23 กุมภาพันธ์ 2024
752

ข้อควรระวังหากคุณอยากนัดเจอใครสักคนย่านนิมมานฯ เชียงใหม่ 

คือร้านค้าที่นี่เปลี่ยนบ่อยเหลือเกิน เช็กไม่ดี โอกาสหลงมีสูง

ถ้าให้ปลอดภัย เลือกปักหมุดที่ ‘Gallery Seescape’ ได้จะดี

ไม่น่าเชื่อว่าเชียงใหม่จะมีแกลเลอรี Contemporary Art กลางนิมมานเหมินท์มายาวนานถึง 15 ปี แต่น้อยคนจะรู้ว่า 6 เดือนที่แล้วเราเกือบไม่ได้เห็น Seescape กลับมา ถ้าเจ้าของแกลเลอรีไม่ได้เดินทางไปไกลถึงเมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก

ถ้าใครเคยมา Seescape เมื่อ 15 ปีก่อนคงจำแกลเลอรีเวอร์ชันปัจจุบันไม่ได้

พื้นที่ถูกแบ่งเป็น 2 ฝั่ง คือฝั่งแกลเลอรีแสดงงานศิลปะ ด้านในเป็นอาคารสีขาว เพดานสูงโปร่ง กว้างกำลังดี เป็นพื้นที่พอเหมาะสำหรับแสดงงานศิลปะร่วมสมัย หรือจะใช้เป็นสถานที่จัดงานอีเวนต์เล็ก ๆ ที่เชื่อมโยงกับเรื่องศิลปะก็ไม่เลว

วันที่เราไปเยี่ยมเยียน มีนิทรรศการชื่อว่า Multiple Oneness โดยศิลปินญี่ปุ่น Soichiro Shimizu ผลงานเป็นแนวนามธรรมที่ตีความใหม่ มีรายละเอียดที่ชวนเราจ้องมอง เผลอละลายเวลาหน้าเฟรมอยู่หลายนาที ผลงานชิ้นนี้ดูเข้ากับพื้นที่ใหม่ของ Seescape อย่างยิ่ง

พื้นที่อีกฝั่งคือร้านอาหารกึ่งคาเฟ่ มีอาหารและเครื่องดื่มที่เหมาะกับการเป็นจุดนัดพบในย่านนี้ยิ่งนัก

คนในวงการศิลปะและออกแบบ ดูจะรู้จัก เหิร-ต่อลาภ ลาภเจริญสุข มากกว่าแกลเลอรีของเขา

ต่อลาภไม่ใช่คนเชียงใหม่ เขาเกิดที่พระนครศรีอยุธยา แต่เมื่อจับพลัดจับผลูเรียนจบคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เขาตัดสินใจปักหลักที่นี่ ตั้งใจอยากสร้างพื้นที่เพื่อแสดงงานศิลปะโดยเฉพาะ 

เขาโชคดีที่ได้พื้นที่ขนาดกำลังน่ารัก กลางเมือง ค่าเช่าไม่แพง เขาตัดสินใจเริ่มทำธุรกิจในวัยหนุ่ม ร่วมกับพาร์ตเนอร์อาจารย์สอนประวัติศาสตร์ เซบาสเตียน ตา-ยาค สร้าง Gallery Seescape ขึ้นมา

แต่ยุคนั้นการสร้างพื้นที่ศิลปะให้อยู่ได้เป็นเรื่องท้าทายความสามารถ ต่อลาภต้องปรับพื้นที่ส่วนใหญ่ให้เป็นร้านเครื่องดื่ม มีแกลเลอรีอยู่ด้านข้าง บวกกับประกอบอาชีพทำพร็อปประกอบภาพยนตร์ สุดท้ายงานแกลเลอรีมีบทบาทน้อยกว่างานส่วนร้านมากเกินไป เขาตัดสินใจเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่ศิลปะที่ใช้แสดงอย่างเดียวตั้งแต่ปี 2008

แกลเลอรีแสดงงานอยู่ได้ด้วยนักสะสมศิลปะ คิวเรเตอร์ และคนในแวดวงศิลปะคอยอุ้มชู ธุรกิจแกลเลอรีในไทยโหดกว่านั้น เพราะเก็บค่าเข้าชมไม่ได้เหมือนต่างประเทศ เจ้าของจึงต้องหาธุรกิจเสริมเพื่อมาช่วยประคับประคองให้อยู่ได้

ต่อลาภเล่าว่ารายได้ส่วนใหญ่มาจากการทำงานศิลปะของตัวเอง โดยเฉพาะงานสร้างชื่ออย่าง ‘Bestto Boy’ หรือหุ่นคนหัวสวิตช์ไฟ รายได้อีกทางคือการขายพร็อปประกอบภาพยนตร์ ร้านอาหาร และงานด้านอื่นเท่าที่เขาจะทำได้ 

แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง ธุรกิจเริ่มไปต่อไม่ไหว ด้วยผลพวงจากโรคระบาดและสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป ศิลปะอาจไม่ได้อยู่ในลำดับความสำคัญต้น ๆ ของผู้คน

ช่วงระหว่างทาง ต่อลาภมีโอกาสได้ไปโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก กับครอบครัว 

ด้วยความสนใจศิลปะ เขาเปิด Google Maps ค้นหา Art Scene ในเมืองนี้ ผลลัพธ์มีแกลเลอรีให้เลือกร้อยกว่าแห่ง 

ช่วงนั้นเอง เขาเกิดซน อยากหา Art Scene ในเชียงใหม่บ้าง 

Google ขึ้นชื่อ Seescape เป็นแกลเลอรีลำดับต้น ๆ 

จริง ๆ ก็ไม่ใช่เหตุการณ์เดียวที่ทำให้เขาอยากกลับมารื้อฟื้น Seescape 

“มีครั้งหนึ่งเคยคุยกับคุณ Eric Booth (เจ้าของพื้นที่ศิลปะ MAIIAM Contemporary Art Museum) ตอนนั้นก็เกือบจะเลิก แต่แกก็บอกว่าที่เลือกมาทำพื้นที่ศิลปะในเชียงใหม่เพราะมีการเคลื่อนไหวมาก่อนแล้ว มิวเซียมระดับนั้นยังเห็นความสําคัญของเรา งั้นก็สู้ต่อ

“ครั้งหนึ่งผมไปปาร์ตี้ เจอ เจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เขาบอกว่าชอบพาคนระดับโลกมาดูงานที่ Seescape นี่แหละ คนเบอร์นั้นยังมอง พาคนระดับโลกคนอื่นมาดูแกลเลอรีเล็ก ๆ อันนี้อีก” เขาเผลอยิ้ม “แล้วเราจะทิ้งมันทําไม ทําเพื่อส่งต่อไปให้กับคนที่เชื่อเหมือนเราดีกว่า”

เมื่อกลับไทย เขาจึงจัดการรีโนเวตจนเป็น Seescape เวอร์ชันเรียบร้อยที่สุด สมบูรณ์ที่สุด ต่อลาภเสริมว่าเหตุผลหนึ่งที่แกลเลอรีมีคนมาดู คือการเลือกงานที่ดี จุดนี้เขายกเครดิตให้เพื่อนร่วมงานอย่างเซบาสเตียน ซึ่งมีส่วนมากในการเลือกงาน 

ถ้าถามว่าเขา 2 คนเลือกงานอย่างไร รู้ได้ไงว่าศิลปะชิ้นนี้ดี ต่อลาภอธิบายว่าดีไม่ดีคงบอกยาก แต่ถ้าสมบูรณ์แค่ไหนพอบอกได้ 

เขาเน้นว่างานที่จะโชว์ใน Seescape ต้องเป็นงานที่มีรูปแบบหรือ Art Form ที่สมบูรณ์ ดูง่าย ๆ คือถ้าเราดูงานศิลปะชิ้นไหนแล้วชวนให้หยุดดูนาน ๆ ไม่เดินผ่านไป ถือว่างานนั้นสอบผ่าน 

วงการศิลปะเชียงใหม่โตขึ้นมาได้ด้วยชุมชนศิลปิน แม้วันนี้ศิลปินหลายคนจะกระจายตัวออกไปหลายแห่ง ไม่ได้กระจุกตัวในย่านนิมมานฯ เหมือนเมื่อก่อน แต่ต่อลาภเชื่อว่าพลังของศิลปินก็ยังอยู่ในเมืองนี้ ภารกิจของเขาคือการขับเคลื่อนวงการศิลปะ ด้วยการสร้างพื้นที่ที่แสดงงานดี ๆ ส่งต่อพลังให้คนเห็นคุณค่าในงานศิลปะมากขึ้น

“เชียงใหม่มีวัฒนธรรมลึกมากเลยนะ อยู่มา 700 กว่าปี แต่ผมเชื่อว่าวัฒนธรรมร่วมสมัยก็ควรเติบโตไปพร้อมกับเมืองแห่งนี้ด้วย เราสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาพร้อมกันได้”

Gallery Seescape
  • 22, 1 ถนนนิมมานเหมินท์ ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ (แผนที่)
  • เปิดทุกวัน เวลา 11.00 – 18.00 น.
  • 09 3831 9394
  • Gallery Seescape
  • galleryseescape.co

Writer

ศิวะภาค เจียรวนาลี

ศิวะภาค เจียรวนาลี

บรรณาธิการที่ปั่นจักรยานเป็นงานหลัก เขียนหนังสือเป็นงานอดิเรก

Photographer

Avatar

ภูพิงค์ ตันเกษม

ชีวิตผม ชอบการเดินทาง ชอบทำอาหาร และรักการบันทึกความทรงจำด้วยภาพถ่าย