ดร.ชาคริต พิชญางกูร คือผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA คนปัจจุบัน

CEA คือหน่วยงานที่ทำงานด้านการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พัฒนาผู้ประกอบการ สนับสนุนบุคลากรสร้างสรรค์ รวมถึงทำเรื่องย่านสร้างสรรค์ ลงพื้นที่ทั่วประเทศไปค้นหาสินทรัพย์ของท้องถิ่น เอามาต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่าผ่านงานที่หลากหลาย ซึ่งงานใหญ่ที่ทุกคนคุ้นเคยก็ดี ก็คือ ‘Design Week’ ทั้งกรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น และขยายออกไปอีกหลายจังหวัด

CEA เป็นหน่วยงานที่สำคัญกับความคิดสร้างสรรค์ของประเทศ กัปตันทีมขององค์กรนี้จึงมีบทบาทสำคัญไม่แพ้กัน

ดร.ชาคริต พิชญางกูร เป็นผู้อำนวยการคนที่ 2 ของ CEA เพิ่งรับตำแหน่งเมื่อกลาง พ.ศ. 2565 ที่น่าสนใจคือ เขาเป็นคนจากผู้อำนวยการคนแรกที่มาจากภาคเอกชน และก่อนหน้านั้นเขาเคยทำงานอยู่ที่ RS Promotion ยาวนานถึง 15 ปี เคยดูมาแล้วทั้งสิ่งพิมพ์ สื่อต่าง ๆ และในวันที่อาร์เอสลุกขึ้นมาเปลี่ยนโมเดลธุรกิจสู่การขายสินค้า เขาคือกำลังสำคัญในการ Transform องค์กร และพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ในทุกขั้นตอน

ดร.ชาคริต เป็นผู้บริหาร นักคิด นักวางแผน และนักขายฝีมือดี เราเลยชวนเขาคุณเรื่อง CEA ในมือของเขาว่าจะต่างจากเดิมไปอย่างไร รวมไปถึง Soft Power ของประเทศไทยที่เขาช่วยรัฐบาลดูแลอยู่ จะมุ่งหน้าไปทางไหนต่อ

ดร.ชาคริต พิชญางกูร จาก RS สู่ CEA วิธีบริหารองค์กรครีเอทีฟและทิศทาง Soft Power ไทย

คุณเพิ่งกลับมาจากงาน Chiang Mai Design Week คุณมองเมืองเชียงใหม่ว่าพิเศษยังไงบ้าง

มีวัฒนธรรม มีบรรยากาศของความคิดสร้างสรรค์สูง อาจเพราะมีต้นทุนทางวัฒนธรรมเกี่ยวกับศิลปะเยอะ จึงเอาศิลปะไปทำงานคราฟต์ เสื้อผ้า อาหาร หรือการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ประเทศไหนให้ความสำคัญกับศิลปะ ประชาชนก็มักจะมีความคิดสร้างสรรค์สูง

ถ้าจะหยิบศิลปะไปต่อยอดสร้างรายได้ให้ประเทศ เราควรเอาไปทำอะไรดี

ภารกิจของการทำเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มี 2 มิติ มิติแรก สนับสนุนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งมี 15 อุตสาหกรรม เช่น งานคราฟต์ ศิลปะการแสดง ทัศนศิลป์ แฟชั่น เกม แอนิเมชัน ภาพยนตร์และซีรีส์ สถาปัตยกรรม การออกแบบ อาหาร และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

มิติที่ 2 คือการนำผลผลิตจากอุตสาหกรรมเหล่านี้ไปพัฒนาอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง มีงานวิจัยจำนวนมากบอกว่า ผลผลิตของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ส่งผลต่ออุตสาหกรรมอื่น เช่น อุตสาหกรรม K-POP ส่งผลในเชิงบวกต่ออุตสาหกรรมสินค้าสุขภาพ สินค้าความงาม การท่องเที่ยว อาหาร ส่งผลให้อุตสาหกรรมอื่นโตได้ด้วย

ในอุตสาหกรรมทั้ง 15 ด้าน เราแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ Original Business ซึ่งเป็นจุดตั้งต้นของความคิดสร้างสรรค์ เช่น ทัศนศิลป์ เหมือนเป็นทุนทางวัฒนธรรม อีกกลุ่มคือ Creative Product and Service เช่น การออกแบบ สถาปัตยกรรม สุดท้าย Creative Content เช่น เพลง หนัง ซีรีส์ รวมถึงแพลตฟอร์มด้วย

กลับมาที่คำถาม ศิลปะอยู่ในก้อน Original อีสานมีหมอลำที่ไปดังที่ต่างประเทศ แต่มันต้องร่วมสมัย การต่อยอดศิลปะต้องปรับตัวตามความต้องการของตลาด ตลาดต่างประเทศต้องการแบบไหนเราก็ปรับตัวแบบนั้น การไปเมืองนอก ต้องเอาตลาดเป็นตัวตั้ง มองในมุมสากล การไปแบบดั้งเดิมอาจไม่ใช่คำตอบ แล้วก็ไม่ควรยึดติดกับตรงนั้น เพราะมันเป็นคนละภารกิจ

งาน Bangkok Design Week ที่กำลังจะเกิดขึ้น จะให้อะไรกับกรุงเทพฯ บ้าง

กรุงเทพฯ เป็น Creative City of Design ของยูเนสโก งานนี้ตอบภารกิจเรื่องการออกแบบค่อนข้างชัดเจน มีความน่าสนใจหลายอย่าง มีการจัดงานในย่านใหม่ ๆ หลายย่านที่เราไม่เคยทำ เปิดพื้นที่ใหม่ ๆ อย่าง ประปาแม้นศรี มีความพยายามเชื่อมต่อกับหน่วยงานต่างประเทศ มีองค์กรระหว่างประเทศมาร่วมเยอะขึ้น มีการเชิญตัวแทนจากเมืองในเครือข่ายของยูเนสโกมาขึ้นเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ว่า ญี่ปุ่นทำอะไร เกาหลีทำอะไร อินโดนีเซียทำอะไรในเมืองสร้างสรรค์ของเขา แล้วก็มีการคอลแลบกับอุตสาหกรรมอื่น เพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มใหม่ ๆ เช่น มีโชว์เคสที่เราทำกับโรงพยาบาลเครือ BDMS ในคอนเซปต์ Design for Better Health Care แล้วก็มีโชว์เคสจากศิลปินต่างประเทศเยอะขึ้น

ถ้าชาวกรุงเทพฯ ถามว่างานนี้เกี่ยวกับเขายังไง

ในงานมีโชว์เคส มีเวิร์กช็อปต่าง ๆ น่าจะดึงคนในอุตสาหกรรมที่สนใจเข้ามามีส่วนร่วมได้ แต่สำหรับคนทั่วไปคงไม่ได้อยากมานั่งฟัง เขาก็มาเดินซื้อของหรือมาขายของในตลาดได้ นั่นคือสิ่งที่ทำให้เขาเกี่ยวกับงานนี้

ดร.ชาคริต พิชญางกูร จาก RS สู่ CEA วิธีบริหารองค์กรครีเอทีฟและทิศทาง Soft Power ไทย

กรุงเทพฯ เป็นเมืองสร้างสรรค์แบบไหน

Diversity และ Inclusivity เวลาคนต่างชาติเข้ามา เขามองว่าสังคมบ้านเราค่อนข้างเปิดกว้าง ยอมรับในความหลากหลาย อย่างเช่น LGBTQI+ แล้วก็เป็นมิตร ผ่อนคลาย มีความยืดหยุ่นสไตล์คนไทย ประเทศอื่นก็มีสตรีทฟู้ด แต่มีข้อจำกัดมากมาย ไม่เหมือนของเรา ผมนึกไม่ออกนะว่าประเทศไหนจะมีเสน่ห์แบบไทย คนจะไม่ได้สัมผัสความรู้สึกนี้จากสิงคโปร์ ฮ่องกง หรือจาการ์ตาแน่นอน

ประเด็นไหนที่รัฐบาลเอาไปเป็นนโยบายแล้วพูดบ่อย ๆ มันจะกลายเป็นสิ่งที่แมสสุด ๆ และเอาต์ทันที ตอนนี้คำว่า Soft Power เอาต์หรือยัง

ผมไม่รู้ว่าเอาต์หรือยัง แต่มันเริ่มเฝือแล้ว พอใช้กันเยอะ ๆ คนก็ไม่อยากพูดถึงแล้ว แต่ตอนนี้คำนิยามของ Soft Power ที่ปรากฏในสื่อยังไม่ชัดเจน เราควรวางกรอบให้ชัด หากใช้อย่างถูกต้อง คำนี้ก็จะอยู่กับเราไปได้นาน แต่ถ้าอะไร ๆ ก็เป็น Soft Power หมด มันจะไม่น่าสนใจ Soft Power ก็ต้องมีนิยามที่ชัด มีตัวชี้วัดที่ชัด แต่ละประเทศวัดกันยังไง ตัวชี้วัดจะบอกเราเองว่า คำนี้ประกอบด้วยเรื่องอะไรบ้าง พอเข้าใจตรงกัน พูดในทิศทางเดียวกัน มันจะกลายเป็น Generic Keyword ไม่ใช่คำที่เฝือหรือเอาต์

คุณอยู่ในบอร์ด Soft Power หรือคณะกรรมการนโยบายส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศด้วย Soft Power คุณอยากใช้โอกาสนี้ทำอะไร

มันเป็นการรวมตัวของงานภาครัฐหลาย ๆ หน่วยงาน ผมเป็นกรรมการและเลขานุการร่วม อย่างแรกผมอยากบอกทุกคนว่า นิยามของ Soft Power ที่สำนักงานเราศึกษามาคืออะไร ผมมองเป็นเรื่องแบรนด์ของประเทศ พอไปดูตัวชี้วัด มันเกี่ยวกับเรื่องการสื่อสารหมดเลย เป็นมุมมองที่คนต่างชาติมองมา ทำให้เขาเชื่อเรา รักเรา การสร้างความเชื่อมี 3 มิติ คือ ความคุ้นเคย ชื่อเสียง และอำนาจชักจูง ใต้ Soft Power มีตัวย่อยอีก 7 แกน เช่น วัฒนธรรม สื่อ และการสื่อสาร ดูจาก 3 มิตินี้แล้วไม่ต่างจากการสร้างแบรนด์ เวลาเราจะให้คนซื้อของ เราไม่ได้บังคับเขา คุณชอบคุณก็ซื้อ ก็เรื่องเดียวกัน อยากให้เขาซื้อของไทย รักประเทศไทย เป็นสาวกประเทศไทย เหมือนที่เป็นสาวกสินค้า เราก็ต้องทำแบรนด์และการสื่อสาร

เรามีแนวทางแบรนด์ของประเทศไทยหรือยัง

การทำสินค้าต้องใช้เงินซื้อสื่อเพื่อทำให้คนรักเรา อยากซื้อของเรา แนวทางที่เรามีตอนนี้คืออุตสาหกรรม ที่ต้องนำก็คือ อุตสาหกรรมสื่อและคอนเทนต์ เพลง หนัง ซีรีส์ แพลตฟอร์มเกี่ยวกับคอนเทนต์ทั้งหมด แล้วคุณก็ Tie-in ความเป็นไทยเข้าไป ไม่จำเป็นต้องเป็นไทยดั้งเดิม ไม่จำเป็นต้องยัดทุกอย่างเข้าไป เหมือนเราทำโฆษณาประเทศ ส่วนจะพูดเรื่องอะไรก็ต้องมาคุยกันตามภารกิจของแต่ละหน่วยงาน

ได้ข้อสรุปหรือยังว่า จะนำเสนอความเป็นไทยอะไรบ้างสู่ชาวโลก

เราเพิ่งประชุมกันครั้งแรก เริ่มจากให้ทุกคนตกลงร่วมกันว่าจะใช้อุตสาหกรรมนี้ บางคนอาจถามว่า ทำไมไม่นำด้วยสิ่งทอ คราฟต์ หรือมวยไทย ผมพยายามบอกทุกคนว่า ได้หมด แต่คุณต้องใส่ไปเป็นส่วนหนึ่งในคอนเทนต์ มันอาจไม่ใช่เรื่องการโปรโมตงานคราฟต์ในงานแฟร์นานาชาติ แต่เป็นการเอางานคราฟต์ไทยมาใส่ในคอนเทนต์ให้คนทั่วโลกดู ให้เงินภาคเอกชนทำก็ได้ มีงานวิจัยออกมาว่า หน่วยงานรัฐในต่างประเทศเป็นสปอนเซอร์ให้ทำหนังเยอะมาก เรื่อง Crazy Rich Asian ซึ่งเป็นหนังสือที่ดังมาก เกี่ยวกับผู้หญิงไชนีสอเมริกันคนหนึ่ง ไปมีแฟนเป็นคนสิงคโปร์ที่สหรัฐฯ วันหนึ่งต้องกลับมางานแต่งงานกับแฟนที่สิงคโปร์ ถึงรู้ว่าแฟนที่ดูปกติของเธอ มีครอบครัวที่รวยระดับท็อปของสิงคโปร์ รัฐบาลสิงคโปร์ลงทุนทำเรื่องนี้ร่วมกับวอร์เนอร์ บราเธอส์ แล้วก็ได้นักท่องเที่ยวกลับมามโหฬารเลย ส่วนจะใส่อะไรเข้าไปก็มาคุยกันต่อไป ขึ้นกับบริบทของแต่ละภูมิภาคด้วย ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องเดียว ถ้าภูมิภาคนี้ชอบเรามุมนี้ก็ทำเรื่องนี้ เราต้องเลือกสัก 3 4 หรือ 5 ประเด็น ไม่จำเป็นต้องเป็นประเด็นเดียว

ดร.ชาคริต พิชญางกูร จาก RS สู่ CEA วิธีบริหารองค์กรครีเอทีฟและทิศทาง Soft Power ไทย

คุณถือเป็นนักขายมือทอง หลักในการขายของให้ได้คืออะไร

ผมสนุกกับงานพัฒนาสินค้ามากกว่างานการตลาด การผลิตสินค้าหนึ่งชิ้นมี 3 ช่วง ก่อนผลิต ผลิต และขายในตลาด ผมว่าความสำเร็จอยู่ที่ช่วงแรกเกินครึ่ง การคิดว่าคอนเซปต์แบบนี้ ต้นทุนเท่านี้ รสชาติแบบนี้ รูปลักษณ์แบบนี้ ถ้ามันถูกต้องแข็งแรงตอบโจทย์ผู้บริโภค โอกาสผิดพลาดจะน้อย ตอนผมอยู่ลอริอัล เราตื่นเต้นกับวิธีคิดสินค้าของเขามาก ๆ จนทำให้ผมเลือกเรียนต่อด้านนี้

ปัญหาที่เจอคือคนจำนวนมากไม่ได้ให้เวลากับมัน แล้วมาแก้ตอนหลัง เช่น อยากขายสินค้าตรงนี้ แต่วางต้นทุนผิด ลดราคาก็ไม่ได้ ทำโปรโมชันก็ไม่ได้ ผิดไปหมด

เคล็ดลับในการคิดคอนเซปต์คือ

คุณต้องเข้าใจผู้บริโภคมาก ๆ ถ้าคุณทำอาหารเสริม ตลาดต้องการแบบเม็ด แต่คุณทำแบบชงดื่ม ก็อาจไม่ตอบโจทย์ตลาด แล้วคุณก็ต้องเข้าใจอุตสาหกรรมด้วยว่ามีใครอยู่บ้าง เพราะคุณไม่ได้สร้างตลาดใหม่ มีโอกาสที่เราจะทำสินค้าที่สร้างตลาดใหม่น้อยมาก เราไม่ได้เป็น Airbnb ได้ทุกคน ส่วนใหญ่ก็อยู่ในตลาดเดิม คุณต้องไปแย่งลูกค้าคนอื่นมา คำถามที่ต้องตอบให้ได้คือ ทำไมเขาต้องเปลี่ยนยี่ห้อมาซื้อของคุณ ถ้าตอบไม่ได้ ไม่ต้องออกสินค้า

เห็นสินค้าพวกนี้ขายดี แล้วแค่ขายตามเขาไม่ได้เหรอ

กลับไปเรื่องเดิม คุณจะทำให้เขาเปลี่ยนมาซื้อของคุณด้วยวิธีไหน คุณต้องหาทางเข้าตลาดด้วยความแตกต่าง ขายราคาเท่าเขาก็ได้ถ้าคุณทำได้ดีกว่า หรือถ้าคนขายออนไลน์เยอะ คุณก็ทำขายตรง ราคาก็เป็นความต่างได้นะ ไม่ถูกไปเลยก็แพงไปเลย ถ้าตลาดที่ผู้เล่นเยอะ แล้วตั้งราคาแพงก็เข้ายากหน่อย แต่ถ้าผู้เล่นไม่มาก ขายแพงก็เข้าได้อยู่ ของแพงมีตลาดนะ เพียงแต่ขายแพงแล้วก็ต้องตอบสนองความคาดหวังของลูกค้าให้ได้ ถ้าขายถูกอาจจะไม่ต้องสนใจตรงนี้

เราจะขายงานสร้างสรรค์ไทยในเวทีโลกแข่งกันประเทศอื่นยังไง

ต้องมองแยกเป็นอุตสาหกรรม เพราะต่างกันพอสมควร เวลาผมมองเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มีตัวแปร 3 ตัว ต้นทุนทางวัฒนธรรม ความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยี แต่ละอุตสาหกรรมไม่ต้องใช้เท่ากันก็ได้ อุตสาหกรรมที่ใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรมสูง ๆ มีโอกาสสำเร็จสูง เวลาจะไปแข่งกับใคร เราห้ามเหมือน ต้องแข่งในสิ่งที่เขาไม่มี ประเทศเราเด่นเรื่องไหนที่ประเทศอื่นไม่มีก็ผลักดันเรื่องนั้น ไม่ใช่แข่งเรื่องเทคโนโลยีอย่างเดียว

ดร.ชาคริต พิชญางกูร จาก RS สู่ CEA วิธีบริหารองค์กรครีเอทีฟและทิศทาง Soft Power ไทย

คุณไปพูดบนเวที Adman เรื่อง Creator Economy ทำไมถึงสนใจสิ่งนี้

ผมสนใจพลังของ User-generated Content พอมันออกมาจากคนธรรมดาก็มีความน่าเชื่อ น่าสนใจอีกแบบ มันคือเนื้อหาที่ส่งออกไปสู่ตลาดโลกได้ บล็อกเกอร์หลายคนทำเนื้อหาภาษาไทย พอใส่ซับไตเติ้ลก็มีคนดูมาจากต่างประเทศเยอะมาก ยอดวิวเป็นล้าน อย่าง Mark Wiens เขาอยู่ในเมืองไทยทำเรื่องอาหารไทย แต่ไปทำซีรีส์ HBO เรื่องอาหารให้สิงคโปร์ ซึ่งรัฐบาลสิงคโปร์น่าจะลงทุนให้ น่าเสียดาย เขาน่าจะทำเนื้อหาให้ไทยมากกว่า ผมอยากทำระบบนิเวศที่สนับสนุนคนกลุ่มนี้ เราใช้การทำงานรูปแบบเดิมไม่ได้ มันจะช่วยสร้างงานสร้างรายได้ให้คนเล็กคนน้อยเยอะมาก แล้วก็เป็นการส่งออกเนื้อหาของไทยสู่เวทีโลกด้วย ผมมอง 2 มิตินี้

คุณนั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการมา 6 เดือนแล้ว พบวิธีบริหารหน่วยงานรัฐให้ราบรื่นแล้วหรือยัง

กฎระเบียบก็มีอยู่ทุกที่ เอกชนก็มีข้อจำกัดแบบหนึ่ง ภาครัฐก็อีกแบบหนึ่ง แค่มองข้อจำกัดเป็นสิ่งที่ต้องจัดการ แล้วหาทางทำให้บรรลุเป้าหมายให้ได้ ความท้าทายของผมคือ การสร้างภารกิจใหม่ ๆ ให้สำนักงานมากกว่า เราทำคนเดียวไม่ได้ ทีมต้องเป็นคนขับเคลื่อน การเพิ่ม KPI เพิ่มงาน ด้วยงบประมาณที่จำกัด ทีมก็ต้องปรับตัว ซึ่งทุกคนพยายามขับเคลื่อนสิ่งที่ผมอยากทำ เพราะเขารัก CEA มีแพสชันกับงานของเขา เวลาที่เราเสนออะไรที่ต้องเพิ่มงาน แต่มันดีกับสำนักงาน เขาก็ไม่คัดค้าน แต่เราจะคาดหวังความรวดเร็วไม่ได้ ถ้าติดขัดเรื่องงบประมาณก็ใช้วิธีหาพันธมิตร จับมือภาครัฐบ้างเอกชนบ้าง พลิกแพลงกันไป

ทำงานร่วมกับลูกน้องที่เป็นนักสร้างสรรค์ มีความเป็นศิลปินสูง ๆ ยังไง

รางวัลของมนุษย์มี 2 มิติ คือเรื่องเงินกับการยอมรับ นักสร้างสรรค์ต้องการเรื่องหลังค่อนข้างมาก คุณต้องให้อิสระเขา มีเวทีให้เขาได้แสดงผลงาน คุยเป้าหมายให้ชัด คุณจะทำอะไรระหว่างทางก็ทำไป อย่าตีกรอบเขา ให้เขาหาทางเลือกมาให้เรา ถ้ามีจุดไหนที่เราไม่แน่ใจก็ผลักให้เขาคิด ลองแก้ปัญหา เราต้องไม่เข้าไปชี้นำ ต้องให้เขาหาทางออกให้เรา นักสร้างสรรค์คือคนหาทางออก

คุณบ้างานไหม

ไม่ ผมไม่เชื่อเรื่องการทำงานหนักเกินไปด้วยซ้ำ ผมทำงานได้มีประสิทธิภาพเมื่อความกดดันอยู่ระดับกลาง ๆ ถ้ามีเยอะเกินไป ผมจะไม่มีประสิทธิภาพเลย ผมทำงานหนักมากไม่ได้ ผมเลยต้องกระจายงานออก ต้องจัดลำดับความสำคัญ งานเราอยู่ในจุดที่ต้องมองอนาคต วางแผน ต้องไม่มีงานปฏิบัติการที่ยุ่งเกินไป

ดร.ชาคริต พิชญางกูร ผอ. CEA กับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ดีไซน์วีก และการทำธุรกิจโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ในทุกขั้นตอน

คุณวางแผนชีวิตว่าอายุ 50 จะลาออกจากงานธุรกิจมาเป็นอาจารย์สอนหนังสือ อะไรคือหมุดหมายที่คุณต้องไปถึงให้ได้ก่อนวางมือจากธุรกิจ

อยากเป็นคนคิดสินค้าตั้งแต่แรก แล้วทำมันออกมาขายให้ได้ เราเคยทำบริษัทฝรั่งมาก่อน เราได้แต่ขายของที่เขาคิดและทำมาเสร็จแล้ว กระบวนการคิดสินค้าให้ตอบโจทย์ตลาดเป็นความท้าทายที่ผมชอบ ผมอยากเปิดตัวสินค้าที่เราคิดเองแบบวางขายทั่วประเทศ ซึ่งก็ทำสำเร็จแล้วหลายตัว ทั้ง Functional Drink อาหารเสริม อาหารสัตว์เลี้ยง เลยอยากเปลี่ยนบทบาทมาเป็นอาจารย์ เป็นที่ปรึกษางานที่เกี่ยวกับการพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ ๆ ในบ้านเรา แต่พอที่นี่เปิดรับก็ลองดู งานที่นี่ก็เป็นที่ปรึกษาอยู่แล้ว เพราะต้องคุยกับผู้ประกอบการเต็มไปหมด ก็อยากลองดู

ในบรรดาผู้สมัครที่ผ่านถึงรอบสุดท้าย คุณเป็นคนเดียวที่มาจากภาคเอกชน อะไรทำให้คุณได้ตำแหน่งนี้

ผมก็ไม่เคยถามบอร์ดนะ คิดว่าคงไม่เหมือนคนอื่น ผมชอบงานที่นี่อยู่แล้ว เราทำงานในอุตสาหกรรมบันเทิงมานาน ติดต่อกับนักสร้างสรรค์อยู่แล้ว ผลิตภัณฑ์ก็ทำ ของก็ขาย การผลิตคอนเทนต์ก็รู้ ในทุกกระบวนการของ CEA ผมทำมาหมดแล้ว แล้วผมก็เรียนปริญญาเอกด้าน Design Thinking ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญของที่นี่ ด้วยส่วนผสมทั้งหมดนี้มั้งที่ทำให้บอร์ดตัดสินใจเลือกคนที่มาจากภาคเอกชน

ทำไมถึงชอบสอนหนังสือ

ผมได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ เยอะเวลานิสิตพรีเซนต์ สอน 3 ชั่วโมงผมจะเลกเชอร์ชั่วโมงเดียว ที่เหลือให้เขาเอาเคสที่ให้ไปมาคุยกัน แต่ละคนมาจากอุตสาหกรรมที่หลากหลาย บางคนเป็นหมอฟัน เป็นเภสัชกร เป็นลูกเจ้าของโน่นนี่ เราได้เรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ ตลอดเวลา เราไม่ใช่คนที่ฉลาดที่สุดในห้อง เราไปสร้างกระบวนการเรียนรู้ในห้อง นิสิตไทยไม่ค่อยชอบแสดงความคิดเห็น คลาสผมเลยมีคะแนนการมีส่วนร่วมในห้อง 30 เปอร์เซ็นต์ ใครยกมือถาม ยกมือตอบก็ให้คะแนน ใครนั่งนิ่งก็ศูนย์ไป ไม่กล้ายกก็ต้องยก

ถ้าเปิดวิชาใหม่ได้ จะสอนวิชาอะไร

มีการคุยกันแล้ว มหาวิทยาลัยมหิดลเชิญผมไปสอนเทอมหน้า น่าจะชื่อวิชา Business Creativity ผมจะสอนเรื่องการนำความคิดสร้างสรรค์ไปใช้ในแต่ละจุดของกระบวนการทำธุรกิจ ตั้งแต่การคิดผลิตภัณฑ์จนถึงการขาย ความคิดสร้างสรรค์ในแต่ละขั้นตอนการทำงานมีบทบาทในการช่วยให้สินค้าประสบความสำเร็จได้อย่างไร สอนเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยใช้ Design Thinking เพื่อให้เข้าใจผู้บริโภคจริง ๆ การทำ Brand Identity ก็เอานักออกแบบมาสอน แปลงคอนเซปต์ของแบรนด์ออกมาเป็น Corporate Identity อย่างไร ออกแบบแพ็กเกจยังไง ทำการตลาด ทำคอนเทนต์ที่อิมแพกต์ยังไง ตั้งแต่โฆษณาทางโทรทัศน์จนถึง TikTok

ผมอยู่ที่อาร์เอสในช่วง Transform จากบริษัททำเพลงไปสู่บริษัททำสินค้า เราจ้างบริษัทจากอังกฤษที่ชื่อ Pentagram มารีแบรนด์ ผมทำงานร่วมกับเขา เลยได้เห็นวิธีการแบบมืออาชีพ ทำหลายตัวด้วย ทั้งระดับองค์กรและผลิตภัณฑ์ ออกมาเป็น Rule Book เพื่อใช้เป็นกรอบในการทำการสื่อสาร ผมอยากสอนเรื่องพวกนี้

10 Things you never know

about Chakrit Pichyangkul

1.  ในปีที่ผ่านมา คุณฟังเพลงของศิลปินคนไหนบ่อยที่สุด

เอลวิส เพรสลีย์ ผมฟังเพราะคุณแม่ชอบ หนังเรื่อง Elvis ที่ บาซ เลอห์มานน์ เพิ่งทำผมก็ชอบมาก

2.  วันที่เข้าออฟฟิศรับประทานอาหารเที่ยงที่ไหน

ที่โต๊ะทำงาน ประชุมมันจะไหล ๆ ไปถึง 12.20 บ่ายโมงก็มีประชุมต่อ ออกไปไหนไม่ได้หรอก

3.  ลูกน้องประเภทไหนที่รักที่สุด

คนที่ชอบท้าทายผม บางทีเขาเถียงมา เราก็เห็นด้วย มันทำให้เราเห็นว่ามองได้อีกมุม ถ้าเขาเชื่อเราทั้งหมด เราก็ไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย

4.  เรื่องที่กำลังอยากเข้าใจให้ได้

ยูเรเนียน เป็นโหราศาสตร์อย่างหนึ่งของยุโรป เป็นโปรแกรมซอฟต์แวร์ ผมเรียนจบแล้วแต่ยังไม่เข้าใจนัก ต้องฝึกตีความเยอะ ๆ

5.  กิจกรรมโปรดยามเช้า

ผมตื่น 7 โมง ทุกเช้าผมจะทำเมนูเฮลตี้สมูทตี้ ต้องมีอกไก่เป็นส่วนผสมหลัก ที่เหลือเป็นการสร้างสรรค์ประจำวัน มีผักผลไม้อะไรก็เอามาใส่ ใส่นมโอ๊ตบ้าง โดยไม่ได้สนว่ารสมันเข้ากันไหม แล้วก็เอามาทานในรถ

6.  คุณทำอาหารเมนูไหนอร่อยสุด

ข้าวราดกะเพราไก่ ผมทำได้ดีมาก เนื้อไก่ต้องเป็นส่วนนี้เท่านั้น พริกก็ผสมกันหลายประเภท เพราะแต่ละชนิดมีกลิ่น มีความเผ็ดไม่เหมือนกัน ใบกะเพราก็ต้องกะเพราแดง

7.  โกนหนวดครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่

ถ้าเกลี้ยงเลยก็ 2 เดือนที่แล้ว ผมแพ้อะไรสักอย่างเลยต้องโกน แต่ทนเห็นหน้าตัวเองตอนไม่มีหนวดไม่ได้ หน้ามันซีด หน้าจืด ผมไว้หนวดมา 10 กว่าปีแล้ว

8.  วันอาทิตย์จะเจอคุณได้ที่

สวนรถไฟ ผมไปวิ่งออกกำลังกาย 3 สวนตรงนั้น 5 – 10 กิโล ชวนเพื่อนไปวิ่งบ้าง วิ่งเสร็จก็กินข้าว เป็นวันที่ผมอยู่กับตัวเอง ตอนเย็นก็ไม่ค่อยมีนัด ผมไม่ค่อยกินข้าวนอกบ้าน ไม่ค่อยออกไปแฮงก์เอาต์

9. แข่งแฟนพันธุ์แท้ตอนไหนได้บ้าง

ตอนออสการ์ ผมชอบดูหนัง บ้าหนังรางวัล ช่วงหนึ่งรู้หมดว่าใครเข้าชิงรางวัลไหน ใครได้

10.  ตอนนี้อยากไปเที่ยวที่ไหน

โครเอเชีย ผมชอบสถาปัตยกรรม แล้วก็เป็นโลเคชันถ่ายฉากสำคัญของซีรีส์ Game of Thrones ซึ่งผมชอบมาก ผมดูหนัง ดูซีรีส์เยอะ ดูแล้วก็อยากตามรอย ดู Chef’s Table ใน Netflix ก็อยากตามไปชิม

Writer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ