ช่วงเดือนที่ผ่านมา ผู้คนทั่วโลกต่างตื่นตะลึงกับภาพภาพหนึ่งในโลกโซเชียล เมื่อได้เห็นภาพของเสือดาวหิมะตัวหนึ่งเดินลุยหิมะ และมีฉากหลังเป็นยอดเขาสูงชันที่ขาวโพลนไปด้วยหิมะ ของช่างภาพหญิงคนหนึ่งที่เธอเขียนเล่าประสบการณ์อันยากลำบากว่า ต้องเดินฝ่าหิมะไปนับร้อยกิโลเมตรกว่าจะได้ภาพนี้มา

ผ่านไปไม่ถึงเดือน Alpine International ซึ่งเป็นสื่อออนไลน์ใหญ่เกี่ยวกับการปีนเขาจากฝรั่งเศส ได้ตีพิมพ์บทความหนึ่งที่กล่าวถึงภาพที่กลายเป็นไวรัลแชร์กันไปทั่วโลกนี้ว่า ภาพนี้ไม่ใช่ของจริง มีการสัมภาษณ์ช่างภาพธรรมชาติที่มีชื่อเสียงหลายคนซึ่งมีประสบการณ์ในการเดินทางบันทึกภาพเสือดาวหิมะ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญหลาย ๆ คน และขอภาพจากไฟล์ต้นฉบับจากเจ้าตัวเพื่อมายืนยัน (แต่เจ้าตัวไม่ได้ส่งไฟล์ต้นฉบับมาให้)

ผลสรุปที่ค่อนข้างจะออกมาตรงกันก็คือ ภาพที่ทำให้ผู้คนตื่นเต้นกันไปทั่วโลกนั้นอาจไม่ใช่ภาพจริงที่บันทึกภาพมา แต่อาจเป็นการตัดต่อนำหลาย ๆ ภาพของหลาย ๆ คนมาประกอบกัน ช่างภาพสัตว์ป่าหลายคนออกมาบอกว่า แม้ว่าเสือดาวหิมะจะได้ชื่อว่า เสือดาวหิมะ แต่มันมักอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เป็นหิน ไม่มีหิมะปกคลุมมากเท่าไร ในพื้นที่ระดับต่ำลงมาจากยอดเขา เพราะว่าถ้ามันขึ้นไปอยู่สูงขนาดนั้น จะไม่มีเหยื่อให้ล่าเป็นอาหาร การที่มันจะขึ้นไปปรากฏตัวในบริเวณใกล้ยอดเขาจึงดูไม่ค่อยมีเหตุผลสักเท่าไร ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องการถ่ายภาพ Landscape ออกมาบอกว่า ยอดเขาในภาพนั้นมีการตัดต่อยอดด้านข้าง ๆ ออกไปและนำไปแปะกับภาพอื่น

สิ่งที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือ ภาพชุดนี้ได้รับรางวัลจากการประกวดภาพหลายรายการ และทำรายได้จากการขาย Original Print ไปไม่น้อย คำถามที่เกิดขึ้นก็มาจากหลายสำนัก บางกลุ่มก็จะบอกว่าแล้วไง ทุกวันนี้ใคร ๆ ก็แต่งภาพกันทั้งนั้น ในขณะที่บางสำนักออกมายืนยันถึงสัจจะของภาพถ่าย โดยเฉพาะคุณค่าในการบันทึกภาพของภาพ Wildlife ที่ไม่ต่างไปจากในแวดวง Journalist และคำถามบางส่วนยังนำไปถึงว่า เธอคนนั้นที่เป็นช่างภาพสัตว์ป่านั้น มีตัวตนจริง ๆ อยู่ในโลกใบนี้หรือเปล่า หรือเป็นแค่ภาพที่อวตารมาในโลกโซเชียล ซึ่งอาจจะเป็นเพียงตัวตนใน Metaverse เมื่อมีผู้ค้นพบว่าแม้กระทั่งภาพ Profile ก็ยังมีการตัดต่อภาพเข้าไปกับฉากหลังของเทือกเขาหิมะ…

แน่นอนที่สุดว่าการถ่ายภาพนั้นได้นำไปปรับใช้ในหลาย ๆ วงการ ไม่เพียงเฉพาะในแง่มุมของศิลปะหรือการประกวดภาพเพียงอย่างเดียว จากปรากฏการณ์ที่ผ่านมานี้ ทำให้ผู้คนเริ่มเข้าใจชัดเจนมากขึ้นถึงคุณค่าของภาพถ่ายในเชิง Natural History หรือภาพถ่าย Wildlife กับการถ่ายภาพในเชิงศิลปะ ว่าสิ่งที่แตกต่างกันในเชิงคุณค่าของภาพแต่ละภาพนั้นก็คือ Document ที่ภาพนั้นได้บันทึกมา ไม่ใช่แค่ประเด็นความงามที่เกิดขึ้นมาจากการแต่งแต้มเอาอะไรเข้าไปมากมาย เพียงเพื่อจัดให้เกิดเป็นองค์ประกอบภาพที่ลงตัวมากที่สุดเท่านั้น

ดราม่าการรีทัชภาพสัตว์ป่า คำถามถึงคุณค่าที่แท้จริง ความสมบูรณ์แบบ และการปรับภาพถ่าย

ภาพของวาฬเพชรฆาต หรือ Killer Whale (Orcinus Orca) ภาพนี้เป็นภาพที่ไม่คม ไม่ชัด และไม่สวย เพราะข้อจำกัดของอุปกรณ์เมื่อ 20 กว่าปีก่อน ซึ่งต้องใช้ฟิล์มบันทึกภาพ แต่เป็นภาพที่มีคุณค่าในเชิง Document ชิ้นหนึ่ง เพราะผมบันทึกภาพมาจากบริเวณนอกกองหินริเชลิว ที่อยู่ใกล้กับอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ซึ่งเป็นการบันทึกภาพวาฬชนิดนี้จากใต้น้ำครั้งแรกในประเทศไทย ราว ๆ พ.ศ. 2540 วาฬเพชรฆาตในกลุ่มนี้ไม่ได้พลัดหลงมา แต่เป็นกลุ่มที่เดินทางร่อนเร่อยู่ในทะเลเปิด มีสถิติการพบเห็นในน่านน้ำเขตร้อนอยู่เสมอ ทั้งในมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย ราว 4 – 5 ปีถึงจะมีรายงานพบเห็นเข้ามาในน่านน้ำไทยสักครั้ง

เรื่องราวของสัจจะในภาพถ่ายก็เป็นที่ถกเถียงกันมาเนิ่นนานว่า อะไรคือจริงหรือลวง และเราปรับแต่งแก้ไขภาพถ่ายได้แค่ไหน แน่นอนที่สุด ในยุคสมัยที่ช่างภาพแทบทุกคนในโลก รวมถึงผู้คนที่ถ่ายภาพจากกล้องดิจิทัลหรือโทรศัพท์มือถือในยุคปัจจุบัน ผู้คนส่วนใหญ่ย่อมอยากให้ภาพของตนนั้นดูโดดเด่นขึ้นมาจากข้อมูลที่ท่วมท้น ในโลกที่ถูกจำกัดการมองเห็นได้ในชั่วพริบตา ก่อนที่เราจะสไลด์ภาพผ่านจอมือถือไป

ภาพที่ดูโดดเด่นน่าสนใจมักจะได้นิ้วโป้งสีฟ้าหรือหัวใจสีแดง และถูกแชร์ ถูกเผยแพร่ออกไปอย่างรวดเร็ว ด้วยการเปิดของระบบอัลกอริทึมอย่างท่วมท้นในเวลาเพียงไม่กี่วัน อาจจะเปลี่ยนแปลงชีวิตของช่างภาพหรือคนคนหนึ่งไปชั่วเวลาเพียงข้ามคืน รายได้ต่าง ๆ รวมทั้งชื่อเสียงและผลประโยชน์มากมายที่จะกลับคืนมาสู่เจ้าตัวนั้นอาจมากมายเกินกว่าที่ใครจะคาดคิด เรื่องของสัจจะในภาพถ่ายจึงเป็นเรื่องที่หลาย คนตั้งใจมองข้ามไป จนกระทั่งมีคนจับโป๊ะได้ว่าภาพที่เห็นนั้นแทบไม่มีความจริงอะไรซ่อนอยู่เบื้องหลังเลย

ดราม่าการรีทัชภาพสัตว์ป่า คำถามถึงคุณค่าที่แท้จริง ความสมบูรณ์แบบ และการปรับภาพถ่าย

ภาพของฉลามเสือดาวหรือ Zebra Shark (Stegostoma tigrinum) ขณะกำลังจับคู่เพื่อสืบทอดเผ่าพันธุ์ ในห้วงของความลึกในบริเวณกองหินนอกเกาะตาชัย ผมบันทึกมาเมื่อ 20 กว่าปีก่อน นั่นเป็นหนึ่งในช่วงเวลาพิเศษของธรรมชาติที่เราต้องใช้เวลาและโอกาสให้ไปอยู่ตรงนั้นถูกที่ ถูกเวลา เราจะได้เห็นและสัมผัสความมหัศจรรย์ของธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นในชั่วพริบตา และสิ่งที่แน่นอนที่สุดคือ เรากะเกณฑ์ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ว่ามันจะเกิดขึ้นที่ใดและเวลาไหน

ในยุคสมัยของกล้องฟิล์ม ช่างภาพส่วนใหญ่ถ่ายภาพด้วยฟิล์มสไลด์ ภาพส่วนใหญ่นั้นจบลงที่การบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเบื้องหน้าในขณะนั้น ก่อนฟิล์มจะถูกส่งไปล้างที่แล็บ และปรากฏให้เห็นเป็นภาพสไลด์ขึ้นมา ต้องใช้ทักษะและการเรียนรู้ในเบื้องต้นในการควบคุมกล้องในระดับหนึ่ง เพราะว่าฟิล์มสไลด์หรือ Color Reversal Film นั้นเป็นฟิล์มที่มี Lattitude ค่อนข้างแคบ และบันทึกภาพออกมาค่อนข้างตรงไปตรงมา สัมพันธ์กับการตั้งค่าในการเปิดรับแสงของช่างภาพคนนั้น 

ภาพที่ออกมา ไม่ว่าจะมืดเกินไป สว่างเกินไป บันทึกมาอย่างไรก็ได้ภาพเช่นนั้น การปรับแต่งภาพในฟิล์มสไลด์เรียกว่าแทบทำไม่ได้เลย นอกจากการสแกนจากฟิล์มสไลด์ให้มาเป็นไฟล์ดิจิทัลก่อนปรับแต่งภาพ หรือในยุคก่อนที่จะมีสแกนเนอร์ มีกรรมวิธีวุ่นวายไม่เหมือนกับฟิล์มเนกาตีฟสีหรือขาวดำที่ควบคุมหลาย ๆ อย่างในขั้นตอนการอัดภาพในห้องมืดได้ 

และที่สำคัญคือ เรายังมีภาพต้นฉบับไว้เพื่อยืนยันถึงสิ่งที่บันทึกมา ฟิล์มสไลด์สีจึงเป็นอุปกรณ์ที่ในวงการสำนักข่าวและนิตยสารใช้มาอย่างแพร่หลายตั้งแต่ยุค 60 มาจนถึงต้นยุค 2000 ก่อนถูกแทนที่ด้วยระบบกล้องดิจิทัล

ดราม่าการรีทัชภาพสัตว์ป่า คำถามถึงคุณค่าที่แท้จริง ความสมบูรณ์แบบ และการปรับภาพถ่าย

สิงโตทะเลกาลาปากอสในขณว่ายแหวกเข้าไปอยู่ท่ามกลางฝูงปลา Selemas Porgy นับพันนับหมื่นตัว ผมบันทึกภาพมาจากเกาะกาลาปากอสในปี 2006 แม้ว่าจะเดินทางกลับไปกาลาปากอสอีก 2 – 3 ครั้ง แต่ผมก็ไม่ได้พบเห็นปรากฏการณ์เช่นนี้อีกเลย

การเปลี่ยนอุปกรณ์จากกล้องฟิล์มมาเป็นกล้องดิจิทัล ไม่ใช่เหตุผลหลักเพียงอย่างเดียวที่ทำให้สัจจะของภาพนั้นเปลี่ยนแปลงไป ปัจจัยบางอย่างมีส่วนช่วยเร่งให้การรับรู้ของเราเปลี่ยนแปลงค่านิยมบางอย่างไปเช่นกัน สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้อย่างหนึ่งก็คือ ภาพจากกล้องดิจิทัลแทบทุกภาพต้องผ่านกระบวนการ ผ่านโปรแกรมต่าง ๆ และต้องปรับแต่งภาพเพื่อชดเชยข้อด้อยบางอย่าง กล้องดิจิทัลในยุคแรกยังมีข้อจำกัดบางประการที่ยังบันทึกภาพมาได้ไม่ดีนัก และเมื่อศาสตร์ของการแก้ไขข้อบกพร่องในการบันทึกภาพนั้นพัฒนาขึ้น ก็กลายเป็นอีกศาสตร์ที่ง่ายต่อการบิดเบือนสัจจะในภาพถ่าย 

ภาพบางภาพ เราดูแล้วเหมือนมีพระอาทิตย์อยู่มากกว่าหนึ่งดวงบนโลก ภาพของดารา นางแบบ ในหน้าปกนิตยสารที่ปรับแต่งรีทัชเพื่อให้ดูสมบูรณ์แบบไร้ที่ติ กลายมาเป็นบรรทัดฐานของแอปพลิเคชันต่าง ๆ ในการแต่งภาพหน้าใสในโทรศัพท์มือถือ และกลายมาเป็นบรรทัดฐานใหม่ของการบันทึกภาพของใน Metaverse ทุกวันนี้ เราต่างรับรู้ว่าไม่มีอะไรจริงแท้ในภาพถ่าย 

คำว่าสวยหน้าสดนั้นดูเหมือนไม่มีอยู่จริง คำว่าเผลอ ๆ เป็นแค่ท่าหนึ่งในการโพสท่า และแคนดิดนั้นบางทีก็ถ่ายมาด้วยตากล้องมืออาชีพที่จ้างให้เดินตามถ่ายอย่างจงใจ เมื่อแทบทุกคนบนโลกนี้รู้สึกว่าตนเองเป็นดารา อยู่บนจอเล็ก ๆ ที่มีแชนแนลของตนเองอย่างเท่าเทียมกัน

สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่า ไม่ใช่เรื่องการปรับแต่งภาพโดยใช้แอปฯ หรือโปรแกรมต่าง ๆ หากคือความจริงที่เลื่อนไหลไปตามบรรทัดฐานของสังคมมากกว่า แน่นอนที่สุดในยุคสมัยฟิล์มก็มีเหตุการณ์หลาย อย่างที่เคยอุบัติขึ้นมาจากการบิดเบือนปรับแต่งภาพโดยใช้ภาพถ่าย แต่ทุกวันนี้ทุกคนเข้าถึงกระบวนการในการบิดเบือนง่าย ๆ เพียงแค่ 2 คลิกเพียงเท่านั้น

ทุกวันนี้ในวงการข่าว สำนักข่าวต่าง ๆ เริ่มปรับให้ช่างภาพถ่ายภาพโดยใช้ไฟล์ในสกุล Jpeg เพียงอย่างเดียว ห้ามถ่ายภาพต้นฉบับจากไฟล์ Raw แล้วนำมาปรับภาพในโปรแกรม แต่ให้ส่งไฟล์ภาพ Jpeg จากหลังกล้องที่ช่างภาพบันทึกภาพมาโดยตรง เพราะสิ่งที่สำนักข่าวถือเป็นหลักในการทำงานก็คือความรวดเร็วและความเที่ยงตรง อย่างน้อยที่สุดภาพนั้นก็ถูกบันทึกภาพมาแบบนั้นผ่านสายตาของช่างภาพ และบันทึกลงมาในไฟล์ภาพนั้นจริง ๆ

แน่นอนที่สุดในวงการโฆษณา แฟชั่น หรือแม้กระทั่งภาพถ่ายศิลปะนั้น เรื่องของความงาม ความสมบูรณ์แบบ (แม้กระทั่งความไม่สมบูรณ์แบบ) ที่เจ้าของผลิตภัณฑ์ ช่างภาพ หรือศิลปินต้องการสื่อออกมา ย่อมสำคัญมากไปกว่าข้อเท็จจริงที่บันทึกมา

ในขณะที่งานบางอย่างไม่ว่าจะเป็นงาน Wildlife หรือ Natural History คุณค่าของมันยังคงอยู่ที่ Document ในภาพซึ่งบันทึกมาอย่างตรงไปตรงมา 

ดราม่าการรีทัชภาพสัตว์ป่า คำถามถึงคุณค่าที่แท้จริง ความสมบูรณ์แบบ และการปรับภาพถ่าย

นุ-ภานุพงศ์ นรเศรษฐกมล ช่างภาพใต้น้ำชาวไทยอีกคนที่มีผลงานน่าตื่นตาตื่นใจเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ขณะกำลัง Free Dive ลงไปเพื่อบันทึกภาพท่ามกลางฝูงปลากระเบนราหูหรือ Manta Ray ในบริเวณอ่าว Hanifaru ในมัลดีฟส์ เขาใช้เวลานับสิบวันเฝ้ารอให้เกิดปรากฏการณ์ที่พิเศษเช่นนี้ให้เกิดขึ้น ไม่ใช่เพียงเพื่อแค่จะได้บันทึกภาพอันสวยงาม

ปีนี้เป็นปีที่สำคัญปีหนึ่งในแวดวงของ Wildlife Photographer ชาวไทย เมื่อมีเด็กไทย 2 คนได้รับรางวัลชนะเลิศและดีเด่นในประเภทเยาวชน จาก WPY หรือ Wildlife Photographer of the Year จัดขึ้นโดย Natural History Museum ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งนับเป็นการประกวดภาพถ่ายสัตว์ป่าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกรายการหนึ่ง ถ้าจะเปรียบให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือเป็นเสมือนรางวัลออสการ์ของการถ่ายภาพ Wildlife 

สิ่งที่สำคัญมากไปกว่าภาพที่งดงาม คือความน่าเชื่อถือในข้อมูลของภาพถ่ายนั้น ๆ กำแพงที่ปิดกั้นช่างภาพชาวเอเชียกับการยอมรับของชนชาติตะวันตกมาเนิ่นนานได้ถูกทำลายลงไปแล้ว ด้วยผลงานจากเด็กไทย 2 คนที่ก้าวข้ามความลังเลและสงสัย ไปสู่การยอมรับในระดับสากลได้

ดราม่าการรีทัชภาพถ่ายสัตว์ป่าที่ได้รางวัลใหญ่ คุณค่าที่แท้จริงของภาพ การแต่งภาพ การเปลี่ยนฟิล์มสไลด์สู่ดิจิทัล

บางทีคุณค่าของการถ่ายภาพ Wildlife อาจไม่จำเป็นต้องเดินทางไปไกลสุดขอบโลกเพื่อบันทึกภาพหรือเรื่องราวที่ไม่เคยมีคนบันทึกภาพมาก่อน หรือสถานที่ที่ผู้คนแห่กันไปถ่ายภาพ เพื่อจะได้ผลลัพธ์ของภาพที่คาดเดาได้ออกมาคล้าย ๆ กัน สถานที่นั้นอาจเป็นแค่บึงน้ำข้างบ้าน และภาพพฤติกรรมของปลาช่อนในขณะเฝ้าดักรอเหยื่ออยู่ใต้กอบัวอันรกร้าง ในพื้นที่ธรรมชาติอันพิสุทธิ์ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านเราก็ได้ เพราะว่าทุกที่มีเรื่องราวและระบบนิเวศที่น่าสนใจอยู่ทั่วโลก

เมื่อ 30 ปีก่อน ผมกับช่างภาพสัตว์ป่ารุ่นพี่ก็เคยสงสัยและตั้งคำถามว่า ทำไมนิตยสารชั้นนำของโลกอย่าง National Geographic ถึงต้องส่งช่างภาพเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาบันทึกภาพในที่ต่าง ๆ รวมทั้งในประเทศไทย เพราะว่าช่างภาพในเมืองไทยมีความสามารถไม่พอ หรือว่าประเด็นความน่าเชื่อถือในข้อมูลและความถูกต้องในการบันทึกภาพ อาจจะสำคัญไปกว่าความงามของภาพนั้น ๆ ก็เป็นได้

ตัวอย่างที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง คือในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้ การถ่ายภาพ Wildlife เริ่มเป็นที่นิยมมากในประเทศจีน แต่สิ่งที่เราสังเกตเห็นคือในการประกวดภาพของ WPY แทบจะไม่มีผลงานของช่างภาพชาวจีนปรากฏให้เห็น ซึ่งอาจเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่า สำหรับงาน Wildlife และ Natural History นั้น ความน่าเชื่อถือในข้อมูลที่ถูกบันทึกมานั้น อาจสำคัญไปกว่าความงามที่ได้มาจากข้อเท็จจริงอันลางเลือน

Writer & Photographer

Avatar

นัท สุมนเตมีย์

ช่างภาพใต้น้ำมืออาชีพที่เรียกได้ว่าคนแรกๆ ของประเทศไทย เริ่มต้นจากการเป็นช่างภาพและนักเขียนให้กับนิตยสาร อ.ส.ท. และ อีกหลากหลายนิตยสารทั้งในและต่างประเทศมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2537 ปัจจุบันนอกเหนือจากการถ่ายภาพแล้ว นัท ยังถ่ายภาพยนต์สารคดีใต้ท้องทะเล และบันทึกภาพทางอากาศให้กับทีมงานสารคดีหลายทีม