ทุกวันนี้ โลกของดนตรีนั้นไร้พรมแดน หูของเราอาจได้ยินท่วงทำนองดนตรีพื้นบ้าน แทรกซึมอยู่กับบทเพลงสากลอยู่บ่อย ๆ 

บางครั้งก็นึกสงสัยว่า ดนตรีต่างขั้วหลอมรวมเข้ากันได้อย่างไร 

โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องดนตรีพื้นบ้านที่มีทั้งลายดนตรีเฉพาะตัว และออกแบบมาเพื่อเล่นร่วมกับเครื่องดนตรีพื้นบ้านด้วยกัน 

เมื่อถูกเอาไปเล่นในวงดนตรีสากล ต้องทำอย่างไรให้สามารถผลิตเสียงไปด้วยกัน ไม่แปลกแยก แต่ยังคงสำเนียงพื้นถิ่นไว้อย่างไม่สูญเสียอัตลักษณ์

มด-วรกร คงสุข คือผู้ที่จะมาไขคำตอบนี้ ด้วยการนำเราเข้าสู่โลกของการผลิตพิณอีสานร่วมสมัย ณ ร้าน Mody Guitar Khonkaen  ของเขา

ไม่อินอะไร อาจได้อันนั้น

แสงลอดจากบานหน้าต่างในร้าน ส่องให้ภาพของชายคนหนึ่ง สว่างราวกับมีสปอตไลต์สาดส่อง ท่ามกลางวัสดุและเครื่องไม้เครื่องมือสารพัด 

เขาเป็นทั้งเจ้าของแบรนด์ ควบตำแหน่งช่างผู้ผลิตเครื่องดนตรี กำลังเพ่งพินิจอยู่กับ ‘เต้าพิณ’ ตรงหน้าโต๊ะทำงาน 

Mody Guitar Khonkaen ฟังจากชื่อก็เดาได้ไม่ยาก ว่าเขาต้องผลิตกีตาร์แน่ ๆ แต่ที่เหนือไปกว่านั้นคือ มดเป็นผู้คิดค้นและริเริ่มผลิตเครื่องดนตรีอย่าง ‘พิณ Mody Guitar’ พิณอีสานแนวใหม่สุดเท่ภายใต้โลโก้รูปตัว M ในสีสันสุดเจ็บ และรูปลักษณ์เต้าพิณทรงตูดเป็ดสุดแจ่ม 

พิณ Mody เต็มไปด้วยฟังก์ชันระดับสากล ส่งให้เครื่องดนตรีแห่งที่ราบสูงมีเลเวลความคูลทะลุกราฟ อยู่ร่วมบนเวทีกับเครื่องดนตรีสากลได้อย่างไม่เป็นรอง ไม่ขัดเขิน และสำคัญที่สุดคือไม่สูญเสียความเป็นอีสาน  ปัจจุบันมีศิลปินหลายท่านนำพิณอินดี้ของโมดี้กีตาร์ไปใช้เล่นบนเวทีทั้งในการแข่งขันและใช้จริงโดยมืออาชีพ 

ความเทพที่ไม่เหมือนใครของพิณโมดี้ไร้ทุกข้อกังขา แต่กว่าจะมาถึงวันนี้เชื่อว่าคงไม่ง่าย 

มดเล่าความเป็นมาของพิณโมดี้ที่เริ่มต้นอย่างบังเอิญ “เห็นเราทำพิณแบบนี้ตอนแรกเราไม่ได้อินอะไรกับดนตรีพื้นบ้านเลยนะ” 

เขาเป็นคนนครพนม เรียนต่อที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สาขาประติมากรรม มดหลงรักดนตรีสากลเป็นชีวิตจิตใจ ระหว่างเรียนก็เล่นดนตรีอยู่เสมอ อินจัดขนาดที่อยากจะลองทำเครื่องดนตรีด้วยตัวเอง 

เขาเนรมิตพื้นที่หลังห้องเช่าของเขาเป็นช็อปย่อม ๆ เพื่อทดลองสร้างกีตาร์ไว้ใช้เอง โดยเริ่มจากนำกีตาร์ที่มีขายในตลาดมาลองดูโครงสร้าง รูปทรง และทดลองทำตามไปแบบที่ตนเข้าใจ ราว 20 ปีก่อนไม่มีสื่อทางโซเชียลให้สืบค้นข้อมูลได้เหมือนทุกวันนี้  พอลองผิดลองถูก ทำและลองเล่น ถ้าถึงขั้น ‘พอเล่นได้’ ก็นับว่าสำเร็จแล้ว 

“หลังเรียนจบ ต้องหางานทำ เราไม่อยากเป็นลูกน้องคนอื่น เลยผันตัวเองมารับซ่อมบำรุงกีตาร์ ช่วงแรกก็ลุ่ม ๆ ดอน ๆ 5 ปีแรก ไม่ต้องพูดถึงการสร้างพิณ เพราะยังไม่ได้เข้าสู่โลกของดนตรีพื้นบ้าน”

ณ วินาทีนั้น มดยังมองไม่ออกว่า งานดูแลและซ่อมกีตาร์ จะกลายมาเป็นพิณได้อย่างไร

ทำไมไม่ลองทำพิณ? เมื่อศิลปินตั้งคำถาม สู่การเป็นต้นแบบพิณอีสานสมัยใหม่

วันหนึ่ง คำถามสั้น ๆ จากศิลปินอีสาน จุดประกายให้มดผู้ไม่ได้อินกับดนตรีพื้นบ้าน เริ่มก้าวสู่โลกของเครื่องดนตรีอีสาน

วันหนึ่งเราได้รู้จักกับคนที่เขาเล่นพวกเครื่องดนตรีอีสาน เล่นพิณเก่งมาก เขาเลยมาเติมความคิดเราว่า ‘ทำกีตาร์ได้ ทำไมไม่ลองทำพิณบ้างล่ะ’ พอเขาถาม เราก็คิดขึ้นมาว่า แล้วพิณมันเป็นอย่างไร ทำอย่างไร เลยเริ่มศึกษา 

“การสร้างพิณของเรา จะไม่ไปดูของคนอื่น เพราะเรามีแนวคิดมาจากสมัยที่เรียนประติมากรรมมาว่า เวลาเราสร้างสรรค์งานจะไปซ้ำคนอื่นไม่ได้ เอาแนวคิดมาได้ แต่รูปแบบการสร้างสรรค์งานต้องไม่เหมือนใคร ถึงจะอยู่ได้”

มดทดลองสร้างพิณในแบบที่เขาเข้าใจ แล้วลองนำไปให้ศิลปินคนเดิมทดลองเล่น 

“เขาก็บอกว่า ‘เฮ้ย เล่นได้นะ เล่นดีเลยทีเดียว’ พิณตัวแรกนั้นเราใส่แนวคิดของเราลงไป คือ การเอาความเป็นดนตรีสากลมาใส่ลงในพิณ 5 ปีถัดมา เราคิดค้นมาเรื่อย ๆ พัฒนารูปร่าง รูปร่างของพิณปัจจุบันและพิณสมัยนั้นใกล้เคียงกัน เพราะเราเอารูปร่างแรกที่เราออกแบบไว้ก็คือทรงตูดเป็ดมาพัฒนาต่อเนื่อง ทุกวันนี้ทรงนี้เป็นที่นิยมมากในตลาดพิณ เขาเอามาทำเลียนแบบกัน บางอันทำเหมือน บางอันก็ทำไม่เหมือน แต่แนวคิดของรูปร่างนี้เริ่มต้นจากเรา” 

วัดใจด้วยคำพูดบาดใจว่า “นี่มันไม่ใช่พิณ” 

การริเริ่มพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ ในสังเวียนที่เต็มไปด้วยเจ้าถิ่น จะให้ทุกอย่างราบรื่นย่อมเป็นไปได้ยาก 

การสร้างพิณที่เป็นนวัตกรรมใหม่แบบแหวกขนมเดิมด้วยการผสมผสานเอาเครื่องดนตรีสากลเข้ามาของมด จึงถูกวิจารณ์อย่างหนักหน่วง 

“ช่วงแรก ๆ ทุลักทุเล รายได้ก็น้อย ยังดีที่มีรายได้จากการดูแลและทำกีตาร์พอเลี้ยงตัวได้ เราพัฒนาพิณของเรามาเรื่อย ๆ ณ เวลานั้น ไม่ได้มีพิณแบบที่เราทำอยู่เลย คือเราเป็นเจ้าแรก ๆ ที่สร้างพิณขึ้นมาใหม่ นำสีสันเข้ามาสู่พิณ เติมความละเอียดและเอาความรู้เกี่ยวกับการสร้างกีตาร์เข้ามาผสมผสาน

“พอทำออกมา เราโดนเขาด่ายับเลยนะ (หัวเราะ) เช่น การทำพิณให้มีสี เขาบอกว่า ‘มันไม่ใช่พิณ’ เวลามีการแข่งขัน เด็กเอาขึ้นไปแข่ง ก็โดนบอกว่าอย่าเอามาแข่ง หรือแข่งไปก็แพ้ เขาไม่ยอมรับ ส่วนหนึ่งมองว่าเพราะเขายังยึดติดอยู่กับความเป็นพื้นบ้านเกินไป 

มดมุ่งพัฒนาพิณของเขาในนาม พิณ Mody Guitar มาเรื่อย ๆ และเมื่อเวลาล่วงเลยไป แม้จะไม่ได้รับคำชื่นชมกลับมาตรง ๆ แต่มดก็เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในแวดวงการทำพิณอีสาน ว่าพิณรูปแบบใหม่ของเขากลายเป็นต้นแบบให้ช่างทำพิณรุ่นใหม่ ๆ นำไปใช้ศึกษาและทำตามกันอย่างแพร่หลาย  

พิณ x Guitar + ฟังกชั่น+ดีไซน์ = พิณ Mody Guitar  

เราขอให้มดเล่าถึงลักษณะของพิณ Mody Guitar ของเขาให้ฟังแบบเจาะลึกลงไปในรายละเอียด “พิณเป็นเครื่องสายเหมือนกีตาร์ มีการเล่นเฉพาะ สมัยก่อนจะใช้ปิ๊กยาวเล่น ดีดแรง ๆ เพราะอยากให้เสียงดัง เมื่อก่อนไม่มีพิณไฟฟ้า ตัวเต้าพิณ คอพิณ ทำจากไม้ไทย ๆ เวลาตั้งสายก็ลองดีดแล้วใช้หูฟัง ถ้าได้เสียงที่ต้องการก็นำเอาไม้ไผ่มาทาด้วยยางจากชันโรง หรือ ขี้สูด แล้วติดเป็นขั้นแบ่งเสียง คล้ายกับเฟรตกีตาร์  

“เราคิดว่าถ้าจะพัฒนาพิณ เรื่องความเที่ยงตรงของเสียงต้องมาก่อน จึงเอาเทคโนโลยีการทำ ‘เฟรตกีตาร์’ มาผสมลงในพิณ แล้วจูนเสียงโน้ตให้ตรงคีย์  เฟรตกีตาร์ก็คือเหล็กเส้นที่คั่นช่องเป็นขีด ๆ บนคอกีตาร์ เพื่อกำหนดเสียงเวลากดและดีด เราก็ประยุกต์เอาความรู้เรื่องการจูนเสียงการตั้งน้ำเสียงกีตาร์แบบสากลมาใช้วางเฟรตของพิณ เพื่อให้ได้ระยะห่างของช่องที่เหมาะสม จึงเกิดน้ำเสียงที่เที่ยงตรงมากยิ่งขึ้น ต่างจากพิณสมัยก่อนที่ใช้หูฟังเสียงอย่างเดียว จึงอาจเกิดเสียงเพี้ยนไม่เที่ยงตรงได้ง่าย

“เสียงของพิณอีสานแบบดั้งเดิม เวลานำไปเล่นกับเครื่องดนตรีสากลจะมีเสียงไม่ครบ เล่นได้เฉพาะบางคีย์ เพราะเมื่อก่อนพิณไม่ได้ถูกนำไปเล่นกับดนตรีอื่น ใช้เล่นเฉพาะกับเครื่องดนตรีพื้นบ้านอย่างแคน โปงลาง ฯลฯ เท่านั้น  คนทำพิณแต่ก่อนเขาจึงแกะเฟรตออกให้มีจำนวนแค่ 15 เฟรตบ้าง 8 เฟรตบ้าง เรียกว่ามี 8 ขั้น หรือ 15 ขั้น เขาแกะเฟรตทั้งที่เป็นหนึ่งเสียงและครึ่งเสียงออก เพื่อให้กลายเป็น Pentatonic Scale (เป็นสเกลที่มีโน้ตอยู่ 5 ตัว โดยจะตัดโน้ตออกไป 2 ตัว ตัวที่ตัดออกไปมีระยะห่างครึ่งเสียง มีทั้งหมด 4 ตัว แต่จะเลือกตัดตัวที่สำคัญน้อยกว่า) เพื่อจะนำมาใช้เล่นในลายดนตรีพื้นบ้าน เข้ากับเครื่องดนตรีอื่น ๆ ที่มีสำเนียงแบบเดียวกัน 

“ในสมัยใหม่ การเล่นดนตรีหลากหลายขึ้น เมื่อลายพิณที่เรียกว่า ‘ลายอีสาน’ เริ่มเข้าไปอยู่ในเพลงลูกทุ่ง เพลงอีสานอินดี้ที่มีเสียงเยอะ ๆ มีคีย์และโน้ตหลากหลายขึ้น นักดนตรียุคใหม่ก็เลยต้องการเพิ่มเฟรตเข้ามาในพิณแบบกีตาร์ ให้ครบทุกเฟรตตั้งแต่ 24 เฟรต 20 เฟรต หรือ 18 เฟรต ต่างจากเมื่อก่อนที่มันไม่หลากหลาย เพราะไม่มีคนเอามาประยุกต์อย่างเช่นทุกวันนี้  

“เราพัฒนาพิณให้ร่วมสมัยขึ้นโดยเอาระบบของกีตาร์ใส่เข้าไป มีตัวเลือกเยอะขึ้น เช่น เมื่อก่อนพิณอาจจะมีตัวรับเสียง 1 ตัว (เรียกว่า Pickup) หรือไม่มีเลย เราก็เพิ่มเป็นตัวรับเสียงเข้าไป 1 หรือ 2 Pickup 

“Pickup ก็เหมือนไมโครโฟนในกีตาร์ เห็นตัวที่เป็นแท่ง ๆ แล้วมีวงกลม 6 อันไหม อันนั้นแหละเขาเรียก Pickup กีตาร์ รับการสั่นสะเทือนจากสายไปทำให้เกิดเสียง เสียงจะดีไม่ดีอยู่ที่วัสดุที่ใช้ในการพัน ว่าให้เสียงโทนไหน แล้วเราก็เพิ่มสวิตช์ให้มันเหมือนกีตาร์  

“รูปทรงของเต้าพิณ เรายังคงโครงหลักเดิมเอาไว้ หัวพญานาค ตัวเต้าพิณที่เป็นทรงหยดน้ำเรายังคงไว้ แต่ออกแบบเพิ่มเติมให้มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง คือช่วงท้ายพิณงอนเหมือนทรงตูดเป็ด เป็นทรงเอกลักษณ์ของ Moddy Guitar ทั้งหมด แล้วก็ทำสีให้มันร่วมสมัยขึ้น ทำงานให้ละเอียดขึ้น เหมือนเป็น custom-made” 

ยุคนั้นพิณส่วนใหญ่เป็นทรงหยดน้ำ มดอยากให้แตกต่าง เขาลองวาดรูปทรงใหม่ ได้แรงบันดาลใจจากกีตาร์หลายแบรนด์ จนออกมาเป็นทรงไม่เหมือนใคร

“วัสดุที่ใช้ ช่วงเริ่มแรกก็ใช้ไม้ไทย แต่มีปัญหาของการอบแห้ง ไม้บิดตัว นั่นทำให้เราเข้าใจว่า ทำไมพิณแบบดั้งเดิมเวลาเล่นไปนาน ๆ จึงเกิดปัญหาเรื่องคอพิณบิดตัวง่าย ถ้าเราต้องเอาไม้ไทยไปผ่านกระบวนการจัดการให้ได้มาตรฐานเหมือนไม้เมืองนอก ค่าใช้จ่ายจะเพิ่ม เราเลยหันมาใช้ไม้ฝรั่งจากโรงไม้และผ่านการอบมาแล้ว ซึ่งช่วยลดปัญหาดังกล่าวลงได้ดี  

“ถ้าจะให้เสียงพิณออกไปทางสากล ต้องใช้ไม้ที่เขานิยมมาทำกีตาร์ เช่น ไม้เมเปิ้ลสำหรับทำคอ ถ้าเป็นไม้ทำตัวเต้าพิณก็จะใช้ไม้ ‘อคาเซีย’ และเราก็เอาแนวคิดแบบกีตาร์โปร่งมาทำเต้าพิณ มีไม้ มีกระดูกงู เอาไม้บางมาทำ เราจะไม่ทำเหมือนพื้นบ้านเมื่อก่อนที่เอาไม้มาขุดแล้วปิดหน้าปิดหลัง แต่ทำเหมือนกีตาร์โปร่งเลย ในส่วนของพิณโปร่งนะ ส่วนพิณไฟฟ้า ก็ทำเหมือนกีตาร์ไฟฟ้า ลำตัวตันก็มี หรือ ลำตัวที่มันเจาะครึ่งหนึ่งก็มีที่เป็น Semi ที่มีโลโก้รูปตัว M อยู่ข้างบน เขาเรียกว่า Semi Acoustics เพื่อให้เสียงเทียบเท่ากับกีตาร์ไฟฟ้าทรงตัน เสียงมีมิติขึ้น 

“สายพิณ ก็เปลี่ยนมาใช้สายกีตาร์ที่ให้ความเที่ยงตรงของเสียงที่เป็นมาตรฐาน สมัยก่อนพิณจะใช้สายเบรกรถจักรยานมาทำ ไม่มีสายขายเหมือนทุกวันนี้ แต่สมัยนี้สายกีตาร์หาง่ายและมีมาตรฐานมากกว่า สมัยก่อนเขาไม่ได้ใส่ใจเรื่องความเพี้ยนมากมาย เอาแค่เสียงดัง เล่นเท่ากันนิดนึง มันก็สนุกสนาน ม่วนกันได้แล้ว

“เอกลักษณ์เสียงพิณของ Mody Guitar ณ ตอนนี้ คล้าย ๆ เสียงกีตาร์ Fender จะเด้ง ๆ หน่อย มีให้เลือกหลายเสียง แต่ก่อนพิณไม่ค่อยมีให้เลือกหลายเสียง แต่พอเราเริ่มทำ Pickup 2 ตัว แล้วผสมเสียงกันออกมา เพื่อให้เสียงออกโทนแบบนั้น ซึ่งแต่ก่อนไม่มีใครทำ”

มดขมวดสรุปถึงลักษณะพิณของเขาย้ำกับเราอีกครั้งว่า คือการผสมผสานระหว่างของเก่าและของใหม่ คือไม่ทิ้งรูปทรงหยดน้ำแบบพิณดั้งเดิม แต่มาปรับเปลี่ยนให้ลงตัว มีองค์ประกอบของรูปทรงสวยงามมีเอกลักษณ์ และพัฒนาให้พิณของเรามีเสียงที่เที่ยงตรงขึ้น เพื่อสร้างสรรค์ให้เกิดนวัตกรรมทางเครื่องดนตรีอีสานที่สวยงามขึ้น น่าเล่นขึ้น เล่นง่าย ถนัดมือขึ้น ตั้งแอคชั่นให้เหมือนกีตาร์นั่นเอง

พิณเปลี่ยนไป เสียงอีสานเปลี่ยนไหม 

ฟังมดเล่าถึงตรงนี้ เราเริ่มสงสัยว่า การเปลี่ยนวิถีการทำพิณของเขาที่หลอมรวมเอาความเป็นกีตาร์สากลเข้ามา จะส่งผลต่อสุ้มเสียงสำเนียงพิณแบบอีสานดั้งเดิมหรือไม่อย่าไร 

“คำว่า ‘เสียงดี’ มันบอกโดยตัวเราไม่ได้ แต่ละคนชอบไม่เหมือนกัน ทีนี้เราทำพิณโปร่งขึ้นมาในลักษณะตามแบรนด์ที่เราทำ เสียงจะใกล้เคียงกีตาร์โปร่ง เพราะลำตัวลึกขึ้น หนาขึ้น จะได้เสียงที่นวล ๆ ขึ้น แต่ถ้าเป็นพิณโปร่งสมัยโบราณที่ใช้ไม้ขนุนทำ ทรงพิณมันบาง ทำให้เสียงกลางแหลมเยอะ เวลาดีดจะเป็นเสียง ‘ต๊องแด๊ง ๆ’ แล้วแต่คนชอบว่าจะเอาสะดวกไปใช้แบบไหน สำเนียงแบบไหน

“มันอยู่ที่คนเล่นด้วยนะ ว่าจะเล่นเป็นสำเนียงไหน บางคนเล่นกีตาร์ไปเล่นพิณมันก็เป็นสำเนียงกีตาร์นะ หรือถ้าเอานักดนตรีที่เล่นดนตรีสำเนียงอีสานไปเล่นกีตาร์ เขาก็เล่นออกมาเป็นสำเนียงพิณอีสานได้เหมือนกัน หากเราหลับตาฟังและไม่ได้สนใจรูปลักษณ์”

เมื่อพิณของมดเริ่มนำไปใช้เล่นในเวทีต่าง ๆ เขาเคยลองไปนั่งฟังศิลปินบนเวทีใช้พิณ Mody Guitar เล่นกับวงดนตรีสากลดูด้วยใจเป็นกลาง พบว่าเสียงพิณจูนเข้ากับเครื่องดนตรีอื่น ๆ ได้ง่าย มีบาลานซ์ของเสียงทีดีอย่างน่าตกใจ ก่อเกิดเป็นความภาคภูมิใจ สร้างความมั่นใจว่า สิ่งที่สู้ฝ่าฟันมานั้นไม่สูญเปล่า

พิณ Mody Only Made to Order และจรรยาบรรณ

ถึงมดจะเป็นคนทำพิณร่วมสมัยในยุคแรก ๆ แต่เขาก็ย้ำกับเราว่า ผู้ริเริ่มที่ก่อให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมแห่งดนตรีอีสานนี้ตัวหลัก คือความต้องการของศิลปินยุคใหม่ที่เป็นผู้เล่นพิณที่ต้องการนำเอาสำเนียงของพิณไปเล่นร่วมกับดนตรีสากล เพราะมดเองเล่นพิณไม่เป็น เขาจึงนิยามตัวเองว่า เป็นช่างผู้ผลิตเครื่องดนตรีให้ตอบรับกับความต้องการของศิลปิน

“เราเป็นช่างผู้ผลิตเครื่องดนตรีตามความต้องการของศิลปิน ทำแบบ Made to Order ในรูปแบบของเรา เลือกไม้หน้าที่ทำเป็นลายได้ เลือกเฟรตได้ เลือกสีได้ แต่รูปทรงจะเป็นของเรา เพราะเราอยากให้เป็นตัวของตัวเองเหมือนกีตาร์สากล เช่น กีตาร์ของ Fender หรือ Gibson จะมีทรงเฉพาะของเขา Fender เป็นทรง Strat ส่วน Gibson เป็นทรง Les Paul เขาไม่ทำทรงอื่น 

“สำคัญที่สุดคือ เรามีจรรยาบรรณมากพอที่จะไม่ไปละเมิดสิทธิ์ใคร ไม่ก๊อปปี้คนอื่นเหมือนที่คนอื่นมาก๊อปปี้เรา เพราะถ้าทำแบบนั้น เหมือนไปเบียดเบียนเขา ถ้าเขาทำพิณทรงอื่นอยู่แล้วมีคนมาสั่งเราบอกว่าอยากได้ทรงแบบนั้น เราก็บอกว่าให้ไปทำกับช่างคนนั้นเลย เราไม่ทำให้”

เมื่อพิณเท่ เด็กรุ่นใหม่ก็อยากเล่น ดนตรีอีสานก็ไม่ตาย

ความจริงอย่างหนึ่งที่ซุกซ่อนอยู่ภายใต้รูปลักษณ์และฟังก์ชันของพิณ Mody Guitar คือเขาต้องการให้เครื่องดนตรีร่วมสมัยนี้ ช่วยดึงดูดให้คนรุ่นใหม่หันกลับมาสนใจดนตรีอีสาน 

“คอนเซปต์ของแบรนด์ คือ ‘เราพัฒนาดนตรีพื้นบ้านสู่มาตรฐานสากล’ ชิ้นงานจึงสะท้อนสิ่งนี้ออกมา คือความทันสมัยที่ยังมีความเป็นอีสานคงอยู่ 

“อุดมการณ์ลึก ๆ ที่ซ่อนอยู่ในพิณที่เราทำคือ ทำอะไรก็ได้ ให้คนรุ่นใหม่อยากเอาไปเล่น ถ้าเราทำพิณให้มีความสวยงาม มีสีสัน เล่นดี จะพาคนรุ่นใหม่ให้หันกลับมาสนใจดนตรีอีสาน เด็กบางคนก็มาจากตรงนี้เลยนะ เขาเห็นพิณสวย รู้สึกอยากเล่น รวมกับทุกวันนี้มีวัฒนธรรมทางดนตรีที่เอาไปใส่ในเพลงสมัยใหม่ได้ 

แล้วเวลาเด็กเอาไปเล่น ถ้าพิณยังเป็นรูปแบบเดิม เขาจะกล้าเอาไปเล่นโชว์ไหม ก็คงกล้า แต่ไม่เท่ เราทำของที่ร่วมสมัย สวยงาม มีแรงจูงใจในการที่จะเอาไปใช้ ต่อยอดให้คนรุ่นใหม่สืบสานวัฒนธรรมเดิมด้วยอย่างหนึ่ง”

เครื่องดนตรีอีสานอินดี้ที่รับเซอร์วิสตลอดชีวิตช่าง 

ด้วยความเป็นอัตลักษณ์ที่ไม่เหมือนใครของ พิณ Mody Guitar แต่ละตัว เพราะคือชิ้นงานที่หลอมรวมทั้งเจตนารมณ์ อุดมการณ์ของผู้สร้าง ผสานความต้องการของศิลปิน ในฐานะช่าง มดจึงยินดีดูแลและบริการซ่อมบำรุงพิณแต่ละตัวตลอดชีวิตของเขา 

“พิณไฟฟ้าเริ่มต้นที่ 10,000 บาท พิณโปร่งก็เริ่มต้นที่ 10,000 บาท ราคาจะขึ้นอยู่กับฟังก์ชั่นที่เลือก เช่น จะเลือกเป็น Semi ไหม แบบที่เจาะเป็นตัว M แบบหนึ่ง หรือ สอง Pickup ปะหน้าไม้เข้าไป เอาไม้ลายไปประกบหน้าไหมเพื่อเพิ่มสีสันให้สวยงาม ทำสีแบบไหน ราคาก็จะเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ จนถึงสามสี่หมื่นขึ้นไป 

เราเซอร์วิสตลอดชีวิตของช่าง ภายในหนึ่งปี ถ้ามีปัญหา เปลี่ยนให้ฟรี แต่ถ้าเกินหนึ่งปีไป เราเอามาซ่อมบำรุง คิดแค่ค่าอะไหล่ ค่าแรงไม่คิด ดูแลตลอดชีวิตช่าง”

เรื่องราวของมด และพิณ Mody Guitar ของเขา คือแบบอย่างที่ดีมาก หากคุณคือบุคคลหนึ่งที่ต้องการ หรือกำลังสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ อยู่เพียงลำพัง ขอเพียงมีความมั่นคง ยืนหยัด และทำสิ่งนั้นอย่างตั้งใจไม่ยอมแพ้ ย่อมไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้แน่นอน โดยเฉพาะหากสิ่งที่ทำอยู่นั้น มีอุดมการณ์แรงกล้าอันดีบางอย่างเป็นแก่นกลาง ไม่ว่าเส้นทางสู่ฝันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร แต่ก็มั่นใจได้ว่าคุณจะมีแสงแห่งอุดมการณ์นำทางให้ไม่หลงทิศอย่างแน่นอน

Mody Guitar Khon Kaen ตั้งอยู่ที่โคลัมโบ ซอย 1 จังหวัดขอนแก่น หากสนใจอยากมีพิณไม่เหมือนใคร ก็สามารถติดต่อเข้าไปได้ที่ Facebook : Mody Guitar KhonKaen หรือโทรศัพท์ 080 495 6636

Writer

สิทธิโชค ศรีโช

สิทธิโชค ศรีโช

มนุษย์ผู้ตกหลุมรักอาหารการกินมาตั้งแต่จำความได้ เคยโลดแล่นอยู่ในวงการสื่อสารด้านอาหารกว่าสิบปี ก่อนกลับบ้านนอกมาใช้ชีวิตติดกลิ่นปลาร้าที่อีสาน และยังคงมุ่งมั่นส่งต่อเรื่องราววัฒนธรรมอาหาร สุขภาพ และการดำรงชีวิตของผู้คนบนที่ราบสูง ให้โลกได้รับรู้

Photographer

Avatar

กานต์ ตำสำสู

จบวารสารศาสตร์ ม.สารคาม อายุ 26 เป็นคนสตูลที่เดินทางมาเรียนที่ภาคอีสาน ชอบฟังเพลงโลโซ คลั่งฟุตบอลไทย และชอบถ่ายภาพบ้านเกิดตัวเองเป็นชีวิตจิตใจ ปัจจุบันเปิดแล็ปล้างฟิล์มและห้องมืด ‘ฟิล์มกาหลง’ อยู่ขอนแก่น