อังกฤษ อัจฉริยโสภณ เป็นศิลปิน คิวเรเตอร์ และเจ้าของแกลเลอรี่ ชาวเชียงราย วัย 44 ปี ชื่อของเขาในสื่อมักต่อท้ายด้วยสถานะเจ้าของร้านเกาเหลาเลือดหมูที่ดังที่สุดในจังหวัด

จากนั้นก็ตามด้วยตำแหน่งเจ้าของ Angkrit Gallery อยู่บนชั้นสองร้านเกาเหลาเลือดหมูเจ๊สหรส

10 กว่าปีก่อน ผมไปเยี่ยมเขาที่ร้าน เขาเคยหยิบกระดาษปรูฟหลายสิบแผ่นมาให้ดู เป็นลายเส้น งานลงสี และข้อความของ ถวัลย์ ดัชนี เป็นงานที่ไม่มีใครเคยเห็น และไม่มีใครมี เพราะเป็นงานติวเด็กเข้ามหาวิทยาลัย

เด็กคนนั้นคือ อังกฤษ เพื่อนรักของลูกชาย และเพื่อนบ้าน

อังกฤษ ผู้เชื่อว่าการปลูกต้นไม้คืองานศิลปะ และแสดงงานศิลปินใต้ดินก่อนจะดังระดับโลก

ตอนเปิดแกลเลอรี่ใหม่ๆ เขาเคยพาผมเดินชมงาน เขาพูดถึงชื่อศิลปินที่กำลังแสดง เคยแสดง และจะแสดง สารภาพว่า ผมไม่รู้จักสักคน นั่นอาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ตลอด 5 ปี เขาขายงานที่แสดงแทบไม่ได้เลย

แต่ในวันนี้ ถ้าพูดชื่อศิลปินที่เขาเคยแสดง หลายคนคงร้องอ๋อ

อาจารย์ทัศนัย เศรษฐเสรี (หลายคนน่าจะเห็นชื่อศิลปินและอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ท่านนี้ในข่าว)

มิตร ใจอินทร์ (กลายเป็นศิลปินระดับโลก เซ็นสัญญากับแกลเลอรี่ระดับโลก และเพิ่งขายงานชิ้นเล็กๆ ไป 2 ชิ้นในราคาเกือบล้านบาท)

บู๊ซือ อาจอ (ศิลปินสาวชาวอาข่า ผู้ไม่เคยเรียนศิลปะ แต่วาดภาพออกมาได้สดและดิบมาก ศิลปินชื่อดังมากมายกำลังสะสมงานของเธอ)

ผมเคยจัดกิจกรรมร่วมกับอังกฤษอยู่บ่อยครั้ง เขาเป็นนักกิจกรรมตัวยง ขยันสร้างสรรค์งานสนุกๆ ชอบเจอคน ถ้าเขาชอบงานของศิลปินคนไหน เขาจะนัดไปเจอ ไปคุย ทั้งรุ่นใหญ่และรุ่นใหม่ เวลาที่เขาเล่าถึงงานของศิลปิน (โดยเฉพาะศิลปินหน้าใหม่) มันจะออกรสมาก เพราะคลุกเคล้าด้วยเรื่องตัวงาน ชีวิต ความคิด และเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย

4 ปีก่อน เขาเปิด ARTIST+RUN Gallery ที่กรุงเทพฯ ด้วยความอยากเข้าใจระบบของงานศิลปะ และอยากผลักดันให้งานดีๆ ในสายตาของเขาขายได้ เขาคนเดียวเลยเป็นทั้ง ศิลปิน คิวเรเตอร์ แกลเลอริสต์ อาร์ตดีลเลอร์ และผู้จัดการศิลปิน ทำตั้งแต่เลือกศิลปิน เลือกงาน จัดแสดง ทำงานเปิด เชิญแขก ติดต่อนักสะสม ประชาสัมพันธ์ ขายงาน จัดส่งงาน จนถึงติดตั้งงานที่บ้านผู้ซื้อ

ด้วยฝีมือ ประสบการณ์ และการเป็น One Stop Service ทำให้มีคนชวนเขาไปเป็นคิวเรเตอร์เยอะมาก ถ้าไม่ปัญหา COVID-19 รอบ 3 ช่วงนี้เขาจะมีเทศกาลศิลปะ สว่างไสว ศิวิไล ที่ Central Embassy และ Central : The Original Store แต่ตอนนี้เลื่อนไปจัดเดือนตุลาคมแทน

ผมขอนัดคุยกับเขาเรื่องชีวิตคนทำงานศิลปะ แต่ขอเปลี่ยนจากการคุยกันในแกลเลอรี่ มาคุยที่บ้านก้ามปู ทรอปิคอล คาเฟ่ เพราะตอนนี้เขากำลังบ้าปลูกต้นไม้มาก

ครั้งหนึ่งเราเคยนั่งคุยกันยาวๆ ที่สิงคโปร์ เขาได้รับเชิญไปเป็นคิวเรเตอร์งาน Singapore Art Biennale 2013 แล้วเลือกผมเป็นหนึ่งในศิลปิน เขาชวนผมจัดทริปปั่นจักรยานรอบเกาะสิงคโปร์ข้ามคืน

หลายปีผ่านไป ผมเพิ่งรู้ว่า ผมและศิลปินไทยอีกหลายคนที่เขาเลือกล้วนเป็นรายชื่อสำรอง รายชื่อแรกที่เขาอยากเชิญไปแสดงงานคือ …

อังกฤษ ผู้เชื่อว่าการปลูกต้นไม้คืองานศิลปะ และแสดงงานศิลปินใต้ดินก่อนจะดังระดับโลก

อะไรทำให้คุณนึกถึงชื่อของ ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ เป็นชื่อแรก

ตอนนั้นเขาดังมาก เราว่าแอคทุกอย่างของเขาคือ Performance Art ที่ดีมากๆ และอยู่นอกโลกของศิลปะ เขาเป็นคนที่น่าสนใจมากๆ สำหรับเรา มีการเตรียมอุปกรณ์ มีวิธีพูด ศิลปิน Performance Art หลายคนไม่เคยไปถึงจุดนั้น ในแง่ของการเป็นข่าว การตั้งคำถามกับสังคม แล้วตัวเขาก็มี Conflict หลายอย่าง บอกไม่ถูกว่าขาวหรือดำ มีคนรัก มีคนเกลียด เราว่าเขาติสต์มาก แต่เราติดต่อเขาไม่ได้

เสียดายไหม

ถ้าตอบในวัยนี้ เราอาจจะไม่เลือกเขาแล้วนะ เพราะศิลปะมันขยับไปเยอะแล้ว ตอน ค.ศ. 2013 เราอยากเสนอความคิดว่า ทุกกิจกรรมเป็นกิจกรรมทางศิลปะได้ แต่ตอนนี้ศิลปะเปิดมาก มีกิจกรรมบนท้องถนนโดยภาคประชาชนต่างๆ มากมาย ศิลปะเป็นเรื่องคุณค่าของมนุษย์ เมื่อไหร่ที่มนุษย์ทำกิจกรรมที่เป็นคุณค่าของมนุษย์ก็เป็นศิลปะอยู่แล้ว ถ้าให้ชูวิทย์แสดงงานในวันนี้อาจจะจืดชืดมากก็ได้

วันนั้นจะให้เขาไปทำอะไร

ทำ Performance Art เราจะเล่าบริบทงานให้เขาฟัง แล้วฟังว่าเขามองศิลปะยังไง อยากทำอะไร พูดอะไร ก็ทำ สิ่งที่เขาทำเป็นอาร์ตอยู่แล้วในสายตาเรา อาร์ตคือชีวิต สิ่งที่ หมอหม่อง (นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์) ทำ พาคนไปดูนก สำหรับเรามันมีคุณค่า สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คน เชื่อมโยงผู้คน มันคืออาร์ต ทำไมเราต้องแยกอาร์ตออกจากชีวิต

มหาตมะ คานธี (Mahatma Gandhi) เดินลองมาร์ชไปจุดทำเกลือที่ทะเล เพื่อบอกว่าไม่ต้องซื้อเกลือจากอังกฤษ แล้วผู้คนก็เดินตาม เพราะเชื่อว่าเราเป็นอิสระ เป็นการเดินที่โคตรสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คน เชื่อมผู้คน สร้างความหวัง สิ่งนี้สร้างแรงบันดาลใจให้เรามาก ถ้าเราร่วมยุคนั้น เราจะคิวเรตมหาตมะคานธีเป็นศิลปิน ศิลปินอย่าง โจเซฟ บอยส์ (Joseph Beuys) ก็ชวนคนมาปลูกต้นไม้เจ็ดพันต้นเมื่อปี 82 ทุกวันนี้ต้นไม้ก็ยังเติบโตอยู่ สำหรับเราศิลปะมันง่ายมาก ไม่ได้อยู่ในพื้นที่เฉพาะหรือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ มันอยู่รอบตัวเรา เราเชื่อเรื่องคุณค่าในตัวของมนุษย์ทุกคน และศิลปะสะท้อนสิ่งนี้ออกมา ศิลปะไม่ใช่แค่วัตถุ แต่เป็นการแบ่งปันความคิด ความรู้สึก ความทรงจำ เป็นประสบการณ์ร่วมกันของการมีชีวิตอยู่อย่างมีคุณค่า

อังกฤษ ผู้เชื่อว่าการปลูกต้นไม้คืองานศิลปะ และแสดงงานศิลปินใต้ดินก่อนจะดังระดับโลก

เส้นแบ่งระหว่างศิลปะกับไม่ใช่ศิลปะคืออะไร

ไม่มี เรียกว่าเป็นศิลปะของใครดีกว่า เราบอกว่าเป็นศิลปะ แต่คุณอาจจะบอกว่าไม่ใช่ มันอยู่ที่ใครมอง เมื่อเปลี่ยนพื้นที่ เปลี่ยนบริบท ก็อาจจะไม่ใช่ศิลปะแล้ว โถปัสสาวะของ มาร์แซล ดูว์ช็อง (Marcel Duchamp) อยู่ในพิพิธภัณฑ์เป็นศิลปะ แต่อยู่ในบ้านเราก็เป็นขยะ โถเก่าใช้แล้ว ต่อให้เซ็นชื่อศิลปินสิบชื่อ ก็ขยะอยู่ดี เราว่าศิลปินสำคัญกว่างานศิลปะ ไม่ใช่งานศิลปะไม่สำคัญนะ แต่คนให้ความหมายต่างหากที่สำคัญ สิ่งนี้มันมีอยู่แล้ว พอมีคนมาให้ความหมายมันก็สำคัญขึ้นมา

ในวัยเยาว์ ถวัลย์ ดัชนี ปลูกฝังความคิดเรื่องการเป็นศิลปินแบบไหนให้คุณ

ลุงหวันโปรศิลปินมาก ศิลปินทำได้ทุกอย่าง ดาวินชี (Leonardo da Vinci) ออกแบบโบสถ์ได้ เป็นสถาปนิก วิศวกร ผ่าศพ ทำได้หมด มีเกลันเจโล (Michelangelo) วาดรูปได้ แกะสลักได้ เรียนศิลปะนี่แหละทำได้ทุกอย่าง แกพูดมาตั้งแต่เรายังเด็กว่า วิชาอื่นก็แค่ระดับเลี้ยงชีพชอบ แต่ศิลปะช่วยยกระดับความคิด จิตใจ เข้าใกล้พระผู้เป็นเจ้า แกมีวิธีพูดที่ทำให้เราพองมาก

พอได้มาเรียนวิจิตรศิลป์ มช. เป็นอย่างที่แกโฆษณาไหม

ไม่ (หัวเราะ) ตอนอยู่เชียงรายเราเจอแต่แก ศิลปินเชียงรายส่วนใหญ่ก็ลูกศิษย์แก ใส่เสื้อม่อฮ่อม สะพายย่าม แต่งตัวคล้ายๆ กันหมด เวลาแกเลี้ยงข้าวที พี่ๆ ก็มากันหมด เคยมีร้านอาหารร้านหนึ่งถามว่า อันนี้เป็นงานชุมนุมฤาษีเหรอครับ (หัวเราะ) เราโตมาแบบนั้น ลุงหวันเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ทำให้เรามุุ่งมั่น ทะเยอทะยานอยากทำงานศิลปะ เป็นหลักที่แข็งแรงตั้งแต่แรก แต่พอมาเรียนก็ตาแตก เพราะโลกศิลปะไม่ได้มีแค่ไทยประเพณีหรือศิลปะตะวันออก เราได้เจอโลกศิลปะร่วมสมัย รู้จัก โจเซฟ บอยส์, มาร์แซล ดูว์ช็อง ทำให้เกิดคำถามในวัยหนุ่มว่า ศิลปะคืออะไร ทีสิสเราทำเรื่องสถานภาพของศิลปิน กับอะไรคือศิลปะ เราเอาน้ำผึ้งไปหยดบนแท่น เอากล้วยหนึ่งหวี เอากระดาษเช็ดก้นไปส่งอาจารย์

นั่นคือชิ้นงานที่คุณจัดแสดงตอนเรียนจบเหรอ

เราทำเป็นนิทรรศการ เป็นโครงการเกี่ยวกับสีเหลือง ครอบคลุมทุกอย่างที่เป็นสีเหลือง เพราะเราชอบสีเหลือง ตอนนั้นสีเหลืองยังไม่มีนัยยะทางการเมือง จีวรพระไม่ใช่สีเหลืองแต่ทำไมคนเรียกผ้าเหลือง เราทำเพนติ้งสีเหลืองให้ลุงหวัน ให้อาจารย์ ส.ศิวรักษ์ เซ็นชื่อแล้วเอามาแสดง เราเพนต์แต่ศิลปินใหญ่เซ็นชื่อ แล้วถือเป็นงานของใคร เราทำสติกเกอร์ติดข้างมอเตอร์ไซค์สีเหลืองว่า This is not a pipe. แบบ เรอเน มากริตต์ (René Magritte) แล้วมันคือมอเตอร์ไซค์ งานศิลปะ หรือว่าอะไร

งานประเภทนี้เรียกว่า ดาด้า (Dada) เป็นงาน Anti Art เกิดจากกลุ่มศิลปินหัวก้าวหน้าชาวฝรั่งเศสกับสวิส พวกเขาคิดชื่อกลุ่มด้วยการเอามีดปักเข้าไปในพจนานุกรม ได้คำว่า ดาด้า งานโถฉี่ของมาร์แซล ดูว์ช็อง งานเอาโปสเตอร์โมนาลิซ่ามาเติมหนวด ก็ดาด้า

อังกฤษ ผู้เชื่อว่าการปลูกต้นไม้คืองานศิลปะ และแสดงงานศิลปินใต้ดินก่อนจะดังระดับโลก

คุณไปบวชที่เยอรมนีได้ยังไง

เราเป็นเพื่อนรุ่นน้องกับ มานูเอล ลีทเกนฮอสท์ (Manuel Lutgenhorst) งานหลักเขาทำบรอดเวย์ พอหมดบรอดเวย์ก็มาฝังตัวอยู่เชียงใหม่ ทำละครเวที ออกแบบเวทีคอนเสิร์ตให้แกรมมี่ เป็นอาร์ตไดเรกเตอร์ให้หนังเรื่อง วิถีคนกล้า เขามีเพื่อนชื่อ ไรน์ฮาร์ด ซับกา (Reinard Zapka) เป็นศิลปินชาวเยอรมันตะวันออก อยู่เบอร์ลิน มาเยี่ยมมานูแอลทุกปี ติสต์มาก ชอบว่ายน้ำตามคลอง เมื่อก่อนเราอยากเป็นศิลปิน มีแฟ้มผลงานติดรถ เจอใครก็พร้อมพรีเซนต์ ไรน์ฮาร์ดดูแล้วชอบมาก ถามอยากไปเยอรมนีไหม

เขาเป็นเจ้าของมิวเซียมเอกชนชื่อ Luegenmuseum แปลว่า พิพิธภัณฑ์โกหก เป็นคฤหาสน์สี่สิบห้อง อยู่ในเมืองเล็กๆ ห่างจากเบอร์ลินสี่สิบกิโล เวลาเจ้าของคฤหาสน์ตายแล้วไม่มีลูกหลานก็จะยกเป็นของเทศบาล ก็เปิดให้คนส่งโครงการเข้ามาว่าจะบูรณะให้เป็นที่ท่องเที่ยวยังไง ไรน์ฮาร์ดไปยื่นด้วยในราคาหนึ่งดอยช์มาร์ก แล้วก็ได้เพราะไม่มีคู่แข่ง

เขาบูรณะเป็นพิพิธภัณฑ์โกหก เป็น B&B นอนได้ มีครัวรวม มีห้องพิพิธภัณฑ์เก็บตั๋วเข้าดู มีผู้อำนวยการเป็นไก่ คิวเรเตอร์เป็นแพะ คือโกหกทุุกอย่าง พิพิธภัณฑ์โกหกเป็นงานศิลปะของไรน์ฮาร์ด เขาเชิญเราไปเป็นศิลปินพำนัก จ่ายเงินให้เราหมด เราขอไปอยู่หกเดือน

คุณไปสร้างงานอะไรที่นั่น

ทำศาลพระภูมิ เราเห็นว่ามิวเซียมเขาไม่มีศาลพระภูมิก็เลยเอาเศษไม้มาทำ มีพิธีตั้งศาลพระภูมิด้วยนะ เขาเชิญชาวบ้านแถวนั้นมา เราก็ฟ้อนรำเรียกผีของเราไป คืออำเขาด้วย ที่นี่เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ก็สวยงามดี แต่เรามาจากเชียงราย เราอยากไปมิวเซียม ดูงานศิลปะ สถาปัตยกรรม อยู่ได้เดือนหนึ่งเราก็ไปแบกแพ็กเที่ยว เริ่มจากเบอร์ลิน เราอีเมลไปหาวัดพุทธวิหาร เป็นวัดไทยในเบอร์ลิน ขอทำงานแลกที่นอน

ทำงานอะไร

เราบอกว่าเราเป็นนักศึกษาจบใหม่ อยากมาดูมิวเซียม ดูศิลปะ ดูสถาปัตยกรรมที่เบอร์ลิน ขอที่พักแลกกับการทำงาน ทาสี ตกแต่งบูรณะ ช่วงนั้นมีงานลอยกระทง เรารับเขียนป้ายงาน เขียนเป็นงานขรัวอินโข่งเลย ฝรั่งยืนชี้ดอกบัวใหญ่ๆ เสียดายไม่ได้เอากล้องถ่ายรูปไป ตอนนั้นเซอร์ ไม่ถ่ายรูป มีแต่สมุดบันทึก จะใช้ความทรงจำเอา กลางวันก็ไปมิวเซียม เย็นก็กลับมากวาดใบไม้ ช่วยงานที่วัด กินอาหารที่วัด ห่อไปกินข้างนอกด้วยเพื่อความประหยัด กินฟรี นอนฟรี

ทำอยู่นานไหม

ไม่ถึงเดือน เราให้หลวงอาเจ้าอาวาสช่วยเขียนอีเมลแนะนำเพื่อจะได้ไปพักที่วัดในสตุทท์การ์ท มิวนิก ฮัมบวร์ค Hopping วัดไทยเลย นั่งรถไฟไปนอนตามวัดไทย ทำวัตรเช้าทำวัตรเย็นกับพระ เป็นเด็กวัด ประเคนอาหาร ล้างจาน แลกที่นอน กลางวันก็ไปเที่ยว เน้นพิพิธภัณฑ์อย่างเดียวเพราะอยากประหยัดเงิน ขอดูศิลปะอย่างเดียว ไปจนถึงเวนิส ไปดูเวนิสเบียนนาเล่ ซื้อตั๋วรถไฟยูโรพาส ออกจากวัดก็นอนในรถไฟ รถไฟมันเร็ว ถ้าจะนอนข้ามคืนในรถไฟก็ต้องไปไกล เช่น มิวนิกไปเช้าที่บาร์เซโลน่า นอนตามสถานีรถไฟบ้าง ไม่ก็นอนตามปากท่อที่มีควันขึ้นมา อุ่นหน่อย ประมาณโฮมเลสเลย

อังกฤษ ผู้เชื่อว่าการปลูกต้นไม้คืองานศิลปะ และแสดงงานศิลปินใต้ดินก่อนจะดังระดับโลก

คุณได้อะไรจากการเดินทางครั้งนี้บ้าง

ได้เข้าใจตัวเองเพิ่มขึ้น ด้วยวัยยี่สิบสองยี่สิบสาม เพิ่งเรียนจบ เป็นวัยที่เหมาะจะเดินทางคนเดียว ได้คุยกับตัวเองเยอะเพราะไม่รู้จะคุยกับใคร ภาษาอังกฤษก็ไม่ค่อยดี แล้วก็ได้บวช เราไปเที่ยวมาห้าเดือน เดือนสุดท้ายกลับมาที่เบอร์ลิน หมดแรง หมดเงิน รอเวลากลับเมืองไทย พอดีหลวงอาสมปองท่านเป็นเปรียญเก้า เป็นด็อกเตอร์เพิ่งจบมาจากอินเดีย เป็นพระวิชาการ เราก็นั่งคุยกับหลวงอา คุยไปคุยมาเราก็ถามลึกไปเรื่อยๆ แบบคนไม่มีความรู้นะ สัตว์เกิดจากอะไร วิญญาณคืออะไร ผีในทางศาสนาอธิบายว่ายังไง ไตรภูมิเลย หลวงอาบอกว่า ที่เธอถามนี่มันเป็นคำถามเชิงพระอภิธรรมแล้ว ไม่ใช่แค่ธรรมะปกติ

เป็นรายการปุจฉา-วิสัชชนา อยู่ประมาณสองสามอาทิตย์ พอรู้สึกตัวอีกที ก็เริ่มมีโยมแม่บ้านมานั่งฟังด้วย ไม่ยอมกลับบ้าน หลวงอาถามว่าบวชไหม เราไม่เคยบวช ก็ดีเหมือนกัน ไม่ได้คิดอะไรมาก ก็จัดงานที่วัด เชิญพระอุปัชฌาย์มาจากสวีเดน พระคู่สวดไม่พอต้องนิมนต์พระศรีลังกามาจากวัดพุทธศรีลังกา เราบวชเดือนมกรา ค.ศ. 2001 เพิ่งเปลี่ยนมาใช้เงินยูโร ในบาตรเรามีเงินยูโรเต็มไปหมด สองสามพันยูโรเลยนะ เราก็ถวายวัดหมด

ทำไมถึงมาสึกที่เมืองไทย

เราอยากให้แม่ได้ตักบาตร เจ้าหน้าที่สถานทูตเลยต้องมาเปลี่ยนพาสปอร์ตให้ที่วัด รูปในพาสปอร์ตเราเป็นรูปพระนะ คนที่ให้เราขี่คอตอนบวชก็เจ้าหน้าที่สถานทูต คนสถานทูตมากันหมด คนมาเต็มเลย เป็นงานใหญ่ของชุมชนไทย แต่ไม่มีญาติเราเลยนะ ตลกไหม อาจจะเป็นญาติในอดีตชาติมั้ง กลับมาแล้วก็อยู่ที่วัดพระสิงห์อีกสักอาทิตย์สองอาทิตย์ ให้แม่ได้ใส่บาตร แล้วค่อยสึก

คุณแจ้งเกิดในวงการศิลปะจากการจัดแสดงงานศิลปะที่อังกฤษแกลเลอรี่ คุณคิวเรตงานแบบไหน คนถึงสนใจกันขนาดนั้น

เราไม่รู้หรอกว่าทำงานคิวเรต เราแค่เลือกศิลปินที่ชอบ แล้วก็จัดงานมาเรื่อยๆ เราเลือกศิลปินจากสองเหตุผล หนึ่ง ศิลปินที่ถูกปฏิเสธ สอง ศิลปินที่ปฏิเสธคนอื่น ที่นี่เป็นที่ของเราเอง อยู่บนชั้นสองของร้านเกาเหลาเลือดหมู ถือว่าใต้ดินมากเมื่อเทียบกับในวงการ เราไม่อยากทำอะไรที่คนอื่นทำ เราดันรู้จักศิลปินที่มาบ่นกับเราว่า ขอแสดงที่ไหนเขาก็ไม่ให้แสดงเลย โดนเซ็นเซอร์งาน มันต้องมีพื้นที่ที่ไม่เซ็นเซอร์อะไรเลยสิ คนที่ถูกแคนเซิล เซ็นเซอร์งาน มาแสดงที่นี่ได้เลย

อีกกลุ่มคือคนที่ไม่อยากแสดงที่อื่นเพราะไม่เห็นด้วยกับกระแสหลัก ตลาดศิลปะ ปฏิเสธสถาบัน อาจารย์ทัศนัย เศรษฐเสรี กับพี่มิตร ใจอินทร์ มาแสดงกับเราตั้งแต่ยังไม่ดัง เมื่อก่อนเขาไม่แสดงที่ไหนเลย เราบอกทุกคนว่า อยากให้ที่นี่เป็นพื้นที่สำหรับการสร้างสรรค์อย่างแท้จริง อยากให้คนเก่งๆ ในมุมมืดได้รับแสดงผลงาน แกลเลอรี่เราไม่ต้องคิดเรื่องคอมเมอร์เชียลอยู่แล้ว เพราะเราขายต้มเลือดหมู

คนเปิดแกลเลอรี่น่าจะหวังให้มีคนมาดูงาน ไม่ก็มีคนมาซื้องาน คุณคิดแบบนั้นไหม

เอาจริงๆ ไม่ได้คิดเลย เปิดแบบศิลปินมาก กูอยากเปิด ไม่มีแผนธุรกิจอะไรทั้งสิ้น (หัวเราะ)

ขายงานไม่ได้ก็ไม่มีปัญหา

ไม่มีปัญหา เราไม่ตั้งราคางานด้วยซ้ำ ไม่คิดจะขายเลย ศิลปินที่มาแสดงก็ไม่ได้หวัง ตอนส่งงานมาคุณออก ส่งงานกลับผมออก จัดเลี้ยงหารสอง งานแรกๆ เรายังไม่ถนัดโซเชียลมีเดีย ก็โทรชวนกันมาวันเปิด ยี่สิบสามสิบคน ทุกคนก็ชอบ บอกให้ทำอีก ตอนแรกผู้ชมเป็นเพื่อนศิลปินแล้วก็ค่อยๆ มีคนนอกมาเพิ่ม มีแฟนมาดูประจำ คนดูนะ ไม่ใช่คนซื้อ (หัวเราะ)

อังกฤษ ผู้เชื่อว่าการปลูกต้นไม้คืองานศิลปะ และแสดงงานศิลปินใต้ดินก่อนจะดังระดับโลก

แต่ก็มีคนซื้องานบ้าง

ไม่มี งานทั้งหมดที่แสดงในรอบห้าปี น่าจะประมาณสี่สิบห้าสิบงาน ขายได้สองงาน คืองานอาจารย์ทัศนัย เป็นชามสลัดที่ทำจากกระดาษสี ชื่องาน Salad is not a thing คนซื้อคือ พี่ฤกษ์ฤทธิ์ (ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช) กับงานของบู๊ซือ อาจอ อาจารย์สมยศ หาญอนันทสุข และ อาจารย์เทพศิริ สุขโสภา มาซื้อ

คนมาดูไม่มาก ขายงานก็ไม่ได้ ถือว่าอังกฤษแกลเลอรี่ประสบความสำเร็จไหม

ประสบความสำเร็จในแง่การเป็นที่รู้จัก คนรู้ว่าเราเป็นศิลปิน จัดงานด้วย เปิดแกลเลอรี่ด้วย คนรู้จักเราจากสิ่งพวกนี้ ไม่ใช่จากการวาดรูป

การเป็นศิลปินแต่ไม่ได้ถูกรู้จักในแง่ศิลปิน เสียใจไหม

ไม่เสียใจ เราเข้าใจ เราไม่ได้แยกไง เรามองว่า สิ่งนี้ก็คืองานศิลปะของเรา เขาชื่นชมสิ่งนี้ ก็ชื่นชมงานเราอยู่ดีนั่นแหละ เป็นงานที่เราทำร่วมกับคนอื่น ไม่ใช่งานที่เราทำเองคนเดียว

ทำไมคิวเรเตอร์หนุ่มจากเชียงราย ถึงได้รับเลือกให้มาเป็นคิวเรเตอร์งานใหญ่ของ BACC

คุณชะเอม หัวหน้าคิวเรเตอร์ของ BACC ชอบงานที่เราคิวเรตที่อังกฤษแกลเลอรี่ เขาอยากให้เอางานที่เราเคยแสดงมาโชว์ที่ BACC เราถามศิลปินแล้วไม่มีใครสนใจ เพราะศิลปินเราเขาปฏิเสธสถาบัน ใน ค.ศ. 2011 นะ เราเสนอว่าเดี๋ยวเราคิวเรตให้ใหม่ชื่อ เชียงใหม่นาว เพราะเราไปเชียงใหม่บ่อย ชอบความเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมในเชียงใหม่ เรารู้จัก พี่โจน จันได, อาจารย์จุลพร นันทพานิช, หมอหม่อง เราก็เสนอรายชื่อชุดแรกสิบสองคน ไม่มีศิลปินเลย เป็นคนทำงานด้านวัฒนธรรม นักสิ่งแวดล้อม นักปั่นจักรยาน แต่ BACC บอกว่าไม่ได้ นี่เป็นหอศิลป์ ไม่ใช่งานเอ็นจีโอ เขาขอต่อรองเหลือครึ่งเดียว

คุณจะให้คนกลุ่มนี้มาทำอะไร

แสดงงานศิลปะ

คุณจะให้ โจน จันได ทำอะไร

แกคิดของแกเองนะ พี่โจนทำเรื่องเมล็ดพันธุ์ ก็ปั้น Seed Ball มาสามสี่ร้อยลูกวางบนแท่น ให้คนเอากลับบ้านไปปลูกหรือไปโยนที่ไหนก็ได้ วันเปิดคนมาเป็นพันเลย วันเดียวหมด ก็เลยไม่มีงานของพี่โจนให้ดู

แล้วชมรมจักรยานวันอาทิตย์

เขารวมตัวนักปั่นสี่สิบกว่าคน ปั่นจักรยานจากเชียงใหม่มา BACC วันเปิด ยามไม่ให้เอาจักรยานเข้า BACC เราก็ต่อรองให้แบกจักรยานขึ้นบันไดเลื่อนมาชั้นห้า แล้วปั่นตามทางโค้งขึ้นมาที่งานชั้นเก้า การปั่นจักรยานจากเชียงใหม่มาคืองานของเขา วันเปิดเลยคนเยอะมาก ทั้งนักดูนก นักปั่น แฟนๆ อาจารย์จุลพร ไม่ใช่แค่คนในวงการศิลปะ

แล้วศิลปินจริงๆ อีกหกคน ทำงานประเภทไหน

อาจารย์คามิน เลิศชัยประเสริฐ ผมเลือกงานพิพิธภัณฑ์ศตวรรษที่ 31 มาแสดง พี่จั้ง (ศีลวัตก์ รมยานนท์) ย้อนแยงสุนทรียะและสหาย เขาเปิดร้านอาหารฮาเทหน้า ก็ยกร้านเขามา เขาก็ใส่หน้ากากมดแดงเล่นดนตรีอยู่บนชั้นเก้า บดินทร์ เทพรัตน์ เป็นเภสัชกรเปิดร้านขายยาปันยา แล้วทำเทศกาลหนัง ผมก็ให้เขามาจัดเทศกาลหนัง

อังกฤษ ผู้เชื่อว่าการปลูกต้นไม้คืองานศิลปะ และแสดงงานศิลปินใต้ดินก่อนจะดังระดับโลก

คนในวงการมองงานนี้ยังไง เขานับว่าเป็นศิลปะไหม

ไม่รู้นะ แต่เราโดน BACC เรียกไปคุย (หัวเราะ) เรื่องทำแผนประชาสัมพันธ์เขาเสีย ตอนนั้นเราอายุสามสิบกว่า มาจากร้านเกาเหลาที่เชียงราย ไม่เคยทำงานใหญ่ ก็ทำพีอาร์ของเราไปเรื่อย เราก็ขอโทษ เราไม่รู้ แต่จากงานนั้น เราได้รับเชิญให้ไปเป็นคิวเรเตอร์งาน Singapore Art Biennale เขาบอกว่าชอบงานเชียงใหม่นาวมาก

ถ้าไม่เจอ COVID-19 รอบ 3 ตอนนี้เราน่าจะได้เห็นงานคิวเรตของคุณในนิทรรศการสว่างไสว ศิวิไล คุณคิดงานนี้ยังไง

คุณเต้ (บรม พิจารณ์จิตร) ชวนเรามาคุยว่า พอหมดล็อกดาวน์รอบที่หนึ่ง (พฤษภาคม พ.ศ.​ 2563) ห้างเงียบมากเลย เป็นสถานการณ์ที่งงๆ กันว่าทำยังไงดี เลยอยากใช้งานศิลปะชวนคนออกมาจอยกัน เราอยู่ในช่วงล็อกดาวน์ ถูกล็อก ห้ามออกจากบ้านหลังสี่ทุ่ม ห้ามขายเหล้าเบียร์ ทุกอย่างโดนห้าม เราเลยนึกถึงคำว่า Freedom ในทุกมิติ แล้วก็นึกถึงคำของพี่ฤกษ์ฤทธิ์ที่ว่า Freedom cannot be simulated. เขาสกรีนคำนี้ลงบนเสื้อหลายครั้งแล้ว

มนุษย์ต้องมาเจอกัน มาคุยกัน คุยผ่านซูมก็โอเค แต่เจอกันดีกว่า เลยเสนอว่าจะทำธีม Freedom cannot be simulated. ศิลปินคนแรกที่นึกออกก็คือ พี่ฤกษ์ฤทธิ์

คุณชวนคุณฤกษ์ฤทธิ์มาสกรีนเสื้อยืดหรือ

ใช่ นี่ไม่ใช่งานใหม่ เขาทำแบบนี้มาหลายครั้งแล้วในหลายพิพิธภัณฑ์ งานนี้เขาจะมาสกรีนห้าคำ เช่น Freedom cannot be simulated. Police the police. No country for old soldier. แกพูดเรื่อง Statement ที่อยู่บนเสื้อยืด เหมือนถือป้ายประท้วง แทนที่จะอยู่บนป้าย ก็มาอยู่บนเสื้อยืด เราอยากให้ศิลปะอยู่ทุกๆ ที่ งานของเขาคือให้คนมาซื้อเสื้อ เลือกลาย รับบัตรคิว รอสกรีนแห้งแล้วกลับมารับ

แล้วงานของไทวิจิต พึ่งเกษมสมบูรณ์

แกจะมาเทกโอเวอร์ Siwilai Cafe ให้เป็น Siwilai Cafe x Soulid Ground ซึ่งเป็นนิกเนมของแก แกจะมาทำป้าย ทำเมนูใหม่ มีเพนติ้งบนกระสอบบรรจุเมล็ดกาแฟที่เย็บต่อกัน เปลี่ยนกระถางต้นไม้ทั้งหมดให้เป็นงานแก ช่วงนี้แกสะสมพวกไม้โขด ยูโฟเบีย (ประเภทไม้อวบน้ำที่มีถิ่นกำเนิดในทะเลทราย) แกอยากพูดถึงการปรับตัว การอดทน รอคอย เพื่อการอยู่รอดในฤดูกาลต่อไป กระถางต้นไม้ที่ออกแบบเหมือนเป็นความหวังของแก ต้นไม้ในทะเลทรายหนีไม่ได้ต้องปรับตัวให้อยู่รอด อย่ายอมแพ้ แล้วต้นมันก็มีฟอร์มที่สวย แปลก เหมือนประติมากรรม ซึ่งมันสร้างแรงบันดาลใจให้แก

อังกฤษ ผู้เชื่อว่าการปลูกต้นไม้คืองานศิลปะ และแสดงงานศิลปินใต้ดินก่อนจะดังระดับโลก

ดูไม่เหมือนเทศกาลศิลปะทั่วไปสักเท่าไหร่นะ

เราทำงานนี้ต่างจากงานโชว์ผลงานศิลปะอื่นๆ คุณไม่ต้องมาดูงานไทวิจิต คุณมากินกาแฟ แต่งานไทวิจิตอยู่ตรงหน้าคุณ แล้วคุณก็อาจจะชอบต้นไม้ต้นนี้ อาจจะคิดเกี่ยวกับยูโฟเบีย อาจจะถามพนักงานว่าคืออะไร ทำไมมันสวยงาม พอเดินมาเจอสตูดิโอพี่ฤกษ์ฤทธิ์ที่สกรีนเสื้อ ก็อาจจะสงสัยว่า สกรีนเสื้อแบบนี้ได้เลยเหรอ คำพูดแต่ละคนก็อาจจะชวนให้คิดว่า ศิลปินเขาคิดอะไร Freedom คืออะไร

มีงานชิ้นไหนที่น่าสนใจอีก

งานพี่มิตร ใจอินทร์ เป็นเพนติ้งแต่ใช้เป็นกันสาด ชื่อ Siam Rainbow Republic ข้างบนมองจากตึกจะเห็นเป็นสีดำ ข้างล่างมองขึ้นมาจะเป็นสีรุ้ง ถึงเสรีภาพความหวังอาจจะถูกปิดไว้ แต่มันก็มีอยู่ ปกติเราต้องทะนุถนอมเพนติ้ง อยู่บนผนัง ดูได้ด้านเดียว แต่แกเปลี่ยนบริบทให้เป็นกันสาด บังแดดบังฝน ปกป้องเสรีภาพที่อยู่ข้างล่าง

มีงานของศิลปินชาวญี่ปุ่น เอจิ สุมิ (Eiji Sumi) เป็นไม้กระดกวงกลม มีไฟวิ่งรอบ ถ้าเราขึ้นไปยืนข้างหนึ่งจะเอียง เมื่อมีคนแปลกหน้าขึ้นมาด้วย แล้วอยากให้บาลานซ์ เราต้องคุยกันให้ช่วยขยับ ก็เปรียบเหมือนการเมืองหรือสังคมเรา ที่ต้องร่วมกันถึงจะหาจุดบาลานซ์ได้ ไม่งั้นก็จะเอียงไปเอียงมา

อะไรทำให้คุณเปิด ARTIST+RUN Gallery ที่กรุงเทพฯ เมื่อ 4 ปีก่อน

การเป็นศิลปินถือว่ายากระดับหนึ่งแล้ว ทำงานของตัวเองแล้วก็ได้แต่รอ ในยุคเราอย่างมากก็ส่งงานเข้าประกวด ศิลปินที่ลุกขึ้นมาจัดแสดงงานเองนี่ประหลาด ต้องรอคนมาชวนจัด แล้วมันจะเป็นอาชีพได้ยังไง เขาไม่มีสิทธิ์เลือกเลย คำพูดที่ว่า ทำงานให้ดีแล้วจะดีเอง โอกาสจะเข้ามาเองจริงเหรอ หรือเราต้องสร้างโอกาส สร้างพื้นที่ ของตัวเอง

เรามีเพื่อนศิลปินเยอะ แสดงงานให้เพื่อนๆ ที่เชียงรายแล้วเขาแฮปปี้ เราก็อยากขยายการรับรู้ตรงนี้ แต่เราขายงานได้น้อยมาก ทั้งที่เชื่อว่างานดี แล้วจะอยู่ได้ยังไง เราเลยตั้งใจมาเปิดแกลเลอรี่ที่กรุงเทพฯ เปลี่ยนโมเดล ทำแกลเลอรี่เพื่อตั้งใจขายงาน เราสงสัยมาตลอดว่า ศิลปะมีตลาดไหม มีคนซื้อไหม ทำไมศิลปินลำบากจัง ศิลปินเชียงรายที่ขายงานได้ก็มีนะ แต่ต้องมีบุคคลิกพิเศษ ศิลปินเงียบๆ ที่พรีเซนต์งานไม่เป็นจะขายงานได้ยังไง เราก็เลยทำที่นี่ขึ้นมาเป็นห้องทดลองของเรา

ถ้าเน้นขาย คุณเลือกศิลปินมาแสดงต่างไปไหม

ต่างเลย เราเปิดด้วยศิลปินที่มีชื่อเสียงเลย เราไม่ได้เน้นตลาดที่แมสที่สุด แต่พยายามหาจุดที่ลงตัว นอกจากศิลปินที่มีชื่อเสียงมากๆ เราก็แสดงงานของ ปพนศักดิ์ ละออ ทำเรื่องผู้ลี้ภัยทางการเมือง เป็นงานที่ดี เป็นศิลปะร่วมสมัยที่เรื่องราวตรงกับยุคของเรา มันต้องโชว์ เขาวาดภาพภูเขาของประเทศที่รับผู้ลี้ภัยจากเรา ประสบความสำเร็จมากทั้งเสียงตอบรับและการขาย ขายงานได้หมดทุกชิ้น

งานของ พชร ปิยะทรงสุทธิ์ พูดถึงคนอีสานที่เขามาทำงานในกรุงเทพฯ เหมือนคนจนในเรื่อง Parasite แฝงตัวเป็นคนทำความสะอาดอยู่ในหมู่บ้านราคาแพง เป็นเรื่องชนชั้น ความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญของสังคมไทยในช่วงนี้

อีกคนที่เราชื่นชมมากคือ พี่พิเชษฐ กลั่นชื่น ไม่ค่อยมีคนรู้ว่าเขาทำดรออิ้งด้วย เราก็ชวนเขามาทำงานศิลปะ ทำออกมาได้ดีเลย

อังกฤษ ผู้เชื่อว่าการปลูกต้นไม้คืองานศิลปะ และแสดงงานศิลปินใต้ดินก่อนจะดังระดับโลก

ตอนคุณแสดงงานบู๊ซือ อาจอ ที่เชียงรายขายไม่ได้สักชิ้น แต่ตอนนี้คุณขายได้เยอะมากทั้งที่ไม่ได้แสดงงานเดี่ยว มันเกิดอะไรขึ้น

เป็นเรื่องของจังหวะเวลา เราเข้าใจว่าในรอบสามถึงห้าปีที่ผ่านมา มีการตื่นตัวในวงการศิลปะมากๆ มีแกลเลอรี่ของคนรุ่นใหม่เปิดใหม่ตลอด เมื่อก่อนคนที่สนใจงานบู๊ซือมีแต่ศิลปิน เพราะงานดูน่ากลัว แต่ตอนนี้คนทั่วไปเข้าใจงานศิลปะมากขึ้น คนเข้าใจว่างานศิลปะเป็นของที่น่าเก็บสะสม มีเรื่องราวอยู่ในนั้น คนซื้องานศิลปะมากขึ้น มีสมาคมนักสะสมงานศิลปะไทยเกิดขึ้น มีคนมาเดินดูงานแล้วถ่ายรูปลงไอจี คนก็เห็น แล้วก็อยากมาดูบ้าง สื่อก็พูดถึงงานศิลปะมากขึ้นเยอะ

บรรยากาศในวงการศิลปะตอนนี้มันดีมากๆ เมื่อก่อนทีสิสของนักศึกษาก็แค่ส่งอาจารย์ แต่เดี๋ยวนี้มีไปเช่านี้จัดแสดงงาน ทำเพจ มีคนตามไปซื้องานเด็ก ขายงานได้ตั้งแต่ยังเรียน มีคนติดตามในโลกออนไลน์เป็นจำนวนมาก เราไม่ได้บอกว่างานดีหรือไม่ดีนะ แต่การสนับสนุนนักศึกษาหน้าใหม่คือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นชัดๆ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจมาก

ช่วงนี้คุณปลูกต้นไม้เยอะมาก คุณชอบต้นไม้ตรงไหน

เราชอบปลูกต้นไม้จากเมล็ด เราเป็นคนใจร้อน อยากเห็นผลเร็วๆ แต่การเก็บเมล็ดมาปลูกต้องใช้เวลา ต้องศึกษาว่าเมล็ดแต่ละชนิดจะงอกได้ยังไง ต้องรู้จักการอดทนรอคอย การเพาะเมล็ดเป็นสิ่งที่ยั่งยืนนะ ถ้าเขาไม่พร้อมจริงๆ ก็ไม่งอก เปียกไปก็เน่า มันต้องมีความพอดี ต้องรู้ว่าเขาจะงอกเดือนไหน อากาศ น้ำ เป็นยังไง เราต้องเข้าใจธรรมชาติ ต้องอ่อนน้อมต่อธรรมชาติ การเพาะเมล็ดเป็นเครื่องมือที่ทำให้เราสังเกตและชื่นชมธรรมชาติ

แล้วก็เป็นเรื่องของการเอาชนะด้วย เพาะมะขาม มะรุม รอดแล้ว ต่อไปก็ไปหาเมล็ดที่ยากขึ้น ตอนนี้เรากำลังเพาะต้นตาลโตนด ต้นลาน ต้นไม้ตระกูลปาล์มมันต้องรอคอยนานมาก อย่างมะพร้าวลูกหนึ่งมีกาบไว้เก็บความชื้น มีกะลาไว้ป้องกัน มีจาว มีน้ำมะพร้าวไว้เลี้ยงต้นอ่อน มหัศจรรย์มาก เหมือนจักรวาลในต้นมะพร้าว

ยังฝันจะทำร้านเกาเหลาเลือดหมูแบบร้านซูจิของจิโร่อยู่ไหม

อยากทำ แต่ไม่ขนาดจิโร่นะ เราอยากทำร้านเกาเหลาแบบที่มาแล้วต้องเจอเรา เราชอบเล่าเรื่อง ไม่ใช่มากินแล้วลืมๆ ไป เราอยากให้คนมาตามหา ได้กิน เกาเหลาเป็นเมนูธรรมดา แต่เราอยากให้มีประสบการณ์กินที่พิเศษ ชามอาจจะทำจากดอยดินแดง ข้าวปลูกเอง กินไปด้วย ดูงานอาร์ตไปด้วย เวลาไปญี่ปุ่น เราชอบร้านเล็กๆ ที่มีที่นั่งน้อยๆ ใช้ของพรีเมียม หั่นทีละชิ้น อยากทำแบบนั้น ทำเล็กๆ ไม่เน้นธุรกิจอะไร ขายหัวใจวันละลูก วันละยี่สิบชาม แต่ต้องรอจังหวะลงตัวก่อน การทำเกาเหลาเลือดหมูนี่อยู่ในตัวเราอยู่แล้ว

ทำเก่ง

บอกได้เลยว่า ทำเก่ง เราเกิดมาในร้านเกาเหลาเลือดหมู ไม่ต้องสอนเลย เรามีความสามารถพิเศษที่คนไม่ค่อยรู้คือ หั่นเนื้อได้เร็ว เมื่อก่อนเราหั่นทุกวัน ตับ กระเพาะ เซี่ยงจี๊ ปั้นหมูสับเร็วมาก แล่หัวใจหมูทั้งลูกเร็วมาก เรารู้ว่าต้องแล่ยังไง มันมีปีกที่ต้องตัดออก มีเทคนิค เหมือนคนสับไก่ เราว่าเราเก่ง บอกเลย (หัวเราะ)

การทำเกาเหลาของคุณถือเป็นการทำงานเลี้ยงชีพหรืองานศิลปะ

การไปเรียกทุกอย่างว่าศิลปะนี่เป็นปัญหาเลย พี่ฤกษ์ฤทธิ์บอกว่า ให้ใช้ชีวิตก่อนแล้วถึงค่อยทำงานศิลปะ ไม่ใช่ทำศิลปะเพื่อใช้ชีวิต ใช้ชีวิตเป็นมนุษย์นี่แหละแล้วเอาประสบการณ์เหล่านั้นไปกลั่นกรองเป็นศิลปะ ไม่ใช่เอะอะอะไรๆ ก็ศิลปะ มันก็ตลกนะ เราก็ใช้ชีวิตปกตินี่แหละ คนที่เห็นว่าสิ่งนี้เป็นศิลปะจังเขาก็ให้คำนิยามเอง ทำได้เป็นศิลปะมากเลยนะ เช่นบอกว่า นักบอลเล่นเหมือนศิลปิน แต่นักบอลไม่ได้คิดว่าตัวเองกำลังทำงานศิลปะ เราคิดว่างั้นนะ

อังกฤษ ผู้เชื่อว่าการปลูกต้นไม้คืองานศิลปะ และแสดงงานศิลปินใต้ดินก่อนจะดังระดับโลก

Writer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน