ฤดูร้อน พ.ศ. 2566 นี้ มันร้อนโหดที่สุดเท่าที่เคยเจอมาในชีวิต ผลกระทบของภาวะโลกร้อนครั้งนี้ชัดเจน เตือนให้มนุษย์รู้ว่าวิกฤตทางธรรมชาติไม่ใช่เรื่องเล่นอีกต่อไป และมีแต่จะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ หากมนุษย์ยังไม่คิดและลงมือแก้ไขกันอย่างจริงจัง

ปริมาณต้นไม้บนโลก คือคำตอบของการแก้ปัญหานี้ คงไม่ต้องย้ำหรอกว่าต้นไม้นั้นดีงามต่อทุกชีวิตบนโลกเพียงใด แต่ขอยกประเด็น Unseen ที่หลายคนคงไม่เคยรู้มาเล่าสู่กันฟัง นั่นคือต้นไม้พยากรณ์มวลฝนหรือภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นบนโลกได้ล่วงหน้าก่อนนับเดือนอย่างชัดเจน เผลอ ๆ พยากรณ์ข้ามปีได้ด้วยซ้ำ

ประเด็นนี้นำเราไปพูดคุยกับนักวิชาการสอนปลูกป่าลูกหลานชาวกาฬสินธุ์ ผู้เฝ้าสังเกตต้นไม้วงศ์ยางนาและต้นไม้ป่าชนิดอื่น ๆ ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น จนเข้าใจภาษาของต้นไม้ที่ช่วยไขความลับธรรมชาติว่า แต่ละปีฝนฟ้าจะอุดมสมบูรณ์หรือจะร้อนแล้งอย่างไร นานหลายปีที่เขาทำการทดลอง เก็บข้อมูลเชิงสถิติ มาผสานการวิเคราะห์ด้วยความรู้ด้านวนศาสตร์ พร้อมสร้างเครือข่ายนักสังเกตต้นไม้ครอบคลุมทุกพื้นที่ในประเทศ เพื่อประมวลผลข้อมูลรอบด้าน จนได้ข้อสรุปเป็นคำพยากรณ์ฟ้าฝนและภัยแล้งที่จะเกิดขึ้น

ฟ้าครึ้มหม่นในฤดูฝนตอน 09.00 น. ณ ตลาดเช้าหนองแวง มหาวิทยาลัยขอนแก่น เรานัดกับ อาจารย์นพพร นนทภา ผู้ก่อตั้ง ‘กลุ่มขุนดง

พันธุ์ไม้ฟรี 24 ชั่วโมง’ และอาจารย์ใหญ่ของ ‘โรงเรียนปลูกป่า อ.เมือง จ.ขอนแก่น Forest Plantation School’ อาจารย์เริ่มเปิดบทสนทนาด้วยการชี้ให้เราดูกลุ่มต้นยางเหียงที่เกิดอยู่ในแถบนั้น ก่อนบอกกับเราว่า

นพพร นนทภา ผู้ถอดรหัสพยากรณ์ฝนจากต้นไม้ได้สำเร็จ พร้อมคำทำนายน้ำท่วมฝนแล้ง พ.ศ. 2566

“นั่นไง ยางเหียงต้นเทพที่ทำนายฝนได้ทุกหยดในไทย” อาจารย์นพพร นนทภา กล่าว

ครั้งแรกที่ได้ยิน คิ้วฉันก็ขมวดมุ่นทันที เพราะเกิดคำถามในใจขึ้นว่า ต้นไม้นี่หรือจะบอกปริมาณน้ำฝนได้ เพราะโดยทั่วไป เรื่องฟ้าฝนเราก็จะพึ่งข้อมูลจากกรมอุตุฯ ไม่ก็แอปพลิเคชันพยากรณ์ดินฟ้าอากาศจากในโทรศัพท์ หรือถ้าออกแนวคำพยากรณ์โบราณ ก็รอดูในวันพืชมงคลว่าพราหมณ์หยิบผ้านุ่งได้ยาวกี่ศอกและพระโคกินอะไร ทว่าวันนี้มีนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกป่ามาชี้บอกเราด้วยท่าทีหนักแน่น ซ้ำย้ำชัดด้วยแววตาและน้ำเสียงว่า ต้นไม้มีความสามารถทำนายฟ้าฝนและภัยแล้งได้จริง ๆ หากสังเกตเป็น

ความสงสัยในใจนั้นค่อย ๆ คลายลงทีละเปลาะ แล้วเปลี่ยนเป็นความทึ่งแทน เมื่ออาจารย์นพพรพาเราขับรถไปชมป่าในมหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย วิทยาเขตขอนแก่น และโรงเรียนสอนปลูกป่าของท่าน พร้อมเผยเรื่องราวสุดอัศจรรย์ของต้นไม้ระหว่างการเดินทาง ซึ่งทำให้เขาไขคำพยากรณ์ฝนในธรรมชาติสำเร็จ แถมแม่นยำแบบไม่พลาดเลยสักครั้ง

นพพร นนทภา ผู้ถอดรหัสพยากรณ์ฝนจากต้นไม้ได้สำเร็จ พร้อมคำทำนายน้ำท่วมฝนแล้ง พ.ศ. 2566
นพพร นนทภา ผู้ถอดรหัสพยากรณ์ฝนจากต้นไม้ได้สำเร็จ พร้อมคำทำนายน้ำท่วมฝนแล้ง พ.ศ. 2566

คำครูสอน ‘ต้นไม้จับโจร’ และวันที่ลูกไม้หล่นใส่หัว

อะไรคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้อาจารย์สังเกตคำพยากรณ์จากต้นไม้ – คือคำถามแรกที่ฉันถามอาจารย์นพพร ท่านนิ่งคิดสักครู่ แล้วตอบกลับมาว่า

“สมัยเรียนวิทยาศาสตร์ ม.2 ครูเล่าว่าที่ต่างประเทศเขาจะใช้ต้นไม้จับผู้ร้าย โดยนำเซนเซอร์ไปติดไว้ที่ต้นไม้ หากผู้ร้ายเดินหรือวิ่งผ่าน เซนเซอร์นั้นจะส่งคลื่นความถี่ที่มีลักษณะพิเศษออกมาไม่เหมือนคนปกติ ก็จะรู้ว่าบุคคลคนนั้นนั่นแหละคือโจร อีกเรื่องคือคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ที่บอกว่า ‘ปีไหนต้นมะม่วงกะล่อนออกดอกมาก ปีนั้นฝนจะเยอะ’

“หลังจากเรามาทำงานด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว จึงฉุกคิดขึ้นว่า ต้นไม้น่าจะรู้อะไรบางอย่างที่เราไม่รู้ มันน่าจะมีจิตวิญญาณเหมือนสัตว์”

นพพร นนทภา ผู้ถอดรหัสพยากรณ์ฝนจากต้นไม้ได้สำเร็จ พร้อมคำทำนายน้ำท่วมฝนแล้ง พ.ศ. 2566
นพพร นนทภา ผู้ถอดรหัสพยากรณ์ฝนจากต้นไม้ได้สำเร็จ พร้อมคำทำนายน้ำท่วมฝนแล้ง พ.ศ. 2566

คำถามนั้นค้างในใจ กระทั่งวันหนึ่งธรรมชาติก็ได้สื่อสารกับเขาแบบหล่นใส่หัว และนำไปสู่การถอดรหัสลับของต้นไม้

“เหตุเกิดตอนที่เราเข้ามารับราชการในมหาวิทยาลัยขอนแก่น และเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาหอพักชายที่ 6 ตรงหน้าหอพักชายมีต้นยางนาใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง อายุราว ๆ 50 ปี จำได้แม่นว่าวันนั้นคือวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2548 ประมาณ 4 โมงเย็น ผมก็ไปกินข้าวที่โรงอาหารชายใกล้ ๆ กับหอพัก และอยู่ติดกับต้นยางนา พอเราเดินผ่าน ลมพายุมายังไงไม่รู้ แล้วก็พัดให้ลูกของต้นยางนาร่วงพรูใส่หัวเรา ด้วยความที่เป็นนักเพาะต้นไม้อยู่แล้ว จึงเก็บเมล็ดยางนาพวกนั้นมาผ่าดู เพื่อตรวจว่าเมล็ดด้านในมีคุณภาพดีไหม ปรากฏว่าคุณภาพใช้ได้ เราก็เก็บมาเพาะปกติ

“ในใจตอนนั้นก็คิดว่า เอาล่ะ งั้นปีหน้าเราเจอกันอีกครั้งนะ ซึ่งเป็นคอมมอนเซนส์ปกติว่าผลยางนาต้นนี้น่าจะร่วงในวันเวลาเดิม ทีนี้พอถึงวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2549 เราก็ไปที่ต้นเดิมเวลาเดิมเพื่อจะไปเก็บลูกยางนา ปรากฏว่าเมล็ดแห้งเสียไปหมดแล้ว ก็สงสัยว่าทำไมเมล็ดมันไม่สดเหมือนปีก่อน ทั้งที่เราก็มาในวันและเวลาเดียวกัน จึงเดินไปถามแม่ค้าโรงอาหาร แม่ค้าบอกว่า มันร่วงประมาณวันที่ 15 – 16 แล้วอาจารย์ ทำให้เราเอะใจว่า เอ๊ะ หรือว่าต้นไม้มันรู้จักวันฝนตก”

นั่นคือปฐมบทที่นำไปสู่การไขความลับของธรรมชาติจากต้นไม้ครั้งยิ่งใหญ่ของอาจารย์นพพร หากในอดีต เซอร์ไอแซก นิวตัน ค้นพบกฎของแรงโน้มถ่วงจากธรรมชาติที่ชี้นำลูกแอปเปิลให้ร่วงลงพื้น ครานี้ ลูกไม้ของต้นยางนาที่หล่นใส่หัวอาจารย์นพพร ก็นำพาเขาไปสู่การค้นพบศาสตร์การพยากรณ์ฟ้าฝน จากการติดดอกออกผลของต้นไม้ได้อย่างน่าทึ่งไม่แพ้กัน

นพพร นนทภา ผู้ถอดรหัสพยากรณ์ฝนจากต้นไม้ได้สำเร็จ พร้อมคำทำนายน้ำท่วมฝนแล้ง พ.ศ. 2566

สู่การทดลองถอดรหัสธรรมชาติ

จากข้อสงสัยกลายเป็นสมมติฐานที่นำอาจารย์นพพรไปสู่การทดลองเก็บข้อมูลพืชวงศ์ยางนาในมหาวิทยาลัยขอนแก่นทั้ง 9 ชนิด เพื่อหาคำตอบว่าการร่วงหล่นของดอกและผลพืชวงศ์ยางนานี้ สัมพันธ์กับวันฝนตกอย่างไร

“เราออกแบบการทดลองเล่น ๆ ไม่เป็นทางการ ก็คือเอาไม้วงศ์ยางนาทั้งหมดในมหาวิทยาลัยขอนแก่น 9 ชนิด ชนิดละ 10 ต้นมาคำนวณ โดยนับจากวันดอกร่วง แล้วเก็บข้อมูลทุกชนิด คือยางนา ตะเคียนทอง ยางเหียง เต็ง รัง พลวง ยางกราด พะยอม และกระบาก ครบต้นไม้วงศ์ยางนาทั้งหมด 9 ชนิด เก็บข้อมูลไปเรื่อย ๆ นับวันตั้งแต่วันร่วงของทุกชนิด ทุกต้น ไปจนถึงวันฝนตกว่าใช้เวลากี่วัน

“ปรากฏว่าต้นไม้ทั้ง 9 ชนิด รวม 90 ต้น ทำนายแม่นทุกต้นเลย หมายความว่า ในวันที่เราคำนวณไม่พลาดเลย แล้วก็ได้ตัวเลขออกมา 2 กลุ่ม ตั้งแต่วันดอกร่วง 50 เปอร์เซ็นต์ หรือที่เรียกว่า ‘ร่วงพรู’ คือกลุ่มที่ทำนายฝนตกหลังดอกร่วง 90 บวกลบ 5 วัน ก็คือยางนา ยางกราด และยางเหียง 3 ชนิด และอีกกลุ่มคือกลุ่มทำนายฝนตกหลังดอกร่วง 60 วันก็มี เต็ง รัง พลวง กระบาก พะยอม และตะเคียนทอง ช่วยให้ระบุวันที่ฝนจะตกได้อย่างชัดเจน เราเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาเรื่อย ๆ และทุกครั้งที่พยากรณ์ก็คือแม่นยำ โดยช่วงแรกจะแม่นยำมากในเรื่องวันฝนตก และหลังจากนั้นก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ เพิ่มขึ้นอีก”

ที่อาจารย์นพพรเล่ามาข้างต้นเป็นเพียงข้อสรุป แล้วในรายละเอียดล่ะ นักสังเกตธรรมชาติท่านนี้ค้นพบอะไรบ้าง

นพพร นนทภา ผู้ถอดรหัสพยากรณ์ฝนจากต้นไม้ได้สำเร็จ พร้อมคำทำนายน้ำท่วมฝนแล้ง พ.ศ. 2566

คำบอกเล่าของต้นไม้และปรากฏการณ์ฝนฟ้า

อาจารย์นพพรเล่าถึงปรากฏการณ์ต่าง ๆ ของการติดดอกออกผลของต้นไม้วงศ์ยางนาและต้นไม้ชนิดอื่น ๆ ที่สัมพันธ์กับปริมาณน้ำฝนในแต่ละปีให้เราฟังต่อไปว่า

“ปรากฏการณ์แรก ผมจำได้ว่าในปี พ.ศ. 2557 – 2558 ที่ขอนแก่นเจอภัยแล้งรุนแรงมาก นั่นเป็นปีแรกที่เราเห็นต้นยางเหียงออกดอกนอกฤดู ปกติพืชวงศ์นี้ผลจะร่วงในช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม แต่ปีนั้นยางเหียงมันออกดอกช่วงปลาย พ.ศ. 2557 แล้วไปร่วงต้น พ.ศ. 2558 เราก็เลยเริ่มจับข้อมูลว่า ถ้าอย่างนี้ฝนอีสานจะตกไหม แล้วภาคอื่นจะเป็นยังไง เราเริ่มตั้งข้อสงสัยว่า หรือว่าต้นยางเหียงมันเห็นฝนที่อื่นและมันจับมวลฝนได้ ปราฏว่าต้น พ.ศ. 2558 น้ำท่วมภาคใต้ครับ

“ตั้งแต่ปีนั้นมาทำให้เราเห็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ‘ต้นยางเหียงเห็นฝนทั่วประเทศ’ ก็คือไม่ได้เห็นแค่มวลฝนในพื้นที่ที่เขายืนต้นอยู่ เพราะต้นที่เราเก็บข้อมูลนั้นอยู่ในภาคอีสานแต่พยากรณ์ฝนภาคใต้ได้ นับจากนั้นเราก็วิเคราะห์ได้ว่าภาคใต้จะมีน้ำท่วมวันไหน หรือจะมีพายุเข้าวันไหน โดยให้เริ่มตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ลงไป นี่คือสิ่งที่รู้เพิ่ม

นพพร นนทภา ผู้ถอดรหัสพยากรณ์ฝนจากต้นไม้ได้สำเร็จ พร้อมคำทำนายน้ำท่วมฝนแล้ง พ.ศ. 2566

“ปรากฏการณ์ที่ 2 พ.ศ. 2562 เกิดน้ำท่วมใหญ่ที่จังหวัดอุบลราชธานี ปีนั้นต้นยางนาที่อุบลฯ ออกดอกเยอะผิดปกติ

“พ.ศ. 2563 เกิดน้ำท่วมภาคใต้ตอนปลายปี ปีนั้นเป็นปีแรกที่เราได้พบว่า มีต้นยางเหียงต้นหนึ่งในมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกดอกทวายช่วงปลายปี ซึ่งก็คือต้นที่ผมพาพวกคุณมาชมนี่แหละ ปีนั้นเกิดน้ำท่วมภาคใต้ และหลังจากนั้นก็ท่วมย้ำที่ภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคเหนือ ในช่วง พ.ศ. 2564 – 2565 ซึ่งมีต้นตานเสี้ยนที่ออกดอกมาช่วยยืนยัน”

นี่คือตัวอย่างปรากฏการณ์ที่อาจารย์นพพรเล็งเห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างการติดดอกออกผลของต้นไม้และปริมาณน้ำฝนในแต่ละปี นำไปสู่การประมวลผลและจัดเก็บเป็นชุดข้อมูลไว้ใช้ทำนายฝน และอาจารย์ก็ยินดีถ่ายทอดให้กับผู้ที่สนใจ โดยเฉพาะสมาชิกกลุ่มปลูกป่าที่อาจารย์ดูแลอยู่ เพื่อสร้างเครือข่ายกระจายพื้นที่ในการเก็บชุดข้อมูลการติดดอกออกผลและวันร่วงของดอกในพืชวงศ์ยางนาและพืชชนิดอื่นที่ทำนายฝนในต่างสถานที่ได้ เมื่อนำชุดข้อมูลจากแต่ละพื้นที่มาประมวลรวมกัน ก็จะยิ่งคำนวณปริมาณฝนได้แม่นยำขึ้นและรู้ทิศทางการมาของพายุฝนได้อีกด้วย

นพพร นนทภา ผู้ถอดรหัสพยากรณ์ฝนจากต้นไม้ได้สำเร็จ พร้อมคำทำนายน้ำท่วมฝนแล้ง พ.ศ. 2566

ถอดรหัสภาษาจับฝนที่ต้นไม้สื่อสาร

อาจารย์พาพวกเราไปดูต้นยางเหียงเทพ ตามด้วยต้นยางนาต้นแรกที่ทำให้ท่านเริ่มต้นสนใจเรื่องการทำนายฝนจากต้นไม้ ก่อนนำไปสู่ป่าในบริเวณรั้วมหาลัยขอนแก่น เพื่อดูต้นไม้ที่ท่านเคยใช้เก็บข้อมูลการทดลอง ท่านสอนให้เราดูผลแห้งที่ร่วงจากต้น และคำนวณเวลาย้อนหลังไปยังวันดอกร่วงเพื่อทำนายฝน พร้อมเผยข้อมูลที่เก็บรวบรวมจนได้ข้อสรุปความสัมพันธ์ระหว่างต้นไม้และปริมาณน้ำฝน ภัยแล้ง และอุทกภัยที่ชัดเจน สรุปให้เราฟังเป็นชุดความรู้สุดเอกซ์คลูซีฟว่า

“ปีไหนยางนาออกดอกติดผลเยอะ แสดงว่าปีนั้นพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งในรัศมี 50 กิโลเมตรที่ต้นยางนาต้นนั้นยืนต้นอยู่จะมีฝนตกเยอะ ถ้าปีไหนติดดอกออกผลน้อย ปีนั้นฝนก็จะน้อย คำนวณวันที่ฝนมาได้โดยนับจากวันที่ดอกยางนาร่วงพรู ถัดไปอีก 90 บวกลบ 5 วัน ก็จะเป็นช่วงวันที่จะมีฝน

“ตะเคียนทอง บอกฝนในจุดที่ยืนต้นอยู่ หากบริเวณที่ต้นตะเคียนทองยืนอยู่ไม่มีฝน เขาจะไม่ติดดอกออกผล ดังนั้น ถ้าอยากรู้ว่าจุดที่เรายืนอยู่ฝนจะตกไหมแบบชัวร์ ๆ ให้ปลูกต้นตะเคียนทองไว้

“ยางเหียง จับมวลฝนได้ทั้งในพื้นที่ที่ยืนต้นอยู่และมวลฝนในที่ไกล ๆ 2,000 – 3,000 กิโลเมตร จึงทำนายฝนที่ภาคใต้ได้ วิธีคำนวณคือนับจากวันดอกร่วงไปอีก 90 บวกลบ 5 วัน จะเป็นวันฝนตก

หากช่วงเดือนฝนตกที่คำนวณได้อยู่ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงต้นเดือนพฤษภาคม แสดงว่าเป็นฝนที่จะตกในเขตพื้นที่ที่ต้นไม้นั้นยืนต้นอยู่อย่างปกติ แต่ถ้าคำนวณแล้วไปตรงกับปลายเดือนพฤศจิกายน ถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ประกอบกับช่วงที่ติดดอกออกผลนั้นไม่สมบูรณ์นัก นั่นคือต้นไม้กำลังบอกถึงมวลฝนที่เขาจับได้ไกล ๆ ในเขตภาคใต้ของไทย

นพพร นนทภา ผู้ถอดรหัสพยากรณ์ฝนจากต้นไม้ได้สำเร็จ พร้อมคำทำนายน้ำท่วมฝนแล้ง พ.ศ. 2566

“ปีไหนน้ำจะท่วม จะมีต้นไม้ต้นหนึ่งที่ไม่เกี่ยวกับวงศ์ยางนาบอกได้ ก็คือ ต้นตานเสี้ยน ถ้าติดดอกออกผลเมื่อไหร่ ปีนั้นน้ำจะท่วม น้ำจะเยอะแน่นอน และจะท่วมถึงบริเวณที่ต้นตานเสี้ยนต้นนั้นยืนอยู่ เพราะโดยชีพลักษณ์ของพืชชนิดนี้ เขาจะเกิดที่ริมน้ำบริเวณดินตะกอนที่มาทับถมกัน ต้องอาศัยดินตะกอนจากการพัดพายามน้ำท่วมมาทับเมล็ดเอาไว้เพื่อรองอกกล้าในปีถัดไป ปีไหนน้ำจะท่วมถึงต้นจึงออกดอกติดผลเพื่อรอขยายพันธุ์ตามธรรมชาติ

“ถ้าอยากรู้วันน้ำท่วมให้ดูที่ ‘ต้นชุมแสง’ ต้นไม้นี้เป็นต้นไม้ที่อยู่ริมห้วยริมหนอง จึงบอกวันน้ำหลากหรือวันที่น้ำจะท่วมได้ สมมติว่าต้นตานเสี้ยนบอกว่าน้ำจะท่วมแน่ ๆ แต่บอกไม่ได้ว่าวันไหน ให้เราไปดูที่ต้นชุมแสง โดยนับจากวันดอกบานหรือดอกร่วงก็ได้ไปอีก 4 เดือน จะเป็นวันน้ำหลาก ปกติต้นชุมแสงจะรอให้ฝนตกไปก่อน 1 สัปดาห์ แล้วค่อยร่วง เพราะชุมแสงมันกระจายพันธุ์ด้วยน้ำหลาก คือมันจะให้เมล็ดของมันลอยน้ำไปเรื่อย ๆ จึงต้องให้น้ำท่วมก่อนผลจึงจะร่วง ดังนั้น พอน้ำจากลุ่มน้ำมารวมกันลงมาในห้วยใช้เวลา 1 สัปดาห์ ผลของต้นชุมแสงมันถึงจะเริ่มร่วงหนัก ๆ ตอนแรกมันอาจจะร่วงเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ตอนที่มันร่วงเปอร์เซ็นต์มากที่สุดก็ตอนที่ฝนตกแล้ว 1 สัปดาห์นั่นเอง เราก็คำนวณรู้ได้ว่าน้ำจะท่วมวันไหน

“ปีไหนจะแห้งแล้ง ‘ต้นเต็ง’ จะออกดอกติดผล เพราะต้นเต็งเกิดในป่าเต็งรัง ซึ่งมีความแล้ง ไม่ชอบน้ำ ถ้าปีไหนน้ำเยอะจะไม่ติดดอกออกผล แต่ถ้าปีไหนแล้งจะติดดอกออกผลดี

“ถ้าปีไหนฝนพอดี ตานเสี้ยนต้องไม่ออก ต้นเต็งต้องไม่ออก แต่ยางนาออกเยอะ นี่คือสิ่งที่บอก ดังนั้นปรากฏการณ์เหล่านี้ทำให้เราวางแผนได้ว่า ฝนมันจะแล้งไปยังไง มันจะท่วมยังไง หรือมันจะพอดี หรือว่าเราอยู่ที่อื่น อย่างเราอยู่ภาคใต้ ซึ่งไม่มีต้นยางเหียง แต่ให้มาดูยางเหียงที่อีสานหรือที่ภาคเหนือ ก็จะส่องปริมาณน้ำและรู้วันที่น้ำจะท่วมได้”

ชุดข้อมูลนี้ คนฟังอย่างเราก็ได้แต่ทึ่งจนต้องอ้าปากค้าง กับความสามารถพยากรณ์ฝนของต้นไม้ แต่ที่ทึ่งกว่านั้นก็คือตัวอาจารย์นพพร ผู้ถอดรหัสเหล่านี้ออกมาได้ โดยอาศัยวิชาชีพลักษณ์ของต้นไม้ที่ร่ำเรียนมา ผสานกับการสังเกตและเก็บข้อมูล สรุปจนกลายเป็นศาสตร์การพยากรณ์ฝนจากต้นไม้ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากต่อภาคการเกษตร และเป็นชุดข้อมูลสำคัญที่ใช้เตือนเฝ้าระวังภัยพิบัติทางวาตภัย อุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นได้ล่วงหน้าได้ อาจารย์ย้ำกับเราว่า

“หากเราต้องการสร้างพื้นที่ของเราให้เป็นเหมือนสถานีป่าไม้ที่ทำนายฝน พายุ และความแล้ง ได้อย่างครบถ้วน จึงควรปลูกต้นไม้ไว้ 4 ชนิด คือ ตะเคียน ไว้ใช้ทำนายฝนในพื้นที่ ใช้เวลาเติบโต 11 ปี ต้นยางเหียง ใช้ทำนายฝนทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ ใช้เวลาเติบโต 9 ปี ต้นยางนา ไว้ใช้ทำนายฝนในรัศมี 50 เมตร ใช้เวลาเติบโต 18 ปี และต้นเต็ง เอาไว้ทำนายความแล้ง ซึ่งอย่างหลังนี้ไม่มีข้อมูลเวลาการติดดอกออกผล เพราะคาดเดาการติดดอกออกผลไม่ได้

“สิ่งที่เราค้นพบเอาแบบชัวร์ ๆ ก็คือ รัศมีความแม่นยำมันจะอยู่ที่ 50 กิโลเมตร คือแม่นยำที่สุดตามที่เราเก็บข้อมูลนะ ค่าเฉลี่ยที่แม่นยำที่สุดอยู่ในระยะนี้ แต่ว่าไม่ได้ว่าในรัศมี 50 กิโลเมตร ฝนจะตกในทุกจุดนะ อาจจะตกจุดใดจุดหนึ่งใน 50 กิโลเมตรนี้ เขาจะจับมวลฝนหมด นี่คือค่าทั่วไป”

ต้นยางเหียงเทพ ต้นเดียวที่จับมวลฝนได้ทุกเม็ดที่จะตกในประเทศไทยที่ควรอนุรักษ์

ช่วงเช้า การที่อาจารย์นพพรนัดเราที่ตลาดหนองแวงนั้นมีความหมายในที เพราะอาจารย์อยากให้เราได้เห็นต้นไม้ต้นหนึ่งที่ท่านเรียกว่า ‘ต้นยางเหียงเทพ’ ซึ่งเกิดอยู่ในละแวกนั้น และมีดอก ผล ร่วงอยู่ อาจารย์เล่าความเทพของไม้ต้นนี้ให้ฟังว่า

“ต้นยางเหียงต้นนี้มีความเก่งกาจมากในการทำนายฝน เห็นฝนทุกหยดของประเทศไทยได้ หมายความว่า ฝนที่ตกในประเทศไทยทุกครั้ง ต้นยางเหียงนี้จะรู้ แล้วก็จับมวลมาให้เราเห็นทั้งหมด เพราะเขาจะออกดอกทุกช่วงที่จะมีฝนตกเกิดขึ้นในประเทศไทย หรือพูดง่าย ๆ ว่า เป็น ‘ยางเหียงทวาย’ คำว่า ‘ทวาย’ ของยางเหียงต้นนี้ คือจะออกดอกตามจำนวนฝนที่จะตกทุกช่วงในประเทศไทย และที่สำคัญยางเหียงทุกต้นไม่ได้เป็นทวายแบบนี้นะครับ มันมีแค่ต้นนี้แค่ต้นเดียว

“ดังนั้น ถ้าเรื่องนี้ถูกเปิดเผย เราควรจะต้องเข้าสู่วาระของมหาวิทยาลัยขอนแก่นและวาระของประเทศ ว่าต้องอนุรักษ์ต้นยางเหียงเทพต้นนี้เอาไว้ ห้ามตัดเด็ดขาด ตอนนี้อายุเขาราว ๆ 60 – 70 ปี ก็จะอยู่ได้อีกหลายร้อยปี ช่วยประเทศได้เยอะในการทำนายฝน และภัยพิบัติอย่างวาตภัยและอุทกภัย”

โดยอาจารย์นพพรได้ค้นพบต้นยางเหียงเทพนี้ครั้งแรกใน พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่แปลกไปจากชีพลักษณ์ของต้นไม้วงศ์ยางนาที่จะติดดอกออกผลแค่ปีละครั้ง ทำให้คำนวณวันฝนตกได้แค่ครั้งเดียวเมื่อดอกร่วง คือไม่เกินเดือนมิถุนายน แต่ในปีดังกล่าวยางเหียงเทพต้นนี้เกิดออกดอกทวาย ทำให้อาจารย์คำนวณฝนได้ทั้งปี

“พ.ศ. 2563 เป็นปีแรกที่เราเห็นต้นยางเหียงต้นนี้มันออกดอกเรื่อย ๆ เป็นทวาย ซึ่งปกติแล้วต้นไม้ต้นนี้ออกดอกปีละหน แต่พอถึง พ.ศ. 2563 มันกลับออกดอกเป็นทวาย แสดงว่าปริมาณ Climate Change กำลังจะเพิ่มขึ้น โดยเริ่มจากใน พ.ศ. 2563 เพราะว่ามวลฝนแทนที่มันจะตกต้องตามฤดูกาล มันอยากตกวันไหนก็ตก อยากร้อนวันไหนก็ร้อน อยากหนาววันไหนก็หนาว นี่คือการเตือนภัยจากต้นยางเหียงเทพนี้ ทำให้เราเห็นฝนทั้งหมดในประเทศได้เป็นครั้งแรก หลังจากนั้นเราก็เห็นตลอด”

เปิดคำทำนายน้ำท่วมฝนแล้งใน พ.ศ. 2566 โดย ‘นพพร นนทภา’ ผู้ถอดรหัสจากต้นไม้ ทำนายฝนได้ทุกหยดในไทย
เปิดคำทำนายน้ำท่วมฝนแล้งใน พ.ศ. 2566 โดย ‘นพพร นนทภา’ ผู้ถอดรหัสจากต้นไม้ ทำนายฝนได้ทุกหยดในไทย

แล้งหนักก่อนน้ำท่วม คำทำนายฟ้าฝนเมืองไทยใน พ.ศ. 2566 จากต้นไม้พยากรณ์

อ่านถึงตรงนี้ หลายคนคงอยากรู้แล้วว่า พ.ศ. 2566 นี้ ต้นไม้ได้พยากรณ์ฝนฟ้าอากาศไว้ว่าอย่างไร ซึ่งอาจารย์นพพรเผยคำพยากรณ์ฝนจากต้นไม้ให้เราฟังว่า

“เริ่มกันจากยางนา ยางนาทำนายว่าน้ำจะมากนะ และต้นตานเสี้ยนบอกว่าน้ำจะท่วม ขณะเดียวกัน ต้นเต็งบอกว่าฝนจะแล้ง ฟังดูย้อนแย้ง แต่จริง ๆ ไม่ย้อนแย้ง เพราะมันจะเชื่อมโยงกันเป็นซีรีส์ต่อกัน คือ

“หลังจากผลต้นเต็งร่วงประมาณ 1 เดือน เมล็ดจะแทงรากลงดิน ตอนนั้นกล้าต้นเต็งยังต้องการน้ำ ฝนก็จะยังตก ทีนี้พอหลังจากนั้น 1 เดือน หลังจากลูกของเขาหยั่งรากลงดินเรียบร้อยแล้ว มันก็จะแล้ง เพราะต้นเต็งอยู่ในที่น้ำเยอะไม่ได้ไม่อย่างนั้นรากจะเน่า ปีนี้ต้นเต็งผลร่วงประมาณเดือนพฤษภาคม แสดงว่าฝนตกชุกสุดท้ายถึงแค่สิ้นเดือนมิถุนายนนี้ แล้วก็จะแล้งยาวไปจนถึงโน่นเลย ประมาณวันที่ 12 สิงหาคม จึงจะมีฝนอีกรอบหนึ่ง

“ดังนั้น ซีรีส์ฝนปีนี้จะเหมือน พ.ศ. 2564 ครับ คือแล้งจนข้าวตายหมด แล้วก็ฝนมาทีเดียวตูมเลย แล้วก็คาดว่า ย้ำนะครับ คาดว่าน้ำน่าจะท่วมแน่ ๆ เพราะจากต้นไม้วงศ์ยางนาหรือวงศ์อื่น ๆ ที่บอกว่าจะมีฝน ทุกต้นที่เราเก็บข้อมูลออกดอกเยอะมาก เทียบข้อมูลตั้งแต่ พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา ปีนี้เป็นปีที่ต้นไม้ออกดอกเยอะที่สุด ดังนั้นปีนี้มวลน้ำตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคมไปจนถึงตุลาคม พ.ศ. 2566 นี้ จะมาก น้ำน่าจะท่วมแน่นอน คือจะต้องเตรียมตัวให้ดี เช่นเดียวกับที่เตรียมตัวใน พ.ศ.​ 2564 – 2565 นั่นแหละ

“ผมเช็กกับเครือข่ายทุกคนแล้ว พื้นที่ที่ต้นไม้ทำนายฝนนั้นครอบคลุมตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ขึ้นมา คือฝนมาจากอ่าวไทยหรืออันดามัน ทีนี้พอลมเปลี่ยนทิศถึงจะเป็นฝนทางภาคใต้ ทางภาคใต้เราต้องดูยางเหียงต้นเทพ บอกอีกที ตอนนี้ยังบอกไม่ได้ จะบอกได้อีกทีตอนเดือนสิงหาคม แต่ตอนนี้ที่บอกได้ก็คือ ตั้งแต่ประจวบคีรีขันธ์ กรุงเทพฯ ขึ้นมาถึงภาคอีสาน หนองคาย จนถึงภาคเหนือ มีโอกาสที่จะเกิดน้ำท่วมแน่นอน เช่นเดียวกับ พ.ศ. 2564”

ต้นไม้ออกมาเตือนอย่างนี้แล้ว หากพื้นที่ใดใน พ.ศ. 2564 เกิดน้ำท่วม พ.ศ. 2566 นี้ ก็ควรต้องเฝ้าระวังและเตรียมตัวรับมือให้พร้อม และด้วยสถานการณ์น้ำเช่นนี้ อาจารย์นพพรยังฝากถึงเกษตรกรอีกด้วยว่า คนที่ทำนาในที่ลุ่มอาจจะได้ผลดีกว่าคนทำนาในที่ดอน เว้นแต่มีแหล่งน้ำสำรองไว้ใช้ ปีนี้ที่ดอนให้ปลูกมันสำปะหลังจะได้ผลดีที่สุด ส่วนข้าว ข้าวโพด อ้อย ไม่ค่อยได้ผลเท่าที่ควร เพราะจะมีช่วงอากาศแล้งจัดเกิดขึ้น

นอกจากนี้อาจารย์ยังเผยข้อมูลที่ต้นไม้บอกมาอย่างน่าตกใจไม่น้อย นั่นคือ ตั้งแต่เก็บข้อมูลมาท่านพบว่า ต้นไม้ออกดอกดกติดกัน 3 ปีซ้อน ตั้งแต่ พ.ศ. 2564 จนถึง พ.ศ. 2566 ซึ่งผิดวิสัยธรรมชาติที่ต้นไม้วงศ์ยางนาควรจะเป็น อาจารย์อธิบายว่า โดยปกติต้นไม้ควรออกดอกมากบ้างน้อยบ้างสลับกันไปเรื่อย ๆ ตามปริมาณน้ำฝนที่จะสลับกัน แต่นี่ต้นไม้ออกดอกดกติดกัน 3 ปีน่ากังวล เพราะ 2 ปีก่อนน้ำก็ท่วมแล้ว มาปีนี้ก็จะท่วมอีก และหลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2567 จะแล้งจัดแบบมหาศาล ดังนั้น การออกดอกดกติดกัน 3 ปีแสดงว่าต้นไม้มันทิ้งทวน รวบรวมพลังทั้งหมดติดดอกออกผลให้มากที่สุด เพื่อให้มีโอกาสขยายพันธุ์ก่อนที่จะแล้งจนขยายพันธุ์ไม่ได้อีก นี้คือวิกฤตสิ่งแวดล้อมในอีกไม่กี่ปีที่ต้นไม้เตือนว่าเราต้องเจอ

ปลูกต้นไม้ป่าให้รอดท่ามกลางวิกฤตภัยแล้งแบบอีสาน Lifehacker

อย่างที่เกริ่นไว้ในตอนต้นว่า ‘ปริมาณต้นไม้บนโลก คือทางออกของปัญหาโลกร้อน’ อาจารย์นพพรจึงอยากเชื้อเชิญคุณผู้อ่านมาปลูกป่ากัน แต่ท่ามกลางอากาศร้อนแล้งวิปริตเช่นนี้ คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะปลูกต้นไม้ให้รอด อีสาน Lifehacker อย่างเซียนปลูกป่าผู้นี้ก็มีวิธีปลูกต้นไม้ป่าแบบแฮกเกอร์ที่รับประกันว่ารอดทุกต้น มาฝากคุณผู้อ่านกัน

“สมัยเราเป็นสายอนุรักษ์จ๋าเลยนะ ไม่ยอมใช้สารเคมี กระทั่ง พ.ศ. 2557 – 2558 จังหวัดขอนแก่นแล้งมาก เราซึ่งถือว่าเป็นคนปลูกป่าเก่งกาจที่สุดแล้ว ก็คัดเลือกต้นไม้ที่เหมาะกับนิเวศ เอากล้าไม้ที่แข็งแรงมาลงปลูก ทำทุกอย่างตามหลักวิชาการป่าไม้เลย ผลคือต้นไม้ตายเรียบ (หัวเราะ) ก็นั่งนึกว่าจะทำยังไงดี

“ตอนนั้นไปเจอรุ่นพี่ที่เป็นอาจารย์คณะวนศาสตร์ และมาทำโครงการปลูกป่าที่ อำเภอมัญจาคีรี แล้วพบว่าเขาใช้ดินวิทยาศาสตร์หรือพอลิเมอร์ แช่น้ำแล้วก็รองก้นหลุมปลูก เช่นเดียวกับรุ่นน้องอีกคนที่เป็นหัวหน้าสถานีวิจัยที่จังหวัดจันทบุรีก็ใช้วิธีนี้ ปรากฏว่าต้นไม้รอด เราเลยลองนำมาใช้ปลูกป่าในพื้นที่แห้งแล้งดูบ้าง ผลที่ได้คือดีเกินคาด

“ทีนี้เราก็เริ่มทดลองและพบว่า หากเป็นไม้ผลัดใบ เช่น ไม้จากป่าเต็งรัง ไม้จากป่าเบญจพรรณ ให้ใส่พอลิเมอร์แช่น้ำแล้วปริมาตร 1 ลิตร หากเป็นไม้ไม่ผลัดใบให้ใส่รองก้นหลุมปริมาตร 2 ลิตร จะช่วยให้เราลดความถี่การรดน้ำต้นไม้ลงเหลือแค่เดือนละ 1 ครั้ง เพราะพอลิเมอร์จะช่วยกักเก็บและดูดซับความชื้นเอาไว้ กรณีนี้ใช้กับพื้นที่แห้งแล้ง ถ้าเป็นพื้นที่ดินชุ่มน้ำอยู่แล้วก็ไม่จำเป็นต้องใช้

“อีกอย่างที่ค้นพบคือ หากเป็นกลุ่มไม้ผลัดใบ ถ้าเราเลี้ยงกล้าไว้ข้ามปี คือให้เขาได้ผ่านช่วงฤดูร้อนที่ผลัดใบแล้ว จึงนำมาลงปลูกพร้อมกับใช้พอลิเมอร์แช่น้ำรองก้นหลุม เราจะไม่ต้องรดน้ำต้นไม้นั้นเลยตลอดชีวิต เพราะเขาเรียนรู้การผลัดใบแล้ว และช่วงผลัดใบก็ไม่ต้องใช้น้ำ เทพมั้ยล่ะ

“สิ่งสำคัญที่อยากย้ำก็คือ การปลูกต้นไม้ป่าให้รอดจำเป็นต้องอาศัยการดูแล ดังนั้น ควรเริ่มปลูกต้นไม้ในปริมาณที่เราดูแลไหวก่อน และต้องปลูกอย่างประณีต ให้คิดว่าเรากำลังปลูกไม้สวน คือต้องดูแลประจำ เพียงแต่ไม้ป่านั้นดูแลไม่เกิน 5 ปี ก็ไม่ต้องดูแลต่อแล้ว เขาก็เติบโตได้เอง ดังนั้น ควรปลูกจากพื้นที่เล็ก ๆ แล้วค่อยขยับขยายพื้นที่ไปเรื่อย ๆ อย่าปลูกทีละเยอะ และดูแลไม่ทั่วถึง เพราะจะทำให้ต้นไม้ตาย เสียทุน เสียแรงที่ลงไปแบบไม่เกิดประโยชน์

“อีกอย่างที่ช่วยได้คือ การปลูกพืชพี่เลี้ยงอย่างต้นกล้วย เพราะกล้วยหาอาหารและน้ำเก่ง ทำให้ดินโดยรอบต้นชุ่มชื้น ทั้งยังเป็นร่มเงาบังแดดให้กับกล้าไม้ได้อีกด้วย หากจะปลูกต้นไม้ป่าแซมต้นกล้วย ให้ปลูกห่างจากต้นกล้วย 1 เมตร และให้ต้นกล้วยอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ เพราะเป็นทิศที่แดดแรงที่สุด จะได้ช่วยบังแดดให้กับต้นกล้านั่นเอง

“ทั้งพอลิเมอร์และพืชพี่เลี้ยงอย่างต้นกล้วยนี่แหละ คือตัวช่วยสำคัญให้ปลูกไม้ป่าสำเร็จ ท่ามกลางสภาวะแห้งแล้งเช่นทุกวันนี้”

ฟังจบปุ๊บ รู้สึกมีความหวังในการปลูกป่าขึ้นมาทันที เพราะนี่คือวิชาที่เซียนปลูกป่าเขานำมาบอกแบบไม่หวงปิด

เปิดคำทำนายน้ำท่วมฝนแล้งใน พ.ศ. 2566 โดย ‘นพพร นนทภา’ ผู้ถอดรหัสจากต้นไม้ ทำนายฝนได้ทุกหยดในไทย

ต้นไม้คือทางรอดเดียวของมนุษยชาติ รีบปลูกวันนี้ก่อนจะสายเกินไป

ฉันตั้งคำถามสุดท้ายกับอาจารย์นพพรว่า “อาจารย์คิดว่าเมื่อไหร่ที่เราจะปลูกต้นไม้ไม่ได้อีกต่อไปครับ” ซึ่งอาจารย์ตอบคำถามและกล่าวทิ้งท้ายบทสัมภาษณ์กับเราว่า

“วันที่เราจะปลูกต้นไม้ไม่ได้ จริง ๆ แล้วถ้าเรานำเอาวิวัฒนาการ การย่อยสลายของดินหรืออากาศมาดู อากาศมันเป็นไปตามรอบของการเคลื่อนที่ของโลก ตำแหน่งของดวงดาว บรรยากาศของฝนตก น้ำท่วม แล้ง มันจะสลับกันไปสลับกันมา แต่สิ่งที่จะรุนแรงหรือไม่รุนแรง มันขึ้นอยู่กับว่า พื้นผิวตรงไหนบนโลกที่ไม่มีต้นไม้ปกคลุมแล้ว

“ดังนั้นวันที่เราจะมีปัญหาก็คือ ในวันที่อากาศรุนแรงแบบนี้ และในช่วงที่เราตกในรอบที่เกิดภาวะแห้งแล้ง นั่นแหละเราจะปลูกต้นไม้ไม่ได้แน่ ๆ ทีนี้พอเราปลูกต้นไม้ไม่ได้และไม่มีอะไรปกคลุม พอถึงรอบที่น้ำจะท่วม เช่น เอลนีโญ ลานีญา มันก็จะส่งผลกระทบที่หนักหน่วง ถ้าไม่เริ่มที่จะทำอะไรตั้งแต่ตอนนี้จะลำบาก

“การที่จะบอกว่าเมื่อไหร่ที่เราจะปลูกต้นไม้ไม่ได้แล้วนั้น ตอบยาก ขออนุญาตไม่ตอบ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแน่คือ มันจะทำให้เราทำงานลำบากขึ้นเรื่อย ๆ เราต้องหาวิธีมากขึ้น ลงทุนสูงมากขึ้น หรือเรายังไม่ได้ทำแล้วก็หมดอายุขัยก่อน

เปิดคำทำนายน้ำท่วมฝนแล้งใน พ.ศ. 2566 โดย ‘นพพร นนทภา’ ผู้ถอดรหัสจากต้นไม้ ทำนายฝนได้ทุกหยดในไทย

“ดังนั้น อยากให้ทุกคนไม่ต้องคิดถึงใครก็ได้ ให้คิดถึงตัวเองก่อน ว่าในภาวะที่เกิดอุณหภูมิสูงขึ้นถึง 45 องศาเซลเซียส ติดต่อกัน 2 – 3 เดือน ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้น ในชีวิตที่เกิดมาไม่มีใครเคยเจอมาก่อน เราก็เพิ่งเจอพร้อมกัน แล้วเราจะไปอยู่ไหน ค่าไฟจากเดือนละ 300 กระโดดขึ้นมาเป็น 3,000 แล้วเราจะอยู่ได้ยังไง ถ้าใครมีพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นบริเวณบ้าน หลังบ้าน หรือหัวไร่ปลายนา จงพยายามทำพื้นที่ที่มีให้เป็นพื้นที่ให้ความเย็นกับตัวเอง ซึ่งสิ่งมีชีวิตเดียวที่ให้ความเย็นกับโลกได้ก็คือต้นไม้ จะปลูกแค่ 1 ต้น 2 ต้น 3 ต้น ก็ยังดี

“หากผู้อ่านมีข้อสงสัยว่าตัวเองมีที่ดินเท่านี้ สภาพสิ่งแวดล้อมเป็นแบบนี้ จะปลูกต้นอะไรดี แล้วไม่รู้จะถามใคร มาถามเราได้ตลอดเวลา เรายินดีให้คำแนะนำให้ทุกคน โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพราะความรู้มีไว้แบ่งปัน อย่างน้อย ๆ ใครที่ได้อ่านคอลัมน์นี้ ก็ได้รู้จักเราและเข้าใจสิ่งที่เราทำเป็นเบื้องต้น นั่นคือประโยชน์ ให้นำวิชานี้ไปใช้ปลูกต้นไม้ให้สำเร็จ และตระหนักถึงความสำคัญของการปลูกป่าว่า เพียงคุณลงมือปลูก ผลที่ได้ตามมานั้นเกิดขึ้นกับทั้งตัวคุณและโลกใบนี้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด”

เมฆฝนยามบ่ายเริ่มตั้งเค้าและปรอยละอองฝนลงมา อาจารย์นพพรกลับมาส่งเราที่ต้นยางเหียงเทพ ณ จุดนัดหมายแรก ก่อนเปิดประตูลงจากรถท่านย้ำกับฉันว่า ให้ทิ้งช่องทางติดต่อของท่านไว้ท้ายคอลัมน์ด้วย ‘เผื่อคนที่สนใจอยากปลูกป่า และต้องการคำปรึกษาจะได้ติดต่อมาถามเราได้’ ฉันรับคำท่านและไหว้ลา ทว่าในความรู้สึกของฉัน คำพูดของอาจารย์นั้นไม่ใช่คำบอกลา แต่เป็นการย้ำคำนัดหมายใหม่ว่า ในฤดูฝนปี้นี้ เราทุกคนที่ได้อ่านคอลัมน์ อีสาน Lifehacker จงร่วมใจกันออกไปปลูกต้นไม้กันเถิด เพื่อโลกที่ร่มเย็นของเราทุกคน

เปิดคำทำนายน้ำท่วมฝนแล้งใน พ.ศ. 2566 โดย ‘นพพร นนทภา’ ผู้ถอดรหัสจากต้นไม้ ทำนายฝนได้ทุกหยดในไทย

ติดตามและติดต่อสอบถามเรื่องการปลูกป่ากับ อาจารย์นพพร นนทภา โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายได้ที่

Facebook : โรงเรียนปลูกป่า อ.เมือง จ.ขอนแก่น Forest Plantation School

โทรศัพท์ 08 9418 2100

Writer

สิทธิโชค ศรีโช

สิทธิโชค ศรีโช

มนุษย์ผู้ตกหลุมรักอาหารการกินมาตั้งแต่จำความได้ เคยโลดแล่นอยู่ในวงการสื่อสารด้านอาหารกว่าสิบปี ก่อนกลับบ้านนอกมาใช้ชีวิตติดกลิ่นปลาร้าที่อีสาน และยังคงมุ่งมั่นส่งต่อเรื่องราววัฒนธรรมอาหาร สุขภาพ และการดำรงชีวิตของผู้คนบนที่ราบสูง ให้โลกได้รับรู้

Photographer

Avatar

กานต์ ตำสำสู

จบวารสารศาสตร์ ม.สารคาม อายุ 26 เป็นคนสตูลที่เดินทางมาเรียนที่ภาคอีสาน ชอบฟังเพลงโลโซ คลั่งฟุตบอลไทย และชอบถ่ายภาพบ้านเกิดตัวเองเป็นชีวิตจิตใจ ปัจจุบันเปิดแล็ปล้างฟิล์มและห้องมืด ‘ฟิล์มกาหลง’ อยู่ขอนแก่น