ไม่แปลกหากคุณไม่เคยได้ยินชื่อ อ.เถ่า-มีชัย แต้สุจริยา

แต่ถ้าคุณสนใจวงการผ้าไทยอยู่บ้าง คุณต้องรู้จักผ้ากาบบัวของบ้านคำปุน

คำปุนเป็นโรงงานทอผ้าแห่งแรกและแห่งเดียวของอุบลราชธานี ที่นี่ผลิตผ้าทอมาหลายสิบปี สืบทอดจากเชื้อสายของตระกูลจิตตะยโศธร ผ่านวันเวลาที่เมืองอุบลซบเซาจนไม่เหลือคนซื้อขายผ้า และยังยืนหยัดนำกระแสในวันที่ผ้าไทยกลายเป็นของทันสมัย

อ.เถ่า คือทายาทรุ่นที่ 3 ของบ้านคำปุน ผู้เป็นส่วนสำคัญในการออกแบบผ้าสุดเจ๋งที่สร้างงานสร้างอาชีพให้ชุมชนทอผ้าทั้งในอุบลและทั่วอีสาน จนกระทั่งผ้าคอลเลกชันล่าสุด ‘กาบบัวแสงแรก’ ได้ไปอยู่ในพระหัตถ์เจ้าชายวิลเลียมและดัชเชสเคท (อ่านเรื่องราวของผ้ากาบบัวต่อได้ที่นี่)

เรานัดเจอเขาที่บ้านคำปุน ณ จังหวัดอุบลราชธานี ก่อนเป็นครูศิลป์ของแผ่นดินในวันนี้ เขาศึกษาเรื่องผ้าแบบต่างๆ ด้วยตัวเองจนชำนาญ แม้ระหว่างที่ทำงานเป็นลูกเรือสายการบิน เขายังมุ่งมั่นว่าจะกลับมาทำผ้าที่บ้าน ในวันที่กลับบ้านมาพบว่าผ้าทออุบลฯ หายไปจนเกือบหมด เขาก็ยังหาทางพลิกจนคำปุนกลายเป็นโรงงานผ้าที่ได้รับใช้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ผ่านการทำเสื้อผ้าให้หนังไทยฟอร์มยักษ์อย่างมหากาพย์ ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

ลองไปฟังช่างทำผ้าในตำนานคนนี้เล่าเรื่องราวต่างๆ ให้ฟังด้วยเสียงของเขาเอง

มีชัย แต้สุจริยา, บ้านคำปุน

เจอกันทีไรก็เห็นคุณใส่โสร่งตลอดเลย

คนอีสานตั้งแต่เลยถึงลาวใต้ใช้ผ้าโสร่งแบบนี้กันทั้งสิ้น เราจะมองออกว่าเป็นคนจากไหน เช่นสุรินทร์ชอบผ้าเบาบาง อุบลฯ ชอบผ้าหนาหน่อย ยโสธรสีชมพูกับเขียว ผ้าอำนาจเจริญจะออกเหลืองๆ สิ่งเหล่านี้เป็น GI บอกว่าใครเป็นใคร บอกสายเลือดของเรา

ตอนเด็กๆ คุณตาของผมเป็นคนเดียวในยโสธรที่นุ่งผ้าโสร่ง เราเคยสงสัยว่าทำไมตานุ่ง เวลาใครพูดถึงตาก็จะบอกว่า ผู้บ่าวที่นุ่งผ้างามๆ ใช่มั้ย ผ้าผื้นนั้นเป็นผ้าปูมของทวด เป็นมรดกที่ล้ำค่ามากของตระกูล

เราเคยสงสัยว่าทำไมตานุ่ง แต่โตมาเราก็เห็นว่า เมื่อความเจริญเข้ามาแทนที่ คนใช้แต่ของนำเข้า พอไม่มีใครใช้ผ้าไทย มันเลยหมดไป นี่คือสาเหตุที่ทำไมผมต้องนุ่งผ้าโสร่งอยู่เสมอ

แม้จะบอกว่าตัวเองเป็นช่างทำผ้า แต่คุณไม่ได้ทอผ้าเลยใช่ไหม

ไม่ชำนาญฮะ คือในอินเดีย อิหร่าน ผู้ชายทอ แต่ในไทยห้ามผู้ชายทอผ้า เพราะในสังคมไทยที่ผ่านมาผู้หญิงต้องทอผ้าที่จะนุ่งเอง โดยกุลสตรีสมัยก่อน คนอีสานมีคำพังเพยว่า ‘ตำหูกบ่เป็นแผ่น ก็อย่ามีผัว’ คือถ้าทอผ้าไม่ได้เป็นผืน ก็ยังไม่ควรแต่งงาน

ผมเองเหมือนเป็น CEO ในบริษัท เราชำนาญเรื่องย้อม เรื่องออกแบบ เรื่องแก้ไขปัญหา เรื่องวางแผน แน่นอนว่าต้องทำเป็นทั้งกระบวนการ เพื่อให้รู้ปัญหา แต่เทียบกันแล้วแม่ๆ ทอเก่งกว่าเยอะครับ

แปลว่างานที่ทำคือการออกแบบมากกว่า

ใช่ครับ ผมเป็นคนเดียวเลยที่วาดดราฟต์ไว้บนกระดาษก่อนทอเป็นผ้า ตอนเด็กๆ เราไม่รู้จะสื่อสารกับช่างยังไง จะเอาชอล์กเขียนมันก็เลือน จะเอาปูนมาแต้มใหม่ก็ขาด เราเคยผ่านปัญหามามาก จนกระทั่งเราพบว่าเขียนลงในกระดาษเลย เป็นทางออกที่ดีที่สุด ผ่านมา 40 ปีก็ยังทำเช่นนั้นอยู่

แต่ก่อนตอนเป็นสจ๊วต เวลาบินผมติดกระดาษออกแบบสำหรับออกแบบลายผ้าไปด้วยทุกครั้ง บางไฟลต์ เช่นเคยไปแอลเอ ญาติมิตรมารับเพื่อนร่วมงานไปกันหมด เราก็อยู่แต่ในห้องโรงแรม อย่างดีก็ไปเดินในเมือง เวลาส่วนใหญ่เลยใช้ไปกับการนั่งทำงาน ได้งานชิ้นดีๆ เยอะ มีลายผ้าสวยๆ หลายลายเลยที่เขียนระหว่างเดินทาง

มีชัย แต้สุจริยา, บ้านคำปุน

ตอนนั้นทำไมถึงไปเป็นลูกเรือสายการบิน

แค่เพื่อนชวน จู่ๆ เขาก็มาบอกว่า เราดูเหมาะที่จะเป็นสจ๊วต ทำไมไม่ลองไปสมัครดู เราคงดูสงบและสุภาพในสายตาของกรรมการ ดูเป็นคนมีความสุขตลอด แล้วการบินไทยสมัยก่อนถ้าไม่ชอบตี๋ก็ชอบหน้าไทยๆ เขาเลยเข้ารับทำงาน อยู่ที่การบินไทยถึง 7 ปี ระหว่างนั้นก็ออกแบบผ้าไปด้วย

พ่อแม่เห็นด้วยมั้ย

แม่ห่วงฮะ คือทุกคนไม่อยากให้ลูกเป็นสจ๊วต เมื่อก่อนเครื่องบินตกถี่กว่านี้ พอได้ยินข่าวเครื่องบินตกที ยังไม่ทันรู้รายละเอียดอะไรเลย แม่ก็เป็นลมแล้ว หรือบางทีไม่ได้นอนเลย 24 ชั่วโมง สมองคงขาดออกซิเจนตายไปหลายจุดแล้วล่ะฮะ (หัวเราะ)

หรือตอนที่มีสงครามอ่าวเปอร์เซีย นอนอยู่ดีๆ บริษัทก็ให้เราไปรับผู้อพยพที่จอร์แดน ก็ร้องไห้กัน พวกเราก็บอกว่าไปเฉพาะผู้ชายพอ ไปถึงไม่มีเงินจ่ายค่าน้ำมัน เดชะบุญที่มีเงินติดตัวกันอยู่ ก็รวบรวมเงินกันให้ได้หลายพันเหรียญฯ เพื่อจ่ายค่าน้ำมัน

แล้วคุณชอบงานนี้มั้ย

วันที่ไปสมัครไม่อยากสมัครนะ แต่วันที่ลาออกมาแล้วมันคิดถึง เราได้รู้ว่าการที่เราทำงานให้คนอื่นมีความสุขมันเป็นความสุขอย่างยิ่ง ชีวิตเรานึกถึงคนอื่นก่อน เวลาเราจะบินบางทีหดหู่มาก อยู่บนรถบัสของ Crew ฝนตก ไฟสนามบินก็มืด ทุกคนเขาหลับ เรากำลังจะไป ดีร้ายก็ไม่รู้ แต่พอไปอยู่บนเครื่องวิญญาณบริการเข้าสิง มันก็กระตือรือร้นขึ้นมา

ถ้าชอบแล้วทำไมลาออก

สจ๊วตคงไม่ใช่อาชีพสุดท้ายของเรา เราคิดว่าอาชีพนี้ไม่ยั่งยืน เราไม่สามารถสร้างอะไรให้ใครได้ แต่อาชีพทอผ้าเราสามารถสร้างอาชีพให้คนอื่นได้ด้วยหลายสิบคน แล้วแต่ละคนก็เลี้ยงดูครอบครัวได้ เราเลยคิดว่าจะยึดอาชีพทอผ้าเป็นอาชีพสุดท้าย

ตอนนี้เพื่อนผมบางคนก็ยังอยู่ที่นั่น กลายเป็นฝ่ายบริหาร เรียกแค่ชื่อเปล่าๆ ไม่ได้แล้ว ต้องเรียก ‘คุณ…’ (หัวเราะ) บางทีเราก็ตะขิดตะขวงใจ มาเรียกเพื่อนว่าคุณ เราทำไม่เป็น มันโดดเดี่ยว ผมขอเลือกกลับมาเป็น ‘เฮีย’ ดีกว่า

มีชัย แต้สุจริยา, บ้านคำปุน

คุณดูรักงานนี้มาก ทำใจนานมั้ยกว่าจะออกได้

ตอนที่เราตัดสินใจแน่ๆ ว่าจะต้องกลับมา คือตอนที่เราอยู่บนเครื่องไฟลต์แปซิฟิก ตั้งแต่ไปญี่ปุ่น ฮ่องกง ถึงอเมริกา ต้องผ่านทางนี้ตลอด กัปตันก็จะประกาศว่าเราผ่านดานัง ผ่านลาว ตอนนี้ผ่านจังหวัดอุบลราชธานี มันจะร้องไห้ โอ้ นี่มันบ้านเรา มันตื้นตัน แล้วรู้สึกว่าเราต้องกลับมาที่นี่ให้ได้

เตรียมตัวก่อนออกมายังไงบ้าง

จริงๆ ที่บ้านทอผ้าอยู่แล้ว เป็นการทอแบบดั้งเดิม มีแค่คุณยายกับคุณแม่ทอกันอยู่ 2 กี่ คุณยายยังชีพด้วยการทำผ้าขาย ท่านเป็นสายตระกูลเจ้าเมืองยโสธร ทำให้ได้สืบทอดความรู้เรื่องผ้ามา แต่ก่อนตอนที่มาเรียนที่กรุงเทพฯ ผมก็ต้องหิ้วถุงใส่ผ้ามาขายด้วย ไปตามร้านก็ไม่มีใครซื้อ ต้องไปขายที่ร้านแอนทีกของเพื่อนที่สยามสแควร์ ไปนั่งที่นั่นแล้วก็ให้คุณยายมาดูมาซื้อกัน

ส่วนโรงงานคำปุน เราทำตั้งแต่ปี 2520 จนบัดนี้ก็ยังเป็นโรงงานเดียวของอุตสาหกรรมจังหวัดอุบลฯ ที่มีการจดทะเบียน ไม่มีโรงงานทอผ้าอื่นเลย บ้านหลังใหญ่ของเราพอมีที่ตั้งกี่ได้ 7 กี่ ก็สร้างโรงเรือนเพิ่ม ให้ตั้งได้อีก 5 กี่ ยายทำงานที่บ้าน ให้เพื่อนบ้านมาช่วย ป้าเป็นคนมัดหมี่ แม่ทำเส้นยืน เรียกได้ว่าเป็นกลุ่มทอผ้าแห่งแรกที่ผมรู้จัก

แต่ก่อนพ่อทำกิจการแต้กวงหมง เป็นผู้จัดจำหน่ายเหมือนแมคโครเดี๋ยวนี้ วันที่หนักใจมากคือวันที่ไปบอกพ่อว่าจะขอเปลี่ยนชื่อของพ่อ ซึ่งลงสำเภามาถึงเมืองไทย เอาชีวิตเสี่ยงตายมาจนทำกิจการที่ดูแลครอบครัวได้ทั้งหมด วันนี้ท่านต้องเลิกใช้ชื่อนี้ เราก็เสียใจน้ำตาไหล ขอเปลี่ยนเป็นชื่อแม่แทน คือคำปุน

มีชัย แต้สุจริยา, บ้านคำปุน
มีชัย แต้สุจริยา, บ้านคำปุน

แล้วคุณเองมีทักษะเรื่องผ้าอะไรบ้างตอนนั้น

ผมเองได้รับความรู้จากยายตั้งแต่เป็นเด็ก อายุ 20 และเจ้าสิริบังอร ลูกเจ้าจุ้ย ณ จำปาศักดิ์ เจ้าตระกูลสุดท้ายของลาวใต้ มาอยู่ที่อุบลฯ ให้ความรู้ด้านผ้ายก บ้านเราก็อยู่ใกล้กัน เห็นมาตั้งแต่เด็ก พอซึมซับไปแล้วก็ทำให้เข้าใจว่ามันอันตรายต่อการสูญหายมาก เลยต้องหาทางรักษาไว้ จึงเอาผ้ากาบบัวมารักษาไว้ คือผ้ากาบบัวคำ

ตอนเรียนอยู่กรุงเทพฯ เคยจับพลัดจับผลูเข้าไปทำงานในโรงงานทอผ้าที่นำเข้าผ้าจากญี่ปุ่น เวลามีสต๊อกเหลือ เราก็ไปเอาผ้าพวกนั้นมาออกแบบเพื่อขายล้างสต๊อก เขาขอเราแค่ชั่วโมงเดียว เสาร์-อาทิตย์ อายุเท่านั้น ทำงานแค่นั้นได้เดือนละ 5,000 บาท เทียบกับคนจบปริญญาตรีได้แค่ 6,000 บาท ไปไหนก็เลี้ยงเพื่อนตลอด ก็ทำให้มีประสบการณ์ด้านการทำเสื้อผ้ามาบ้างฮะ

กลับมาแล้วเป็นยังไง

อย่างน้อยได้ผัดผักให้คุณพ่อทาน ได้อยู่ด้วยกันตั้งสิบกว่าปีก่อนท่านจะเสีย หรืออย่างตอนนี้ก็พยุงคุณแม่ขึ้นห้องนอนทุกวัน เวลาตาท่านมองไม่เห็นก้างปลา เราก็ช่วยดูให้

ตอนเป็นสจ๊วตเราเห็นเพื่อนบางคนรีบบินกลับไปงานศพพ่อแม่ เราก็คิดว่าเราจะรอให้พ่อแม่เราตายก่อนเหมือนกันเหรอ ไม่น่าจะอย่างนั้น เราเลยต้องลาออกมาอยู่ดูแลท่าน

แล้วเราก็ตัดสินใจไม่ผิดฮะ เราไม่ได้กลับมารับใช้แค่ท่านเท่านั้น เรายังมีโอกาสรับใช้สังคม เราได้ทำงานสืบสานประเพณี สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างความเป็นปึกแผ่นทางใจให้ชุมชนที่เราใช้เป็นที่เกิด

เล่าสภาพอุบลราชธานีตอนนั้นให้ฟังหน่อย

ตอนนั้นอุบลฯ ไม่มีใครทอผ้าเลย ทุกคนรู้จักผ้าอุบลฯ เพราะคำปุน ถ้าไม่มีคำว่าคำปุนทุกคนจะนึกไม่ออกเลยว่าจังหวัดนี้มีการทอผ้า อย่างที่สุรินทร์มีบ้านสวาย กาฬสินธุ์มีบ้านโพลน ที่ลับแลมีสองร้อยกี่ เชียงรายเชียงของมีเป็นร้อยๆ กี่ มีหลายๆ หมู่บ้านที่ทอผ้าเด่นมาก แต่อุบลฯ เรามีอะไรล่ะครับ น่าเป็นห่วงมาก ทุกคนมีคนเก่งประจำชุมชนเขา แต่ที่นี่เราไม่มี

เลยคิดว่าจำเป็นต้องกลับมาอย่างยิ่ง อย่างน้อยก็ใช้เวลาที่เหลืออยู่ให้เป็นประโยชน์กับบ้านเกิด

คุณใช้เวลาทำอะไรไปบ้าง

พอเรารู้ว่าอุบลฯ ขาดการสืบสานภูมิปัญญาในด้านการทอผ้า เราก็ขอทุนจังหวัดเพื่อจัดซื้อเครื่องมือทอผ้าให้หมู่บ้านนำร่อง 5 หมู่บ้าน แล้วก็ฝึกช่างทอผ้ารุ่นใหม่คนแล้วคนเล่า คนบางคนทอมัดหมี่ไม่เป็น ขิดไม่เป็น ก็ให้คนอื่นมาเก็บขิดให้ เราออกแบบให้ผ้ามีเทคนิคหลายแบบ ทั้งยก ทั้งมัดหมี่ เพื่อให้ทุกคนได้ฝึกทุกอย่าง

เวลาไปสอน เราก็สอนทุกขั้นตอนว่า ย้อมแบบนี้นะ เราทำทั้งวันให้แม่ๆ ดู แม่ก็ยืนดูเฉยๆ บอกว่าทำแบบนี้นะแม่ แม่ก็บ่นว่า โอย แม่เฮ็ดบ่ได้ดอก แม่บ่มีแฮง ลูกมีแฮงหลาย (หัวเราะ) หรืออย่างพอวันเข้าพรรษาเราก็จะเชิญทุกคนเข้ามาดูว่าเรามีลายอะไรใหม่ หรือบางทีเราให้ผ้าไหมไปเลย มัดมาแล้ว ทอแล้ว ให้แม่ๆ ไปแกะลายทอของตัวเอง

มีหลายคนถามว่า เรามีลิขสิทธิ์ให้ผ้ากาบบัวมั้ย ผมจะตอบว่า ในวันที่ผมมอบให้ชุมชน ผมไม่ต้องการประโยชน์อะไรมากกว่าการให้มีการสืบทอดเรื่องทอผ้า และกระจายรายได้ให้ชุมชน สร้างความภาคภูมิใจให้เขา สร้างสัมมาอาชีพ เป็นสิ่งที่เราต้องการมากกว่าลิขสิทธิ์ใดๆ

ทำไมต้องรับใช้ผ่านการทอผ้า ทำอย่างอื่นไม่ได้เหรอ

จริงๆ แล้วงานที่ผมทำได้มีหลายอย่าง ผมทำอาหารอีสานให้ ดิฉัน 16 รายการ ลงในสื่อหลายครั้งเรื่องอาหารอีสาน เป็นนักจัดดอกไม้ของปาร์คนายเลิศสมัยก่อน ครบรอบ 25 ปีโรงแรมก็ยังเป็นคนจัดดอกไม้อยู่

แต่สิ่งที่สำคัญ มีความสุข และมีค่าที่สุดของชีวิต ก็คืองานทอผ้า ตอนนั้นคิดว่าจะทำจนกว่าจะไม่มีแรงทำ ถ้าเราจะหยุดทำงานโดยที่ไม่ทำอะไร ก็ขอตายดีกว่า เพราะชีวิตของเราก็คือการทำงาน เวลาที่เราทำคือช่วงที่มีความสุขทั้งสิ้น

มีชัย แต้สุจริยา, บ้านคำปุน

ชีวิตในวงการผ้าเป็นยังไง

เราเป็นสังคมที่น่ารักมาก เราไม่ใช่ลูกค้า หรือคนขายผ้า เราเป็นกัลยาณมิตรที่ดูแลกัน เรามีความหวังดีเมื่อท่านต้องไปงาน แล้วท่านก็หวังดีเมื่อเรามีกิจการของเรา

ผมไม่เสียดายเลยที่เลือกอาชีพนี้เป็นอาชีพสุดท้าย เพราะมันไม่ได้เห็นแค่ความงดงามของงานเท่านั้น แต่มันได้เห็นความงดงามของจิตใจด้วย แล้วมันทำให้เกิดความสุขจริงๆ

ลูกค้าคนหนึ่งต้องรอผ้านานแค่ไหน

บางท่าน 3 ปี บางท่าน 5 ปีแล้วครับ บางท่านรอมาตั้งแต่ผมยังอายุ 20 ต้นๆ ด้วยซ้ำ

ทำไมนาน

ตอบตามตรงคือ นึกไม่ออกว่าจะทำอะไรให้ท่านดี มันยังไม่เกิดแรงบันดาลใจ ที่จริงท่านก็บอกอะไรก็ได้ แต่เราก็อยากทำงานที่ดี ที่เหมาะกับท่านนั้นๆ บางท่านอาจรอจนหมดชาติภพนี้ก็อาจยังไม่ได้ผ้าของผมก็ได้ เพราะมันยังนึกไม่ออกว่าท่านจะเหมาะกับผ้าลวดลายแบบไหน

มุมมองผ้าของผมก็คือ เพื่อสิ่งที่ท่านเรียกว่าอริยทรัพย์ฮะ คือสิ่งที่เป็นของภายใน ไม่ใช่ของภายนอก ความปีติ ความสุขที่เราได้รับ ไม่ใช่เงินที่เราสัมผัสได้ ไม่ใช่แลกเอาเสื้อผ้า แลกเอารถยนต์ แลกเอาบ้าน แต่แลกเอาความสุขในใจที่จะติดตัวเราไปจนวาระสุดท้ายฮะ

เป้าหมาย ค่าของเรา มันเพื่อที่จะไม่ได้อะไรตอบแทน เราเลยถือว่าราคาของผ้าเสมอกัน ถ้าผ้าคุณภาพเท่านี้ ก็จะกำหนดราคาตามวัตถุดิบ คุณภาพ ที่เราคิดว่าเหมาะสม

งานที่ใหญ่ที่สุดที่คุณเคยทำคืออะไร

บ้านคำปุนเคยทำผ้าให้มหากาพย์หนัง ตำนานสมเด็จพระนเรศวร ซึ่งเรานำความรู้ดั้งเดิมมาปรับตีความใหม่ เลือกสีเข้มให้เหมาะกับความเป็นนักรบ และเอาลายอีสานไปใส่ เลือกลักษณะผ้าที่เวลาโดนแสงจะไม่วิบวับมาก เพื่อให้เหมาะกับการถ่ายทำหนัง หรืออย่างหนังเรื่อง สุริโยไท เราก็ทำมัดหมี่ที่มีลูกปัด เป็นเทคนิคที่เรายืมมาจากเผ่ากะตูในลาว

แต่ผมคงไม่ทำให้หนังอีกต่อไปแล้ว ทำแล้วเหนื่อย เพราะเยอะมากครับ ผ้าคาดเอวพระเอกคนเดียวก็ไม่รู้กี่สิบชิ้นแล้ว เราแทบต้องวางงานเราทั้งหมดของคำปุนเพื่อมาทำ

แต่งานนั้นก็คุ้มเพราะทำให้ได้รับใช้สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 แบบห่างๆ แล้วก็ได้มีโอกาสถวายรายงานด้วย

เล่าบรรยากาศการถวายงานให้ฟังหน่อย

งานวันนั้นเขาให้เราประจำตรงนิทรรศการเรื่องเครื่องแต่งกายคนเดียว เมื่อพระองค์เสด็จมาเราก็ถวายคำนับแล้วก็รู้สึกว่า โอ ตัวเราเล็กเหลือเกิน ทำไมพระองค์ท่านมีบารมีใหญ่หลวง แล้วพระองค์ตรัสถามเราว่า ผ้าปูมนี้ออกแบบเองเหรอคะ สีนี้สวยเหมือนฝันเลย เราก็ดีใจที่พระองค์ทรงรู้จักผ้าปูม รู้ว่าไหมนี้เป็นไหมน้อย

ครั้งหนึ่งในชีวิตเราได้รับใช้พระองค์ท่านอย่างนี้ ถึงเราจะเสียหายอะไร ถ้าเทียบกับความปีติยินดีที่พระองค์ท่านทรงมีเมื่อได้ทอดพระเนตรงานของเรา ก็ไม่มีความทุกข์อีกต่อไป

มีชัย แต้สุจริยา, บ้านคำปุน

ผ่านงานทอผ้ามาหลายปี ผ้าของคุณเปลี่ยนไปบ้างไหม

เปลี่ยนครับ ผมเคยใช้มรกตทับทิมในผ้าของชุดแต่งงานท่านหนึ่ง แต่ตอนนี้พอมองกลับไปดู เราก็เห็นว่า เราควรให้คุณค่ากับฝีมือเรามากกว่าของมีค่าที่เราจะประเดประดังลงไป

สังเกตว่าของที่ทำง่ายๆ เนี่ยเป็นของที่ทำได้ยาก ถ้าเราจะถมลงไปเยอะๆ ง่าย แต่ถ้าเราจะทำให้มันเรียบแล้วสง่างามต่างหาก เป็นสิ่งที่ทำได้ยากที่สุดในเรื่องของงานผ้า

ทำงานผ้ามาตลอดชีวิต คุณยังสนุกอยู่ไหม

ตอนนี้ยังมีอะไรอยู่ ยังพออยากทำต่อ แต่เราไม่รู้ว่าเราจะมีแพสชันที่จะทำผ้าแบบนี้ต่อไปอีกนานเท่าไร ก็ตั้งใจไว้แล้วว่าสักวันหนึ่งถ้าเราแผ่วบางลงเมื่อไร ทั้งในแง่กายภาพและแง่แรงบันดาลใจ เราก็คงจะเลิกทำครับ ด้วยความพอใจว่าสิ่งนี้เราเลือกแล้ว ไม่มีความกดดัน ไม่ได้จนมุม เราเลือกทางเดินของเราแล้ว

อ.ถวัลย์ ดัชนี ท่านเคยมาเยี่ยมเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว ท่านเขียนรูปให้ผมรูปหนึ่งเป็นพิเศษ แล้วท่านก็บอกว่า “เถ่ารู้มั้ยว่าพระมีหลายแบบ งานที่เถ่าทำเนี่ยเหมือนขรัวกวาดลานวัด เราเลือกเป็นพระได้ จะเป็นพระปฏิมาให้คนเขากราบไหว้บูชา หรือจะเป็นขรัวกวาดลานวัด เถ่าเลือกเอา”

พี่ก็ตอบท่านด้วยความเคารพว่า ผมไม่ได้เป็นอะไรสักอย่าง เรามีความสุขที่ได้รับใช้ ทำผ้าซิ่นให้ท่านเหล่านั้นนุ่งก็เป็นความสุขแล้ว

แล้วจะไปทำอะไรต่อ

พอเราได้ปฏิบัติ ได้บูชา ได้ซาบซึ้ง ในพุทธศาสนา เรามองชัดว่าความจริงคืออะไร

ตอนนี้ การที่เราไปสนใจทุ่มเทเวลาให้การปฏิบัติภาวนามาก ทำให้เห็นความไม่จำเป็นของการทำให้งาม เราเลยเริ่มทำของบูชาถวายพุทธศาสนา เป็นงานที่เราทำสร้างจากแพสชัน ให้กลายเป็นศรัทธา ทำบุษบก มันปีติ อิ่มใจกว่าทำบ้านให้มหาเศรษฐี

ตอนนี้ผมก็วางแผนการไว้ว่าในอนาคตอาจจะหมดความสนใจเรื่องความงาม การปรุงแต่ง คงจะทำแค่ผ้าสีเทา สีซีเปีย สีเดียวหมด เป็นผ้าโมโนโทนฮะ (ยิ้ม)

มีชัย แต้สุจริยา, บ้านคำปุน

Writer

Avatar

อลิษา ลิ้มไพบูลย์

นักอยากเขียนผู้เรียนปรัชญาเพื่อเยียวยาอาการคิดมาก เวลาว่างใช้ไปกับการร้องคอรัสเล่นๆ แบบจริงจัง และดูหนังอย่างจริงจังไปเล่นๆ

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล