มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ ครั้งที่ 3 ไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย 2023 (Thailand Biennale, Chiang Rai 2023) จัดโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ใช้ ‘ทั้งจังหวัด’ จัดแสดง เรียกว่า ‘Site-specific Art’ ที่งานแต่ละชิ้นได้รับการสร้างสรรค์ให้เหมาะกับพื้นที่นั้นโดยเฉพาะ 

มีงานแสดงตั้งแต่ในน้ำจนถึงบนฟ้า

สุดเหวี่ยงเกินกว่าใครจะจินตนาการถึง ไม่ว่าจะเป็นงานระดับไบโออาร์ตที่ใช้ดีเอ็นเอจากเลือดและแม่น้ำโขงเป็นองค์ประกอบ หนังผีที่ผู้เข้าชมแสดงเองโดยไม่รู้ตัว บ้านดำโฉมใหม่ที่สดใสและเท่าเทียม จนถึงพายุขี้เถ้าจากต้นอ้อย เสียงของแม่ 30 ชนเผ่าในกระบอกไม้ไผ่ และองค์พระที่ต้องเดินให้ถูกทางจึงจะมองเห็น

รังสรรค์โดยศิลปินหลัก 60 คน จากลุ่มน้ำโขงจนถึงลุ่มน้ำแอมะซอน ทั้งศิลปินพลัดถิ่น ผู้อพยพ จนถึงกลุ่มชาติพันธุ์ พร้อมด้วยศิลปินผู้มีส่วนร่วมอีกกว่า 500 คน โดยมี ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช, กฤติยา กาวีวงศ์, มนุพร เหลืองอร่าม และ อังกฤษ อัจฉริยโสภณ เป็นคิวเรเตอร์

ที่ผ่านมา คุณอาจพลาดไทยแลนด์เบียนนาเล่ กระบี่ 2018 ไทยแลนด์เบียนนาเล่ โคราช 2021 หรือนิทรรศการอื่น ๆ 

แต่คุณต้องไม่พลาดไทยแลนด์เบียนนาเล่ เชียงราย 2023 เด็ดขาด เพราะธีม ‘เปิดโลก’ (The Open World) จะเปิดจักรวาลศิลปะให้คุณอ้าปากค้างตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2566 – 30 เมษายน พ.ศ. 2567

ในฐานะ ‘เมืองแห่งศิลปิน’ พวกเขาตั้งใจจัดเต็มไม่ให้เสียศักดิ์ศรี ส่วนคนดูจะเสียอย่างเดียวคือ ‘เงิน’ โดยเฉพาะค่าโรงแรม เพราะอยู่แค่ 2 วันไม่มีทางพอ ต้องอยู่ 2 เดือนถึงจะซึมซับได้ทั้งหมดเพื่อให้ทุกท่านอินไปกับงานนี้มากขึ้น The Cloud จึงชวน อังกฤษ อัจฉริยโสภณ ศิลปินและ 1 ใน 4 คิวเรเตอร์ของงาน มาเล่าเบื้องหลังผ่านศิลปะ 20 ชิ้นให้คุณอยากไปยิ่งกว่าเดิม

#01

Between Roof & Floor

all(zone), Bangkok

ศิลปินสถาปัตย์ผู้ออกแบบแกลเลอรีเป็นโรงเรือนถาวรเพื่อบ่มเพาะศิลปิน

ออล(โซน) นำโดย อาจารย์รชพร ชูช่วย ผู้ร่วมก่อตั้ง คือกลุ่มสถาปนิกและนักออกแบบมืออาชีพที่อยากออกแบบสภาพแวดล้อมทางเลือกให้ทุกคนรู้สึกถึงความเป็นบ้านบนโลกใบนี้

พวกเขาทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก มีผลงานออกแบบพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยมที่เชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2559 และหากคุณยังจำภาพ MPavilion ในเมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ที่มีหลังคาสีส้มซึ่งได้มาจากการตัดกระดาษ ‘ตุงไส้หมู’ ได้ นั่นคือผลงานของ ออล(โซน) เช่นกัน

ปีนี้พวกเขาเปลี่ยนบทบาทจากสถาปนิกเป็น ‘ศิลปิน’ ออกแบบห้องแกลเลอรีซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากโรงเรือนเพาะต้นกล้า โดยช่วงลงพื้นที่ อาจารย์รชพรเห็นว่าจำนวนหอศิลป์ไม่เพียงพอต่อศิลปิน ห้องแกลเลอรีแห่งนี้จึงเป็นผลงานเพื่อสังคมที่แม้จบไทยแลนด์เบียนนาเล่ไปก็ยังตั้งอยู่ถาวรให้ชาวเชียงรายได้ใช้บริการ

  • หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย บ้านสันตาลเหลือง หมู่ 1 ต.ริมกก อ.เมืองเชียงราย (แผนที่)
  • เปิดทุกวัน เวลา 09.00 – 18.00 น.
#02

A Blue Instant, a Forward Looking Sky

Precious Okoyomon, New York

พายุขี้เถ้าจากต้นอ้อย ตัวแทน PM 2.5 ที่จะทำให้คุณสำลักศิลปะจากพืช

พรีเชียส โอโคโยมอน คือกวีและศิลปินชาวไนจีเรีย-อเมริกัน วัย 30 ปี อาศัยและทำงานอยู่ในบรุกลิน นิวยอร์ก เธอเคยเป็นตัวแทนศิลปินอเมริกันในงานเวนิส เบียนนาเล่ พาวิลเลียน เมื่อ พ.ศ. 2565 มีผลงานเกี่ยวกับโลกธรรมชาติ พืช ประวัติศาสตร์การอพยพย้ายถิ่นและการเหยียดเชื้อชาติ รวมถึงเรื่องขี้เถ้าจากอ้อย ซึ่งเป็นพืชพื้นเมืองแอฟริกา แต่เมื่อเกิดการค้าทาส อ้อยกลับกลายเป็นพืชที่เดินทางข้ามแดนไปทั่วโลก 

ในงานนี้ พรีเชียสตั้งใจนำเสนอวิกฤต PM 2.5 ที่เกิดจากการเผาข้าวโพดทางภาคเหนือผ่านพายุฝุ่นขี้เถ้าจากต้นอ้อย โดยเธอจะเป็นศิลปินคนแรกที่ได้ประเดิมแสดงผลงานในแกลเลอรีที่ออกแบบโดย ออล(โซน)

  • หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย บ้านสันตาลเหลือง หมู่ 1 ต.ริมกก อ.เมืองเชียงราย (แผนที่)
  • เปิดทุกวัน เวลา 09.00 – 18.00 น.
#03

Motion Pictures

Apichatpong Weerasethakul, Chiang Mai

ร่วมแสดงในหนังผีของอภิชาติพงศ์ ณ โรงเรียนร้างที่การศึกษาดับสูญ

อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล คือผู้กำกับที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในการถ่ายทอดเรื่องราวโดยใช้ศิลปะภาพยนตร์ มีผลงานระดับโลกทั้ง ลุงบุญมีระลึกชาติ (พ.ศ. 2553) สัตว์ประหลาด! (พ.ศ. 2547) และ Memoria (พ.ศ. 2564) 

อังกฤษเล่าว่าอภิชาติพงศ์ตามหาสถานที่ทิ้งร้างอย่างโรงพยาบาล แต่สิ่งที่พวกเขาพบคือโรงเรียนบ้านแม่มะ ตำบลศรีดอนมูล อำเภอเชียงแสน ซึ่งถูกทิ้งร้างเนื่องจากนโยบายควบรวมโรงเรียน

อภิชาติพงศ์บอกให้ทีมงานคงสภาพเดิมของสถานที่เอาไว้ กระดานไม่ต้องลบ ไม่ต้องทำความสะอาด แล้วเขาจะนำภาพยนตร์เรื่องใหม่ชื่อ แสงผี มาฉายท่ามกลางบรรยากาศที่ไม่ปล่อยให้ผู้มาเยือนนั่งดูหนังเฉย ๆ แต่จะได้สัมผัสถึงความเชื่อและเรื่องลี้ลับด้วยตัวเอง

“ระหว่างทางคุณจะผ่านดอย ผ่านป่า รับรองคุณเข้าไปในหนังก่อนถึงโรงเรียนอีก” อังกฤษหัวเราะ

นอกจากนี้ หากเข้าไปแล้วสงสัยว่าทำไมมีพระพุทธรูป 2 องค์นั่งประจันหน้ากันท่ามกลางหญ้ารก ขอใบ้ว่า เดิมทีหน้าห้องเรียนมีพระพุทธรูปองค์หนึ่งตั้งอยู่ ส่วนอีกองค์คืองานศิลปะที่นำมาติดตั้งเพิ่ม มาลองดูกันว่าผู้ชมจะแยกออกไหมว่าชิ้นไหนเป็นงานใหม่หรืองานเก่ากันแน่

  • โรงเรียนบ้านแม่มะ หมู่ที่ 1 ถนนรพช. บ้านแม่มะ ตำบลศรีดอนมูล อำเภอเชียงแสน (แผนที่)
  • เปิดทุกวัน เวลา 09.00 – 18.00 น.
#04

Path 14, The River Flows Two Ways

Boedi Widjaja, Singapore

ชายผู้ตามหาแม่โดยใช้ดีเอ็นเอจากก้อนหินที่แม่น้ำโขงมาทำงานศิลปะ

โบดี วิดจายา เกิดที่อินโดนีเซีย ก่อนย้ายไปเป็นพลเมืองสิงคโปร์ ด้วยความที่เป็นผู้ย้ายถิ่นฐาน เขาจึงสนใจเรื่องบ้านเกิด และ ‘แม่’ เป็นพิเศษ โดยเป็นการตามหาแม่ในทางนามธรรม

เมื่อลงพื้นที่ โบดีเป็นอีกคนที่ตั้งคำถามว่า ทำไมที่เชียงราย อะไร ๆ ก็พูดถึงแต่ ‘แม่’ ทั้งแม่น้ำโขง แม่สาย แม่สรวย จนได้ไปเจอโขดหินที่คอนผีหลง เป็นก้อนหินขนาดใหญ่กลางแม่น้ำโขง โบดีนำผ้าไหมจากเชียงแสนไปแปะไว้บนคอนผีหลงและใช้หมึกขูดลวดลายออกมาเป็นภาพ เพื่อตามหาร่องรอยของไมโทคอนเดรีย (ซึ่งถ้าจะตามหาแม่จริง ๆ ก็ต้องใช้สารพันธุกรรมอันนี้ด้วย)

เท่านั้นยังไม่พอ เขายังนำน้ำไปเข้าแล็บวิจัยที่สิงคโปร์ เพื่อหาความเชื่อมโยงระหว่างดีเอ็นเอของตัวเองกับและแม่น้ำโขง เพราะเขาเชื่อว่าดีเอ็นเอธรรมชาติและมนุษย์สัมพันธ์กัน 

อีกหนึ่งผลงาน คือโบดีนำดีเอ็นเอของเขาไปหยอดใส่ดินที่ใช้ปั้นเซรามิกที่ดอยดินแดง เพื่อปั้นออกมาเป็นเครื่องดนตรีที่เปล่งเสียงออกมา โดยมีดีเอ็นเอของเขาในเนื้อดินด้วย

  • พิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ตำบลท่าสุด อำเภอเมืองเชียงราย (แผนที่)
  • เปิดวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.00 – 16.00 น.
#05

ร้อยกรองกาล : Kala Ensemble

Chitti Kasemkitvatana, Bangkok

ศิลปะแห่งการกลืนกินของตัวกาล จัดแสดง ณ เจดีย์แห่งเดียวที่มีตัวจริง

จิตติ เกษมกิจวัฒนา คือภัณฑารักษ์อิสระ นักการศึกษา และศิลปินผู้สนใจเรื่องกลศาสตร์ควอนตัม ซึ่งเป็นทฤษฎีที่ใช้อธิบายปรากฏการณ์ในระบบขนาดเล็ก เขาสนใจสิ่งเหล่านี้ร่วมกับเรื่องเล่าและตำนาน หนึ่งในนั้นคือเรื่อง ‘หน้ากาล’ ซึ่งเป็นรูปใบหน้าอสูรดุร้ายอ้าปากกว้าง ตามเรื่องเล่ามีต้นกำเนิดมาจากพระศิวะพิโรธจนเปิดตาที่ 3 หน้ากาลจึงมีนิสัยโกรธแล้วกิน กระทั่งกินทั้งสวรรค์และหันมากินตัวเอง

คำว่า กาล แปลว่า เวลา จึงตีความว่า เวลากลืนกินตัวเองอยู่ทุกวัน

จิตติใช้คอนเซปต์นี้มาสร้างงานศิลปะจากหน้ากาลและนาคที่กินหางตัวเองเป็นวงกลม โดยเชื่อมกับกลองสะบัดชัยและนิทานพื้นบ้านเรื่องอื่น ๆ รวมถึงควอนตัมฟิสิกส์เขาไกรลาศ (เจดีย์เป็นการจำลองมาจากภูเขาศักดิ์สิทธิ์) ทั้งหมดจัดแสดงที่เจดีย์วัดป่าสัก ซึ่งเป็นที่เดียวในเชียงรายที่มีหน้ากาลประดับอยู่

“พลาดอะไรก็ได้ แต่ห้ามพลาดที่วัดป่าสัก แล้วต้องมาให้ถูกเวลา ตอนพระอาทิตย์ตกดิน เพราะสิ่งสำคัญในการชมงานศิลปะคือเวลา ไม่อยากให้มาชะโงกแล้วไป อยากให้ใช้เวลาโดยไม่ต้องมองหาทางลัดกับศิลปะนะครับ” อังกฤษแนะนำให้ทุกคนอยู่ 2 เดือน เพราะ 2 วันไม่อาจทำให้คุณสนุกกับงานศิลปะได้ทั้งหมด\

  • วัดป่าสัก หมู่ 6 ถนนพหลโยธิน บางคูเวียง อำเภอเชียงแสน (แผนที่)
  • เปิดทุกวัน เวลา 08.00 – 17.00 น.
  • 50 บาท
#06

Chantdance

Ernesto Neto, Rio de Janeiro

ศิลปะจากป่าสู่เมือง โครเชต์เชื่อมโลกจากแอมะซอนถึงป่าเชียงราย

อังกฤษชวนสังเกตว่าชื่อศิลปินมักตามด้วยชื่อเมืองที่เขาเกิดหรือพำนัก เพราะเชียงรายเป็นจังหวัดและมีความเป็นท้องถิ่นมากกว่าประเทศ ทีมงานจึงอยากเชื่อมโยงท้องถิ่นเข้าด้วยกัน ริโอเดจาเนโร บ้านเกิดของ เอิร์นเนสโต เนโต ก็เป็นเช่นนั้น

เขาคือลูกครึ่งชนพื้นเมืองบราซิลและสเปน ซึ่งพื้นที่แถบนี้มีผืนป่าอุดมสมบูรณ์และได้รับการปกป้องโดยชนเผ่าพื้นเมือง ก่อนที่จะโดนบุกรุกและแบ่งชนชั้นปกครองโดยต่างชาติ เอิร์นเนสโตจึงนำภูมิปัญญาและความรู้ของชนพื้นเมืองมาเล่าผ่านงานศิลปะร่วมสมัยอย่างการถักโครเชต์

ช่วงลงพื้นที่ ณ วัดมุงเมือง ใกล้ตลาดเทศบาลจังหวัดเชียงราย เอิร์นเนสโตสวดมนต์และนอนแผ่ร่างมองวิหารสีแดงชาดที่ประดับด้วยลายยันต์ เขานำสิ่งนี้มาเป็นแรงบันดาลใจคู่กับอ่างดินเผาเลี้ยงปลาห่างนกยูงที่เห็นตามร้านอาหาร ซึ่งเอิร์นเนสโตบอกว่าสิ่งนี้คือตัวแทนระบบนิเวศอันสันติสุข 

ประกอบกับว่าเอิร์นเนสโตฝันเห็นหม้อดินเผาก้นโค้งแบบโบราณวางอยู่บนดิน เขาจึงหาข้อมูลเพิ่มเติมจนได้รู้จัก ‘หม้อบูรณฆฏะ’ (ลายหม้อดอก) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นแม่ ความอุดมสมบูรณ์ มีดอกไม้พืชพรรณงอกออกมา ทั้งหมดจึงนำมาสร้างเป็นงาน Installation Art ที่อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง

  • อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง 313 หมู่7 บ้านป่างิ้ว ตำบลรอบเวียง อำเภอเมืองเชียงราย (แผนที่)
  • เปิดวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 08.30 – 16.30 น.
  • 200 บาท
#07

Incantations–Entwinement, Endurance and Extinction 

Haegue Yang, Seoul / Berlin

ศิลปะจากความเชื่อในอดีตที่จะพาคุณล่องลอยไปในอวกาศ

แฮกู ยาง อาศัยและทำงานอยู่ทั้งที่โซลและเบอร์ลิน โด่งดังในฐานะผู้สรรสร้างศิลปะร่วมสมัยเบอร์หนึ่งของเกาหลี ใช้เทคนิคงานฝีมือและวัสดุหลากหลาย 

เมื่อลงพื้นที่ แฮกูสนใจการทำเครื่องสักการะจากใบตองหรือ ‘บายศรี’ แต่สำหรับเธอ สิ่งนี้มีหน้าตาเหมือนยานอวกาศ (Futuristic) ที่ชวนตั้งคำถามว่าอนาคตและอดีตเชื่อมโยงกันอย่างไร ยิ่งได้ยินเสียงกระดิ่ง กระพรวน เสียงตีระฆัง เสียงตีฆ้องในวัด เธอก็ยิ่งสนใจเสียงเหล่านี้ยิ่งขึ้น เพราะเป็นเสียงที่เกิดจากการตีโลหะที่ให้ความรู้สึกหนักตัน แต่แท้จริงแล้วด้านในกลับเป็นพื้นที่ว่าง แฮกูจึงเชื่อว่าเสียงเชื่อมโยงกับทั้งความเชื่อและวัสดุมันวาวที่สะท้อนถึงอนาคตนิยมได้ในคราวเดียว

ผลงานของเธอสร้างขึ้นโดยใช้วัสดุจากความเชื่อ ความศรัทธาจากอดีต และวัสดุมันวาวอื่น ๆ ที่สะท้อนถึงอนาคตนิยม ทำออกมาเป็นเอเลียน ยานอวกาศ นอกจากนี้ยังมีงานที่เธอทำร่วมกับชาวบ้านเป็นโมบายล์ยักษ์สะท้อนแสงแขวนหน้าวัดด้วย

  • หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย บ้านสันตาลเหลือง หมู่ 1 ต.ริมกก อ.เมืองเชียงราย (แผนที่)
  • เปิดทุกวัน เวลา 09.00 – 18.00 น.
#08

The Actor from Golden Triangle

Hsu Chia-Wei, Taipei

ดิจิทัลอาร์ตเปิดเส้นทางค้ายา สู่พิพิธภัณฑ์ฝิ่นและอาณาจักรคาสิโนแห่งสามเหลี่ยมทองคำ

สวี่ เจีย เหว่ย เป็นผู้กำกับภาพยนตร์ จบการศึกษาจากจาก Le Fresnoy (The National Studio for Contemporary Arts) ประเทศฝรั่งเศส

สิ่งที่เขาสนใจคือ ‘อาณาจักรคาสิโน’ ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามของเชียงแสน ชื่อ ‘คิงส์โรมัน’ (Kings Roman) ซึ่งเจ้าของเป็นผู้มีอิทธิพลชาวจีนชื่อ จ้าว เหว่ย แต่น่าเสียดายว่าเขาข้ามไปสัมภาษณ์ไม่ได้ เจีย เหว่ย จึงหาข้อมูลเรื่องการค้ายาบริเวณสามเหลี่ยมทองคำเพิ่มเติม และมองเห็นว่าเชียงรายเชื่อมโยงกับโลกได้ผ่านการค้ายา 

แรงบันดาลใจต่อมาของเจีย เหว่ย คือพิพิธภัณฑ์บ้านฝิ่นที่เชียงแสน ก่อตั้งโดย พัชรี ศรีมัธยกุล เขาจึงอยากทำเส้นทางประวัติศาสตร์การค้าฝิ่นในอดีต จนมาถึงของสะสมในพิพิธภัณฑ์และอาณาจักรคาสิโนในปัจจุบัน โดย Digitalize ทุกสิ่งในพิพิธภัณฑ์ให้กลายเป็นรูปแบบดิจิทัลที่เรียกว่า VR (Virtual Reality) และให้ จุ๋ยจุ๋ยส์-สุทธิพงศ์ สุทินรัมย์ แต่งเพลงแรปเล่าเรื่องราว โดยมีลูกชายของพัชรีเป็นผู้ร้อง

แน่นอนว่าผู้เข้าชมต้องใส่แว่น VR ในการชมภาพยนตร์ หรือจะถอดบ้างเพื่อมองอาณาจักรคาสิโนของจริงตรงหน้าเลยก็ย่อมได้

  • ศูนย์ดิจิทัลชุมชนตำบลเวียง เชียงแสน สามเหลี่ยมทองคำ (แผนที่)
  • เปิดวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 09.00 – 16.30 น.
#09

ตำนานนางบัวแดง

Kamonlak Sukchai, Bangkok

กมลลักษณ์ สุขชัย x อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี สาดแสงสีรุ้งให้บ้านดำฟรุ้งฟริ้ง

กมลลักษณ์ สุขชัย คือศิลปินที่อายุน้อยสุดในงาน เธอเป็นชาวราชบุรี เรียนด้านภาพยนตร์ แต่จบมาทำงานด้านภาพถ่าย โดยกมลลักษณ์ติด 1 ใน 20 ช่างภาพของ Foam Talent ที่นิตยสาร Foam Magazine จากเนเธอร์แลนด์คัดเลือกให้เป็นผู้เปลี่ยนแปลงอนาคตของการถ่ายภาพ

งานของเธอจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์บ้านดำของ อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี หากใครเคยเข้าไปคงรู้ถึงความดุดันและความเป็นชายที่แสดงออกผ่านสถาปัตยกรรมจนถึงสิ่งของ อังกฤษบอกว่าบ้านดำจะมีแต่ศิลปินหญิง 4 คนที่เข้าไปจัดแสดง เพื่อสร้างอารมณ์ที่แตกต่างและสะท้อนแนวคิดความเท่าเทียมของเด็กและสตรี

กมลลักษณ์มีผลงานที่บอกเล่าตำนาน ‘กำเนิดนางบัวแดง’ หญิงสาวที่เกิดจากดอกบัว เจ้าเมืองมองว่าสิ่งนี้เป็นลางร้ายจึงให้เธอไปอยู่กับฤๅษี เมื่อโตขึ้นได้พบเจ้าชายก็ต้องเป็นภรรยา มิเช่นนั้นจะผิดผี สำหรับกมลลักษณ์ เธอมองว่าเป็นการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของสตรีเพศ แต่สิ่งเหล่านี้กลับแฝงอยู่ในตำนานท้องถิ่นของทุกพื้นที่ สะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมที่เราเติบโตมา

กมลลักษณ์นำเรื่องราวมาสร้างเป็นภาพคอลลาจในตู้ไฟ เปล่งแสงฉูดฉาดเขียว เหลือง แดง กลางบ้านดำ นอกจากนี้ทีมงานเบียนนาเล่ยังไปขอยืมผลงานของอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ชุดภาพสีสเปกตรัมสายรุ้งมาจัดแสดงคู่กันด้วย

  • พิพิธภัณฑ์บ้านดำ 414 หมู่ 13 ตำบลนางแล อำเภอเมือง (แผนที่)
  • เปิดทุกวัน เวลา 09.00 – 17.00 น.
  • 80 บาท
#10

วันหยุดสุดสัปดาห์

Michael Lin, Taipei / Brussels

งานเพนต์ขนาดยักษ์ที่ยกอัตลักษณ์ของเชียงรายห่อไว้ทั้งศาลากลาง

ไมเคิล หลิน เป็นศิลปินจากไทเป ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่เบลเยียม มีชื่อเสียงด้านการทำงานจิตรกรรมขนาดใหญ่ โดยมีแรงบันดาลใจมาจากการกำเนิดไต้หวัน ตั้งแต่การถอยร่นของรัฐบาลไต้หวันที่แพ้พรรคคอมมิวนิสต์ จนกองพล 93 ที่อยู่ทางเหนือก็พ่ายแพ้และต้องถอยร่นลงมาถึงประเทศไทย ก่อนที่อีกกลุ่มจะไปสร้างไต้หวัน

ไมเคิลสนใจความเชื่อมโยงเหล่านี้ รวมถึงการตามหาอัตลักษณ์ที่เขา คนจีน และคนไต้หวันแชร์ร่วมกัน สิ่งนั้นคือลวดลายปลอกหมอน-ผ้าปูที่นอน

เมื่อมาถึงประเทศไทย เขาสนใจศาลากลางจังหวัดเชียงราย (หลังเก่า) สร้างสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก แต่ขณะเดียวกันที่เชียงรายก็มีอีก 30 กลุ่มชาติพันธุ์ ถ้าอย่างนั้นอัตลักษณ์ที่แท้จริงคืออะไร ไมเคิลจึงนำแพตเทิร์นของทุกชนเผ่ามาขยายเป็นงานศิลปะชิ้นใหญ่ โดยเริ่มแรกตั้งใจระบายสีลงบนศาลากลางหลังเก่า แต่ด้วยอายุอาคารที่มากกว่าร้อยปีจึงไม่ได้รับอนุญาต

สุดท้ายงานนี้ออกมาในรูปแบบบิลบอร์ดขนาดยักษ์ปิดคลุมทั้งศาลากลาง รับรองว่าเหมาะแก่การถ่ายภาพเป็นที่สุด

  • ศาลากลางจังหวัดเชียงรายหลังเก่า ตำบลเวียง อำเภออำเภอเมือง (แผนที่)
#11

พลัดถิ่น ดินแดนใคร

Navin Rawanchaikul, Fukuoka / Chiang Mai

จากชีวิตจริงของศิลปิน สู่ภาพยนตร์สารคดีที่ตั้งคำถามว่าดินแดนนี้เป็นของใคร

นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล มาจากปากีสถาน มีบรรพบุรุษเป็นชาวปัญจาบ ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่เชียงใหม่ ด้วยหน้าตาที่มีเชื้อแขก ทำให้เขาโดนเพื่อนล้อมาตั้งแต่เด็กจนรู้สึกว่าตนเองเป็นคนนอกอยู่เสมอ สิ่งนี้ส่งผลให้นาวินสนใจเรื่องคนพลัดถิ่นเป็นพิเศษ และที่เชียงแสนก็มีบุคคลพลัดถิ่นจำนวนมาก

ผลงานของนาวินออกมาในรูปแบบภาพยนตร์ชื่อว่า พลัดถิ่น ดินแดนใคร และเพื่อตอบคำถามว่าใครที่เป็นเจ้าของดินแดน หรือแท้จริงแล้วดินแดนคือสิ่งที่อยู่ร่วมกัน หรือยิ่งไปกว่านั้น พรมแดนยังเป็นสิ่งจำเป็นหรือไม่ เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการทะเลากันหรือเปล่า นาวินจึงเดินทางไปยังเชียงตุงเพื่อถ่ายทำภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับผู้คนที่มีญาติเกี่ยวโยงกันในพื้นที่ต่าง ๆ 

งานนี้ฉายที่ลานกิจกรรมสามเหลี่ยมทองคำ มองเห็น 3 ประเทศ พร้อมบิลบอร์ดภาพที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงด้านวัฒนธรรมของผู้คน

  • ลานกิจกรรมสามเหลี่ยมทองคำ อำเภอเชียงแสน (แผนที่)
#12

Anonymity

Poklong Anading, Manila

ชุดภาพที่จะพาคุณเปิดโลกบาดาลจากบ้าน สู่เทศบาล และแม่น้ำกก

โปกล็อง อะนาดิง เป็นศิลปินในพำนักของโครงการหลายแห่งทั่วโลก เมื่อลงพื้นที่ เขาสนใจแม่น้ำโขงและแม่น้ำกกที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขง รวมถึงตั้งคำถามว่า แล้วน้ำประปาที่เราใช้กันอยู่ตามบ้านมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่ไหน สำหรับคนทั่วไปคงตอบอย่างรวดเร็วว่าไหลลงท่อระบายน้ำแล้วไหลลงแม่น้ำสักแห่ง

โปกล็องเดินทางไปที่โรงงานบำบัดน้ำเสียเทศบาลนครเชียงราย ซึ่งน้ำเสียทั้งหมดจะไหลไปยังบ่อพัก เข้าสู่การบำบัด และปล่อยลงสู่แม่น้ำกก ศิลปินบอกว่า ในเมื่อธีมของงานคือ ‘เปิดโลก’ เขาจึงขอ ‘เปิดบาดาล’ ให้ผู้ชมงานเห็นว่าน้ำเหล่านี้มาจากไหน และกำลังเดินทางไปที่ไหน โดยมีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง

ภาพชุดของโปกล็องออกมาในลักษณะที่เขายืนถือกระจกบังหน้าให้แสงพระอาทิตย์สะท้อนเข้ากล้อง โดยตัวเองยืนอยู่ในแม่น้ำกก บ่งบอกว่ามนุษย์เชื่อมโยงตั้งแต่พระอาทิตย์บนท้องฟ้ามาจนถึงแม่น้ำที่เราใช้ประโยชน์ 

ส่วนผลงานอีกชิ้นของเขา คือห้องสมุดรถไฟ ที่โรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย เป็นโบกี้รถไฟที่ตั้งอยู่ภายในโรงเรียน โดยโปกล็องจะขอผลงานศิลปะจากเพื่อนของเขาและศิลปินเชียงรายคนอื่น ๆ มาให้เด็ก ๆ ยืมงานกลับบ้านไปชื่นชมและสัมผัสศิลปะอย่างใกล้ชิดเป็นเวลา 1 สัปดาห์ แลกกับของมีค่าของตัวเองหรือผลงานศิลปะของตัวเองก็ได้

  • ห้องสมุดรถไฟเชียงราย ตำบลรอบเวียง อำเภอเมืองเชียงราย ตรงข้ามโรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ถนนหน้าสนามกีฬา (แผนที่)
  • เปิดวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.00 – 16.30 น. และวันเสาร์ เวลา 09.00 – 16.00 น.
#13

 Inner Light – Chaing Rai Rice Barn

Ryusuke Kido, Tokyo

ศิลปะแห่งแกะสลักพื้นที่ว่าง ยุ้งข้าวที่ตายจากภายในเมื่อตัวตนของชาวนาเริ่มสูญหาย

ริวสุเกะ คิโดะ คือศิลปินผู้ถนัดเทคนิคทางประติมากรรม เขาสนใจเรื่องการแกะสลักพื้นที่ว่าง โดยเวลาที่ริวสุเกะมองสิ่งของต่าง ๆ เขาไม่ได้มองที่รูปทรงของสิ่งนั้น ๆ แต่มองพื้นที่ว่างภายใน หรือพื้นที่ว่างโดยรอบที่ห่อหุ้มสิ่งของเอาไว้

หลังจากลงพื้นที่ ริวสุเกะเห็นว่ายุ้งข้าวหลายแห่งไม่ถูกใช้งาน บ่งบอกว่าวัฒนธรรมชาวนากำลังสูญหาย เมื่อมองว่ายุ้งข้าวคือตัวตนและรากเหง้าของชาวนา เขาจึงสร้างผลงานแกะสลักยุ้งข้าวเก่าอายุกว่า 80 ปีให้เป็นตัวแทนของร่างกาย โดยมีเชื้อไวรัสกัดกินจากภายในจนยุ้งข้าวทะลุทะลวง นัยหนึ่งคือร่างกายถูกกัดกิน อีกนัยคือยุ้งข้าวนี้ไม่อาจใช้งานได้อีกต่อไป เพราะมีรูพรุนเต็มไปหมด

ยุ้งข้าวไวรัสจัดแสดงที่อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง ติดกับหอคำ ซึ่งเป็นสถานที่เก็บรวบรวมไม้แกะสลัก ศิลปวัตถุ และงานพุทธศิลป์อายุกว่า 200 ปี

  • อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง 313 หมู่ 7 บ้านป่างิ้ว ตำบลรอบเวียง อำเภอเมืองเชียงราย (แผนที่)
  • เปิดวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 08.30 – 16.30 น.
  • 200 บาท
#14

Garden of Silence (สวนแห่งความเงียบ)

Sanitas Pradittasnee, Bangkok

ปริมณฑลสมมติจากยางพารา 108 ต้น พาทุกท่านเข้าสู่ภวังค์ท่ามกลางเสียงกระดิ่ง 1,000 อัน

สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์ ทำงานศิลปะจัดวางและทำงานด้านภูมิสถาปัตยกรรมในการสร้างสรรค์งานศิลปะ ชื่อจริงของเธอแปลว่า มุมมองจากท้องฟ้า (Bird Eye View)

งานของเธออยู่ที่ศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน สนิทัศน์สนใจแนวคิดเรื่องจักรวาลวิทยาใน ไตรภูมิพระร่วง เมื่อไปดูเสาสะดือเมืองเชียงราย 108 ต้น จึงได้แรงบันดาลใจให้ใช้พื้นที่สวนยางพาราในไร่เชิญตะวัน โดยเลือกต้นยางพาราจำนวน 108 ต้น มาสร้างเป็นปริมณฑลสมมติ ชื่อว่า ‘Garden of Silence’ สวนแห่งความเงียบ เพื่อให้คนเข้าไปใช้เวลาค้นหาตัวตน

แต่จะเงียบสุด ๆ ไหม ก็ไม่ใช่ เพราะสนิทัศน์ติดกระดิ่งไว้กว่า 1,000 อัน เวลาลมพัดจะได้ยินเสียงกระดิ่งดังก้องไปทั่ว เพื่อให้ผู้คนเข้าสู่ภวังค์และอยู่กับตัวเอง เป็นงานถาวรที่จะอยู่ต่อแม้เบียนนาเล่จบแล้ว

  • ศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน (ว.วชิรเมธี) 217 หมู่ที่ 25 ตำบล ห้วยสัก อำเภอเมืองเชียงราย (แผนที่)
  • เปิดทุกวัน เวลา 08.00 – 17.00 น.
#15

Inspirations from Shan State

Soe Yu Nwe, Yangon

แสงสว่างแห่งบ้านดำ ประติมากรรมเป่าแก้วเล่าตำนานสตรีผู้ทำให้ชายติดฝิ่นของเผ่าอาข่า

โซ ยุ นแว ศิลปินหญิงจากย่างกุ้ง จบด้านเซรามิกจากสหรัฐอเมริกา เธอเป็นอีกหนึ่งศิลปินที่จัดแสดงงานในบ้านดำ 

หากใครจำได้ ตรงกลางบ้านดำจะมีสถูปสีขาว ด้านในเป็นหนังจระเข้ตั้งอยู่ เมื่อ โซ ยุ นแว มาถึง เธอสัมผัสว่าความรู้สึก ณ ที่แห่งนี้มีแต่ความตาย ทั้งซากสัตว์ เขาสัตว์ เธอจึงอยากสร้างผลงานที่เกี่ยวกับการกำเนิด โดยตีความว่า หากความตายเป็นสีดำ การเกิดจึงเป็นสีขาว

ผลงานของเธอเป็นประติมากรรมผสมจากเครื่องปั้นดินเผาและแก้ว เธอเป่าแก้วเป็นรูปผู้หญิงนอนแผ่บริเวณสถูป แหวกอกและมีพืชพรรณงอกออกมาเป็นต้นไม้ ดอกฝิ่น ซึ่งมาจากเรื่องเล่าเทพผู้กำหนดความเป็นและความตายของพม่า และตำนานของอาข่าที่เธอชอบ

ตามตำนานอาข่าเล่าว่า หญิงสาวหน้าตางดงามมีชายมาจีบ 7 คน เธอตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเลือกใครจึงให้ทั้ง 7 คนเป็นสามี แต่น่าเสียดายว่าเธอเสียชีวิตตั้งแต่คืนแรกของการแต่งงาน เพราะรับศึกรักหนักเกินไป ตอนเช้า สามีทั้ง 7 จึงนำร่างของเธอไปฝังไว้ในหมู่บ้าน ผ่านไป 7 วัน มีดอกฝิ่นงอกออกมาจากอวัยวะเพศของเธอ หลังจากนั้นเป็นต้นมา ผู้ชายทุกคนจึงเสพติดดอกฝิ่น

  • พิพิธภัณฑ์บ้านดำ 414 หมู่ 13 ตำบลนางแล อำเภอเมือง (แผนที่)
  • เปิดทุกวัน เวลา 09.00 – 17.00 น.
  • 80 บาท
#16

ศาลาสวนประติมากรรม

Somluk Pantiboon, Chiang Rai

ศาลาสร้างศิลปินในวันที่เมืองแห่งศิลปินยังขาดพื้นที่แสดงฝีมือ

อาจารย์สมลักษณ์ ปันติบุญ คือศิลปินเครื่องปั้นดินเผาชาวเชียงรายผู้ก่อตั้งดอยดินแดง เคยไปเรียนกับศิลปินแห่งชาติด้านเครื่องปั้นดินเผาชาวญี่ปุ่น รุ่นที่ 13 แต่ครั้งนี้อาจารย์สมลักษณ์ไม่ได้นำเครื่องปั้นดินเผามาแสดง หากเป็นการสร้างศาลาร่วมสมัยด้วยไม้เก่า ออกแบบให้เสาตั้งเฉียงไปมาและไม่มีหลังคา โดยตั้งชื่อว่า ‘ศาลาสวนประติมากรรม’

ศาลาแห่งนี้สร้างขึ้นด้วยวัตถุประสงค์เดียวกับผลงานของออล(โซน) ที่ต้องการให้เป็นสถานที่จัดแสดงผลงานของศิลปินชาวเชียงราย โดยภายในศาลาจะมีงานประติมากรรมของศิลปินอีก 23 คนร่วมแสดง เป็นศาลาที่จัดตั้งถาวร

  • หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย บ้านสันตาลเหลือง หมู่ 1 ต.ริมกก อ.เมืองเชียงราย (แผนที่)
  • เปิดทุกวัน เวลา 09.00 – 18.00 น.
#17

สามส่วน

Tawatchai Puntusawasdi, Chiang Mai

ตามหาพระพุทธรูปที่ต้องมีจุดยืนและพลังบุญจึงจะเห็น

ธวัชชัย พันธุ์สวัสดิ์ คือศิลปินเชียงใหม่ผู้เคยนำงานไปจัดแสดงที่ Biennale of Sydney 

อังกฤษเคยพาธวัชชัยเที่ยวเชียงรายเมื่อ 10 ปีก่อน เขาได้เห็นงานแสดงพระพุทธรูปไม้แกะสลักโดยช่างท้องถิ่น มีผลงานหนึ่งสร้างจากไม้ไผ่ดัดเป็นโครงรูปพระพุทธรูป เขาประทับใจงานนี้มาก เมื่ออังกฤษชวนให้ธวัชชัยมาแสดงผลงานในเบียนนาเล่ เขาจึงเสนอว่าจะพัฒนางานชิ้นใหม่ขึ้นมา 

อังกฤษเล่าว่าพวกเขาไปที่วัดพระธาตุผาเงา อำเภอเชียงแสน ซึ่งมีการขุดพบหลวงพ่อวัดผาเงา แต่เพราะเป็นพระพุทธรูปที่ขุดเจอในดินจึงอยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์ ธวัชชัยเห็นว่าความศรัทธาไม่ได้อยู่ที่รูปร่างสมบูรณ์แบบหรือต้องเป็นทองคำ แม้เป็นก้อนหินเลอะดิน เราก็ศรัทธา

เขาจึงสร้างประติมากรรมร่วมสมัยจากโลหะดัดเป็นโครง 3 ชิ้น แบ่งเป็นท่อนขา ลำตัว และศีรษะ แล้ววางกระจายห่างกัน ต้องยืนมองให้ถูกมุม จึงจะเห็นเป็นองค์พระปางนั่งสมาธิ เบี้ยวไป 1 องศาก็ไม่เห็นแล้ว

“หาเองนะจ๊ะ ไม่มีคำใบ้ ถ้ามีบุญพอคุณก็เห็น” อังกฤษหัวเราะส่งท้าย

  • วัดป่าสัก หมู่ 6 ถนนพหลโยธิน บางคูเวียง อำเภอเชียงแสน (แผนที่)
  • เปิดทุกวัน เวลา 08.00 – 17.00 น.
  • 50 บาท
#18

Damaged

Tayeba Begum Lipi, Dhaka

งานปักผ้ายาว 10 เมตรที่เชื่อมนักโทษชายกับคนภายนอก

ตาเยบา เบกัม ลิปี คือศิลปินจากบังกลาเทศ คนนี้บอกเลยว่าห้ามพลาด เพราะเธอเป็นแม่บ้านที่สามีทำงาน ส่วนเธอก็ทำงานศิลปะ โดยเธอนำมีดโกนของผู้ชายมาประกอบเป็นสิ่งของต่าง ๆ ที่อยู่ในชีวิต เช่น เตารีด ราวตากผ้า หรือรถเข็นเด็ก เพื่อแสดงออกถึงการต่อสู้ของแม่บ้านผู้ต้องการประกาศอิสรภาพ

ที่เชียงราย ตาเยบาประทับใจทุกอย่างที่เคลื่อนที่ด้วยล้อ เช่น สามล้อ เกวียน จักรยาน เธอจึงเขียนออกมาเป็นแบบและให้ ป้านิ ศิลปินเย็บผ้าชาวเชียงรายปักลวดลายยานพาหนะยาว 10 เมตร แต่ป้านิไม่ได้ทำเพียงคนเดียว เพราะเธอเป็นครูฝึกวิชาชีพ จึงนำไปให้นักโทษชายในเรือนจำเชียงรายอีกกว่า 10 ชีวิตช่วยกันปัก

“นักโทษชายมีความสุขกันมาก ถือเป็นอีกไฮไลต์ที่ตอบคำถามว่า คนเชียงรายมีส่วนร่วมมากแค่ไหน” อังกฤษเล่า

  • อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง 313 หมู่ 7 บ้านป่างิ้ว ตำบลรอบเวียง อำเภอเมืองเชียงราย (แผนที่)
  • เปิดวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 08.30 – 16.30 น.
  • 200 บาท
#19

Museo Aero Solar

Tomás Saraceno, Berlin

พาชาวเชียงรายบินขึ้นฟ้าด้วยบอลลูนยักษ์จากถุงพลาสติก 5,000 ชิ้น 

โทมัส ซาราเซโน เป็นศิลปินและนักวิจัยชาวอาร์เจนตินาผู้มีแนวคิดเรื่อง Aerocene ยุคสมัยที่มนุษย์จะขึ้นไปใช้ชีวิตบนฟ้า สร้างเมืองบนก้อนเมฆ

งานที่เขานำมาแสดงที่เบียนนาเล่ เชียงราย เป็นโปรเจกต์ที่ทำมาแล้วหลายประเทศ ชื่อว่า ‘Museo Aero Solar’ แปลว่า พิพิธภัณฑ์ลอยฟ้า (ด้วยหลักการความร้อนและความหนาแน่นของอากาศ)

โทมัสขอให้ชุมชนเก็บรวบรวมถุงพลาสติกไว้ราว 2,000 ชิ้น เพื่อนำมาแปะและสร้างเป็นบอลลูนยักษ์ ขึ้นบินบนน่านฟ้าจังหวัดเชียงรายวันที่ 7 ธันวาคม โดยพลาสติกแต่ละใบจะถูกวาดภาพหรือเซ็นชื่อลงไป ถือเป็นงานศิลปะของเราทุกคน

อังกฤษบอกว่า เขาขอ 2,000 ชิ้น แต่ชาวเชียงรายให้ไป 5,000 ชิ้น ตอนนี้บอลลูนจึงใหญ่มาก ขอให้ทุกคนมาลุ้นร่วมกันว่าจะลอยได้สูงขนาดไหน

  • สนามบินเก่าเชียงราย ตำบลรอบเวียง อำเภอเมืองเชียงราย (แผนที่)
#20

Summer Holiday with Naga

Wit Pimkanchanapong, Bangkok

สารคดีชีวิต ณ 300 กิโลเมตร สุดท้ายของแม่โขง ที่ยิ่งคนดูเยอะแม่โขงยิ่งถูกทำลาย

วิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์ เป็นสถาปนิกที่ทำทั้งงานประติมากรรม การจัดวางภาพถ่าย วิดีโอ และวิชวลในคอนเสิร์ต เมื่อ 10 ปีก่อนเขาไปเดินงานประหยัดพลังงาน ปั่นจักรยานผลิตไฟฟ้าที่สวนลุมพินี หลังจากนั้นเขาจึงเริ่มปั่นจักรยาน เดินทางโดยไม่ใช้เครื่องยนต์ จนไปขอลิขสิทธิ์การปั่นจักรยานทางไกล Audax จากประเทศฝรั่งเศส

ความชอบของวิชญ์ต่อยอดเป็น River Audax พายเรือทางไกล และนำมาสู่งานเบียนนาเล่ เชียงราย ที่เขา อังกฤษ และทีมงาน พายเรือคายัคจากอำเภอเชียงของไปถึงหลวงพระบางระยะทาง 300 กิโลเมตร ใช้เวลา 10 วัน นอนตามริมฝั่งแม่น้ำโขง

แต่ทำไมต้องพายเรือในระยะทางขนาดนี้ เพราะพวกเขาอยากสำรวจแม่น้ำโขง 300 กิโลเมตรสุดท้าย ก่อนที่เขื่อนปากแบงและเขื่อนหลวงพระบางจะสร้างเสร็จ เราจึงไม่อาจพายเรืออย่างนี้ได้อีกแล้ว ส่วนในอนาคต อังกฤษบอกว่าจำนวนเขื่อนจะเพิ่มขึ้นถึง 20 แห่ง 

ตอนนี้แม่น้ำโขงไม่ใช่ศูนย์กลางวัฒนธรรมของชุมชนริมน้ำอีกต่อไป แต่กลายเป็นเพียงเส้นแบ่งพรมแดน มนุษย์เอาแต่คิดว่าจะทำยังไงให้สูบเลือดสูบเนื้อแม่โขงให้ได้มากที่สุดเพื่อผลิตไฟฟ้า

แน่นอนว่าวิชญ์ไม่ได้ตำหนิอะไร เขาแค่อยากไปเยี่ยม ‘แม่’ ในระดับสายตาเดียวกัน จึงเกิดเป็นวิดีโอที่จัดทำโดยทีมงานของ The Cloud ฉายที่พิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

“วิดีโอนี้เผยแพร่ในช่องยูทูบของ The Cloud แล้วคุณวิชญ์จะมีภาพแม่น้ำโขงอยู่ 1 ภาพ เขาจะนับยอดวิว และให้น้อง ๆ ใช้สว่านเจาะภาพแม่น้ำโขงตามจำนวนคนดู 100 วิว 100 รู ยิ่งเยอะ ภาพยิ่งเละ

“เพราะการดูเฉย ๆ ไม่ทำอะไร แม่น้ำโขงก็จะถูกทำลายต่อไปทุกวัน”

  • พิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง 333 หมู่ 1 ตำบลท่าสุด อำเภอเมืองเชียงราย (แผนที่)
  • เปิดวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.00 – 16.00 น.

ภาพ : Thailand Biennale

Writer

วโรดม เตชศรีสุธี

วโรดม เตชศรีสุธี

นักจิบชามะนาวจากเมืองสรอง งานประจำเป็นนักฟัง งานพาร์ทไทม์เป็นนักเขียน งานอดิเรกเป็นนักเล่า