อังกฤษ อัจฉริยโสภณ คือศิลปิน คิวเรเตอร์ ผู้จัดการแกลเลอรี และอีกหลายอาชีพที่เกี่ยวกับศิลปะ

ที่สำคัญ เขาเป็นคนเล่าเรื่องศิลปินและศิลปะสนุกมาก

สนุกขนาด The Cloud ชวนเขามาเป็นคอลัมนิสต์คอลัมน์ Studio Visit ตั้งแต่ตั้งเว็บ และชวนเป็นพิธีกรรายการเกี่ยวกับศิลปะครั้งแล้วครั้งเล่า งานแรกเขาเขียนได้ 2 ตอน ถึง อุทิศ เหมะมูล และ ป๊อด โมเดิร์นด็อก แล้วก็ขออำลาเพราะไม่ถนัดจริง ๆ ส่วนงานที่ 2 เขาปฏิเสธตลอดมา เพราะไม่ถนัดการพูดหน้ากล้อง 

อังกฤษเป็นหนึ่งในทีมภัณฑารักษ์ของเทศกาลศิลปะ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ร่วมกับ ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช, กฤติยา กาวีวงศ์ และ มนุพร เหลืองอร่าม เรารู้เรื่องนี้ดี เพราะ The Cloud ถูกรับเชิญให้ไปทำวิดีโอสารคดีเบื้องหลังการพายเรือตามแม่น้ำโขงของ วิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปะในเทศกาลนี้

เมื่อเปิดงาน เราก็ไปร่วมชมงานโดยมีอังกฤษเป็นมัคคุเทศก์กิตติมศักดิ์ เขาเล่าถึงชิ้นงานต่าง ๆ ได้อย่างออกรส เพราะเขาเป็นคิวเรเตอร์ของงาน เป็นศิลปินที่อยู่ในวงการมาร่วม 30 ปี และชาวเชียงรายโดยกำเนิด เรื่องเล่าของอังกฤษจึงกลมกล่อมเพราะมีทั้งเรื่องราวของศิลปะ ศิลปิน และบริบทของเมืองเชียงราย ด้วยน้ำเสียงแบบเพื่อนเล่าให้เพื่อนฟัง

ทีแรกเราอยากจัดทัวร์ไปชมงานกับเขา แต่เวลาไม่ลงตัว เลยเปลี่ยนแนวทางมาเป็นการบันทึกเรื่องราวผ่านวิดีโอพอดแคสต์แทน เขาตกปากรับคำ เพราะการโปรโมตงานถือเป็นหนึ่งในหน้าที่ของภัณฑารักษ์ เลยเกิดเป็นรายการ ศิลปินไทย ที่เขาพาชมงานและทำความรู้จักศิลปินชาวไทย 10 ตอน 

งานไทยแลนด์เบียนนาเล่จบลงไปแล้วเมื่อสิ้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา แต่รายการศิลปินไทยยังรับชมรับฟังได้ไปเรื่อย ๆ 

และนี่คือเรื่องราวเบื้องหลังรายการ ศิลปินไทย โดย อังกฤษ อัจฉริยโสภณ

ถ้าคุณอยู่ในแวดวงศิลปะและงานสร้างสรรค์ เป็นไปไม่ได้เลยที่คุณจะไม่เคยได้ยินชื่องานไทยแลนด์เบียนนาเล่ ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งมีคนไปร่วมราว 2.7 ล้านคน อย่างน้อยที่สุด คุณก็น่าจะเห็นผองเพื่อนเดินทางไปเที่ยวชมงาน หรือไม่ก็ได้ยินเสียงชื่นชมงานนี้ว่าจัดได้ดีมาก

“เสียงตอบรับเกินคาดมาก ทั้งจากคนในวงการศิลปะ ชาวเชียงราย และผู้ชมทั่วไป สิ่งที่คนชมเยอะที่สุดคือ โดเซนต์ (Docent) หรืออาสาสมัครนำชมงาน ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์แห่งชาติสิงคโปร์ถึงกับบอกว่าโดเซนต์ประเทศเขาทำหน้าที่แค่เตือนว่าห้ามเหยียบเส้น แต่งานนี้จูงมือผู้ชมงานมาเล่าเรื่องให้ฟังด้วยความกระตือรือร้น เราไปหาคนแบบนี้มาจากไหนถึงมีพลังขนาดนี้” 

อังกฤษเฉลยว่าโดเซนต์ส่วนใหญ่มาจากเครือข่ายของสำนักงานวัฒนธรรม จังหวัดเชียงราย ซึ่งมักจะเป็นครูเกษียณ เลยมีจิตวิญญาณของการเรียนรู้และเป็นผู้ถ่ายทอดอยู่ในตัว นี่คืออาวุธลับสำคัญที่ทำให้ใครต่อใครรักงานนี้

“อีกเสียงชื่นชม คือมีคนขอบคุณที่จัดงานที่เชียงแสน ทำให้เขาได้เดินทางไปเชียงแสนเป็นครั้งแรก ได้เห็นสามเหลี่ยมทองคำ เห็นความเชื่อมโยงทางภูมิศาสตร์ ได้รู้ประวัติศาสตร์และเข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น”

ถ้ามองในมุมของเทศกาลศิลปะก็ต้องบอกว่าสำเร็จอย่างมาก มีคนสำคัญในวงการศิลปะโลกเดินทางมาดูมากมาย และมีการติดต่อของานที่แสดงในเทศกาลนี้ของศิลปินอย่างน้อย 6 คน เอาไปแสดงต่อในเทศกาลอื่นและแกลเลอรีในหลายประเทศ

สาเหตุที่ทำให้งานปีนี้ประสบความสำเร็จกว่า 2 ครั้งแรก มี 2 เหตุผลหลัก คือคิวเรเตอร์จากเกาะศิลปะนาโอชิมะที่ญี่ปุ่นบอกว่า ทำเบียนนาเล่ต้องทำ 3 ครั้งถึงเห็นผล ครั้งแรกที่กระบี่เป็นการจัดแบบที่ทุกคนไร้ประสบการณ์ ครั้งที่ 2 ที่โคราชตรงกับช่วงโควิด ครั้งที่ 3 ที่เชียงราย ผู้จัดเริ่มมีประสบการณ์ คนเริ่มออกมาเที่ยว และเชียงรายยังมีความพร้อมมาก เพราะมีกลุ่มศิลปินที่รวมตัวกันเหนียวแน่นมากมาย พูดง่าย ๆ คือถูกเวลาและถูกที่

อีกเหตุผล คือนอกจากการแสดงงานของศิลปินที่ได้รับการคัดเลือกทั้งไทยและต่างประเทศจำนวน 60 คนแล้ว ยังทำในสิ่งที่ครั้งก่อนหน้าไม่มี นั่นคือเพิ่มการเปิดบ้านศิลปิน 60 หลัง เพิ่มพาวิลเลียนให้กลุ่มศิลปินที่มีทุนสนับสนุนอยู่แล้วมาร่วมแสดงงาน 13 พาวิลเลียน และมี Collateral Events หรือกิจกรรมที่จัดในช่วงงานอีก 183 งาน งานนี้จึงเกี่ยวข้องกับผู้คนมากมาย

ธีม ‘เปิดโลก’ หรือ ‘The Open World’ ได้มาจากการลงพื้นที่ร่วมกันครั้งแรกของคณะภัณฑารักษ์ พวกเขาไปวัดป่าสักที่เชียงแสน แล้วเห็นพระพุทธรูปปางเปิดโลก เลยเห็นพ้องว่าน่าเอาคำนี้มาเป็นธีม เพราะกินความหมายหลายมุม ทั้งการเปิดโลกหลังจากโควิด และคำว่า ‘The Open World Game’ หมายถึงเกมที่ไม่ต้องผ่านเป็นด่าน ๆ แต่เล่นกลับไปกลับมาได้ เหมือนกับการเล่าประวัติศาสตร์แบบไม่ต้องเป็นเส้นตรง แล้วก็ยังรวมไปถึงการเลื่อนไหลของผู้คนไปมา ไม่ว่าจะเป็นในสเกลโลกหรือสเกลกลุ่มชาติพันธุ์บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ

“งานนี้เราชวนศิลปินอ่านอดีต ทำงานศิลปะร่วมสมัยในปัจจุบัน เพื่อหาความเป็นไปได้ในอนาคตว่าเชียงรายควรจะไปทางไหน จะเป็นเมืองศิลปะ เมืองท่องเที่ยว หรือเมืองคาสิโน เราเป็นประชาชน เรามีอำนาจในการกำหนดชีวิตตัวเองว่าจะทำอะไร ไม่ทำอะไร” อังกฤษเล่าถึงบรีฟจากผู้จัดงานถึงศิลปินที่ได้รับเลือกให้มาแสดงงาน จนกลายมาเป็นงานศิลปะนับร้อยชิ้นที่ดู 4 วันก็ไม่หมด จนหลายคนต้องเดินทางกลับมาเก็บอีกรอบ

ส่วนรายการ ศิลปินไทย ถ้าจะให้เล่าถึงทุกงานคงไม่ไหว เลยคัดสรรงานของศิลปินไทย 10 คนมาเล่า ได้แก่

1. ถวัลย์ ดัชนี

2. ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช

3. สล่าขิ่น (จำรัส พรหมมินทร์)

4. อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

5. สมลักษณ์ ปันติบุญ

6. นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล

7. วิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์

8. สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์

9. อุบัติสัตย์

10. บู้ซือ อาจอ

“ย้อนกลับไปดูรายการอีกที รู้สึกว่าเราเตรียมตัวไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เรียบเรียงเรื่องได้ไม่ดีเท่าที่ควร เพราะช่วงนั้นงานเยอะมาก เบลอมาก” อังกฤษออกตัวพร้อมเสียงหัวเราะ

แต่ถ้าย้อนกลับไปเหตุการณ์ในช่วงที่เราถ่ายรายการ ก็ต้องบอกว่าเขาทำในสิ่งที่มหัศจรรย์มาก คือช่วงนั้นเขาต้องรับคณะทุกวัน แต่ก็ยังปลีกเวลามาหาข้อมูลศิลปิน 10 คน หลายคนก็โทรไปคุยกับเจ้าตัวเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง พอข้อมูลอยู่ในหัวครบ ก็ตะลุยเดินทางถ่าย 10 ตอน เล่าถึงศิลปิน 10 คน 10 สถานที่ภายในเวลา 3 วัน แบบไม่มีสคริปต์ เพราะไม่มีเวลาเรียบเรียงออกมาเป็นตัวหนังสือจริง ๆ 

ฟังแล้วรู้สึกเหมือนเพื่อนพาไปเที่ยวแล้วเล่าเรื่องให้ฟัง

“เมื่อวานผมไปเจอ อาจารย์คามิน มา (คามิน เลิศชัยประเสริฐ) เขาบอกว่าดูรายการนี้ด้วย ฟังแล้วเหมือนผมเอาตู้เย็นไปขายให้เอสกิโมได้ คือโม้เก่ง โม้ไปเรื่อย” อังกฤษหัวเราะ

ศิลปินชาวเชียงรายขยายความว่า ความสนุกในเรื่องเล่าของเขามาจากความอินในตัวศิลปิน ถ้าศิลปินคนไหนเขาไม่อินกับงาน ต่อให้ดังแค่ไหน เขาก็เล่าไม่ได้

“ผมสนใจงานศิลปะที่มีความหมายบางอย่างที่เกี่ยวพันกับชีวิตของศิลปิน แล้วเราได้เรียนรู้สิ่งนั้นจากชีวิตเขา ศิลปะจะจืดชืดมากถ้าไม่สัมพันธ์กับชีวิตคนทำ ถ้าไม่เห็นความเชื่อมโยงตัวเขากับงาน เขาจะเป็นแค่นักประดิษฐ์ นักออกแบบ หรือช่างฝีมือ สิ่งที่ดึงดูดเราที่สุดคือการเรียนรู้ชีวิตเขาว่า ทำไมถึงทำงานออกมาแบบนี้

อังกฤษสนใจชีวิตศิลปินพอ ๆ กับผลงาน

“ตอนเรียน มช. เวลาผมอินงานของศิลปินคนไหนก็จะขี่มอเตอร์ไซค์ไปกดออดหน้าบ้านศิลปินคนนั้นแล้วขอคุยด้วย พอโตมาไม่ได้บุกบ้านแบบนั้นแล้ว แต่ก็ยังหาโอกาสคุยกับศิลปินที่เราชอบงานเขาอยู่ มันกลายเป็นนิสัยไปแล้ว”

รายการศิลปินไทยก็เลยเล่าเรื่องชีวิตของศิลปินพอ ๆ กับผลงาน

“ผมชอบทุกตอนนะ เพราะคนไหนผมไม่ชอบ ผมก็จะไม่เล่าตั้งแต่แรก” อังกฤษตอบคำถามถึงตอนโปรดพร้อมรอยยิ้ม แต่ถ้าให้เลือกตอนในดวงใจที่อยากแนะนำ เขาขอเลือก ตอน ถวัลย์ ดัชนี ซึ่งเล่าถึงศิลปินระดับตำนานของประเทศในฐานะของพ่อเพื่อน ครูศิลปะ และต้นแบบในการทำงาน

“ลุงหวันเป็นศิลปินที่มีอิทธิพลกับผมมากที่สุดตั้งแต่ตอนผมเป็นวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ ผมรู้สึกกับลุงหวันเยอะ เหมือนเขาเป็นคนในครอบครัว เขาทำให้ผมไปเรียนศิลปะ อยากเป็นศิลปิน เขาคือต้นแบบศิลปินของผม”

อีกตอนเขาเลือก ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช ศิลปินไทยที่โด่งดังระดับโลก ซึ่งได้ทำงานร่วมกับอังกฤษมาตลอด 22 เดือนที่ผ่านมา

“เขามีอิทธิพลกับเราเยอะมาก เปิดโลกให้เราเห็นว่าศิลปะร่วมสมัยเป็นยังไง เขาเก่งมาก มันยากมากที่คนไทยจะไปเติบโตในสหรัฐอเมริกาได้แบบนี้ เขาประสบความสำเร็จมาก ๆ เขาเป็นผู้บริหารที่เก่งมาก แต่ดูเผิน ๆ เขาเป็นคนชิลล์ ๆ ไม่ได้พยายามอะไรมากมาย ทำงานระดับโลกในมาตรฐานที่สูงมากโดยไม่ต้องดิ้นรนอะไร ทำแบบเป็นธรรมชาติ ไม่ใช่ว่าทุกคนจะทำแบบนี้ได้นะ” 

 อีกคนที่เราควรจะมองเขาในมุมใหม่คือ วิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์

“เขาเป็นไอดอลของเรา เป็นคนเปลี่ยนแปลงตัวเองเยอะมาก เหมือนดักแด้ที่ลอกคราบเป็นผีเสื้อ ตอนเขาจัดไฟคอนเสิร์ตก็ดังระดับต้น ๆ ประเทศ แล้วก็ทิ้งไปทำอย่างอื่น เขาไม่ยึดติด เป็นคนคุณภาพที่น่าสนใจมาก ทั้งความคิด การลงมือทำ ความวิริยะ และอารมณ์ขัน ซึ่งเจ๋งมาก เป็นเพื่อนที่เรานับถือ เราคิดว่าคนไทยหรือวงการศิลปะไทยให้คุณค่าเขาน้อยเกินไป เขาควรได้รับการชื่นชมมากกว่านี้” 

ตอนสุดท้ายที่อังกฤษอยากเล่าถึง คือศิลปินที่มาแรงที่สุดในยุคนี้ในสายตาของเขา สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์

“เมืองไทยมีศิลปินที่ทำงานพุทธศิลป์เยอะ เรามี อาจารย์มณเฑียร บุญมา ที่ทำออกมาเป็นศิลปะร่วมสมัยเป็นคนแรก จากนั้นก็มีคนทำเยอะแต่ไม่ค่อยโดดเด่นจนมาถึงสนิทัศน์ งานของเขายังคงความเป็นพุทธศิลป์แต่ให้ความหมายใหม่ ไม่ต้องประดิดประดอย ไม่ต้องมีพุทธประวัติ แต่ทำออกมาเป็นงานร่วมสมัย เขามีพัฒนาการที่น่าตื่นเต้นภายในเวลาไม่กี่ปี จากการออกแบบฟอร์มกลายเป็นงานคอนเซปชวล ตอนนี้ยังถือเป็นการทำงานช่วงแรกของเขา ยังไปได้ไกลกว่านี้อีกเยอะ งานของเขาน่าสนใจและน่าจับตามองเสมอ”

ไทยแลนด์เบียนนาเล่ 2023 จบลงแล้ว แต่รายการ ศิลปินไทย ยังรับชมย้อนหลังได้ เชื่อว่ารายการนี้อาจจะเปลี่ยนมุมมองของหลาย ๆ คนที่มีต่องานศิลปะได้ ใครดูแล้วอินก็ไม่ต้องเสียดาย เพราะยังมีงานดี ๆ ให้ดูอีกมากมาย

“ปลายปีก็มีงาน Bangkok Art Biennale ที่กรุงเทพฯ ของ อาจารย์อภินันท์ โปษยานนท์ น่าสนใจมาก ๆ ปลายปีหน้าก็จะมีงาน Thailand Biennale ที่ภูเก็ตแล้ว น่าติดตาม สิงคโปร์ก็กำลังจะมีงานของ Olafur Eliasson ศิลปินระดับโลกชาวเดนมาร์ก ซึ่งเป็นการรวมงานที่เด่นสุดของเขาในรอบ 3 ทศวรรษ งานเขาเป็นงานปรากฏการณ์ แปลว่าต้องสร้างทุกอย่างขึ้นมาหมด ใช้ทุนมหาศาล น่าไปดูมาก แล้วก็ยังมีงานเบียนนาเล่ในอีกหลายประเทศ ทั้งอินโดนีเซีย เกาหลี ไต้หวัน ญี่ปุ่น และตอนนี้ก็มีงานใหญ่ที่สุดในโลกอย่างเวนิสเบียนนาเล่”
และถ้าใครสงสัยว่า ทำไมเราต้องรู้จักศิลปินไทยที่อยู่ในรายการ อังกฤษมีคำตอบ

“เราโชคดีที่ได้เจอมนุษย์แบบลุงหวัน ฤกษ์ฤทธิ์ วิชญ์ พิมพ์ หรือพี่เจ้ย (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) เราไม่ได้เจอคนแบบนี้บ่อย ๆ นะ พวกเขาเป็นคนที่พิเศษมาก การที่มีคนเหล่านี้ทำให้โลกพิเศษขึ้น น่าอยู่ขึ้น” 

ภาพ : วันชัย พุทธวารินทร์

Writer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป