ตรงตามชื่อแบรนด์อย่างไม่ต้องสงสัย BonBan (บนบาน) คือธุรกิจขายของไหว้เพื่อแก้บน

แต่ของแก้บนของ BonBan พิเศษกว่าชาวบ้านสักหน่อย เพราะพวกเขาจำหน่ายไก่แก้บนที่ผลิตจากวัสดุย่อยสลายง่าย ไม่เป็นภาระให้วัดหรือผู้ไหว้ต้องจัดการต่อ

ถากูร เชาว์ภาษี ปิ๊งไอเดียนี้จากภาพของแก้บนที่กองพะเนินในวัดบ้านเกิดของตัวเอง โดยเฉพาะไก่ปูนปั้นที่ถูกทิ้งไว้จนกลายเป็นกองปูน เขาจึงอยากทำ ‘ไก่แก้บนรักษ์โลก’ ในแบบฉบับของตัวเองขึ้นมา และไม่น่าเชื่อว่าเปิดแบรนด์มาแค่ 2 เดือน สินค้าของ BonBan ก็แทบจะกลายเป็นของดีประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช ถึงขนาดที่ไปวางจำหน่ายบนเชลฟ์ที่ท่าอากาศยานนานาชาตินครศรีธรรมราช

ในยุคที่ผู้คนหันมาใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมกันให้พรึ่บ และเราเข้าใจได้ว่าแบรนด์เล็กแบรนด์ใหญ่ต่างอยากผลิตสินค้าและบริการที่ช่วยกันเซฟโลก แต่อะไรทำให้ชายหนุ่มเจ้าของแบรนด์อยากกวักมือเรียกสายมูฯ ให้มารักษ์โลกด้วยผลิตภัณฑ์ทางเลือกของเขา ไปฟังคำตอบพร้อมกันในบรรทัดถัดไป

ไก่แก้บน

ถากูรเกิดที่กาญจนบุรี แต่เติบโตที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เขาเรียกตัวเองว่าคนคอนได้เต็มปาก

หลังจากเรียนจบชั้นมัธยม เขากับแฟนไปทำงานในเมืองกรุง ก่อนกลับบ้านเกิดเพื่อช่วยธุรกิจที่บ้าน พร้อมความฝันในการตั้งธุรกิจของตัวเองที่ซุ่มเก็บไว้ เพราะยังไม่รู้ว่าอยากทำอะไร

สถานที่ที่ชายหนุ่มกับหญิงสาวชอบไป คือวัดเจดีย์ (ไอ้ไข่) วัดชื่อดังประจำจังหวัดนครศรีธรรมราชที่สายมูเตลูมักไปขอพรและบนบาน ภาพที่ถากูรเห็นทุกครั้งและเห็นมาตลอดคือกองของบูชาที่ผู้ศรัทธานำมาถวายแล้วถูกปล่อยทิ้งไว้ ทั้งน้ำแดง กองประทัด ไปจนถึงไก่ปูนปั้น 

“ตอนเห็นครั้งแรกเรารู้สึกว้าวเพราะมันแสดงถึงความยิ่งใหญ่ แต่พอนึกไปนึกมา เราสงสัยว่าถ้าของไหว้เหล่านี้เยอะเกินไปแล้วจะไปอยู่ที่ไหนต่อ” คำถามนี้ชวนถากูรให้ไปหาคำตอบ

“เราพบว่าวัดมีการแก้ปัญหาอยู่แล้วส่วนหนึ่ง อย่างกองประทัด วัดก็มีโดมที่ให้จุดประทัดเพื่อไม่ให้ควันหลุดรอดออกไปสู่ชั้นบรรยากาศ ส่วนไก่แก้บน มีพื้นที่ที่เรียกว่า ‘อุทยานไก่แห่งความสำเร็จ’ รวบรวมไก่ปูนปั้นที่ถวายแล้วเอาไว้ ตอนแรก ๆ ก็วางไว้สวยงาม แต่หลัง ๆ กลายเป็นกองปูนที่วางรวมกัน

“ผมเสิร์ชดูในกูเกิล มันมีบทความหนึ่งที่ตั้งคำถามถึงการจัดการของไหว้เหล่านี้เช่นกัน แต่ในระยะ 4 – 5 ปีนี้ยังไม่มีใครแก้ปัญหา นั่นทำให้เราเริ่มคิดวิธีแก้ปัญหากัน”

ไก่รักษ์โลก

ไก่แก้บนรักษ์โลกของ BonBan กระพือปีกครั้งแรกในงาน Bangkok Design Week 2023

ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น 1 ปี ถากูรเข้าร่วมกลุ่ม Design PLANT กลุ่มนักออกแบบที่อยากแก้ปัญหาในเมืองที่อาศัยผ่านงานดีไซน์ ชายหนุ่มนึกถึงปัญหาของแก้บนที่ยังจัดการไม่ได้ในวัดเจดีย์ทันที

“ด้วยเราเป็นนักออกแบบผลิตภัณฑ์ บวกกับกระแสสังคมเรื่องรักษ์โลกกำลังมา เราเลยอินกับเรื่องนี้ได้ง่ายและเคยศึกษาเรื่องการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาอยู่แล้ว”

ด้วยวัสดุหลักของไก่แก้บนแบบดั้งเดิมคือปูนซีเมนต์ ซึ่งเป็นวัสดุที่ต้องเผา ส่งผลให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมาก ไก่แก้บนของถากูรจึงแก้เพนพอยต์นี้ด้วยการใช้กระดาษรีไซเคิลเป็นส่วนประกอบหลัก ซึ่งย่อยสลายได้ง่าย มากกว่านั้น ถากูรยังคิดไปถึงช่วงเวลาหลังจากแก้บนด้วย เขาจึงใส่เมล็ดพันธุ์ดอกไม้มงคลเข้าไปในตัวไก่ ทั้งดอกดาวเรือง ดอกดาวกระจาย และดอกกระดุมทอง ซึ่งเชื่อว่าจะส่งเสริมด้านการงาน การเงิน สุขภาพ และความรัก เมื่อไก่ย่อยสลายแล้ว เมล็ดพันธุ์เหล่านั้นจะงอกเงยขึ้นมาเป็นชีวิตใหม่

“ถ้าซื้อไก่แก้บนไป 1,000 ตัว หลังจากไก่ย่อยสลาย เราอาจได้ต้นไม้ต้นใหม่งอกขึ้นมาเป็นพัน ๆ ต้น มันก็ดีกับทัศนียภาพของสถานที่ด้วย” 

ไก่สายมู

หลังจากออกแบบคาแรกเตอร์และทดลองทำสินค้าต้นแบบ ไก่รักษ์โลกตัวแรกของ BonBan (ก่อนหน้านี้ใช้ชื่อแบรนด์ว่า มูแบรนด์) ก็ถูกจัดแสดงในงาน Bangkok Design Week และช่วงเวลาเดียวกันนั้น มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีโครงการมอบทุนกับบัณฑิตจบใหม่เพื่อสร้างธุรกิจของตัวเอง ถากูรกับแฟนจึงดันโปรเจกต์นี้ให้ไปต่อ และได้ทุนมาทำแบรนด์ของตัวเองสมใจ

ต้นปี 2024 พวกเขาเปิดขายไก่แก้บนรักษ์โลกอย่างเป็นทางการ โดยมีไก่แก้บน 3 แบบให้ลูกค้าเลือก ได้แก่ ไก่ออริจินัล (ไม่มีสี) ไก่ที่ลงสีประจำวันเกิด และไก่พรีเมียมสีเงินกับสีทอง โดยราคาเริ่มต้นที่ 159 บาทไปจนถึง 259 บาทต่อตัว

ถากูรบอกว่าสีที่ใช้ทาตัวไก่เป็นสีที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ เช่นเดียวกับเงิน-ทองบนตัวไก่พรีเมียมที่ใช้ทองคำเปลว ซึ่งย่อยสลายได้ง่ายเช่นกัน สินค้าอย่างหลังนี้เองที่ถากูรบอกว่าขายดีที่สุด เพราะนอกจากลูกค้าจะซื้อไปแก้บน ยังมีลูกค้าบางกลุ่มที่ซื้อไปกราบไหว้บูชาบนหิ้งอีกด้วย

ไก่แก้บนของ BonBan ยังมีกิมมิกเล็ก ๆ แต่สำคัญสำหรับสายมูฯ นั่นคือฐานของตัวไก่ที่ขูดเลขได้ 

“ด้วยพฤติกรรมสายมูฯ ที่เราสังเกต เขาอยากได้เลขไปเล่นหวยต่ออยู่แล้ว อย่างตอนที่จุดประทัด เขาก็อยากรู้ว่าเลขในกล่องประทัดคืออะไร พอเราทำไก่ เราจึงอยากมีที่ให้ขูดเลขได้หลังจากแก้บนหรือขอพรเหมือนกัน” ชายหนุ่มเล่าแนวคิดเบื้องหลัง

พิจารณาจากหน้าตาแล้ว ไก่แก้บนรักษ์โลกของถากูรนั้นไม่ได้ดีไซน์ให้เหมือนไก่จริง ๆ เสียทีเดียว ชายหนุ่มเจ้าของแบรนด์ย้ำว่านั่นคือความตั้งใจ เพราะ BonBan มีหมี BE@RBRICK เป็นแรงบันดาลใจสำคัญ ด้วยรูปร่างหน้าตาที่เรียบง่ายแต่นำไปจับมือคอลแล็บกับศิลปินและแบรนด์ต่าง ๆ ได้ง่าย

วันหนึ่ง BonBan ก็อยากเป็นอย่างนั้นเช่นกัน 

ไก่ของคนคอน

คนคอนเป็นสายมูเตลูของแท้ ถากูรบอกกับเรา

ตั้งแต่เด็ก เขาเติบโตมากับภาพเพื่อนที่โรงเรียนเอาพระมาอวด ผ่านยุคของจตุคามรามเทพกำลังดัง จนปัจจุบันก็เข้าสู่ยุคที่วัดเจดีย์ได้รับความนิยมจากประชาชนทั่วทุกแห่งหน ไม่ใช่เฉพาะคนคอน

“เราอยากให้คนที่ซื้อไก่ของเราไปได้บุญมากที่สุด เราไม่ได้อยากเปลี่ยนพฤติกรรมการมูเตลูของใคร ปกติคนที่ซื้อของไปไหว้หรือแก้บนที่วัดเจดีย์ เขาก็ต้องซื้อไก่อยู่แล้ว แต่อยากให้เขาได้มูฯ แบบรักษ์โลกมากขึ้น อยากให้การมูเตลูกับการรักษ์โลกมันไปด้วยกันได้” 

เราถามต่อว่า เคยกังวลว่า BonBan จะดิสรัปต์ธุรกิจไก่แก้บนที่เคยมีมาอยู่แล้วไหม

“เราไม่ได้คิดว่าเราเป็นคู่แข่งของไก่แก้บนแบบปูนปั้น แต่ไก่รักษ์โลกของเราเป็นผลิตภัณฑ์อีกประเภทหนึ่ง เป็นตัวเลือกใหม่ ดังนั้นเราไม่ได้กังวลตรงจุดนี้เท่าไหร่ สิ่งที่เรากังวลคือการทำให้สายมูฯ ได้รู้จักผลิตภัณฑ์ของเรามากกว่า เราเป็นนักออกแบบ และเราเชื่อว่าผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมามันดี แต่จะเข้าถึงลูกค้าให้มากขึ้นได้ยังไง” ชายหนุ่มพูดถึงโจทย์ที่ BonBan ต้องคิดต่อไป

ปัจจุบันไก่แก้บนรักษ์โลกของ BonBan ขายทางออนไลน์เป็นหลัก และมีการขยับขยายไปขายผ่านช่องทางของตัวแทนจำหน่ายกับร้านค้าในสนามบิน พวกเขายังหวังว่าจะได้ขยายไปสู่ช่องทางอื่น ๆ ในอนาคต

“เราคิดว่ามูเตลูและไอ้ไข่เป็นซอฟต์พาวเวอร์ของจังหวัดเรา เราก็อยากให้ผลิตภัณฑ์ของเราได้เป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วย เราอยากนำไก่ของเราไปวางบนเชลฟ์โรงแรม ร้านอาหาร คาเฟ่ เผื่อว่านักท่องเที่ยวที่มีแผนจะไปไหว้วัดเจดีย์อยู่แล้วจะซื้อได้เลย” ถากูรบอกพร้อมระบายรอยยิ้ม

Lessons Learned

  • สินค้าท้องถิ่นคือของดีใกล้ตัวที่พัฒนาให้เข้ากับยุคสมัยได้ โดยอาศัยความคิดสร้างสรรค์และการคิดนอกกรอบ
  • การฟังเสียงลูกค้าและรับรู้กระแสสังคมคือหนึ่งในกุญแจสำคัญในการทำธุรกิจ
  • ออกแบบผลิตภัณฑ์ด้วยการคิดให้รอบด้าน รูปร่างหน้าตาอันเรียบง่ายของผลิตภัณฑ์ อาจเป็นแต้มต่อในการต่อยอดไปสู่สินค้าใหม่ ๆ หรือการจับมือคอลแล็บกับแบรนด์อื่น ๆ ในอนาคต

Writer

พัฒนา ค้าขาย

พัฒนา ค้าขาย

นักเขียนชาวเชียงใหม่ผู้รักทะเลและหนังสุขซึ้ง สนใจประเด็น gender ความสัมพันธ์ และเรื่องป๊อปทุกแขนง

Photographer

Avatar

มูหมัดซอเร่ เดง

ผมเป็นช่างภาพที่ชื่นชอบและมองเห็นถึงพลังการขับเคลื่อนของภาพถ่าย ที่มีอิทธิพลต่อสังคมภายในและภายนอก ผมเริ่มถ่ายภาพจากเหตุการณ์พายุถล่มปัตตานีเมื่อปี 2552 เพื่อขอรับบริจาค และถ่ายภาพวิถีชีวิตในพื้นที่ต่อเนื่องมาเพื่อนำเสนอแง่มุมดี ๆ ที่ไม่ใช่แค่ความรุนแรง