีสอร์ต

01

พายคายัคไปเล่นน้ำตกโตนลาด น้ำตกสายใหญ่ที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำสวนตูล

02

เล่นสระน้ำเกลือส่วนตัว ชมวิวป่าเขา เล่นได้ทุกเวลา แช่ได้นานเท่าที่ใจต้องการ

03

กินข้าวยำทับ ปาลา ยามเช้า รู้จักวัตถุดิบถิ่นใต้ ของดีเมืองสงขลาที่รวมไว้ในจานเดียว

ทับ ปาลา รีสอร์ต

Writer

เสริมสิน ชินวุฒิวงศ์

เสริมสิน ชินวุฒิวงศ์

แม่ค้าร้าน intro.word.s ชอบหยิบเรื่องราวสะกิดหัวใจมาเขียน ลองทำเป็น zine กุ๊ก ๆ มาแล้ว 5 เล่มและยังทำนู่นนี่ที่ชอบอยู่เรื่อย ๆ

Photographer

กิจพิมุกข์ ถาวรสุข

กิจพิมุกข์ ถาวรสุข

ช่างภาพสงขลา ลูก 1 ผู้ที่มีความฝันสูงสุดคือการได้เป็นเพื่อนคนแรกของ น้องจินนิค (ลูกสาว)