ฉากการ์ตูนสีลูกกวาดในเมืองที่เต็มไปด้วยสีสันสดใส เด็กผู้หญิงวัย 5 ขวบ 3 คนในชุดซูเปอร์ฮีโร่โทนสีฟ้า แดง และเขียว พร้อมกับเสียงพากย์ประโยคเกริ่นนำสุดคุ้นหูที่ใครหลายคนก็ท่องตามได้ว่า
“น้ำตาล เครื่องเทศ สารพัดของกุ๊กกิ๊ก ทั้งหมดคือเครื่องปรุงที่เลือกสรรเพื่อสร้างสาวน้อยสมบูรณ์แบบ แต่ศาสตราจารย์ยูโทเนียม เติมสารพิเศษอีกอย่างลงไปในส่วนผสมโดยไม่ตั้งใจ ‘สารเคมี X’… จึงเกิดเป็น Powerpuff Girls ด้วยพลังเหนือมนุษย์ที่มีอยู่ในตัว บลอสซัม! บับเบิลส์! บัตเตอร์คัพ! จึงอุทิศชีวิตให้การต่อสู้อาชญากรรม และพลังอำนาจแห่งความชั่วร้าย!”
นี่คือมนตร์เสน่ห์ที่เป็นอมตะของ ‘The Powerpuff Girls’ การ์ตูนซีรีส์ในวัยเยาว์ของเด็ก ๆ ที่โตมากับช่อง Cartoon Network และกล่องรับสัญญาณภาพยูบีซี ในช่วงปี 2000
ตามที่ได้บรรยายไว้ในประโยคเปิดทุกตอนของรายการ Powerpuff Girls คือซูเปอร์ฮีโร่ที่ถือกำเนิดขึ้นจากการทดลองที่ผิดพลาดของศาสตราจารย์ยูโทเนียม (Professor Utonium) ชายตัวสูงโปร่ง สวมเสื้อโค้ทห้องแล็บสีขาวแทบตลอดเวลา ต้นแบบของคุณพ่อสุดคลาสสิกที่คอยดูแลเอาใจใส่เด็กหญิงหัวโต ตากลม ไม่มีจมูกและนิ้วมือทั้งสามคน ซึ่งแต่ละคนนั้นก็มีลักษณะทางกายภาพ สีดวงตา อุปนิสัย และพลังที่โดดเด่นแตกต่างกันไป
บลอสซัม (Blossom) เด็กหญิงผมยาวสีส้ม ใส่ชุดสีชมพู ผูกโบว์สีแดง เธอมีบุคลิกเป็นผู้นำ จึงเปรียบเหมือนพี่สาวคนโตของบ้าน
บับเบิลส์ (Bubbles) มีผมสีทองมัดแกละสองข้าง ใส่ชุดสีฟ้า มีนิสัยร่าเริงและเป็นเสียงหัวเราะของบ้าน
และนักสู้ที่แข็งแกร่งที่สุด บัตเตอร์คัพ (Buttercup) เด็กหญิงผมบ๊อบสีดำ ใส่ชุดสีเขียว มีนิสัยห้าวหาญและขี้โมโห ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบแล้ว ฮีโร่ทั้งสามสะท้อนให้เห็นถึงองค์ประกอบของคนหนึ่งคนที่ประกอบด้วยศักยภาพทางความคิด จิตใจ และร่างกาย

นอกจากความน่ารักของตัวละครที่เป็นเอกลักษณ์แล้ว บ้านยูโทเนียมของศาสตราจารย์และเหล่าพาวเวอร์พัฟฟ์เกิลส์นั้น ก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของตัวละคร ช่วงอายุ อาชีพ อุปนิสัย บุคลิก และสีประจำตัว ถ่ายทอดผ่านฉากและองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม การตกแต่งภายในแต่ละห้อง ความแตกต่างระหว่างพื้นที่ของศาสตราจารย์กับสามสาว
นอกจากนี้ เมื่อรายการดำเนินไป ฉากของบ้านก็ถูกปรับเปลี่ยนไปเช่นกัน เราจะสังเกตได้ถึงแนวคิดที่เปลี่ยนไปของตัวบ้าน ระหว่างเวอร์ชันคลาสสิกในช่วงปี 1998 – 2004 และเวอร์ชันรีบูตในช่วงปี 2016 – 2018 ที่ถ่ายทอดผ่านการออกแบบและคอนเซ็ปต์อาร์ต

ผ่านมาแล้วเกือบ 3 ทศวรรษที่ เครก แมคแครกเคน (Craig McCracken) ซึ่งเป็นทั้งผู้สร้างตัวละคร ผู้อำนวยการผลิต และผู้กำกับ The Powerpuff Girls ที่ออกอากาศครั้งแรกในปี 1998 ด้วยเอกลักษณ์ของลายเส้น กราฟิก และเรื่องราวที่ถ่ายทอดบุคลิกตัวละคร ทัศนคติ ด้านดีและด้านไม่ดีที่แตกต่างไปจากการ์ตูนเรื่องอื่น ๆ ในสมัยนั้น ดำเนินเรื่องโดยมีผู้ดำเนินรายการคอยสอดแทรกและตัดบทต่าง ๆ ทำให้ผู้ชมเหมือนกำลังอ่านหนังสือการ์ตูนหรือฟังนิทานก่อนนอนอย่างไรอย่างนั้น
โครงเรื่องโดยรวมบอกเล่าปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวันของเด็ก ๆ การทะเลาะกันของพี่น้องและเพื่อนฝูง รวมถึงการผจญภัยและต่อกรกับเหล่าวายร้าย อย่างแก๊งอะมีบา เชื้อโรคที่โง่เขลา ลิงชิมแปนซีอัจฉริยะ Mojo Jojo ซาตานก้ามปูตัวสีแดงที่ใส่รองเท้าส้นสูง วัยรุ่นอันธพาลแก๊งขี้ไคล และอีกหลากหลาย โดยแมคแครกเคน ผู้ออกแบบตัวละครเผยว่า เขาออกแบบวายร้ายเหล่านี้โดยเรียงลำดับจากความซื่อบื้อที่ค่อย ๆ ไต่ขึ้นไปตามความชั่วร้ายที่เพิ่มขึ้น

01
บ้านยูโทเนียม
เหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นในเมืองทาวน์วิลล์ (Townsville) อันแสนสงบสุข เต็มไปด้วยต้นไม้ อากาศบริสุทธิ์ แต่มักจะถูกโจมตีโดยสัตว์ประหลาดยักษ์และอาชญากรรม เป็นเมืองสมมติที่มีกลิ่นอายและเค้าโครงจากนิวยอร์กในสหรัฐอเมริกา
ภาพรวมเมืองนี้แบ่งออกเป็น 2 โซนหลัก ๆ
โซนแรกคือย่านดาวทาวน์ ตัวเมืองที่เต็มไปด้วยตึกสูงระฟ้า มีประชากรหนาแน่นและสวนสาธารณะขนาดใหญ่ใจกลางเมือง
ต่อมาคือโซนย่านชานเมือง Pokey Oaks ประกอบด้วยบ้านเดี่ยวพร้อมที่ดิน และเป็นที่ตั้งของบ้านยูโทเนียมของสาว ๆ พาวเวอร์พัฟฟ์เกิลส์และศาสตราจารย์
บ้านเลขที่ 107 คือที่ตั้งของบ้านยูโทเนียม หัวใจของการ์ตูนเรื่องนี้ บ้านเดี่ยวสองชั้นจากการประกอบเข้าด้วยกันของกล่องสี่เหลี่ยมสีขาว 3 กล่อง ด้านหน้าบ้านมีประตูทางเข้าสีแดงและหน้าต่างวงกลม 3 บานบนชั้นสอง บ้านหลังนี้สร้างตามรูปแบบสถาปัตยกรรม ‘ยุคโมเดิร์น’ เน้นการออกแบบด้วยรูปทรงเรขาคณิตที่ตรงไปตรงมาตามประโยชน์ใช้สอยของพื้นที่ภายในอาคาร โดยมักจะลดทอนเครื่องประดับและการตกแต่งที่ไม่จำเป็น และไม่ได้เชื่อมโยงกับพื้นที่ภายใน

เมื่อสังเกตจากบริบทละแวกบ้าน เราจะพบเพียงบ้านยูโทเนียมที่สร้างด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมในลักษณะนี้ ขณะที่หลังอื่น ๆ นั้นยังคงไว้ซึ่งสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิม ที่เป็นหลังคาจั่วสไตล์อเมริกันคันทรี่
ในนัยหนึ่ง การใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมแตกต่างจากบริบทรอบ ๆ ก็เหมือนบอกกลาย ๆ ถึงความแตกต่าง เป็นการสร้างทั้งความโดดเด่นและขัดแย้งในเวลาเดียวกัน
จุดนี้อาจสะท้อนให้เห็นถึงไลฟ์สไตล์และรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้อยู่อาศัย อย่างบริบทของศาสตราจารย์ยูโทเนียมที่เป็นทั้งนักวิทยาศาสตร์และนักประดิษฐ์ ก็ใช้หลักวิทยาศาสตร์แบบ Objective Driven ออกแบบบ้านด้วยรูปทรงตามสัดส่วนทางกายภาพของมนุษย์ วางผังแปลนบ้าน วางประตู หน้าต่างที่คำนึงถึงทิศทางแสงและลม กำหนดพื้นที่ส่วนตัว พื้นที่ส่วนรวม และพื้นที่ก้ำกึ่ง สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นกระบวนทัศน์ทางความคิด และตรรกะในการใช้ชีวิตของผู้อยู่อาศัย
ตัวบ้านประกอบด้วย 2 ห้องน้ำ 2 ห้องนอน 1 ห้องครัว ห้องนั่งเล่น ห้องแล็บ ห้องฝึกซ้อม และห้องออกกำลังกาย ในเวอร์ชันต้นฉบับจากปี 1998 ไปจนถึงปี 2004 จะพบว่าการตกแต่งภายในในตัวบ้านแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ
หนึ่ง คือการตกแต่งสไตล์โมเดิร์น สีคุมโทน เป็นห้องเรียบ ๆ ที่มีเพียงเฟอร์นิเจอร์เพียงไม่กี่ชิ้นที่บ่งบอกถึงตัวศาสตราจารย์ ไม่ว่าจะเป็นห้องครัวที่ครบเครื่องไปด้วยอุปกรณ์อัตโนมัติ ทันสมัย และเครื่องใช้สเตนเลส ห้องน้ำสีขาวที่สะท้อนให้เห็นถึงความสะอาดและสุขอนามัย ซึ่งเป็นหนึ่งในแก่นหรือความหมกมุ่นของการขับเคลื่อนสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์น ห้องนั่งเล่นที่มีความยืดหยุ่นในการปรับประโยชน์ใช้สอยตามโอกาส เป็นต้น


สอง คือการตกแต่งด้วยสีชมพูและของใช้ตามสีสันประจำตัวของเหล่าพาวเวอร์พัฟฟ์เกิลส์ ซึ่งทำหน้าที่กำหนดขอบเขตพื้นที่ของเด็ก ๆ ไปในตัว เราจะพบเพียงห้องนอนของสาว ๆ ทั้งสามที่ตกแต่งในโทนสีชมพู ตั้งแต่พรมปูพื้น ผนังห้อง ประตู ขอบกระจก เฟอร์นิเจอร์ รวมไปถึงตุ๊กตา ข้าวของเครื่องใช้ต่าง ไปจนถึงเตียงและผ้าห่มนวมสีประจำตัวของแต่ละคน
เมื่อวิเคราะห์ดูแล้ว จะพบว่าการแบ่งพื้นที่และห้องส่วนใหญ่นำเสนอในมุมมองของศาสตราจารย์ ในสถานะผู้ใหญ่เจ้าของบ้าน และสามฮีโร่ในสถานะผู้ร่วมอยู่อาศัย
02
ต้นฉบับบ้านยูโทเนียม
หลายองค์ประกอบของการ์ตูนเรื่องนี้อ้างอิงมาจากทั้งสถานที่จริง หนังเก่า และอนิเมะญี่ปุ่นคลาสสิก
บ้านยูโทเนียมหลังนี้ก็เช่นกัน
แทบจะเรียกได้ว่าเป็นแบบจำลองหรือต่อเติมจากบ้านต้นฉบับ Villa Arpel ในภาพยนตร์เรื่อง Mon Oncle (หรือ My Uncle ในภาษาอังกฤษ จากปี 1958 ของผู้กำกับและนักแสดงตลกชาวฝรั่งเศส Jacques Tati) ภาพยนตร์ตลกเสียดสีสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์น ที่เข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนในครอบครัว Arpel
ฉากบ้านครอบครัวนี้ออกแบบโดยนักเขียนบท (ควบตำแหน่งโปรดักชันดีไซเนอร์คู่ใจ) ฌัก ลากร็องฌ์ (Jacques Lagrange) ได้แรงบันดาลใจและอิทธิพลอย่างมากจาก Villa La Roche สร้างขึ้นในช่วงปี 1923 – 1925 ของ เลอกอร์บูซีเย (Le Corbusier) สถาปนิกยุคโมเดิร์นในตำนานที่เหล่าสถาปนิกไม่มีใครไม่รู้จัก
โดยเอกลักษณ์ที่ Lagrange นำมาใส่ในฉากของ Villa Arpel คือหน้าต่างวงกลมที่เป็นตัวดวงตาสองข้าง ใน Mon Oncle เราจะเห็นสองสามีภรรยาใช้สอดส่องเพื่อนบ้าน โดยพวกเขาใช้หน้าต่างคนละบานกัน ซึ่งฉากของบ้านยูโทเนียมใน The Powerpuff Girls ก็นำหน้าต่างทรงกลมมาใช้เช่นกัน และเพราะพวกเธอบินได้ บลอสซัม บับเบิลส์ และบัตเตอร์คัพ จึงใช้หน้าต่างคนละบานในการบินเข้าออกตัวบ้าน

หนึ่งในเอกลักษณ์เฉพาะตัวของ Tati คือการใช้ฉากสร้างความตลกที่ซ้อนเร้นควบคู่ไปกับตัวบทและเนื้อเรื่อง ใน Mon Oncle มีฉากหนึ่งที่แขกผู้มาเยือนและคุณ Arpel กำลังเดินไปตามทางเดินคดเคี้ยวก่อนเข้าถึงตัวบ้าน ทั้งสองคนถูกควบคุมโดยทางเท้าที่จัดวางไว้ จนใบหน้าของทั้งสองหันออกจากกันแม้ว่าจะกำลังสนทนากันอยู่ จุดนี้ก็เป็นมุกตลกสไตล์ Tati ที่กำลังจิกกัดสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์นอยู่นั่นเอง
ความคล้ายคลึงกันอีกอย่างระหว่างบ้านยูโทเนียมและวิลล่า Arpel คือการจัดวางเฟอร์นิเจอร์น้อยชิ้น การวางของตกแต่งเฉพาะจุดในแต่ละห้อง ราวกับเป็นบ้านตัวอย่างที่กำลังจัดแสดงเพื่อต้อนรับแขก แทนที่จะเป็นบ้านอยู่อาศัยตามลักษณะการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งอาจทำให้ห้องนั่งเล่นกลายเป็นโซนที่ห้ามทำรก ต้องคอยจัดเก็บหรือปัดฝุ่นอยู่ตลอดเวลา

การปรับเปลี่ยนการตกแต่งภายในมีผลต่อบรรยากาศในบ้านอย่างสิ้นเชิง เหมือนกันกับใน The Powerpuff Girls ในเวอร์ชันรีบูต ช่วงปี 2016 – 2018 ที่รายละเอียดของเมืองและบ้านยูโทเนียมถูกปรับโฉมในสถานะที่สามสาวคือเจ้าของบ้านร่วมกับศาสตราจารย์ เมื่อพรมสีชมพูและสิ่งของหลากสีเริ่มแพร่กระจายไปรอบบ้าน การตกแต่งภายในของยุคโมเดิร์นที่แข็ง ดิบ และไร้บุคลิก ถูกแทนที่ด้วยความน่ารักและตัวตนของเหล่าพาวเวอร์พัฟฟ์ เกิลส์ ซึ่งในทางกลับกันก็อาจถ่ายทอดความรู้สึกที่จริงใจต่อแขกผู้มาเยี่ยมเยียนก็เป็นได้
แน่นอนว่าการตกแต่งสถาปัตยกรรมภายในแสดงออกถึงบุคลิกของเจ้าของบ้านได้อย่างมาก บางครั้งเราอาจลองใช้เวลาสังเกตสภาพแวดล้อมในบ้าน แล้วลองถามตัวเองเล่น ๆ ว่า นี่คือสภาพแวดล้อมที่คุณสร้างขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเองหรือไหม หรือสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองผู้อื่น หรือบางครั้งก็แค่ตกแต่งตามภาพห้องตัวอย่างในแคตตาล็อก ที่กำลังบอกคุณว่าหน้าตาห้องนั่งเล่นต้องเป็นอย่างไร ต้องมีเฟอร์นิเจอร์ตามที่เขาว่ากันไหม ควรมีหรือไม่มีอุปกรณ์เสริมแต่งอื่นใดอีกหรือเปล่า
จะเป็นไปได้ไหม หากห้องนั่งเล่นของคุณจะกลายเป็นห้องที่เต็มไปด้วยลูกบอลเหมือนบ้านบอล พื้นห้องนั่งเล่นปูด้วยวัสดุที่เด้งดึ๋ง ทำพื้นทั้งหมดให้กลายเป็นโซฟาไปเลย หรือจะเป็นไปได้ไหมที่ฝักบัวในห้องน้ำติดตั้งสูงขึ้นสัก 2 – 3 เมตร ให้เหมือนว่าคุณกำลังอาบน้ำจากน้ำตกธรรมชาติ
ข้อมูลอ้างอิงและภาพประกอบ
McCracken, Craig. The Powerpuff Girls. Hanna-Barbera Cartoons (1998–2002) and Cartoon Network Studios (2001–2005)
The Powerpuff Girls Classic, Lou Romano Art Work
The Powerpuff Girls Reboot, Eusong Art work