ชาวไทยในโตเกียวเฮลั่น Akha Ama แบรนด์กาแฟเพื่อสังคมคุณภาพสูงจากไทยเปิดตัวในญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ
นั่นคือข้อความที่แวบเข้ามาในหัวพร้อมตั้งสเตตัสทันทีที่ได้ยินข่าวว่า Akha Ama Coffee JAPAN กำหนดวันเปิดร้านในโตเกียวได้แล้วหลังเจอภัย COVID-19 บีบให้เลื่อนมาหลายครั้ง แม้ว่าเราอาจจะไม่สะดวกไปตั้งแต่วัน Soft Opening เมื่อวันเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา แต่ชาวไทยในโตเกียวจำนวนมากแวะเวียนไปอุดหนุน จนทำให้ นัตซึสะ ยามาชิตะ (Natsusa Yamashita) และ จุนเป อิชิคาวะ (Jumpei Ichikawa) สองสามีภรรยาหุ้นส่วนของ ลี-อายุ จือปา ผู้ก่อตั้ง และ เจนนี่-จันทร์จิรา หยกรุจิ ผู้ร่วมก่อตั้ง Akha Ama รู้สึกแปลกใจ

ส่วนสิ่งที่ทำให้เราแปลกใจคือชาวไทยไม่ได้เฮอยู่ชาติเดียว ชาวญี่ปุ่นก็เฮ!
ปรากฏว่ากาแฟอาข่า อ่ามา มีฐานแฟนคลับชาวญี่ปุ่นอยู่ไม่น้อย พวกเขาเหล่านั้นคือนักท่องเที่ยวที่ไปเชียงใหม่และติดใจความอร่อยของกาแฟไทย เมื่อรู้ว่าร้านที่พวกเขารักมาเปิดที่โตเกียว จึงพากันมาด้วยความยินดี เหล่าแฟนอาข่า อ่ามา ทั้งไทยและญี่ปุ่นจึงมารวมตัวกันจนแน่นร้านโดยไม่ได้นัดหมาย


สำหรับคนที่ไปไม่ได้อย่างเรา จึงต้องขอนัดพูดคุยถึงที่มาที่ไปและหมุดหมายแห่งการเดินทางจากเชียงใหม่สู่โตเกียวของ Akha Ama กับนัตสึซะและจุนเปในช่วงวันหยุดของร้านก่อนเปิด Grand Opening ในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้
นัตซึสะและจุนเปชอบเมืองไทยมาก ไปเที่ยวมากว่าสิบครั้ง พูดภาษาไทยได้นิดหน่อย และดูเหมือนว่าคำในภาษาไทยที่พวกเขาพูดได้ จะช่วยเล่าเรื่องราวของ Akha Ama Coffee JAPAN ได้ดีทีเดียว
1 2 3 4 5 6 7 8 9 10
สิ่งแรกที่ทุกคนน่าจะอยากรู้คือ โปรเจกนี้เริ่มต้นได้อย่างไร
อย่างที่เกริ่นไว้ นัตซึสะและจุนเปชอบเมืองไทยมาก ประมาณ 7 ปีที่แล้วพวกเขาไปเที่ยวที่เชียงใหม่ แวะไปคาเฟ่ของคนญี่ปุ่นแล้วเกิดติดใจกาแฟที่ร้าน เลยถามว่าใช้กาแฟที่ไหน คนที่ร้านแนะนำกาแฟอาข่า อ่ามา ให้รู้จัก ซึ่งพอทั้งสองได้ไปที่ร้านอาข่า อ่ามา ก็ตื่นเต้น “กาแฟที่นี่อร่อยมาก”
“ตอนนั้นพวกเราไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องกาแฟเท่าไหร่ รู้แค่ว่ากาแฟแก้วนี้อร่อยมาก ซึ่งตอนนั้นลีเป็นคนชงให้กินเองด้วย เจนนี่ก็อยู่ พอติดใจกาแฟที่นี่หลังจากนั้นเลยแวะไปบ่อยๆ ประจวบกับตอนนั้นเริ่มคิดอยากทำคาเฟ่ เลยบอกลีว่า อยากใช้กาแฟของอาข่า อ่ามา ที่ร้านเลยให้เขาส่งอีเอ็มเอสมาให้ที่โตเกียว” นัตสึซะเล่าถึงที่มาของการนำกาแฟอาข่า อ่ามา มาขายครั้งแรกในโตเกียวที่ Chikyu wo Tabisuru คาเฟ่ร้านแรกของเธอกับจุนเปซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อ 6 ปีก่อน
ต่อมาทั้งสองได้มีโอกาสไป Coffee Journey ซึ่งลีพาไปเรียนรู้ภูมิปัญญาในการปลูกและรักษาคุณภาพของกาแฟโดยตรงจากชาวอาข่าถึงหมู่บ้านแม่จันใต้ จังหวัดเชียงราย นอกจากเรื่องราวเกี่ยวกับกาแฟ สองสามีภรรยาชาวญี่ปุ่นยังประทับใจวิถีชีวิตชาวอาข่า ความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม และความพยายามในการพัฒนากาแฟเพื่อกลับมาพัฒนาชุมชน
“ตอนที่ได้ไปหมู่บ้านเป็นครั้งแรก ฉันรู้สึกประทับใจมากที่ชาวอาข่าปลูกกาแฟเองบนเขา กลายเป็นร้านกาแฟที่ยอดเยี่ยมและอร่อยในเชียงใหม่โดยชาวอาข่าเอง เรื่องแบบนี้ไม่มีที่ญี่ปุ่นหรอกค่ะ” เธอเล่าด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น ตาเป็นประกาย

และเมื่อคาเฟ่ของนัตซึสะและจุนเปเข้าสู่ปีที่ 6 ทั้งสองวางทริปท่องเที่ยวยาว 3 เดือนโดยเริ่มต้นที่ประเทศไทย ตอนที่ได้เจอกันในเชียงใหม่ ลีถามพวกเขาเกี่ยวกับแผนขยายร้านที่ญี่ปุ่น เขาขยายร้านสาขา 2 ที่เชียงใหม่ตอนเข้าสู่ปีที่ 6 เหมือนกัน จึงอยากชักชวนลูกค้าที่กลายมาเป็นเพื่อนสนิททำร้านกาแฟด้วยกัน คุยไปคุยมาร้านเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง แต่ตอนนั้นทั้งสองต้องเดินทางไปที่อื่นต่อ จึงเก็บไอเดียนี้ไปตกตะกอนระหว่างเดินทาง
“ระหว่างไปเที่ยวที่เนปาล โมร็อกโก และยุโรป เราสองคนคุยกันตลอดว่าอยากทำจริงๆ สุดท้ายเลยติดต่อลีกลับไปว่าอยากทำจริงจัง เดี๋ยวจะกลับไปคุยด้วยอีกรอบที่เชียงใหม่นะ รอก่อน” (หัวเราะ)
สุดท้าย ลี เจนนี่ นัตซึสะ และจุนเป ก็นั่งประชุมกัน 4 คนเรื่องร้านทุกวันเป็นเวลา 10 วันที่เชียงใหม่
จาก 1 ก็ถึง 10 ให้ Akha Ama Coffee JAPAN เริ่มต้นอย่างเป็นทางการเมื่อประมาณหนึ่งปีที่แล้วด้วยประการฉะนี้
ใช่ๆ
ตอนแรกลีมองว่าจะทำคาเฟ่แบบ Collaboration ร่วมกัน แต่นัตซึสะกับจุนเปที่ประทับใจทั้งรสกาแฟและเรื่องราวของอาข่า อ่ามา คิดว่าไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว ทำเป็นร้านกาแฟจริงจังไปเลยดีกว่า เพราะอยากให้คนญี่ปุ่นได้รู้จักอาข่า อ่ามา แบบที่พวกเขาได้รู้จัก
“เมื่อประมาณตุลาคมปีที่แล้ว เราพาลีกับเจนนี่พาไปย่านต่างๆ และร้านกาแฟทั้งหลายในโตเกียว ก็สรุปกันว่าทีมญี่ปุ่นเดินหน้าหาโลเคชันได้เลย
“ตอนแรกก็อยากให้ร้านอยู่ในย่านที่ดังเรื่องกาแฟอย่าง Kiyosumi-shirakawa ย่านชิบูย่า แต่อีกใจก็อยากให้ร้านแรกของอาข่า อ่ามา เจแปนเป็นร้านที่คนในชุมชนชื่นชอบและค่อยๆ ดังไปข้างนอก เหมือนกับอาข่า อ่ามา สาขาแรกที่สันติธรรม คืออยู่ในย่านชิคนะ แต่อยู่ในมุมที่สงบ” นัตซึสะเริ่มเล่า
ดังนั้น ย่านที่ ‘ใช่’ สำหรับพวกเขาจึงกลายเป็นคากุระซากะ (Kagurazaka) ย่านสุดชิคเก๋และ Sophisticated ของโตเกียว

คากุระซากะอาจจะยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายในหมู่นักท่องเที่ยว ที่นี่มีความเป็นเมืองเก๋ๆ สำหรับผู้ใหญ่ขึ้นมาหน่อย จะบอกว่าเก๋แบบเรียบๆ และเงียบสงบก็ว่าได้ เพราะเป็นย่านชุมชน (คนมีเงิน) ที่อยู่อาศัยแบบครอบครัวมากกว่าห้องเดี่ยว อยู่ใกล้มหาวิทยาลัย ไม่มีห้างสรรพสินค้าหรือแหล่งแฮงก์เอาต์ที่ดึงดูดวัยรุ่นเท่าไหร่ ไม่มีร้านอิซะกะยะราคาย่อมเยาที่เหมาะกับการโหวกเหวก แต่เต็มไปด้วยร้านไวน์และสาเกชั้นดี และที่เหมาะเจาะมากคือยังไม่มีร้านกาแฟจริงจังในย่านนี้เลย

“พอเริ่มหาก็พบว่า ค่าเช่าแถวนี้แพงมาก หาไม่ได้เลย จนมาเจอที่นี่ ซึ่งจริงๆ เป็นอพาร์ตเมนต์สำหรับอยู่อาศัย มีครัวและอะไรทุกอย่างครบหมดเลย โชคดีที่เจ้าของบ้านยินดีให้ทำคาเฟ่และรื้อตกแต่งภายในใหม่ได้ตามใจชอบ ราคาค่าเช่าไม่แพงด้วย ทุกอย่างเลยลงตัวมาก เพราะที่นี่อยู่ใกล้สถานีรถไฟก็จริง แต่อยู่ห่างจากถนนใหญ่และใกล้สวนสาธารณะ ตรงตามความตั้งใจที่อยากเป็นร้านดังในซอยเล็กๆ ของย่านเก๋”
ได้ที่ชอบในย่านที่ใช่สำหรับผู้สร้างแล้ว สเต็ปต่อไปคือเนรมิตร้านให้ ‘ใช่’ สำหรับลูกค้าด้วย
แม้จะเป็นร้านกาแฟสัญชาติไทยแท้ แต่ผู้เชี่ยวชาญวงการคาเฟ่ญี่ปุ่นทั้งสองมองว่า ร้านไม่จำเป็นต้องไทยจ๋าขนาดนั้น ไม่ต้องญี่ปุ่นด้วย นำของดีจากหลายประเทศมาผสมผสานได้เลย
“คนยังไม่ค่อยรู้จักกาแฟไทย เลยอยากเชิญชวนให้คนเข้ามาด้วยความเป็นร้านกาแฟเก๋ๆ ที่คนญี่ปุ่นน่าจะชอบก่อน อ๊ะ ร้านกาแฟเก๋ๆ พอเขาเข้ามาก็จะได้ตื่นเต้น อ๊ะ กาแฟไทย พอได้ชิมก็แบบอ๊ะ อร่อยด้วย ฉันเชื่อว่าใครได้ลองชิมของอร่อยแล้วจะชอบเอง เลยทำให้ร้านสวยๆ ก่อน พอเขาเข้ามาชิมจะได้รู้จักความอร่อยของกาแฟไทย”


คอนเซปต์การแต่งร้านหลักๆ จึงเป็นดีไซน์เรียบเก๋และการใช้ไม้กับสีดำเหมือนร้านที่ประเทศไทย แล้วใส่ความเป็นไทยตามจุดต่างๆ แบบไม่ยัดเยียด เช่น เสื้อผ้าชาวอาข่าที่ประดับอยู่บนผนัง รูปไร่กาแฟตอนไป Coffee Jouney ลวดลายสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดจากลายผ้าเก่าแก่ของชาวอาข่าบริเวณประตูและป้ายชื่อร้าน และนางกวักขนาดกำลังดีที่เพื่อนคนไทยซื้อมาให้ ส่วนแพ็กเกจเมล็ดกาแฟทั้งสามชนิด ผลไม้ กลางๆ และเข้มข้น ได้ Illustrator ชาวญี่ปุ่นมาสร้างสรรค์ลวดลายผ้าของชาวอาข่าด้วยลายเส้นที่คนญี่ปุ่นน่าจะชื่นชอบ


เมื่อตำแหน่งที่ตั้งและรูปแบบการตกแต่งร้านน่าจะเป็นทางที่ใช่แล้ว เพราะตั้งแต่สองสามีภรรยาเปิดหน้าร้าน เปิดไฟให้เราถ่ายรูป คนที่อาศัยอยู่แถวนั้นก็แวะเวียนมาถามไถ่ขอซื้อกาแฟอยู่เรื่อยๆ จนประโยค “ร้านเริ่มเปิดวันที่ 1 ค่ะ” เป็นประโยคที่ปรากฏขึ้นมาบ่อยที่สุดระหว่างสนทนา
สู้ๆ
ด้วยสถานการณ์โรคระบาดในปัจจุบัน คำนี้น่าจะเป็นคำที่ 4 ผู้ก่อตั้งได้ใช้บ่อยทีเดียว
นัตซึสะกับจุนเปเจอร้านในฝันช่วงเดือนมกราคม จึงรีบเซ็นสัญญาทันที โดยนัดแนะกับลีและเจนนี่ไว้เสร็จสรรพว่า ถ้าแต่งร้านเสร็จแล้วจะให้ทั้งสองมาช่วยเซ็ตอัปร้านที่โตเกียว
และแล้ว COVID-19 ก็ระบาดช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้ทีมไทยเดินทางมาไม่ได้ แต่เซ็นสัญญาเช่าร้านไปแล้ว ยังไงก็ต้องเดินหน้าต่อเท่านั้น
“ฉันกับจุนเปไม่เคยทำร้านกาแฟมาก่อน เลยไม่รู้ว่าต้องซื้ออะไร ยี่ห้อไหนบ้าง ลีกับเจนนี่ต้องช่วยพวกเราเลือกของเข้าร้านผ่านการคุยออนไลน์ทั้งหมด” นัตซึสะเล่าพลางชี้ให้ดูอุปกรณ์ต่างๆ ก่อนจะเสริมว่า “อย่างที่ดริปนี่ของจากร้าน Gallery Drip Coffee ที่ไทยนะ”


นอกจากนี้ ทั้งสองยังไปเรียนรู้เรื่องการทำกาแฟที่ไทยไม่ได้ด้วย ความฝันที่จะทำเมนูยอดฮิตอย่างมานีมานะและยกระดับลาเต้ของ Akha Ama Coffee JAPAN ให้ดีเท่าสาขาที่ไทยจึงต้องพับไปก่อน
โชคดีที่งานตกแต่งภายในผ่านไปได้อย่างราบรื่น เพราะช่างไม้ทำงานได้ตามกำหนดการ อีกทั้งร้าน Chikyu wo Tabisuru ของทั้งสองก็ต้องปิดเป็นเวลา 1 เดือนครึ่งพอดี พวกเขาเลยใช้เวลานั้นในการเตรียมทุกอย่างที่นี่ให้พร้อม
จะขาดก็แค่พระเอกสำคัญอย่าง ‘เครื่องคั่วกาแฟ’
“จริงๆ เราอยากนำกาแฟที่ส่งตรงจากไร่มาคั่วที่นี่ เพราะเราสองคนประทับใจความสัมพันธ์ที่ของไร่กับร้านกาแฟที่ไม่ต้องผ่านคนกลาง ซึ่งที่ญี่ปุ่นไม่ค่อยมีร้านกาแฟที่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับฟาร์มที่ปลูกกาแฟอย่างเหนียวแน่นแบบนั้น นอกจากนี้ร้านอื่นจะมีกาแฟจากหลายๆ ประเทศ เช่น เอธิโอเปีย แต่ของเราเป็นกาแฟจากประเทศไทยอย่างเดียว เป็นกาแฟที่แม่ของลี ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของพวกเราเป็นคนปลูก มันถึงเป็นความรู้สึกพิเศษที่อยากให้คนที่มาร้านนี้ได้สัมผัสประสบการณ์ของความสัมพันธ์แบบนั้นโดยตรง ผ่านการชิมกาแฟที่ส่งตรงจากไร่ที่ชาวอาข่าปลูก มาคั่วให้เห็น ได้กลิ่น และดริปให้กินตรงหน้า” หญิงเก่งผู้ทำขนมในร้านทั้งหมดเองด้วยแจกแจง

เธอชี้ให้เราดูจุดที่ควรเป็นที่ตั้งของเครื่องคั่ว เรื่องนี้ทางญี่ปุ่นทำอะไรยังไม่ได้ ต้องรอให้ลีและเจนนี่เดินทางมาญี่ปุ่นก่อน ความฝันที่จะได้นำเมล็ดกาแฟชนิดอื่นๆ ของอาข่า อ่ามา มาโตเกียวถึงจะเป็นจริง
“อีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้การคั่วเมล็ดกาแฟขายที่นี่สำคัญมาก คือเราสองคนอยากสานต่อเจตนารมณ์ของแบรนด์อาข่า อ่ามา มาไว้ที่ญี่ปุ่นด้วย ดังนั้นการขายเมล็ดได้จึงสำคัญ เพราะมันจะกลับไปพัฒนาชุมชนที่หมู่บ้าน”

โคตรดี
คำว่า ‘โคตรดี’ นี้ จุนเปบอกว่าเจนนี่เป็นคนสอนให้ เราทึกทักเอาเองว่า น่าจะสอนให้พูดเวลาได้กินกาแฟอร่อย
แต่พอได้ฟังเรื่องราวจุดเริ่มต้นร้าน Akha Ama Coffee JAPAN ก็เริ่มคิดว่า เขาอาจจะหมายถึงการที่พวกเขาทั้ง 4 คนได้มาเจอกัน
“ตอนลีชวนทำร้านด้วยกัน ฉันดีใจมาก เพราะคิดว่าน่าจะมีชาวต่างชาติมากมายชวนลีไปลงทุน รวมไปถึงชวนมาทำที่ญี่ปุ่นด้วย แต่ลีบอกว่าอยากทำกับคนที่มีแนวคิดคล้ายกัน ให้ความสำคัญกับแก่นของอาข่า อ่ามา ซึ่งพวกเราเองก็ประทับใจเรื่องราวกาแฟอาข่า อ่ามา และสิ่งที่เขาให้ความสำคัญ อีกทั้งยังอยากเผยแพร่ให้คนญี่ปุ่นได้รับรู้ด้วย”
ความดีใจที่ได้รับความเชื่อใจจากลีและความยินดีที่ได้ทำงานเกี่ยวข้องกับไทย ซึ่งเป็นประเทศที่พวกเขารัก ทำให้นัตซึสะและจุนเปอยากทำให้ร้านนี้ประสบความสำเร็จให้ได้ อยากให้คนญี่ปุ่นได้รู้จักความอร่อยของกาแฟไทย จึงใส่ใจในทุกรายละเอียดตามแบบฉบับของชาวญี่ปุ่น
“ตอนที่ลองเปิด Soft Opening คนที่ไม่รู้จักกาแฟไทยมาก่อนยังกินแล้วบอกว่าอร่อย ฉันว่าร้านเราดังแน่ๆ ค่ะ” (หัวเราะ) หญิงสาวผู้โปรดปรานเมนูมานีมานะเป็นพิเศษเล่าด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม
“อย่างที่บอกไปค่ะ พวกเราอยากให้คนญี่ปุ่นได้รู้จักความอร่อยของกาแฟไทย พอชอบกาแฟอาข่า อ่ามา แล้วก็หันไปชอบเมืองไทยด้วย ลีเองก็ตั้งเป้าว่าอยากเปิดหลายๆ ร้าน ดังนั้นหน้าที่ของร้านแรกร้านนี้ คือทำให้คนรู้จักความอร่อยของกาแฟอาข่า อ่ามา ทำให้คนรู้จักแบรนด์ และได้รับรู้เรื่องกิจการเพื่อสังคม การพัฒนาชุมชนต่างๆ ที่ลีทำ นี่คือก้าวแรกที่สำคัญค่ะ”
สำหรับเราคำว่า ‘โคตรดี’ หมายถึงกาแฟคั่วอ่อนดริปเย็นที่นัตซึสะชงให้และสิ่งที่พวกเขากำลังตั้งใจทำ


AKHA AMA COFFEE ROASTERS TOKYO
เวลาเปิด-ปิด
อังคาร-ศุกร์ เวลา 08.00 – 19.00 น.
วันเสาร์ อาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ 10.00 – 19.00 น.
หยุดทุกวันจันทร์
Facebook : akhaamacoffee.japan