ขุนพันธ์ 3 

ประเภท : แอคชัน, ระทึกขวัญ, แฟนตาซี

ประเทศ : ไทย

กำกับและเขียนบท : ก้องเกียรติ โขมศิริ

นักแสดงนำ : อนันดา เอเวอริงแฮม, มาริโอ้ เมาเร่อ, ภาคิน คำวิลัยศักดิ์, ษริกา สารทศิลป์ศุภา, ภูมิภัทร ถาวรศิริ, ชิดจันทร์ ห่ง, ฟิลลิปส์ ทินโรจน์, ชลัฏ ณ สงขลา

ความยาว : 2 ชั่วโมง 36 นาที 

*** บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของเรื่อง ขอย้ำ สำคัญจริง ๆ นะ ***

“ฝันใหญ่คนเดียวเรียกเพ้อเจ้อ แต่ถ้าฝันใหญ่พร้อมกันร้อยคน เรื่องเพ้อเจ้อก็เป็นไปได้” 

โขม-ก้องเกียรติ โขมศิริ ผู้กุมบังเหียนมหากาพย์ ขุนพันธ์ ตั้งแต่ภาคแรกจนถึงภาคสุดท้ายไม่ได้โม้ เพราะเราใช้เวลาเกือบ 3 ชั่วโมงพิสูจน์มาแล้วว่า นี่คือหนังไทยฟอร์มยักษ์ที่ระเบิดความมัน ปลุกความฝัน และเปิดพื้นที่ให้คนดูบริหารความคิดได้จนจบเรื่อง แถมจบเรื่องแล้วยังเอามาคิดต่อจนเกิดเป็นบทความชิ้นนี้ขึ้นมาอีก

ขุนพันธ์ ภาคแรกออกฉายเมื่อ พ.ศ. 2559 ด้วยฝีมือกำกับของ ก้องเกียรติ โขมศิริ และฝีมือแสดงนำของ อนันดา เอเวอริงแฮม ซึ่งทั้ง 2 คนครองตำแหน่งของตัวเองมาอย่างยาวนานจนถึงภาค 2 ที่ออกฉายใน พ.ศ. 2561 และภาคสุดท้ายใน พ.ศ. 2566 แต่รวมแล้วพวกเขาใช้เวลากว่า 10 ปี ในการมองดูภาพยนตร์เรื่องนี้เติบโตอย่างภาคภูมิ

ขุนพันธ์ 3 ปิดไตรภาคโลกสีเทาของอาคม เวรกรรม การเมือง และประวัติศาสตร์ที่ช้ำจนเป็นรอย
ขุนพันธ์ 3 ปิดไตรภาคโลกสีเทาของอาคม เวรกรรม การเมือง และประวัติศาสตร์ที่ช้ำจนเป็นรอย

ที่ผ่านมา ขุนพันธ์ถูกมองเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ผู้แข็งแกร่ง เอาชนะโจรจอมคาถาตั้งแต่เหนือจรดใต้ ทั้ง อัลฮาวียะลู (น้อย วงพรู-กฤษดา สุโกศล แคลปป์) ในภาคแรก เสือฝ้าย (ผู้พันเบิร์ด-พันเอกวันชนะ สวัสดี) และเสือใบ (เป้-อารักษ์ อมรศุภศิริ) ในภาค 2 แต่ด้วยบริบทยุคสงครามโลกทำให้ความเป็นมนุษย์ของขุนพันธ์ไม่ได้ถูกเล่าออกมามากนัก ความตั้งใจของนักแสดงและทีมงานครั้งนี้จึงเป็นการดึงความสัมพันธ์ด้านอื่นออกมา ทั้งในมุมสามี พ่อ เพื่อน และคนธรรมดาที่เจ็บได้ กลัวตายเป็น

สำหรับเส้นเรื่องที่ผ่านมา หนังภาคแรกเล่าเหตุการณ์บ้านเมืองช่วงก่อนสงครามโลก แต่ความแร้นแค้นไม่เคยหายไปจากแผ่นดิน ไฟสงครามปะทุรุนแรงข้ามเวลาจนถึงภาคต่อมาซึ่งเล่าเรื่องหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในยุคข้าวยากหมากแพง เกิดวิกฤตเศรษฐกิจและชุมโจรเสือร้ายทั่วสยาม ขุนพันธ์ออกโรงปราบปรามจนครั้งหนึ่งได้ผูกมิตรกับพวกเสือฝ้าย ก่อนโชคชะตาจะตัดความสัมพันธ์ให้ตำรวจและเสือต้องแยกทางเดินอีกครั้ง

กระทั่ง พ.ศ. 2493 จุดจบของเรื่องราวไตรภาคได้เริ่มขึ้น บ้านเมืองยังคงได้รับผลกระทบจากสงคราม ชุมโจรยังแผลงฤทธิ์ไม่หยุดหย่อน ข้าราชการเต็มไปด้วยความฉ้อฉล นักการเมืองน้ำดีถูกหมายหัว ขุนพันธ์ผู้อยากล้างมือจำใจกลับมารับบทมือปราบเพื่อกำราบ เสือมเหศวร (มาริโอ้ เมาเร่อ) และเสือดำ (โตโน่-ภาคิน คำวิลัยศักดิ์) แต่คราวนี้ภารกิจโหดหินกว่าเก่า เพราะจอมขมังเวทย์ไม่คงกระพันหนังเหนียวอีกต่อไป ทั้งคนใกล้ตัวยังหน้าซื่อใจคด ยากจะรู้ได้ว่าใครคือมิตรแท้ในหมู่ราชการ

ก่อนจะไปรู้จักโลกสีเทาของขุนพันธ์ให้มากขึ้น เราแถมคำเตือนให้สักนิดว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้มีเสียงปืนและเสียงระเบิดดังสนั่นแทบไม่พัก จนสมาร์ตวอตช์แจ้งเตือนว่า “คุณอยู่ในพื้นที่ที่เสียงดังเกิน 95 เดซิเบล มากกว่า 50 นาทีแล้ว” หากคุณอยากดู แต่หวั่นใจว่าจะปวดหัว เราแนะนำให้พกยาดมหรือยาแก้ปวดเผื่อเอาไว้ทานหลังเดินออกจากโรงภาพยนตร์

ขุนพันธ์ 3 ปิดไตรภาคโลกสีเทาของอาคม เวรกรรม การเมือง และประวัติศาสตร์ที่ช้ำจนเป็นรอย

หรือเรื่องนี้จะไม่มีฮีโร่

ขุนพันธ์ เป็นนายตำรวจชาวนครศรีธรรมราชที่มีตัวตนอยู่ในประวัติศาสตร์ นามจริงของเขาคือ บุตร พันธรักษ์ หรือ พลตำรวจตรี ขุนพันธรักษ์ราชเดช เป็นอดีตผู้บังคับการตำรวจภูธรเขต 8 เจ้าของฉายา ‘มือปราบจอมขมังเวทย์’ ‘ตำรวจหนังเหนียว’ และ ‘ขุนพันธ์ดาบแดง’ โดยขุนพันธ์เสียชีวิตเมื่อ พ.ศ. 2549 อายุรวม 108 ปี คาดว่าน่าจะเป็นผู้ดำรงตำแหน่ง ‘ขุน’ คนสุดท้ายของประเทศ

เรื่องราวของขุนพันธ์ฉบับอนันดาแต่งเติมมาจากเค้าโครงเรื่องจริงที่ได้รับการบันทึกและบอกเล่าต่อกันมา โดยเฉพาะวีรกรรมปราบ ‘เสือ’ หรือโจรผู้ร้ายในสมัยก่อน ทั้งเสือผ่อน เสือฝ้าย เสือสาย เสื้อเอิบ เสือปลั่ง เสือใบ เสือไหว เสือมเหศวร ไปจนถึง อะแวสะดอตาเละ โจรจอมคาถาแห่งเมืองนราธิวาส เรียกว่านายตำรวจคนนี้เดินทางทั่วสยามเพื่อปราบชุมโจรให้ราบคาบ และดำรงความยุติธรรมให้คงอยู่ในรูปแบบที่ยุคสมัยนั้นอนุญาต นั่นคือการ ‘จับตาย’ 

ขุนพันธ์ 3 ปิดไตรภาคโลกสีเทาของอาคม เวรกรรม การเมือง และประวัติศาสตร์ที่ช้ำจนเป็นรอย
ขุนพันธ์ 3 ปิดไตรภาคโลกสีเทาของอาคม เวรกรรม การเมือง และประวัติศาสตร์ที่ช้ำจนเป็นรอย

หนึ่งในฉากช่วงต้นเรื่องของ ขุนพันธ์ 3 สะกิดเรื่องความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยและความก้าวหน้าทางความคิดเอาไว้ผ่านการมาของสิ่งที่เรียกว่า ‘สิทธิมนุษยชน’ ซึ่งการสาดกระสุนใส่โจรไม่ใช่เรื่องที่คนในสังคมเห็นพ้องหรือยอมเงียบอีกต่อไป

หนังชวนจินตนาการย้อนไปถึงภาคแรกและภาค 2 ฝ่ายตำรวจเสียชีวิตในหน้าที่มากมาย ฝั่งผู้ไม่เคารพกฎหมายก็เช่นกัน นี่คือเวลาแห่งการทบทวนวีรกรรมในอดีตของทุกฝ่าย บ้างถูกสรรเสริญเป็นวีรบุรุษ ขณะที่ครอบครัวคนตายคงเห็นเป็นมัจจุราช

ตัวละครใหม่อย่างเสือดำถูกวางตำแหน่งให้อยู่ในจุดดำมืด จมดิ่งกับความทุกข์และความสูญเสียในอดีต บังเกิดเป็นความโหดเหี้ยมฆ่าไม่เลือกหน้า แต่ยังละเว้นเด็กและผู้หญิง ขณะที่เสือมเหศวรเป็นจอมโจรสายปลอมตัว ปล้นเงินปล้นยาแจกจ่ายคนจน มีอุดมการณ์แบบโรบินฮูด แต่ถามว่ายิงคนตายไหม เต็มไปหมด 

มีตัวละครหนึ่งในเรื่อง (ที่ผู้เขียนจำไม่ได้ว่าใคร) กล่าวว่า “ความจนไม่ใช่ข้ออ้างของการเป็นโจร” และนักสิทธิมนุษยชนคงบอกเช่นกันว่า การรักษากฎหมายก็ไม่ใช่ข้ออ้างในการฆ่าคน ไม่ต่างจากที่สังคมยังคงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับโทษประหารชีวิตว่าเป็นสิ่งสมควรหรือไม่ 

ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่มีคำตอบและไม่มีคำตัดสินให้กับวีรกรรมของทั้ง 2 ฝ่าย มีเพียงคำถามที่ตอกย้ำความโลกสีเทา ชื่นชมก็ไม่ได้ โห่ไล่ก็ไม่สุด แต่ชีวิตจริงเป็นเช่นนั้น คงไม่มีใครเป็นฮีโร่ทั้งนั้นในภาพยนตร์เรื่องนี้

สุดท้าย ตำรวจกับโจร อาจเป็นเพียงมนุษย์ธรรมดาผู้เกิดและเติบโตในสังคมแห่งความเหลื่อมล้ำ เป็นผู้รับเคราะห์ภายใต้ระบบอยุติธรรม และเป็นเบี้ยล่างของการปกครองอันบิดเบี้ยวที่หล่อหลอมพวกเขาให้เติบโตบนเส้นทางก้านกุหลาบเช่นนี้

ขุนพันธ์ 3 ปิดไตรภาคโลกสีเทาของอาคม เวรกรรม การเมือง และประวัติศาสตร์ที่ช้ำจนเป็นรอย

ความพยายามและผลลัพธ์ขั้นกว่าของหนังอาคม

จุดเด่นของจักรวาล ขุนพันธ์ คือการออกแบบตัวละครที่จัดจ้านและการคัดนักแสดงคุณภาพมาร่วมทัพ 

ภาคนี้ก็เช่นกัน ความยิ่งใหญ่ไม่ใช่แค่มนต์ คาถา ของอาถรรพ์ แต่คือการที่นักแสดงผสานเซลล์กับตัวละครจนทำให้คนดูเชื่อสนิทใจว่าพวกเขาคือ ‘ตัวจริง’ ลามไปจนถึง ‘อิน’ กับอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ที่ปรากฏในหนัง ตั้งแต่คาถากำบังกาย คงกระพันแคล้วคลาด สนทนากับคนตาย วิชาตาทิพย์ สลายกระสุน ปลดล็อกกุญแจ มนต์จระเข้ ไปจนถึงเรียกผีมาใช้งาน

หากเปลี่ยนภาพยนตร์เป็นเกม ผู้เขียนคือคนหนึ่งที่จะสนุกกับการเลือกตัวละครแน่นอน ยกตัวอย่าง ขุนพันธ์ มีวิชาคงกระพัน กระสุนเจาะเนื้อหนังไม่เข้า เสือดำ ท่องคาถาและสาดดินทรายเพื่อสลายกระสุนที่พุ่งเข้าใส่ เสือมเหศวร หากอมพระมเหศวรไว้แล้วท่องคาถาจเบี่ยงกระสุนได้ราวกับมีกำแพงแก้วมากำบัง เสือใบ คนนี้มีท่าเหวี่ยงปืนเท่ ๆ ที่ทำให้กระสุนเปลี่ยนวิถี เริงระบำเจาะหัวศัตรูได้ทีละหลายคนก่อนพุ่งตัวกลับเข้ากระบอกเองอย่างสวยงาม ส่วนจุดอ่อนก็มีเหมือนกัน แต่ขอให้ทุกท่านไปค้นพบเองในโรงดีกว่า

เมื่อหนังกล้าเล่นให้สุด เราก็อินอย่างไม่ค้างคา แต่ความสนุกยังไม่จบแต่เพียงเท่านี้ แสง สี เสียง จัดเต็มสมกับที่ใช้เวลาถึง 4 ปี มีการใช้ CG เข้ามาช่วยในหลายฉาก แต่สุดท้ายฉากที่เราเข้าถึงและรู้สึกอินที่สุดกลับกลายเป็นฉากที่นักแสดงปะทะกันสด ๆ มากกว่า อนันดาเล่าว่า ฉากที่เขาดวลกับเสือดำ ซัดกันเต็มเหนี่ยวถึงขั้นฟาดจนไม้คทาหักมาแล้ว

ขุนพันธ์ 3 ปิดไตรภาคโลกสีเทาของอาคม เวรกรรม การเมือง และประวัติศาสตร์ที่ช้ำจนเป็นรอย
ขุนพันธ์ 3 ปิดไตรภาคโลกสีเทาของอาคม เวรกรรม การเมือง และประวัติศาสตร์ที่ช้ำจนเป็นรอย

และเมื่อพูดถึงหัวข้ออาคมจะไม่พูดถึงฉากต่อไปนี้ก็คงไม่ได้ นั่นคือ ‘ฉากปลุกผี’ ผู้กำกับใส่รายละเอียดเอาไว้ในแต่ละฉากค่อนข้างเยอะ ทิ้งให้คนดูสงสัยและหงุดหงิดไปสักชั่วโมงว่าตัวละครนี้โผล่มาทำไม หากตัดทิ้งเรื่องก็ยังดำเนินต่อได้ แล้วบทสนทนานี้พูดทำไม กว่าจะร้องอ๋อก็เกือบจบเรื่องแล้ว

การปลุกผีในเรื่องชวนให้เราสงสัยว่า นั่นคือผี (อย่างที่เราคุ้นเคยคือไม่มีกายหยาบ) หรือซอมบี้ (สิ่งมีชีวิตที่ตายแล้วฟื้น) กันแน่ เพราะสิ่งนี้กำเนิดจากการปลุกศพที่นอนกองรวมกันขึ้นมา ฤทธิ์ของพวกมันคือการคืนชีพ ฆ่าด้วยกระสุนไม่ตาย ซ่อมแซมเซลล์ตัวเองได้เมื่อถูกทำร้าย เหมือนจะเป็นอมตะ แต่สุดท้ายวิธีการปราบมีอยู่ 2 อย่าง คือใช้ดาบแดงลงอาคมของขุนพันธ์ และใช้ผีปราบผี โดยเรียกวิญญาณเพื่อนโจรอย่าง อัลฮาวียะลูและเสือฝ้ายออกมา โดยใช้เศษผมคนตายที่เก็บไว้ในด้ามปืน

จุดนี้แสดงให้เห็นความพยายามในการดึงตัวละครในดวงใจใครหลายคนให้กลับมามีส่วนร่วมในบทอีกครั้ง แม้จะดูฝืนบ้าง แต่ยอมรับว่าคงตอบโจทย์คนที่คิดถึงและผูกพันกับภาคก่อน ๆ แน่นอน ส่วนคำตอบว่านี่คือผีหรือซอมบี้ก็ไม่แน่ใจ นั่นอาจเป็นผีตายโหงที่ไม่ได้เผาก็ได้ แต่หากเป็นเช่นนั้นแค่จับทำลายกายหยาบก็ควรจบเรื่องได้แล้ว

บรรยากาศคืออีกสิ่งสำคัญที่ช่วยส่งเรื่องราวลี้ลับให้ถึงฝั่งฝัน ขุนพันธ์และลูกมือคนใหม่ ร.อ.ทัตเทพ (เอม-ภูมิภัทร ถาวรศิริ) ต้องเดินทางไปยังชุมโจรผ่านแก่งกินศพ ดินแดนลี้ลับที่ห้อมรอบด้วยลำน้ำเชี่ยวกราก ซึ่งถ่ายทำกันหลายแห่งกว่าจะผสานออกมาเป็นเส้นทางสู่ชุมโจรอันยิ่งใหญ่ 

ปิดตำนานขุนพันธ์ มือปราบจอมขมังเวทย์ ผู้ปราบเสือนอกกฎหมาย แต่ไม่อาจหยุดความเหลื่อมล้ำ คอรัปชัน และเกมการเมือง
ปิดตำนานขุนพันธ์ มือปราบจอมขมังเวทย์ ผู้ปราบเสือนอกกฎหมาย แต่ไม่อาจหยุดความเหลื่อมล้ำ คอรัปชัน และเกมการเมือง

ทีมงานเดินทางไปทั่วทุกภาคตั้งแต่ กทม. นนทบุรี ไปจนถึงกาญจนบุรี อุทยานแห่งชาติแม่จริมและวังศิลาแลง จังหวัดน่าน อุทยานแห่งชาติน้ำตกเจ็ดสาวน้อย จังหวัดสระบุรี ป่านพวงศ์ จังหวัดปทุมธานี ฯลฯ ทุกคนเดินลุยน้ำ ถ่อแพ พายเรือกันจริงจัง แถมผู้กำกับยังเคยล็อกตัวเองเอาไว้กับหน้าผาเพื่อดูการถ่ายทำมาแล้ว

ส่วนฉากชุมโจรเป็นอีกหนึ่งโจทย์ยาก เพราะควรเป็นสถาปัตยกรรมที่บ่งบอกถึงยุคสงครามโลก และต้องมีความยิ่งใหญ่ให้สมกับเป็นถ้ำเสือ ทีมงานจึงได้ทำเลเป็นโรงงานกระดาษไทยกาญจนบุรี ขนาดพื้นที่ 70 ไร่ ออกแบบโดยวิศวกรชาวเยอรมัน สร้างเสร็จก่อนเกิดสงครามโลก และใช้งานจนถึงช่วงหลังสงคราม ถือว่าตรงกับไทม์ไลน์ของเรื่อง แถมความสมจริงที่ว่ายังรวมถึงการถ่ายทำในอุณหภูมิที่โคตรร้อน ร้อนกว่า 40 องศา จนระเบิดที่วางเอาไว้ปะทุเองแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย โชคดีที่ไม่มีใครเป็นอะไร

อีกหนึ่งข้อสังเกตคือ บทบาทของตัวละครหญิงค่อนข้างน้อย ที่จดจำได้มีเพียงสองคนคือ ครูนุ่น (พลอย-ชิดจันทร์ ห่ง) ภรรยาของขุนพันธ์ และ คุณหมอสาวิตรี (ฟ้า ษริกา) สตรีเหล็กผู้ถูกเสือมเหศวรลักพาตัวมา แต่หลังจากได้เห็นสภาพความเป็นอยู่ที่ขัดสนและเต็มไปด้วยโรคร้ายในชุมโจร เธอตัดสินใจอยู่ช่วยเหลือชาวบ้านต่อด้วยความยินดี

หญิงสองนางรับบทเป็นคนสำคัญของตัวละครหลัก เป็นผู้เสริมความสมบูรณ์ของภาพยนตร์ และเข้ามาสร้างสมดุลไม่ให้ทั้งเรื่องมีแต่ชายฉกรรจ์ คาแรกเตอร์ของทั้งคู่ไม่ได้โดดเด่นจัดจ้านเหมือนเหล่าชายผู้มีวิชา เป็นเพียงคุณแม่ ภรรยา และคุณหมอที่สั่งสมความแข็งแกร่งจากภายใน

การมีอยู่ของพวกเธอแสดงให้เห็นว่า ผู้หญิงเป็นกำลังสำคัญของผู้ชายไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เป็นนักสู้ที่ขาดไม่ได้ในครอบครัวและในสังคม แอบเสียดายที่ตลอดสามภาคไม่ค่อยได้เห็นผู้หญิงมีบทบาทมากนัก โดยเฉพาะในโลกไสยศาสตร์ ถึงแม้จะเข้าใจดีว่า สังคมชายเป็นใหญ่ไม่ได้เปิดพื้นที่ให้สตรีเรียนรู้มากนัก แต่หากได้เห็นตัวละครหญิงสักคนมาเปิดทางก็คงน่าสนใจไม่น้อย เหมือน ฮูหยินชิง โจรสลัดหญิงแห่งสภาโจรสลัดในภาพยนตร์เรื่อง Pirates of the Caribbean

ไม่ว่าสตรีจอมคาถาแห่งเมืองสยามจะมีจริงหรือไม่ ผู้เขียนก็ยังคิดว่าคงเท่ไม่น้อยหากได้เห็นเธอปรากฏตัวในหนังอาคมเรื่องถัด ๆ ไป และแน่นอนว่า ขอแบบตายยากหน่อย ไม่ใช่แค่ใส่มาเพื่อให้ ‘มี’

การเมืองเรื่องเดิม

โครงเรื่องคลาสสิกหนีไม่พ้นประเด็นฉ้อโกง การเล่นพรรคเล่นพวก ข้าราชการน้ำดีถูกกดขี่โดยข้าราชการชั่วชั้นผู้ใหญ่ การโกงกินในสภาเลียนแบบจากเรื่องจริงไม่ต้องสงสัย รวมไปถึงการตายของ ส.ส.ภาคอีสาน 4 คนที่ถูกหมายหัว เพราะต้องการเปิดโปงผู้นำรัฐบาล

ผู้เขียนไม่ทราบว่า ชีวิตของ ส.ส.ทั้ง 4 คนในเรื่องได้รับแรงบันดาลใจที่แท้จริงมาจากไหน แต่ยิ่งดูยิ่งคลับคล้ายคลับคลากับกรณี ‘4 ส.ส.รัฐมนตรีอีสาน + 1’ ตัวแทนคนรากหญ้าและคนชายขอบแห่งภาคอีสาน ผู้ต่อสู้กับเผด็จการอย่างไม่เกรงกลัว จนถูกวิสามัญฆาตกรรมทางการเมืองด้วยการยิงทิ้งเหมือนกันทั้งหมด

ความตายของ ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ส.ส.จากอุบลราชธานี จำลอง ดาวเรือง ส.ส.จากมหาสารคาม ถวิล อุดล ส.ส.จากร้อยเอ็ด เตียง ศิริขันธ์ ส.ส.จากสกลนคร และ ทองเปลว ชลภูมิ ส.ส.จากปราจีนบุรี คือสัญลักษณ์ของการปะทะกันระหว่าง 2 ขั้วอำนาจ ประชาธิปไตยไม่มีทางผลิบานในยุคเผด็จการครองเมือง และนั่นคือเรื่องจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ไม่ยอมศิโรราบได้

ผู้กำกับยังคงตอกย้ำให้เจ็บใจถึงความไม่เปลี่ยนแปลง โดยนำเรื่องการเมืองและความเหลื่อมล้ำมาใส่อย่างเข้มข้นตั้งแต่ต้นจนจบ ขยายวงความเน่าจากเครื่องแบบสีกากีสู่ลายพราง

ปิดตำนานขุนพันธ์ มือปราบจอมขมังเวทย์ ผู้ปราบเสือนอกกฎหมาย แต่ไม่อาจหยุดความเหลื่อมล้ำ คอรัปชัน และเกมการเมือง
ปิดตำนานขุนพันธ์ มือปราบจอมขมังเวทย์ ผู้ปราบเสือนอกกฎหมาย แต่ไม่อาจหยุดความเหลื่อมล้ำ คอรัปชัน และเกมการเมือง

ส่วนสุดท้ายที่ผู้เขียนคิดตามจนเผลอหัวเราะแห้งออกมาคือ การตีความ ‘ผีตนนั้น’ ที่ปรากฏตัวตั้งแต่ฉากแรก ๆ ผีตนนั้นที่ว่ามีลักษณะคล้ายยมทูตสีดำ ออกมาพร้อมบทพูด 1 ประโยคคือ “ชีวิตแลกชีวิต” สิ่งนี้คงเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากการทำให้ ‘เวรกรรม’ มีตัวตนเป็นรูปเป็นร่าง

ตัวเอกของเราแม้จะเป็นเจ้าอาคม แต่ยังวนเวียนอยู่ในบ่วงกรรมไม่ต่างจากคนธรรมดา เขาสะสมกรรมจากการพรากชีวิตผู้คนทั้งที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ นานวันเข้า เวรกรรมก่อตัวจนสมบูรณ์แข็งแรงก็ถึงเวลาเอาคืน บังเกิดเป็นที่มาของประโยคว่า ‘กฎหมายไม่ยุติธรรม แต่กฎแห่งกรรมยุติธรรมเสมอ’ 

ส่วนเรื่องความช้าเร็วในการเอาคืน บางครั้งกรรมก็ทำงานเร็วกว่าศาล แต่กรรมมักทำงานช้าเวลาเจอคนชั่ว เหมือนในเรื่องที่ ‘คนร้ายตัวจริง’ ไม่โดนเวรกรรมเล่นงานสักที แถมยังเติบโตในตำแหน่งขึ้นเรื่อย ๆ แต่ไม่ต้องห่วง การที่เราเห็นกรรมไปถึงตัวคนร้าย แปลว่าเขาเองก็คงหนีไม่พ้นเช่นกัน

ขุนพันธ์ ภาคนี้ใส่ความแฟนตาซีและเรื่องราวเข้มข้นจัดเต็มตลอดเวลาเกือบ 3 ชั่วโมง ดูแบบปล่อยจอยก็ดี คิดตามไปด้วยก็สนุก ถือเป็นการปิดไตรภาคที่เชื่อว่าผลลัพธ์ย่อมดีอย่างที่ทีมงานทุกคนมุ่งมั่น และเชื่อว่าจะเป็นการเปิดทางให้หนังอาคมของไทยออกสู่สายตาชาวโลกได้อย่างยิ่งใหญ่แน่นอน

ขุนพันธ์ 3 ปิดไตรภาคโลกสีเทาของอาคม เวรกรรม การเมือง และประวัติศาสตร์ที่ช้ำจนเป็นรอย

ภาพ : สหมงคลฟิล์ม

Writer

วโรดม เตชศรีสุธี

วโรดม เตชศรีสุธี

นักจิบชามะนาวจากเมืองสรอง งานประจำเป็นนักฟัง งานพาร์ทไทม์เป็นนักเขียน งานอดิเรกเป็นนักเล่า