“การเกษตรเป็นสิ่งที่เห็นผลิตผลช้า นับสิบปีถึงจะเห็นผล วัฒนธรรมจะให้เห็นผลแค่ชั่วข้ามคืน พี่เถ่าคิดว่าเป็นไปได้ยาก”

เถ่า-มีชัย แต้สุจริยา ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ทอผ้า) ชาวอุบลราชธานี กล่าวกับเราด้วยน้ำเสียงสุขุมราบเรียบ หากแต่หนักแน่นในความหมาย เฉกเช่นแก่นแท้ของงานศิลป์บนวิถีชีวิตคนอีสานที่เรียบง่ายแต่ทรงพลัง แม้ตระหนักดีว่าสิ่งที่ทำนั้นยาก ต้องใช้ทุนรอนและเวลา แต่เขาก็ยังมุ่งมั่นทำบนความสุข โดยมีศรัทธาเป็นพื้นฐานของแต่ละก้าวย่างของงานอนุรักษ์ พัฒนา และส่งต่อวัฒนธรรมอีสานให้งอกเงยผลิดอกออกผลแบบธรรมชาติด้วยความบริสุทธิ์ใจ

นี่คือเรื่องราวของศิลปินชาวอีสานชั้นครูผู้ถ่อมตน ส่งต่อความงดงามของวิถีอีสานในแง่มุมต่าง ๆ ผ่านปัจจัยทั้ง 5 ของมนุษย์ แบบมีราก มีแก่น และผลิดอกออกใบสะท้อนความงดงามแห่งอีสานอย่างเด่นชัดแต่พอดี เหมาะสมกับกาลเทศะ เขาบอกกับเราว่า จะรู้ว่าใครคือคนอีสานนั้นมีสโลแกนคือ อยู่เฮือนสูง นุ่งโสร่ง นุ่งซิ่น กินข้าวเหนียว เคี้ยวปลาแดก 

และที่สำคัญ ภายใต้กายภาพของชาวอีสานที่สะท้อนออกมาเหล่านั้นยังมีศาสตร์และศิลป์ที่บูรพศิลปินซุกซ่อนเอาไว้อย่างแยบยล ซึ่งครั้งนี้เขายินดีเปิดบ้านคำปุน บ้านส่วนตัวที่เป็นเสมือนโชว์เคสวิถีแห่งอีสานให้คุณผู้อ่านทุกท่านได้เข้ามาสัมผัสความงดงามแบบฉบับอีสานแท้ ๆ ในแต่ละด้านไปพร้อมกัน

เพราะน้อยเนื้อต่ำใจ จึงสืบสานสร้างสรรค์งานศิลป์อีสานอย่างถึงใจ

นายเตียซ้ง แซ่แต้ คุณพ่อของเถ่าเป็นชาวจีนที่มาอาศัยอยู่ในอีสานตั้งแต่อายุ 17 ปี จนคุ้นเคยกับวัฒนธรรมอีสานอย่างแนบเนียน แต่ก็ยังรักษาขนบธรรมเนียมของจีนเอาไว้ ขณะที่คุณแม่ นางคำปุน ศรีใส ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ประเภทประยุกต์ศิลป์ (ประณีตศิลป์-ทอผ้า) เป็นคนอีสานแท้ นั่นทำให้เถ่าได้สัมผัสกับวัฒนธรรมร่วมมาตั้งแต่เกิด ถึงอย่างนั้น สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ของเขามีจุดเชื่อมที่เหมือนกัน คือทั้ง 2 ท่านศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างมาก เด็กชายเถ่าจึงมีความรู้สึกศรัทธาต่อพุทธศาสนามาแต่วัยเยาว์ และมีความสุขทุกครั้งที่ได้สัมผัสงานศิลปวัฒนธรรม

พอเติบโตขึ้น พี่สาวของเขาต้องมาเรียนต่อที่กรุงเทพฯ ด้วยความเป็นห่วง แม่จึงส่งเขาให้ตามมาดูแลพี่สาวและได้เข้าเรียนที่โรงเรียนทวีธาภิเศก อาศัยอยู่ที่ฝั่งธนบุรี ด้วยความที่ชื่นชอบและหลงใหลในงานศิลปวัฒนธรรมอยู่แล้ว เขาจึงซึมซับความงดงามของศิลปะภาคกลางในฝั่งธนฯ และกรุงเทพฯ ในอดีตครั้งเอาไว้อย่างเต็มเปี่ยม เกิดการหลอมรวมความงามแบบอีสานที่เป็นเลือดเนื้อและความงามแบบภาคกลางที่ได้สัมผัสเข้าไว้ด้วยกันอย่างไม่รู้ตัว

พอเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ช่วงปีท้าย ๆ ของการศึกษา เถ่าเริ่มนำผ้าของคุณยายซึ่งทอขายอยู่แล้วในจังหวัดอุบลราชธานีมาลองจำหน่ายที่กรุงเทพฯ ภายใต้การสนับสนุนของผู้หลักผู้ใหญ่ที่เอ็นดู นั่นทำให้เขากลายเป็นทูตวัฒนธรรมที่นำเอาผ้าอีสานมาวางขายในเมืองกรุง เวลานั้นเองที่ก่อให้เกิดจุดเปลี่ยนสำคัญในการออกแบบพัฒนาผ้าอีสานให้มีความร่วมสมัยแต่ไม่ทิ้งเอกลักษณ์ดั้งเดิม โดยนำต้นแบบมาจากผืนผ้ามรดกเก่าเก็บล้ำค่าของครอบครัว มาถอดแบบและทำขึ้นใหม่ ผสานกับการย้อมสีสันให้ดูทันสมัยขึ้น กลายเป็นตำนานของเด็กชายอายุ 22 ปีจากอีสานที่ขายผ้าไหมจากอุบลฯ ผืนละ 17,000 บาทได้ โด่งดังจนหนังสือพิมพ์หัวเขียวมาสัมภาษณ์และตีพิมพ์เผยแพร่

หลังจากนั้นชะตาชีวิตก็พาเขาสู่การทำงานเป็นสจ๊วตของการบินไทย ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่ทำให้เขาได้มีโอกาสเห็นโลกกว้างผ่านการเดินทาง และได้เยี่ยมชมศิลปะระดับ Masterpiece ในพิพิธภัณฑ์ระดับโลก จึงรู้สึกว่าต่างชาตินั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่เพียงใช้อาตยนะทั้ง 5 สัมผัส อาทิ งานผ้า สถาปัตยกรรม อาหารการกิน ก็สื่อสารถึงความเป็นตัวตนออกของชนชาตินั้น ๆ ได้อย่างเด่นชัด แต่อุบลราชธานีบ้านเกิดของเขา ณ ขณะนั้นกลับสื่อสารความเป็นตัวตนออกมาไม่ได้เลย ทั้งที่รู้อยู่เต็มอกว่ารากแก้วแห่งงานศิลป์ของคนอีสานล้วนเป็นศิลปะชั้นสูง แต่กลับขาดสปอตไลต์ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ หรือสอดคล้องไปกับชีวิตประจำวันได้ นับวันก็รังแต่จะสูญหายไป ก่อเกิดเป็นความรู้สึกน้อยใจ

“ต้องกราบขอบพระคุณการบินไทยที่ทำให้เราได้เห็นโลกกว้าง การได้ท่องเที่ยวไปทำให้เราเห็นและได้เปรียบเทียบงานของเรากับต่างประเทศ หรือการได้ชม Museum ซึ่งอย่างพี่เถ่าเองคงไม่ได้ไปลอนดอน ไปปารีสที่จะได้ไปชมงาน หรือการได้ไปวาติกัน ได้ไปดูผ้าของเสื้อคลุมโป๊ป โอกาสที่เราจะได้ชมสิ่งเหล่านั้นคงยากมาก เนื่องจากว่าการทำงานทำให้เราพอมีเวลาว่าง จึงมีโอกาสได้ไปชม ก็เป็นการเรียนรู้จากการไปเห็นแล้วตั้งคำถามว่า ทำไมในงานผ้าของจีนอย่างงาน Tapestry ที่เป็น Imperial Court Robe เขาจึงทอให้มีเส้นทองในผ้าได้ ทำไมเขามีอะไรหลาย ๆ อย่างที่เราไม่เห็นในงานของไทย เพราะอย่างพื้นผิวผ้าไทยจะเรียบ นอกจากผ้ายกที่มีลายนูน แต่เป็นแบบนูนในระดับที่เสมอ ไม่ได้มีเลเยอร์ที่รู้สึกว่ามันถึงใจ

“หรือแม้แต่งานสถาปัตยกรรม ถ้าไปเทียบกับกาฐมาณฑุ ที่เนปาล พอเครื่องจะแลนดิ้ง เราจะเห็นหลังคาดินเผาเต็มไปหมด แล้วก็มีความอิ่มใจ แม้กระทั่งไม่ใช่บ้านเรา หรือพอไปเดินที่อัมสเตอร์ดัม เราได้เห็นตึกที่เป็นแผ่นแบน ๆ หลาย ๆ ท่านไปปารีส เห็นแล้วก็ทราบเลย หรือไปอิตาลี รู้สึกว่าเรเนซองส์หรือลอนดอนก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่พอกลับมาบ้าน อุบลฯ ล่ะครับ เราคืออะไร เราไม่เห็นอะไรที่น่าชื่นใจ จึงคิดว่าจะต้องทำโรงงานใหม่ นั่นคือบ้านคำปุน ก็ให้คุณแม่ช่วยหาที่ ซึ่งพี่เริ่มความคิดนี้ตั้งแต่อายุ 28 ปี ประมาณ พ.ศ. 2528 – 2529”

ความน้อยเนื้อต่ำใจกลายเป็นแรงผลักสำคัญที่ทำให้เขาหันมาสืบสานงานศิลปวัฒนธรรมของถิ่นอุบลฯ อย่างจริงจัง นำไปสู่การสร้าง ‘บ้านคำปุน’ แม้เบื้องต้นเขาจะบอกว่าสถานที่แห่งนี้ส่วนหนึ่งใช้งานเป็นโรงงานทอผ้า ทว่าสิ่งที่เป็นมากกว่านั้น คือที่นี่มีหน้าที่เสมือนพื้นที่สื่อสารความงามเชิงศิลป์ของคนอีสาน โดยซ่อนอยู่ในวิถีชีวิต ให้ผู้ที่สนใจเข้ามาสัมผัสความงามของอีสานได้ในวาระที่เหมาะสม

เปิดบ้านคำปุน

ทีมงาน The Cloud รู้สึกโชคดีและเป็นเกียรติมากที่เจ้าของบ้านยินดีเปิดบ้านคำปุนแบบเฉพาะกิจ เพื่อให้เรายลและเก็บภาพความงามในมิติต่าง ๆ ของอีสานมาฝากผู้อ่าน แถมยังช่วยอธิบายความรู้เชิงศิลป์ที่ซุกซ่อนอยู่ภายใต้ชายคาเฮือน รอยไหมของโสร่งอุบล กลิ่นหอมฮีน ๆ ของอาหารอีสานรสนัว และงานดอกไม้เพื่อพุทธบูชาที่แฝงไว้ด้วยนัยแห่งศรัทธาต่อพุทธศาสนา ให้กับเราได้ดื่มด่ำและเรียนรู้กับความเป็นอีสาน ภายใต้สโลแกน อยู่เฮือนสูง นุ่งโสร่ง กินข้าวเหนียว เคี้ยวปลาแดก กันอย่างลึกซึ้ง

ป.ล. เนื้อหาต่อจากนี้เป็นองค์ความรู้ล้ำค่าชั้นครูที่บอกเล่าจากศิลปินแห่งชาติผู้นี้ และเราไม่อยากตัดทอนเนื้อหาออกไป จึงอาจมีความยาวมาก ผู้เขียนขออนุญาตแนะนำผู้อ่านว่าเลือกอ่านเฉพาะส่วนที่สนใจก่อนก็ได้ เช่น หากสนใจงานด้านสถาปัตยกรรม ก็อ่านเรื่อง ‘อยู่เฮือนสูง เอกลักษณ์อย่างคนอีสาน’ หากสนใจงานผ้า ให้อ่านเรื่อง ‘นุ่งโสร่ง 1 ในผ้า 4 ชิ้นที่สำคัญที่สุดในชีวิตผู้ชายอีสาน’ หรือหากอินกับเรื่องอาหาร ก็ขยับไปอ่าน ‘กินข้าวเหนียว เคี้ยวปลาแดก และอาหารอีสานเป็นยา’ ส่วนถ้าใครชอบงานดอกไม้อีสานแนะให้อ่านเรื่อง ‘ศรัทธาและงานดอกไม้อีสาน’ แล้วจึงเขยิบต่อไปที่ 3 หัวข้อสุดท้ายถึงวิธีส่งต่อวัฒนธรรมอีสานอย่างแยบยล ก็จะช่วยให้อ่านบทความนี้ได้ง่ายขึ้น เข้าใจแล้วก็ไปเรียนรู้งานศิลป์ในวิถีอีสานกันโลด

อยู่เฮือนสูง เอกลักษณ์อย่างคนอีสาน

กลุ่มอาคารมีทั้งก่อขึ้นจากปูนและส่วนที่เป็นบ้านไม้ยกเสาสูง ฉาบทาด้วยสีส้มอิฐผสมสีดำของไม้ มุงหลังคาด้วยกระเบื้องดินเผา ตรงกลางพื้นที่มีสนามหญ้าสีเขียวและบึงบัว หากไม่รู้มาก่อนว่านี้คือบ้านส่วนบุคคล เราอาจนึกไปว่าคือสถานที่ของหน่วยงานภาครัฐที่ใช้สื่อสารด้านวัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์ หรือวัดวาอารามก็เป็นได้ และยิ่งไม่มีความรู้เชิงสถาปัตยกรรมด้วยแล้ว ก็จะพานคิดไปว่าเรือนไม้ยกเสาสูงด้านข้างนั้นคือบ้านทรงไทยแบบคนภาคกลาง

เถ่าบอกกับเราว่านี่คือบ้านที่ออกแบบจากความประทับใจวัยเยาว์ต่อหอไตรโบราณในอุบลราชธานีที่เขาเคยพบเห็น ตัวบ้าน อาคาร นอกจากมีส่วนอนุรักษ์แบบแผนบ้านอีสานแล้ว ยังมีส่วนที่ปรับประยุกต์ให้เหมาะสมกับการดำรงชีวิต ทั้งเป็นพื้นที่ใช้งาน อยู่อาศัยที่เอื้อต่อบุคคลทุกช่วงวัย หรือพื้นที่จัดแสดงผลงานของเขา รวมไปถึงห้องพระเพื่อทำบุญ และปรับประยุกต์ใช้เป็นที่ตั้งอุทิศส่วนกุศลเมื่อวาระสุดท้ายมาถึง ระหว่างเดินชมบ้าน เถ่าได้ชี้ให้เห็นลักษณะสำคัญ ๆ ที่สะท้อนถึงความมีแบบแผนของบ้านอีสานให้เราได้เข้าใจ

มันเป็นความประทับใจตอนเด็ก เราเห็นหอไตรวัดทุ่งสีเมืองที่ทรุดโทรม มุงสังกะสีผุ ๆ แล้วเราก็ชะเง้อเข้าไปมองข้างใน เห็นมีทองอยู่วิบ ๆ เป็นลายรดน้ำในคูหาที่ประดิษฐานพระไตรปิฎก ในขณะเดียวกันก็คือเรารู้สึกน้อยใจที่อุบลฯ ไม่มีการส่งเสริมสถาปัตยกรรม พอมีวัดต่าง ๆ ก็ทำลายสิมหรือโบสถ์เก่า ๆ ลง แม้กระทั่งวัดหลวง เราเกิดอยู่ข้างวัดหลวง ซึ่งเป็นวัดที่เจ้าเมืององค์แรกคือ พระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง ณ อุบล) สร้างขึ้นมา แต่ก็ถูกทำลายไป ไม่หลงเหลืออะไรไว้เลย

“พอหันกลับไปมองบ้านเกิดเรา บ้านเป็นทรงมะนิลาที่ไม่ทราบว่ามาจากไหน สร้างกันเต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด ไม่มีอะไรให้น่าภูมิใจ ถ้าไปเทียบกับที่กาฐมาณฑุ พอเครื่องจะแลนดิ้งลง เห็นหลังคาดินเผาเต็มไปหมด รู้ทันทีว่าถึงเมืองของเขาแล้ว แต่พอกลับมาบ้านเรา ไม่เห็นมีอะไรที่น่าชื่นใจเลย พี่เถ่าจึงคิดสร้างบ้านคำปุน โดยตั้งตามชื่อคุณแม่ เป็นการนำร่อง จุดประกายให้คนมองมาเห็นว่าอีสานเราไม่ได้มีแค่บ้านที่เป็นกระท่อมปลายนา

“พอพี่เถ่าสเกตช์ ทุกคนก็บอกว่า โอ้โห ฝันกลางวัน บอกเราว่าเป็นไปไม่ได้ว่า เหมือนวัดอะไรสักอย่าง พี่เถ่าก็เขียนอะไรที่เรียกว่ามากกว่าที่เห็นในปัจจุบัน แล้วก็มาศึกษาดูว่า ถ้าเป็นเรือนของสามัญชน ครอบครัวเราจะให้ความเคารพสถาบันพระมหากษัตริย์ หากจะประดับหน้าบันต่าง ๆ ต้องไม่ให้เกินเจ้านาย อย่างช่วงแป้นลมก็ไม่ควรมีลวดลายมาก กลายเป็นมีความเรียบง่ายซึ่งเราชอบ เพราะคิดว่าความ Simply ก่อให้เกิด Tranquillity มองไปที่ไหนก็เกิดความสงบสบาย เกิดความสุข ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ จึงยึดอันนี้เป็นหลักการสร้าง

“ตอนทำบ้านแรก ๆ มีครูบาอาจารย์ด้านสถาปัตยกรรมท่านบอกว่า คุณเถ่า บ้านอีสานไม่มีคอสองนะ อันนี้มันมีคอสอง ก็คือมีหลังคา 2 ชั้น 3 ชั้น พี่เถ่าก็ว่าอันนี้ผมเรียนรู้จากวรรณคดีอีสาน ในเรื่อง ท้าวฮุ่งท้าวเจือง ท่านพรรณนาถึงโฮงเวียงเชียงสา โฮงนี้หมายถึงวัง เมืองเวียงเชียงสานี่อยู่ตรงไหนไม่ทราบ แต่ในวรรณคดีพรรณนาถึงอาคารที่มีฐานผายกว้างจุดไฟดูสง่างาม และระบุว่ามี ‘คอคีบเครือวัลย์’ ก็คือคอสองที่ประดับด้วยลายพรรณพฤกษา เรามั่นใจว่าวรรณคดีอีสานนี้อายุ 200 ปีมาแล้วหรือกว่านั้น อาจสมัยอยุธยาก็ไม่ทราบ แสดงว่าบ้านอีสานก็ต้องมีคอสองตามที่วรรณกรรมกล่าวไว้

“นอกจากนี้ยังมีหลักฐานอีกหลายอันอย่าง เช่น ประวัติเมืองอุบลฯ เขาเขียนมาว่ามีมาตั้งแต่ก่อนเกิดกรุงเทพฯ เราก็ไปสืบค้นดูได้ ส่วนมากอยู่ในวรรณคดีที่พรรณนาถึงสิ่งที่นึกไม่ถึง เช่น อาคารที่เรียกว่า ‘โฮง’ ก็คือวัง ถ้าเป็นของอีสานยังแยกแยะอีกว่าโฮงคือที่อยู่เป็นเรือนไม้เหมือนอยุธยา ส่วนที่เป็นปูนจะเรียกว่า ‘หอราชสิงหาญ’ (เป็นคำที่สะกดตามคำบอกเล่าของคุณยาย) หรือก็คือท้องพระโรงนั่นเอง น้อยคนที่จะทราบว่าในอีสานมีท้องพระโรงด้วย สิ่งเหล่านี้ทำให้พี่เถ่ารู้สึกว่าเราต้องสร้างอะไรเพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเหล่านี้ให้กว้างขึ้น เราไม่ได้โอ้อวดว่าอีสานมีดี แต่เป็นการสร้างความรู้ที่แท้จริงความภาคภูมิใจในคนอีสาน

“คนอีสานสมัยก่อน เหมือนว่าเป็นคนสันโดษมักน้อย คืออยู่เฮือนสูง ก็ถือว่าโอเค ฝาเฮือนไม่ได้มุงขัดแตะ หากแอ้มด้วยแป้นก็คือมีระดับ คนอีสานเหมือนจะสันโดษ คือเท่านี้ก็ดีแล้ว ที่สำคัญ เป็นแพ็กเกจคือนุ่งโสร่ง นุ่งซิ่น กินข้าวเหนียว นี่คือความเป็นอีสานชัดเลยครับ และอีกอย่างหนึ่งที่ชัดคือ (เคี้ยว) กินปลาแดก อันนี้คือแน่นอนเลยครับ ถ้าเป็นคนอีสานชาติพันธุ์ลาว ซึ่งไม่ใช่กลุ่มที่พูดเขมรหรืออื่น ๆ ก็สะท้อนความเป็นกลุ่มล้านช้างชัดเจน

“อยู่เฮือนสูง ไม่ใช่แบบเรือนแพหรือเรือนที่ไม่มีชั้นล่าง บ้านอีสานนี่เฮือนสูงในแบบแผนบ้านอีสานก็มี ‘เฮือนแฝด เฮือนโข่ง’ (เฮือนโข่ง คล้ายเรือนแฝด แต่แยกโครงสร้างออกจากกันได้ รื้อแยกเฮือนโข่งไปปลูกในที่ใหม่ได้) สิ่งสำคัญที่คล้าย ๆ ภาคกลาง คือเรือนจะมี 3 ห้อง เป็นแถว 4 คู่เหมือนกัน

“ตัวแป้นลม (ไม้เชิงชายที่ปิดปลายหลังคา เพื่อบดบังความไม่เรียบร้อยของวัสดุมุงหลังคา) ของอีสานจะไม่ได้ตกแต่งด้วยกาแล เป็นแค่เรียบ ๆ ธรรมดา ยกเว้นเฉพาะเรือนที่พิเศษตรงปลายจะหยักปลายแหลมนิดเดียว ส่วนใหญ่จะมีประตู 2 ด้าน ตรงกลางทึบ เอาไว้วางรูปเคารพเสมือนหิ้งบูชาเรียงว่า ‘ห้องเปิง’ เป็นต้น แล้วก็มีนอกชานไว้ทำกิจกรรมต่าง ๆ

“ส่วน พาไล (เพิงโถงต่อจากตัวบ้านภาษาอังกฤษเรียก Porch) แล้วแต่ว่าจะมีหรือไม่ ตรงนี้อีสานก็มีเหมือนกันเรียกว่า ‘ต่อซด’ คือพาไลที่ยื่นออกไป และมีชานนอกชาน เรียกว่า ‘ซาน’ แล้วก็มี ‘เกิน’ เมื่อก่อนคนอีสานจะใช้บันไดขึ้นบนเฮือน เขาไม่เรียกว่าบันได แต่เรียกว่า เกิน คล้ายกับคำว่า ‘เกริน’ ในภาษาไทย (เกริน บันไดเลื่อนโบราณ ใช้ยกพระบรมโกศจากพระยานมาศขึ้นไปประดิษฐานบนบุษบกของพระมหาพิชัยราชรถ อ้างอิงจากคลังศัพท์ไทย โดย สวทช.) แต่คนอีสานไม่มี ร เรือ นี่ก็เป็นแบบแผนของเฮือนอีสานที่สมบูรณ์แบบ

“ส่วนฝาบ้านที่จะเป็นฝาสายบัวเป็นส่วนใหญ่และมีลูกฟักด้วย ซึ่งพี่เถ่าก็จำได้ว่าฝาเฮือนทางฝ่ายญาติของยายทวดบ้านจะมีลูกฟักและมีลูกกลึงไม้เล็ก ๆ (ลักษณะคล้ายลูกมะหวด) ดูแปลกไปจากภาคกลาง แต่เสียดายมันไม่ค่อยเหลือเท่าไร ส่วนที่ยังเห็นได้ชัดอยู่ก็คือที่พิพิธภัณฑ์คำปุนซึ่งเราเก็บมาจากเรือนเก่า ชั้นในเป็นฝาผนังสมบูรณ์ 4 ด้าน 

“และที่อีสาน เนื่องจากทางสายอุบลจำปาศักดิ์มีความเชื่อมโยงกัน แยกจากกันได้ยาก จะมีเอกลักษณ์อย่างหนึ่งซึ่งทางเวียงจันทน์ไม่มี เขาเรียกว่า ‘โกบ’ อาจแปลว่า ประกบ เรียกว่า ‘โกบแจเสา’ แปลว่ามีไม้ที่เป็นเสาสี่เหลี่ยม สกัดเอาตัวไม้ออกให้เหลือเป็นตัวมุมแล้วเอาไปประดับที่เสา ซึ่งปัจจุบันหาชมได้ที่พิพิธภัณฑ์ศรีอุบลรัตนาราม พิพิธภัณฑ์เอกชนแห่งแรกในจังหวัดอุบลราชธานี

“อีกอย่างที่ชัดคือ ‘ลายเครือเถา’ และ ‘ตัวกาบพรหมศร’ (กาบกนกชนิดหนึ่งที่ประกบกับโคนเสา) เป็นรูปกลีบบัวไม่เหมือนของไทย อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เราเห็นว่ามีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมาก จะอยู่ในเรือนสามัญชนไม่ได้ ต้องอยู่ในเรือนของชนชั้นสูง เป็นเรือนที่มีระดับขึ้นมา จึงอยากชี่ให้เห็นว่าเรือนอีสานมีแบบแผนอยู่พอสมควรเช่นกัน ส่วนเรือนอื่น ๆ ที่ไม่สำคัญให้ปัดไปด้านหลัง เช่น เรือนครัวหรือที่คนทางนี้เรียกว่า ‘คัวไฟ’

“หน้าบันนี่ก็เห็นได้ชัด ยังเป็นสายบัวอยู่สำหรับเรือนที่เป็นคุณภาพดี และอาจมีลูกฟักชั้นล่าง อันนี้พี่เถ่าก็นำแบบแผนที่เคยเห็นนี้ เนื่องจากเราเกิดนานทันได้เห็น ก็นำมาใช้กับบ้านคำปุน แล้วพี่เถ่าก็ใช้ลูกฟักรอบชั้นล่าง ก็ยังเห็นลักษณะแบบนี้ในแถบโขงเจียมอยู่ เสียดายที่เขาไปดัดแปลงหลายหลัง เพราะแถบโขงเจียมเป็นชายแดนของอุบลฯ กับจำปาศักดิ์ที่ติดริมโขงเลย เรือนจึงค่อนข้างจะแข็งแรงเรียบร้อย

“ทีนี้ส่วนที่เล็กกว่านั้นเขาเรียกว่า ‘เทิบ’ ก็คือเพิงต่าง ๆ ศัพท์ทางสถาปัตยกรรมอีสานเรียกว่าเพิงหมาแหงน เดี๋ยวนี้เรือนสมัยปัจจุบันพี่เถ่าเห็นกันทั่วประเทศเลย คือกลายเป็นแบบเทิบ ก็คือที่เป็นหลังคาลาดขึ้นอันเดียว อันนี้ถ้าทางอีสานถือว่าเป็นของคนฐานะยากจน ยังมีสิ่งปลูกสร้างอื่นอีกชนิดคือ ตูบ หมายถึง กระท่อมมีหลังคาที่มีอกไก่ หรือ ตูบต่อเล้า คือยุ้งข้าวที่มีหลังคาสามเหลี่ยมยื่นมาในพื้นโล่ง เพื่อใช้ทำงานในพื้นที่ใต้หลังคานั้น

“ที่คนอีสานต้องอยู่เฮือนสูง เพราะใต้ถุนเฮือนจะตั้งกี่ทอผ้าหรือให้สัตว์เลี้ยงอยู่ได้ ผูกวัว ผูกควายอะไรไว้อยู่ได้หมด แล้วก็อันนี้หมายถึงในครอบครัว สำหรับประชาชนทั่วไป เกษตรกร หรือสังคมเกษตรกร

“อย่างหนึ่งที่พี่เถ่าไม่มีวันเข้าใจเลย คือทำไมหน้าต่างของเฮือนอีสานต้องเล็กมาก และเรือนของอีสานจะคล้าย ๆ ของกลุ่มลาว เช่น ลาวครั่ง เป็นต้น คือใช้ผ้ากั้นเป็นสัดส่วน กั้นเป็นฝาประตู คือถ้าเรือนภูไท ในอุบลฯ เป็นเรือน เป็นห้อง อาจมีผนังกั้นเป็นผ้า เรียกว่า ‘ผ้ากั้ง’ ผ้ากั้นนี้ถ้าจะแต่งงานต้องทำให้สวยงามเพื่อเป็นทางเข้าของเรือนหอ ในกลุ่มชาติพันธุ์ลาวทั้งหลายจะมีผ้ากั้น ซึ่งมีบทบาททางด้าน Interior มาก เพราะใช้แทนประตู 

“การกั้นด้วยผ้าจะมีห้องหนึ่งที่ต้องสำรวมถ้าต้องผ่าน คือห้องเปิงหรือห้องพระ สมัยโบราณผู้หญิงถ้าจะเดินผ่านห้องพระต้องนุ่งผ้าซิ่น 2 ชั้น ขนาดนั้นเลยนะ ผู้ที่ได้รับการอนุญาตให้อยู่ได้ก็คือลูกชาย ให้นอนหน้าห้องนี้ได้ อันนี้ก็เป็นเรื่องการจัดพื้นที่ในบ้านของคนอีสาน ลูกชายอยู่ในห้องนี้ได้ ส่วนห้องนอนของลูกสาวต้องอยู่ในห้องมิดชิด เรียกว่า ‘ส่วม’ คือต้องอยู่ในห้องติดกับพ่อแม่ อันนี้เป็นเรื่องของการตัดเลย์เอาต์ของเฮือนอีสาน

“ส่วนของการปรับประยุกต์ให้เข้ากับวิถีชีวิต พี่เถ่าคิดว่าเราสร้างบ้านในยุคสมัยนี้ พี่เถ่าสร้างอาคารหลังหนึ่งเพื่อใช้เป็นห้องพระ ให้ท่านได้ทำอายุวัฒนมงคล ได้ทำบุญ ซึ่งลึก ๆ แล้วพี่เถ่ารู้สึกใจหายทุกครั้ง เพราะอีกนัยหนึ่งคือถ้าถึงเวลานั้นก็จะใช้อาคารนี้เป็นที่ตั้งทำบุญอุทิศ บ้านหลังนั้นเราจะไม่ได้ใช้เป็นที่อยู่อาศัย เราทำเป็น Temporary Exhibition Room ในฐานะที่ถ้าใครมาก็ให้ชม เป็นเหมือนสตูดิโอที่โชว์โปรดักต์ของเรา เมื่อก่อนใช้ที่นี่รับแขก ถือว่าได้เห็นเครื่องเรือน ได้เห็นศรัทธา ได้เห็นพระประธานของบ้าน ซีกหนึ่งใช้ทำบุญเลี้ยงพระ อีกซีกหนึ่งเว้นไว้เข้าใจในใจตัวเอง อันนี้ทำให้เห็นว่าเราก็ประยุกต์ใช้งาน โดยวางแผนล่วงหน้าไม่ทราบว่ากี่ปี”

นุ่งโสร่ง 1 ในผ้า 4 ชิ้นที่สำคัญที่สุดในชีวิตผู้ชายอีสาน

บุคคลในแวดวงสิ่งทอหรือผู้ที่สนใจงานผ้าต่างรู้จักกันดีว่า เถ่า มีชัย คือปรมาจารย์ด้านการทอผ้าไหมอีสาน โดยเฉพาะ ‘ผ้ากาบบัว’ ที่เขาคิดค้นพัฒนาขึ้น จากลายบนหัวซิ่นของผ้าซิ่นที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ กอปรกับการศึกษาขนมธรรมเนียมการนุ่งซิ่นของเจ้านายชั้นสูงของอุบลราชธานี ผ้าลายกาบบัวจึงกลายเป็นเอกลักษณ์ประจำจังหวัดที่เลื่องชื่อ ทั้งเรื่องความงามและเทคนิคพิเศษในการทอที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ซึ่งการมาเยือนบ้านคำปุนครานี้ เขาได้นำผ้าไหมอีสานชิ้นมาสเตอร์พีซ ทั้งผ้ามัดหมี่สอดไหมคำเอกลักษณ์เฉพาะของบ้านคำปุน และผ้ายกมีกรวยเชิงสามชั้น ผ้ายกไหมสีธรรมชาติ พร้อมสังเวียนและกรวยเชิงสามชั้นที่เขาออกแบบและทอขึ้นมาให้เราได้เห็นเป็นขวัญตาหลายผืน

นอกจากพัฒนาลายผ้าอย่างเป็นแบบแผนแล้ว ภาพจำหนึ่งเวลาที่เราเห็นศิลปินผู้นี้ในสื่อต่าง ๆ ก็คือการนุ่งผ้าโสร่งไหมตลอดเวลา เราจึงถามถึงเหตุผลของเขาว่าเชื่อมโยงกับคนอีสานอย่างไร “ผ้าที่ผู้ชายอีสานควรมีมีอยู่ 4 ผืนครับ หนึ่ง คือ ‘โส่รง’ สอง เรียกว่า ‘ผ้าแพ’ ก็คือผ้าขาวม้า แต่ทางนี้เรียกว่าแพอีโป้ (ในพจนานุกรมมีคำว่า แพรยีโป้ แปลว่าผ้าหนา ๆ ใช้สำหรับคาดไหล่ คาดพุง) ไม่ได้เรียกผ้าขาวม้าที่ยืมมาจากภาษาเปอร์เซียเหมือนภาคกลาง ผ้าแพรนี้จะมีลายชนิดที่เรียกว่า ‘สร้อยปลาไหล’ เป็นลายริ้วไหมทอสลับไหมเกลียวหางกระรอก ส่วนแพอีโป้เป็นตาสี่เหลี่ยม และสาม ‘ผ้าตุ้ม ผ้าขิต’ นี้เอาไว้ใช้เหมือนเสื้อกันหนาว ที่สำคัญ เวลาจะไปเกี้ยวสาว จะต้องมีผ้านี้คลุมตกแต่งร่างกาย เหมือนผ้าสไบ 2 ผืนมาเพลาะกลางสำหรับผู้ชายเท่านั้น เป็นผ้าผืนใหญ่ คล้าย ๆ ผ้าห่มของเม็กซิกัน เขาจะห่มผืนใหญ่ ๆ และผืนสุดท้าย ผืนที่ 4 คือ ‘ผ้าวา’ คือผ้าหางกระรอกหรือผ้านุ่งยาวไว้สำหรับนุ่งโจง 

“ตั้งแต่อีสานเหนือถึงใต้ ทุกกลุ่มชาติพันธุ์มีโสร่งเป็นของตัวเองทั้งสิ้น แล้วก็ถือว่าเป็นมรดก เป็นทรัพย์สิน นำไปจำนองและใช้เป็นสินสอดได้ ผ้าโสร่งนี้ยังใช้ในโอกาสสุดท้ายคือเป็นผ้าคลุมศพได้ด้วย คือใช้ผ้าโสร่งที่ยังไม่ได้เย็บ ทั้งยังมีกฎเกณฑ์ว่าผ้าผืนแรกแม่ทอให้ลูกคนโต เรียกว่า ‘ผ้าผืนกก’ ส่วนผืนปลายทอให้ลูกชายคนสุดท้อง และผืนตรงกลางที่เส้นยืนมันขยับ สวยงาม จะทอให้สามี ตรงผืนแรกจะมีรอยสึกของการย้อมเส้นยืนหน่อย ส่วนผืนสุดท้ายจะมีรอยซึม ๆ ของการย้อมตรงช่วงปลายเข้ามา นี่เป็นธรรมเนียมของคนอีสาน รู้กันทุกจังหวัดว่า ‘ผืนกกของลูกซายใหญ่ ผืนปายให้ลูกซายหล่า’ เพราะฉะนั้น ถ้ามีคนมาบอกว่าคนอีสานไม่นุ่งโสร่งนี่ พี่เถ่าคิดว่าเป็นไปไม่ได้

“คนอีสานนุ่งโสร่งที่เป็นตาสี่เหลี่ยมคล้ายลายสกอตขนาดใหญ่อย่างกับฝ่ามือ ทุกกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่เล็กกว่านี้ ถ้าเล็กกว่านี้ ทางสุรินทร์เรียกว่า ‘โสร่งสะไรย’ หรือแปลว่า ผ้าโสร่งของผู้หญิง ตาเล็ก ๆ เหมือนของพม่า ผู้ชายจะไม่นุ่งเด็ดขาด เรียกว่าเป็นโสร่งของผู้หญิง พี่เถ่าจึงคิดว่าไม่มีเหตุผลที่ควรจะสงสัยว่าคนอีสานนุ่งโสร่งหรือไม่ เพราะน่าจะสืบทอดมาหลายร้อยปี พี่เถ่าเลยเสียดายถ้าเราเลิกนุ่งผ้าโสร่ง

“ทีนี้ผู้หญิงจะนุ่งโสร่งได้ต่อเมื่อต้องการทำให้ผิดเพศ คือการเข้าทรงหรือบวงสรวง เป็นร่างทรงของผู้ชาย ทำให้พญาแถนตกใจว่าทำไมนุ่งอย่างนี้ครับ และผู้หญิงที่นุ่งโสร่งเป็นผู้หญิงที่ก๋ากั่น คบไม่ได้ อันนี้เป็นตราบาป เพราะฉะนั้นโสร่งเป็นของที่สำคัญมาก อย่าปล่อยให้เป็นของที่ปล่อยให้นุ่งแค่เวลาเข้าทรง หรือเก็บไว้ในตู้เลย ขอให้มันได้นำออกมาใช้ เวลาที่ไปบรรยายตามมหาวิทยาลัยก็จะบอกนักศึกษาว่า หนู ๆ ไปดูซิว่าในตู้มีของคุณตาคุณปู่ไหม ให้เอาออกมาใช้”

ถึงตรงนี้ เถ่าเล่าถึงสาเหตุที่ทำให้เขาหันมานุ่งโสร่ง ซึ่งแรกเริ่มเดิมที่ไม่ได้ตั้งใจจะอนุรักษ์ แต่ผลสุดท้ายกลับได้ผลดีในด้านของการส่งเสริมวัฒนธรรมได้อย่างเกินคาด

“จุดเริ่มต้นของการนุ่งโสร่ง พี่เถ่าอาจไม่ได้ตั้งใจที่จะอนุรักษ์อะไร และไม่ได้คิดว่าจะเกิดผลดีตามมาเช่นทุกวันนี้ คือเมื่อราว 20 ปีก่อนจำได้ว่ามีโอกาสให้สัมภาษณ์ลงหนังสือ Live and Décor พี่เถ่าก็ใส่รองเท้าผ้าใบแล้วก็นุ่งกางเกงขาสั้น แล้วก็เสื้อแขนยาว กางเกงขาสั้น ขณะที่มีคุณพ่อคุณแม่นั่งอยู่ แม่ก็นุ่งผ้าซิ่น เราก็รู้สึกว่า เอ…มันดูจะไม่ค่อยเหมาะกับงานที่เราทำ ถ้าเราจะมามีงานตรงนี้แล้ว ก็ควรจะได้มีส่วนในการเผยแพร่ศิลปะการแต่งกายอีสานบ้าง

“ครั้งแรกที่นุ่งโสร่งออกสื่อ คือให้สัมภาษณ์ลงนิตยสาร พลอยแกมเพชร จำได้ว่าต้องถ่ายภาพกับคุณแม่เยอะพอสมควร ซึ่งคุณแม่ก็แต่งตัวของท่านอยู่แล้ว เราเลยเอาโสร่งมาใช้ นั่นน่าจะเป็นครั้งแรกที่คนเห็นโสร่งแล้วคนก็เห็นว่าเป็นภาคอะไรทำไมถึงแต่งตัวแบบนี้ ๆ ซึ่งจริง ๆ คือมันเป็นโสร่งของอุบลฯ แล้วก็ใช้กับเสื้อเชิ้ต มันไปกันได้ อันนี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นเลยที่เรานำโสร่งมาใช้ แล้วก็ใช้กับเสื้อคอพระราชทาน (นิยมเรียกว่าเสื้อคอจีน) นั่นก็เป็นครั้งแรก ๆ ก็เรียกได้ว่าทำให้คนสนใจ ในเรื่องว่า เอ๊ะ! ทำไมเราแต่งตัวแบบนี้ แต่พี่เถ่าก็ต้องระมัดระวังไม่ให้เป็น Transexual

“ในขณะเดียวกัน พอพี่เถ่ามีงานดนตรีไทยที่ให้เด็ก ๆ มาช่วยเล่นดนตรีในวัดหรือในงานที่บ้าน ก็มีการให้เด็ก ๆ นุ่งโจง 1 วัน นุ่งโสร่ง 1 วัน สลับกัน ให้เขาคุ้นเคยกับการนุ่งโจงแบบไทยเพราะเขาเล่นดนตรีไทย แต่ก็ให้เขาคุ้นเคยกับการนุ่งโสร่งด้วย เด็กก็นุ่งไม่เป็น เขาระวังตัวยากมากเพราะมันเปิด รู้สึกเขิน แต่ว่าในที่สุดก็ประสบความสำเร็จ ไม่มีใครอายที่ใส่โสร่ง

“เรื่องของการนุ่งผ้านุ่งโสร่ง นุ่งโจงนี้ นอกจากตัวเราแล้ว พี่เถ่ายังมีโอกาสจัดคอสตูมให้กับผู้หลักผู้ใหญ่ในจังหวัดเวลามีงานสำคัญ ๆ เช่น พอมีงานสรงน้ำพระแก้วบุษราคัม พระประจำจังหวัดอุบลราชธานี ก็จะมีเกวียนที่จะให้ท่านผู้ว่าซึ่งเป็นประธานฝ่ายฆราวาสสำหรับขึ้น แล้วก็นายกเหล่ากาชาดก็ขึ้นเกวียน เราก็มีคอสตูมให้ท่าน คืออย่างเจ้าเมืองก็มีนุ่งโจง แล้วก็มีเสื้อไทย ทางฝ่ายหญิงก็มีผ้าเบี่ยงหรือสไบ พี่เถ่าก็ลงทุนทำด้วยใจ ทำให้ท่านโดยที่ไม่คิดมูลค่า เราก็ต้องสมควรแก่ฐานะของท่าน แล้วก็ยกเป็นของขวัญให้ท่านเหล่านั้นเลย เพื่อเป็นการตอบแทนท่านที่มาทำประโยชน์ให้วัด เราทำอย่างนี้ทุกปี

“สิ่งที่ทำอยู่ในปัจจุบันคือจะสร้างผ้าโสร่งที่มีสีที่มันดูเป็นผู้ชาย แล้วก็เหมาะที่จะสวมใส่ เพราะบางครั้งเขินที่จะไปใส่ผ้ามัดหมี่อะไร ซึ่งเป็นวัฒนธรรมใหม่ที่ผู้ชายนุ่งมัดหมี่หรือไม่ ก็ต้องบอกว่าไม่ เพราะเห็นได้จากภาพถ่าย เดิมผู้ชายอนุญาตให้นุ่งโจงมัดหมี่เท่านั้น คือผ้าสมปักปูมใช้เฉพาะบุคคลชั้นสูง เขาเรียกว่า High-ranking เป็นมัดหมี่นุ่งจนถึง สมเด็จเจ้าพระยา พระมหาบรมวงศ์ (ชุ่ม บุญนาค) ท่านก็ยังนุ่งเป็นผ้าสมปักปูมท่อนล่าง แล้วท่อนบนท่านไม่สวมเสื้อ ส่วนผู้หญิงของราชสำนักไทยไม่นุ่งมัดหมี่

“ผ้าปูมและผ้ามัดหมี่นี่แหละครับที่เราคิดว่าเป็นเทคนิคสำคัญที่ชาวอีสานไม่ว่าจะพูดภาษาเขมร ลาว ส่วย กูย เญอ ย้อ ภูไท ทุกกลุ่มชาติพันธุ์ทำผ้ามัดหมี่ได้ทั้งสิ้น เลยคิดว่าอันนี้เป็นหลักสำคัญของผ้าอีสาน จึงพยายามพัฒนาให้มีความสบายใจต่อการสวมใส่มากขึ้น และยังคงเอกลักษณ์ของผ้าโสร่งของอุบลฯ ซึ่งถือเป็นผ้าโสร่งที่มีค่าที่สุดในเวลานี้

“มาถึงปัจจุบันก็ทำให้เราเห็นว่า สิ่งที่เราทำมานี้ ได้ทุ่มเทลงไป ได้จริงใจกับสิ่งที่อำนวยความสะดวกให้เด็ก ๆ ได้มีผ้าโสร่งนุ่งกัน หรือแม้แต่หมอลำที่พี่เถ่าได้เชิญมาในระดับผู้ใหญ่ ท่านบอกว่าพ่อไม่เคยนุ่งโสร่งร้องหมอลำนะ ใส่แต่สูท เพราะว่าเขาเหมือนดาราไง เพราะฉะนั้นอะไรที่เป็นของสมัยใหม่นั้นหมอลำพรีเซนต์ ความร่วมสมัย ความทันสมัย เลยขอร้องให้คุณพ่อนุ่งโสร่ง หลังจากนั้นก็มีหลายท่านที่เห็นด้วย ก็จะเห็นว่าศิลปินแห่งชาติหลายท่านยอมนุ่งโสร่งในการที่ท่านจะแสดง อันนี้ถือว่าเป็นการที่เผยแพร่และที่สำคัญ เด็ก ๆ ตั้งชมรมนุ่งโสร่งนุ่งผ้าซิ่นเองโดยที่ไม่มีใครบังคับ ตรงนี้เป็นสิ่งที่น่าชื่นใจที่เยาวชนอีสานเขาเห็นคุณค่าในสิ่งที่มีอยู่ แล้วก็กล้าแสดงตัวว่าเขาคือใคร ความมั่นใจอย่างนี้ที่ไม่ใช่อีโก้ แต่คือความภาคภูมิใจที่ได้นำเอามรดกของบรรพบุรษมาแสดงให้เห็น นี่แหละคือเชื้อเพลิงที่จะขับเคลื่อนการจรรโลงศิลปวัฒนธรรมของอีสานสืบไป”

กินข้าวเหนียว เคี้ยวปลาแดก และอาหารอีสานเป็นยา

ต้องยอมรับว่าปัจจุบันนี้เทรนด์เรื่องอาหารอีสานได้รับความนิยมอย่างมาก ทว่าบนความนิยมที่เป็นอยู่ หากถามหารสชาติดั้งเดิมแบบอีสาน ตามรสนิยมของคนรุ่นปู่ย่าตายายที่ได้สร้างสรรค์เอาไว้ กลับกลายเป็นรสที่หาลิ้มลองยากขึ้นทุกที เถ่าถึงกับเอ่ยปากกับเราว่า นี่เป็นงานหนึ่งที่เขาอยากจะสืบสานและสื่อสารให้คนทั่วไป แม้แต่ลูกอีสานยุคใหม่ได้รู้จักและเข้าใจ

หลังกล่าวจบ พาข้าวอีสานที่เขาจัดเตรียมไว้อย่างประณีตก็วางลงตรงหน้า ในพาข้าวชุดทองเหลืองนั้นมีทั้งแกงหน่อไม้ใส่ใบย่านางที่แฝงสรรพคุณเป็นยา ซุบหมากมี่ (ขนุนอ่อน) ลาบวุ้นใบหมาน้อยใส่ป่นและมะเขือขื่น ปลาร้าผัดหมูสับ และปลานาง (ปลาเนื้ออ่อน) ผักนึ่งผักสด กินคู่กับแจ่วมะเขือเทศ เคียงด้วยข้าวเหนียวในก่องข้าวที่มีรูปทรงสวยงาม ซึ่งเขาบอกว่าไม่เคยนำก่องข้าวนี้มาให้ใครได้ชมมาก่อน

ในขณะลิ้มลองอาหารอีสานรสเลิศนี้เอง เขาเล่าถึงการปรุงอาหารอีสานให้เราฟัง เพื่อสะท้อนว่า ของกินอีสานมีวิธีการปรุงที่ชัดเจน เป็นของเฉพาะตัว สะท้อนว่าปากศิลป์ของคนที่ราบสูงไม่ได้ด้อยไปกว่าภาคไหน ๆ กลายเป็นการสอนภาคทฤษฎีเกี่ยวกับภาษาอีสานแบบกลาย ๆ ที่คนฟังผู้รักการทำอาหารอย่างฉันทั้งอิ่มท้องและได้เติมเต็มความรู้ไปพร้อมกัน

“เราเปรียบตัวเองว่าน่าจะเป็นช่วงของเวลาตะวันตกดินของคนที่รู้ เกิดมาทัน รู้เรื่องอาหารอีสานว่า Cooking Term หลากหลาย เช่น อ่อมอย่างไร อู๋อย่างไร แจ่วอย่างไร ต้มคืออะไร หรือหมกเป็นยังไง หรือคั่วเป็นยังไง จืนเป็นอย่างไร ยังไม่มีใครรู้ เพื่อนพี่เถ่าบางคนบอกว่าวัฒนธรรมการกินของคนไทยวันนี้เสื่อมไปหมด ส้มตำบ้าบออะไรขึ้นมาเต็มบ้านเต็มเมือง เขารังเกียจว่าอาหารอีสานเป็นของชั้นต่ำ พี่เถ่าก็บอกเขาว่าจะเป็นของชั้นต่ำได้ไง ในเมื่อวิธีปรุงมีการสุก 2 ครั้ง ย่างแล้วค่อยมาก้อย ย่างแล้วค่อยมาใส่ในแกงหวาย ฉะนั้น อาหารอีสานมีระดับนะ และยังมีเรื่องการใช้ผักต่าง ๆ ไปแมตช์กับอะไร เช่น อ่อมไก่ต้องใส่ฟัก ถ้าอ่อมเนื้อต้องใส่บวบ มีการจับคู่กันไว้อย่างมีแบบแผนอยู่

“แม้คนอีสานจะมีเชื้อสายล้านช้าง แต่อาหารอีสานหลายอย่างมาเจริญงอกงามบนแผ่นดินอีสาน เช่น ส้มตำไม่ได้เกิดในลาว ไม่ได้เกิดในอีสานตั้งแต่ต้น แต่ก็คลี่คลายจนได้รับความนิยมในอีสานในที่สุด หมกบางอย่าง ทางเวียงจันทน์ไม่มี เขาเรียกว่าหมกภาคใต้ คือหมกจำปาศักดิ์ จะรู้ได้ยังไงว่าเกิดขึ้นจากจำปาศักดิ์ อาจได้รับอิทธิพลจากอุบลฯ ไป เหมือนอย่างศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆ เช่น เครื่องลงรักปิดทองของอุบลฯ ที่เข้าไปสู่จำปาศักดิ์ ในช่วงที่อยู่ภายใต้การกำกับของสยามก็ได้

“ตอนนี้พี่เถ่าเหลืออยู่อย่างเดียวที่อยากทำ คือตำราอาหารอีสาน ซึ่งเป็นของที่อยากให้เรียนรู้ว่าอะไรคืออาหารอีสาน อะไรไม่ใช่ จะเริ่มจากการหมักปลาร้าก่อน หมักปลาแดกยังไง ของอุบลฯ ก็จะเพิ่มมาหน่อย คือเค็มบักนัด ของอุบลฯ สูตร 3 : 2 : 1 บักนัด 3 : ปลา 2 : เกลือ 1 ทุกคนทำอาหารอีสานออกมาได้ หรือแม้แต่ Cooking Term ที่บอกว่า อ่อมคือคนละอ่อมกับของภาคเหนือ ประกอบด้วยพริก หอม กระเทียม ตะไคร้ โขลก คั่วให้หอม ไม่ใช่เหมือนแกงเลียง แต่ใส่ใบแมงลัก นี่คืออ่อม

“รู้จักอ่อมแล้ว ครานี้ อู๋ ล่ะคืออะไร คือการเอาหน่อไม้มาเคี่ยวต้มกับใบย่านาง เรียกว่า อู๋หน่อไม้ แล้วใส่พุงปลา อู๋หน่อไม้ใส่ไก่ อู๋หน่อไม้ใส่โน่นใส่นี่ แต่เดี๋ยวนี้ก็อู๋นั่นอู๋นี่อาจไม่ตรงกับสำนวนเดิมที่พี่เถ่าเคยรู้จัก

“อ๋อ คือ คั่วแห้ง อาจใส่พริก หอม กระเทียม ตำตะไคร้ แล้วผัด ใส่น้ำ เสร็จแล้วเคี่ยวจนแห้ง หรือว่าต้มที่ฝรั่งเรียกว่า Simmer เอาไว้ จนกระทั่งนิ่ม อันนี้แหละที่เรียกว่า อ๋อ 

“นี่ไงครับ มีอ่อม มีอู๋ มีอ๋อ ส่วนอันอื่น ๆ ได้แก่พวกเครื่องจิ้ม อาหารอีสานมีอะไรบ้าง มีแค่พริกป่นกับข้าวคั่ว มะขามเปียกกับน้ำปลาร้า เป็นแจ่วแล้ว แต่ถ้าเป็นแจ่วบอง ต้องประกอบด้วยของที่มีข่า พริก หอม กระเทียม เผาหรือคั่วก่อน ถึงจะเรียกว่าบอง เอาปลาแดกมาตำกับของที่คั่วหรือเผาแล้วเหล่านี้ เรียกว่า ปลาแดกบอง อันนี้คือปลาแดกบอง อันนี้คือการบองนะครับ เห็นไหมว่ามันเยอะมาก นี่คืออีสานซึ่งไม่ใช่ลาว แต่เป็นอีสานที่อาจจะพัฒนามากว่า 200 ปี

“นอกจากนี้ก็มี ลาบ ซึ่งมีทั้งจากพืช เช่น สาหร่าย ทางเหนือเรียกว่า เตา ทางอีสานเรียกว่า เทา เอาสาหร่ายที่เป็นเส้นยาว ๆ มาลาบ เห็ดบางอย่างเอามาลาบ ทีนี้ลาบต่างกับก้อยยังไง ดูคร่าว ๆ อะไรที่เป็นชิ้นใหญ่เรียกว่า ก้อย อย่างเช่นย่างเนื้อเอามาปรุงอย่างลาบ เรียกว่า ก้อย หรือว่าเห็ดที่หั่นเป็นชิ้นใหญ่ ๆ ก็เรียกว่าก้อยนะครับ

“อีกอย่างที่ต้องทานทุกบ้านเหมือนน้ำพริกปลาทูของคนอีสานก็คือ ป่น เกิดจากการเอาน้ำปลาร้ามาต้มกับปลา ทั้งน้ำและตัวปลาร้ามาต้มกับปลา ทำคล้ายกับขนมจีนน้ำยา ต้มแล้วเอามาแกะเอาแต่เนื้อ ทีนี้พริกหอม กระเทียมเผา แล้วเอามาโขลก แกะเอาเนื้อปลาลงโขลกลงไป ใส่น้ำต้มปลา จะใสหรือข้นขึ้นกับครอบครัว ถ้าประหยัดก็ปรุงใสหน่อยเพราะลูกเยอะ ก็เอาผักนี่จิ้มลงไป เรียกได้ว่าเป็นเครื่องจิ้มที่ขาดไม่ได้ ต้องมีทุกครอบครัว 

“แล้วก็ ต้ม คือพวกแกงต่าง ๆ เขาเรียกว่า ต้ม ต้มไก่ต้มปลาใส่ผักติ้ว ต้มปลาใส่ลูกของส้มโมง (ชะมวง) เป็นของที่ต้องคู่กับปลาเท่านั้น หรือต้มปลาใส่มะกอก มะกอกที่ใส่ส้มตำมีเยอะครับ อย่างเช่น แกงหวาย พวกแกงขลุกขลิกที่ใส่ข้าวเบือ ข้าวเบือคือข้าวเหนียวแช่น้ำ โขลกให้เป็นแป้ง แล้วใส่ลงไปในแกงให้มีความข้น เรียกว่าให้จิ้มติด เอาข้าวเหนียวจ้ำติดก็เป็นเรื่องของแกงหวาย แกงหน่อไม้เป็นหลัก อันนี้น้ำแกงจะข้น หรือบางบ้านจะเอาข้าวเบือนี้ใส่ในอ่อมก็ได้ แต่ว่าคุณแม่พี่เถ่าไม่ชอบ ท่านชอบใส ๆ ถ้าใส่ข้าวเบือลงไปก็เป็นเรื่อง ท่านไม่ชอบเหนียว ๆ อันนี้ก็เป็นเรื่องของแกงต่าง ๆ

“จะเห็นว่าอาหารอีสานอย่างนี้ไม่มีในลาวหลายอย่าง อย่างหมกหัวปลีใส่ไก่ ทำไมปลีต้องใส่ไก่ ไม่ทราบครับ แต่หมกปลีก็ต้องใส่ไก่ หรือลาบปลาที่เหนียว ๆ อย่างลาบปลากราย ต้องคนกับน้ำปลาร้าอุ่น ๆ ถ้าคนกับน้ำปลาร้าร้อน ๆ มันจะไม่เหนียว ไม่เป็นกาวเหมือนแป้งเปียกอย่างที่ควรเป็น ก็ทานกันอย่างนั้น ทานกับผักชีลาว นี่เป็นเรื่องของอาหารอีสานที่ยูนีกมาก ไม่มีที่อื่นที่มีอย่างนี้

“ของอย่างอื่นเช่น ไข่คั่ว ก็มีพริกกับกระเทียมแล้วเอาน้ำหยอด ไม่มีไขมัน เหมือนกับ Scrambled Egg แล้วก็ใส่ใบผักอีตู่ (ใบแมงลัก) แม้กระทั่งคั่วสมองวัว พี่เถ่านี่ถนัดตั้งแต่เด็ก คือใส่พริก หอม กระเทียมตำ แต่ต้องนำมาอ๋อก่อนครับ คือจะมีน้ำขลุกขลิก แต่ถ้าเรารังเกียจของที่ดูเป็นมัน ๆ อย่างนั้น เราก็คั่วจนติดกระทะแล้วจึงตักมาเสิร์ฟ อันนั้นเขาเรียกว่าคั่วครับ เห็นไหม Cooking Term มีตั้งเยอะแยะ อาหารอีสานไม่ได้มีเหมือนอย่างลาวในปัจจุบัน ซึ่งเราไปลาวก็หาทานไม่ได้ แม้กระทั่งอาหารอีสานในประเทศไทย ในมุมที่พี่เถ่าพูดถึงก็แทบจะไม่มี แล้วการที่เราได้พัฒนามาใหม่ เช่น หมี่กะทิอุบลฯ คั่วหมี่ หรือผัดไทยของอีสานที่ไม่เหมือนภาคกลาง ไม่เหมือนตั้งแต่ที่นี่ใช้กระเทียม ของภาคกลางใช้หอมแดง แล้วก็ที่นี่ไม่มีรสเปรี้ยวเลยเด็ดขาด ไม่ใส่ส้มมะขาม ไม่พรมน้ำส้มสายชูบนเส้น

“รสชาติเรียกว่าความ Authentic ของอาหาร เราต้องรักษารสนิยมของผู้รับประทานเอาไว้ให้ได้ ส่วนจะแตกออกไปเป็นของ Cuisine เป็น Fusion ต่าง ๆ ออกไปก็แล้วแต่ท่าน แต่ของที่เป็น Authentic นี่พี่เถ่าคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จักรสนิยมของปู่ย่าตายายที่รับประทานกันมา อะไรที่เปรี้ยวเกินไป ที่บีบมะนาวไปนี่ไม่ใช่อีสานเลย อย่างส้มตำเดี๋ยวนี้ที่เผ็ดเปรี้ยวเกินไปเพื่อเอาใจตลาด แต่ว่าคนอีสานเขาทานรสอ่อน แล้วทำไมตำแตงต้องใช้หัวหอมเท่านั้น พี่เถ่าบอกเลยว่า

“ส่วนของการพัฒนา เกี่ยวกับอาหารอีสาน พี่เถ่าก็ทำครับ อย่างเช่นพี่เถ่าคิดทำข้าวตังหน้าเค็มบักนัด คือเราเหมือนทำข้าวตังหน้าตั้ง แต่ทำเป็นเครื่องจิ้ม โดยใช้เค็มบักนัดมาทำ ใส่รากผักชีและพริกไทยลงไป เพื่อที่จะให้กลิ่นมีความสบายขึ้น โล่งขึ้น หอมขึ้น เรียกได้ว่าเอาวัตถุดิบมาต่อยอดใหม่ได้”

กล่าวจบเขาก็ผายมือไปที่ถ้วยแกงหน่อไม้ แล้วเล่าว่าในเรื่องยารักษาโรค คนอีสานกินอาหารเป็นยา อย่างเช่นในแกงหน่อไม้ คนอีสานก็รู้จักที่จะนำเอาใบย่านางมาต้มกับหน่อไม้เพื่อฆ่าฤทธิ์ในหน่อไม้ที่ไม่เป็นผลดีต่อร่างกาย ใบย่านางคือยาฤทธิ์เย็น ช่วยลดอาการร้อนในได้ อย่างเช่นในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งที่ให้คีโมและมีความร้อนในร่างกาย หากกินน้ำคั้นใบย่านางในปริมาณที่เหมาะสม ก็จะช่วยลดทอนความร้อนนี้ลงไปได้ อีกเมนูที่เถ่าเล่าให้เราฟัง คือเมนูลาบวุ้นใบหมาน้อย ซึ่งเพิ่งได้ขึ้นทะเบียนเป็นอาหารของจังหวัดอุบลฯ ในประเด็นนี้เถ่าบอกกับเราว่า

“ไม่ทราบว่าใครจัดทำเนียบอาหารอีสานขึ้นมา ทุกคนมาโวยว่าเป็นของอุบลฯ ที่ไหน ไม่เห็นเคยได้ยินเลย ใบหมาน้อย (บางแห่งในอุบลฯ เรียกหมอน้อย) ลาบหมาน้อยอะไรนี่ พี่เถ่าเลยบอกว่า ดีแล้วที่จังหวัดอื่นไม่โวย เพราะใช้หลายจังหวัด เขารู้จักกันหมด แต่คุณนั่นแหละไปอยู่ไหนมาจึงไม่รู้จัก เกิดที่อุบลฯ แท้ ๆ ไม่รู้จักใบหมาน้อย ก็จะบอกเลยว่าใบหมาน้อยนั้นเอามาคั้นกินเป็นยาเย็น แล้วของพี่เถ่านี่ยังมีเดี๋ยวจะหาภาพมาให้ดู ก็คือเห็ดตาโล่ เขาก็จะกินเป็นยาเย็น มันเหมือนลำไยครับ ปีหนึ่งมีครั้งหนึ่ง กินเพื่อล้างสารพิษในร่างกาย อันนี้เป็นเรื่องของอาหารเป็นยาของคนอีสาน พี่เถ่าไม่มีความรู้เรื่องยา แต่พี่เถ่าก็คิดว่า ถ้าเรากินอย่างนี้ คือเรากินรักษาสุขภาพ ปรับสมดุลได้ อันนี้แก้ร้อนได้ ถ้าสมมติเรามีไข้อ่อน ๆ เราก็กินใบหมาน้อยนี่แหละ มีมะเขือขื่นขาดไม่ได้ อาจเป็นเพราะวัตถุดิบอย่างนี้ที่นำมาผสมกัน ถ้าขาดไม่ได้ แสดงว่ามีผลต่อการให้สรรพคุณทางยา เหมือนมะเขือขื่นแก้อาการแพ้ยางรักได้ ตำแล้วก็มาทา พี่เถ่าคิดว่ามันมีนัยทางสรรพคุณยาอยู่นะครับ”

เรียกได้ว่าเป็นการปิดมื้ออาหารที่อร่อยอยู่แล้วให้ผู้กินอย่างเรารู้สึกว่าอร่อยมากขึ้น เพราะได้อินกับความเป็นอีสานที่เถ่านำมาบอกเล่า เสมือนกำลังนั่งกินอาหารแบบ Chef’s Table สุดเอ็กซ์คลูซีฟ

ศรัทธาและงานดอกไม้อีสาน

อีกสิ่งที่เราได้พบเห็นเมื่อมาเยือนบ้านคำปุนครานี้ คือเถ่าพร้อมทีมงานจัดเตรียมดอกไม้อีสาน เพื่อใช้ถวายพระเป็นพุทธบูชาทั้งขันหมากเบ็ง บายศรี ปราสาทผึ้งขนาดย่อม รวมถึงงานดอกไม้วิมานต่าง ๆ ที่แขวนอยู่ตามหน้าต่างเฮือน

หลายคนอาจไม่ทราบมาก่อนว่า ครั้งหนึ่ง ศิลปินผู้นี้เคยอยู่เบื้องหลังความงดงามของงานจัดดอกไม้ที่โรงแรมปาร์คนายเลิศ แม้จะไม่ได้ร่ำเรียนมาทางนี้โดยตรง แต่ด้วยใจรักและได้เห็นชิ้นงานจากศิลปินจัดดอกไม้สำคัญ ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ทำให้เขารังสรรค์งานดอกไม้ออกมาได้อย่างงดงาม

ในวันนี้ ทักษะด้านงานดอกไม้ของเขาถูกนำมาใช้สืบสาน พัฒนา และต่อยอดงานดอกไม้อีสานที่มุ่งเน้นทำขึ้นเพื่อเป็นพุทธบูชาเป็นสำคัญ

“พี่เถ่ามีโอกาสทำงานดอกไม้ที่ปาร์คนายเลิศอยู่ 10 กว่าปีครับ ทำจนก่อนปีสุดท้ายที่จะเลิกจัดไป และเป็นเรื่องที่มีคนให้เครดิตเราในเรื่องการจัดดอกไม้ แต่มาถึงวันนี้เราชอบดอกไม้น้อยลงเรื่อย ๆ ชอบใบไม้มากกว่า พี่เถ่ามองหาความพอดีในระหว่างทำงาน อย่างเช่นเคยได้รับหน้าที่จัดซุ้มพระบรมสารีริกธาตุ เราไม่ใช้บุษบกครับ ใช้เป็นโครงเหล็กที่คิดขึ้นมาใหม่ ทรงเหมือนปราสาท แล้วก็เอาใบตองหุ้ม พับใบตองเล็ก ๆ มีอุบะ มาลัย เล็ก ๆ น้อย ๆ ใช้สีเขียวเป็นหลัก อันนี้ครูบาอาจารย์ท่านพอใจว่ามันพอดี มีสีเขียวของธรรมชาติ และมีดอกไม้สีขาว น่าจะงามพอแล้ว หลัง ๆ ก็น่าจะไปไม่รอดกับอาชีพจัดดอกไม้แล้วล่ะ เพราะเดี๋ยวนี้ชอบแต่ดอกไม้ขาว ไอ้สี ๆ มันรับไม่ได้เลย

“งานดอกไม้นี่เราจะเห็นรูปแจกันจัดดอกไม้ในบุคคลชั้นสูงมาตั้ง 100 กว่าปีแล้ว แจกันนี่มาจากจีนอยู่แล้ว ฝรั่งอาจจะได้จากจีนด้วยซ้ำ เพราะจีนเขาจะมีแจกันมาตั้งแต่หลายพันปี จีนนี่เขามีสุนทรียะในการจัดดอกไม้ แล้วก็ส่งต่อมาที่ญี่ปุ่น เราจะเห็นว่าเขามีดอกโบตั๋นวางบนแจกันเพียงแค่ 2 – 3 ดอก แล้วมันก็เป็น Ikebana มันก็สวยแล้ว พอแล้ว มันมีความเป็นเซ็นแล้ว แต่หมายความว่างานดอกไม้ในอีสานของเรานี้ มันคนละเป้าหมาย ถ้าในโลกนี้เขาจัดดอกไม้เพื่อความงาม เพื่อความสุข เพื่อความตกแต่ง แต่ของอีสานเราก็เพื่อศรัทธา อย่างเช่น ขันหมากเบ็ง ก็มีนัยที่ซ่อนอยู่ คือเป็นตัวแทนของรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เราน้อมเป็นเครื่องบูชาต่อพระพุทธศาสนา จึงต้องมี 5 ยอดเท่านั้น ขาดไปไม่ได้

“นอกจากนี้ก็จะมีของที่จะรับรองพระผู้ใหญ่หรือทำเพื่อเป็นการขอขมา ยายพี่เถ่าบอกว่า ถ้าจะเลี้ยงพระนี่ขาดไม่ได้นะ ต้องถวายให้พระที่เป็นประธานสงฆ์ ท่านเรียกว่า บ้างมุงคุณ หรือ กรวยดอกไม้ คำว่า บ้าง ก็คือ กรวย แต่คุณยายพี่เถ่าไม่ชอบคำว่า กรวย เพราะมันออกเสียงคล้ายกับคำว่า ซวย การจัดทำดอกไม้ถวายพระ ถ้าเราทำจะทำบุญก็จะมีพานที่เป็นกระบะสี่เหลี่ยมอันหนึ่ง ก็มีเทียนไป มีดอกไม้ ก็จุดเทียนที่ขันนี้เลย บางทีพานไม้นี้ถึงไฟไหม้ เพราะเราไม่ได้ดับครับ เขาก็จุดเทียนกับกระบะเลย แล้วก็เอาดอกไม้วาง แล้วก็มีค่าคาย คือเงินบูชาครู ต้องวางในนั้นครับ อย่างนี้เป็นต้น

“ถ้ามีผ้าอย่างเช่นถวายผ้าขาวเพื่อจะอุทิศส่วนกุศล จะผืนเล็กผืนใหญ่ ก็ต้องพับผ้านี้ใส่ในพานด้วย แล้วนอกจากผ้า นอกจากพาน ก็จะมีขันกระหย่องที่สานจากไม้ไผ่แล้วก็มีขาตั้งขึ้น ขันกระหย่องนี่ก็เอาไว้สำหรับตั้งบูชา เหมือนกับพานหรือขันเลยครับ อันนี้เป็นเครื่องใช้ของคนอีสานโดยเฉพาะ เพราะฉะนั้นดอกไม้ก็จัดตามภาชนะครับ

“ขันที่พี่เถ่าพูดถึงนี้มี 2 ระดับคือ ขัน 5 เพื่อที่จะขอขมา เหมือนธูปเทียนแพ ใช้ได้เสมอภาคกัน คือใช้ขอขมา ใครจะลาบวชจะลาอะไร ก็จะใช้ขัน 5 ทีนี้ถ้าเป็นบุคคลที่สูงกว่านั้น ก็มีขัน 8 พี่เถ่าคิดว่าน่าจะมาจากพุทธศาสนา เช่น เป็นอริยมรรค ก็คือ ทิศทั่ง 8 จะเห็นว่าท่านจะมีความเชื่อในทางพุทธศาสนาสูงเหมือนกัน ขันธ์ 8 ถ้าอย่างย่อ อย่างน้อยก็ต้องมีดอกไม้คู่ 8 คู่ เทียน 8 เล่ม แล้วก็ใส่ในกรวยวางบนขัน ถือว่าเป็นการจัดดอกไม้แบบอีสาน หรือใครจะมีดอกมหาหงส์ หรือที่คนอีสานเรียก ดอกสเลเต ให้ออกมางดงามก็แล้วแต่ นี่คือเรื่องของการจัดดอกไม้แบบอีสาน

“อีกอย่างที่พี่เถ่าถือเป็นการจัดดอกไม้อีสานก็คือ ‘ต้นผึ้ง’ ต้นผึ้งคือจะใช้หน่อกล้วย แล้วก็ใช้ดอกที่จุ่มจากเทียนหรือขี้ผึ้งมาตกแต่งให้เป็นต้น อันนี้ก็จะอยู่ในภาชนะที่ใช้แห่งานบุญได้ คือเราถือด้วย ในขบวนแห่ด้วย และเอาไปถวายได้ด้วย เพื่อที่จะให้เก็บเทียนนั้นไว้ใช้ฟั่นเทียนในโอกาสต่อไปในวัด เพราะการให้แสงสว่างนี้มีอานิสงส์สูง ปราสาทผึ้งหรือต้นผึ้งนี่ก็คือคติเดียวกัน ปราสาทผึ้งก็คือใช้โครงเป็นไม้ไผ่ ซึ่งวันนี้พี่เถ่าก็ได้เตรียมอันย่อม ๆ มาให้ชม มีการนำเอาดอกผึ้งหรือดอกไม้ที่ไม่เหี่ยวง่าย เช่น บานไม่รู้โรยมาช่วยประกอบ เพราะเราต้องทำไว้ 1 คืนฉลองด้วยการนิมนต์พระมาสวดเจริญพระพุทธมนต์เพื่อเป็นสิริมงคล และต้องมีการทำทักษิณานุประธาน อันนี้ปราสาทผึ้งนี้ไม่ได้ทำเพื่อเรา ทำทักษิณานุประทาน อานิสงส์คือจำลองวิมานนี้ที่จะอยู่สถิตในชั้นนั้น ๆ มาอยู่ต่อหน้าเราแล้วก็ถวาย ปราสาทผึ้งนี้ถือว่าเป็นการจัดดอกไม้ที่ใหญ่ของอีสาน ปราสาทผึ้งนี่ประกอบด้วยโครงไม้ไผ่แล้วก็งานแทงหยวกอีสานครับ แล้วก็ประดับตรงแทงหยวกด้วยดอกบานไม่รู้โรย ดาวเรือง และที่ขาดไม่ได้คือดอกผึ้ง แต่ที่เห็นวันนี้เราจะทำเป็นแบบมินิมอลเพื่อเป็นตัวอย่าง

“ก็จะคล้องจองไปด้วยกันกับ ธุง หรือ ตุง ที่ใช้ประดับวัดในงานบุญกฐิน ซึ่งจะมีรูปยอดปราสาททอเป็นรูปยอดปราสาทอยู่ตรงยอดอยู่ปลายสุดของไม้ไผ่ เรียกว่า พระเจดีย์จุฬามณี คนอีสานนี่เขาไม่ค่อยหวังสูงเท่าไร เขาหวังแค่เจดีย์จุฬามณี เพราะเมื่อเราได้เป็นผู้ชักชวนให้ผู้อื่นร่วมบุญ อานิสงส์แห่งบุญจะทำให้เราได้ไปเกิดเป็นเทพบุตร คือเป็นพระอินทร์ เมื่อพระอินทร์ท่านนั้นหมดวาระเมื่อไร ผู้ที่ได้ร่วมชักชวนผู้คนให้ทำบุญก็จะได้ขึ้นไปเป็นพระอินทร์แทน เราก็เลยปรารถนาแค่เจดีย์เกตแก้วจุฬามณี ที่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ อันนี้ก็เป็นเรื่องของศรัทธา

“ทุกวันพระ พี่เถ่าจะทำขันหมากเบ็งไปถวายพระเสมอ เพื่อให้คนอุบลฯ ได้เห็นว่าบ้านเมืองเรามีการถวายขันหมากเบ็งเพื่อพุทธบูชา ทำให้เดี๋ยวนี้เริ่มเห็นแล้วว่าตามร้านดอกไม้ถวายพระมีขันหมากเบ็งจำหน่ายก็สะท้อนว่างานดอกไม้อีสานเริ่มกลับมาอยู่ในวิถีชีวิตประจำวันของคนอุบลฯ แล้ว นอกจากนี้พี่เถ่าก็ประยุกต์นำขันหมากเบ็งมาจัดใส่ในแก้วเจียรไน นำมาใส่ในขันไม้ก็ดี ก็เป็นเรื่องที่ประยุกต์ให้เหมาะกับยุคสมัยให้ถือได้ และเมื่อวานนี้ก็มีงานบวงสรวงเจ้าคำผง ก็มีการใช้ขันหมากเบ็งที่พี่เถ่าทำนำร่องไว้ เป็นเครื่องบูชาแทนพานพุ่ม ธรรมดาเราถวายบูรพกษัตริย์เราต้องใช้เป็นพานพุ่ม ตอนนี้ก็ถวายเจ้านายของท้องถิ่นเราก็ใช้เป็นขันไม้และใช้ขันหมากเบ็งถวายแทน

“แล้วก็มีเครื่องแขวน ซึ่งเราประยุกต์ขึ้นมาจากเครื่องแขวนของภาคกลาง ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นตะแคง กลิ่นจีน ก็นำมาประยุกต์เป็นอีสาน เมื่อก่อนก็เคยใช้ที่มาจากในวังทำ แต่พี่เถ่าคิดว่ามันเป็นงานที่ประณีตเกินกว่าบ้านของพี่เถ่า แต่อยากจะให้คนเห็นเป็น Knowledge ให้ทุกคนได้เห็นของที่ประณีต แต่ตอนนี้เราทำเองก็ใช้ดอกผึ้งครับประดับแทนอุบะที่เป็นดอกไม้ นี่ก็เรียกได้ว่าน่าจะเป็นไอเดียหนึ่งที่เราจะแปลงสัญชาติที่เป็นของไทยให้มาเป็นอีสาน ก็เรียกว่าขอยืมหน่อยครับ เหมือนกับที่คนไทยยืมเอาฟอร์มของแชนเดอเลียร์ของยุโรปมาทำเครื่องแขวนในอดีตนั่นเองครับ”

แก่นแท้ของความเป็นอีสานคือความเรียบง่ายแต่มีพลัง

หลังจากพาเราไปสัมผัสกับความเป็นอีสานในแต่ละปัจจัยของชีวิต เถ่าสรุปกับเราว่าแท้จริงแล้ว แก่นแท้ของความเป็นอีสานคือความเรียบง่าย สบาย ทว่าในความเรียบงายนั้น มีพลังหนักแน่นซ่อนอยู่

“ ถ้ามองจากภายนอก ทุกคนจะเห็นว่าความเป็นอีสานคือความซื่อตรง ตรงไปตรงมา ความเป็นอีสานอะไรก็ต้องซื่อ ต้องน้อย ก็ต้องมินิมอลครับ แต่ส่วนตัวคิดว่าอีสานก็เช่นเดียวกันกับชาติพันธุ์อื่น เรามีหลายระดับในการประณีต และอย่างหนึ่งที่เรามีเหมือนกัน คือความมีกาลเทศะ ให้เหมาะสมกับงานนั้น ๆ ถ้าเป็นแก่นของคนอีสานจริงๆ นั้น ก็ต้องขอบอกว่า Majority จริง ๆ ของคนอีสานเป็นล้านช้าง ความงามของคนอีสานจะค่อนมาทางล้านช้างมากกว่า ส่วนกลุ่มที่พูดเขมรแม้แต่ในอุบลฯ ก็มีนะครับ จะมีเหลืออยู่แค่บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ บางส่วน ก็เป็นวัฒนธรรมที่เป็นส่วนน้อยมากกว่าลาว-อีสาน เพราะฉะนั้นถ้าจะพูดถึงอีสานแล้ว ก็อยากให้มองว่าเราได้มีรากเหง้าพื้นฐานที่เป็นแบบล้านช้าง แม้กระทั่งปราสาทผึ้ง

“สิ่งที่เราไม่เหมือนกับที่เคยมีในอดีตสำหรับคนอีสานปัจจุบัน คือการที่เราได้ประยุกต์ปรับปรุงเอาความเป็นไทยเข้ามาสู่รากเหง้าของความเป็นล้านช้าง เหมือนที่เราได้เห็น ไม่ว่าจะเป็นการที่อุบลฯ ได้มีผ้าซิ่นตีนตวย (ลายสามเหลี่ยมที่ตีนซิ่นเหมือนรูปกรวย) คล้ายกับกรวยเชิงในผ้าซิ่นภาคกลางก็ตาม หรือแม้กระทั่งการที่เราได้มีวัฒนธรรมบางอย่างที่มีที่อยู่อาศัย หรือดนตรีก็ตามที่เรารับเอามาก็ดี เรียกว่าความเป็นอีสานที่เป็นแก่นแท้

“ดังนั้นเราอย่าไปมองว่าอีสานมีแค่ความเรียบง่ายอย่างเดียว เพราะในสังคมอีสานยังมีลำดับชั้น อย่างเช่นที่อุบลฯ นี้เรามีช่างที่ทำงานลงรักปิดทองทำลายรดน้ำได้ ซึ่งถือเป็นช่างฝีมือที่เป็นชั้นสูงที่เราไม่ควรจะมองเห็นว่าเป็นส่วนเกินของสังคมอีสานหรือวัฒนธรรมอีสาน เพราะถ้าเรามองอีสานผ่านวรรณกรรมอีสาน เราจะเห็นการกล่าวถึงสิ่งที่ประณีตสูงจนกระทั่งเหนือจินตนาการของเรา เพราะฉะนั้นสิ่งที่ช่างศิลปหัตถกรรมหรือ Artist ใด ๆ ก็ตามที่เป็นชาวอีสานก็ขอให้อย่าลืมที่จะเอาพื้นฐานรากเหง้าของเราที่เป็นอีสานมานำเสนอในความประณีตตามสมควร สิ่งที่ควรระวังคือเนื่องจากว่าล้านช้าง ล้านนาใกล้ ก็ต้องระวัง ไม่ให้ไปเอาสิ่งที่มันไม่ใช่อีสานเข้ามาสู่ความเป็นอีสาน ถึงแม้ว่าเราจะนุ่งซิ่นกินข้าวเหนียวเหมือนกัน อยากให้ระมัดระวังในความตรงไปตรงมาของวัฒนธรรมอีสานให้มากที่สุด

“ส่วนพี่เถ่าเอง ถ้าจะให้มอง ก็ยังอยากให้มีความงดงามเหมือนอย่างทางเส้นสายของทางศิลปกรรม คือแม้จะเป็นเส้นที่เรียบง่ายแต่ลายเส้นนั้นมีกำลัง ความงามของคนอีสานที่ประณีตที่เต็มไปด้วยอารมณ์สุนทรียะ เราไม่ควรจะลดทอนจากสิ่งที่บรรพบุรุษเราสร้างเอาไว้ ขอให้สังเกตว่าความเป็นอีสาน ถึงแม้ว่าจะน้อยในเรื่องความอลังการ แต่ไม่ได้ด้อยในเรื่องความสง่างาม และความงามของสุนทรียะที่มีความอ่อนหวานอยู่ในความเป็นอีสานเช่นเดียวกัน”

ใช้ในชีวิตประจำวันอย่างเข้าใจ คือวิธีอนุรักษ์ความเป็นอีสานที่ดีที่สุด

เราตั้งคำถามกับศิลปินแห่งชาติท่านนี้ว่าเขาคิดว่าวิธีใดที่จะช่วยสืบสาน พัฒนาและส่งต่อศิลปวัฒนธรรมอีสาน ให้เกิดความยั่งยืนและคงรากเหง้าความเป็นอีสานเอาไว้ เถ่ากล่าวกับเราว่า

“เราต้องระวังการ Cross Over วัฒนธรรม อาจบอกว่ายืมได้ แต่ขอให้บอกว่าเรายืมมา อันนี้ไม่ใช่แก่นของเรา อย่างเช่นพี่เถ่าเอาเทคนิคของการทอลูกปัดของเผ่ากาตู เผ่าอาลัก มาใช้ในผ้ามัดหมี่ ก็ให้เกียรติท่านว่าเรายืมมา หรือการนำเอา Tapestry มาใช้ในประเทศไทยมีแต่ชาติพันธุ์ลื้อ แต่นำมาใช้ในภาคอีสานได้ ก็ต้องบอกว่าเป็นไอเดียมาจากจีน

“สิ่งสำคัญในการที่จะต้องรักษาความเป็นอีสานเอาไว้ให้ได้ คือเราต้องศึกษาเรียนรู้ เหมือนที่เราบอกว่าอาหารรสชาติ Authentic เป็นอย่างไร ก่อนที่ผู้ใหญ่อย่างรุ่นพี่เถ่าจะตายจากไป ยังพอมีที่อ้างอิงได้ว่าอันนี้ใช่ไหม ก็ต้องซื่อสัตย์ว่าอันนี้ใช่ไม่ใช่ แต่เราจะไม่ Assume ว่าอันนี้ดีกว่าเขา ไม่ยกตนข่มท่าน อันนี้เป็นสิ่งที่เราไม่ควรทำในเรื่องวัฒนธรรม วัฒนธรรมคือสิ่งที่พอเหมาะพอดีกับกลุ่มนั้น ๆ แล้วเราก็นำเสนอด้วยความบริสุทธิ์จริงใจ ภาคภูมิใจว่าเป็นสิ่งดีงามที่เราจะได้มอบส่งต่อ

“อีกสิ่งที่จะช่วยให้วัฒนธรรมคงอยู่ได้ คือเราต้องใช้กับตัวเราเอง เหมือนพี่เถ่าทำทุกวันพระ อย่างน้อยต้องมีขันหมากเบ็งไปถวายพระเจ้าใหญ่องค์หลวง ให้เห็นเลยว่าที่อุบลฯ เรามีการถวายขันหมากเบ็งทุกวันพระ เป็นการลงทุนก็จริง แต่ก็เพื่อสืบต่อศรัทธาด้วยศรัทธาของตัวเองที่ทำประจำวัน อนุรักษ์ด้วยการทานอาหารอีสาน ใช้ผ้าอีสาน แล้วก็ถ้าเป็นไปได้ ลองอยู่เรือนแบบอีสาน อันนี้เป็นสิ่งที่ทำให้วัฒนธรรมของอีสานเรายั่งยืนต่อไปข้างหน้า คือถ้าไม่ได้เป็นผู้สร้าง ก็ขอให้เป็นผู้เสพนะครับ เข้ามาชื่นชม เข้ามารับทราบ เข้ามาศึกษาหาความรู้ในความเป็นอีสานให้มากที่สุด แล้วก็ถ้าท่านมีกำลังที่จะเป็นผู้สร้างได้ ก็ขอให้สร้างสิ่งที่เป็นหัตถกรรมอีสานด้วยความจริงใจ ไม่ยกตนข่มท่าน แล้วก็ไม่โอ้อวด อันนี้พี่เถ่าคิดว่าความเรียบง่ายสง่างามอย่างนี้มีอยู่ในจิตใจของคนอีสานแทบทุกคน แล้วก็คิดว่าจะเป็นสิ่งที่สัมผัสง่าย ๆ จากสิ่งที่ได้พบ ได้เห็น ได้ใช้สอยนี่ก็จะทำให้ความเป็นอีสานเหมือนรสชาติความเป็นอีสานแผ่ไปให้ยาวนานมากขึ้น”

งานบุญ คือวาระสำคัญในการส่งต่อวัฒนธรรมอีสาน

 “มีทางลัดไหนไหมที่จะทำให้คนหันมารักศิลปวัฒนธรรมอีสานและความเป็นอีสานได้รวดเร็วขึ้น” คือคำถามปิดท้ายบทสัมภาษณ์ ตามสไตล์ของ อีสาน Lifehacker เถ่ากล่าวกับเราด้วยรอยยิ้มว่า

“วิธีลัดนี่ใช้งบประมาณทั้งสิ้น อย่างจะบอกว่าอีเวนต์ต่าง ๆ ก็อาจเป็นหนทางหนึ่ง แต่ต้องลงทุน แล้วถ้าไม่ใช้เงินล่ะเราจะมีวิธีไหม” เขาตั้งคำถามชวนคิดก่อนที่จะเล่าวิธีที่เขาใช้สืบสานวัฒนธรรมให้เราฟังว่า

“เหมือนที่พี่เถ่าใช้งานสรงน้ำพระแก้วบุษราคัม เราใช้ชุมชน ทำไมบ้านคำปุนใช้การแห่เทียนเข้าพรรษา Hack เอานักท่องเที่ยวมาสัมผัสกับวัฒนธรรมอีสานโดยที่เราไม่ได้หวังผลประโยชน์ตอบแทนทางธุรกิจ เพราะทุกอย่างต้องใช้ความจริงใจ

“พี่คิดว่าสิ่งที่จะทำให้เกิดผลได้เร็วก็คือ มี Activity ร่วมกันเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นงานใดงานหนึ่ง แต่สิ่งสำคัญคืองานนั้นต้องอย่าละเลย สิ่งที่เรานำเสนอความเป็นอีสานที่เราจะนำพาเข้าไปได้

“พี่เถ่าเองรู้สึกชื่นชมกาดมั่วทางภาคเหนือนะครับ ของที่มันทั่ว ๆ ไป กลายเป็นของที่เอ็นจอยสนุกสนาน ขณะเดียวกัน ทางอีสานไม่ค่อยมีโอกาสที่จะไปเพลิดเพลินเที่ยวเล่นแบบนั้น อย่างหนึ่งที่จะมีพลังจูงใจให้เขาเข้ามาร่วมได้คืองานบุญ เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้เวลาจัดงานบุญกฐินเราควรมีความเป็นอีสานมากขึ้นไหม อาหารที่นำมาเลี้ยงในงานบุญควรจะเป็นอาหารอีสานมากขึ้นจะดีไหม เราแต่งกายให้เห็นเป็นตัวอย่าง ก็เหมือนอย่างกางเกงลายช้างที่ผลิตจากประเทศไหนคนประเทศนั้นกลับมาซื้อกลับไป ก็เป็นการ Hack อย่างหนึ่ง แต่ว่ามันสร้างภาพลักษณ์

“หากถามถึงความรู้สึกส่วนตัว พี่เถ่าเองไม่ชอบสิ่งที่เรียกว่า Propaganda เท่าไร ชอบสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างธรรมชาติ เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เจริญโดยธรรมชาติ และก็เสื่อมไปโดยธรรมชาติมากกว่า แต่ว่าก่อนที่จะเสื่อมไปอยากให้เจริญไปโดยธรรมชาติ คืออยากจะให้ใช้โอกาสที่มี เหมือนอีเวนต์ต่าง ๆ เหมือนที่พี่เถ่าทำมา 25 ปีที่เอางานแห่เทียนอุบลฯ นี่มาเป็นเวทีหนึ่งที่ทำเชิญบ้านหนองบ่อมาแต่งกายแบบอุบลฯ ฟ้อนซวยมือหรือฟ้อนกลองตุ้มในบ้านคำปุน มีหมอลำในบ้านคำปุน แม้ว่าจะใช้เวลานาน แต่ 25 ปีสำหรับพี่เถ่า มันไม่นาน ไม่ใช่ชั่วชีวิตคนแต่เรายังมีชีวิตอยู่”

เถ่าบอกกับเราเป็นสำนวนว่า ตนคงไม่อาจเกี่ยวหญ้ามุงเมืองได้ ซึ่งหมายถึง เกี่ยวหญ้ามามุงหลังคาให้หมดทั้งเมืองไม่ได้ทุกหลัง แต่เขาก็ยังจะยืนหยัดทำในสิ่งที่เขาทำได้เพื่อสืบสานศิลปะอีสานให้คงอยู่สืบไป ตราบที่แสงศรัทธาแห่งชีวิตเขายังไม่มอดดับลง ศิลปินแห่งชาติผู้นี้กล่าวปิดบทสัมภาษณ์กับเราว่า

“การเกษตรเป็นสิ่งที่เห็นผลิตผลช้า นับสิบปีถึงจะเห็นผล วัฒนธรรมจะให้แค่ชั่วข้ามคืน พี่เถ่าคิดว่าเป็นไปได้ยากครับ ถึงแม้ว่าเราจะอยากให้ยั่งยืนหรือไม่ก็ตาม แต่ก็มีเวลาที่เหมาะสมที่จะให้ความรู้เขา เช่นเดียวกันกับที่วันนี้พี่เถ่ามีความสุขที่เห็นเด็ก ๆ ตั้งชมรมนุ่งโสร่งนุ่งผ้าซิ่นอีสานเอง ถ้ากลัวว่าจะใช้เวลานานก็ขอให้ Hack เสียวันนี้ เริ่มต้นซะวันนี้ เริ่มต้นซะพรุ่งนี้ แล้วเราก็จะได้รับดอกผลที่เร็วที่สุดโดยที่ไม่ต้องตั้งตารอนานเกินไป”

Writer

สิทธิโชค ศรีโช

สิทธิโชค ศรีโช

มนุษย์ผู้ตกหลุมรักอาหารการกินมาตั้งแต่จำความได้ เคยโลดแล่นอยู่ในวงการสื่อสารด้านอาหารกว่าสิบปี ก่อนกลับบ้านนอกมาใช้ชีวิตติดกลิ่นปลาร้าที่อีสาน และยังคงมุ่งมั่นส่งต่อเรื่องราววัฒนธรรมอาหาร สุขภาพ และการดำรงชีวิตของผู้คนบนที่ราบสูง ให้โลกได้รับรู้

Photographer

Avatar

กานต์ ตำสำสู

จบวารสารศาสตร์ ม.สารคาม อายุ 26 เป็นคนสตูลที่เดินทางมาเรียนที่ภาคอีสาน ชอบฟังเพลงโลโซ คลั่งฟุตบอลไทย และชอบถ่ายภาพบ้านเกิดตัวเองเป็นชีวิตจิตใจ ปัจจุบันเปิดแล็ปล้างฟิล์มและห้องมืด ‘ฟิล์มกาหลง’ อยู่ขอนแก่น