11 มีนาคม 2019
78 K

ก่อนจะเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) อย่างวันนี้

คุณศุภจี สุธรรมพันธุ์ เป็นผู้บริหารที่มีประสบการณ์ทำงานกับบริษัทไอบีเอ็ม บริษัทไอทีเจ้าใหญ่ซึ่งมีสาขาอยู่ทั่วโลกมานานถึง 23 ปี เป็นกรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทยที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ไอบีเอ็ม ก่อนย้ายไปประจำการภูมิภาคอาเซียน ได้รับการเลือกจากประธานบริษัทให้ไปเป็นผู้ช่วยประธานบริหารที่สำนักงานใหญ่ในนิวยอร์ก ตำแหน่งที่อย่าว่าแต่ผู้หญิงเลย ในเวลานั้นแม้แต่คนเอเชียก็ยังไม่เคยมีใครไปถึง ก่อนจะกลับมาเป็นผู้จัดการทั่วไปของไอบีเอ็มอาเซียนฝ่ายบริการเทคโนโลยีทั่วโลกที่ประเทศสิงคโปร์ ทำงานร่วมกับพนักงานกว่า 9,000 คนใน 10 ประเทศ

จากนั้น ไปเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) เปลี่ยนตัวเลขติดลบที่มีมาอย่างยาวนานให้ทำกำไรหลักร้อยล้านในระยะเวลาอันสั้น และกลายเป็นบริษัทให้บริการดาวเทียมอันดับ 1 ในเอเชียแปซิฟิก ได้รับรางวัลผู้บริหารยอดเยี่ยม เอาชนะผู้บริหารจากประเทศจีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ทั้งที่ๆ เป็นผู้บริหารหน้าใหม่ในอุตสาหกรรม

ศุภจี สุธรรมพันธุ์, ดุสิตธานี

ไม่บ่อยนักที่ The Cloud เราจะมีโอกาสพูดคุยกับผู้บริหารหญิง

มากไปกว่าชีวิตการทำงาน เราสนใจความเป็นผู้หญิงที่ทำงานเป็นผู้บริหารสูงสุดในบริษัทเทคโนโลยีที่เรารู้ดีว่าพื้นที่ส่วนใหญ่สงวนไว้ให้ผู้ชาย และคำตอบของคุณศุภจีก็ทำให้เราพับคำถามประเภทเรียกร้องความเท่าเทียมของลูกผู้หญิงในที่ทำงานที่เตรียมมาเก็บทิ้งเสียทั้งหมด เพราะเธอบอกว่าการทำงานกับเรื่องเพศไม่เกี่ยวกัน และเธอก็พิสูจน์ให้เราเห็นผ่านเส้นทางการทำงานที่สนุกจนไม่อยากให้ถึงตอนจบของการสนทนา

ไปจนถึงเรื่องความเป็นแม่ ผู้บริหารที่ดีเป็นแม่ที่ดีได้ไหม และคุณศุภจีมีความเห็นอย่างไรเมื่อใครๆ ต่างบอกว่าผู้หญิงอย่างเราไม่อาจเลือกเป็นคนทำงานเก่ง พร้อมๆ กับการภรรยาและแม่ที่ดีได้ในเวลาเดียวกัน ปิดท้ายด้วยคำถามตอบสั้นๆ ที่ทำให้รู้ว่าคุณศุภจีเป็นแชมเปี้ยนเกม Candy Crush เลเวล 4174 และแฟนพันธุ์แท้ ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน แบบที่เปิดให้เห็นเพียงฉากเดียวก็รู้ว่ามาจากตอนไหนและใครเป็นฆาตกร

การพบกันครั้งนี้ระหว่างเรา ทำให้คิดไปถึงวันแรกที่เริ่มคอลัมน์ ‘กัปตันทีม’ ขึ้นมา

มากไปกว่าเรื่องราวของผู้บริหารคนเก่ง ทำกำไรมหาศาลให้บริษัท เราอยากทำเนื้อหาของคนผู้เป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจแก่คนทำงานออฟฟิศ ให้เขาเห็นค่าความพยายามและการรักษาสมดุลชีวิตทั้งหน้าและหลังจอคอมพิวเตอร์

เช่นเดียวกับที่เรากำลังเริ่มบทสนทนากับคุณศุภจีในตอนนี้

ศุภจี สุธรรมพันธุ์, ดุสิตธานี

ความรู้สึกเมื่อเป็นกรรมการผู้จัดการที่เด็กที่สุดในประวัติศาสตร์ของ IBM

เราเป็นกรรมการผู้จัดการไอบีเอ็ม (ประเทศไทย) ตอนอายุ 37 ก็รู้สึกฮึกเหิมนะในมุมที่เราสร้างสถิติ เราคิดว่าก้าวมาถึงจุดสูงสุดของบริษัทไอทีที่ใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว เป็นผู้หญิงคนไทยคนแรก เป็นของแปลกของอุตสาหกรรมนี้ เพราะไม่มีผู้หญิงเคยขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งสูงสุดของวงการไอทีประเทศไทยมาก่อน ในต่างประเทศก็มีน้อยมาก ที่ไอบีเอ็มมีผู้หญิงเป็นกรรมการผู้จัดการประจำแต่ละประเทศเพียง 3 – 4 คนเท่านั้น จาก 170 ประเทศ นอกนั้นเป็นผู้ชายทั้งหมด

บรรยากาศตอนนั้นเป็นยังไง

การเข้าพบลูกค้าที่เป็นผู้ใหญ่มากๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนก็ทำให้เราต้องทำตัวให้ใหญ่ๆ มีความน่าเชื่อถือ ทั้งการวางตัว การแต่งตัว การพูดจา ผลงานของเราสร้างชื่อเสียงให้ไอบีเอ็ม (ประเทศไทย) มากมาย จนคนไม่ได้มองว่าเราเป็นกรรมการผู้จัดการของบริษัทไอที แต่เขามองเราเป็นผู้บริหารมืออาชีพและชวนเราไปร่วมงานด้วย แต่เราตั้งธงแน่ๆ ว่าจะไม่ออกจากไอบีเอ็ม เพราะอยากเป็นต้นแบบคนไทยที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศ เมื่อครบวาระตำแหน่งกรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทย เราตัดสินใจรับตำแหน่ง Vice President of General Business ไปประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมประเทศอินเดียด้วย

งานของเราคือ ควบคุมนโยบาย เป็นตำแหน่งสูงสุดที่จัดการโครงสร้างองค์กร กลยุทธ์ ซึ่งไม่เคยมีคนไทยเคยทำงานในระดับนี้มาก่อน โดยผู้ใต้บังคับบัญชาได้แก่กรรมการผู้จัดการหรือเบอร์ 1 ของแต่ละประเทศ ด้วยผลงานเข้าตาคนในสำนักบริหารเราจึงได้รับเลือกไปเป็นผู้ช่วยของประธานบริษัท Samuel J Palmisano และ Louis V Gerstner ประจำการที่สำนักงานใหญ่ในนิวยอร์ก ซึ่งไม่ต้องพูดเรื่องผู้หญิงหรือผู้ชาย ไม่เคยมีคนเอเชียทำหน้าที่นี้ เราเป็นคนแรกที่ทำหน้าที่นั้น

คุณเรียนรู้อะไรจากการทำงานในตำแหน่งนี้บ้าง

เราอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคย คนที่อยู่รอบตัวเราเป็นคนระดับสูงมากๆ คนที่ CEO ไปเจอไม่มีใครธรรมดาเลย ไม่ว่าจะเป็น CEO ของบริษัทต่างๆ ไปจนถึงประธานาธิบดีของสหรัฐฯ เวลามีใครถามว่าเรามาจากไหน เราบอกว่ามาจากประเทศไทย เขาก็รู้สึกสนใจ

งานของผู้ช่วยประธานบริษัทไม่ใช่งานเลขานุการ แต่จัดการความเรียบร้อยให้นายออกมาดูดีที่สุด เขาควรเจอใคร พูดอะไร เตรียมสุนทรพจน์ รวบรวมข้อมูลของคนที่เขาจะไปพบและมาพบเขา รวมถึงดูแลความเรียบร้อยในสำนักงานใหญ่ เป็นงานที่สนุกมาก เห็นโลกจากมุมสูง จากที่เคยอยู่ในที่ของเรา มองเห็นแต่โลกของเรา ตอนนี้เรามองออกแล้วว่านโยบายที่มาจากด้านบนจะลงมาสู่ด้านล่างได้ยังไง เรายังช่วยบอกเขาได้ว่านโยบายที่วางมาอย่างนี้จะทำให้เกิดขึ้นจริงได้หรือไม่ เพราะเราเคยอยู่ข้างล่างมาก่อน

ฟังดูเป็นเส้นทางการทำงานที่ประสบความสำเร็จ อะไรเป็นจุดเปลี่ยนให้คุณออกจากไอบีเอ็มหลังจากทำงานมาถึง 23 ปี

การทำหน้าที่ในสำนักงานฝ่ายบริหารของประธานบริษัทเป็นตำแหน่งที่คัดเลือกพิเศษ เรารู้เส้นทางการเติบใหญ่ในองค์กรชัดเจน ซึ่งทำให้เราภูมิใจที่มาอยู่ตรงนี้ ยังไม่รวมความมั่นคงในชีวิตอย่างเงินเดือนที่ไม่เคยต้องใช้ มีไว้ใส่ธนาคารเฉยๆ เพราะค่าใช้จ่ายเรื่องบ้าน ค่าเรียนลูก และกิจกรรมทุกอย่างที่เกี่ยวกับงาน บริษัทจ่ายให้ทั้งหมด และโดยทั่วไปงานในตำแหน่งนี้มีรอบการทำงาน 6 เดือนแล้วต้องเปลี่ยน เพราะเป็นงานที่เครียดมากๆ ต้องอยู่กับงานตลอด 24 ชั่วโมง แต่เราทำงานในตำแหน่งงานนี้ทั้งหมด 18 เดือน

ก่อนกลับมาประจำการที่อาเซียนอีกครั้งในตำแหน่ง ผู้จัดการทั่วไปของไอบีเอ็มอาเซียนฝ่ายบริการเทคโนโลยีทั่วโลก (ASEAN General Manager, IBM Global Technology Services) ทำงานร่วมกับพนักงานพนักงาน 9,000 คนใน 10 ประเทศ เรานั่งหัวโต๊ะ มีลูกน้องเป็นชาวต่างชาติทั้งหมด รู้สึกกำลังสร้างแรงบันดาลใจให้คนไทยด้วยกันเห็นว่าคนไทยก็ทำแบบนี้ได้ด้วย แต่ยิ่งเดินไกลจากจุดที่อยู่มาสู่จุดที่ไม่มีคนไทยเคยมา เรากลับพบว่าไม่มีใครคนไหนเดินตามมาอีกเลยทั้งสิ้น งานนี้ไม่อาจตอบโจทย์ในใจของเรา เราอยากทำให้โลกรู้จักคนไทยหรือองค์กรไทยมากกว่ารู้จักศุภจีแค่คนเดียว

ศุภจี สุธรรมพันธุ์, ดุสิตธานี

เป็นเหตุผลที่ทำให้คุณตัดสินใจเริ่มงานที่ไทยคม

ตอนนั้นเราคิดว่าพื้นฐานเรื่องเทคโนโลยีคงไม่ต่างกันมาก และเราอยากทำให้คนไทยภูมิใจในบริษัทไทย ซึ่งสถานการณ์ของไทยคมตอนที่เข้ามามีปัญหาเรื่องการเงินมาก ขาดทุนสะสมติดต่อกันมานาน ด้วยความคิดเด็กๆ ของเราตอนนั้น เราคิดว่าเราไม่น่าจะทำให้เขาแย่ไปกว่านี้ได้อีกแล้ว

วันแรกที่ไทยคม

วันแรกเราทำตัวเปรี้ยวมาก ขอเข้าประชุมออฟฟิศที่ลาดหลุมแก้วซึ่งในห้องมีแต่วิศวกร เป็น 3 ชั่วโมงที่รับฟังภาษามนุษย์ต่างดาวโดยเราไม่เข้าใจอะไรเลย ก็กลับมาตั้งตัวใหม่ หาคนมาช่วยสอนวิชา Satellite 101 เริ่มตั้งแต่ ดาวเทียมคืออะไร

พวกเขาไม่งงกันใหญ่หรือคะว่าคุณศุภจีมาทำอะไรที่นี่

งงสิ เขาเห็นว่าเป็นผู้หญิงอายุไม่มาก จะไหวไหมนี่ ความรู้สึกเหมือนพจมานเดินเข้าไปในบ้านทรายทองที่ไม่รู้เลยว่าจะเจอกับชายกลาง ชายใหญ่ หรือชายน้อย ต่างแค่เพียงพจมานถือชะลอม แต่เราถือกระเป๋าคอมพิวเตอร์เหมือนครั้งที่ทำงานอยู่ไอบีเอ็ม แต่ถึงอย่างนั้นเราก็รู้สึกสนุกมาก เพราะเราไม่เคยกลัวปัญหา

การแก้ปัญหาสนุกยังไง

สิ่งไหนไม่รู้เราก็เรียกเข้ามาคุย ซึ่งเราจะนับถือทุกคน เราไม่จำเป็นต้องรู้เยอะไปกว่าใคร และเมื่อเคารพความคิดของเขา เขาก็ยินดีเสนอไอเดียออกมา เมื่อเรารู้ว่าธุรกิจดาวเทียมเป็นแบบนี้นะ ไทยคมต้องการทำอย่างนี้ ปัญหาอยู่ตรงไหน อย่างไร เราก็ใส่สิ่งที่เรามีลงไป ทั้งเรื่องแผนการทำการตลาด แผนการทำธุรกิจ การสื่อสาร การปรับวัฒธรรมองค์กร

ผ่านไป 2 เดือน ทำให้ไตรมาสนั้นไทยคมกลับมามีกำไรแม้เพียงเล็กๆ แต่ก็เป็นนิมิตหมายอันดีที่ทำให้พนักงานซึ่งรู้สึกงงๆ กับเราเริ่มเปิดใจ และหลังจากเริ่มเห็นกำไรเล็กๆ ก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นทุกไตรมาส จากบริษัทที่มีผลประกอบติดลบ ขึ้นเป็นบริษัทให้บริการดาวเทียมอันดับ 1 ในเอเชียแปซิฟิก

ตอนนี้มีความกลัวบ้างมั้ย

ช่วงเวลาที่ผ่านมา เราไม่ได้ใช้ชีวิตในประเทศไทยมากนักจึงไม่รู้ว่าปัญหาการเมืองที่มีหยั่งรากลึกและส่งผลต่อองค์กรแค่ไหน ซึ่งเราใช้การสื่อสารแก้ปัญหาเรื่องนี้ เริ่มจากการวางแผนให้ข่าว แทนที่จะบอกว่าไทยคมไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง หรือบอกว่าไทยคมมีจุดยืนแบบไหน ซึ่งก็คงไม่ได้ผลเพราะเราไปห้ามความคิดใครไม่ได้ เราจึงเลือกที่จะไม่พูดถึงเรื่องนั้น แล้วใช้วิธีแสดงผลประกอบการให้เห็น กำไรเท่าไหร่ โครงการใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นคืออะไร มีลูกค้าที่ไหนบ้าง และทำประโยชน์อะไร บริหารด้วยการกระจายข่าวหาพื้นที่สื่อเดือนละเป็นพันข่าว นับรวมทั้งโซเชียลมีเดีย

ศุภจี สุธรรมพันธุ์, ดุสิตธานี

วิธีนี้ได้ผลมากแค่ไหน

ก็เริ่มมีคนสนใจและพูดถึงไทยคมจากมุมของผลงานมากขึ้น เป็นช่วงเวลาที่เราเดินสายเยอะมากทั้งในและต่างประเทศ จนทำให้ต่างชาติมองภาพประเทศไทยในมุมใหม่ มุมที่แปลกใจว่าเรามีธุรกิจดาวเทียมและเทคโนโลยีอวกาศเชียวหรือ และในงานประชุมประจำปีของสมาคมผู้ประกอบการดาวเทียมจะต้องมีไทยคมอยู่บนเวทีทุกปี

มากไปกว่านั้นคือ มีกำไร จ่ายปันผลได้ สร้างดาวเทียมเพิ่ม แก้ปัญหาความขัดแย้งในอดีต ทำให้ได้รับรางวัลผู้บริหารยอดเยี่ยม ชนะญี่ปุ่น จีน อินเดีย ออสเตรเลีย ทั้งๆ ที่ไม่เคยอยู่ในอุตสาหกรรมนี้มาก่อน

เส้นทางดูจะไปได้สวย แต่ทำไมถึงตัดสินใจเปลี่ยนบทบาทอีกครั้ง

เดิมเราตั้งใจทำที่ไทยคมเพียง 3 ปี ปีแรกเข้ามาแก้ปัญหา ปีต่อมาสร้างรากฐานใหม่ที่แข็งแรง ก่อนจะเริ่มสร้างทางให้องค์กรเติบโตต่อไป ซึ่งเราใช้เวลากว่า 4 ปีทำทุกอย่างจนเสร็จสิ้น เหตุผลที่ขอเปลี่ยนบทบาทเป็นที่ปรึกษาไม่ใช่ความหยิ่งทะนงอะไร เพียงแต่เราเชื่อว่าในทุกบริษัท ทุกสถานการณ์ เขาต้องการผู้นำองค์กรคนละลักษณะกัน

ผู้นำองค์กรในแบบของเราคือคนที่เข้าไปแก้ปัญหา สร้างพื้นฐาน และสร้างการเติบโต เมื่อเสร็จแล้วต้องมีผู้นำองค์กรท่านอื่นมาดำเนินการทำแผนที่วางไว้ให้เป็นจริง เป็นวัฏจักรของการทำงาน เหมือนการปลูกต้นไม้ เราทำให้ต้นไม้โต มีใบปกคลุม มีผลให้คนมาใช้ร่มเงาก็รู้สึกดี แล้วเรานำต้นไม้ต้นนี้ไปแสดงให้คนต่างชาติเห็น เรามีความสุขแล้ว และคงจะมีความสุขมากกว่าหากเราปลูกและดูแลต้นไม้ได้อีกหลายๆ ต้น

คุณทำยังไงเมื่อรู้ตัวว่ามีความสุขกับการปลูกต้นไม้

เราเริ่มเรียนรู้หลักการและสอบใบอนุญาตเป็นโค้ชจาก Berkeley Executive Coaching Institute ที่สหรัฐอเมริกา เพราะการจะปลูกต้นไม้หลายๆ ต้นเราจำเป็นต้องรู้วิธีปลูก เพื่อไม่ทำให้เขาตายหรือกลายพันธุ์เป็นสิ่งที่ไม่น่าประสงค์

งานของโค้ชแตกต่างกับงานของที่ปรึกษายังไง

ที่ปรึกษาจะบอกเราว่าเราควรทำอะไรอย่างไร เช่น มีแผนธุรกิจมาคุยกับเรา ถามเราว่าแผนที่มีนั้นทำได้หรือไม่อย่างไร ขณะโค้ชไม่ได้มีหน้าที่บอก แต่มีหน้าที่ฟังปัญหาของเรา แล้วถามเราว่าสิ่งที่คิดนั้นมีทางออกอื่นอีกไหม จากนั้นช่วยเราค้นหาคำถาม โค้ชมีหน้าที่ค้นพบศักยภาพที่เราไม่เคยรู้มาก่อนว่ามี เพื่อให้เราไปไกลกว่าข้อจำกัดที่มี เป็นงานที่ใช้เวลาและความใส่ใจมาก

ศุภจี สุธรรมพันธุ์, ดุสิตธานี
ศุภจี สุธรรมพันธุ์, ดุสิตธานี

อะไรคือเหตุผลที่ทำให้รับตำแหน่งผู้บริหารโรงแรมทั้งๆ ที่ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน

ดุสิตธานีก่อตั้งมา 70 ปีแล้วโดย ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ผู้หญิงที่มีนโยบายและวิสัยทัศน์ที่น่าทึ่งมากๆ ยิ่งได้รู้เราก็ยิ่งประทับใจ เป็นงานที่ท้าทายมาก โจทย์คือการเปลี่ยนหลายสิ่งหลายอย่างของธุรกิจ ความเชื่อของคน วัฒนธรรมองค์กรที่เคยมีอยู่ ไม่ใช่งานง่ายนัก แต่เราเห็นศักยภาพ เห็นคุณค่าของดุสิตธานีในมุมที่เป็นตัวแทนของประเทศ เพราะเต็มเปี่ยมไปด้วยอัตลักษณ์และคุณค่าที่ประมาณค่าไม่ได้ สิ่งหนึ่งที่เรามีแน่ๆ คือตรรกะและความเป็นระบบระเบียบที่ติดตัวมาตั้งแต่ทำงานในองค์กรที่มีความเป็นสากล ก็ยิ่งทำให้อยากลองดู

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเป้าหมายในชีวิตเปลี่ยนไปด้วย

เราชอบที่ถามเรื่องความสนใจ ตอนที่อายุ 25 35 และปัจจุบัน อายุ 25 เป็นช่วงที่เริ่มต้นทำงานที่แรกๆ เรามุ่งหาความก้าวหน้า พออายุ 35 ก็เริ่มมองหาความสำเร็จ สำหรับปัจจุบัน เราอยากทำอะไรที่มีความหมาย มีผลกระทบทางบวกกับคนที่อยู่รอบข้าง

นั่นทำให้ไม่ว่าจะทำงานกับใคร เราอยากให้เขามีโอกาสพัฒนาตัวเอง เราไม่ปล่อยผ่านงานไปง่ายๆ แต่แนะนำมุมที่น่าจะเพิ่มเติมเพื่อให้เขาทำงานชิ้นนั้นสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทั้งๆ ที่มีเวลามีไม่เยอะ แต่ก็ไม่เคยรู้สึกเสียเวลาเพื่ออธิบายว่าทำไมเราถึงคิดแบบนั้น เพราะถ้าเขาไม่เข้าใจ ครั้งต่อไปเขาก็จะทำกลับมาแบบเดิม เช่น เรามอบหมายให้ทีมช่วยแปลงความคิดที่อยู่ในหัวของเรามาร้อยเรียงเป็นไฟล์ประกอบบรรยาย ซึ่งเขาทำได้สวยงามมาก แต่เราคิดว่าคงจะดีกว่านี้ถ้าเปลี่ยนการลำดับเรื่องเล็กน้อย

จริงๆ วิธีการที่ง่ายที่สุดคือแก้กลับไปด้วยตัวเอง แต่เราเลือกที่จะเรียกเขามาคุยพร้อมอธิบายเหตุผลสิ่งที่แก้ไขให้ฟัง ทั้งหมดนี้ไม่ได้ต้องการให้คนมองว่าเราเก่งหรือดี เราแค่ทำในสิ่งที่จะทำให้คนที่ทำงานกับเราได้รับประโยชน์ เช่นกันกับเวลาที่ใครชวนให้ไปพูดเรื่องการปรับตัวหรือรับมือกับการเปลี่ยนแปลง จริงๆ เราเตรียมเอกสารชุดเดียวกันทุกครั้งเลยก็ได้ แต่เราจะถามทีมงานก่อนเสมอว่าใครเป็นผู้ฟังงานนั้นๆ เพราะแม้เนื้อหาจะคล้ายกัน แต่บรรยากาศและความลื่นไหลย่อมแตกต่างกัน และเพราะเขาเสียเวลามาพบและฟังเรา เราก็ควรถ่ายทอดเนื้อหาที่ตรงกับความคาดหวัง

สไตล์การบริหารของคุณเป็นแบบไหน

จริงๆ มีหลายคำตอบเพราะเปลี่ยนไปตามบริบท สำหรับวันนี้เราคงตอบว่า จะมองให้หรูหราเราก็เป็นหงส์ หรือหากมองแบบชาวบ้านจะบอกว่าเป็นเป็ดก็คงไม่ต่าง เวลาที่เราเห็นหงส์หรือเป็ดลอยในน้ำ เราจะเห็นท่าทีนิ่งๆ สบายๆ ทั้งที่มันกำลังใช้เท้าปั่นอย่างเร็วและแรงใต้พื้นน้ำเพื่อให้ลอยอยู่ได้ นั่นคือไม่ใช่ไม่มีปัญหา ทุกวันมีปัญหา

เมื่อมีคนบอกว่าคุณโชคดีจัง คุณจะบอกเขาว่ายังไง

ถ้าเป็นเมื่อก่อนเราจะเคืองนะ คนมักบอกว่าโชคดี ช่วงที่เป็นกรรมการผู้จัดการของไอบีเอ็ม (ประเทศไทย) เป็นช่วงที่ไอบีเอ็มกำลังเติบโตอย่างมาก พอมาอยู่ไทยคมก็ทำให้ไทยคมเป็นบริษัทธุรกิจดาวเทียมที่ดีและใหญ่ที่สุดในเอเชียสำเร็จอีก สิ่งที่เราจะบอกคือ ที่ผ่านมาไม่ว่าอะไรก็ตามไม่เคยง่ายเลยนะ เราทำงานเหมือนรถไถนาเลย แก้ปัญหาทุกวันที่เจอหลายอย่างมากๆ ถ้าให้เล่าปัญหาของงาน มีเวลา 2 วันเล่ายังไงก็เล่าไม่หมด เพราะมันเยอะและอยู่ในทุกอณูจริงๆ และเราไม่จำเป็นต้องแสดงให้ใครเห็น

ถ้าจะโชคดี ก็คงโชคดีที่เรามองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นและแก้ไขจนสำเร็จซึ่งไม่ง่ายนะ เรามีหน้าที่ระดมสมองคุยกับทีมเพื่อให้เข้าใจและรับรู้เรื่องตรงกัน ก่อนลงมือทำให้เกิดดอกออกผล ทั้งหมดนี้อาศัยความพยายาม จริงๆ เป็นเพราะเรารู้ว่าเราต้องการอะไร

สิ่งนั้นก็คือ

เราอยากให้ประเทศไทยเป็นที่ภูมิใจ

วันแรกที่ทำงานที่ไทยคม เขาขอให้พูดสั้นๆ บนเวทีถ่ายทอดสดไปหลายประเทศ ตอนนั้นจำไม่ได้ว่าพูดว่าอะไร ซึ่งตอนหลังทีมงานนำมาตัดต่อเป็นวิดีโอทำงานครบรอบ 1 ปี เราพูดว่าเราต้องการจะทำให้คนไทยคมภูมิใจในตัวไทยคม ไม่ใช่แค่นั้น เราอยากทำให้คนไทยภูมิใจในตัวไทยคมด้วย เป็นธงที่ตั้งไว้และไม่มีธงอื่น ปัญหาที่เข้ามาไม่ว่าจะมากน้อยแค่ไหน เราต้องการแค่นี้ ทำให้บริษัทเราดี และทำให้คนไทยคมภูมิใจในตัวพวกเราเอง

วันนี้ที่มาอยู่กลุ่มดุสิตฯ ก็เช่นกัน ทุกสิ่งที่ทำก็มีอุปสรรคทั้งนั้น แต่พอมีธงในใจเราก็จะสู้ต่อ

เราไม่ได้คิดว่าเราทำสิ่งต่างๆ สำเร็จมากมาย เราก็แค่ทำงานของเราไปอย่างเต็มที่และมุ่งมั่น ไม่ท้อถอย ปัญหาที่เราพบเจอทุกวันไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ เราจะไม่ตื่นกลัวกับมัน แต่มองปัญหานั้นเป็นชิ้นเล็กๆ ถ้าใหญ่มากๆ มันแก้ไม่ได้อยู่แล้ว คนบางคนพยายามจะทุ่มเทจะแก้ให้ได้ ก็จะเครียดกับมัน ถ้ามันใหญ่มาก เราก็แก้เป็นชิ้นเล็ก แบ่งเป็นส่วนๆ ค่อยๆ แก้ก่อนประกอบเป็นรูปร่างด้วยการใช้คนให้เป็น ส่วนนี้ให้คนนี้ดู ส่วนนั้นให้คนนั้นดู

ศุภจี สุธรรมพันธุ์, ดุสิตธานี

ตัวอย่างของการมองย่อยปัญหาเป็นชิ้นเล็กๆ ที่คุณแก้ปัญหาจนสำเร็จและภูมิใจมากๆ

ตั้งแต่ 3 ปีที่แล้วที่เข้ามารับตำแหน่งที่ดุสิตธานี เราพยายามหาบ้านใหม่ให้พนักงานดุสิตธานีไปอยู่หลังจากวันที่ปิดโรงแรม ซึ่งเราตั้งใจไม่ลดพนักงานเลย เราก็มีหน้าที่หางานให้พนักงานทำ โดยยังมีชื่อดุสิตอยู่ในกรุงเทพ เมื่อหาไม่ได้เราก็ลองหาสิ่งที่เล็กลงมา หาร้านอาหารที่จะไปอยู่รวมกัน ในที่สุดก็กำลังมีบ้านดุสิตธานีเกิดขึ้นในอีกไม่นานนี้ เป็นที่รวมของร้านอาหารของเรา เทียนดอง เมย์ฟลาวเวอร์ ดุสิตกูร์เมต์ เบญจรงค์ แล้วจะตามมาด้วยโรงแรมดุสิตธานีสวีตโฮเทลสำหรับให้พนักงานของเราเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ ตอนนี้ก็คิดว่าใกล้จะทำได้สำเร็จแล้ว

ถึงกระนั้นคุณก็ไม่ยอมรับว่าตัวเองเป็นผู้บริหารหญิงที่เก่ง

เราไม่อยากนิยามตัวเองว่าเก่งหรือไม่เก่ง เพราะมันแคบเกินไป เก่งแล้วยังไง ต้องถามต่อว่าเก่งแล้วทำประโยชน์ให้ใครหรือเปล่า

ถ้ามีตำราการบริหารสไตล์คุณศุภจี เนื้อหาส่วนใหญ่ของหนังสือเล่มนี้จะพูดเรื่องอะไร

การบริหารกับการเปลี่ยนแปลง ประสบการณ์ที่ผ่านมา เรามักจะได้รับมอบหมายงานในพื้นที่มีปัญหาและต้องการการเปลี่ยนแปลง และถ้าจะมีหนังสือที่เขียนมาจากประสบการณ์เราก็คงจะพูดเรื่องนี้เป็นส่วนใหญ่

การบริหารในสิ่งที่กำลังจะเกิดหรือต้องการการเปลี่ยนแปลงจะทำอย่างไร ตั้งแต่เริ่มเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร เปลี่ยนแนวคิดของคน การสร้างแรงบันดาลใจและโน้มน้าวทุกคนไปในทิศทางเดียวกัน การตอบโจทย์ธุรกิจก็ไม่ง่ายแล้ว แต่ที่ยากกว่านั้นคือทำยังให้คนในองค์กรอยากเดินไปในทิศทางที่เราตั้งไว้

หากให้คุณเขียนจดหมายถึงตัวเองในอดีต จะเขียนถึงตัวเองในช่วงเวลาไหน และเนื้อหาส่วนใหญ่จะพูดถึงอะไร

ถ้าเขียนคงจะเขียนถึงตัวเองช่วงที่ได้รับการเลื่อนขั้นเป็นผู้จัดการฝ่ายการเงิน (Pricing) ใหม่ๆ หลังจากทำงานที่ไอบีเอ็มได้เพียง 2 ปี เป็นเรื่องโหดมาก เพราะเรายังเด็กมีประสบการณ์ไม่มากนัก เมื่อได้รับโอกาสเราก็ลุยเต็มที่ ก็คงเขียนกลับไปบอกตัวเองในเวลานั้นว่า ‘เบาๆ หน่อยก็ได้ เพราะคงจะดีกว่าหากความสำเร็จที่ได้มานั้นเกิดจากทีมทั้งทีมพร้อมใจไปด้วยกัน ช่วยเสริมและพัฒนาไปด้วยกันกับเรา ก็คงจะดีกว่านั้น’ เราอายุยังน้อยมาก มีทีมงานเป็นคนอายุมากกว่าทั้งนั้น และเป็นอย่างนี้มาตลอดจนกระทั่งวันนี้

คุณมีวิธีการรับมือและนำพาทีมทั้งที่อายุเราน้อยกว่ายังไง

เคารพเขา ทุกวันนี้ก็มีทีมงานเป็นคนอายุมากกว่า มีความรู้ความเชี่ยวชาญมากกว่าเราทั้งนั้น แม้เราจะไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมนี้มาตั้งแต่ต้นแต่เราก็เคารพเขา เคารพซึ่งกันและกัน คอยมองหาสิ่งที่เขาขาดแล้วเราก็เติมสิ่งนั้น รวมถึงสิ่งใดที่เขามีและช่วยเสริมเติมแก่เราได้ก็ช่วยซึ่งกันและกัน

ศุภจี สุธรรมพันธุ์, ดุสิตธานี

ไปพร้อมๆ กับการพิสูจน์ตัวเองด้วย

เรื่องบางเรื่องถ้าเรามีเป้าหมายใหญ่และเป้านั้นอยู่ไกล กว่าจะไปถึงคนรอบข้างเราจะท้อ สู้ไม่ไหว จนค่อยๆ หล่นหายไปตามข้างทาง แต่ถ้าเราจะทำให้สำเร็จ เราต้องค่อยๆ ย่อยเป้าหมายเราให้เล็กๆ ก่อน ค่อยๆ ฉลองชัยชนะไปเรื่อยๆ ระหว่างทาง หรือภาษาอังกฤษใช้ Win small but win often แล้วฉลองกับทีมให้ เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศให้เขารู้สึกว่าพวกเขาก็ทำได้นี่ และความรู้สึกแบบนี้ก็ดีนะ

สิ่งที่สำคัญของการบริหารในแบบของเราคือ การสื่อสาร ไม่ใช่กับแค่ทีมงานเท่านั้น แต่กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจทั้งหมด กรรมการ สาธารณะชน ทีม Communication จึงสำคัญมาก เมื่อก่อนดุสิตธานีเราไม่เคยมีฝ่ายงานนี้มาก่อน เรามีเพียง Public Relation เป็นหน่วยงานหนึ่งใน Marketing ของโรงแรม ซึ่งเรามองว่าดุสิตไม่ได้เป็นแค่นั้นก็เลยต้องมี Corporate Communication

อะไรคือความยากของการเป็นผู้บริหารหญิง

การทำงานไม่มีเรื่องเพศหรอก เป็นเรื่องตัวตนของเรามากกว่า แต่เราคงต้องเข้าใจและยอมรับตัวตนในบริบทเรื่องความแตกต่างทางกายภาพและทางพันธุกรรมที่ทำให้ผู้ชายมี Singletrack Mind ขณะที่ผู้หญิงมี Multipletrack Mind ที่ทำอะไรหลายๆ อย่างได้พร้อมกัน

คาแรกเตอร์ ความสามารถ และศักยภาพอื่นๆ ไม่ใช่เรื่องเพศ แต่ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล แม้จะมีภาพจำจากสถิติ เช่น คนมองว่าผู้หญิงส่วนใหญ่จู้จี้จุกจิก ชอบพูดเยอะ ละเอียด หรือเป็นคนไม่กล้าตัดสินใจ ขณะที่ผู้ชายเป็นอีกแบบหนึ่ง เราคิดว่าคนเราไม่ได้เป็นแบบนั้นทั้งหมด ผู้ชายที่ไม่กล้าตัดสินใจเลยก็มี ผู้ชายที่จู้จี้ขี้บ่นก็เยอะ เรื่องของผู้นำหรือผู้บริหารไม่ได้เป็นเรื่องของผู้หญิงหรือผู้ชาย

ถ้าไม่ใช่เรื่องผู้ชาย-ผู้หญิง แล้วเป็นเรื่องของอะไร

สิ่งที่สำคัญคือเราต้องรู้และเข้าใจจุดแข็งและจุดอ่อนของเรา แล้วเราจัดการกับจุดแข็งและจุดอ่อนนั้นของเราอย่างไร ยกตัวอย่าง ถ้าคนมองเราว่าเป็นคนไม่กล้าตัดสินใจเพราะเราเป็นผู้หญิง วิธีแก้ของเราคือ ก่อนจะเข้าประชุมหรือเข้าไปในงานใดเราต้องทำการบ้าน พอทำการบ้านเราก็รู้แล้วแหละว่าต้องตัดสินใจมุมไหน ฝึกหัดตัดสินใจให้ได้เรื่อยๆ ถ้าคนมองว่าผู้หญิงจู้จี้พูดเยอะ เราก็พยายามปรับโครงเรื่องเนื้อหาและวิธีพูดของเรา เริ่มต้นหรือจบเรื่องอย่างไร เนื้อเรื่องหลักอยู่ตรงไหน เวลาเราจะพูดกับคน ต้องการให้เขาบรรลุจุดประสงค์ที่เขาต้องการ เราจะพูดไม่เกิน 3 อย่าง เพราะรู้สึกว่ายาวกว่านั้นทั้งคนพูดและคนฟังก็จำไม่ได้ ดังนั้นอยากได้อะไร 1 2 3 ลองเล่ามา เวลานั่งประชุมยาว 2 – 3 ชั่วโมง เราจะให้สรุปว่าเราจะเอายังไง อย่างนี้ใช่ไหม เพื่อเข้าใจตรงกัน

จะเห็นว่าไม่ใช่เรื่องผู้หญิงหรือผู้ชายเลย แต่ หนึ่ง เป็นเรื่องที่เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจและจัดการข้อดีข้อเสียของเรา สอง งานที่ได้รับมอบหมายต้องการอะไร และเราตอบโจทย์นั้นได้ไหม สาม ให้เราทำอะไรที่เป็นธรรมชาติของเราจะดีที่สุด

เราเองก็ไม่ได้มีความรู้เรื่องเชิงเทคนิคมากนัก แค่พอรู้บ้างแม้จะอยู่ในอุตสาหกรรมไอที สถานีอวกาศและดาวเทียม และโรงแรม ถ้าให้พูดเรื่องที่ลงลึกไปถึงรายละเอียด เราไม่ได้รู้เยอะเท่าคนที่ทำและอยู่กับเรื่องนั้นมานาน เนื่องจากงานเรามีเยอะมาก เราไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่องพร้อมกัน เมื่อไหร่ก็ตามที่ไปงานที่ต้องการความรู้ทางด้านนี้ หนึ่ง เราจะอ่านก่อน หรือสอง เราจะหนีบคนที่เชี่ยวชาญเรื่องนั้นไปด้วย นี่คือตัวอย่างของการรู้ข้อดีข้อด้อย ถ้าเรารู้ว่าเราขาดอะไร เราก็เติม ถ้ารู้ว่าเติมด้วยตัวเองได้ก็ดี แต่ถ้าเติมด้วยตัวเองแล้วไม่มีความชอบตรงนั้นก็อย่าไปทำ

แล้วกับผู้นำหรือผู้บริหารที่เป็นเพศทางเลือกหรือบุคคลข้ามเพศล่ะ 

เราควรให้ความสำคัญกับคนทุกคนไม่ว่าจะเป็นเพศอะไร ทุกคนมีตัวตนทั้งนั้น ไม่ใช่เฉพาะเรื่องเพศ แต่เป็นเรื่องวัยวุฒิและคุณวุฒิ ยกตัวอย่างเช่นเรื่องลูก เรื่องบางเรื่องเราต้องเคารพเขา และบางเรื่องเขาต้องเคารพเรา ลูกน้องก็เช่นกัน เขาก็เป็นคนที่มีครอบครัว เขามีบริบทที่เขาให้คุณค่าเหมือนกัน เราก็ควรเคารพกัน

ไม่ใช่เรื่องเพศ เรื่องวัย หรือเชื้อชาติ ในการทำงาน ถ้าเราเคารพเขา เขาก็เคารพเรา

แน่นอน ในโลกความเป็นจริงไม่เป็นอย่างนั้นไปทั้งหมด กับบางคนที่เราเคารพและให้เกียรติเขา เขาก็อาจไม่ได้ให้เกียรติเราก็มี เราก็มองว่าเขาไม่ใช่คนประเภทเดียวกับเราที่เราควรใส่ใจ ปล่อยไปแล้วไปต่อ

ศุภจี สุธรรมพันธุ์, ดุสิตธานี

ผู้บริหารที่ดีเป็นแม่ที่ดีได้มั้ย

คำถามนี้ทำให้นึกถึงบทสัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูงของแบรนด์ดังคนหนึ่งที่บอกว่า Women can’t have it all. เขาเล่าว่า ในวันที่ผู้บริหารระดับสูงเดินเข้ามาบอกเธอว่า พวกเขาเสนอให้เธอเป็นผู้บริหารขององค์กร เธอดีใจมากเพราะเป็นสิ่งที่ใฝ่ฝันมานาน เธอคิดไว้แล้วว่ากลับถึงบ้านจะรีบบอกข่าวดีกับครอบครัว แต่ยังไม่ทันจะจอดรถเรียบร้อย แม่เธอก็สั่งให้ไปซื้อนมทั้งๆ ที่สามีเธอก็กลับถึงบ้านก่อนแล้ว เมื่อซื้อนมกลับมาถึงบ้านเธอก็บอกข่าวการเลื่อนตำแหน่งให้ทุกคนฟัง แม่ถามกลับมาคำเดียวว่า แล้วไง เธอก็ยังเป็นลูกสาว เป็นแม่ของลูก เป็นภรรยาของสามีเธออยู่ดี ซึ่งเธอรู้สึกไม่ยุติธรรม

ขณะที่เราเห็นต่าง เราคิดว่าผู้หญิงมีทุกอย่างพร้อมกันได้

ยังไง

ถ้าเป็นเรา ในวันที่มีคนมาบอกว่า ‘ศุภจีเธอได้เป็น CEO’ สิ่งที่เราจะทำคือขอบคุณเขาแล้วตอบกลับไปว่า ‘รอแป๊บหนึ่งนะ เราขอกลับไปคุยกับครอบครัวก่อน’ และนี่คือสิ่งที่เราทำตลอดไม่ว่าจะอยู่ในองค์กรไหน เหตุผลที่เราตอบกลับไปอย่างนั้น เพราะถ้าเขาไม่เคารพชีวิตของเรา เราจะไปทำงานอย่างมีความสุขได้อย่างไร ไม่ว่าจะเลื่อนขั้น เปลี่ยนตำแหน่ง หรือย้ายงานไปไหน เราจะคุยกับครอบครัวก่อนเสมอ

และการที่เขาเลือกเราแล้ว ไม่มีใครมากดดันขอคำตอบเราหรอกว่าเราต้องตัดสินใจทันทีเดี๋ยวนั้น ถ้าเราดีจริง ถ้าเราคิดว่าเรามีความสามารถ และเขาต้องการให้เราเป็น และเรามั่นใจในสิ่งที่เรามี เขาก็ต้องเคารพสิ่งที่เราเป็น เราถึงจะเดินกลับมาบอกคำตอบเขาได้ว่า รับหรือไม่รับ เพราะอะไร 1 2 3 4 ดังนั้น เหตุการณ์ที่งานจะมาทำให้ครอบครัวไม่เห็นด้วยจะไม่เกิดขึ้น และโดยปกติก่อนกลับบ้านเราจะโทรถามที่บ้านเสมอว่าเขาอยากได้อะไรไหม เป็นเรื่องปกติเลย ดังนั้น เมื่อถึงบ้านเราจะมีของกลับไปบ้านเสมอ

คุณเอาเรื่องงานไปคุยกับครอบครัวยังไง

การตัดสินใจสำหรับการเลือกไปต่อข้างหน้าเรื่องการทำงานของเรา เป็นการตัดสินใจและเห็นชอบร่วมกันของคนทั้งครอบครัว สามี ลูก แม่ ซึ่งเป็นคนที่สำคัญที่สุดของเรา พวกเขาจำเป็นต้องสนับสนุนและเข้าใจ

ในวันที่ตัดสินใจมาทำงานที่ไทยคม ครอบครัวเรายังอยู่ที่สิงคโปร์หมด มีเราแค่คนเดียวท่ีกลับมาประเทศไทย ตอนนั้นพวกเรานั่งคุยข้อดีข้อเสียด้วยกันว่าถ้าย้ายมาเราจะได้ทำสิ่งที่เป็นความตั้งใจของเรา แต่เราสัญญาว่าเราจะบินกลับมาสิงคโปร์ทุกวันศุกร์กลางคืนเพื่อใช้เวลาร่วมกัน เราทำแบบทั้งตลอด 2 ปี ไม่เคยขาดเลยแม้เพียงสัปดาห์เดียว เมื่อสัญญาแล้วเราจะทำให้เกิดขึ้นจริง

ศุภจี สุธรรมพันธุ์, ดุสิตธานี

ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องเลือก ผู้หญิงเรามีทุกอย่างได้ใช่ไหม

มีได้ ถ้าคุณสามารถจัดการสิ่งแวดล้อมของคุณ เช่น ทำความเข้าใจครอบครัวคุณก่อนว่าบทบาทและหน้าที่ของแต่ละคนมีอะไร การเลี้ยงลูกของเรา เราจะไม่บอกเขาว่าสิ่งนี้แตะได้หรือไม่ได้ สิ่งไหนผิดหรือถูก เราจะให้เขาคิดเอง

เราเป็นผู้ใหญ่เรารู้นี่คะว่าเรื่องนี้ถ้าเขาคิดและตัดสินใจผิดพลาดไปมันอันตรายแค่ไหน กับเรื่องที่มีความเสี่ยงมากๆ เราก็ช่วยชี้นำได้บ้าง แต่กับเรื่องที่ผิดพลาดกันได้และเขาจะได้เรียนรู้ว่าผิดแล้วเป็นอย่างไร เราจึงให้เขาคิด ไม่ได้สอนให้เขาจำ เพราะเราไม่ได้อยู่กับเขาตลอด 24 ชั่วโมง เราเคารพความคิดของเขา อย่าคิดว่าเราเป็นแม่เราจึงรู้เยอะกว่า เรื่องบางเรื่องเขารู้เยอะกว่าเราอีกด้วยซ้ำไป มันย้อนกลับด้วยนะ คนที่อายุเยอะๆ ควรมีคนอายุน้อยมาคอยเป็นที่ปรึกษาด้วยซ้ำไป จะได้รู้ว่าบริบทใหม่ๆ ควรจะคิดอะไรแบบไหน

การสร้างความเคารพซึ่งกันและกันสำคัญยังไง

พอเราสร้างความเคารพซึ่งกันและกัน เราจะเริ่มตั้งความคาดหวังต่อกันได้ เช่น ถ้าอยากให้แม่ไปร่วมกิจกรรมงานโรงเรียน ให้บอกแม่ล่วงหน้า 7 – 14 วันนะ ไม่งั้นแม่ไปไม่ได้แน่ๆ แต่ถ้าบอกแล้วเรารับปากว่าจะไป เราต้องไป นั่นทำให้ไม่ต้องมาคอยดุกัน แค่มองหน้าอย่างเดียว หรือแค่พูดว่า แม่ผิดหวังมาก จบเลย เขารู้ว่าเราทุ่มเททำทุกวันนี้เพื่อเขา เขารู้ว่าเราทำตามสัญญาทุกครั้ง ดังนั้น แค่บอกให้ตั้งใจเรียนและซ้อมเปียโน ถ้าทำให้ไม่ได้แม่จะผิดหวัง

ในทางกลับกันแม่ที่ดีเป็นผู้บริหารที่ดีได้ไหม

สำคัญที่ต้องรู้วิธีรับมือกับคนหลากหลายรูปแบบ มีทั้งคนที่เรียนรู้เร็ว คนที่เราต้องแสดงความให้เกียรติ คนที่ปล่อยให้เขาแสดงความคิดเห็นแล้วมันไม่จบ คนที่เราจะเข้าไปจู้จี้ด้วยรายบุคคลมากไม่ได้ ขณะที่บางคนเราก็ดูแลอย่างห่างๆ ไม่ได้ จำเป็นต้องใกล้ชิด

เป็นการรักษาสมดุลในบริบทผู้บริหาร รู้ว่าเมื่อไหร่ต้องช้า เมื่อไหร่ต้องเร็ว เมื่อไหร่ต้องหนัก เมื่อไหร่ต้องเบา เมื่อไหร่ต้องเร่ง เมื่อไหร่ต้องผ่อน เมื่อไหร่ต้องดุ เมื่อไหร่ต้องชม ไม่มีสูตรตายตัวว่าคนคนหนึ่งคนจะมีวิธีการรับมือวิธีการเดียว เพราะวันนี้คุณอาจจะเดินมาหาเราด้วยอารมณ์หนึ่งปัญหาหนึ่ง เราก็ต้องแก้ไขกันแบบหนึ่ง กับวันต่อมาที่มีปัญหาอีกแบบก็ต้องรับมืออีกแบบ บทบาทของผู้บริหารมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ต้องสมดุลเพื่อใช้รับมือกับทุกๆ รูปแบบที่เจอได้

12 Questions Answered by Group Chief Executive Officer of Dusit International

  1. สิ่งแรกที่มักจะทำเมื่อถึงโต๊ะทำงาน : ไหว้พระ
  2. เรื่องใหม่ล่าสุดที่ได้เรียนรู้ : ไม่นานมานี้ เราเพิ่งได้ลองใช้ Grab เป็นครั้งแรก เรารู้สึกว่ามันดีจังเลย ภูมิใจในตัวเองมากๆ
  3. คำถามสัมภาษณ์สมัครพนักงานใหม่ : คุณจะสร้างสรรค์อะไรให้กับองค์กรได้บ้าง
  4. แอปพลิเคชันที่ใช้เป็นประจำและอยากบอกต่อ : LOOX เป็นแอปพลิเคชันดูโทรทัศน์ของไทยคม ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ดูโทรทัศน์สดๆ ได้เลย มีทุกช่องสถานี
  5. ทริปการเดินทางที่เปลี่ยนชีวิต : ทริป 4 สังเวชนียสถานที่อินเดียเมื่อมีนาคม 2014 ทำให้มองโลกเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เข้าใกล้กับศาสนามากยิ่งขึ้น เข้าใจความเป็นอนิจจังและความไม่เที่ยงของทุกเรื่องในชีวิต ทำให้นิ่งและมีสมาธิมากขึ้น
  6. หนังสือเล่มล่าสุดที่อ่าน : Becoming ของ Michelle Obama เป็นของขวัญปีใหม่จาก คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ที่ท่านมอบให้และบอกว่าศุภจีควรอ่าน นอกจากทำให้เห็นวิถีชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งก่อนจะเป็นสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งแล้ว เราคิดเป็นหนังสือที่เหมาะกับคนที่อยากทำชีวิตให้มีความสุขและมีความหมาย
  7. บ่ายวันอาทิตย์จะบังเอิญพบคุณศุภจีที่ไหน : บนเตียง กำลังเล่นเกม Candy Crush เราเป็นแชมเปี้ยนเลเวล 4174 เราเล่นทุกด่านแล้วจนต้องรอให้เขาสร้างฉากใหม่ทุกสัปดาห์ ทำให้ได้ทักษะการแก้ปัญหาผ่านการเลือกใช้เครื่องมือที่เหมาะสม เช่น ระเบิดที่เป็น Candy Boom หรือ Lollipop Hammer คลายเครียดมาก อีกเกมที่ชอบมากซึ่งเล่นสลับกันไปคือ Sugar Crush เป็นเกมพี่เกมน้องกัน อีกเกมที่ชอบมากๆ คือ Hidden City เป็นเกมหาสมบัติที่สามีก็ชอบ เลยเล่นด้วยกัน
  8. ชมรมสมัยมหาวิทยาลัย : บาสเกตบอล เป็นนักบาสเกตบอลประจำคณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา คนจะคิดว่าคณะนี้ผู้หญิงสวยๆ เยอะ จริงๆ ผู้หญิงสวยๆ เขาไปอยู่สังคมสงเคราะห์กัน ทำให้คณะนี้มีแต่ผู้ชาย เนื่องจากมีผู้หญิงจำกัดทำให้เราต้องเล่นกีฬาทุกประเภทและยังเป็นเชียร์ลีดเดอร์ด้วย ขอคุยหน่อย คณะเราเล็กที่สุดในธรรมศาสตร์ปีนั้น (พ.ศ. 2524) แต่เราเป็นแชมป์บาสเกตบอลหญิงของธรรมศาสตร์ ชนะบัญชีและนิติศาสตร์ เท่มากๆ
  9. คุณหนึ่งในสมาชิกลับๆ ของ… :  เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของหนังสือ ขายหัวเราะ เป็นหนังสือที่น่ารักดีออก และให้ความรู้เราดีนะ
  10. คำพูดที่มักจะพูดกับทีมงานเสมอ : Can do
  11. หากมีเวลาเพียง 15 วินาทีสำหรับกล่าวสุนทรพจน์แก่นักศึกษาจบใหม่ : จงทำตัวให้เป็นเหมือนน้ำพร่องแก้ว ให้เปิดรับโอกาสที่จะเกิดขึ้นมากกว่าจะทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้ว
  12. คุณไปแข่งรายการ แฟนพันธุ์แท้ ตอนไหนได้บ้าง : ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน แค่เปิดให้ดูบางฉากเราก็รู้ว่ามาจากโคนันตอนไหนและใครเป็นฆาตกร

 

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan