จะว่าไปบทบาทในการทำงานของผู้หญิงที่เป็นต้นเรื่องของบทความนี้มี ‘ผลประโยชน์ทับซ้อน’ ก็ไม่ผิดหนัก

หนึ่ง สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์ เป็นภูมิสถาปนิกชาวกรุงเทพฯ เธอเรียนจบปริญญาตรีสาขานี้จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังเรียนจบเธอไปทำงานออกแบบภูมิทัศน์ให้บริษัทดังแห่งหนึ่งในสิงคโปร์ ก่อนจะกลับมาเปิดสตูดิโอของตัวเองที่เมืองไทย ซึ่งอยู่เบื้องหลังงานภูมิทัศน์สวย ๆ ให้กับโครงการอสังหาริมทรัพย์มากมาย และหลายโครงการเหล่านั้นก็ยังได้รับรางวัลจากเวทีประกวดระดับนานาชาติ

สอง เธอเป็นศิลปินร่วมสมัย สนิทัศน์สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท คณะวิจิตรศิลป์ จาก Chelsea College of Arts ประเทศอังกฤษ และเริ่มทำงานศิลปะอย่างจริงจังที่นั่น ก่อนจะกลับมาเปิดสตูดิโอศิลปะของตัวเองที่เมืองไทย และใช่ หลายโครงการศิลปะที่เธอทำภายใต้ชื่อของตัวเองก็ยังได้รับรางวัลและเสียงชื่นชมจากผู้ติดตามศิลปะทั่วโลกล้นหลามไม่แพ้กัน 

สตูดิโอทั้งหนึ่งและสองคือแห่งเดียวกัน – Sanitas Studio เป็นทั้งสตูดิโอออกแบบภูมิทัศน์และสตูดิโอทำงานศิลปะ แม้จะมีการแยกส่วนการทำงานกันชัดเจนว่าโครงการไหนคืองานสำหรับลูกค้า และงานชิ้นไหนคือโครงการศิลปะ แต่บ่อยครั้งผลงานที่ออกมาก็พร่าเลือนในนิยามอย่างแยกไม่ออก

แต่ถึงจะเป็นอย่างนั้น สิ่งเดียวที่เราเห็นได้ชัดและแทบจะเป็นอัตโนมัติเมื่อได้เห็นผลงานของเธอ คือลายเซ็น 

กระจกเงา วัสดุธรรมชาติและวัสดุที่ไม่คงรูป การเล่นล้อกับพื้นที่เฉพาะ พื้นที่ว่างและห้วงเวลา ปฏิสัมพันธ์ของผู้ชมกับวัตถุ ไปจนถึงการสร้างความหมายที่เชื่อมโยงกับคติทางพุทธศาสนาและจิตวิญญาณ เป็นอาทิ

เพื่อให้เห็นภาพ ‘Khao Mo (Mythical Escapism)’ (ปี 2013) หนึ่งในผลงานแจ้งเกิด คืองานศิลปะจัดวางกระจกทรงลูกบาศก์นับสิบล้อมรอบกองดิน ซึ่งยังเปิดพื้นที่ให้ผู้ชมเดินเข้าไปสำรวจที่ว่างภายใน สนิทัศน์ได้แรงบันดาลใจมาจาก ‘เขามอ’ (สวนหินย่อส่วนที่มีแนวคิดในการจำลองเขาไกรลาสออกมาเป็นรูปธรรม ซึ่งพบได้ตามวัดเก่าแก่หลายแห่งในเกาะรัตนโกสินทร์)

หรือซีรีส์ ‘Form of Belief’ (ปี 2013 – 2016) ที่สนิทัศน์ชวนคนดูใคร่ครวญถึงวัฏจักรเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปทางพุทธศาสนา ผ่านประติมากรรมเจดีย์ที่ทำจากวัสดุอจีรังต่าง ๆ ตั้งแต่ก้อนดิน ฝุ่น น้ำแข็ง เจลลี และกระดาษ เป็นอาทิ 

เช่นเดียวกับ ‘Garden of Silence’ (ปี 2023) ประติมากรรมจัดวางจำนวน 3 ชิ้นที่ได้แรงบันดาลใจมาจากแนวคิดจักรวาลวิทยาในไตรภูมิพระร่วง สร้างขึ้นจากเหล็ก อิฐ ดิน และกระจก ท่ามกลางแวดล้อมของป่าต้นยางในศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน จังหวัดเชียงราย หนึ่งในผลงานล่าสุดของศิลปินที่จัดแสดงใน Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 

ในขณะที่ผลงานออกแบบภูมิทัศน์จาก Sanitas Studio ได้รับการกล่าวขวัญจากแวดวงภูมิสถาปัตยกรรมระดับโลก กับตัวสนิทัศน์ในฐานะศิลปินก็ถือว่า ‘ร่างทอง’ ไม่แพ้กัน โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีหลังมานี้ เริ่มจากนิทรรศการเดี่ยว ‘Moment of Contemplation’ (ปี 2022) ที่ Gallery Seescape เชียงใหม่ จากนั้นเธอก็ได้รับเลือกให้สร้างสรรค์ผลงานติดตั้งในสวนเบญจกิติ อย่าง ‘House of Silence’ (ปี 2023) ต่อด้วยการแสดงนิทรรศการเดี่ยว ‘Liminal Space’ (ปี 2023) ที่ noble PLAY จนมาถึง Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ที่กล่าวไป

และล่าสุดเธอมีนิทรรศการเดี่ยว ‘ภูมิทัศน์ของความว่างเปล่า (Landscape of Emptiness)’ ณ หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร (วังท่าพระ) ซึ่งไม่เพียงเป็นชุดผลงานที่เธอสร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด แต่ยังสะท้อนความสนใจและลายเซ็นเฉพาะตัวตลอด 10 กว่าปีที่สนิทัศน์เริ่มทำงานศิลปะ 

“เราสนใจพุทธศาสนาในเชิงแนวคิด การเข้าถึงความจริง และการหาวิธีให้หลุดพ้นจากความทุกข์ ควบคู่ไปกับการปฏิบัติส่วนตัว เราพบว่าการใคร่ครวญกับวัสดุต่าง ๆ และการประกอบสร้างขึ้นมาเป็นงานศิลปะก็เป็นวิธีการหนึ่งของการปฏิบัติธรรมของเราด้วยเช่นกัน” สนิทัศน์กล่าว 

พร้อมไปกับเชิญชวนให้มาดูนิทรรศการที่เราว่าต่อให้คุณไม่ใช่คอศิลปะก็ยังสนุกกับมันได้ คอลัมน์ Studio Visit ถือโอกาสพูดคุยกับเธอถึงความสนใจ แนวคิดเกี่ยวกับจิตวิญญาณเบื้องหลัง และเส้นทางการเปลี่ยนผ่านจากภูมิสถาปนิกมือรางวัลสู่ศิลปินร่วมสมัยแถวหน้าของเมืองไทย 

ด้วยความที่มีโอกาสท่องเที่ยวไปยังจังหวัดต่าง ๆ ในช่วงปิดเทอมกับพ่อแม่ สนิทัศน์เล่าว่าตอนเด็ก ๆ เธอฝันอยากเป็นสถาปนิกสร้างบ้านของตัวเองมาตลอด “เราจะได้มีบ้านสวย ๆ ตามจินตนาการของตัวเอง” เธอขยายความ 

หากในขณะเดียวกัน ความที่มีโอกาสได้เห็นภูมิทัศน์ที่หลากหลายระหว่างการเดินทาง – ทุ่งนา ผืนป่า ภูเขา ไปจนถึงท้องทะเล ฯลฯ ในวันหนึ่งเธอก็กลับพบเสน่ห์ของสิ่งปลูกสร้างที่เชื่อมโยงกับทัศนียภาพ เสน่ห์ที่มีแรงดึงดูดมากพอจะเบี่ยงเบนความสนใจของเด็กผู้หญิงที่คิดอยากสร้างบ้าน ให้หันมาอยากสร้างความหมายของสิ่งที่อยู่รอบบ้านแทน

ย้อนกลับไปสมัยสัก 20 กว่าปีที่แล้ว องค์ความรู้เรื่องภูมิสถาปัตยกรรมในบ้านเรายังถือว่าใหม่มาก ๆ อะไรทำให้คุณในตอนนั้นตัดสินใจเลือกเดินบนเส้นทางนี้

อาจเพราะมันค่อนข้างใหม่เลยทำให้เราสนใจด้วยค่ะ สมัยนั้นที่เราทราบคือมีจุฬาฯ ที่เดียวที่เปิดสอน ซึ่งอย่างที่บอกว่าเราสนใจในงานภูมิทัศน์อยู่แล้ว เลยยื่นคะแนนเอ็นทรานซ์สาขานี้ไป ซึ่งนั่นล่ะ มันเป็นวิชาที่ยังใหม่ถึงขนาดถ้าเราจะดูผลงานของนักออกแบบต่างชาติ จำเป็นต้องต่อคิวขอยืมหนังสือต่างประเทศจากห้องสมุด ใช่ค่ะ สมัยที่เราเรียน Internet Explorer เพิ่งจะมี เราเพิ่งพ้นจากยุคที่คอมพิวเตอร์ยังประมวลผลด้วยหน้าจอสีดำอยู่เลย (ยิ้ม)

อะไรคือเสน่ห์ของงานภูมิสถาปัตยกรรมที่คุณพบ

ข้อแรก คือไม่ใช่แค่ดูสวยแต่ยังใช้งานได้จริง และข้อสองซึ่งสำคัญ คือมันสร้างความหมายให้กับพื้นที่และผู้ใช้งานได้ สมัยเรียนเรามีโอกาสได้เห็นผลงานของภูมิสถาปนิกญี่ปุ่นอยู่คนหนึ่ง เสียดายที่จำชื่อเขาไม่ได้แล้ว เป็นงานออกแบบ Amphitheater กลางสนามหญ้าที่ดูเรียบง่ายมาก ๆ และมีสิ่งปลูกสร้างเล็ก ๆ ที่ให้คนได้นั่ง ได้นอน ได้พักผ่อนไปกับพื้นที่ ขณะเดียวกันการออกแบบสิ่งปลูกสร้างนั้น ๆ ยังสะท้อนบริบททางประวัติศาสตร์หรือความเป็นมาของพื้นที่ดังกล่าวด้วย 

เราอธิบายไม่ถูกเหมือนกัน จริง ๆ ผู้คนก็ทำกิจกรรมหรือพักผ่อนบนสนามหญ้าอยู่แล้ว แต่แค่งานออกแบบสิ่งปลูกสร้างเล็ก ๆ เสริมเข้าไป กลับสร้างมิติที่มากกว่าแค่สวนแห่งนี้จะถูกใช้งานได้อย่างไร ซึ่งเราประทับใจงานชิ้นนี้จนอยากทำงานให้มันมีความลึกซึ้งและความหมายแบบนี้ 

สิ่งนี้ด้วยหรือเปล่าที่ทำให้คุณสนใจศิลปะ

ใช่ค่ะ เรารู้อยู่แล้วว่างานออกแบบภูมิทัศน์ต้องทำงานกับศิลปะในบางครั้ง เช่น การนำประติมากรรมมาจัดวางเพื่อตกแต่งพื้นที่ แต่มารู้ทีหลังตอนเริ่มทำงานศิลปะว่าเราทำงานศิลปะทั้งก้อนจากการทำภูมิทัศน์ได้ด้วย เป็นเหมือนการสร้างความหมายใหม่ให้กับมัน อย่างไรก็ตาม ในสมัยที่เราเรียนที่จุฬาฯ เราแทบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับศิลปะร่วมสมัยเท่าไหร่ เพราะไม่ค่อยมีอะไรให้ดูนัก หอศิลปกรุงเทพฯ ยังไม่สร้าง แกลเลอรีศิลปะก็ไม่ได้เยอะเหมือนทุกวันนี้ เราไล่ดูเท่าที่โอกาสจะอำนวย แต่ก็ยังไม่เคยคิดถึงขั้นว่าจะทำงานศิลปะอะไร

การทำงานศิลปะเข้ามาในชีวิตคุณจริง ๆ ตอนไหน 

ถ้าชัดเจนเลยคือตอนไปทำงานสิงคโปร์ หลังจบมาเราทำงานออฟฟิศในกรุงเทพฯ ก่อน 1 ปี จากนั้นก็ได้งานที่ Colin K Okashimo and Associates Pte Ltd ที่สิงคโปร์อีก 4 ปี เราโชคดีมากที่คุณ Colin K. Okashimo เจ้าของออฟฟิศ เป็นทั้งภูมิสถาปนิกและศิลปินที่ทำงานประติมากรรมด้วย พอได้ทำงาน เลยได้เรียนรู้จากเขาเยอะ 

ตอนแรกเราคิดว่าไม่ต้องเรียนศิลปะก็ได้ เราก็ทำงานที่มันคาบเกี่ยวกันอยู่แล้ว แต่พอทำไปได้สักพักก็อยากลองไปหาความรู้เพิ่มเติมดู และเราก็อยากลองทำงานศิลปะที่ไม่ใช่แค่เอาวัตถุสักอย่างมาจัดวางในพื้นที่ เลยลาออกมาเรียนต่อด้าน Fine Art ซึ่งก็ได้คุณโคลินนี่แหละเป็นคนแนะนำให้ไปเรียนที่ Chelsea College of Arts เพราะเขาเป็นศิษย์เก่าที่นั่น เราทำพอร์ตโฟลิโองานแลนด์สเคปนี่แหละไปยื่น ซึ่งในแต่ละปีทางนั้นเขาจะรับนักศึกษาที่ไม่ได้จบศิลปะโดยตรงเข้าเรียนปีละ 1 – 2 คนด้วย โชคดีที่เราได้รับเลือก

คุณได้ค้นพบอะไรจากการเรียนศิลปะที่อังกฤษ

คิดว่ามันสั้นไปหน่อย แค่ 1 ปีเอง รู้สึกยังไม่พอ (หัวเราะ) แต่ก็ทำให้เราทดลองทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อนเยอะ ก่อนหน้านี้เราจะทำแต่งานปั้นหรืองานที่เป็นแมตทีเรียล วัตถุอันนี้ใส อันนี้แข็ง อันนี้ยืดหยุ่นได้ และเราหาวิธีประกอบมันเพื่อสร้างความหมาย ซึ่งมาจากพื้นเพดีไซเนอร์ของเราโดยตรง จนมีอาจารย์ท่านหนึ่งมาทักว่างานของเรายังติดเปลือกอันนี้อยู่ จึงทดลองทำงานอย่างอื่นดูเรื่อย ๆ เพื่อจะทุบความเป็นนักออกแบบของตัวเองออกผ่านการทำงานเพอร์ฟอร์แมนซ์ จนมาถึงธีสิสที่เราลองทำงานวิดีโออินสตอลเลชันและงานอินสตอลเลชันประติมากรรมเซรามิกส่ง 

ตอนนั้นประเด็นในงานของคุณคืออะไร

ประเด็นเดียวกับที่เราทำ Proposal ตอนยื่นสมัครเรียนคือ Impermanence (ความไม่เที่ยง – ผู้เขียน) เราทำงานส่ง 2 ชิ้น จัดแสดงในห้อง 2 ห้อง ห้องแรกเป็นงานเซรามิกที่เราทำอยู่แล้ว ส่วนอีกห้องเป็นงาน Video Projection เล่าเรื่องความเป็นส่วนตัวและสาธารณะ และสถานะของเราเองกับการไปอยู่ต่างประเทศ แต่ทั้งหมดทั้งมวลคือการสะท้อนถึงความไม่จีรัง 

จนถึงทุกวันนี้ งานส่วนใหญ่ของคุณยังคงพูดถึงแนวคิดในพุทธศาสนาอยู่ อะไรทำให้คุณสนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ

เรามาเริ่มสนใจจริงจังตอนทำงานที่สิงคโปร์ ก่อนหน้านี้นี่แทบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับมันเลย จริงอยู่ สมัยเป็นนักเรียนเราก็มีคาบเรียนพุทธศาสนาทุกเทอม แต่ส่วนใหญ่เป็นเรื่องคำสอนที่ฟังดูยาก ๆ หรือพุทธประวัติ เราแทบไม่เจอความเชื่อมโยงกับชีวิตเท่าไหร่ มาอินจริง ๆ ก็จากที่เจ้านายเราที่สิงคโปร์บอกให้เราหยุดงานไปทำ Meditation ดู ซึ่งเขาส่งเรามาที่เชียงใหม่ด้วยนะ ตอนนั้นถือว่าเปิดโลกเรามาก คนสอนเราเป็นชาวต่างชาติที่คลี่คลายคำสอนหรือคติทางพุทธศาสนาให้เราเข้าใจได้ง่ายขึ้นมาก ๆ ทำให้เราพบว่าจริง ๆ แล้วพุทธศาสนาคือการเข้าถึงความจริง และการตระหนักรู้ในความเป็นปัจจุบัน หลังจากนั้นเรามีโอกาสได้เรียนรู้ และหาเวลาทำสมาธิอยู่เรื่อย ๆ จนถึงทุกวันนี้

จากการปฏิบัติก็เข้าสู่งานศิลปะ

สมัยเรียนก็ทดลองทำประเด็นอื่น ๆ ที่หลากหลายด้วยนะ แต่สนใจจริง ๆ คือเรื่องนี้ เราอยาก Explore มันผ่านการทำงานศิลปะ ซึ่งเป็นเรื่องดีนะที่เราได้ทำประเด็นนี้ที่ลอนดอน คืออย่างที่รู้ว่าลอนดอนมันเป็นเมืองที่วัฒนธรรมหลากหลาย และงานศิลปะร่วมสมัยมันก็ไปไกลมาก ๆ จนแทบไม่มี Boundary ในสื่อศิลปะ พื้นที่จัดแสดง ไปจนถึงความเชื่อแล้ว จำได้ว่าสมัยเรียนมีคนหกล้มที่มหาวิทยาลัย ทุกคนก็นึกว่าเป็นงาน Happening Art เลยไม่มีใครลงไปช่วย ตอนแรกเราก็คิดอย่างนั้น แต่เห็นว่าเขาล้มนานไปหน่อยเลยลงไปช่วย ปรากฏว่าแม่งหกล้มจริง ๆ (หัวเราะ) จนทุกวันนี้เราก็ยังเป็นเพื่อนกับคนนั้นอยู่เลย

แต่นั่นล่ะ ยิ่งสังคมซับซ้อนหรือเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วมากแค่ไหน ก็ยิ่งผลักดันให้เรากลับมาโฟกัสและตั้งคำถามกับตัวเราเองอย่างมีสติไปพร้อมกัน รวมถึงการย้อนกลับมาสนใจความเป็นคนไทยของเราในสังคมตะวันตก แนวคิดเรื่อง Impermanence ในงานของเราก็อยู่ตรงนี้แหละ แต่สมัยนั้นเรายังไม่ได้ปฏิบัติอย่างจริงจังเท่าไหร่ 

หลังเรียนจบ คุณคิดจะทำงานศิลปะอย่างจริงจังตั้งแต่ตอนนั้นเลยไหม

ใช่ค่ะ เราได้ Working Permit และก็ได้งานออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมต่ออีก 2 ปี โชคดีที่บริษัทที่รับเราเข้าทำงาน (Martha Schwartz Partners) เขายอมรับเงื่อนไขว่าขอให้เข้าออฟฟิศแค่ 4 วัน เพราะวันที่เหลือเราอยากทำงานศิลปะ เลยไปเช่าสตูดิโอเพื่อทำงานส่วนตัว ตอนนั้นคือทำงานออกแบบเพื่อหาเงินมาจ่ายค่าเช่าบ้าน ค่าเช่าสตูดิโอ และอุปกรณ์ในการทำงานศิลปะซึ่งแพงและบ้าบอมาก แต่ชีวิตที่ลอนดอนสนุก เราได้เห็นอะไรใหม่ ๆ ที่น่าตื่นเต้นตลอดเวลา รวมถึงยังได้มีโอกาสทำนิทรรศการกลุ่มกับเพื่อนที่อังกฤษงานหนึ่ง และโปรตุเกสงานหนึ่งด้วย

อะไรทำให้คุณตัดสินใจกลับมาเมืองไทย

วีซ่าทำงานเราหมด เขาให้แค่ 2 ปี แล้วตอนนั้นเศรษฐกิจโลกเจอกับ Hamburger Crisis ด้วย ก็มานั่งคิดว่าเราก็เริ่มอายุมากแล้ว น่าจะกลับมาเริ่มต้นอะไรสักอย่างที่เมืองไทยก่อนอายุ 30 ให้ได้ 

หลังกลับจากลอนดอน เธอเข้าไปทำงานบริษัทเดิม (Colin K Okashimo and Associates Pte Ltd) ที่สิงคโปร์ ก่อนจะกลับเมืองไทยปลายปี 2009 เพื่อก่อตั้ง Sanitas Studio ในปี 2010 

Sanitas Studio รับงานออกแบบภูมิทัศน์เป็นหลัก พร้อมกันนั้นก็เริ่มขยายพรมแดนการทำงาน ด้วยการผสานงานศิลปะเข้ามาในงานออกแบบ กระทั่งในปี 2013 สนิทัศน์ก็ก้าวเข้าสู่วงการศิลปะอย่างเต็มตัวจากการทำงาน ‘เขามอ’ (Mythical Escapism) ไปร่วมแสดงในนิทรรศการกลุ่ม ‘สถานตากอากาศ: นิทรรศการศิลปะเพื่อภูมิทัศน์ของการพัก’ ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร 

ผลงานชิ้นนั้นได้รับรางวัล Commended with Merit Award จาก 2015 AR Emerging Architecture Awards รวมถึงได้รับการเผยแพร่ในสื่อศิลปะและสถาปัตยกรรมชั้นนำในต่างประเทศมากมาย และนั่นคือจุดเริ่มต้นของ Sanitas Studio ทั้งในฐานะสตูดิโอออกแบบแลนด์สเคป และ สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์ ในฐานะศิลปิน 

จริง ๆ แล้วคุณทำงานบริษัทต่างประเทศ ก็น่าจะได้รายได้ที่ดีและอาจจะมั่นคงกว่ากลับมาเสี่ยงดวงเปิดบริษัทที่เมืองไทยนะ

แต่เราคิดว่าถ้าได้ออกแบบที่เมืองไทยอาจสนุกกว่าน่ะ เราเคยอยู่สิงคโปร์พักใหญ่ก่อนจะกลับไปอยู่ใหม่อีกรอบ เราเข้าใจดีเลย ที่นั่นต้นจามจุรีที่ไหนก็หน้าตาเหมือนกันหมด เป็นเมืองที่สวยและต้นไม้เยอะมาก ๆ ก็จริง แต่ก็มีแพตเทิร์นของการจับวางที่ดูตั้งใจ แต่ที่บ้านเรา ต้นประดู่ที่เชียงใหม่กับกรุงเทพฯ หน้าตาไม่เหมือนกัน และถึงแลนด์สเคปในเมืองบ้านเราไม่สวยเท่าเขา แต่เราก็เชื่อว่าถ้าทำงานออกแบบให้สวยได้ ก็อาจมีส่วนช่วยให้ภาพรวมมันดีขึ้น

ตอนแรกเรากลับมาเมืองไทยก็ยังงง ๆ อยู่ว่าจะเริ่มต้นยังไง พอดีกับที่มหาวิทยาลัยศิลปากรเขาเปิดสอนปริญญาโท สาขาภูมิสถาปัตยกรรม อาจารย์ที่เคยสอนเราที่จุฬาฯ ก็แนะนำให้เราไปสอน เลยไปเป็นอาจารย์พิเศษที่นั่นด้วย ก่อนจะมาเปิดสตูดิโอของเราเอง

ตั้งใจแต่แรกเลยไหมว่า Sanitas Studio จะทำงานภูมิสถาปัตยกรรมควบคู่ไปกับการทำงานศิลปะ

ตั้งใจ ก็มันเป็นบริษัทเรานี่ (ยิ้ม) แต่ตอนแรกเราไม่กล้าตั้งชื่อนี้เลยนะ คิดว่าใครจะกล้าตั้งชื่อบริษัทเป็นชื่อตัวเองกัน แต่ ผศ.ดร.พรพรรณ ฟูตระกูล ซึ่งเคยสอนเราที่จุฬาฯ บอกว่าจะตั้งชื่อแปลก ๆ ที่ไม่เชื่อมโยงกับตัวเราทำไม สตูดิโอออกแบบที่ต่างประเทศมากมายเขาก็ใช้ชื่อคนก่อตั้งเป็นชื่อบริษัททั้งนั้น ขณะเดียวกัน ต้องไม่ลืมว่างานออกแบบสถาปัตยกรรมคือความรับผิดชอบ เราออกแบบก็ต้องรับผิดชอบสิ่งที่ออกแบบ ชื่อเราเองนี่แหละที่การันตีความรับผิดชอบได้ดีที่สุด 

อาจารย์พรพรรณยังเป็นคนกระตุ้นให้เราเรียนต่อด้านศิลปะด้วย หลังเรียนจบเราก็คุยกับท่านตลอด ตอนแรกเราคิดว่าจะไปเรียนปริญญาโทด้านสถาปัตยกรรม ท่านก็บอกจะเรียนทำไมเรื่องซ้ำ ๆ ทำไมไม่เรียนในสิ่งใหม่ ๆ ที่เราอยากรู้ล่ะ 

ลูกค้า Sanitas Studio ในช่วงแรกเป็นใคร 

เราเริ่มจากงานประกวดแบบก่อน มีของโรงพยาบาลศิริราชและของ กสทช. แต่รายแรกที่เราออกแบบและได้สร้างจริง ๆ มีโครงการของแสนสิริ ตอนแรกสตูดิโอนี้คือมีเราคนเดียวเลย แต่พอมีงานเข้ามาก็เริ่มทำไม่ไหว ดีที่เราได้สอนวิชานี้ที่ศิลปากร เลยมีลูกศิษย์มาช่วยรับงานบ้าง ทุกวันนี้ออฟฟิศเรามีทีมงานที่ทำประจำ 7 คน

งานศิลปะชิ้นแรกที่คุณจัดแสดงหลังกลับมาเมืองไทยคือ ‘เขามอ’ ซึ่งยังเป็นงานสร้างชื่อในฐานะศิลปินให้คุณด้วย อยากรู้ว่าอะไรทำให้คุณสนใจประเด็นนี้

นอกจากเรื่องแนวคิดทางศาสนา เราชอบประวัติศาสตร์กับของเก่าด้วยน่ะ แล้วก็พบว่าเขามอหรือสวนหินที่เห็นตามวัดต่าง ๆ ก็เป็นส่วนผสมทั้งของเก่า ประวัติศาสตร์ และคติทางศาสนาไปพร้อมกัน เขามอเป็นมากกว่ากองหิน แต่เดิมมันได้อิทธิพลมาจากจีน โดยของจีนคือการจำลองสวนบนสวรรค์ แต่ของบ้านเราคือคติฮินดูผสมกับพุทธ ทั้งยังใช้ในพระราชพิธีโสกันต์ และบางทีก็กลายเป็นสนามเด็กเล่นได้อีก เอาจริง ๆ คืองานภูมิสถาปัตยกรรมที่มีทั้งความหมาย มิติการใช้งาน และประวัติศาสตร์ 

เขามอแห่งแรกที่เราเห็นอยู่ที่วัดเกตการาม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นสวนหินเล็ก ๆ น่ารักมาก พอได้เห็น เราก็ใช้เวลาเดินวนดูงานสถาปัตยกรรมย่อส่วนของมันอยู่นานมาก เราสนใจวิธีการที่คนโบราณจำลองภาพของเขาไกรลาสนะ ไม่มีใครรู้หรอกว่าเขาไกรลาสเป็นยังไง ทุกคนอ่านจากตัวหนังสือและตีความออกมาเป็นภาพตามจินตนาการของตัวเอง ซึ่งเราชอบกระบวนการตีความตรงนี้ จากนั้นก็ตระเวนดูเขามอตามวัดต่าง ๆ ทั่วไปเลย ซึ่งนั่นแหละ เราอินกับเขามอมาก ๆ จนคิดถึงการตีความศิลปะไทยโบราณให้กลายเป็นศิลปะร่วมสมัยดู จึงออกมาเป็นเช่นนี้ 

อย่างไรก็ดี ‘เขามอ’ เป็นงานที่ทำให้เรามีความมั่นใจที่จะทำงานในแบบของเราต่อไปเลยนะ หลังจากนั้นมันถูกนำไปจัดแสดงอีกหลายรอบ รวมถึง Bangkok Art Biennale 2018 ด้วยที่ได้ทำงานกับเขามอของจริงในวัดอรุณราชวราราม รวมถึงได้ทำนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกที่จุฬาฯ (นิทรรศการ Capturing the Intangible, 2016 ที่หอศิลปวิทยนิทรรศน์) และมีงานกลุ่มในหอศิลป์และเทศกาลศิลปะที่ต่างประเทศเป็นระยะ ซึ่งงานส่วนใหญ่ก็พูดในประเด็นปรัชญาทางพุทธศาสนาในมิติที่ต่างกันออกไป 

ในฐานะที่ทำงานออกแบบภูมิทัศน์ไปพร้อมกับทำงานศิลปะด้วย คุณมีวิธีการแบ่งสมองคิดงานยังไง

เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยแบ่งแล้วค่ะ (หัวเราะ) ทำทุกอย่างเป็นเรื่องเดียวกันหมด เมื่อก่อนพยายามคิดและทำทุกอย่างพร้อมกัน แต่แบ่งเวลากัน วันจันทร์-ศุกร์ทำงานให้ลูกค้า แก้ปัญหาให้ลูกค้าด้วยงานออกแบบ ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ก็มานั่งคิดและพัฒนางานศิลปะของเราเอง แล้วพบว่าเหนื่อยมาก เหมือนทำงาน 2 เท่าตลอดเวลา จริงอยู่ การทำ 2 อย่างพร้อมกันก็เหมือนการสร้างสมดุลให้ตัวเองนะ งานแรกคืองานที่ทำตามโจทย์ลูกค้า ส่วนงานที่ 2 คือทำตามใจ แต่พอเหมือนทำไปได้สักพัก ลูกค้าก็รู้แล้วว่างานของเราประมาณไหน ช่วงหลังลูกค้าก็อยากให้เราทำ Installation Sculpture (ประติมากรรมจัดวาง) ในแลนด์สเคปด้วยเลย เลยกลายเป็นเรื่องเดียวกันในที่สุด 

แต่กับงานลูกค้าก็ยังมีโจทย์ที่ชัดเจนอยู่

ใช่ แต่ดีที่ส่วนใหญ่ก็เป็นโจทย์ที่อยู่ในความสนใจของเราด้วย ส่วนงานศิลปะก็ทำโดยวางโจทย์ตัวเองเป็นที่ตั้ง หลังจากงานเขามอ เราได้ทำ ‘River Ordination’ ที่ใช้ผ้าที่คนพุทธนำไปผูกกับต้นไม้ มาจัดวางริมแม่น้ำเจ้าพระยา หรืองานชุด Form of Belief ที่ใช้วัสดุต่าง ๆ อย่างน้ำแข็ง เจลลี หรือดินมาฟอร์มรูปทรงเจดีย์ เพื่อสะท้อนถึงความไม่เที่ยง นั่นล่ะ งานส่วนใหญ่เราพูดถึงแนวคิดทางพุทธศาสนาแบบนี้ เราทำมันไปพร้อมกับหาเวลาปฏิบัติธรรมไปด้วย เหมือนเป็นการค้นหาความหมายไปพร้อมกัน

นอกจากประเด็นเกี่ยวกับปรัชญาทางศาสนา คุณมีงานที่ตั้งธงว่าจะทำเรื่องอื่นที่แตกต่างโดยสิ้นเชิงไหม

ก็มีอยู่พอสมควรนะ หลายงานเราก็ทำงานกับพื้นที่เฉพาะ หรืออย่างนิทรรศการเดี่ยวที่ Gallery Seescape เชียงใหม่ เมื่อ 2 ปีก่อน งานชื่อ ‘Moment of Contemplation’ อันนั้นเราทำเรื่องแม่ของเราโดยตรง เป็นช่วงที่เรากักตัวจากโควิด-19 กับแม่ ตอนนั้นพบว่าแม่เริ่มมีอาการความจำบกพร่องแล้ว เลยชวนเขาไปพักผ่อนที่เชียงดาว หลังจากกลับมาเราก็เอาห้วงเวลากับแม่ที่นั่นมาเป็นแรงบันดาลใจในการทำงาน

ผมได้ไปดูนิทรรศการนั้น งานคุณก็ยังพูดถึงห้วงเวลาของการอยู่กับปัจจุบันและการใคร่ครวญพิจารณา ซึ่งก็เป็นปรัชญาของพุทธอยู่ดี

นั่นสิ (หัวเราะ) งานนั้นเราพูดถึงอิสระของการอยู่กับปัจจุบันที่ไม่กังวลกับอดีตและอนาคต

ทำไมถึงสนใจในการปฏิบัติธรรมนัก

พูดตรง ๆ คือมันสนุกน่ะ และทำให้เราทุกข์น้อยลงได้จริง 

ไม่ได้เพราะชีวิตเราเจออะไรกระทบหนัก ๆ มาเลยต้องหาที่พึ่ง

ไม่นะ ชีวิตเราค่อนข้างราบรื่นดีมาตลอด แต่เพราะแบบนั้นมั้งเราเลยไม่ค่อยเข้าใจว่าความทุกข์คืออะไร ซึ่งความไม่เข้าใจเรื่องนี้นี่แสดงว่าเราแย่มากเลยนะ แปลว่าเราไม่รู้จักความหมายของชีวิตเลยด้วยซ้ำ และไอ้ความไม่รู้นี่แหละคือความทุกข์ที่แท้

พอได้ลองปฏิบัติธรรมก็ทำให้เราตระหนัก เราอยู่กับสิ่งที่เป็นจีรังตลอดไปไม่ได้หรอก แล้วจริง ๆ ความทุกข์คือทุกอย่าง ที่เราเห็นว่าเรามีความสุขน่ะ เดี๋ยวมันก็หายไป ชีวิตจริง ๆ มันคือการเคลื่อนที่ไปข้างหน้าเพื่อเผชิญกับความทุกข์จากความไม่มีอะไรยั่งยืน ตรงนี้แหละที่ทำให้เราสนใจปฏิบัติธรรม พยายามทำแสวงหาความรู้และความเข้าใจเพื่อรับมือกับมัน พอทำต่อไปเรื่อย ๆ เราก็พบความสุขกับการได้อยู่กับตัวเอง ภาษาพระคือ ‘ไม่อิงอามิส’ ไม่เหมือนความสุขเวลาเราได้กินของอร่อย ดูหนัง หรือไปเที่ยวที่ต่าง ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ พอเวลาผ่านไปความรู้สึกก็จะเลือนหาย แต่การค้นพบความสุขโดยไม่ต้องไปผูกโยงกับสิ่งที่เราปรารถนาก็เติมเต็มชีวิตเรา 

เดี๋ยวนี้คุณดูหนังไม่สนุก กินข้าวไม่ค่อยอร่อยแล้ว

ไม่สิ ก็ยังมีกิเลสเหมือนคนทั่วไปอยู่ เวลาเห็นวัสดุใหม่ ๆ เห็นงานศิลปะใครสวย ๆ หรือมีความหมายดี ๆ เราก็ตื่นเต้นมาก แต่ขณะเดียวกัน เราก็หาความสุขจากการอยู่นิ่ง ๆ สงบ ๆ ของตัวเองไปพร้อมกัน เราพยายามจะหาทริปสักเดือนสองเดือนเพื่อไปปฏิบัติธรรมทุกปี ขณะเดียวกัน การหาเวลาว่างในแต่ละวันมานั่งสมาธิ มันก็ช่วยในการทำงานเราได้ดีมาก ๆ ด้วยนะ หรือการที่เราได้ฝึกสติ พอเจอปัญหาอะไรหนักเข้า เราพบว่าเราก้าวผ่านมันได้ดีในระดับหนึ่งเลย 

‘ภูมิทัศน์ของความว่างเปล่า’ (Landscape of Emptiness) คือนิทรรศการเดี่ยวครั้งล่าสุดของสนิทัศน์ ซึ่งกำลังจัดแสดงอยู่ที่หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร (วังท่าพระ) นิทรรศการประกอบด้วยงานศิลปะจัดวาง จิตรกรรม ประติมากรรม งานหล่อทองเหลืองจากซากสัตว์และสิ่งของ ไปจนถึงการนำเสนอห้องว่างเปล่าที่มีเพียงฝุ่นละออง ความมืด รวมถึงแสงและเสียงจากธรรมชาติ สนิทัศน์ยังคงบอกเล่าถึงปรัชญาทางพุทธศาสนาว่าด้วย ‘ความว่าง’ และ ‘การดำรงอยู่’ โดยเชื้อเชิญให้ผู้ชมร่วมเข้าไปสำรวจสภาวะดังกล่าวเพื่อค้นหาคำอธิบายในการมีอยู่ของตัวเอง และการแสวงหาความจริงไปพร้อมกัน

สนิทัศน์บอกว่านี่เป็นงานชุดแรก ๆ ที่เธอทดลองนำเสนองานศิลปะที่ไร้รูปฟอร์มเพื่อขับเน้นแนวคิดที่ว่าออกมาอย่างชัดเจน – ความว่างเปล่าที่ไม่ได้แปลว่าเปลือยเปล่าหรือไม่มีอะไรเลย แต่เป็นความว่างเปล่าที่เกิดจากความหลุดพ้นจากการยึดติด

อยากให้เล่าถึงที่มาของนิทรรศการนี้หน่อยครับ

เราอยากทำเรื่องความว่างเปล่าแบบว่างเปล่าจริง ๆ น่ะ ก็ได้คุยกับ วัคซีน (กฤษฎา ดุษฎีวนิช – ภัณฑารักษ์ประจำหอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร) ว่าอยากทำเรื่องนี้ ที่ผ่านมางานของเรารูปทรงและความเป็นวัตถุมันชัดมาก ๆ อย่างงานที่เชียงราย (Garden of Silence, ปี 2023) จะเห็นเลยว่ามันมีฟอร์ม (Form) ที่ชัดเจน การย่อมุมเจดีย์ หรือพื้นที่ภายในที่เกิดขึ้นจากการโอบล้อมของวัตถุ เราใช้วัสดุมากมายเพื่อที่จะบอกเล่าถึงปริภูมิเวลาที่สัมพันธ์กับป่าต้นยางโดยรอบ ความไม่เที่ยง หรือที่สุดแล้วคือความไม่มีตัวตนเหมือนกัน แต่งานนี้เราอยากจะลดทอนให้มันมีความไร้รูปและไม่ยึดอิงกับสิ่งแวดล้อมเพื่อบอกเล่าถึงสภาวะจริง ๆ ของมันให้ได้มากที่สุด 

จะบอกว่าเป็นเหมือนการเปลี่ยนหอศิลป์ให้เป็นพื้นที่ปฏิบัติธรรมได้ไหม

ไม่ขนาดนั้น จริง ๆ มันก็มีการเล่าเรื่องประมาณหนึ่งด้วย หอศิลป์ที่นี่มีพื้นที่แสดงงาน 2 ชั้น ชั้นล่างเราพูดถึงปริภูมิเวลา Space and Time มันจะมีชั้นของการเล่าเรื่องอดีตตั้งแต่ยุคก่อนอารยธรรม การมีอยู่ของปัจจุบันและอนาคตอยู่ในนั้น แต่พอเดินขึ้นมาชั้น 2 เราตั้งใจให้คนดูถอยห่างจากปริภูมิและเข้าสู่พื้นที่ของความว่างเปล่าโดยสมบูรณ์ ซึ่งจริง ๆ มันก็มีห้องเปล่า ๆ ให้ผู้ชมไปนั่งสมาธิหรือลองนั่งเงียบ ๆ เฉย ๆ ด้วยนะ (หัวเราะ)

ที่เลือกประเด็นนี้ เพราะเห็นว่าทุกวันนี้เรามีสิ่งล่อใจมากเกินไปด้วยหรือเปล่า เลยอยากทำให้ผู้คนลองหยุดคิดเพื่อใคร่ครวญความเป็นไปของตัวเอง

เราไม่ได้มองถึงการสอนสั่งอะไร จริง ๆ มันคือการแชร์ประสบการณ์ของเราในฐานะศิลปินและคนที่สนใจในสมาธิ ก่อนที่จะมาทำโชว์ชุดนี้ เรามีโอกาสไปปฏิบัติธรรมในป่าแห่งหนึ่งมา ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำประปา ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต และเราก็ประทับใจกับสภาวะที่เราจะไม่ไปยึดติดกับสิ่งอำนวยความสะดวกที่คุ้นเคยได้ รู้สึกโปร่งโล่งมาก

เราพบว่าทุกวันนี้เราเองรวมถึงคนส่วนใหญ่ต่างทำงานหนักกว่าเก่ามาก ๆ เพราะทุกอย่างมันเร็วไปหมด เราต้องคุยงานในไลน์ไม่รู้กี่ห้อง ไหนจะโซเชียลมีเดียที่มีเรื่องราวนับร้อยนับพันมาดึงความสนใจเราในแต่ละวันอีก เราไม่ได้บอกว่าทุกคนควรหลุดพ้นจากสิ่งเหล่านี้ แต่การหาเวลาตีตัวห่างออกจากมันบ้าง แม้ช่วงสั้น ๆ มันช่วยเราได้บ้าง งานชุดนี้มันคือความพยายามจำลองสภาวะแบบที่เราได้เจอมาตอนไปปฏิบัติธรรมในป่าน่ะ

เราจะค้นพบการมีอยู่ของเราในความว่างได้อย่างไร

เราว่าเรื่องนี้มันเป็นประสบการณ์ส่วนตัวของแต่ละคน ความว่างในที่นี้มันคือการหลุดพ้นจากสิ่งที่เรากำลังยึดติดอยู่ พ้นจากความคิด พ้นจากสิ่งเร้า จากความปรารถนา จากห้วงเวลา ไปจนถึงจากตัวตนของเราเอง บางทีมันอาจทำให้เราเห็นถึงวัฏจักรที่เคลื่อนไป เกิดขึ้น มีอยู่ และดับไปของสรรพสิ่ง หรือบางที มันก็อาจทำให้เราย้อนกลับมาค้นพบว่าเรากำลังอยู่ท่ามกลางความไม่มีอะไรเลยเหล่านี้ 

เราไม่รู้หรอกว่าในชีวิตประจำวันของผู้คนในโลกสมัยใหม่ เราจะมีโอกาสได้อยู่ท่ามกลางสภาวะแบบนี้สักกี่ครั้ง แต่สำหรับเรา การได้เข้าไปอยู่ในความว่างจริง ๆ ในบางครั้ง เรารู้สึกว่ามันดีนะ แค่นั้นเลย

ภาพผลงานศิลปะ : Sanitas Studio

นิทรรศการ ‘ภูมิทัศน์ของความว่างเปล่า’ (Landscape of Emptiness) ภัณฑารักษ์โดย กฤษฎา ดุษฎีวนิช จัดแสดงถึงวันที่ 8 มิถุนายน ปี 2024 ณ หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร (วังท่าพระ) เปิดวันจันทร์-เสาร์ เวลา 09.00 – 18.00 น. (หยุดวันอาทิตย์และวันหยุดราชการ) โทร. 09 2298 0092, 08 4531 0044 หรือ Facebook : ART CENTRE, SILPAKORN UNIVERSITY

ติดตามผลงานของ สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์ ได้ทาง www.sanitasstudio.com

Writer

จิรัฏฐ์​ ประเสริฐทรัพย์

จิรัฏฐ์​ ประเสริฐทรัพย์

นักเขียนและนักแปล แต่บางครั้งก็หันมาทำงานศิลปะ อาศัยอยู่ที่เชียงใหม่ ผลงานล่าสุดคือรวมเรื่องสั้น 'รักในลวง'

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์