8 กุมภาพันธ์ 2024
822

“บ้านเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหน สุดท้ายขอให้ชีวิตบั้นปลายมาอยู่ที่บ้าน”

แม้จะเป็นการคุยกันผ่านหน้าจอ แต่ เกม-สิทธิโชค ศรีโช ก็หนักแน่นในคำพูด

บ้านในความหมายของเขาไม่ใช่แค่ห้องสี่เหลี่ยมมีกำแพงกั้นหรือครอบครัวพร้อมหน้าพร้อมตา แต่หมายถึงรากเหง้าของตัวเองบนแผ่นดินอีสาน

หลังออกไปใช้ชีวิตที่กรุงเทพฯ ด้วยอาชีพนักเขียนจนขึ้นแท่นเป็นบรรณาธิการอาหารนิตยสาร Health & Cuisine เขาตัดสินใจทิ้งทุกอย่างและกลับ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ถาวร 

เกมเริ่มต้นใหม่ด้วยการเล่าเรื่องวิถีชีวิตคนอีสานแบบคนรู้ลึกรู้จริงทุกแง่มุมในโซเชียลมีเดียของตัวเอง จนกลายมาเป็นคอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์ อีสาน Lifehacker จากคำเชิญชวนของ ก้อง-ทรงกลด บางยี่ขัน บรรณาธิการบริหารของเรา ที่งาน The Cloud Journey : Work Life ปลาร้า กิจกรรมสุดพิเศษของ The Cloud เมื่อ พ.ศ. 2566 โดยมีเกมเป็นวิทยากรประจำทริป

“วันนั้นพี่ก้องถามว่า พี่เกมอินเรื่องอะไรครับ เราตอบว่าอาหารกับความเป็นอีสาน” 

แน่นอน ทุกคนรู้ว่าเกมหลงใหลวัฒนธรรมอาหาร แต่ยิ่งกลับมาอยู่บ้าน ความเป็นอีสานในสายเลือดก็ยิ่งพลุ่งพล่านเข้าไปใหญ่

วิธีไปถึงจุดหมายของคนอีสานเจ๋ง ๆ คือนิยามคอลัมน์ของเขา

กูรูอาหารคัดสรรวัตถุดิบเป็นต้นเรื่องชั้นดีที่มีแนวทางชีวิตน่าสนใจ ทั้งอาจารย์ที่ใช้ต้นไม้พยากรณ์อากาศ สตาร์ทอัพรถขนส่งระดับอำเภอ ไปจนถึงพิณอีสานสไตล์อินดี้ เพื่อบอกให้รู้ว่านี่คือความชาญฉลาดของคนอีสานที่ใครต่างเหยียดหยาม 

หลังบทสนทนาจบลงไม่นาน เกมขอแฮก The Cloud ด้วยการพาช่างภาพไปถ่ายรูปด้วยตัวเองในบ้านไผ่ ไม่ทิ้งลายอดีต บ.ก. ที่คร่ำหวอดในวงการมาเกือบครึ่งชีวิต

ฮูปแต้มโทนสีครามของสิมญวนแห่งวัดสนวนวารีพัฒนาราม ฝีมือช่างไท-อีสานพื้นบ้านนั้นงดงาม ลายเส้นจริงใจ ไร้จริต แม้จะซีดจางไปตามกาลเวลา แต่คุณค่าไม่เคยจางหาย

“เราเป็นคนใหม่ที่ไม่รู้จักบ้านตัวเอง”

ตอนอยู่กรุงเทพฯ คุณกลับบ้านบ่อยไหม

ทุกสัปดาห์ (หัวเราะ) เราติดแม่มาก แต่คุณแม่ก็เสียไปช่วงที่เราทำงานนั่นแหละ 

การกลับบ้านทุกครั้งเหมือนการชาร์จพลัง ถ้าเป็นหนัง แฮร์รี่ พอตเตอร์ คือเหมือนเราใช้วิญญาณสร้างฮอร์ครักซ์ (Horcrux) ไว้ที่บ้าน พอการทำงานดึงพลังของวิญญาณเราออกไป เราก็แค่กลับบ้านไปเอาพลังชีวิต

กลับบ่อยจนคนข้างบ้านบอกว่า “กรุงเทพฯ – บ้านไผ่ นี่มันใกล้กันมากเลยเนอะ” 

ตอนนั้นเงินเดือนนักเขียนไส้แห้งก็ต้องนั่งรถนครชัยแอร์ มาถึงตอนเช้าประมาณตี 3 แวะตลาด ซื้อของ แล้วก็มาโขลกน้ำพริกปลุกชาวบ้านไม่สนใจใคร (หัวเราะ) 

คนเขาจะรู้จากเสียงตำน้ำพริก เสียงทำกับข้าว ว่าเรากลับบ้านมาแล้ว

พอย้ายกลับมาอยู่บ้านไผ่จริง ๆ แตกต่างจากตอนที่เคยอยู่ขนาดไหน

แตกต่างมาก (เน้นคำ) เพราะตอนอยู่กรุงเทพฯ ภาพฝันในจินตนาการของเราคือจะกลับบ้านไปทำนา ช่วยกันทำงาน แต่พอเราลงไปทำเองจริง ๆ มันไม่เป็นอย่างที่คิด

เราต้องเรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้คน เช่น ในกรุงเทพฯ ถ้าบอกว่าจะถึง 10 โมง คือ 10 โมง แต่ถ้าเรานัดคนงานที่บ้าน 10 โมง เขาก็มา 10 โมง แต่เป็น 10 โมงของวันถัดไป (หัวเราะ) 

ช่วงแรก ๆ หงุดหงิดมาก แต่ก็เป็นสิ่งที่เราต้องเรียนรู้ว่าจะทำทุกอย่างตามใจเราไม่ได้ ต้องรู้จักรอ รู้จักเงียบ 

แล้วหลังจากเสร็จงานนาในแต่ละวัน เราจะขับรถมอเตอร์ไซค์รอบบ้านไผ่ สำรวจเลยว่ามีอะไรบ้าง ซอกซอยไหนที่ไม่เคยเข้าไป เก็บข้อมูลไปเรื่อย ๆ เหมือนเราเป็นคนใหม่ที่ไม่รู้จักบ้านตัวเอง ถึงไม่ได้สวยหรูอย่างที่คิด แต่ก็เห็นความไปได้ที่จะอยู่กับมันได้มากขึ้น 

แฮกวิธีเอาชีวิตรอดของคนอีสานกับสิทธิโชค ศรีโช คอลัมนิสต์ผู้ไม่เคยอายที่เป็นคนบ้านไผ่
 พาไปมู ด้วยการปิดทองพระเจ้าใหญ่ผือบัง พระพุทธรูปศิลปะสมัยทวาราวดีที่ค้นพบในบ้านไผ่แห่งวัดบูรณะสิทธิ์ เพื่อขอพรให้เจริญก้าวหน้า เป็นใหญ่เป็นโต เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งสำเร็จ ขอลูกชายก็ได้สมใจ
บ้านไผ่เดลิเวอรี่ งานบริการฝากซื้อและจัดส่งทุกสิ่งที่คนบ้านไผ่ต้องการ ช่วยเพิ่มความสะดวกและกระตุ้นเศรษฐกิจการซื้อขายให้บ้านนี้เมืองนี้ได้ดีเยี่ยม

คุยกับใครเขาก็บอกว่าคุณเป็นคนรู้ลึกรู้จริงเรื่องวัฒนธรรมไทย สนใจเรื่องพวกนี้ตั้งแต่เมื่อไร

ช่วงท้าย ๆ ของการทำนิตยสารได้ร่วมงานกับ อาจารย์เพ็ญพรรณ สิทธิไตรย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ศิลปะการแกะสลักเครื่องสด-ของอ่อน) คนเดียวของไทย ท่านสอนให้เรารู้ว่าอาหารไทยมีบางอย่างซ่อนอยู่ เราโคตรโชคดีเลยที่ได้เข้าไปอยู่ตรงนั้น ทำให้เราเริ่มอินกับวัฒนธรรมไทยโดยมีอาหารเป็นตัวดึงเราเข้าไป 

ก่อนจะเขียนเรื่องเรื่องหนึ่ง เราอยากจะรู้รากทั้งหมดเพื่อคลี่คลายมันออกมาได้แบบมีรากเหง้า ไม่ใช่การเล่าแบบ Shortcut โดยที่เราไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วมันเชื่อมโยงมาจากอะไร โดยเฉพาะเรื่องอาหาร เช่น การทำบุญส่งข้าวแช่ของมอญบ้านโป่ง จ.ราชบุรี ก็ต้องรู้ว่าเขาใช้ข้าวแช่ทั้งหมดเท่าไหร่ มาจากไหน และด้วยความที่ทำคอนเทนต์มา 13 ปี ก็เล่าเรื่องในเฟซบุ๊กส่วนตัวของเราไปเรื่อย ๆ 

ถามจริง ตอนที่เริ่มเล่าเรื่องในเฟซบุ๊กส่วนตัว มีเป้าหมายอะไรยิ่งใหญ่ไหม

เราไม่ได้คิดว่าสิ่งนี้จะนำพาไปสู่อะไรเลย แค่อยากเล่าเรื่องบ้านตัวเองให้คนฟังว่าฉันกลับมาอยู่บ้านแล้ว เป็นความภูมิใจที่อยากจะอวดชาวโลกแค่นั้นเอง แต่ทำไปทำมามันมากกว่านั้น 

มีจังหวะสำคัญอยู่ 2 ครั้ง ครั้งแรกคือการได้เข้าไปทำหนังสือเกี่ยวกับ Smart City จ.ขอนแก่น ทำให้รู้ว่าคนขอนแก่นให้ความสำคัญกับการพัฒนาและสร้างสรรค์เมือง เขาภูมิใจในความเป็นอีสาน ภูมิใจในความเป็นขอนแก่น เราได้รับพลังตรงนั้นมาด้วย

ต่อมาคือได้เขียนเนื้อหาบนผนังของพิพิธภัณฑ์ธนารักษ์ จ.ขอนแก่น ทำให้เราอ่านเยอะมาก เช่น ถนนเจนจบทิศที่ตัดผ่านบ้านไผ่คือถนนสายเดิมที่เชื่อมมาจากถนนที่ต่อจากโคราช พอเกิดการปรับปรุงถนนมิตรภาพ ตัดออกไปเป็นเส้นใหม่ บ้านเราเลยกลายเป็นไส้ติ่ง เราก็เริ่มสนุกกับเรื่องราวของผู้คนและประวัติศาสตร์นับแต่นั้น

เกลือบ่อกฐิน เกลือสินเธาว์รสเลิศที่ผลิตได้ปีละหนก่อนที่ฝนชะดอกมะม่วงจะตก ชาวบ้านยังผลิตเกลือตามกรรมวิธีดังเดิม นอกจากเค็มแล้ว รสชาติเกลือยังนัวและมีอาฟเตอร์เทสต์เป็นรสหวาน เชฟระดับประเทศหลายคนเลือกใช้

กระบวนการหาความรู้ของคุณ นอกจากอ่านหนังสือแล้วมีอะไรอีก

เราคุยกับผู้คน พ่อเราคือแหล่งข้อมูลที่ดีมาก ปีนี้อายุ 80 ปีแล้ว เราชอบถามพ่อว่าในอดีตบ้านไผ่เป็นยังไง อีกอย่างคือการออกไปดู เสร็จแล้วต้องกลับมาเช็กเอกสารอ้างอิง ถึงจะบอกได้ว่าสิ่งนี้ใช่หรือไม่ใช่ 

แล้วถ้าได้ข้อมูลมาจากหลายแหล่ง บ้างก็เป็นเรื่องที่เล่าต่อ ๆ กันมา ใครจะเป็นคนคอนเฟิร์มว่านี่เป็นเรื่องที่ถูกต้อง

เราไม่จำเป็นต้องคอนเฟิร์ม แค่เล่าว่ามีข้อมูลนี้ อ้างอิงไว้แบบนี้ และมีแนวโน้มแบบนี้ บางทีเราอาจจะใส่ทัศนคติของเราลงไปด้วยในฐานะคนประมวลผลข้อมูล 

ตอนเป็นเด็กเราอาจต้องการความชัดเจน แต่พออายุมากขึ้นเรารู้สึกว่าถ้าชัดเจนไม่ได้ก็แค่บอก ถ้าคน 10 คนพูดตรงกันก็มีแนวโน้มว่าจริงสัก 50% แต่เราก็ไม่ไปฟันธงหรอกนะ (หัวเราะ)

แก่งละว้า แหล่งชุ่มน้ำแห่งเดียวในจังหวัดขอนแก่นที่ทั้งผู้คนและสิ่งมีชีวิตยังหาเลี้ยงชีพจากธรรมชาติได้ ทว่ากำลังสุ่มเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสู่นิคมอุตสาหกรรมของกลุ่มทุน

“คนอีสานพยายามซิกแซ็กเพื่อให้ชีวิตมันรอด นี่แหละความเจ๋ง”

หลังจากบอกก้องว่าอินเรื่องอาหารกับความเป็นอีสานแล้วเกิดอะไรขึ้น

พี่ก้องทิ้งเวลาให้เราคิดเป็นเดือน (หัวเราะ) 

เราเชื่อว่าคนอีสานใช้ชีวิตไปถึงเป้าหมายแบบนับ 1 – 10 หรือเดินตรง ๆ ไม่ได้ เพราะสิ่งแวดล้อมมันแร้นแค้น แห้งแล้ง จะกินปลาแบบอร่อย ๆ จับมากินเลยก็ไม่ได้ เพราะบางฤดูกูต้องถนอมไว้เป็นปลาร้า ปลาแดก ปลาแห้ง คนอีสานพยายามซิกแซ็กเพื่อให้ชีวิตมันรอด นี่แหละความเจ๋ง และมันเป็นการแฮกชีวิต จึงเป็นที่มาของคอลัมน์อีสาน Lifehacker 

เราขายพี่ก้องว่าเป็นการนำเสนอในลักษณะให้ดูเป็นเยี่ยงแต่ไม่แนะนำให้เอาเป็นอย่าง (หัวเราะ) ไปพิจารณาเอาเอง 

แล้วเขาตอบว่า

เขาก็ดูโอเคนะ (หัวเราะ) ซึ่งตอนที่คิดคอลัมน์นี้อยู่ในช่วงโควิดด้วย บีบคั้นทุกคน เราอยากนำเสนอแนวทางให้คนอ่านนำไปใช้งานต่อและอยู่รอดได้

สิ่งหนึ่งที่พี่ก้องบอก คืออยากให้เราคิดเสมือนว่าคอลัมน์นี้จะเอาไปรวมเป็นหนังสือ ซึ่งเรามองว่าหนังสือควรมีความรู้อยู่ในนั้น คนที่จะเข้ามาอยู่ในคอลัมน์อีสาน Lifehacker จึงต้องเป็นคนที่มีองค์ความรู้บางอย่าง หรือถ้าจับต้องไม่ได้ อย่างน้อยก็เป็น Soft Skills 

ทุกบทความจะบอกว่าคนคนนี้ใช้อะไรเป็นเครื่องมือในการแฮก เราเปิดมาด้วยบัสซิ่ง ทรานสิทเป็นการรวมตัวของกลุ่มคนที่อยากให้ขนส่งสาธารณะดี เลยควักกระเป๋าลงทุนกันเองโดยไม่พึ่งเทคโนโลยีต่างชาติ แต่ใช้ความถนัดของแต่ละคนมาช่วยกัน บ้างเก่งเรื่องไอที บ้างเก่งเรื่องเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ ทำให้เมืองพัฒนาจากการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ

ศิริบุ๊ค สโตร์ ร้านหนังสือและอุปกรณ์การเรียน แหล่งประเทืองปัญญาที่อยู่คู่เมืองบ้านไผ่มายาวนานจากรุ่นสู่รุ่น

คุณเลือกคนมาสัมภาษณ์จากเรื่องหรือเลือกจากคน 

ทั้งคู่ บางทีเริ่มจากคนที่เรารู้จักและรู้ว่าเขาเจ๋ง 

ทุกครั้งที่เราได้สัมภาษณ์เรื่องราวเหล่านี้จะรู้สึกโชคดีเหมือนมีคนจ้างให้เราไปเรียนรู้ โคตรได้กำไรเลย

รู้สึกยังไงที่คนภายนอกยังมองภาพลักษณ์คนอีสานตรงกันข้ามกับคุณ

เคยรู้สึกแย่มากตอนมีคำว่า ไอ้เสี่ยว ไอ้คนบ้านนอก เหมือนนิทรรศการแรกของ TCDC ‘กันดารคือสินทรัพย์’ พ.ศ. 2548 ที่เอ็มโพเรียม เอาหน้าคนอีสานแปะที่พื้น ทุกครั้งที่เดินคือเรากำลังเหยียบย่ำและดูถูกพวกเขา 

แต่ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไป คนอีสานเก่งขึ้นเยอะและยืนหยัดอยู่บนความเป็นอีสานได้อย่างภาคภูมิใจ เผลอ ๆ ดึงคนต่างถิ่นมาได้ด้วย 

ความเป็นอีสานกำลังเนื้อหอม เหมือนยุคหนึ่งที่คนจะแห่ไปเชียงใหม่ ตอนนี้คนแห่มาเปิดร้านกาแฟที่ขอนแก่น ศิลปิน คนที่ทำงานสร้างสรรค์ หรือพ่อค้าแม่ขายที่รักบ้านเกิดตัวเองก็เริ่มได้สปอตไลต์จากสื่อต่าง ๆ เป็นกำลังใจว่างานที่ทำมาเริ่มผลิดอกออกผลแล้ว 

ความเป็นอีสานไม่น่าอาย ไม่ต้องปิดบังอีกต่อไป 

ย้อนเวลาในห้วงนิทรา ณ โรงแรมวันชัย ที่พักสุดคลาสสิกประจำอำเภอบ้านไผ่ที่ยังเปิดให้บริการดุจวันวานใน พ.ศ. 2515 ภายใต้โครงสร้างสถาปัตยกรรมและการตกแต่งภายในสุดงดงามที่ยังอนุรักษ์ไว้ ห้องพักดูแลอย่างดีและสะอาดสะอ้าน บริการดีเยี่ยม ชวนหลงใหลหลับสบาย

“กูคือคนขอนแก่น”

เคยอายที่เป็นคนอีสานบ้างไหม

เราไม่เคยรู้สึกอาย แต่จะรู้สึกสู้เวลามีคนมาดูถูก ฉันจะสู้กลับ 

ด้วยวิธีการไหน

(หัวเราะ)

ตอนอยู่วงการอาหารแรก ๆ ยังไม่ได้มีความเชี่ยวชาญด้านอาหารมากมาย จะมีคำพูดว่า คนอีสานไม่มีศิลปะในการปรุงอาหาร โอ้โห เลือดขึ้นหน้ามากเลย เราจะยิ่งพิสูจน์ให้เขาเห็น

สุดท้ายพบว่า ถ้าเขามีอคติแล้ว ต่อให้เราทำได้ดีแค่ไหนเขาก็อคติ ฉะนั้นไม่ต้องไปสนใจ เราก็ทำในแบบของเราแล้วก็ภาคภูมิใจในความเป็นเรา แต่ต้องยอมรับความจริง เพราะมีจุดอ่อนบางอย่างที่เราควรจะยอมรับและแก้ไข ปรับปรุงให้ดีขึ้น ไม่ใช่แค่คนบ้านเรา คนไทยทุกคนทุกภาคนั่นแหละ 

ในยุคสมัยนี้ ความเป็นอีสานยังเป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์ตัวเองอยู่ไหม

ไม่จำเป็นแล้ว เมื่อก่อนถ้าพูดติดสำเนียงบ้านเกิดนิดหนึ่ง เราจะถูกมองว่าเป็นพลเมืองชั้นสองชั้นสามชั้นสี่ แต่ ณ วันนี้ไม่ใช่แล้ว มันวัดกันที่เนื้องาน ไม่สำคัญแล้วว่าคุณเป็นใครมาก่อน

คนสมัยใหม่มีข้อดีตรงที่เขาไม่ได้สนใจเรื่องชาติพันธุ์ ไม่เหยียดกัน ยอมรับความแตกต่างกันได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคนที่ไหน เขาดูว่าคนนี้มีผลงานอะไร ถ้าน่าชื่นชมก็ยกย่อง แม้กระทั่งบทเพลงต่าง ๆ เราก็ได้ยินแต่เพลงอีสาน อุตสาหกรรมนี้หมุนเวียนได้ด้วยคนอีสานหรือคนที่ชอบฟังเพลงภาษานี้

คนภูมิภาคนี้มีเอกลักษณ์อะไร

ความตรงไปตรงมา ความกล้าแสดงออก และความสู้ชีวิต 

ขอยืมคำให้สัมภาษณ์ของ พี่เถ่า คำปุน (เถ่า-มีชัย แต้สุจริยา) ว่าพวกเราเหมือนเส้นตรง ไม่ได้ตวัดเป็นลายกนกเหมือนคนอื่น แต่เป็นเส้นตรงที่มีน้ำหนัก มีไดนามิกของเส้นที่สวยงาม 

คนอีสานขึ้นชื่อเรื่องสู้ชีวิตอยู่แล้ว เวลาทำอะไรจะมีความวิริยะอุตสาหะในการอยู่ให้รอด เพราะการอยู่ให้รอดในอีสานก็ไม่ง่าย ถ้าเราไม่เคยมีโปรไฟล์จากกรุงเทพฯ มาก่อน ไม่รู้เลยว่าจะอยู่ได้แบบทุกวันนี้ไหม 

แต่ถ้าพูดในเรื่องอาหาร เราว่ามันน้อยแต่มาก เรียบแต่โก้ 

อิ่มอร่อยกับร้านอาหารอีสาน โสเจ๊งโภชนา การันตีความอร่อยด้วยความยาวนานกว่า 40 ปี มีดีกรีได้รับรางวัล Bib Gourmand จากมิชลินสตาร์ 2 ปีซ้อน เก๋สุดตรงที่เขาอนุญาตให้นึ่งข้าวเหนียวจากบ้านมากินเองแล้วสั่งเฉพาะกับข้าวที่ร้านกินก็ได้ไม่ว่ากัน
หมู่บ้านละว้า ซึ่งเต็มไปด้วยร้านขายผ้าและโรงทอผ้าขาวม้าสวย ๆ ราคาย่อมเยา ส่งขายทั่วประเทศ สายสวย สายแต่งตัวไม่ควรพลาดช้อป

แต่เท่าที่กินมาก็ไม่ค่อยเรียบเท่าไหร่นะ

(หัวเราะ) คนภาคอื่นจะคิดว่าคนอีสานกินรสจัด รสแซ่บ แต่หัวใจของอาหารอีสานคือความนัว นัวที่ไม่ใช่ผงชูรสแต่คือความอร่อยในรสชาติของวัตถุดิบและวิธีการปรุง 

อาหารอีสานเหมือนอาหารญี่ปุ่น คือมีเครื่องปรุงน้อยมาก เรามีแค่เกลือ ปลาร้า วัตถุดิบหลัก น้ำตาลก็แทบจะไม่ใส่ รสดีเติมลงไปตามความนิยม รสเผ็ดเข้ามาเพิ่มสีสัน แต่ต้องปรุงออกมาให้นัว นี่คือสิ่งหนึ่งที่สะท้อนถึงตัวตนและความเรียบง่ายของคนอีสาน

คุณบอกว่าถ้าไม่ได้มีโปรไฟล์จากกรุงเทพฯ ก็ไม่รู้ว่าจะใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านได้รึเปล่า เป็นไปได้ไหมที่คนอีสานจะไม่ต้องหลั่งไหลไปทำงานในกรุงเทพฯ 

ทุกวันนี้ก็เริ่มเป็น แต่ยังไม่ดีเท่า 

เราเป็นสังคม Centralized คือเข้าสู่ส่วนกลาง ยังไม่ได้เป็น Decentralized คือกระจายออกมาในภูมิภาค แต่ขอนแก่นมีความโชคดี คือเป็นเมืองที่คนพยายามจะผลักดันให้เป็น Smart City มีคนเก่ง ๆ นำมาซึ่งโอกาสต่าง ๆ 

ช่วงแรกเราพึ่งงานจากกรุงเทพฯ แทบจะร้อยเปอร์เซ็นต์ ช่วงหลังเรามีงานอยู่ในขอนแก่น มันเป็นสัญญาณบางอย่างนะ ต่อไปกรุงเทพฯ จะน้ำท่วม เมืองต้องย้ายอยู่แล้ว หลีกเลี่ยงไม่ได้ ถือเป็นโอกาสที่หลาย ๆ เมืองจะพยายามสร้างเมืองให้คนในจังหวัดอาศัยอยู่ได้

แต่การจะไปถึงจุดนั้นต้องอาศัยคนอย่างคุณมากมาย จะทำยังไงให้คนรุ่นใหม่หันกลับมารักบ้านเกิดตัวเอง

ความรักบ้านเกิดต้องปลูกฝังตั้งแต่สถาบันครอบครัว สิ่งนี้คือจุดเริ่มต้นของทุกอย่าง เด็กที่เติบโตมาต้องอยู่ร่วมกับวัฒนธรรมหรือสังคมที่ดีงามของอีสานถึงจะเกิดความภาคภูมิใจ เป็นเมล็ดพันธุ์ที่จะค่อย ๆ งอกงามไปพร้อมกับตัวเขา 

ถ้าคนในครอบครัวเหยียดหยามความเป็นคนอีสาน ออกไปเถอะ ไม่ต้องมาอยู่หรอกอีสานน่ะมันไม่มีอะไร ไปอยู่เมืองกรุงที่ศิวิไลนู่น ตามสัญชาตญาณของมนุษย์ที่หลีกหนีจากภัย จะไม่มีทางสร้างเด็กคนนั้นได้เลย

สอง คือสถานศึกษา โรงเรียนเราตอนเด็กมีกฎข้อหนึ่งคือห้ามพูดภาษาถิ่น แล้วคิดดูสิ เราจะภาคภูมิใจได้ยังไงในเมื่อพูดภาษาอีสานแล้วกลายเป็นความผิด โอเค คุณมีภาษากลางเอาไว้ให้นักเรียนเรียนรู้ แต่คุณควรจะยอมรับความหลากหลายของภาษา เห็นคุณค่าของภาษาพื้นถิ่น ให้เด็ก ๆ ได้พูดและเรียนรู้ภาษาพื้นถิ่นของตัวเอง แม้แต่ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่ถูกซ่อนอยู่ในคัมภีร์ใบลานก็จะถูกพัฒนาโดยคนที่เป็นรากเหง้าเดียวกันกับภูมิปัญญานั้น ๆ 

สุดท้ายคือนโยบายของประเทศนี้ คุณต้องสนับสนุน ต้องเคารพความหลากหลายของวัฒนธรรมและประเพณี ถ้าคนที่ดูแลเรื่องวัฒนธรรมเข้าใจและรู้จักที่จะต่อยอดส่งเสริมอย่างจริงจัง นำเข้าไปอยู่ในนโยบายตั้งแต่แรกและลองทำให้เกิดผล จะทำให้คนในพื้นที่นั้น ๆ อยู่ในวัฒนธรรมของตัวเองได้อย่างอหังการ ภาคภูมิใจว่ากูคือคนเชียงใหม่ กูคือคนขอนแก่น กูคือคนสุราษฎร์ธานี (ยิ้ม)

ร้านกาแฟบ้านหลังวัด ร้านกาแฟที่เปิดขึ้นเพื่อต้องการสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเยาวชน ไว้แลกเปลี่ยนและส่งต่อความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่คนรุ่นใหม่ และสอดแทรกเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติแบบยั่งยืน

ภาพอีสานในฝันของคุณเป็นยังไง 

ถ้าเป็น ณ วินาทีนี้ เราขอแค่เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยโอกาสและความดั้งเดิม เรามีคนพูดภาษาถิ่น มีอาหารอีสานอร่อย ๆ กิน มีสังคมเกษตรกรรมที่อยู่กันอย่างพึ่งพาและเคารพธรรมชาติ แล้วก็มีโอกาสให้อยู่ต่อไปได้ 

อะไรคือ Lifehacker ของ เกม-สิทธิโชค ศรีโช

การเล่าเรื่องความเป็นคนอีสาน ทำให้คนบ้านไผ่กลับมาคิดถึงบ้านไผ่ กลับมาเป็นคนใหม่ในพื้นที่เดิม 

ปีนี้เราได้รับเสียงสะท้อนกลับมาจากคนบ้านไผ่ด้วยกันว่า ขอบคุณนะที่กลับมาอยู่บ้านไผ่ 

เราไม่ได้บอกว่าบ้านไผ่ดีงาม ไม่มีอาชญากรรมเลย แต่เราเลือกนำเสนอภาพลักษณ์ที่ดีออกไป แฟนคลับเราก็เหมือนได้ไปเที่ยว ได้รู้ว่าอำเภอเล็ก ๆ ของขอนแก่นที่ชื่อบ้านไผ่ มีของกิน มีวัฒนธรรม มีศิลปะที่ซุกซ่อนอยู่มากมายผ่านเรื่องราวที่เราเขียนรายวัน

อีกอย่างคือคอลัมน์อีสาน Lifehacker ที่พี่ก้องมอบให้เป็นเครื่องมือที่ดีมาก เปิดโอกาสให้เราได้สื่อสารความเจ๋งของคนอีสานต่อไป คนอื่นจะมองแบบไหนไม่รู้ แต่สำหรับเรา คนอีสานเป็นแบบนั้น

ถ้าเปรียบชีวิต เกม-สิทธิโชค ศรีโชเป็นอาหารอีสาน จะเป็นเมนู…

ส้มตำ

แต่เป็นส้มตำเครื่องที่ใส่สารพัดสารเพตามมีตามเกิดลงไป เพราะมันคือการเอาชีวิตรอดของเราจริง ๆ 

ส้มตำเป็นอาหารที่ปรุงรสตามใจของคนกินได้ ชอบเปรี้ยวก็เติมมะนาวมะกอก ชอบเค็มก็เติมปลาร้า แต่สุดท้ายแล้วคุณต้องปรุงออกมาให้กลมกล่อม เหมือนทำง่ายแต่ไม่เลย 

คุณมีความสุขก็เหมือนกับสีสันของส้มตำ คุณเจอความทุกข์ก็เหมือนกับเส้นมะละกอที่ถูกสากกระแทก ๆ จนกระเด็นขึ้นมา มีเค็มไป เปรี้ยวไป เหมือนกับชีวิตเราที่ไม่เคยพอดี แต่ถ้าคุณปรุงให้มันนัวและอร่อยได้ คุณจะอยู่รอด นั่นคือคุณใช้ชีวิตแบบคนอีสานสำเร็จแล้ว 

เราก็พยายามตำส้มตำชีวิตตัวเองอยู่เหมือนกัน (หัวเราะ)

เดินชิลล์ในตลาดเช้าบ้านไผ่ ท่ามกลางกลุ่มอาคารราชพัสดุเก่า เปี่ยมเค้าลางความงามแห่งสถาปัตยกรรมดุจกำลังย้อนยุคให้ชื่นชม

Writer

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

นักอยากเขียน บ้านอยู่ชานเมือง ไม่ชอบชื่อเล่นที่แม่ตั้งให้ มีคติประจำใจว่าอย่าเชื่ออะไรจนกว่าหมอบีจะทัก รักการดูหนังและเล่นกับแมว

Photographer

Avatar

กานต์ ตำสำสู

จบวารสารศาสตร์ ม.สารคาม อายุ 26 เป็นคนสตูลที่เดินทางมาเรียนที่ภาคอีสาน ชอบฟังเพลงโลโซ คลั่งฟุตบอลไทย และชอบถ่ายภาพบ้านเกิดตัวเองเป็นชีวิตจิตใจ ปัจจุบันเปิดแล็ปล้างฟิล์มและห้องมืด ‘ฟิล์มกาหลง’ อยู่ขอนแก่น