นั่งจิบชากลางอากาศ เข้าห้องน้ำที่ไม่มีประตูและผนังกั้น แผ่นสังกะสีที่กลายเป็นฝ้าเพดานสูงโปร่ง เฟรมไม้ขนาดใหญ่นับสิบเฟรมวางตั้ง ผนังที่ลอกลายไม่เสร็จ แผ่นทองบนพื้นปูน วีดิโอซึ่งรันวนไปมาด้วยเรื่องเดิมรอบแล้วรอบเล่า ถ้วยชาบนท่อนไม้เปลือยเปล่าหน้ากระจกเงา และหนังสือเล่มหนาที่ไม่มีตัวอักษร ฯลฯ 

เราจะนิยามสิ่งเหล่านี้ว่าอะไร

ศิลปะ?

คนที่จะบอกเล่า อธิบายทั้งหมดได้ดีที่สุด ไม่ใช่ใครนอกจาก คามิน เลิศชัยประเสริฐ ศิลปินผู้สร้างและวางคอนเซ็ปต์งานในอาคารไม้รูปทรงบ้าน ท่ามกลางหมู่ไม้ย่านวัดอุโมงค์ จังหวัดเชียงใหม่แห่งนี้  

ผู้สนใจงานศิลปะ ลูกศิษย์ลูกหา หรือศิลปินหลายคนอาจเคยรับรู้มาก่อนว่า อาคารหลังนี้เคยเป็นสตูดิโอทำงานของคามิน  ทว่าปีนี้เขาปรับเปลี่ยนและรีโนเวตที่ทำงานศิลปะของตัวเองให้กลายเป็นพื้นที่แสดงงานในโปรเจกต์ยาว 5 ปีที่มีชื่อว่า ‘Self Enquiry’ (สอบถามตนเอง) 

ที่นี่คือพิพิธภัณฑ์จิตวิญญาณร่วมสมัยแห่งศตวรรษที่ 31 (สำนักงาน) หรือ 31st Century Museum of Contemporary Spirit (office)  

พื้นที่แสดงงานศิลปะเพื่อเข้าถึงความจริงแห่งชีวิตของศิลปิน คามิน เลิศชัยประเสริฐ

เพราะปลวกกัดกินโครงไม้ให้หล่นร่วง โครงการศิลปะ ‘สอบถามตนเอง’ จึงเกิดขึ้น  

“มันมาจากความบังเอิญ คือผมนั่งทำงานอยู่ตรงนี้เนอะ (ชี้ตรงพื้นที่ว่างติดผนังหน้าจอโปรเจกเตอร์ที่กำลังฉายภาพยนตร์ The Bardos of Living and Dying หนึ่งในโปรเจกต์งานแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ เดิมที่ตรงนี้คือมุมทำงานศิลปะของเขา) แล้วไม้มันก็ตกลงมา ผมสงสัยว่าอะไรเลยเงยหน้าขึ้นไปมองด้านบน ไม้ของโครงหลังคามันร่วง มันบิด มันผุเพราะปลวกกิน และทำท่าจะหล่นอีกหลายอันเลย ตอนนั้นรู้สึกว่าเราต้องแก้ไข ต้องรีโนเวตหลังคาแล้ว นั่นเป็นจุดเริ่มต้น แต่ยังไม่ได้คิดโปรเจกต์อย่างนี้ คือที่เห็นนี่ค่อย ๆ พัฒนาขึ้นมาเมื่อเราคิดกับมันมากขึ้น คิดว่าแทนที่จะแค่ซ่อมหลังคา เราทำเป็นงานของเราโดยหาความร่วมมือจากแกลเลอรีที่สนใจก็น่าจะดี มันเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ใช่แค่ทางสุนทรียะอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องของฟังก์ชัน เศรษฐกิจ และทุกอย่าง” 

พื้นที่แสดงงานศิลปะเพื่อเข้าถึงความจริงแห่งชีวิตของศิลปิน คามิน เลิศชัยประเสริฐ
พื้นที่แสดงงานศิลปะเพื่อเข้าถึงความจริงแห่งชีวิตของศิลปิน คามิน เลิศชัยประเสริฐ

หากมองเฉพาะโครงสร้าง อาคารหลังนี้ดูไม่เปลี่ยนมากนัก แต่หากเข้ามาด้านในจะเห็นการปรับเปลี่ยนพื้นที่จนไม่เหลือเค้าเดิม เขารื้อห้องพักผ่อนชั้นบนและบันไดวนกลางอาคารออก ห้องน้ำที่เคยกั้นสัดส่วนถูกดีไซน์และตีความใหม่ และเมื่อเดินขึ้นบันไดไปชั้นบน จะพบห้องน้ำเปิดโล่ง ไม่มีผนังและประตูปิดกั้น ต่อด้วยทางเดินแคบที่นำไปสู่ห้องทำงาน ระหว่างทางเป็นมุมนั่งดื่มชาบนพื้นกระจกใสที่มองทะลุลงไปยังพื้นด้านล่างได้เต็มตา ขณะที่ตัวอาคารซึ่งเคยเป็นพื้นที่นั่งคิดงานและทำงานศิลปะของคามิน ยังคงเปิดสเปซให้โล่งโปร่ง ทว่าเนื้อหาด้านในตัวอาคารบรรจุงานแสดงมากมาย ซึ่งล้วนเต็มไปด้วยความหมายและสะท้อนความคิดของศิลปิน  

หลังคากระเบื้องโบราณเปลี่ยนวัสดุเป็นเมทัลชีท ใช้แผ่นสังกะสีให้เป็นฝ้าเพดานปิดฉนวนและยิปซั่มกันความร้อน ผนังกำแพงที่เคยทาสีดำถูกขัดออกแต่ยังคงร่องรอยบางส่วน นั่นกลายเป็นส่วนของงานแสดงด้วยเช่นกัน 

พื้นที่แสดงงานศิลปะเพื่อเข้าถึงความจริงแห่งชีวิตของศิลปิน คามิน เลิศชัยประเสริฐ
พื้นที่แสดงงานศิลปะเพื่อเข้าถึงความจริงแห่งชีวิตของศิลปิน คามิน เลิศชัยประเสริฐ

“โครงสร้างเหมือนเดิม เปลี่ยนแค่วัสดุ อย่างการใช้เหล็ก สังกะสี เมทัลชีท หรือกระจก ทางสถาปัตยกรรมอาจมองว่ามันแปลกแยกกับอาคารแบบนี้ ถ้าใช้ไม้ก็จะดูสวย ซอฟต์ และกลมกลืน แต่ผมอยากใช้วัสดุที่อยู่ในยุคของมัน 

“เหมือนเวลาทำงานศิลปะ ผมชอบทำอะไรกับของร่วมสมัย หลังคานี่ถ้าคุณดูดี ๆ เป็นโครงเหล็ก ผมก็ไม่พยายามปกปิดให้เหล็กเหมือนไม้หรือให้ดูเรียบร้อย แต่ให้มันแสดงความเป็นเหล็กไปเลย ผมได้ความคิดมาจากการซ่อมถ้วยใบนี้ (ชี้ถ้วยชาที่มีรอยแตกเคลือบด้วยแผ่นทอง งานอีกชิ้นหนึ่งที่จัดแสดง)  มันโชว์ความต่างของวัสดุ เพื่อให้เคารพความเป็นเนื้อแท้ของมัน”

คามินอธิบายเชื่อมโยงไปถึงงานแสดงถ้วยชาใบที่วางในกล่องใส และตั้งอย่างโดดเด่นเห็นได้ชัดบนท่อนไม้ด้านหน้ากระจก 

พื้นที่แสดงงานศิลปะเพื่อเข้าถึงความจริงแห่งชีวิตของศิลปิน คามิน เลิศชัยประเสริฐ

“ถ้าคุณเข้ามาปุ๊บ ไฟจะติดส่องสว่างที่ถ้วยตรงนี้ สำหรับผมแล้ว นี่คืองานที่คิดว่าจะเป็นบทสรุปความคิดของ Self Enquiry ทั้งหมด เหมือนการทำงานศิลปะของผมทั้งชีวิต ทำให้ผมเข้าใจว่าศิลปะคืออะไร อาจจะถูกหรือผิดก็ไม่รู้นะ แต่โดยส่วนตัวผม ผมชัดเจนขึ้น ถ้วยใบนี้ให้ความหมายกับผมมากที่สุดในการเป็นตัวแทนประสบการณ์ คือ ถ้าถ้วยแตก ผมก็ซ่อมโดยยังไม่ได้คิดอะไร แต่ต่อมาจึงรู้ว่าการซ่อมแบบนี้ เรียกว่า คินสึงิ (Kintsugi) แทนที่จะปกปิดรอยแตกด้วยการซ่อม แต่เราใช้แนวคิดปรัชญาคินสึงิที่พยายามโชว์ข้อบกพร่องแทนการปกปิด ตรงนี้เป็นความงามและการสร้างสรรค์อีกมุมหนึ่ง โดยเอาทองไปสร้างลวดลายใหม่ให้ตรงรักที่เราเชื่อมรอยแตก

 “เหมือนชีวิตที่มีความผิดพลาดหรือความไม่ดีในอดีต แล้วเราพยายามมองให้เป็นประสบการณ์ที่ดี มองให้เป็นแง่มุมที่สวยงาม เป็นบทเรียน ผมว่าอันนี้มันกระทบใจผมมาก พอเข้าใจความหมาย ก็รู้สึกได้เลยว่าศิลปะทั้งหมดที่เราทำหรือเรียนรู้มามันคือตัวนี้นี่เอง ทำให้เราเข้าใจชีวิต เข้าใจสังคม เข้าใจโลก เหมือนเราทำงาน อาจจะดูน่าเกลียด แสดงออกอะไรไม่เหมาะสม แต่จริง ๆ มันคือการสร้างสมดุลในชีวิตอันนี้คือความงามในแง่มุมของศิลปิน ซึ่งคนอื่นอาจคิดว่าไม่งามหรือรับไม่ได้ คล้ายกับรอยแตกของถ้วย 

พื้นที่แสดงงานศิลปะเพื่อเข้าถึงความจริงแห่งชีวิตของศิลปิน คามิน เลิศชัยประเสริฐ

“สำหรับผม นี่คือการทำความเข้าใจศิลปะ ผมเลยทำเป็นตัวติดตั้งถาวรในโปรเจกต์ 5 ปี ผมอธิบายแนวคิดนี้และวาบิซาบิให้ศิลปินรุ่นน้องที่ชื่อมนตรีฟัง แล้วเอาท่อนไม้ให้ เขาก็ทำฐานวางถ้วยใบนี้ให้ผม เป็นส่วนที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นธรรมชาติ และการถูกเกลาเนื้อไม้จนเนี้ยบขึ้นถึงด้านบน นี่จึงเป็นความงามทั้งจาก Nature made และ Man made”

คามินเล่าว่าโปรเจกต์ตรวจสอบตัวเองนี้ เขาวางแผนทำหนังสือตลอดระยะเวลาแสดงงาน 5 ปี ซึ่งเขาจะมองย้อนไปวิเคราะห์งานแสดงที่ผ่านมาแล้วนำมาตีความใหม่ และทำงานร่วมกับศิลปินอื่น ๆ ที่เขาสนใจ อาทิ ภาพยนตร์เรื่อง บาร์โด ที่เขาร่วมงานกับศิลปิน Sonoko Prow และเป็นงานเปิดชิ้นแรกของพื้นที่นี้ หรืองานชิ้นต่อไปกับ ดุจดาว วัฒนปกรณ์ นักสร้างสรรค์ศิลปะแห่งการเคลื่อนไหวเพื่อการสื่อสารและบำบัดจิตใจ เป็นต้น 

พื้นที่แสดงงานศิลปะเพื่อเข้าถึงความจริงแห่งชีวิตของศิลปิน คามิน เลิศชัยประเสริฐ

“ผมจะเขียนหนังสือ 5 ปีเกี่ยวกับกลศาตร์สุนทรียะ (Aesthetic Mechanics) ว่าสุนทรียศาสตร์ทำงานกับมนุษย์ยังไง มีผลกับมนุษย์ยังไง หรือจริง ๆ แล้วมันคืออะไรในทรรศนะของผม ผ่านการวิเคราะห์การทำงานในอดีต อันนี้คือโชว์แรก ปีหนึ่งตั้งใจไว้ว่าจะมี 3 – 4 โชว์ เปลี่ยนไปในทุก ๆ 3 – 4 เดือน แต่มันจะค่อย ๆ เปลี่ยนค่อย ๆ มาเติม แต่ละโชว์ก็จะเป็นหนึ่งบทของหนังสือ”

พื้นที่แสดงงานศิลปะเพื่อเข้าถึงความจริงแห่งชีวิตของศิลปิน คามิน เลิศชัยประเสริฐ

ความว่างคือรูป รูปก็คือความว่าง 

บ้านคือความว่างและความว่างก็คือบ้าน 

หลังจากได้ฟังคำอธิบายที่มาที่ไปของงานศิลปะชุดหนึ่งในโครงการสอบถามตนเองของคามิน ชื่อของต้นฉบับเรื่องนี้ก็ปรากฏขึ้นทันที 

แนวคิดเรื่องการปรับเปลี่ยนพื้นที่ของเขาสอดคล้องร้อยรัดไปกับแนวคิดทางศิลปะอย่างแยกกันไม่ออก เนื้อหาบางส่วนที่คามินอธิบาย Self Enquiry มีว่า

“…ศิลปะคือกระบวนการทำความเข้าใจตนเอง สังคม และธรรมชาติ แม้ว่าผมเริ่มรู้จักมัน แต่ก็ไม่แน่ใจนัก”

“โครงการสอบถามตนเองจึงเกิดขึ้นเพื่อเรียนรู้และตรวจสอบอีกครั้ง เพื่อเป็นบทสรุปความเข้าใจให้ลึกซึ้ง ผ่านการวิเคราะห์เจาะลึกผลงานศิลปะของผมในอดีต คู่ขนานไปกับความรู้ทางประวัติศาสตร์

ในสาขาวิชาต่าง ๆ เช่น ปรัชญา ศาสนา วิทยาศาสตร์ จิตวิทยาเชิงวิเคราะห์ เป็นต้น โดยนำมาช่วย

ในการตีความใหม่ เพื่อสร้างสรรค์สภาวะการรับรู้ใหม่หรือภาษาใหม่ ในการสื่อสารและทำความเข้าใจ

ร่วมกันกับสังคม ด้วยการรื้อถอนโครงสร้างคุณค่าของศิลปะหรือสุนทรียะ ทำให้เราเข้าใจการสร้างสรรค์

(กลไกสุนทรียะ) และการทำงานของจิตใจ ในการรับรู้ความงามของชีวิตอย่างเป็นรูปธรรม”

เปิดบ้านและพิพิธภัณฑ์จิตวิญญาณร่วมสมัยฯ ของ คามิน เลิศชัยประเสริฐ พื้นที่แสดงงานเพื่อเข้าถึงความงาม-ความจริงแห่งชีวิต

นิทรรศการ ‘รูปคือความว่าง-ความว่างก็คือรูป’ เป็นสภาวะเชื่อมต่อ (Bardo) คือความว่างระหว่างความตาย (อดีต) กับการเกิดใหม่ (อนาคต) เป็นนิทรรศการสุดท้ายหรือนิทรรศการที่ 4 ของ การรับรู้ที่บริสุทธิ์ (Pure Perception) แต่เป็นนิทรรศการแรกเริ่มของโครงการสอบถามตนเอง ซึ่งเริ่มจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์จิตวิญญาณร่วมสมัยแห่งศตวรรษที่ 31 (สำนักงาน) ตั้งแต่วันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2565 ต่อเนื่องไปเป็นระยะเวลา 5 ปีโดยประมาณ

“จุดประสงค์หลักก็เพื่อทำความเข้าใจตนเองในส่วน ที่บางโอกาสอาจเป็นกระจกให้ผู้อื่นตระหนักถึงคุณค่าหรือสภาวะที่แท้ของชีวิต นั้นก็แล้วแต่ว่าโชคชะตาจะนำพาคุณประโยชน์ในการดำเนินชีวิตที่เหลืออยู่อย่างมีสติที่สุดแห่งจิตบริสุทธิ์และความจริงใจ ที่เกิดจากการค้นพบสัจจะภายในและปัญญาที่มีอยู่แล้วในตน” 

ความว่างที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่เราสัมผัสได้และแทบไม่ต้องใช้คำอธิบายใด ๆ ทว่ากลับชัดเจน คือ ‘รูปทรงของที่ว่าง’ หรือประติมากรรมหลังคา เพราะมีความว่างจึงมีรูปทรง ซึ่งคามินบอกว่า “เราไม่ได้ออกแบบรูปทรง แต่เราออกแบบพื้นที่ว่างที่จะใช้สอย” 

เปิดบ้านและพิพิธภัณฑ์จิตวิญญาณร่วมสมัยฯ ของ คามิน เลิศชัยประเสริฐ พื้นที่แสดงงานเพื่อเข้าถึงความงาม-ความจริงแห่งชีวิต

นั่งจิบชากลางอากาศ

คามินกับถ้วยชา การดื่มชา บทสนทนา และการทำงานศิลปะเพื่อเข้าใจตนเอง คือเรื่องที่แยกจากกันไม่ขาด ดังนั้น บ้าน ในนามของพิพิธภัณฑ์จิตวิญญาณร่วมสมัยฯ ของเขา ย่อมต้องมีมุมดื่มชาให้ได้เยี่ยมเยือน และนั่งลงจิบชาสนทนาเรื่องราวต่าง ๆ อย่างมีรสชาติไม่แพ้รสชาชั้นดี   

แต่การจิบชาในครั้งนี้ ดูราวกับการนั่งอยู่กลางอากาศ ด้วยว่าพื้นนั่งที่รองรับนั้นกรุกระจกใสมองทะลุถึงชั้นล่าง

เปิดบ้านและพิพิธภัณฑ์จิตวิญญาณร่วมสมัยฯ ของ คามิน เลิศชัยประเสริฐ พื้นที่แสดงงานเพื่อเข้าถึงความงาม-ความจริงแห่งชีวิต

“เดิมทีตรงนี้จะเป็นที่โล่งดับเบิ้ลสเปซจากชั้นล่างขึ้นมา แต่ในที่สุดผมบอกสถาปนิกว่า ขอเปลี่ยนดีไซน์มาเป็นที่ดื่มชาโดยเปิดพื้นที่ให้โล่ง ผมได้ไอเดียจากห้องดื่มชาหรือ Tea Ceremony ของริคิว (Sen no Rikyu) คือผมทำงานเรื่อง Tea House และถ้วยชามานาน ถ้าจำไม่ผิดราว 400 – 500 กว่าปีที่ริคิวออกแบบห้องดื่มชาให้มีแต่ผนัง ประตูทางเข้าเล็ก ๆ ดังนั้น ทุกคนไม่ว่าจะโชกุนหรือซามูไรก็ต้องก้มหัวและวางดาบก่อนเข้าไปด้านใน Tea House ซึ่งการก้มเข้าไปก็คือการทำให้อ่อนน้อมถ่อมตน เข้าไปอยู่ในห้องมืด ๆ เพราะไม่มีหน้าต่าง อาจจะมีรูปเขียนหรืออะไรเล็ก ๆ แล้วดื่มชากัน และไม่มีการพูดคุยกันในพิธีชงชา นั่นคือวิธีกลับไปหาความเป็นหนึ่งเดียวกับความสงบภายใน รวมถึงความเป็นธรรมดาของมนุษย์ 

เปิดบ้านและพิพิธภัณฑ์จิตวิญญาณร่วมสมัยฯ ของ คามิน เลิศชัยประเสริฐ พื้นที่แสดงงานเพื่อเข้าถึงความงาม-ความจริงแห่งชีวิต

“ผมเอาคอนเซ็ปต์นี้มา Deconstruction คือทำตรงข้ามทุกอย่าง ไม่มีประตู ไม่มีผนัง ไม่มีพื้น ผมคิดว่ามากกว่าครึ่งไม่กล้าเข้ามา เพราะกลัวที่มันไม่เห็นพื้น กลัวว่ากระจกจะแตก ทุกคนจะหวาดกลัวไม่อยากเข้ามานั่ง เพราะว่าภาพจำที่เรามีอยู่กับพื้นที่ว่างมันน่ากลัว ไม่มั่นคง และความรู้สึกอย่างนี้เป็นการจำลองสังคมปัจจุบันของเราที่เต็มไปด้วยความหวาดกลัว แต่เราไม่รู้ตัวเพราะเคยชิน” 

เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า เมื่อครั้งยังอยู่นิวยอร์ก ทุกอย่างทำให้เรียนรู้ว่าต้องระแวดระวังและหวาดกลัว เขาจึงเข้าใจได้ว่าความหวาดกลัวนั้นฝังลึก และหากไม่สังเกตจะไม่เข้าใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในจิตใจ 

“ผมเคยอยู่นิวยอร์กในยุค 90 ซึ่งมันเลวร้ายมาก เรากลัวโดนจี้ กลัวโดนทำร้าย ผมจึงเข้าใจสังคมปัจจุบันที่คนหวาดกลัว เพราะมีความรู้สึกไม่มั่นคง หวาดระแวงเมื่อต้องเข้ามานั่งในนี้ ซึ่งผมก็พยายามจัดให้รู้สึกรีแล็กซ์ที่สุดทุกอย่าง ตั้งแต่ดีไซน์เรื่องถ้วย ไม่อยากให้ถ้วยใหญ่ ต้องรีบกินรีบใช้ ผมลดสเกลทุกอย่างให้คนที่นั่งดื่มได้กลับมาอยู่กับปัจจุบัน ได้ใช้เวลาด้วยกัน ผมออกแบบพื้นที่ให้มีความเปิดเผย เมื่อนั่งไปเรื่อย ๆ ความกลัวหรือความเคยชินจะค่อย ๆ หายไป 

“ในขณะที่ Tea House ของริคิว คือกลับเข้าไปหาความสงบส่วนตัว ส่วนผมนั้นกลับกัน เริ่มสิ่งที่ตรงข้ามกับริคิว คือ เข้าไปหาจริงโดยใช้ความระแวงหวาดกลัว ความไม่มั่นคง ความเปิดเผย ไม่มีความลับ ผมคิดว่าความจริงมันอยู่บนยอดเขา เราขึ้นได้หลายทาง ดังนั้น ผมจะขึ้นอีกทางหนึ่ง เพราะทางนั้นมีคนอื่นทำมาแล้ว”

เปิดบ้านและพิพิธภัณฑ์จิตวิญญาณร่วมสมัยฯ ของ คามิน เลิศชัยประเสริฐ พื้นที่แสดงงานเพื่อเข้าถึงความงาม-ความจริงแห่งชีวิต

พิพิธภัณฑ์รูปทรงบ้านที่บรรจุงานศิลปะมากกว่า 7 ชิ้น

ผนังด้านหนึ่งของอาคารติดภาพและคำอธิบายแปลนการใช้พื้นที่ ซึ่งระบุถึงงานที่จัดแสดง 7 ชิ้น ภายใต้ชื่องานครั้งนี้ว่า ‘ความว่างคือรูป รูปก็คือความว่าง’  ได้แก่ 1. กลศาสตร์สุนทรียะ (หนังสือ) 2. ก่อนที่คุณยายเกิดหน้าตาคุณเป็นอย่างไร (ถ้วยชา, กระจกเงา) 3. การรับรู้ที่บริสุทธิ์ (จิตกรรม) 4. รูปทรงของเวลา (จิตรกรรมฝาผนัง) 5. รูปทรงของที่ว่าง (ประติมากรรมหลังคา) 6. กลุ่มดาว (พื้น) และ 7. บาร์โดของการมีชีวิตและการตาย (ฟิล์ม)

คามินบอกว่า แท้จริงแล้วในพื้นที่แห่งนี้มีงานศิลปะมากกว่า 7 ชิ้นที่ได้เขียนไว้ แต่จะเป็นอย่างไรนั้น อยากให้ผู้เข้าชมลองตีความหรือสัมผัสด้วยตนเอง หรือหากได้พบกับศิลปิน ก็อาจแลกเปลี่ยนหรือสอบถามได้โดยตรง เชื่อว่าจะเต็มไปด้วยแรงสั่นสะเทือนทางศิลปะ ซึ่งต้องนำไปขบคิดหรือทบทวนทั้งผลงานที่เห็นตรงหน้า และแนวคิดต่าง ๆ จะย้อนกลับมาพูดคุยกับตนเองหลังได้ดูงานของศิลปินท่านนี้ 

ยกตัวอย่างแนวคิดในการทำงานศิลปะที่ชื่อว่า กลุ่มดาว หรือ Galaxy ที่วงเล็บด้านหลังว่า ‘พื้น’ ที่มาของงานชิ้นนี้ เกิดจากรอยซ่อมพื้นที่ต้องทาด้วยปูนพิเศษ ทำให้เกิดสีดำแปลกแยกกับพื้นปูนขัดมัน ดังนั้น จึงนำทองมาแปะตามรอยซ่อม ซึ่งมาจากแนวคิดการซ่อมถ้วยชาในศิลปะแบบคินสึงิ 

เปิดบ้านและพิพิธภัณฑ์จิตวิญญาณร่วมสมัยฯ ของ คามิน เลิศชัยประเสริฐ พื้นที่แสดงงานเพื่อเข้าถึงความงาม-ความจริงแห่งชีวิต

หรืองานศิลปะบนฝาผนังในชื่องานว่า รูปทรงของเวลา คามินอธิบายงานว่าเดิมผนังนี้ทาด้วยสีดำ พอรีโนเวตอาคารจึงขัดสีดำออก ขณะที่ช่างกำลังลอกสีดำออก เขาก็มองเห็นความงามที่เกิดขึ้น 

“ผมเข้ามาดูการรีโนเวตทุกวัน วันนั้นขณะช่างทำงาน เราเห็นรูปทรงของเวลาที่เกิดขึ้นบนผนังนี้  เพราะเราเห็น ‘เวลา’ เป็นภาพไม่ได้ แต่เห็นผ่านร่องรอยของประสบการณ์ ส่วนผนังตรงข้ามผมก็ทำให้เรียบ ๆ เพื่อให้เกิดการสื่อสารกัน เหมือนหยิน-หยาง ถ้าไม่มีความเรียบก็ไม่เห็นความหยาบ และจริง ๆ แล้วกระบวนการทั้งหมดที่เกิดขึ้นก็คืองานอีกหนึ่งชิ้นด้วย 

“ส่วนหนังสือที่วางเอาไว้ข้างหน้าก็เป็นตัวแทนว่า อีก 5 ปีจะเป็นหนังสือที่พิมพ์ประสบการณ์แบบนี้ทั้งหมดไว้ด้านใน จริง ๆ มันมีมากกว่า 7 แต่ 7 ชิ้นเป็นสิ่งที่เราโฟกัสหรือสื่อสารกับคนดูได้ 

เปิดบ้านและพิพิธภัณฑ์จิตวิญญาณร่วมสมัยฯ ของ คามิน เลิศชัยประเสริฐ พื้นที่แสดงงานเพื่อเข้าถึงความงาม-ความจริงแห่งชีวิต

“งานปัจจุบันที่ผมโชว์ที่กรุงเทพฯ ชื่อ Pure Perception หรือการรับรู้ที่บริสุทธิ์ (จิตกรรม) ซึ่งผมแสดงไปแล้ว 3 ที่ ที่นำทองแกลลอรี ที่ ATTA Gallery และที่หอศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย และยังเหลือ 10 รูปผมมาแสดงที่นี่ ชิ้นงาน Pure Perception เป็นกระบวนการเรียนรู้ว่ามันคืออะไร พอทำไปรูปที่ 90  ผมรู้สึกว่าการแสดงออกแบบนี้เป็นปัจจัตตัง การถ่ายทอด การบอกกล่าว หรือการสื่อสาร ไม่เป็น Pure Perception ผมเลยหยุดเขียนรูป หมายถึงหยุดแสดงออกด้วยภาพ ดังนั้นจึงเป็นเฟรมเปล่า 10  อันแล้วเอามาตั้ง ที่คุณเห็นนี่เป็นงานที่เชื่อมต่อระหว่างงาน Pure Perception กับ Self Enquiry ตรงนี้คือตรงกลาง ซึ่งก็คือ บาร์โด เป็นช่วงที่เชื่อมต่อนั่นเอง” 

งานแต่ละชิ้นที่นำมาแสดงร่วมกันภายในพื้นที่อาคารแห่งนี้มีความหมายในตัวเองก็จริง แต่ทุกงานล้วนมีคอนเซปต์หลักเดียวกัน ซึ่งศิลปินอธิบายด้วยคำสั้น ๆ ว่า 

“คอนเซ็ปต์ใหญ่ก็คือ ความงามและการเข้าใจความงาม” 

“ต้องพูดอย่างนี้ก่อน ในอดีตความจริง / ความดี / ความงาม มันจะแยกกันอยู่ ความจริงจะถูกอธิบายผ่านวิทยาศาสตร์  ส่วนความดีจะถูกอธิบายผ่านศาสนา ปรัชญา และความงามทุกอธิบายผ่านศิลปะ ซึ่งจริง ๆ แต่เดิมเลย มันไปทางเดียวกัน แต่มันถูกแยกออกจากกัน  มาถึงตอนนี้ผมจะเอากลับไปที่เดิม ไปรวมกัน คือ สุนทรียศาสตร์ สำหรับผมความงามก็คือความจริงและความดี เมื่อไหร่ที่เราเข้าใจความงามจนถึงจุดที่เป็นแก่นแท้ของมัน มันจะรวมความดีกับความจริงอยู่ในนั้น ความงามที่ไม่รวมความจริงกับความดีมันเป็นสมมติบัญญัติ แต่ความงามที่เป็นสากลต้องมี 3 สิ่งนี้ด้วยกัน ผมกำลังพูดความจริงผ่านภาษาศิลปะ อธิบายความเข้าใจผ่านประสบการณ์   

“และถ้าเข้าใจสิ่งเหล่านี้ เราจะรู้ว่าคือทั้งหมด ทั้งหมดก็คือเรา และความงามมีอยู่ในทุกสิ่ง ทุกขณะ” 

เปิดบ้านและพิพิธภัณฑ์จิตวิญญาณร่วมสมัยฯ ของ คามิน เลิศชัยประเสริฐ พื้นที่แสดงงานเพื่อเข้าถึงความงาม-ความจริงแห่งชีวิต

31st Century Museum of Contemporary Spirit สามารถเข้าชมได้สัปดาห์ละ 4 วัน วันเสาร์- อังคาร เวลา 13.00 – 17.00 น.

Writer

Avatar

สกุณี ณัฐพูลวัฒน์

จบเกษตร แล้วต่อด้านสิ่งแวดล้อม แต่เติบโตด้านการงานด้วยการเขียนหนังสือมาตลอด ชอบพูดคุยกับผู้คน ชอบต้นไม้ ชอบสวน ชอบอ่าน ชอบงานศิลปะและชอบหนังสือภาพ ทุกวันนี้จึงพาตัวเองคลุกคลีอยู่กับสิ่งที่ชอบที่ชอบ ด้วยการเขียนหนังสือ ทำงานศิลปะ เดินทาง และเปิดร้านหนังสือ(ภาพ)ออนไลน์ Of Books and Bar

Photographer

Avatar

กรินทร์ มงคลพันธ์

ช่างภาพอิสระชาวเชียงใหม่ ร่ำเรียนมาทางศิลปะจากคณะที่ได้ชื่อว่ามีวงดนตรีลูกทุ่งแสนบันเทิงของเมืองเหนือ มีความสุขกับการกดชัตเตอร์ในแสงเงาธรรมชาติ ชอบแมว หมา และบ้าจักรยานไม่แพ้กิจกรรมกลางแจ้งอื่น ๆ