“ขอโทษด้วยนะครับที่ต้องให้ถอดรองเท้า โรงแรมยังไม่เสร็จเรียบร้อยดี”
ศิรเดช โทณวณิก เอ่ยปากเมื่อเราก้าวเท้าเข้า ASAI Bangkok Chinatown โรงแรมน้องใหม่ล่าสุดของเครือดุสิตธานี ซึ่งตั้งอยู่บนอาคาร I’m Chinatown ข้าง MRT สถานีวัดมังกร ในย่านเยาวราช
ภาพกรรมการผู้จัดการบริษัทอาศัยโฮลดิ้งส์เดินเท้าเปล่าในล็อบบี้ ง่วนอยู่กับการทดลองนั่งเก้าอี้แต่ละตัวในโรงแรมว่านั่งสบายเพียงพอหรือไม่ ไม่ใช่ภาพของทายาทรุ่นสามบริษัทดุสิตธานีที่เราคาดไว้ แต่ลูกชายคนโตของ ชนินทธ์ โทณวณิก รองประธานกรรมการและประธานคณะกรรมการบริหาร ดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล ตั้งอกตั้งใจปั้น ASAI แบรนด์โรงแรมใหม่ในเครือดุสิตธานี เกินกว่าจะนั่งสั่งการเฉยๆ
ช่วงปิดตัวของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ เพื่อปรับเปลี่ยนพื้นที่เป็นดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค โครงการอสังหาริมทรัพย์มูลค่าหลายหมื่นล้านบาท และย้ายร้านอาหารและคาเฟ่ในโรงแรมไปอยู่ในบ้านดุสิตธานีในซอยศาลาแดงชั่วคราว ระหว่างนั้น The Cloud ได้มีโอกาสพูดคุยกับชาวดุสิตธานีหลายครั้ง
ทั้งจัด กิจกรรม Walk with The Cloud พาผู้อ่านเข้าไปเดินชมและฟังประวัติศาสตร์ในทุกแง่มุมของดุสิตธานี กรุงเทพฯ เป็นกลุ่มสุดท้าย สนทนาเรื่องการบริหารกับ ศุภจี สุธรรมพันธุ์ CEO หญิงแกร่งของดุสิตธานี รวมถึงพูดคุยเรื่องจิตวิญญาณของโรงแรมไทยกับชนินทธ์ โทณวณิก หลังวันปิดประตูโรงแรม
ตำนานของดุสิตธานีเป็นอย่างไร เราได้ฟังมาแล้วพอสมควร แต่บทบาทใหม่และทิศทางใหม่ของดุสิตธานีในการดูแลนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ในอนาคตเป็นอย่างไรบ้าง ทายาทดุสิตธานีจะขอเล่าให้ฟังก่อนวันเปิดโรงแรมน้องใหม่ของเครือดุสิต ซึ่งฉีกแนวมารับนักท่องเที่ยว Millennial Mindset โดยเฉพาะ
ธุรกิจ : บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน)
ปีก่อตั้ง : พ.ศ. 2491
อายุ : 72 ปี
ประเภท : โรงแรมและรีสอร์ต
เจ้าของและผู้ก่อตั้ง : ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย
ทายาทรุ่นที่สอง : ชนินทธ์ โทณวณิก
ทายาทรุ่นที่สาม : ศิรเดช โทณวณิก (แบรนด์ ASAI พ.ศ. 2561)
โรงแรมไทยในตำนาน
จุดเริ่มต้นของดุสิตธานี เริ่มจากถนนเจริญกรุง บนถนนสายแรกของไทยที่ตัดแบบตะวันตก ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ก่อตั้งโรงแรมปริ๊นเซส เป็นโรงแรมแรกในประเทศไทยที่มีสระว่ายน้ำ ชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในเมืองไทยนิยมมาพัก ทำให้ท่านผู้หญิงชนัตถ์เข้าใจกลุ่มตลาดชาวตะวันตก
ต่อมาเมื่อคิดสร้างโรงแรม 5 ดาวแบบไทยให้ได้มาตรฐานโลก จึงขายโรงแรมเดิม เพื่อนำทุนมาสร้างโรงแรมใหม่บนหัวมุมถนนศาลาแดง พื้นที่นี้กว้างขวางมาก เดิมเป็นบ้านของ เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เสนาบดีว่าการกระทรวงมหาดไทยในรัชกาลที่ 6 อยู่ใกล้สวนลุมพินี
เมื่อไปกราบพระราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ที่สวนลุมพินี ท่านผู้หญิงคิดชื่อโรงแรมออกว่า ดุสิตธานี พ้องกับชื่อสวรรค์ชั้นดุสิต ชั้นที่ 4 ในไตรภูมิมิกถา และชื่อเมืองประชาธิปไตยจำลองของรัชกาลที่ 6
ตึกที่สูงที่สุดและหรูหราที่สุดในเมืองไทยเป็นแรงบันดาลใจและแม่แบบให้โรงแรมทั่วราชอาณาจักร ซึ่งก่อนหน้านี้นิยมใช้ชื่อฝรั่ง หรือสร้างโรงแรมราคาย่อมเยา ต่างหันมาใช้ฟอนต์ชื่อโรงแรมอ่อนช้อยลายกนก ตกแต่งโรงแรมด้วยไม้สัก พนักงานสวมชุดผ้าไหม ผ้าฝ้าย เสิร์ฟอาหารไทย มอบบริการสุภาพอ่อนน้อมแบบไทย
เวลาผ่านไปครึ่งศตวรรษ ดุสิตธานีกลายเป็น 1 ใน 5 ธุรกิจที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ไทยและยังดำเนินการต่อมาจนปัจจุบัน เป็นตำนานของโรงแรมไทยแท้ที่ยังมีชีวิตและเติบโตไปเรื่อยๆ ท่ามกลางธุรกิจโรงแรมเชนทั่วโลก ปัจจุบันดุสิตธานีมีโรงแรม รีสอร์ต และวิลล่าให้เช่า ซึ่งมีทั้งหมดมากกว่า 270 แห่งใน 14 ประเทศ ไม่รวมการลงทุนในกลุ่มธุรกิจการศึกษาด้านการโรงแรม อาหาร อสังหาริมทรัพย์ และบริการอื่นๆ
จุดแข็งของดุสิตธานีมี 2 ข้อ หนึ่งคือทำเล โรงแรมของบริษัทดุสิตต้องตั้งอยู่บนทำเลทองคำ พื้นที่หน้ากว้างติดถนนเสมอ ไม่ว่าที่กรุงเทพฯ พัทยา ภูเก็ต หัวหิน เชียงใหม่ ในต่างประเทศ ดุสิตธานีที่ดูไบอยู่ข้างห้างที่ใหญ่ที่สุดในโลกเพียงเดิน 5 นาทีถึง สองคือความเป็นไทยในทุกรายละเอียด ไม่ว่าการบริการ การออกแบบตกแต่งโรงแรม อาหาร สปา ฯลฯ ซึ่งคุณภาพยอดเยี่ยมและถูกอกถูกใจคนทั่วโลก
“ดุสิตมีคำพูดว่า Gracious Hospitality เป็นความอบอุ่นและความอยากช่วยเหลือโดยที่อีกฝ่ายไม่ต้องขอก่อน มีการไหว้ การยิ้ม การสังเกตว่าเขาต้องการความช่วยเหลือรึเปล่า ถ้าแขกถามว่าห้องน้ำอยู่ตรงไหน ฝรั่งอาจชี้มือเฉยๆ แต่ของเราจะขอพาเดินไปส่งนะ เป็นเรื่องเล็กๆ ที่สร้างความแตกต่างครับ
“ตอนนี้เรากำลังพยายามหาความหมายใหม่ของ Thai Hospitality ในฐานะผู้เล่นที่อยู่ในวงการมานาน คิดว่ามีสิ่งที่ทำได้อีกเยอะ เพิ่มเรื่อง Wellness ซึ่งไม่ใช่แค่การนวด แต่คือการกินการอยู่ เราอยากผสมผสานไปทุกหนทุกแห่ง เช่น หมอนที่ช่วยให้หลับสบายขึ้น Welcome Drink และอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ดนตรีตามทางเดินหรือพื้นที่ส่วนกลางที่ช่วยให้ผ่อนคลาย”
ทายาทรุ่นสามของดุสิตธานีอธิบายเคล็ดลับการบริการ ที่ทำให้ดุสิตธานีประสบความสำเร็จมายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ
Grandmother’s Vision
“ตอนทำดุสิตธานี กรุงเทพฯ คนมองว่าคุณย่าทำ Traditional Thai Hotel แต่จริงๆ ท่านทำ Thai Hotel for The Future ดุสิตธานี กรุงเทพฯ ถึงอยู่ได้นานถึงห้าสิบปี เพราะอยู่มานาน คนมักคิดว่าเป็นโรงแรม Traditional แต่ตอนที่สร้าง สถาปนิกก็ไม่ใช่คนไทย เป็นคนญี่ปุ่นที่ดีไซน์โรงแรมโอกุระแห่งแรก ให้เป็นตึกสูงที่สุดในญี่ปุ่นตอนนั้น พอมาออกแบบดุสิตธานี ก็เป็นตึกที่สูงที่สุดในเมืองไทยในยุคนั้น ไม่ Traditional เลย เป็นความคิดที่ก้าวล้ำมากๆ
“ที่ผ่านมาคนรู้จักดุสิตธานีเรื่องการเป็นตำนาน เป็น Heritage ซึ่งดีมากนะครับ แต่ผมว่าสิ่งที่ไม่ควรลืมคือวิสัยทัศน์ของคุณย่าซึ่งมองการณ์ไกลตลอดเวลา ท่านพยายามทำนายว่า อีกห้าปี สิบปี หรือมากกว่านั้นโรงแรมจะเป็นยังไง ประเทศจะเป็นยังไง เรื่องพวกนี้สำคัญมากกว่า ท่านถึงทำโรงเรียนการโรงแรม (วิทยาลัยดุสิตธานี) เอง แม้ตอนนั้นไม่มีใครสนับสนุน คุณย่าพูดเสมอว่าการทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแข็งแรงต้องมีบุคลากรที่ดี เพราะฉะนั้นต้องทำไปด้วยกันทั้งหมด”
ไม่ใช่ไม่เสียดายตึกเก่า ชีวิตของศิรเดชผูกพันกับดุสิตธานีสาขาแรกตั้งแต่จำความได้ ในฐานะหลานชายผู้ก่อตั้งโรงแรม ลูกชายของผู้บริหารโรงแรม สมัยเป็นเด็กชายวิ่งซนใน Courtyard เขียวขจีและห้องพักชั้นต่างๆ หนึ่งในความทรงจำแรกๆ ของศิรเดชคือความตื่นเต้นตอนเช้าก่อนนั่งรถไปโรงเรียน ต้องแวะไปดุสิตธานี กรุงเทพฯ คุณย่าจะเอากล้วยใส่มือ ให้เขาเอาไปป้อนลูกช้างชื่อบิมโบ้ที่โรงแรมเลี้ยงไว้รับแขก
“ตอนเด็กคิดว่าเป็นความทรงจำที่ดีต่อสัตว์ ทำให้ผมรักสัตว์ แต่โตขึ้นมาก็รู้ว่ามันเป็นการทรมานสัตว์เหมือนกันนะ” Hotelier รุ่นใหม่ที่ใส่ใจเรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเอ่ย “ดุสิตธานีทำได้ดีมาตลอด อะไรที่ดีเราก็ต้องคงสิ่งเหล่านั้นไว้ แต่ผมเชื่อเสมอว่าสิ่งที่ทำให้เราประสบความสำเร็จในอดีต ไม่จำเป็นว่าจะทำให้เราสำเร็จในอนาคต เราต้องมองไปอนาคตข้างหน้า หาเป้าหมายใหม่ตลอดเวลา”
มากกว่าตัวเลขบรรทัดสุดท้าย
“ก่อนหน้านี้เป้าหมายของโรงแรมทั่วไปคือตัวเลขบรรทัดสุดท้ายว่ามีกำไรเท่าไหร่ ตั้งแต่ยุคเจ็ดศูนย์แปดศูนย์ การเดินทางเริ่มบูมในอเมริกา ทั้งโลกมีธุรกิจข้ามชาติมากขึ้น คนเริ่มเดินทางมากขึ้น คนไทยก็ไปรับแบบแผนธุรกิจจากอเมริกา ทุกอย่างต้องใหญ่หมด More is more เดินเข้ามาเห็นบุฟเฟต์ต้องมีร้อยกว่าอย่าง แต่คอนเซปต์ตอนนี้คือ Less is more ไม่จำเป็นต้องเป็นโรงแรมที่มีห้องบอลรูมใหญ่ที่สุด มีบุฟเฟต์ไลน์ที่ใหญ่ที่สุด ยิ่งทำมากเท่าไหร่ก็ยิ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อาหารเหลือทิ้งยิ่งเยอะ ต้นทุนก็ยิ่งเยอะ”
ศิรเดชอธิบายว่าตลาดโรงแรมหลากหลายมากเพราะต้องรองรับผู้คนหลากหลาย ตั้งแต่คนชอบที่แมสมากๆ ไปจนถึงคนต้องการความเป็นส่วนตัวสุดๆ ตั้งแต่แบบหรูหราจนสมถะเต็มที่ โลกของโรงแรมยุคใหม่ โดยเฉพาะหลัง COVID-19 บีบบังคับให้ธุรกิจโรงแรมทั่วโลกต้องปรับตัวสู่การ Personalization มากขึ้น ไม่ใช่แค่โรงแรมห้าดาว แต่โรงแรมแบบอื่นๆ ก็ต้องมีตัวตนที่เข้าถึงความเป็นมนุษย์ เพราะคนต้องการโรงแรมรูปแบบเดิมน้อยลง สนใจโรงแรมแบบบูทีคมากขึ้น จากการสร้างโรงแรมทุกแห่งเหมือนกันหมด เครือโรงแรมใหญ่ๆ ทั่วโลกจึงเริ่มหันมาสร้างที่พักแต่ละแห่งให้มีเอกลักษณ์แตกต่างกัน
“ผมเชื่อว่าโรงแรมหรือธุรกิจอะไรก็ตามต้องมีเป้าหมาย กำไรก็ส่วนหนึ่ง แต่เราต้องมีสิ่งที่เราเชื่อ มีสิ่งที่ทำให้ตื่นขึ้นมาทุกเช้าเพื่อลงมือทำ มีปัญหาที่อยากแก้เพื่อโลกใบนี้ เพราะเราไม่ได้อยู่ในโลกนี้ตัวคนเดียว เราเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศที่ใหญ่กว่า ถ้าตอบได้ว่าโรงแรมตอบโจทย์ย่านที่ตั้งอยู่อย่างไร ก็จะมีความยั่งยืนในหลายๆ ด้าน เช่น ช่วยเหลือชุมชน เป็นพื้นที่ฝึกพนักงานเพื่อสร้างเส้นทางอาชีพ อาศัยถึงเป็นโอกาสดีมากให้เราได้ลองลงมือทำบางอย่างที่สร้างอิมแพ็กด้านบวก เราไม่ต้องการได้อยู่คนเดียว เราได้ คนอื่นก็ต้องได้ ทุกคนได้หมด”
ผู้บริหารหนุ่มเล่าแนวคิด Live Local ของแบรนด์อาศัย ซึ่งจะเปิดตัวที่เยาวราชเป็นแห่งแรก ตามมาด้วยที่สาทรตอนปลายปี 2020 ต่อด้วยที่ย่างกุ้ง เมียนมา 1 แห่ง กับที่เซบู ฟิลิปปินส์อีก 3 แห่ง
“เป้าหมายหลักของอาศัยคือ Empower Locality และ Nurture World’s Communities ไม่ใช่แค่เป็นคำโปรยสวยๆ นะครับ แต่มันเป็นเป้าหมายหลักว่าเราอยากจะเปลี่ยนแปลงโลกยังไง เราอยากสร้างอิมแพ็กด้านบวกให้ชุมชน ไม่ได้มาแข่งขันกับใคร เยาวราชมีร้านอาหารจีนอร่อยๆ เต็มไปหมด แขกมาพักก็อยากออกไปกินข้างนอก แล้วทำไมเราต้องไปเปิดร้านแข่งกับชุมชน แต่แถวนี้ยังไม่มีอาหารเวียดนาม เผอิญดุสิตมีร้านเธียนดองทำอาหารเวียดนามอยู่แล้ว เราเลยมีอาหารเวียดนามแบบเธียนดอง แต่เด็กลง สนุกขึ้น”
“ลาน Courtyard แทนที่จะทำเป็นน้ำพุติดไฟสีๆ แบบโรงแรมเชนทั่วโลก ผมว่าเปลืองค่าไฟ ทำพื้นที่สีเขียวแบบที่ดุสิตธานี กรุงเทพฯ เคยมีดีกว่า แต่ทำเป็นสวนครัวออร์แกนิก ลดมลพิษจากการขนส่งอาหาร พื้นที่รอบๆ ก็จัดกิจกรรมอย่างนั่งสมาธิหรือเล่นโยคะได้ แล้วอาศัยที่สาทรจะมีเครื่องทำปุ๋ยจากวัตถุดิบเหลือๆ เราจะเอาปุ๋ยจากที่สาทรมาปลูกผักที่นี่ต่อ เราอยากทำ Circular Economy ให้โรงแรมที่เราสร้างเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาให้โลก
“ที่เซบูก็เหมือนกัน เราคุยกับเชฟชาวสเปนที่เปิดร้านที่มะนิลา เป็นหนึ่งในห้าสิบร้านอาหารที่ดีที่สุดในเอเชีย เขาฝึกเด็กด้อยโอกาสให้เป็นเชฟ เราชอบทำงานกับคนที่มีวิสัยทัศน์แบบนี้ คนที่อยากสร้างเรื่องดีๆ ให้สังคม” ผู้บริหารรุ่นใหม่เล่าอย่างกระตือรือร้น
Disruptor ของดุสิตธานี
ดุสิตธานีมีโรงแรมในเครือหลากหลาย ตั้งแต่หรูหรา 5 ดาวไปจนถึงระดับกลางราคาเป็นมิตร ได้แก่ Dusit Thani, Dusit Devarana, dusitD2 และ Dusit Princess แต่ทั้งหมดยังเป็นโรงแรมแบบ Full Service ขณะที่เครือโรงแรมหรูอื่นๆ เริ่มเจาะตลาดคนรุ่นใหม่ แต่ในอาเซียนยังไม่มีแบรนด์ไหนโดดเด่นเป็นเจ้าตลาด เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ศิรเดชเลยตัดสินใจเริ่มแบรนด์ที่พักแนวไลฟ์สไตล์ที่ฉีกแนวออกจากโรงแรมแบบเดิมที่เป็นอยู่
“พอเสนอเรื่องอาศัยกับคุณศุภจีและบอร์ดบริหาร ทุกท่านก็เห็นด้วย ต้องขอบคุณคุณศุภจีมากที่ให้อิสระเราเต็มที่ ทั้งทีมไว้วางใจเรามาก ช่วยลงทุนซื้อที่ใจกลางเมืองสาทร ช่วยให้เราสร้างโรงแรมใหม่ขึ้นมากับมือ คุณศุภจีบอกผมตั้งแต่วันแรกว่า ทำให้อาศัยเป็น Innovative Vehicle ของดุสิตธานีเลยนะ อยากจะทดลองอะไร ใช้อาศัยเป็น Disruptor ของดุสิตธานีเลย วิ่งให้เร็ว ทำให้มันโต แล้วมาดูว่ามีอะไรที่เราเอามาทำกับดุสิตได้บ้าง”
“ก่อนหน้านี้ผมคิดว่าดุสิตธานีกับอาศัยต่างกันมาก แต่สองสามปีที่ผ่านมา ดุสิตธานีเปลี่ยนแปลงตัวเองไปเยอะมากๆ ตั้งแต่คุณศุภจีและทีมบริหารใหม่เข้ามาดูแลบริษัท เราเห็นความเปลี่ยนแปลง เช่น ด้านความยั่งยืน ด้านการออกแบบ ด้านการบริการ เริ่มมีหลายสิ่งที่คล้ายกัน อย่างที่นี่มี Digital Concierge เช็กอินเองได้ภายในสามนาที ทำอะไรออนไลน์เอง ไม่จำเป็นต้องมีคนยืนอยู่เจ็ดแปดคน ดุสิตธานีแบบใหม่ก็มีเหมือนกัน สิ่งที่ต่างกันจริงๆ น่าจะเป็นตลาดลูกค้า วัฒนธรรมการบริการแขกไฮเอนด์เป็นอีกอย่าง และขนาดห้องของอาศัยที่เล็กกว่า”
เมื่อถามถึงการทำงานร่วมกับคนในครอบครัว ทายาทรุ่นสามชี้ว่าการให้มืออาชีพเข้ามาดูแลกิจการครอบครัวเป็นเรื่องดี เขาได้โอกาสและอิสระในการลองทำสิ่งใหม่ที่แตกต่าง และตรงกับความเชื่อของเขาจริงๆ
“ผมชอบอุตสาหกรรมนี้อยู่แล้ว พอเข้ามาอยากเปลี่ยนบางอย่าง พ่อเห็นด้วยบ้าง แต่ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย (หัวเราะ) ผมกับพ่อคิดไม่เหมือนกันหลายเรื่อง ส่วนใหญ่เป็นเพราะความต่างระหว่างวัย แต่สิ่งที่เราต้องการเหมือนกันคืออยากได้สิ่งที่ดีที่สุดให้กับบริษัทและเพื่อนร่วมงาน ทีมบริหารใหม่นี้อายุไม่ต่างกับผมมาก เลยช่วยเป็นสะพานเชื่อมให้ผมกับพ่อคุยกันรู้เรื่อง”
“ผู้ใหญ่ชอบเตือนให้ระวัง แต่ผมคิดว่าการกล้าลองกล้าทำเป็นการเรียนรู้ที่สนุกที่สุด การลองผิดลองถูก เราสั่งให้คนอื่นทำแทนไม่ได้ แต่ละรุ่นมีวิธีการทำงานไม่เหมือนกัน ผมมีเพื่อนๆ ที่ตกที่นั่งเดียวกันหลายคน พวกที่ทางบ้านมีธุรกิจ บางทีเราก็ปรึกษากันว่าทำยังไงดี ที่นั่งร้อนมาก บางคนทะเลาะกับพ่อแล้วไม่สานต่อไปเลย ดังนั้นอย่างแรกต้องพิสูจน์ตัวเองก่อนว่าเราทำได้ ข้อนี้สำคัญที่สุด ข้อที่สองคือหาคนที่เชื่อในวิสัยทัศน์ของเรา ในกลยุทธ์ของเรา เพราะเราทำคนเดียวไม่ได้ ต้องขายวิสัยทัศน์ของเราให้คนอื่นเชื่อ ไอเดียดีไม่พอ ต้องหาคนที่เก่งกว่าเรามาเป็นพาร์ตเนอร์ เขาทำอะไรได้หลายอย่างซึ่งเราทำไม่ได้ แล้วเราจะได้เรียนรู้จากเขา”
บทเรียนนอกโรงแรม
เบื้องหลังอาณาจักรธุรกิจโรงแรม ทายาทต้องฝึกทำงานตั้งแต่อายุน้อย ศิรเดชฝึกงานครั้งแรกตอนอายุ 15 ปี ในฐานะพนักงานฟรีซเบอร์เกอร์ที่แม็กโดนัลด์อยู่ 3 เดือน
“ตอนทำอาทิตย์แรกๆ ตื่นเต้นมาก แต่ทำไปเหมือนเดิมสองเดือนก็เบื่อ เลยทำให้รู้ว่าการสร้างบริษัทต้องทำให้พนักงานมีส่วนร่วม ให้ทำงานอย่างเดียวอย่างเดิมไปเรื่อยๆ ไม่ได้ ทุกคนต้องมีเส้นทางอาชีพของตัวเอง มีโอกาสเรียนรู้ สร้างพื้นที่หรือตัวช่วยให้เขาพัฒนาตัวเอง”
ทายาทดุสิตธานีผู้ไปเรียนที่สหราชอาณาจักรแต่เด็ก พบว่าข้อดีของการบริการแบบยุโรปคือมาตรฐานแบบมืออาชีพ การฝึกหัดนักเรียนใหม่ให้เข้าสู่วงการทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านแข็งแรงเป็นระบบชัดเจน อุตสาหกรรมโรงแรมก็เปิดโอกาสให้เข้าไปฝึกฝน เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาความสามารถและเส้นทางอาชีพระยะยาว ขณะที่โรงแรมในไทยนิยมจ้างมืออาชีพมากกว่าสร้างคนหรือฝึกหัดเด็กใหม่ๆ นี่เป็นจุดอ่อนของอุตสาหกรรมที่เขาอยากแก้ไข
ตัวเขาเองทุกครั้งที่กลับมาเมืองไทยจะฝึกงานทุกครั้ง ทั้งที่ดุสิตธานีและบริษัทอื่นๆ เนื่องจากเคยทำงานสายไฟแนนซ์ในธนาคารอยู่ 2 ปี เมื่อกลับมาจับงานของดุสิตธานี เขาจึงดูแลฝ่ายพัฒนาธุรกิจและการลงทุนเป็นส่วนใหญ่ ทั้งยังดูแลฝ่ายการศึกษาด้วย
“ผมไม่ใช่สายไฟแนนซ์จ๋า ถ้าคุยกับคนทำงานไฟแนนซ์ เขาจะบอกได้เลยว่าผมไม่มีหัวไฟแนนซ์ (หัวเราะ) ผมบริหารเรื่องการจัดการ การสร้างคอนเซปต์ พัฒนาสินค้าใหม่ การขายแบรนด์ให้คนอื่น และการดูแลแบรนด์เราเอง การหาคนมาลงทุนกับแบรนด์เราไม่ใช่เรื่องง่าย เดเวลอปเปอร์ต้องเก็บเงินเป็นพันล้านเพื่อสร้างโรงแรมของเรา ดังนั้นต้องคิดว่าเราจะขายโรงแรมของเราให้ยั่งยืนยังไง ไม่ใช่ทำเป็นดุสิตธานีไปสองสามปีก็ต้องเปลี่ยนแบรนด์ เลยไม่ได้ดูแค่ตัวเลข แต่ต้องดูว่ามาตรฐานของสินค้าเราเป็นยังไง แบรนด์ของเราเหมาะกับใคร ทำยังไงถึงจัดการส่งต่อโรงแรมให้ฝ่าย Operation สำเร็จ เป็นฝ่ายที่ต้องทำงานร่วมกับคนหลายๆ ด้าน”
คอนเซปต์การมีส่วนร่วมกับชุมชนและความยั่งยืนเป็นประเด็นหลักที่อาศัยตั้งเป้าไว้ บวกกับทรัพยากรและความรู้จากทีมงานดุสิตธานี ทำให้แบรนด์อาศัยเริ่มต้นอย่างแข็งแรง นอกจากนี้ประสบการณ์การทำร้านอาหารและจัดงาน Wonderfruit ของศิรเดช ทำให้ผู้บริหารหนุ่มรู้จักเครือข่ายคนทำงานสร้างสรรค์ ศิลปิน นักออกแบบ สถาปนิก และเชฟรุ่นใหม่
จากแต่ก่อนที่โรงแรมต้องมีทีมทำทุกอย่างเอง มีเชฟประจำทุกตำแหน่ง ก็หันมาร่วมมือกับนักสร้างสรรค์ทั้งไทยและต่างชาติ เช่น ร่วมมือกับเชฟจาร์เรดและเปาโลที่ทำร้าน Peppina, Appia และ Soul Food Mahanakorn ส่วนสาขาสาทรที่จะเปิดปลายปีก็ร่วมมือกับเชฟโบ-ดวงพร ทรงวิศวะ แห่งร้านโบ.ลาน และเครือข่ายเกษตรกรจากสวนสามพราน
ต่อไปอาศัยยังจะมีผลิตภัณฑ์คราฟต์เบียร์ผสมน้ำมะพร้าวชื่อ ‘ชายเลน’ เพราะส่วนหนึ่งของรายได้จะไปสนับสนุนคุ้มครองป่าชายเลนทางภาคใต้ และกาแฟผสมน้ำมะพร้าวแบรนด์ของตัวเอง โดยร่วมมือกับ ลี-อายุ จือปา เจ้าของแบรนด์อาข่า อ่ามา ที่ผลิตกาแฟชั้นเยี่ยมจากแม่จันใต้จนไปไกลถึงเปิดสาขาที่โตเกียว
ด้านการตกแต่งโรงแรม แบรนด์อาศัยเลือกใช้ภาพของช่างภาพท้องถิ่น สาขาเยาวราชเป็นภาพของ Dogduckpugped ส่วนสาขาสาทร ใช้ภาพถ่ายของ เอก-พิชัย แก้ววิชิต วินมอเตอร์ไซค์ย่านราชเทวีที่ตอนนี้ผันตัวไปเป็นช่างภาพเต็มเวลา
ส่วนข้อมูลเกี่ยวกับที่ท่องเที่ยวในเยาวราช สมชัย กวางทองพาณิชย์ พ่อค้าเชือกและนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมาถ่ายทอดให้ทีมได้รู้จักย่านนี้อย่างคนท้องถิ่น
หัวใจนักเดินทาง
แรงบันดาลใจที่ทำให้ท่านผู้หญิงชนัตถ์ตั้งดุสิตธานี เกิดจากความชื่นชอบการท่องเที่ยวพักผ่อนตามโรงแรมหรูหราในอเมริกายุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
สำหรับหลานชายคนโต การเติบโตในครอบครัวคนทำโรงแรมทำให้ศิรเดชชอบเดินทางท่องเที่ยว ไม่ใช่แค่พักผ่อนตามโรงแรมหรู แต่พักผ่อนตามโรงแรมท้องถิ่นไปจนถึงกางเต็นท์นอนตามป่าเขา ศิรเดชชอบการท่องเที่ยวแบบธรรมชาติ ไม่ว่าปีนเขาหิมาลัย เข้าป่า Amazon เดินขึ้นเขาไปมาชูปิกชู แบกสัมภาระไปเล่นสกีแถบภูเขาไฟ ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติทำให้เขาฝังใจว่าถ้าทำโรงแรมที่ไหน ต้องทำให้โรงแรมกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของสภาพแวดล้อม
“โรงแรมเป็นธุรกิจที่มีคนเยอะมาก วิธีบริหารหรือทำงานกับเพื่อนร่วมงานเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง ชีวิตในธุรกิจนี้ต้องเจอคนหลายชาติ หลายศาสนา หลายวัฒนธรรม มันน่าสนใจเพราะงานโรงแรมคือการขายประสบการณ์ การเที่ยวบ่อยๆ เป็นการเรียนรู้อย่างหนึ่ง”
“บางคนคิดว่าตัวโรงแรมคือสินค้า แต่ส่วนหนึ่งของสินค้านี้คือความสัมพันธ์และการปฏิสัมพันธ์กัน ซึ่งจับต้องไม่ได้แต่สำคัญมาก มันได้มาจากการพูดคุยพบปะกันเท่านั้น เวลาเที่ยวผมชอบคุยกับเจ้าของโรงแรมหรือพนักงานต้อนรับ ถามเขาว่าแถวนี้มีอะไร ช่วยแนะนำร้านอาหารได้มั้ย ไม่ค่อยชอบถ้าเขาแนะนำให้กินในโรงแรม เรามาเที่ยวแล้วก็อยากกินอาหารข้างนอก”
“ผมเคยเจอโรงแรมนึงที่บัวโนสไอเรส อาร์เจนตินา อยู่ในย่านเมืองเก่าคล้ายๆ เยาวราชเหมือนกัน เป็นเมืองเก่าที่คนรุ่นใหม่เข้าไปทำให้ฮิป มีคาเฟ่ มีร้านอาหารเก๋ๆ Concierge ทั้งรับแขกและเสิร์ฟทุกอย่าง เขาแนะนำว่าเดินออกไปซ้ายมีบาร์ ขวามีร้านไส้กรอกโชริโซ่ เป็นข้อมูลคนวงในที่หาจากในอินเทอร์เน็ตไม่ได้ ผมชอบมาก อาศัยก็เป็นแบบนั้น พนักงานของเราทุกคนก็ตั้งใจเป็น Ambassador ให้ย่านนี้”
“เว็บไซต์โรงแรมของเราเล่าเรื่องชุมชน มีรายชื่อร้านอาหารแถบนี้ร้อยกว่าร้าน บางร้านแทบไม่มีชื่อร้าน เราก็แนะนำเส้นทางและเมนูเด่น และจะคอยอัปเดตเรื่อยๆ อยากทำให้แขกเพราะเขาอุตส่าห์มาบ้านเราแล้ว ข้อมูลคืออำนาจที่เราให้เขาได้ จริงๆ มีร้านหนึ่งผมไม่ค่อยอยากแนะนำเลย กลัวเต็มแล้วไม่ได้กิน (หัวเราะ) ร้านนี้มีแค่สามโต๊ะ เป็นร้านอาหารจีนแคะเล็กๆ ในซอย เดินจากตรงนี้ไปห้านาที อาหารต้องสั่งจองก่อน ไม่งั้นต้องรอนานมาก คุณยายเป็นคนขาย แล้วลูกๆ ก็ทำอาหารอยู่ด้านหลัง มีฟองเต้าหู้ทอด หมูตุ๋น เป็นอาหารรสมือแม่ที่สุดยอดมาก เป็นทุกอย่างของ Homecooking เย็นตาโฟอร่อย มะเขือผัดก็อร่อย เป็น Hidden Gem มาก เดินผ่านสิบรอบคุณก็อาจไม่รู้ว่าเป็นร้านอาหาร”
ผู้บริหารหนุ่มอธิบายว่ากลุ่มเป้าหมายของอาศัยคือ Digital Nomads และชาว Millennial Mindset ซึ่งสนใจเรื่องราวท้องถิ่น รักสิ่งแวดล้อม และใช้เทคโนโลยีคล่องแคล่ว
“โรงแรมที่ผมชอบมากอีกที่ชื่อ citizenM จากอัมส์เตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ น่าจะเปิดมาราวสิบสองปีแล้ว ขนาดห้องประมาณสิบหกตารางเมตร ใส่เตียงเข้าไปแล้วเต็มห้องเลย แต่ผมไปแล้วประทับใจสุดๆ ทุกอย่างอิเล็กทรอนิกส์หมด แต่มีคนคอยช่วยดูแลให้ราบรื่นนะครับ มีบาร์ มีร้านอาหาร ระบบทุกอย่างเรียบง่ายและมีประสิทธิภาพมาก”
แม้การเจาะตลาดกลุ่มคนรุ่นใหม่และเน้นเรื่องราวท้องถิ่นจะฟังดูคล้ายโฮสเทล แต่โครงสร้างธุรกิจของอาศัยที่ขายเป็นห้อง ไม่ได้ขายเป็นเตียงราคาย่อมเยา ยังคงลักษณะความเป็นโรงแรมอยู่
“เราอยากให้พื้นที่โรงแรมเชื่อมต่อกับชุมชนมากขึ้น ผสมผสานเรื่องความเป็นส่วนตัวที่คุณต้องมี กับเรื่องราวชุมชนที่คุณอยากรู้จักเข้าด้วยกัน เอาข้อดีของที่พักสองประเภทมาชนกัน ล็อบบี้มีฟังก์ชันหลากหลาย เป็นร้านอาหาร เป็นบาร์ มีโต๊ะพูลให้นั่งเล่น มีอาหารแบบ Grab & Go มีห้องประชุม มีสวนออร์แกนิกที่จัดเวิร์กช็อปและกิจกรรมได้ ทุกอย่างอยู่ในพื้นที่เดียวกันหมดคล้ายๆ โฮสเทล แต่พอขึ้นไปที่ห้องก็มีความปลอดภัย มีความเป็นส่วนตัวแบบโรงแรม อยู่สบายนอนสบาย มีทุกอย่างที่โรงแรมมี”
อาศัยในเยาวราช
อาศัย บางกอก ไชน่าทาวน์ จะเปิดตัวในเดือนกันยายน พ.ศ. 2563
ในโรงแรมขนาด 224 ห้อง มีอะไรรอแขกเข้าพักอยู่บ้าง ศิรเดชอาสาพาชมอาศัยด้วยตนเอง
เมื่อเข้ามาในล็อบบี้ที่ตกแต่งด้วยพื้นและผนังหินขัด Terrazzo สไตล์จีนและโคมกระดาษทำมือ แขกสามารถเช็กอินแบบดิจิทัลด้วยตนเองบริเวณเคาน์เตอร์ด้านหน้า ใครเพิ่งบินมาถึงตอนเช้าก่อนเวลาเข้าห้องพัก ก็ฝากกระเป๋าเดินทางและอาบน้ำก่อนได้
เนื่องจากไม่สนับสนุนการใช้พลาสติกใช้แล้วทิ้ง ในล็อบบี้มีตู้กดน้ำดื่มฟรีไว้บริการ และมุมขายอาหารจำพวกแซนด์วิชสำหรับคนต้องการของรองท้อง เพราะร้านอาหารที่นี่ไม่ได้เปิด 24 ชั่วโมง อาหารเช้าสั่งได้ตอนเช้า ประกอบกับ Dry Buffet พวกผลไม้ ซีเรียล โยเกิร์ต ซึ่งเก็บได้นาน ไม่เหลือทิ้งจนเกิดขยะอาหารที่มากเกินจำเป็น ตกกลางคืน ร้านอาหารจึงเปิดให้บริการทั้งแขกที่เข้าพักและคนท้องถิ่นเข้ามานั่งสั่งอาหารมากินดื่มด้วยได้
นอกจากนี้ยังมีสวนครัวกลางลานพักผ่อน ห้องประชุม และยิมเล็กๆ หย่อนใจเสร็จแล้วขึ้นไปพักผ่อนได้บนห้องพัก 3 ขนาด ตั้งแต่ 19 – 28 ตารางเมตร มีทั้งมุมมองเห็นสวนครัวและวิวเยาวราชได้ถนัดตา
“ผมชอบย่านเมืองเก่านี้มาก เวลาเพื่อนจากต่างประเทศมาผมก็พามาแถวนี้ กับแถวตลาดน้อยและท่าเตียน ถ้าเป็นเมื่อประมาณสิบปีที่แล้วต้องพาไปเที่ยวทองหล่อ ตอนนี้ผมชอบสีสันและเอกลักษณ์ของที่นี่ ที่พักแถวนี้ก็ยังไม่ค่อยมีรูปแบบใหม่ๆ ของคนรุ่นใหม่ที่น่าตื่นเต้นมากนัก อยากทำให้ชาวต่างชาติหรือคนที่มาพักมาสำรวจย่านนี้ได้ พอเดเวลอปเปอร์ที่ทำอสังหาริมทรัพย์มาเสนอทำเลนี้ให้เรา ซึ่งดีมาก อยู่ข้าง MRT เลยเป็นโอกาสที่สมบูรณ์แบบมาก”
ศิรเดชเท้าความถึงเบื้องหลังของโรงแรมอาศัยแห่งแรก ซึ่งมีรายละเอียดและความตั้งใจสร้างสรรค์ไม่แพ้โรงแรม 5 ดาว
ยิ่งฟังยิ่งแน่ใจ หัวใจของดุสิตธานียังอยู่ เพียงแต่อาศัยในร่างที่เด็กลงเท่านั้นเอง