4 กุมภาพันธ์ 2023
9 K

Bangkok Design Week ปีนี้ดุดันไม่เกรงใจใคร

ด้วยจำนวน 500 โปรแกรมตลอด 9 วัน จัดเต็มจุกๆ มากกว่า 9 ย่าน เดินยังไงก็ไม่หมด ช่วงวันที่ 4 – 12 กุมภาพันธ์ 2566 คนชอบงานสร้างสรรค์จึงควรทำตัวให้ว่าง ฟิตร่างพร้อมลุยดูงานที่กระจายตัวในย่านเจริญกรุง-ตลาดน้อย, สามย่าน-สยาม, อารีย์-ประดิพัทธ์, พระนคร, เยาวราช, นางเลิ้ง, ปากคลองตลาด, คลองสาน, วงเวียนใหญ่-ตลาดพลู, บางโพ, เกษตรฯ, พร้อมพงษ์ และอีกเพียบ

ปีนี้ สํานักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) กับพันธมิตรเครือข่ายออกแบบกรุงเทพฯ จัดงานด้วยแนวคิด urban‘NICE’zation เมือง-มิตร-ดี เนรมิตย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นสนามทดลองไอเดีย สร้างเมืองอันเป็นมิตรที่ดีต่อคนอยู่ มีสารพัดโปรแกรมให้เลือกตั้งแต่ทัวร์-ทอล์ก-เวิร์กช็อป-เดินตลาด-ดนตรี-อีเวนต์ และนิทรรศการ

คอลัมน์ Take Me Out ชวนตบเท้าออกจากบ้าน ไปสำรวจย่านสร้างสรรค์ เติมเต็มประสบการณ์และแรงบันดาลใจใหม่ ๆ ที่คัดมาแล้วว่าดี ควรค่าแก่การแวะเวียนไปรับชม

วางแพลน-จัดโปรแกรมให้ดี แล้วชวนมิตรไปตะลอนทั่วเมืองด้วยกัน 

#01

งิ้ว

ย่านเยาวราช

อุปรากรจีน หรือ ‘งิ้ว’ เคยเป็นการแสดงคู่กับคนจีนในเยาวราชมาเนิ่นนาน ก่อนโรงงิ้วจะถูกปิดแล้วเปลี่ยนเป็นโรงหนังหรือที่จอดรถ นั่นทำให้บทบาทของงิ้วค่อย ๆ หายไปจากวิถีชีวิตของผู้คน  

‘เยาวเล่น’ ได้ฟื้นชีวิตงิ้วในเยาวราชให้กลับมาอีกครั้ง ณ โรงเจเก่าแก่ที่สุดในย่านเยาวราช อย่างโรงเจบุญสมาคม นำเสนอการแสดงงิ้วจากคณะอุปรากรจีนชื่อดัง แชลั่งเง็กเล่าชุน และคณะอื่น ๆ ยกขบวนความสนุกของ งิ้วนางพญางูขาว สามก๊ก ฯลฯ เวอร์ชันภาษาไทยมาให้รับชม พร้อมเปิดเรื่องราวหลังเวทีใน นิทรรศการ Chinese Opera History in Yaowarat ว่าด้วยบทละครและเครื่องแต่งกายงิ้วในฉบับเข้าใจง่ายและสนุกมาก โดยร่วมกับนักศึกษาแฟชั่นจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

15 งานดีไซน์น่าดูใน BKKDW2023 ตั้งแต่ออกแบบงานศพตัวเอง ยันฟังเสียงพระนครที่แทงก์ประปา

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมสนุก ๆ เช่น เพนต์หน้ากาก แถมเอากลับบ้านมาเก็บไว้เป็นที่ระลึกได้ อีกหนึ่งกิจกรรมน่าสนใจ คือ ในวันเสาร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ ในงานจะมีชุดงิ้วให้ได้ลองสวมใส่ พร้อมบริการแต่งหน้าโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ความสนุกแบบนี้หาได้ที่นี่ที่เดียว! 

งานนี้เป็นส่วนหนึ่งของ Bangkok City Trooper ที่ STRN Citizen Lab เครือข่ายชุมชน นักศึกษาและอาจารย์จากกว่า 27 สถาบัน ร่วมกันสำรวจและออกแบบพัฒนาพื้นที่ไชน่าทาวน์ ชวนผู้คนทำความรู้จักเยาวราชผ่าน 4 อัตลักษณ์ คือ เยาวรักษ์ เยาวลิงค์ เยาวเลิศ และเยาวเล่น

  • โรงเจบุญสมาคม ถนนมหาจักร เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร (แผนที่)
  • 4 – 12 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 11.00 – 22.00 น.
  • เยาวเล่น bkkdw2023
#02

Finding Teresa

ย่านเยาวราช

เถี่ยน มี่ มี่ หนี่ เซียว เต่อ เทียน มี่ มี่ 

หากคุณอ่านประโยคด้านบนโดยไม่ร้องตาม เราขอแนะนำให้รู้จัก เติ้ง ลี่จวิน หรือ เทเรซ่า เจ้าของบทเพลงชื่อดัง Tian Mi Mi, The Moon Represents My Heart, I Only Care About You 

15 งานดีไซน์น่าดูใน BKKDW2023 ตั้งแต่ออกแบบงานศพตัวเอง ยันฟังเสียงพระนครที่แทงก์ประปา

ในปีนี้ Bangkok City Trooper ร่วมกับ STUDIO11206 หยิบ 6 บทเพลงดังของ เติ้ง ลี่จวิน มาเล่าเรื่องราวเยาวราชในยุคต่าง ๆ กับโปรเจกต์ Finding Terasa กิจกรรม Theatrical Walking Tour ย่ำเท้าสำรวจเยาวราชใน 3 เส้นทาง พาทำความรู้จักย่านผ่านผู้คน สถานที่ ตึก และอาคารเก่า พร้อมกับยกโรงละครขนาดย่อมมาไว้กลางแจ้ง โดยผู้ชมจะได้เป็นส่วนหนึ่งกับการแสดง ซึ่งทัวร์นี้อาจกลายเป็นกิจกรรมประจำย่านเยาวราช (ในอนาคต) ให้ผู้คนสนุกกันต่อหลังจบดีไซน์วีก

ไฮไลต์สุดน่ารักคือ ตลอดการทัวร์ คุณจะได้สวมบทบาทนักสืบ ตามหาหญิง 6 คนที่หลุดออกมาจากเพลงของ เติ้ง ลี่จวิน และระบุว่าพวกเธอหลุดออกมาจากเพลงใดในเวลาที่กำหนด

แค่คิดก็สนุกแล้วใช่ไหมล่ะ

  • 4 – 12 กุมภาพันธ์ 2566
    จันทร์-ศุกร์ เวลา 19.00 – 21.30 น. และเสาร์-อาทิตย์ เวลา 17.30 – 20.00 น.
  • เยาวเล่น bkkdw2023
#03

You Do Me, I Do You

ย่านเยาวราช

D&O Association นิทรรศการหลุดกรอบพร้อมออกคอมฟอร์ตโซนที่ท้าทายนักออกแบบ โดยการแลกเปลี่ยนวัสดุเพื่อสร้างสรรค์ผลงานกลิ่นอายดั้งเดิมของตน นำเสนอผลงาน 29 ชิ้น จาก 39 สตูดิโอ

นี่คือหนทางในการพัฒนาและส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของนักออกแบบ โดยการแลกเปลี่ยนความคิดและวิธีการ เรียนรู้วัสดุใหม่ที่ไม่คุ้นชิน และยังช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยด้วย สิ่งที่น่าสนใจในงานนี้คือการที่ บริษัท เฌอร่า (SHERA) จำกัด (มหาชน) สนับสนุนวัสดุให้แก่นักออกแบบ 6 คน เพื่อนำไปรังสรรค์สิ่งใหม่ ได้แก่ PDM Brand, kenkoon, Yothaka, Dots Design Studio, Masaya Furniture และกรกต อารมณ์ดี ไม่ว่าจะเป็นการนำซีเมนต์มา Compose ใหม่ หรือนำวัสดุที่แข็งกร้าวมาจัดให้อยู่ในทรวดทรงลื่นไหลของน้ำ และสิ่งที่น่าจับตา คือ Pavillion ที่นำวัสดุของเฌอร่ามาประสานเข้ากับไม้ไผ่อย่างสร้างสรรค์ โดยชิ้นงานนี้มีความทันสมัย แต่ยังคงกลิ่นอายของกรกตไว้ทุกตารางนิ้ว

นอกจากนี้ยังมีห้องฉายภาพบรรยากาศในการทำงานของเหล่านักออกแบบที่ร่วมเดินทางแก้ไขปัญหา และแบ่งปันความคิดกันตลอดเวลา 2 เดือน ถ้าพลาดงานนี้ ทาง D&O Association กระซิบมาว่าจะยังคงติดตั้งงานบางชิ้นไว้ให้ชมภายหลัง แต่จะเป็นชิ้นไหน ต้องรอติดตามไปพร้อมกัน

  • ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ ถนนเยาวราช เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ (แผนที่)
  • 4 – 12 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 11.00 – 22.00 น.
  • 09 2549 6592
#04

อีท-อะ-ลอง (Eat Along)

ย่านเจริญกรุง-ตลาดน้อย

หลายคนที่เคยเดินเที่ยวย่านตลาดน้อย อาจพอคุ้นชินกับภาพอาคารเก่า ศาลเจ้า และร้านค้าที่มาพร้อมเสน่ห์แบบจีน ๆ ชวนให้เส้นทางทุกซอกทุกมุมน่าค้นหา แต่ใครจะรู้ว่าบนถนนเส้นนี้ไม่ได้มีเพียงวัฒนธรรมจีน ที่นี่ยังมีวัฒนธรรมคริสต์ มุสลิม และพุทธ ผสมผสานกันอยู่ และภาพง่าย ๆ ที่ทำให้มองเห็นวิถีชีวิตของผู้คนในย่านนี้ชัดที่สุด คือ ‘อาหาร’ ซึ่งกระจายอยู่ตลอดรายทาง

Bangkok Design Week 2023 ในครั้งนี้ TREASURE ร่วมกับผู้ประกอบการร้านอาหารย่านตลาดน้อย จัดกิจกรรมชวนคนรุ่นใหม่สร้างประสบการณ์ใหม่ ลองรู้จักอาหารไม่คุ้นชื่อ ไม่คุ้นหน้า ไปพร้อมกับการรู้จักย่าน อิ่มอร่อยกับ Storytelling ที่ทำให้อาหารแต่ละคำมีความหมายและกินสนุกมากขึ้น

15 งานดีไซน์น่าดูใน BKKDW2023 ตั้งแต่ออกแบบงานศพตัวเอง ยันฟังเสียงพระนครที่แทงก์ประปา

ตลอดการจัดงาน พวกเขายกขบวนอาหารจากทั้งย่านมาเสิร์ฟให้ทานเป็นคำ ๆ ทั้งจอร้อ ขาหมูตือคาตั่ง กุยช่ายจากร้านดังที่เปิดขาย 20 นาทีหมด เกี๊ยวซ่าหน้าเปิดเฟิงจู และอีกเพียบ จัดลงกล่อง 2 แบบให้เลือกทาน คือ อีท-อะ-ลอง กับ Sing-อะ-ลอง, หากอยากสนุกไปพร้อมกับการทาน ขอแนะนำให้เลือก Sing-อะ-ลอง เพราะคุณจะได้ทำความรู้จักอาหารแบบเสี่ยงทายสุด ๆ จากเพลงที่คุณเลือก

พิเศษใส่ไข่ ไม่ว่าซื้ออาหารเซตไหน ก็ได้คูปอง Free Bite ในตลาดน้อยฟรีอีก 1 คำ!

  • ลานหน้าไปรษณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร (แผนที่)
  • 4, 5, 11, และ 12 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 11.00 – 22.00 น
  • TREASURE
#05

พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในประเทศไทย

ย่านเจริญกรุง-ตลาดน้อย

นี่คือ Public Space ที่ชวนตั้งคำถามว่า จะทำอย่างไรให้พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นพื้นที่ของทุกวัย

เนื่องจากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์มักเป็นพื้นที่ที่ผู้คนรวมตัวกันเพื่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ตนต้องการ จึงทำให้เกิดคอมมูนิตี้สายมูขึ้นมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ เพื่อพบปะ แลกเปลี่ยน และนำไปสู่อีกหลายกิจกรรม ท่ามกลางซุ้มศาล เครื่องเซ่น และเหล่ารูปปั้น กิจกรรมผูกผ้าสามสี ไหว้ผี หรือแม้แต่บนนางรำ 

15 งานดีไซน์น่าดูใน BKKDW2023 ตั้งแต่ออกแบบงานศพตัวเอง ยันฟังเสียงพระนครที่แทงก์ประปา

Semiotic Architect + Design จึงเสนอโปรเจกต์สร้างพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ ติดตั้งชิงช้าทั่วย่านในการจัดงานดีไซน์วีก เพื่อแสดงถึงสัญลักษณ์เครื่องเล่นของคนทุกวัย โดยใช้วัสดุไม้สีแดงและสีทองแทนลักษณะถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อให้คนทุกคนกล้าก้าวเท้าเข้ามาเพื่อสร้างคอมมูนิตี้ใหม่ ๆ และเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่สาธารณะแห่งนี้ พร้อมยังเป็นตัวตั้งต้น เปิดโอกาสให้ทุกเพศทุกวัยตั้งคำถามว่า ที่ว่างในพื้นที่สาธารณะจะพัฒนาเป็นสิ่งใดเพื่อให้เป็นมิตรกับทุกคน 

และสิ่งที่จะทำให้ตื่นตาตื่นใจก็เป็นอะไรไปไม่ได้ นอกจากการให้เลขเด็ดที่ให้คุณนั่งลุ้นพร้อมไกวชิงช้าตีเลขไปพร้อมกัน

  • พิพิธภัณฑ์ชุมชนตลาดน้อย ซอยภาณุรังษี เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ (แผนที่)
  • 4 – 12 กุมภาพันธ์ เวลา 11.00 – 22.00 น.
  • 08 4556 1669
  • Semiotic Architect + Design
#06

ออกแบบงานศพของตัวเอง

ย่านเจริญกรุง-ตลาดน้อย

ถ้าออกแบบงานศพของตัวเองได้ คุณอยากให้เป็นแบบไหน

คำถามที่หลายคนอาจไม่ค่อยพูดถึง ทั้งที่ความตายเป็นเรื่องใกล้ตัวและเป็นธรรมชาติของมนุษย์ โดย บริ-บุญ (Boriboon) และ สุริยา 2499 (Suriya 2499) จับมือกันจัดนิทรรศการนี้ขึ้น เพื่อสร้างประสบการณ์และมุมมองใหม่ ภายในนิทรรศการออกแบบให้เล่าเรื่องผ่านชีวิตของคนหนึ่งใน 5 ช่วงวัย ตั้งแต่วัยเด็ก วัยรุ่น วัยทำงาน วัยครอบครัว และวัยเกษียณ โดยจัดโลงศพจำลองที่แตกต่างกัน 5 รูปแบบ พร้อมให้บรรยากาศที่ลึกซึ้งกว่าด้วยภาพและเสียง ซึ่งเป็นการนำประเด็นความตายมาพูดในเชิงบวก ให้ผู้คนตีความผ่านมุมมองของการใช้ชีวิต ความคิด และความต้องการที่แตกต่างกัน

ไม่ใช่ทุกคนที่นึกถึงงานศพของตัวเอง แต่โปรเจกต์นี้เปิดโอกาสให้สัมผัสประสบการณ์ เพื่อนำไปสู่การคิดและการตั้งคำถามว่า อะไรคือสิ่งที่เราต้องการจริง ๆ ในลมหายใจสุดท้ายของชีวิต

งานนี้เข้าชมฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย

  • ชัยพัฒนศิลป์ ถนนเจริญกรุง เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ (แผนที่)
  • 4, 5, 11, และ 12 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 11.00 – 22.00 น
  • บริบุญ – Boriboon
#07

กรุงเทพฯ เมืองชวนขำ

ย่านเจริญกรุง-ตลาดน้อย

พูดยังไงให้ตลกได้ขนาดนี้…

หากพูดถึง เดี่ยวไมโครโฟน หลายคนอาจนึกถึง โน้ส-อุดม แต้พานิช แต่ขออธิบายก่อนว่า เดี่ยวไมโครโฟน เป็นการแสดง Stand Up Comedy ที่มีจุดประสงค์เพื่อสร้างความบันเทิงด้วยการเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับ ประเด็นต่าง ๆ ที่เต็มไปด้วยความสร้างสรรค์และสร้างความสนุกสนานแก่ผู้ชม มักได้รับความนิยมในต่างประเทศ 

แต่ในวาระนี้ เมืองไทยมีกลุ่มสแตนด์อัปคอมเมดี้อย่าง ‘ยืนเดี่ยว ที่เป็นผู้นำในการจัดแสดงมหรสพดังกล่าวมาตั้งแต่ ปี 2019 และในครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 15 โดยมีชื่องานว่า กรุงเทพฯ เมืองชวนขำ Bangkok Design Laughจัดขึ้นที่ ปรินซ์ เธียเตอร์ เฮอริเทจ สเตย์ โรงภาพยนตร์เก่าที่เปลี่ยนเป็นโรงแรม แต่ยังคงความเป็นสถานบันเทิงอย่างในอดีต ยืนเดี่ยวเลือกที่นี่เพราะอยากนำเอาเสน่ห์และความทรงจำของสถานที่แห่งนี้ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

15 งานดีไซน์น่าดูใน BKKDW2023 ตั้งแต่ออกแบบงานศพตัวเอง ยันฟังเสียงพระนครที่แทงก์ประปา

การแสดงหนึ่งโชว์มีทั้งหมด 6 คน คนละ 15 นาที ความยาวรวมกันอยู่ที่ 2 ชั่วโมง เต็มอิ่มสะใจกันไปเลย โดยไฮไลต์ของงานคือ การหยิบยกประเด็น ปัญหา หรือประสบการณ์ของคนพูดที่เป็นตัวแทนของชาวกรุงมาขยี้ให้แหลก ทั้งในแง่ดีและมุมมองชวนขบคิดอย่างสร้างสรรค์ 

งานนี้เข้าชมฟรีและมีเพียง 2 รอบการแสดง เพราะฉะนั้นอย่ามัวรอช้า

  • ปรินซ์ เธียเตอร์ เฮอริเทจ สเตย์ ถนนเจริญกรุง เขตบางรัก กรุงเทพฯ (แผนที่)
  • วันเสาร์-อาทิตย์ ที่ 11 – 12 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 20.00 – 22.00 น.
  • ยืนเดี่ยว
#08

Haroon Food Market

ย่านเจริญกรุง-ตลาดน้อย

ว่ากันว่าอาหารฮาลาลที่สืบทอดกันมากว่า 100 ปีในชุมชนรอบมัสยิดฮารูณกำลังจะหายไป

ชุมชนรอบมัสยิดฮารูณหอบสูตรอาหารจากสารพัดแห่ง ทั้งอินโดนีเซียและอินเดีย มาปักหลักในย่านบางรักกว่า 100 ปี แต่สูตรอาหารที่พวกเขามีกำลังจะหายไป เพราะกระบวนการทำต้องใช้เวลานาน ตรงข้ามกับการใช้ชีวิตที่ค่อนข้างเร่งรีบ ในครั้งนี้ NOSH NOSH Project จึงร่วมกับ Haroon Community และ CEA ชวนคุณอิ่มอร่อยกับอาหารท่ามกลางกลิ่นอายวัฒนธรรมดั้งเดิมของชุมชนในงาน Haroon Food Market มหกรรมรวมร้านอาหารฮาลาลมากว่า 50 ร้าน ตั้งแต่ของหวานไปจนถึงของคาว 

ความพิเศษของงานนี้คือ หลายบ้านในชุมชนรอบมัสยิดฮารูณได้เปิดครัวในบ้าน นำสูตรอาหารต้นตำรับของพวกเขาเมื่อ 100 กว่าปีก่อนมาเสิร์ฟความอร่อยตลอดงาน! 

แค่นึกภาพข้าวที่หุงด้วยนมกับเนยก็อยากลองไปทานแล้วจริง ๆ 

  • มัสยิดฮารูณ ถนนเจริญกรุง เขตบางรัก กรุงเทพฯ (แผนที่)
  • วันเสาร์-อาทิตย์ ที่ 4, 5, 11, 12 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 11.00 – 19.00 น.
  • NOSH NOSH
#09

PechaKucha: meet (urban) nice people

ย่านเจริญกรุง-ตลาดน้อย

Bangkok Design Week 2023 ปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด urban‘NICE’zation เมือง-มิตร-ดี ตอบโจทย์ครอบคลุมทั้งหมด 6 มิติ ได้แก่ สิ่งแวดล้อม การขนส่งสาธารณะ การผลักดันและอนุรักษ์วัฒนธรรม ธุรกิจและเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ของชุมชน และความหลากหลายในสังคม

โดย ‘เพชะคุชะ’ คือกิจกรรมเสวนาที่จัดขึ้นเพื่อเป็นสีสันให้กับงาน สร้างแรงบันดาลใจและความแปลกใหม่ แนวคิดของเพชะคุชะ คือ meet (urban) nice people นำเสนอโปรเจกต์และมุมมองของคนทำงานเพื่อสังคมเมือง เช่น BACC, Urban Ally มหาวิทยาลัยศิลปากร, Alex Face และอีกมากมาย

ไฮไลต์ของงาน คือการนำเสนอแนวคิด ผลงานสนุก ๆ จากนักสร้างสรรค์ 20 คน ผ่าน 20 รูปภาพ x 20 วินาที โดยมีวิธีนำเสนอต่างกันไป ซึ่งแต่ละคนล้วนเป็นนักสร้างสรรค์ที่น่าสนใจ ตลอดจนเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ทั้งในและต่างประเทศ

งานนี้เข้าร่วมฟรี แต่รับจำนวนจำกัด ต้องรีบลงทะเบียนให้ไวเลย

  • ห้องฟังก์ชัน ชั้น 4 อาคารส่วนหน้า TCDC ถนนเจริญกรุง เขตบางรัก กรุงเทพฯ (แผนที่)
  • เสาร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 14.00 – 17.00 น.
  • 0 2105 7400 ต่อ 123
  • สมัครเข้าร่วม Bangkok Design Week 2023, Powered by PechaKucha
#10

Lives Waves

ย่านพระนคร

มากกว่าสัมผัสคือการมองเห็น และขั้นกว่าของการมองเห็นคือการได้ยิน โสตสัมผัสการรับรู้เสียงเป็นอีกหนึ่งศาสตร์ที่ทำให้เราเชื่อมโยงกับสิ่งต่าง ๆ อย่างลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกที่ถูกส่งผ่าน หรือจินตนาการที่มากกว่าการมองเห็น 

ในดีไซน์วีกครั้งนี้ Hear & Found ร่วมกับ Urban Ally คืนชีวาสู่ย่านบำรุงเมือง เล่าย่านผ่านเสียง ณ โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ และ ประปาแม้นศรี

ณ โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ มีนิทรรศการเล่าเรื่องชุมชนเฟื่องนครที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับการทำทองรูปพรรณและทองคำเปลว ในนิทรรศการ Gold Grows Glow: Goldsmith district story (ธรรม-ทอง) จัดโดย Sonjai และเสียงของสถานที่ที่บันทึกจากชุมชนเฟื่องนคร ร้านขายสังฆภัณฑ์ และการตีทอง

ณ ประปาแม้นศรี ที่นี่เป็นหอเก็บน้ำประปาแห่งแรกในไทย และเป็นสถานที่ในความทรงจำของคนในพื้นที่ใกล้เคียง บริเวณแทงก์น้ำที่ 1 เสียงธารน้ำไหลจากป่าต้นน้ำในหมู่บ้านปกาเกอะญอ บ้านกะเหรี่ยงโผล่ว และน้ำตกจากหมู่บ้านของชาวม้งที่พิษณุโลกเล่นคลอไปกับนิทรรศการภาพถ่าย Portrait of Water Tank 

ส่วนแทงก์น้ำที่ 2 เป็นเสียงจากย่านพระนคร สดับฟังเสียงกระดิ่งจากวัดภูเขาทองไปพร้อมกับเสียงอันเปราะบางของน้ำแข็งในขั้วโลกที่กำลังละลาย สะท้อนถึงภัยใกล้ตัวที่ค่อย ๆ คืบคลานเข้ามา 

#11

ฟอนต์บำรุงเมือง

ย่านพระนคร

กุมภาพันธ์นี้ ประปาแม้นศรีจะกลายเป็นพื้นที่นั่งเล่น แสงสี ดนตรี และวิถีชีวิตเก่า นำทัพโดย Urban Ally พร้อมภาคี จะพาทุกคนไปค้นหาอัตลักษณ์และพัฒนาชุมชนย่านพระนคร

นอกจากประวัติศาสตร์และตัวอาคาร อีกสิ่งที่เปลี่ยนตามยุคสมัยโดยที่เราไม่ได้สังเกต คือตัวอักษรตามถนนบำรุงเมือง ศูนย์มิตรเมืองร่วมกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธีรวัฒน์ พจน์วิบูลศิริ (พจน์ อักษรสนาน) เดินเท้ากว่า 16,000 ก้าว ตามหาตัวอักษรที่ผ่านกาลเวลาและยุคสมัย หลากวัสดุและรูปแบบ เพื่อประกอบเป็นคำว่า ‘มิตรบำรุงเมือง’ จัดแสดงในนิทรรศการ Typography of Bumrungmuang Exhibition ภายในตึกประปาแม้นศรี โดยนิทรรศการแสดงตัวอักษร 11 ตัวที่เกิดขึ้นต่างยุค บอกความเป็นมาของการออกแบบ แนวคิด วิธีการ ภาพถ่ายป้ายต้นฉบับ และลวดลายอาคารที่เดินสำรวจ

ในนิทรรศการมีกิจกรรมสนุก ๆ ประลองความคิด ให้เราลองสร้างคำใหม่จากคำว่า มิตรบำรุงเมือง เพื่อแสดงถึงการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และพัฒนาให้เกิดสิ่งใหม่ คิดคำรอไปจากบ้านได้เลย (ฮา)

  • ประปาแม้นศรี สี่แยกแม้นศรี ถนนบำรุงเมือง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ (แผนที่)
  • 4 – 12 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 11.00 – 21.00 น.
  • 09 1741 5004
  • Urban Ally
#12

Tango Trio | Pop-up Blossom : Flower-Inspired Installation

ย่านปากคลองตลาด

ถ้าพูดถึงแหล่งซื้อดอกไม้ คงไม่มีอะไรเด้งขึ้นมาในหัวได้นอกจากย่านปากคลองตลาด

คราวนี้กลุ่มมนุษย์ปากคลองขอจับมือร่วมกับนักออกแบบ สรรสร้างกิจกรรมให้เราสัมผัสความงามของดอกไม้อย่างใกล้ชิด เช่น การหยุดอายุขัยดอกไม้ 80 สายพันธุ์ลงแจกันอิเล็กทรอนิกส์ การแสดงภาพถ่ายตลาดดอกไม้ปากคลอง-ลอนดอน ควิซตามหาดอกไม้ที่ใช่ กิจกรรมสร้างทางเดินดอกไม้และระบายสีสร้างสีสันให้กับตัวอาคารเก่าผ่านเทคโนโลยี AR โดยทุกงานเดินเท้าถึงกันได้

ยิ่งไปกว่านั้นยังได้ PHKA Studio ผู้เล่าเรื่องผู้คนและพื้นที่ผ่านการใช้ศาสตร์การจัดดอกไม้มาร่วมสร้างผลงาน งานกระจายอยู่ภายในย่านถึง 3 ชิ้น 

1) แยกถนนจักรเพชรตัดกับถนนบ้านหม้อ ชิ้นงานติดอยู่กับเสาป้ายริมทาง 

2) ชั้น 1 กลางตลาดยอดพิมาน ชิ้นงานห้อยตัวมาจากเพดานสูงระดับตา 

3) พื้นที่ใต้สะพานพระปกเกล้า แสดงความแตกต่างของดอกไม้ที่เปราะบางกลางโครงสร้างอาคารเก่า

ที่พิเศษคือ หากใครไปร่วมงานและซื้อช่อดอกไม้ ไม่ว่าจะช่อเล็ก ช่อใหญ่ หรือพวงมาลัย ทางมนุษย์ปากคลองมีสติกเกอร์น้องไมร่า (aka น้องมาลัย) เป็นของที่ระลึกสำหรับ 1,000 คนแรกด้วยนะ นำไปแลกที่จุด Info Centre ด้านข้างโรงแรมราชินี ติดทางขึ้น-ลง MRT สนามไชย ได้เลย

#13

SENSE OF NANG LOENG : SARTORIAL

ย่านนางเลิ้ง

นางเลิ้งเป็นย่านรวมกิจกรรม ไม่ว่าจะเดินล่อง ท่อง กิน หรือชมงานศิลป์ ซึ่ง SENSE OF NANG LOENG ก็มาพร้อมกับแนวคิดพัฒนาชุมชน เพื่อความยั่งยืนและรื้อฟื้นวัฒนธรรมประจำชุมชน

ชุมชนนางเลิ้งคัดสรรกิจกรรมให้ผู้คนเข้ามาเรียนรู้วัฒนธรรมผ่านการทัวร์ชุมชน เวิร์กช็อปสำรวจงานศิลป์ ชมแสงสีและการแสดงภาพถ่ายประวัติศาสตร์ อีกทั้งยังมีขบวนอาหารให้ลิ้มลอง ไม่ว่าจะของกินจุบจิบหรือของกินเลื่องชื่อ 

แต่สิ่งที่พลาดไม่ได้คือการชมการแสดงรำสมโภชน์ที่หาดูได้ยาก ใน ละครชาตรี Happy Birthday ที่ได้รับเกียรติจาก ครูกัญญา ทิพย์โยสถ ครูรำท่านสุดท้ายผู้สืบสายเลือดตรงมาจากคณะนางรำในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นผู้ร่ายรำและนำร้องเพื่ออวยพรแก่ผู้ชม

ลายแทงเดินงาน Bangkok Design Week 2023 พาคุณไปสนุกกับความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการพัฒนาเมืองอย่างสร้างสรรค์

การแสดงในครั้งนี้ได้ รัฐ เปลี่ยนสุข และ Sumphat Gallery มาสรรค์สร้างทำนองพร้อมบรรยากาศผ่าน Projection Mapping จัดแสดงในวันที่ 4 – 5 และ 11 – 12 กุมภาพันธ์ เวลา 17.30 – 18.30 น.

#14

สะพานควายวาไรตี้ (Saphan Khwai Variety) 

ย่านอารีย์-ประดิพัทธ์

จากชุมชนค้าวัวควายในอดีต สู่เมืองเศรษฐกิจใหม่

เราอยากชวนทุกคนไปร่วมชมนิทรรศการสื่อผสม ‘สะพานควายวาไรตี้’ (Saphan Khwai Variety) นิทรรศการศิลปะที่บอกเล่าเรื่องราวหลากมิติในย่านสะพานควาย งานนี้จัดขึ้นโดย Studio Marketing Materials (SMM) ได้รับแรงบันดาลใจจากบรรยากาศของผู้คน วิถีชีวิต และธุรกิจห้างร้านในย่านเก่าแก่ ที่กำลังเริ่มเปลี่ยนแปลงไปอย่างช้า ๆ จากการเข้ามาพัฒนาเศรษฐกิจของคนรุ่นใหม่ จนเกิดเป็นการผสมผสานระหว่างสิ่งเก่ากับสิ่งใหม่ในมิติที่หลากหลาย เช่น ร้านก๋วยเตี๋ยวท้องถิ่น บาร์เก่าแก่ หรือน้องหมาที่เป็นที่รู้จักของคนในย่าน คละรวมกับคอนโดมิเนียมหรืออาคารพาณิชย์ใหม่ ๆ

ภายในนิทรรศการจัดแสดงกราฟิกอาร์ต ชวนให้มองเห็นถึงสิ่งที่ดำเนินอยู่อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ผู้ชมได้รับประสบการณ์และมุมมองใหม่เกี่ยวกับพื้นที่เศรษฐกิจใหม่อย่างสะพานควายมากขึ้น

หากอยากรู้ว่าย่านนี้มีอะไรน่าสนใจ รีบตบเท้าก้าวให้ไว เพราะเข้าชมฟรี

  • Buffalo Bridge Gallery ถนนพหลโยธิน เขตพญาไท กรุงเทพฯ (แผนที่)
  • 4 – 12 กุมภาพันธ์ 2566 
    จันทร์-ศุกร์ เวลา 15.00 – 20.00 น. และเสาร์-อาทิตย์ เวลา 13.00 – 20.00 น.
  • Studio Marketing Materials
#15

ให้ภาพ ‘เล่าเรื่องรถไฟ’

ย่านหัวลำโพง

ย่านหัวลำโพงจะเกิดอะไรขึ้น เมื่อทุกอย่างกำลังย้ายไปบางซื่อ

Bangkok Design Week 2023 ชวนมิตรรักนักอ่านทุกคนไปนิทรรศการ ให้ภาพ ‘เล่าเรื่องรถไฟ’ Train and Vernadoc จัดขึ้นโดย VERNADOC Thailand องค์กรไม่แสวงผลกำไร และผู้ทำงานในแวดวงสถาปัตยกรรม เพื่อเก็บข้อมูลสถาปัตยกรรมและอาคารเก่าด้วยภาพลายเส้น ภายในนิทรรศการมีการจัดแสดงเกี่ยวกับรถไฟในหลายแง่มุม ทั้งด้านสถาปัตยกรรมรถไฟและพื้นที่ชุมชน

ขณะที่ย่านหัวลำโพงกำลังกลายเป็นอดีตในความทรงจำของใครหลายคน แต่ VERNADOC กลับเล็งเห็นศักยภาพของพื้นที่ ในมุมของการศึกษาเรื่องราวอดีตชุมชน ประวัติศาสตร์ หรือเกร็ดความรู้ที่คนอาจไม่ทราบมาก่อน รวมถึงพยายามสร้างเครือข่ายที่จะพากรุงเทพฯ ก้าวสู่การเป็นเมืองศิลปะ

ลายแทงเดินงาน Bangkok Design Week 2023 พาคุณไปสนุกกับความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการพัฒนาเมืองอย่างสร้างสรรค์

 ไฮไลต์มี Talk-Walk-Workshop เริ่มตั้งแต่กิจกรรมแรก เป็นการบรรยายและพูดคุยหัวข้อสถานีรถไฟกับการอนุรักษ์และการพัฒนาชุมชนเมือง สถาปัตยกรรมอนุรักษ์มรดกรถไฟ และประสบการณ์การทำงานภาคสนาม โดย รศ.ปริญญา ชูแก้ว จากนั้นพาเดินชมย่านหัวลำโพงและมูลนิธิรถไฟไทยเพื่อเข้าใจบริบทของพื้นที่มากขึ้น ปิดท้ายด้วยเวิร์กช็อป Mini Vernadoc บรรยายโดย ผศ.ดร.สุดจิต เศวตจินดา จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และทำหนังสือทำมือ โดย ดิบดีเชียงใหม่

กิจกรรมจัดมาเต็มขบวนแบบนี้ อย่าพลาดกันเชียว! เข้าฟรีนะ

  • PLAY SPACE ถนนเจริญเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ (แผนที่)
  • 4 – 12 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 10.00 – 20.00 น.
  • Play Space

Writers

เกษมณี ชาติมนตรี

เกษมณี ชาติมนตรี

นักเรียนฝึกเขียนที่เริ่มการเรียนใหม่ตั้งแต่ 0-10 ชอบของหวาน ชอบอ่านนิยาย ชอบสีสันสดใสของดอกไม้ ชอบเสียงเพลง

มานิตา สุนทรพจน์

มานิตา สุนทรพจน์

เด็กสาวชาวอุทัย ผู้นมัสการให้แด่สายผลิตงานสร้างสรรค์ และผู้ฝากความสุขอนันต์ไว้บนพุงแมวและชาเขียว

Avatar

เสฎฐวุฒิ สุขสวัสดิ์

นักฝึกเขียน ผู้เป็นทาสแมว ชอบฟังเพลงป๊อป หลงใหลในประวัติศาสตร์ ภาษา และแนวคิดยุโรปสมัยใหม่ พยายามรักการอ่าน และชอบเรียนรู้วัฒนธรรมต่างถิ่นผ่านสื่อสารคดีการท่องเที่ยว

Photographer

โตมร เช้าสาคร

โตมร เช้าสาคร

ชอบถ่ายวิวมากกว่าคน ชอบกินเผ็ดและกาแฟมาก เป็นคนอีโค่เฟรนลี่ รักสีเขียว ชวนไปไหนก็ได้ไม่ติด ถ้ามีตัง