เสียดายที่ที่ว่าการอำเภอปิดทำการในวันสุดสัปดาห์ จุดนัดพบของเราและ นัท-ณัฏฐ์ กิจจริต จึงไม่ได้เป็นที่หน้าอำเภออย่างที่ตั้งใจ*

หากนำผลงานโฆษณาปีนี้ของนัทมาเรียงต่อกัน คุณจะได้หนังรักขนาดยาวหนึ่งเรื่องพอดิบพอดี

แต่เดี๋ยวก่อน นั่นไม่ใช่เพราะพระเอกหนุ่มวัย 24 ปีคนนี้มีผลงานมาตลอดชีวิตการแสดง แต่จากผลงานหนังโฆษณาที่มีความยาวมากกว่า 10 นาที 2 เรื่อง และซีรีส์โฆษณาที่มีความยาวขนาด 4 ตอนอีก 1 เรื่อง ทำให้เราอดสงสัยไม่ได้ว่าหนุ่มสถาปัตย์คนนี้มีอะไรน่าสนใจ

สืบสาวราวเรื่องก็พบว่า นัทไม่ใช่นักแสดงหน้าใหม่ในวงการ เขาผ่านงานซิตคอม ละคร กับทางค่ายใหญ่มาก่อน บทสนทนาด้านล่างจึงเต็มไปด้วยการเรียนรู้และค้นหาความภูมิใจในตัวเอง ก่อนกลับมาในสู่เส้นทางนักแสดงอิสระ

จากนักแสดงหนุ่มน้อยหน้าใส กลายเป็นพระเอกหนังโฆษณาที่มีฝีมือน่าจับตามอง ได้ทำงานร่วมกับผู้กำกับอย่าง โต้ง-บรรจง ปิสัญธนะกูล ในหนังโฆษณา Heartbeat…จังหวะจะรัก ของ Central 70 Years, มอร์-วสุพล เกรียงประภากิจ ในหนังโฆษณา RiAeDo ของ Eversense Thailand และ อั๋น-วุฒิศักดิ์ อนรรฆพร ในซีรีส์โฆษณาชุด CAN The Series ของ KTC

นัท - ณัฏฐ์ กิจจริต
นัท - ณัฏฐ์ กิจจริต

บอกไม่ถูกเหมือนกันว่าทำไมเราต้องแนะนำเขาให้คุณรู้จัก สิ่งเดียวที่พอจะบอกได้คือ อย่าเผลอไปสบตาเขาเข้าละกัน

*หมายเหตุ: สำหรับเด็กและเยาวชนที่เกิดหลัง พ.ศ. 2535 ‘นัดพบหน้าอำเภอ’ เป็นเพลงของราชินีลูกทุ่ง พุ่มพวง ดวงจันทร์ ที่มีเนื้อหาบรรยายถึงการตกหลุมรักตั้งแต่ครั้งแรกที่เห็นหน้า จึงเอ่ยปากชวนพ่อหนุ่มไปจดทะเบียนสมรสกันที่อำเภอ

นัท - ณัฏฐ์ กิจจริต

ช่วงหลังมานี้เห็นคุณในหนังโฆษณาเยอะเลย

จริงๆ ผมเข้าวงการมาสักพักแล้ว ช่วงที่หายไป 1 ปี ไปเรียนการแสดงเพิ่มเติม การได้เจอครูและกลุ่มเพื่อนเรียนการแสดงเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนที่สำคัญ ทุกคนเหมือนคนบ้ามาก เต็มไปด้วยพลัง จริงจัง ทำการบ้าน ตีความบทบาทที่ได้รับแล้วโทรมาซ้อมบทเวลาตี 1 ตี 2 ก็ทำให้ผมค่อยๆ ชอบและเริ่มภูมิใจในสิ่งที่ทำเรื่อยๆ ชอบที่ได้อยู่ในแวดล้อมของคนที่ชอบและทำอะไรบางอย่างจริงจัง

เมื่อก่อนผมไม่ค่อยชอบตัวเองในพาร์ตการแสดงเท่าไหร่

แล้วไปพบเจออะไรถึงทำให้กลับมาทำสิ่งนี้อีกครั้ง

หลังจากเรียนการแสดง ผมเลิกคิดถึงปัจจัยอื่นๆ ผมมองการแสดงเป็นแค่งาน เมื่อเสร็จจากงานเราก็เป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง ยอมรับว่าก่อนหน้านี้คิดเยอะ คิดว่าชีวิตประจำวันจะเปลี่ยนไหม มันมีความคาดหวังแปลกๆ เต็มไปหมด ซึ่งสุดท้ายก็ส่งผลกับตัวเราเอง จริงๆ อาจจะเป็นเรื่องดีก็ได้ ที่มีโอกาสทำงานมาแล้วบ้างแม้ไม่ได้เป็นที่รู้จักมากนัก

ได้อะไรจากการเรียนการแสดงบ้าง

ครูจะพูดอยู่เสมอว่าถ้าซื่อสัตย์ต่ออาชีพ อาชีพจะให้เราเอง ทำให้เราเลิกคิดถึงสิ่งที่อยู่ไกลออกไป ได้บทมาก็ตีความและทำให้เต็มที่ นอกนั้นก็เป็นเรื่องเทคนิคการแสดง ได้วิธีการเข้าหาซีนต่อซีน วิธีการเข้าหาเรื่อง กับงานของ 70 ปี ห้างเซ็นทรัล ผมก็ใช้วิธีนี้

ในผลงานล่าสุด CAN The Series ด้วยเรื่องที่ดูเป็นเนื้อหาเข้าใจยาก แต่ด้วยองค์ประกอบทั้งหมดดี ทำให้งานนี้สนุกและน่าสนใจมากสำหรับเรา พี่อั๋น (ผู้กำกับ) ช่วยตีความ จริงๆ แล้วบทบาทที่ได้รับเป็นชีวิตจริงของ พี่แดง-ชาญกิจ ชำนิวิกัยพงศ์ ผู้กำกับภาพในกองถ่าย ซึ่งพี่แดงเป็นคนที่มีแพสชันเรื่องปลาวาฬมาก เมื่อว่างจากการถ่าย ผมก็จะคอยถามพี่แดงเรื่องความรู้เกี่ยวกับปลาวาฬ ‘ปลาวาฬกินอะไรพี่’ ‘อ๋อ ปลาวาฬกินปลากะตัก’ หรือการออกเรือทะเลเป็นวันๆ เพื่อถ่ายภาพแค่ 4 วินาที เป็น 4 วินาทีที่จดจำไปตลอด เรื่องเล็กๆ เหล่านี้ก็ทำให้เราเข้าใจตัวละครมากขึ้น

ก็เลยทำให้งานราบรื่น

คิดว่าเป็นเพราะโชคดีที่เจอทีมงานที่มีพลังในการทำงานสูงมาก ผมเคยมีปัญหาเรื่องการร้องไห้ในซีน ก่อนหน้านี้ปัญหาจะถูกแก้โดยทีมงานเลือกเปลี่ยนซีนนี้ออก แต่การทำงานในช่วงหลังมานี้ต่างไปจากเดิม ใน CAN The Series พี่อั๋นบิลด์อารมณ์ในซีนร้องไห้อยู่นานมาก จะมาแล้วๆ แต่ไม่ได้เสียทีจนจะถอดใจ ผมหันกลับไปเห็นทีมงานทุกคนที่ตั้งใจรอ รอด้วยพลังงานที่บอกว่ารอได้ พอไม่มีบรรยากาศกดดัน อยู่ๆ ผมก็ร้องไห้ออกมา เป็นการร้องไห้ครั้งแรกในชีวิตการแสดง

สมมติถ่ายๆ อยู่ ผู้กำกับสั่ง ‘พี่ว่า…’ คือเขามักทำให้มากกว่าหรือไปให้มากกว่าที่เตรียมตัวไว้ เพื่อให้ซีนมันพิเศษขึ้น อย่างการรับส่งสั้นๆ ระหว่างตัวละคร ผู้กำกับเขาจะมีเซนส์ให้เรื่องออกมาดี มีรายละเอียดเล็กๆ ที่ไม่ได้อยู่ในบทและไม่ได้ต่างจากบท ทำให้งานออกมาสมบูรณ์

พอได้ทำงานร่วมกับคนเจ๋งๆ ที่มีพลังในการทำงานสูงๆ ยิ่งทำให้เราอยากทำงานในส่วนของเราให้ดี

นัท - ณัฏฐ์ กิจจริต
นัท - ณัฏฐ์ กิจจริต

บทบาทอื่นๆ ที่อยากแสดง

จริงๆ ผมอยากลองทำทุกอย่างที่ได้รับโอกาส แต่ก็ต้องดูปัจจัยหลายๆ อย่าง อยากลองบทที่สนุกๆ ได้ทดลอง ได้ทำอะไรหลุดๆ ไปเลย แบบนักแสดงฮอลลีวู้ดที่ต้องเพิ่มหรือลดน้ำหนักเร็วๆ หรือไปเป็นคนไร้บ้านเพื่อให้เข้าถึงบทบาทที่ได้รับ จริงๆ ผมไม่ได้เป็นคนเก่งขนาดนั้น แต่ก็อยากลองบทบาทที่มีเวลาให้ผมได้ทำงานกับตัวละครเยอะๆ ให้เวลาเตรียมตัวเพื่อทำให้ตัวละครมีมิติ

ชอบคำว่าทำงานกับตัวละคร

เป็นการใช้วิธีแทนค่าเพื่อให้ได้ความรู้ที่ต้องการ สมมติในบทคือกล้องพัง แต่เราไม่อินเรื่องกล้อง ดังนั้นเราจะแทนค่ากล้องด้วยสิ่งใด จะมีแบบฝึกหัดการแสดงอยู่ (หัวเราะ) สมมติในเรื่องมีฉากที่เราไปช่วยปลาวาฬไม่ทัน ปลาวาฬเกยตื้นตายหลายตัว ฉากนั้นผมคิดถึงหมาที่บ้าน ว่าถ้าหมาตายด้วยความผิดของเราที่ปล่อยให้มันวิ่งเล่นจนรถชน ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจะค่อยๆ ต่อยอดไปจนถึงจุดอารมณ์ที่ต้องการ จากนั้นจะเป็นหน้าที่ของบทพูด

สนุกจัง ขอตัวอย่างแบบฝึกหัดเพิ่มอีกได้มั้ย

นึกก่อนนะ ส่วนใหญ่จะเป็นวิธีการรับมือที่แตกต่างกันไป จริงๆ บทบาทที่ผมได้รับก็ไม่ได้มากมายขนาดนั้น พยายามทำตามที่ครูสอน ทำความเข้าใจเรื่องพื้นหลังตัวละคร เข้าใจความต้องการของซีนนั้น เราต้องรู้ว่าตัวละครเข้าไปในซีนนี้เพื่ออะไร ถ้าไม่ได้ความต้องการนั้นจะมีวิธีการใดบ้างที่เกิดขึ้น แต่ถ้าไม่ได้เป็นซีนที่มีความหมายอะไรมากมายผู้กำกับก็จะไม่กำหนดวิธีการ

วิธีการในที่นี้หมายถึง ผมเข้าไปในซีนนี้เพื่อบอกกับแม่ว่าผมจะออกไปข้างนอก ความต้องการของตัวละครแม่อาจจะต้องการให้เราไปหรือไม่ไป ถ้าความต้องการคือให้เราไปเราก็ไป แต่ถ้าความต้องการคือไม่ให้เราไป จะเกิด conflict ขึ้นในฉากนี้ วิธีการที่เราจะไปคืออะไรบ้าง เราอาจจะโมโหใส่ ซึ่งวิธีการเหล่านี้จะเป็นไปตามพื้นหลังนิสัยตัวละคร โดยมีผลมาจากการกระทำของตัวละครรอบข้าง เชื่อมโยงกันและกันทั้งหมด ซึ่งพอทำงานศึกษาความเชื่อมโยงเหล่านี้เรียบร้อย เราก็ต้องลืมเพื่อเข้าหาในฉากใหม่

กับบทพูดยาวๆ ที่ไหลลื่นนี่เป็นเพราะตัวตนนัทเป็นคนแบบนั้นอยู่แล้ว หรือเป็นวิธีการในการแสดง

ส่วนใหญ่ผมใช้วิธีแขวนเกี่ยวกับตัวละครที่เข้าฉากด้วยกัน ฟังให้มากๆ ว่าเขาจะส่งคำพูดอะไรออกมา อาจจะฟังดูตลกแต่เป็นเรื่องจริง มีคนเคยบอกว่าบทมีไว้จำเพื่อลืม ท่องให้ขึ้นใจไปเลย พอเข้าฉากแล้วให้ใช้วิธีการฟัง ถ้าเขาไม่พูดบทนี้ หรือไม่รู้สึกว่าต้องพูดคำนั้น ก็ไม่ต้องพูดออกมา ที่เจอบ่อยเลยคือ จะมีเหตุการณ์ที่ในประโยคคำพูดเดียวกัน แต่แค่เว้นวรรคหรือโทนเสียงต่างกันก็ทำให้ความหมายแตกต่างกัน

ผมก็ไม่ได้ใหม่แล้วนะ แค่ว่ามีความเข้าใจมากขึ้นตามลำดับ ตัวจริงผมโคตรธรรมดาเลยนะ เป็นคนทั่วไปสุดๆ เพื่อนที่มหาวิทยาลัยไม่มีใครสนใจกับความเป็นดาราเลย ล้อเลียนด้วยซ้ำไป ซึ่งผมชอบมากนะ มันเป็นรายละเอียดเล็กๆ ในชีวิตที่ผมอยากเก็บไว้ไม่อยากให้งานในวงการมาเปลี่ยน ก่อนหน้านี้ผมกลัวว่างานและชีวิตมันจะมารวมกันหมด

ฟังดูคุณสนุกกับงานแสดงไม่น้อยนะ มองอนาคตในวงการแสดงยังไงบ้าง

ผมมองงานแสดงเป็นงานอดิเรก แต่ไม่ได้ทำเหมือนเป็นงานอดิเรก ผมจริงจังกับทุกอย่าง

นัท - ณัฏฐ์ กิจจริต
นัท - ณัฏฐ์ กิจจริต
นัท - ณัฏฐ์ กิจจริต

แสดงว่าจะเห็นคุณในบทบาทสถาปนิก

เหตุผลที่เลือกเรียนสถาปัตย์เป็นเรื่องตรงกลางระหว่างการขีดเขียนวาดรูปที่เราชอบ และเป็นวิชาชีพที่เราสนใจ แต่ความชอบและความภูมิใจที่เกิดเกิดขึ้นระหว่างทาง เหมือนกับเรื่องการแสดง เมื่อเริ่มถึงจุดที่บอกตัวเองว่า เออ เราก็ทำได้ หรือมีโอกาสร่วมงานกับคนที่เจ๋งๆ เริ่มมีคนพูดถึง เริ่มจำงานของเราได้ ผมก็รู้สึกคิดไม่ผิดที่เลือก

คุณมีลายเซ็นที่มักจะใส่ลงไปในงานออกแบบบ้างมั้ย

ผมชอบเรื่องเส้น สาย ลาย ในพื้นที่ ชอบอะไรที่เป็นรูปทรงสมมาตร ชอบองค์ประกอบที่นิ่งแต่มีความซับซ้อนในนั้น เรื่องลายเซ็นและสไตล์งานตอนนี้ก็ยังพูดไม่ได้ (เขิน) ผมแค่รู้สึกว่าชอบหาอะไรในงานสถาปัตย์ ชอบเรื่องสัดส่วนที่ดี

ขอเดาว่าหนึ่งในสถาปนิกไอดอลของคุณคือ Tadao Ando

ใช่ๆ ชอบมากๆ งานเขาจะเป็นคอนกรีตหนักๆ อีกคนที่มากๆ คือ Richard Meier (ริชาร์ด ไมเออร์) งานของริชาร์ด ไมเออร์ ทุกงานจะเป็นสีขาว หรือคลาสสิกสุดๆ ก็จะเป็น Peter Zumthor (เพเทอร์ ซุมทอร์) อันนี้ทึ่งมาก เขาสร้างโครงไม้ขึ้นมาแล้วเทคอนกรีตเกิดเป็นโครงสร้างอาคาร จากนั้นเผาไม้ทั้งหมดจนเกิดเป็นพื้นผิวสัมผัส เขาเป็นคนที่เล่นกับความรู้สึกของคนได้โหดมากผ่านรายละเอียดเฉพาะตัว

ได้ยินว่าเรียนปีสุดท้ายแล้ว ขอฟังคอนเซปต์ thesis สักหน่อยสิ

thesis ที่ทำตอนนี้เป็นเรื่องตรงกลางระหว่างงานสถาปัตย์กับงานแสดง ออกแบบสถานที่สำหรับหนังไทย ซึ่งผมเรียกเองว่าเป็น Cinematic Architecture คือทำอย่างไรให้สถาปัตยกรรมจะชูความเป็นหนังไทยออกมา โดยทั่วไปหนังไทยดีๆ จะถูกให้ค่ารองจากหนังต่างประเทศ หรือไม่ก็ถูกซ่อนตัวหรือจำกัดรอบฉาย จะดีกว่าไหมถ้ามีพื้นที่ที่ฉายหนังไทยทั้งเก่าและใหม่ เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้ แสดงเบื้องหลังการทำงานในทุกตำแหน่งสาขาที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ที่เชื่อมต่อกับโรงฉาย และเป็นที่ให้นายทุนได้เจอหนังไทยดีๆ ที่น่าสนับสนุน

คำถามสุดท้ายแล้ว คุณอยากให้คนจดจำคุณแบบไหน

ไม่เคยคิดเรื่องนี้เลยนะ

ผมอยากให้คนจดจำเราแบบนี้แหละ ว่า ‘ตอนแรกโคตรติ๋มเลยว่ะ แต่ว่ามันก็โตขึ้นนี่หว่า’

นัท - ณัฏฐ์ กิจจริต
ขอบคุณสถานที่
ร้าน Maggio Living สุขุมวิท 101/2
www.maggioliving.com

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล