บ้านเหล็กสีเทาและแสงเงาใต้ดวงจันทร์ 

เกือบ 4 ชั่วโมงจากใจกลางเมืองสู่อ่าวน้อย 1 ใน 3 อ่าวของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ที่มีชื่อเล่นว่า ‘เมืองสามอ่าว’ ซึ่งโค้งเว้าของอ่าวทั้งสามที่รับช่วงต่อเนื่องกัน ชายหาดที่ยาว เม็ดทรายละเอียดขาวสะอาด ชวนให้นักท่องเที่ยวมาเยือนไม่ขาดสาย แต่คนทั่วไปมักจะคุ้นเคยกับอ่าวประจวบและอ่าวมะนาวเพราะมีโรงแรมและสิ่งอำนวยความสะดวกอยู่มาก

สำหรับอ่าวน้อย เรากลับไม่ค่อยได้ยินชื่อบ่อยนัก นั่นคงเป็นเพราะยังไม่ทีสิ่งอำนวยความสะดวกและโรงแรมขนาดใหญ่ รวมถึงเส้นทางการสัญจรสาธารณะก็ยังน้อยอยู่ ทำให้อ่าวน้อยมีชายหาดที่สงบ สะอาด เหมาะแก่การพักผ่อนที่แท้จริง

เมื่อรถเข้าใกล้จุดหมายที่เจ้าของบ้านปักหมุดไว้ให้ เรามองเห็นทะเลตรงหน้า รถค่อย ๆ ผ่านกลุ่มบ้านแรกที่เห็น บ้านเป้าหมายจึงค่อย ๆ เผยตัวเองออกมา กลุ่มตู้คอนเทนเนอร์สีเทาช่างดูกลมกลืนกับท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยเมฆในเช้าวันนี้เสียจริง

ภาพ : ฟี่-อนัฆ นวราช

เจ้าของบ้าน นิก-พรชนิก และ ฟี่-อนัฆ นวราช ยืนทักทายเราอยู่ที่หน้าบ้านพร้อมลูกชายลูกสาว อรรฆ์ กับ พิงฆ์ และกลุ่มลูกหมาอีกหลายตัวที่ส่งเสียงแข่งกับเสียงคลื่นด้านหน้า หากจะลงรายละเอียดกันสักนิด เราอาจจะคุ้นหน้าคุ้นตากับ ฟี่ กันบ้าง จากบทบาทผู้ก่อตั้ง Patom Organic Living แบรนด์จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก และคาเฟ่ออร์แกนิกในซอยทองหล่อซึ่งต่อยอดมาจากธุรกิจครอบครัวอย่าง ‘สวนสามพราน’ แต่ฟี่บอกว่างานหลัก ๆ ที่เขารักไม่แพ้กัน คือช่างภาพ

ส่วนคนต้นเรื่องราวและเป็นเจ้าของบ้านหลังนี้คือนิก ภรรยาของฟี่นั่นเอง

ที่ดินของปู่

หากจะเขียนจะเล่าเรื่องให้เป็นบทละคร ฉากนี้คงพาผู้อ่านย้อนไปเมื่อ พ.ศ. 2501

ณ ปีเดียวกันนั้นมีข้าราชการนายหนึ่งชื่อ นายตุ๊ วัชราธร ซี่งมีศักดิ์เป็นปู่ของนิก ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการการไฟฟ้านครหลวง เขาได้มีโอกาสเดินทางมายังบ้านทุ่งมะเม่า เกิดถูกใจที่ดินแปลงหนึ่งและซื้อไว้ จนเวลาผ่านล่วงเลยไปหลายสิบปีหลังจากคุณปู่เสีย ที่แห่งนี้ก็ไม่มีลูกหลานเข้ามาดู เพราะไม่ทราบแน่ชัดว่าอยู่ตรงไหนเนื่องจากเอกสารที่ดินหายไป แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ได้นิ่งนอนใจลูกหลานก็ยังคงสอบถามและติดตามที่ดินดังกล่าวเรื่อยมา

จนมาวันหนึ่ง ใน พ.ศ. 2537 คุณแม่ของนิก วรนารถ วัชราธร ซึ่งขณะนั้นท่านยังเป็นอาจารย์ที่จุฬาฯ ได้รับโทรศัพท์จากลูกศิษย์ที่โทรหาเพราะจำนามสกุลได้ และแจ้งว่าพื้นที่ข้างเคียงของลูกศิษย์คนดังกล่าว มีชื่อนายตุ๊ วัชราธร เป็นเจ้าของอยู่ จะขอรบกวนให้มาระวังชี้แนวเขต เพราะจะออกโฉนดใหม่

เมื่อได้ทราบข่าว คุณพ่อของนิก นายพงศ์สันต์ ก็ดีใจมากที่ได้เจอที่ดินแปลงที่ตนตามหามานาน แล้วเข้ามาดูแลต่อ

ภาพ : ฟี่-อนัฆ นวราช

บ่อน้ำและต้นไม้ของพ่อ

แม้จะเจอที่ดินแปลงดังกล่าวแล้ว แต่ยังมีอุปสรรคอีกมาก ทั้งเรื่องเอกสารและสาธารณูปโภค เพราะเป็นพื้นที่ห่างไกลความเจริญ ไม่มีน้ำไฟเข้าถึง หนทางเข้าออกก็ยังทุรกันดาร แต่สุดท้ายที่ดินผืนนี้ก็กลับสู่เจ้าของที่แท้จริงแม้จะใช้เวลาทำเรื่องเอกสารอยู่หลายปี

ตั้งแต่ พ.ศ. 2537 ในฐานะลูกชาย พ่อได้เข้ามาดูแลที่ผืนนี้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แต่ก็ไม่สะดวกนัก เพราะจากกรุงเทพฯ ใช้เวลาเดินทาง 4 ชั่วโมง พอมาถึงแรก ๆ ไม่มีทางเข้า อาศัยสังเกตต้นสนต้นเดียวที่พายุพัดพาเข้ามาเติบโตอยู่ในพื้นที่ ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีประปา พ่อเริ่มจากการสร้างรั้ว ปลูกต้นไม้หลายร้อยต้น ขนน้ำใส่ท้ายรถ ค่อย ๆ เดินรดน้ำทีละต้น ๆ ด้วยตัวเองเป็นประจำ ค่อย ๆ เรียนรู้ธรรมชาติและพืชท้องถิ่น รวมถึงขุดบ่อน้ำไว้ บางช่วงต้นไม้ที่พ่อปลูกก็ไม่มีรอดสักต้นก็เคย

แต่ด้วยความรักในที่ดินผืนนี้ของพ่อ รักในความท้าทายปัญหา และรักในธรรมชาติ คุณพ่อยังทำสิ่งนั้น (ปลูกต้นไม้) ไปเรื่อย ๆ ตายก็ปลูกใหม่ น้ำไม่มีก็ลองขุดบ่อเก็บน้ำไว้รดต้นไม้ ทำให้พวกเรารุ่นหลานปู่ นิกกับพี่สาว นก พิมพ์ชนก ได้รับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ตั้งแต่ยังอยู่ในวัยรุ่นก็ก่อให้เกิดความผูกพันกับที่ตรงนี้ แล้วก็ฝันกันมาว่าอยากมีบ้านริมทะเลสักวัน

ภาพ : ฟี่-อนัฆ นวราช

บ้านของครอบครัว

เพราะคิดเสมอว่าอยากมาสร้างบ้านอยู่ที่นี่ แต่เนื่องจากสาธารณูปโภคยังไม่เอื้ออำนวย ทำให้ต้องหยุดแนวคิดนี้ไปก่อน ตามที่นิกเล่าว่า

“ระหว่างนี้เราก็ยังมาคอยดูแลที่ พารุ่นเหลนมารู้จักที่ แต่ก็ยังคงอยากมาอยู่กับธรรมชาติง่าย ๆ ตรงนี้ จนวันหนึ่งคุณพ่อตัดสินใจมอบที่ผืนนี้ให้ลูก ๆ หลาน ๆ ดูแล และคิดพัฒนาอะไรต่อไปตามสมควร นิกและฟี่เลยเริ่มมีความคิดจะสร้างที่อยู่อาศัย ภายใต้โจทย์ที่ว่า ‘บ้านที่สร้างง่าย ลงทุนน้อย ปิดได้เวลาไม่อยู่ และอยู่แบบ Off-grid ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำประปา’ จนลงตัวที่บ้านตู้คอนเทนเนอร์”

ใช้ตัวต่อเลโก้ช่วยในการวางแปลนบ้าน

แรก ๆ การวางแปลนตู้คอนเทนเนอร์ยังไม่ลงตัว จนญาติฟี่ 2 คนที่เป็นสถาปนิกกับ Industrial Designer แนะนำให้เอาตัวต่อเลโก้มาช่วย ทำให้เห็นภาพแปลนบ้านชัดเจนขึ้น ประกอบกับฟี่ได้ผู้รับเหมาที่รู้จักกันดี งานที่ดูเหมือนจะยากก็ง่ายขึ้นและรวดเร็วกว่าเดิม

“ผู้รับเหมาสนิทกัน เป็นคนที่ทำที่สวนสามพรานตั้งแต่รุ่นคุณยาย เขาก็มีความเป็น Artist เหมือนกัน ชอบทำอะไรแบบนี้ ก็ชวนมาทำแล้วก็มาลุยกัน”

จากแปลนเดิมที่ตั้งใจวางตู้เรียงหน้ากระดาน 4 ตู้ แล้วตั้งตู้ขวางซ้ายขวาอีกข้างละตู้ให้เป็นรูปตัว U เพราะต้องการ Courtyard กว้าง ๆ แต่หลังจากพบว่าพื้นที่นี้น้ำท่วม จึงต้องทำการถมที่ โดยเอาหินคลุกมาลงและอัดให้เป็นก้อน ในส่วนนี้จึงเป็นงบที่เกินกว่าที่ตั้งใจไว้ และเพราะถมพื้นที่ไม่ได้กว้างนัก จากแปลนเดิมรูปตัว U ต้องเปลี่ยนมาวางแปลนตู้ในรูปแบบตัว H แทน

“คือถ้าถมหินมากกว่านี้ ราคาก็สูงขึ้นและต้องเปลี่ยนสภาพพื้นที่อีกเยอะทั้งขุดทั้งถม เราก็บอกว่างั้นเปลี่ยนดีไซน์ดีกว่า” ฟี่สรุปสั้น ๆ ในหนึ่งประโยค นิกพูดถึงข้อดีในการวางแปลนแบบนี้ว่า “แต่พอออกมาเป็นตัว H อย่างนี้มันก็มีข้อดีที่เรามองไม่เห็นแต่แรกสร้าง คือเราได้ห้องแต่ละห้องที่วิวไม่เหมือนกัน เวลาอยู่มันก็คนละความรู้สึก และพอมี 2 ลาน ตอนเช้าเราจะนั่งฝั่งที่เห็นภูเขาเพราะร่ม ได้บรรยากาศเขียว ๆ ช่วงเย็นก็จะมีรถไฟวิ่งผ่าน ส่วนลานนั่งเล่นอีกด้านก็เห็นทะเล มันก็เหมือนมี 2 บรรยากาศ 2 ร่มเงาที่หมุนตามแสงแดด”

“เดี๋ยวแดดจะย้าย พอช่วงบ่าย ด้านนี้ก็จะร้อนแล้ว เราก็เริ่มย้ายฝั่ง หันมาหาทะเล เริ่มต้นเตรียมปิ้งย่างได้” ฟี่พูดเสริมกลั้วหัวเราะ พร้อมชวนผู้มาเยือนอยู่ถึงช่วงเย็น และเล่าย้อนไปถึงช่วงที่ทำการถมที่ว่า

“ตอนแรกที่ถมที่ ผู้รับเหมาก็จะไม่ตอกเข็มลงไป ไม่ได้กดเข็ม เพราะคิดว่าวางได้ แต่พอมาดูพื้นที่จริงแล้ว เขากลัวมันทรุด เลยต้องดันเข็มลงไปทุกตู้ ตู้ละ 8 เข็มแล้วก็ทำคานแล้วถึงเอาตู้วางบนคานอีกทีหนึ่ง เพื่อไม่ให้มันทรุดตามพื้นที่ คือเราทำเผื่อไว้เลย”

ลงรายละเอียดให้กับบ้าน

เพราะทั้งนิกกับฟี่ชอบการออกแบบและตกแต่งบ้านด้วยตัวเอง ประกอบกับมีผู้รับเหมาที่คุ้นเคยกันดี แถมยังชอบงานดีไซน์เหมือน ๆ กัน ตัวบ้านที่สร้างจากตู้คอนเทนเนอร์ 6 ตู้นี้จึงเต็มไปด้วยรายละเอียดที่เจ้าของบ้านและช่างสนุกในการออกแบบให้สอดคล้องกับการใช้งาน

“ไหน ๆ ทำแล้วก็เลยออกแบบ ทำให้เราอยากอยู่กันจริง ๆ เราชอบงานดีไซน์ ชอบออกแบบบ้าน เลยทำกันเอง คือออกแบบพูดคุยกับผู้รับเหมา ดีไซน์เอง มีหน้าต่างตรงนี้นะ อยากมีอะไรตรงไหนก็บอกดีที่ผู้รับเหมาก็ชอบดีไซน์เหมือนกัน

“อย่างกันสาดนี่ มันตัดมาจากข้างตู้แล้วก็เอาขึ้นไป เพราะรู้ว่าที่นี่ฝนสาดแน่ ๆ ตอนแรกคุยกับผู้รับเหมาว่า ส่วนตัวตู้ที่ตัดออกไป อยากทำกันสาดแบบเปิดปิดได้ในตัว แต่ช่างแย้งว่าทำอย่างนั้นจะหนักมาก เลยได้กันสาดรูปแบบนี้มาแทน นอกจากนี้ยังมีตู้หนึ่งที่ปีนขึ้นไปได้เป็นชั้นดาดฟ้า รวมไปถึงหิ้งวางพระ เหล็กรูปตัว U บนตู้ด้านนอกทำเผื่อไว้ขึงหลังคาผ้าใบ คือไหน ๆ ทำแล้ว ทำเลยละกัน อยากเผื่อไว้ เอาเชือกไปแขวน เอาไฟไปแขวน อะไรอย่างนี้ได้หมด เราก็ทำเผื่อไว้หมด”

ภาพ : ฟี่-อนัฆ นวราช

จากตู้คอนเทนเนอร์ที่นิกกับฟี่หาซื้อมาทีละตู้สองตู้จนครบจำนวนที่ต้องการ ถูกนำมาเริ่มกระบวนการตัดแต่ง เสริมเติมให้เป็นรูปร่างที่สามพราน และนำมาประกอบร่างที่ประจวบฯ อีกเพียงเดือนกว่า ๆ

“ตู้ที่เห็นข้างนอกบุบ ข้างในก็บุบ แค่ไม่รั่วเป็นพอ แต่ข้างในเราบุฉนวนกันความร้อน ในพื้นที่ส่วนกลางจะมีฉนวนเฉพาะฝ้าด้านบน แต่ถ้าเป็นตู้ที่ทำเป็นห้องนอนฉนวนกันความร้อนทุกด้าน”

เมื่อพูดถึงตู้นอน ฟี่พาเดินเข้าไปดู และพูดถึงสิ่งที่ให้ความสำคัญแรก ๆ ในการแบ่งสัดส่วนพื้นที่ใช้งาน

“โจทย์คือ ทำให้อยู่สบาย สบายในแบบเรานะ ห้องนอนไม่ต้องใหญ่ ห้องน้ำใหญ่หน่อย เพราะอยู่ส่วนกลางเป็นหลัก ให้มีลมพัดผ่าน แต่ถ้าร้อนมากก็มีแอร์เผื่อไว้”

ภาพ : ฟี่-อนัฆ นวราช
ภาพ : ฟี่-อนัฆ นวราช

นอกจากนี้ การตกแต่งพื้นตู้คอนเทนเนอร์ด้วยไม้เก่า และการที่ข้าวของเครื่องใช้เป็นของเดิมที่ผ่านการใช้งานมาแล้วจากหลาย ๆ แห่ง ก็ดูเข้ากันอย่างลงตัว

“นิกมีไม้เก่าที่ได้จากการรื้อบ้านเก่าไป ทำให้เราเอาไม้เก่ามาทำพื้น รวมถึงโต๊ะกลางก็เป็นไม้ที่มาจากบ้านเก่า คือทุกอย่างพยายามเอาของที่บ้านมาใช้ โชคดีที่เรามีไม้อยู่ ไม่ต้องซื้อ” ฟี่ขยายความให้ฟัง

“เรามีอะไรเราก็เอามาด้วย อย่างพวกกระเบื้องเหลือ เราก็เอามาใช้ในห้องน้ำ ถ้าดูจะเห็นว่ากระเบื้องไม่เหมือนกัน เพราะเราเอาของเหลือมาจากการใช้งานครั้งก่อน ๆ” นิกเสริม ฟี่พยักหน้าพร้อมพูดต่อ

ภาพ : ฟี่-อนัฆ นวราช

“พวกธรณีห้องน้ำ พวกที่เป็นเหล็ก ก็มาจากบ้านกรุงเทพฯ ผู้รับเหมาก็น่ารัก มีอะไรเหลือก็เอามาใช้ให้หมด เขาบอกถ้าสีมันดูเข้ากันแล้วดีไซน์มันใช้ได้ก็จะได้ใช้ ส่วนเก้าอี้พวกนี้ ผมเห็นแล้วชอบ มันคือเก้าอี้ก๋วยเตี๋ยวจากร้านก๋วยเตี๋ยวที่สามพราน เราเก็บไว้เลยได้เอามาใช้ ตอไม้ก็เอามาจากบ้านคุณพ่อ ส่วนแผงเหล็กตรงห้องเก็บของ (ฟี่ชี้ให้ดูแผ่นเหล็กทึบที่วางพิงด้านนอก) อันนั้นเราไว้สำหรับปิดตู้ (บ้าน) นี้ได้ มันจะเกี่ยวด้านนอก เพื่อปิดเวลาที่เราไม่อยู่ ทำให้มองไม่เห็นด้านใน”

ภาพ : ฟี่-อนัฆ นวราช

บ้านสีเทาในสายตาช่างภาพ

“ในเรื่องสีนี้ก็เลือกกันยากอยู่เหมือนกันนะ เพราะว่าผมก็ดูแพนโทนเยอะมาก ส่วนตัวชอบอะไรที่เรียบ ๆ”

เมื่อเราถามถึงเรื่องสีที่ใช้ว่าลังเลระหว่างสีอะไรกับอะไร เราก็ได้คำตอบ

“เทากับเทานี่แหละครับ แต่มันจะมีหลายโทน เทาเขียว เทาน้ำเงิน เทาอุ่น อันนี้เรียกเทาอุ่น”

จากนั้นฟี่ก็อธิบายถึงตนเองผ่านข้าวของเครื่องใช้แสดงให้เห็นถึงความเรียบง่ายและความมีระเบียบ “คือพอทำแล้วเราก็ไม่อยากเห็นว่ามันขัดตา อย่างลานปูน เราอยากให้มันมีกรอบ คือเป็นคนชอบอะไรที่มันเป็นกรอบ พอมีความรู้สึกว่ามันมีกรอบเป็นลานปูนอย่างนี้ พอเอาโต๊ะไปวางก็ให้ความรู้สึก Cozy หน่อย อย่างแอร์ผมก็ไม่อยากเห็นและไม่ค่อยได้ใช้เลยปิดไปแล้วกัน ถ้าจะใช้ก็ยกกล่องออกมาแล้วก็เปิดแอร์ เราชอบอะไรเรียบ ๆ”

ภาพ : ฟี่-อนัฆ นวราช

รู้จักเพื่อนบ้าน

วันที่นิกกับฟี่มีความประสงค์จะสร้างบ้านที่นี่ ทั้งสองได้เข้าไปแจ้งผู้ใหญ่บ้าน และในวันเดียวกันนั้นก็บังเอิญได้รู้จัก พี่เปิ้ล และ พี่รุ่ง สองสามีภรรยาในหมู่บ้านเดียวกันที่ต่อมาคอยมาช่วยเหลือและดูแลในหลาย ๆ เรื่องให้นิกกับฟี่จัดการธุระต่าง ๆ ที่นี่ได้ง่ายขึ้น

ภาพ : ฟี่-อนัฆ นวราช
ภาพ : ฟี่-อนัฆ นวราช

“พี่เปิ้ลทำได้ทุกอย่าง” นิกพูดด้วยความชื่นชม “ตอนแรกให้ทำอาหารมาส่งแล้วเล่าว่ามีเรือประมงออกทุกวัน มีอาหารทะเลสดตามฤดูที่ไม่ทราบได้ว่าแต่ละวันจะจับอะไรได้ พวกเราก็รู้สึกว่าที่นี่มีความพิเศษ

“เราอยากเอาไปให้ชาวกรุงได้กินบ้าง แต่ถ้าเอาไปแบบสด ก็ไม่น่าจะดี พอพี่เปิ้ลทำปลากุเลาเค็ม ปลาแดดเดียว และกะปิอร่อย ๆ มาให้ลอง เราก็เลยคุยกันว่าอยากชวนชุมชนพัฒนาอาหารทะเลแปรรูปแล้วหาตลาดใหม่ ๆ ในกรุงเทพฯ ไอเดียมันเหมือนกับที่ปฐมทำงานกับเกษตรอยู่แล้ว คือใช้วัตถุดิบอินทรีย์จากเกษตรกรไปแปรรูปให้ผู้บริโภคหาซื้อได้ง่ายในราคาที่เป็นธรรม เราก็มองว่าที่นี่เป็นเครือข่ายหนึ่งของเราได้

“ก่อนที่ปฐมจะใช้วัตถุดิบจากใคร ต้องให้มูลนิธิสังคมสุขใจตรวจก่อนเพื่อให้มั่นใจว่าไม่ได้ใช้สารเคมี ก็พบว่าที่ทุ่งมะเม่าเป็นประมงชายฝั่งแบบอินทรีย์ มีวิธีการจับแบบพื้นบ้านในบริเวณที่มีระบบนิเวศตามธรรมชาติ พวกเราเลยชวนพี่เปิ้ลทำอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ

“ทางเราก็ไม่อยากให้กระทบวิถีชีวิตของชุมชนเขามาก ถ้าขายดีก็ค่อย ๆ ขยายจำนวนสินค้า อันนี้เป็นโปรเจกต์ของเราที่เราอยากทำเองด้วยกัน เพราะรู้สึกว่า ถ้าเรามาอยู่ตรงนี้ เราก็อยากเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่นี่ อยากมีส่วนร่วมกับเขาด้วย” ฟี่กล่าวถึงความตั้งใจและแนวคิดของตนในอนาคตอันใกล้นี้

นอกจากทำอาหารอร่อยแล้ว เพื่อนบ้านคู่นี้ยังขยันมาก นิกยืนยันด้วยหลักฐานตรงหน้าพวกเรา

“อย่างหินที่เรียงข้างใต้นี่เขาก็ทำเองนะ เราก็ไม่ได้บอกให้เขาทำ เขาก็ค่อย ๆ ยัดหินเข้าไป อุดรูใต้สเตปทางเดิน พี่รุ่งเป็นคนชอบทำสวน เมื่อก่อนเป็นคนงานเหมืองอยู่แถวนี้ เราคิดว่าเราโชคดีมากเลยที่ได้เจอ 2 คนนี้ ตอนแรกที่มานั่งตรงนี้จะมองไม่เห็นทะเลนะ มีแต่ต้นไมยราบยักษ์คลุมหมดเลย นี่เลยเป็นผลงานพี่รุ่งที่ช่วยถากช่วยแต่งพื้นที่จะมองเห็นทะเลได้ ค่อย ๆ เล็ม ค่อย ๆ ตัด”

ฟี่เล่าถึงพี่รุ่งว่า “มาแรก ๆ เราก็พาทีมคนสวนไปลุยกับพี่เขานะ มีดคนละเล่ม ลุยตัดกันไปเรื่อย ๆ แต่ว่าขนาดเราลุยกันเป็นสิบคนนะ เราก็ยังรู้สึกว่ามันยากมาก พวกเราเป็นคนที่ชอบทำอะไรกันเอง ก๊อก ๆ แก๊ก ๆ ซ่อมนั่นนี่โน่น ทำอะไรไปเรื่อย มาที่นี่ก็เพราะอยากอยู่ในพื้นที่โล่ง ๆ

“เรารู้สึกว่าไม่น่ากลัวเพราะรู้จักกันกับคนในพื้นที่ ตอนกลางคืน ที่พิเศษคือเราจะรู้สึกได้เลยว่าพระจันทร์มันสว่างมาก เดินไปเห็นเงาตัวเองเลย”

บ้านที่อยากอยู่ บ้านที่สร้างความภาคภูมิใจ

“ถ้าถามเรื่องงบที่สร้างอาจจะไม่ต่างกับการสร้างบ้านทั่วไป แต่ถ้าถามเรื่องเวลา การสร้างแบบนี้ ประหยัดเวลาไปได้มากเลย เราสร้างประมาณ 6 เดือน แต่ถ้าคิดต่อตารางเมตรผมว่าน่าจะประหยัดกว่า เพราะเรามีของเก่ามาใช้ด้วย

“หลัก ๆ เลยคือเรื่องของเวลา สอง คือเรื่องความยั่งยืน มันสนุกตรงที่เราหาของเก่า ๆ ที่มีอยู่มาใช้รวมกัน อย่างพื้นเนี่ย ถ้าเราไปซื้อไม้มาทำหรือหาซื้อกรอบกระจกที่คุณภาพดีแบบนี้ก็จะแพง ซึ่งส่วนผู้รับเหมา เขาบอกขอทำเองเพราะทำได้ในราคาไม่แพงและสวยกว่าด้วย

ภาพ : ฟี่-อนัฆ นวราช
ภาพ : ฟี่-อนัฆ นวราช

“สุดท้ายเหนือสิ่งอื่นใด คือเรามีความสุขกับการได้สร้างบ้านอยู่กับธรรมชาติ ไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อมรอบข้าง เล็ก ๆ ง่าย ๆ ทำตามความต้องการพื้นฐานให้อยู่ได้สบาย ๆ ทั้งครอบครัว อย่างกันสาดก็แบบง่าย ๆ น้ำเข้าบ้างอะไรบ้างก็ไม่เป็นไร” ฟี่สรุปทิ้งท้ายการพูดคุย

“ถือว่าเป็นความภาคภูมิใจของพวกเรารุ่นหลานในการสานต่อความตั้งใจของคุณพ่อ หรือคุณปู่คุณตาของหลาน ๆ ได้ในที่สุด เราได้มานั่งดูพระอาทิตย์ขึ้น-พระอาทิตย์ตก ได้มานอนดูดาว ใครจะรู้ว่าดาวบนท้องฟ้าจะสว่างขนาดนี้ และใครจะรู้ว่า Glow in the Dark Planktons ก็อยู่ตามริมหาดทั่วไปได้ในคืนเดือนมืดในที่ที่ไม่มีไฟฟ้า”

นิกพูดปิดท้ายเรื่องราวทั้งหมดถึงที่ดินผืนนี้ที่มีคุณปู่เป็นคนเริ่มเรื่องราวทั้งหมด

ภาพ : ฟี่-อนัฆ นวราช

Writer

สุภัทรา ณัฐพูลวัฒน์

สุภัทรา ณัฐพูลวัฒน์

บุคคลธรรมดาที่เคยทำงานหนังสืออยู่ช่วงหนึ่ง ปัจจุบันชอบทำสวน ชอบอยู่กับแมว หมา และหน้าหนังสือ

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล