ข่าวประกาศหยุดเดินรถของรถขอนแก่นซิตี้บัสเมื่อต้นปีที่ผ่านมานั้น ช็อกความรู้สึกของผู้คนที่ใช้ขนส่งสาธารณะในเมืองขอนแก่นอย่างมาก สำหรับคนต่างจังหวัดที่มีทางเลือกในการเดินทางน้อยนิด การหยุดเดินรถของรถขนส่งสาธารณะมันกระทบต่อชีวิตเลยเชียว 

อีกเรื่องสำคัญก็คือ ‘ขอนแก่นซิตี้บัส’ เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในต่างจังหวัด และเป็นต้นแบบ (Role Model) ให้กับซิตี้บัสของจังหวัดอื่น ๆ อีกหลายแห่ง ดังนั้น คงน่าเศร้าใจไม่น้อย ถ้าสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนในเมืองนี้ยุติลง 

ประเด็นนี้ไปกระตุกติ่งเสียดายของสองมนุษย์เนิร์ดอย่าง นัท-วัชรชัย วรรณสิทธิ์ และ ภู-ภูริภัทร ลิมป์นิศากร ผู้เคยมีส่วนร่วมปลุกปั้นและทำคลอดขอนแก่นซิตี้บัสมาด้วยกัน ก่อนจะส่งต่อให้กลุ่มขอนแก่นพัฒนาเมืองดำเนินงานต่อ จึงเริ่มชักชวน ต้า-ศุภกร ศิริสุนทร เนิร์ดอีกคนด้านการตลาด ให้มาช่วยวางแผนและดูทิศทางความเป็นไปได้ในเชิงธุรกิจ พร้อมทั้ง สุชาติ พรมมี, แมค-นพกร ถนอมเสียง, ปัทมาพร โสภัณ และ พรพิมล พ้องเสียง ที่มาช่วยกันระดมทักษะและไอเดีย เพื่อคืนชีพให้ขนส่งสาธารณะของเมืองอีกครั้ง

บัสซิ่ง ทรานสิท กลุ่มเนิร์ดผู้ลงทุนเทกโอเวอร์ขอนแก่นซิตี้บัสแล้วปรับให้ล้ำ ซ่า ซิ่ง

บรรดาเนิร์ดแห่งเมืองขอนแก่นทั้งหมดจึงร่วมกันจัดตั้ง ‘บริษัท บัสซิ่ง ทรานสิท จำกัด’ ขึ้น ด้วยหมายใจจะเป็นสตาร์ทอัพที่พัฒนาทางแก้ปัญหา และช่วยชุบชีวิตขนส่งสาธารณะให้กลับมา ซิ่ง (ในภาษาอีสาน แปลว่า เก๋ เริ่ด) ส่งผู้คนไปยังจุดหมายปลายทางได้อีกครั้ง โดยเริ่มต้นโปรเจกต์แรกของพวกเขา คือทำขอนแก่นซิตี้บัสให้กลับมาดำเนินการดังเดิม เพิ่มเติมคือสมาร์ตกว่าเก่า โดยนำเอาสกิลล์เทพของเนิร์ดแต่ละคนมาจัดการกับทุกความท้าทายที่เกิดขึ้น คิดถึงเรื่อง Empathize เป็นหลัก เพื่อลดทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายลงแต่แล่นตรงถึงเป้าหมายธุรกิจที่วางไว้อย่างรวดเร็ว แถมยังได้ใจผู้ใช้บริการครบทุกมิติภายใต้เงื่อนไขราคาหลักสิบ ใน พ.ศ. 2566 และนี่แหละคือกลุ่มอีสานไลฟ์แฮกเกอร์กลุ่มแรกที่เรากำลังจะพาคุณไปรู้จักกับพวกเขา

มันเกิดอะไร ทำไมขอนแก่นซิตี้บัสประกาศหยุดวิ่ง

ณ บขส.3 ขอนแก่น ที่คลาคล่ำด้วยผู้คนและรถสาธารณะมากมายวิ่งเวียนเปลี่ยนผลัดไปมาด้วยหมายใจในจุดหมายที่แตกต่าง รถบัสคันยาวแรปด้วยกราฟิกลวดลาย Tomato Twins สุดแสนเป็นตาฮัก (น่ารัก) ทั้งคัน จอดเด่นสะดุดตา ดูแตกต่าง จำได้ทันทีว่านี้คือลายเส้นนี้คือลายเซ็นของ ‘S I R I’ สิรินาฏ สายประสาท ศิลปินชื่อดังชาวขอนแก่น และนั่นแหละคือรถขอนแก่นซิตี้บัสที่จอดรอรับนักเดินทางผู้มาเยือนเพื่อนำส่งไปยังหมุดหมายสำคัญต่าง ๆ ของเมือง

บัสซิ่ง ทรานสิท กลุ่มเนิร์ดผู้ลงทุนเทกโอเวอร์ขอนแก่นซิตี้บัสแล้วปรับให้ล้ำ ซ่า ซิ่ง
บัสซิ่ง ทรานสิท กลุ่มเนิร์ดผู้ลงทุนเทกโอเวอร์ขอนแก่นซิตี้บัสแล้วปรับให้ล้ำ ซ่า ซิ่ง

นัทกับต้าเล่าให้ฟังขณะพาเราและทีมเนิร์ดของพวกเขาอีก 3 คนพร้อมทีมสมทบร่วมนั่งซิตี้บัสชมเมืองว่า สมัยก่อนรถซิตี้บัสเป็นหนึ่งในบริษัทลูกของ บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง (เคเคทีที) จำกัด ที่ต้องการสร้างระบบขนส่งสาธารณะให้กับเมือง ด้วยจุดประสงค์อันดีคืออำนวยความสะดวกให้กับคนในเมือง กระตุ้นให้ผู้คนหันมาใช้ขนส่งสาธารณะ เพื่อลดปัญหารถติดและมลพิษทางอากาศ ตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืนด้านคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม

ช่วงแรก ๆ ธุรกิจดำเนินได้ดี ขอนแก่นซิตี้บัสทำรายได้ทั้งจากค่าโดยสารและค่าโฆษณาเป็นเงินจำนวนไม่น้อย แต่ทว่าเวลานั้นยังเป็นช่วงที่ต้องจ่ายค่างวดรถ ทำให้มีกำไรพอประคับประคองเลี้ยงตัวธุรกิจไปได้เท่านั้น เมื่อเวลาผ่านไป รถบัสและอุปกรณ์ที่รับใช้ชาวขอนแก่นมายาวนานก็เริ่มเสื่อมสภาพลง ค่าใช้จ่ายที่เดิมมีเพียงแค่ค่างวดรถ ก็ต้องเพิ่มค่าซ่อมบำรุงขึ้นมาอีก และจุดพีกที่สุดก็คือเกิดสถานการณ์โควิด ที่ส่งผลให้กลุ่มลูกค้าหลักกว่า 70 เปอร์เซ็นต์อย่างกลุ่มนักเรียนหายไป นั่นทำให้รายได้ของขอนแก่นซิตี้บัสลดฮวบ ไม่เพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงตัวและก่อเกิดผลกำไรได้

ต้าบอกกับเราว่า เมื่อดูจากตัวเลข ถึงขอนแก่นซิตี้บัสจะไม่ได้ขาดทุนมาก แต่มันรั่วไหลออกไปเรื่อย ๆ น่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ทางบริษัทเดิมประกาศยุติการเดินรถซิตี้บัสลง

รถก็เก่า คนก็แก่ แต่ยังมีแสงแห่งหวัง อย่ามัวนั่งเฉย

“มันเริ่มจากความเสียดาย” นัทกล่าวกับเรา แล้วเล่าต่อไปว่า ด้วยเขาและภูเคยร่วมก่อตั้งขอนแก่นซิตี้บัสมาก่อน จึงเห็นว่าธุรกิจนี้ถึงแม้จะไม่ได้กำไรมากมายแต่น่าจะไปได้ ทั้งสองคนเลยปรึกษากับต้า ให้ช่วยดูความเป็นไปได้ทางธรุกิจว่าแนวโน้มเป็นอย่างไร ซึ่งผลสรุปก็เห็นตรงกันว่าเป็นไปได้ แต่ความเป็นไปได้ที่ว่านั้นยืนอยู่บนคำว่า ‘ท้าทาย’ ต้าเล่าว่า

“คนต่างจังหวัดถ้าไม่มีเงินซื้อรถ ยังไงเขาก็ต้องพึ่งขนส่งสาธารณะ ครานี้ ขนส่งสาธารณะในเมืองไทย ในต่างจังหวัด แนวโน้มมันค่อย ๆ เสื่อมถอยลง คือรถก็เก่า คนก็แก่ แล้วธุรกิจนี้ต้องพูดเลยว่าอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะล้มหายตายจากอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการขาดทุน เรื่องของคนเก่า ๆ แก่ ๆ ทั้งคนขับและเจ้าของสัมปทาน เขาล้มหายตายจากไปหมด แล้วไม่มีคนทำต่อ ในที่สุดแล้ว ธุรกิจขนส่งสาธารณะ จะหายไป แต่ถ้าหายไปแล้วยังไงต่อ กับคนที่เขาไม่มีที่พึ่ง แล้วเขาจะเดินทางยังไง เราก็รู้สึกว่า เฮ้ย มันสำคัญมากเลย ขนส่งสาธารณะนี่ยังไงก็จำเป็นต้องมี

“ในมุมหนึ่งก็คือเสียดาย เพราะช่วงแรกเราไปสร้างมันมากับมือ อันที่สอง ก็คือเป็นสัญลักษณ์บางอย่างนะ ขนส่งสาธารณะของขอนแก่นคือการขับเคลื่อนของผู้คนที่อยากทำให้ต่างจังหวัดเจริญ ให้คนมีชีวิตดีขึ้น สาม ถ้าขนส่งสาธารณะหายไป คนจำนวนมากไม่มีที่พึ่ง พวกเขาเดือดร้อนแน่ ๆ”

คำพูดของต้าเหมือนบอกเป็นนัย ๆ ว่าพวกเขารู้และเล็งเห็นถึงความเสี่ยงที่มีในธุรกิจนี้ มีแต่คนบ้าเท่านั้นที่จะเลือกลงทุน ทว่ามันได้ใจสุด ๆ ตรงที่พวกเขาบ้าพอ เพราะทุกคนต่างตระหนักถึงคุณค่าการมีอยู่ของรถขอนแก่นซิตี้บัส จึงเลือกต่อลมหายใจให้ซิตี้บัสคันเก่าได้กลับมาวิ่งรับส่งคนอีกครั้งในแบบซิ่ง ๆ ที่แปลว่า ‘ทันสมัย’ ไม่ใช่แปลว่า ‘เร็วโคตร’

บัสซิ่ง ทรานสิท กลุ่มเนิร์ดผู้ลงทุนเทกโอเวอร์ขอนแก่นซิตี้บัสแล้วปรับให้ล้ำ ซ่า ซิ่ง
บัสซิ่ง ทรานสิท กลุ่มเนิร์ดผู้ลงทุนเทกโอเวอร์ขอนแก่นซิตี้บัสแล้วปรับให้ล้ำ ซ่า ซิ่ง

สกิลล์แห่งเนิร์ด บังเกิดขอนแก่นซิตี้บัสสุดซิ่ง

ประสบการณ์การขึ้นซิตี้บัสคันใหม่ ภายใต้การดูแลของ บริษัท บัสซิ่ง ทรานซิท จำกัด นี้ ประทับใจตั้งแต่เห็นรถที่แรปด้วยคาแรกเตอร์ Tomato Twins สุดน่ารัก ครั้นพอก้าวขึ้นรถยังทึ่งต่อ เพราะพอประตูหน้าเปิด จะพบกับจุดชำระเงินด้วยการหยอดเหรียญหรือธนบัตรลงตู้หยอดเหรียญอัตโนมัติ หรือใครจะสแกน QR Code ก็ได้ ดูทันสมัยสุด ๆ พอขึ้นไปนั่งแล้วแอร์เย็นฉ่ำ ระหว่างทางก่อนถึงจุดจอดยังมีเสียงขานบอกจุดหมายเป็นภาษาอีสานและภาษาอังกฤษเท่านั้น มันเก๋ไก๋มากจริง ๆ และยิ่งได้รู้ว่านี้คือรถคันเก่าที่เอามารีโนเวตใหม่ โดยใช้สกิลล์เทพของแต่ละเนิร์ดก็ยิ่งบังเกิดความทึ่งขึ้นไปอีก

นัทเล่าให้ฟังว่าสมัยก่อนขอนแก่นซิตี้บัสจ้าง Outsource ในการดูแลเทคโนโลยีบนรถ เมื่อเวลาผ่านไปและธุรกิจไม่ทำกำไร ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้กลายเป็นภาระ พอเขาและทีมนำเอาซิตี้บัสกลับมาดูแล ภายในเวลาแค่ 2 เดือน พวกเขาต้องปรับปรุงรถซิตี้บัสคันเดิมให้กลับมาไฉไล วิ่งให้บริการชาวขอนแก่นและผู้มาเยือนได้แบบน่าประทับใจอีกครั้ง โดยอาศัยสกิลล์เทพแห่งความเป็นเนิร์ดของแต่ละคนในทีมนี้แหละมาช่วย และทุกอย่างเกิดขึ้นได้อย่างเกิดประสิทธิภาพอย่างไม่น่าเชื่อ แถมประหยัดค่าใช้จ่ายลงมาก

ต้า-ศุภกร ศิริสุนทร ผู้เป็นเนิร์ดด้านมาร์เก็ตติ้ง มองและวิเคราะห์ขาดว่าธุรกิจขนส่งสาธารณะนั้น หัวใจสำคัญไม่ได้อยู่ที่การลดแลกแจกแถม หรือบวกกำไรเพิ่มเหมือนธุรกิจอื่น แต่สิ่งสำคัญก็คือ Empathize หรือการเอาใจเขามาใส่ใจเรา เพื่อนำข้อมูลมาพัฒนาโปรดักต์ที่มีให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้บริการมากขึ้น โดยอาศัยเทคโนโลยีที่ประหยัด แต่อำนวยความสะดวกได้จริง บนหลัก 4 ข้อ คือ เรียบง่าย ประหยัด มีประสิทธิภาพ และยืดหยุ่น เขาเปรียบเปรยให้ฟังว่า

บัสซิ่ง ทรานสิท กลุ่มเนิร์ดผู้ลงทุนเทกโอเวอร์ขอนแก่นซิตี้บัสแล้วปรับให้ล้ำ ซ่า ซิ่ง
บัสซิ่ง ทรานสิท กลุ่มเนิร์ดผู้ลงทุนเทกโอเวอร์ขอนแก่นซิตี้บัสแล้วปรับให้ล้ำ ซ่า ซิ่ง

“การทำธุรกิจขนส่งสาธารณะเหมือนพายเรือทวนกระแสน้ำ เพราะแนวโน้มในอนาคตคนจะใช้น้อยลง ด้วยเหตุไม่ตอบโจทย์ความสะดวกสบาย รวมไปถึงเมืองมีการเปลี่ยนแปลง แต่เส้นทางสัมปทานการเดินรถเดิมกลับไม่สอดคล้อง ดังนั้นเราต้องมีมุมมองแตกต่างจากธุรกิจทั่วไป เพราะธุรกิจขนส่งสาธารณะนั้นเริ่มจากคนที่ใช้บริการจ่ายได้เท่าไร เขามีรายได้ต่อวันเท่าไร เขาจ่ายเงินเดินทางเท่าไร ถ้าเพดานที่เขาจ่ายได้คือแค่นี้ จะบริหารยังไงให้คนทำธุรกิจอยู่ได้ เป็นการคิดกลับกันกับธุรกิจอื่น เขาจึงย้ำว่า Empathy คือหัวใจสำคัญ”

ต้าและทีมค้นพบข้อมูลว่าการนำความคิดสร้างสรรค์และเรื่องเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้มีส่วนสำคัญมาก เพราะความคิดสร้างสรรค์ช่วยเพิ่มชีวิตชีวาให้รถและผู้ใช้บริการ อย่างในประเทศญี่ปุ่น มีการหุ้มรถทั้งคันด้วยลายเส้นของศิลปิน ก็สร้างสีสันให้กับคนในเมืองได้ ขณะที่ขอนแก่นเองมีศิลปินท้องถิ่นดัง ๆ อยู่มากมาย น่าจะลองนำวิธีดังกล่าวมาใช้บ้าง นั่นเองคือสาเหตุที่เราได้เห็นรถขอนแก่นซิตี้บัสที่หุ้มด้วยคาแรกเตอร์ Tomato Twins ผลงานลายเส้นของ S I R I ทั้งคัน โดยที่ทีมบัสซิ่งฯ เล่าถึงเจตนาดีของธุรกิจให้ศิลปินฟัง ทางศิลปินเองก็ยินดีและให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี

บัสซิ่ง ทรานสิท กลุ่มเนิร์ดผู้ลงทุนเทกโอเวอร์ขอนแก่นซิตี้บัสแล้วปรับให้ล้ำ ซ่า ซิ่ง

ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวก ทีมบัสซิ่งมองว่าไม่จำเป็นต้องใช้สิ่งที่สลับซับซ้อน ล้ำสมัยอะไรมากมาย ไม่จำเป็นต้องราคาแพงหรือนำเข้าจากต่างประเทศ เพียงรู้จักปรับแต่งเทคโนโลยีที่มีอยู่มาใช้ให้ตอบโจทย์ก็ใช้ได้แล้ว ซึ่งโชคดีที่ในบริษัท บัสซิ่ง ทรานสิท จำกัด มีเนิร์ดด้านเทคโนโลยีที่คอยดูแลเรื่องนี้ถึง 3 คน

ด้วยความที่ นัท-วัชรชัย วรรณสิทธิ์ มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี เขาเลือกเชื่อมต่อรถซิตี้บัสกับระบบ GPS เพื่อเพื่อเก็บข้อมูลพิกัดของรถแบบ Real-time ส่วนช่องทางการสื่อสารระหว่างผู้ใช้บริการเขาเลือกใช้แอปพลิเคชันไลน์

บัสซิ่ง ทรานสิท กลุ่มเนิร์ดผู้ลงทุนเทกโอเวอร์ขอนแก่นซิตี้บัสแล้วปรับให้ล้ำ ซ่า ซิ่ง

นัทบอกว่า หากซิตี้บัสมีแอปฯ เป็นของตัวเองก็ดูเท่ดี แต่พฤติกรรมของผู้บริโภควันนี้ ไม่มีใครอยากโหลดแอปฯ อะไรอีกแล้ว ดังนั้นมันควรทำให้ผู้บริโภคสะดวกสบาย ซึ่งไลน์ออฟฟิเชียล คือช่องทางที่ตอบโจทย์ เพราะใส่ทุกอย่างเข้าไปในนั้นได้ ทุกคนที่มีสมาร์ตโฟน ไม่มีใครไม่มีไลน์ ผู้ใช้บริการจึงติดตาม Live Map ผ่านช่องทางไลน์ของขอนแก่นซิตี้บัส เพื่อติดตามเส้นทางเดินรถ หรือตำแหน่งรถที่กำลังเดินทางมาถึงจุดที่รอ ตลอดจนข่าวสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น วันนี้มีคอนเสิร์ตที่หอประชุม KICE ของขอนแก่น มีการเพิ่มรอบรถซิตี้บัสหลังคอนเสิร์ตเลิก เป็นต้น

แมค-นพกร ถนอมเสียง เนิร์ดอีกคนที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีไม่แพ้กัน เดิมทีเขาทำระบบเพย์เมนต์ให้กับตู้หยอดเหรียญซักผ้าทั่วประเทศอยู่แล้ว จึงนำเทคโนโลยีนี้ไปผนวกกับตู้ชำระค่าโดยสารอัตโนมัติด้วย ซึ่งทำให้ทางทีมได้รับ Data แบบเรียลไทม์ว่าจุดจอดไหนที่มีผู้โดยสารขึ้นรถมาก เวลาใดที่ผู้โดยสารหนาแน่น ข้อมูลนี้สำคัญมาก เพราะช่วยให้ทีมบัสซิ่ง ทรานสิท นำมาวิเคราะห์เพื่อจัดรอบเดินรถ (ที่มีจำนวนไม่มาก) ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้ใช้บริการ โดยไม่ต้องเสียเวลาวิ่งรถเปล่าแบบอย่างสิ้นเปลือง จึงช่วยประหยัดทั้งค่าใช้จ่ายเรื่องน้ำมันรถ ลดการปล่อยมลภาวะ แถมยังให้บริการลูกค้าได้อย่างสะดวกสบายขึ้นอีกด้วย

นอกจากนี้ บนรถซิตี้บัสมีจอตารางจุดจอดเรียลไทม์ให้ผู้โดยสารรู้ และมีจอโฆษณาบนรถที่ขายโฆษณา นำเงินกลับมาหล่อเลี้ยงธุรกิจดังกล่าวนี้ได้อีกด้วย เทคโนโลยีนี้เป็นฝีมือของ สุชาติ พรมมี เนิร์ดด้านเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ นั้นเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการอย่างมาก ที่สำคัญ ทั้งหมดลงทุนทำในราคาแค่หลักพัน สุชาติเล่าว่า

“ระบบพวกนี้ผมทำเองได้มันประหยัดกว่า เพราะถ้าเราไปซื้อเอาระบบจากข้างนอก มันจะหมดเยอะกว่านี้มาก”

นอกจากเรื่องเทคโนโลยีและการตลาดแล้ว เรื่องที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือเรื่องรถและเรื่องของคน การนำเอารถที่มีอยู่เดิมของขอนแก่นซิตี้บัสกลับมาดำเนินงานต่อ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องซ่อมบำรุงให้กลับมาใช้งานได้มีประสิทธิภาพอีกครั้ง ไหนจะเรื่องจุกจิกต่าง ๆ ในธุรกิจนี้ โชคดีที่ บริษัท บัสซิ่ง ทรานสิท มี ภู-ภูริภัทร ลิมป์นิศากร ซึ่งคร่ำหวอดอยู่ในธุรกิจขนส่งสาธารณะ เป็นซูเปอร์เนิร์ดที่เข้ามาช่วยจัดการ

อย่างช่วงอากาศร้อน ๆ ที่ผ่านมา รถซิตี้บัสเกิดอาการน็อกเพราะความร้อนเกิน จนวิ่งต่อไปไม่ได้ เนิร์ดที่เชี่ยวชาญด้านเทคและการตลาด ทุกคนต่างไปไม่เป็น แต่พอยกหูหาภู เขาก็สอนวิธีแฮกแก้ปัญหาที่ตอนที่ทุกคนได้ยินต่างก็ทำหน้าประหลาดใจ เพราะไม่คิดว่านี่คือวิธีที่แก้ได้จริง

“ผมบอกให้คนขับจอดรถ เปิดกระโปรงหลังรถแล้วเอาน้ำสาดเลย พักไว้ 15 นาที พอเครื่องเย็น ก็จะกลับมาใช้ได้”

บัสซิ่ง ทรานสิท รวมพลังคนอีสานสายเนิร์ด ผู้เข้ามารับช่วง Khon Kaen City Bus ไม่ให้หยุดวิ่ง ด้วยวิธีคิดสุดล้ำ

นอกจากนี้ เขาเลือกซ่อมบำรุงในสิ่งที่จำเป็นเป็นหลัก โดยมองว่าจุดที่เลือกซ่อมจะเกิดประโยชน์และความปลอดภัยต่อผู้รับบริการเป็นสำคัญ นี้คือสิ่งที่สะท้อนถึงความเก๋าเกมของเขา ไม่นับรวมเรื่องเบื้องหลังอีกมากมาย เช่น การเจรจาต้าอวยด้วยพลังอ่อนกับพนักงานขับรถและผู้คนในแวดวงธุรกิจนี้ที่ต้องเกี่ยวข้อง และอีกสารพัดเรื่องที่ต้องขอออฟไลน์ เพราะเป็นประเด็นเซนซิทีฟ ที่คนทำงานโอเปอเรชัน หรืองานเบื้องหลังในทุกแวดวงต่างเข้าใจกันดี

จบคำบอกเล่าของภู นัทย้ำกับเราด้วยแววตาเป็นประกายต่อท้ายบทสนทนาว่า

“พวกผมเพิ่มเริ่มเข้ามาตอน 1 มีนาคม พ.ศ. 2566 คิดดูสิ เพิ่งผ่านมา 2 เดือน เราทำให้ทุกอย่างกลับมาได้ แล้วฟังก์ชันอะไรที่อยากได้ เราใส่เข้ามาเลย มี GPS และ QR Code เชื่อมกับตู้หยอดเหรียญอัตโนมัติและที่แมคออกแบบ ทำให้เก็บข้อมูลปริมาณผู้ใช้บริการได้ เรามีเสียงบนรถเหมือนบน BTS เพื่อบอกจุดหมายปลายทางที่ใช้ AI ‘เว่าจา’ ของทางมหาลัยขอนแก่นที่ให้ความอนุเคราะห์ให้สิทธิ์เราใช้งาน ทำให้ประหยัดงบลง

“พอเราทำเทคโนโลยีทุกอย่างเอง เราเพิ่มนู่นนี่นั่นทุกอย่างเองได้ สมมติว่าพี่ต้าบอกว่าอยากได้อันนี้เพิ่ม หรือคนนู้นคนนี้อยากได้ระบบนี้เพิ่ม พี่สุชาติบอกว่าผมทำระบบจอโฆษณาบนรถเป็น ผมจะใส่ตำแหน่งรถด้านข้าง มันก็เลยกลายเป็นว่าทุกคนทำ การที่ทุกคนเข้ามาช่วยเรา ผลที่ได้คือรถขอนแก่นซิตี้บัสวันนี้มันสมาร์ตขึ้นมาก”

สิ่งที่พวกเขาทำ ราวกับคนที่กำลังแฮกช่องทางต่าง ๆ เพื่อไปถึงจุดหมาย โดยอาศัยมันสมอง ความถนัดของแต่ละคน และสำคัญที่สุดก็คือจิตใจที่อยากให้รถขอนแก่นซิตี้บัส สัญลักษณ์การต่อสู้เพื่อชีวิตที่ดีกว่าของคนบ้านนอกที่อยากสร้างหนทางก้าวสู่ชีวิตศิวิไลซ์ได้เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ตอบโจทย์การใช้งานจริง ๆ โดยไม่ดับไป มันเจ๋งได้ใจจนอยากบอกว่า ใจพวกนายมันได้จริง ๆ

บัสซิ่ง ทรานสิท รวมพลังคนอีสานสายเนิร์ด ผู้เข้ามารับช่วง Khon Kaen City Bus ไม่ให้หยุดวิ่ง ด้วยวิธีคิดสุดล้ำ

ประกาศดัง ๆ ว่า ‘ขอนแก่นซิตี้บัส’ กลับมาให้บริการอีกครั้งแบบตะโกน

ข่าวประกาศหยุดเดินรถของรถขอนแก่นซิตี้บัสเมื่อต้นปีที่ผ่านมาเป็นข่าวดังมาก แต่เวลานี้เราอยากขอแก้ข่าวแบบตะโกนให้ดังกว่าว่า รถขอนแก่นซิตี้บัสได้กลับมาวิ่ง มาซิ่ง เพื่อรับส่งผู้คนให้ไปถึงเป้าหมายอย่างปลอดภัยด้วยบริการสุดสมาร์ต ทันสมัย ภายใต้ภาพลักษณ์ไฉไล ซึ่ง Empathize ผู้ใช้บริการมากที่สุด เพียงแค่แอดไลน์ที่ ID : @kkcitybus ก็เชื่อมโยงและสื่อสารกับขอนแก่นซิตี้บัสเพื่อรับข่าวสารและดูเส้นทางการเดินรถ ตลอดจนจุดที่รถกำลังเคลื่อนที่ได้แล้ว

แถมจากเมื่อก่อนที่ปลายทางของรถซิตี้บัส มีแค่ บขส.3 ขอนแก่น วิ่งเข้าสู่ตัวเมือง และวนไปถึงปลายทางอีกด้านหนึ่ง คือสนามบินนานาชาติขอนแก่นเท่านั้น ตอนนี้ได้เพิ่มเส้นทางเดินรถ Loop Line ที่จะวิ่งวนเป็นวงกลมเฉพาะในเมืองขึ้นมา เพื่อให้ผู้ที่ต้องการใช้บริการเฉพาะในเมืองสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยผ่านทั้งสถานศึกษาชั้นนำ ห้างสรรพสินค้า ตลาดสำคัญ ๆ จุดท่องเที่ยวอย่างวัดหนองแวง บึงแก่นนคร ฯลฯ เห็นไหมว่าพวกเขาอยากให้คนขอนแก่นและผู้มาเยือนขอนแก่นนั้น หันมาใช้รถขอนแก่นซิตี้บัส สัญญะแห่งการมีชีวิตที่ดีกว่าของคนบ้านนอกสุดซิ่งนี้แค่ไหน นัทเล่าถึงความรู้สึกของเขาว่า

บัสซิ่ง ทรานสิท รวมพลังคนอีสานสายเนิร์ด ผู้เข้ามารับช่วง Khon Kaen City Bus ไม่ให้หยุดวิ่ง ด้วยวิธีคิดสุดล้ำ

“สิ่งที่เราทำ ปกติอาจต้องใช้เวลาเป็นปี แต่เราลุยกันได้ภาย 2 เดือน ทั้งที่ทุนก็มีจำกัด เหนื่อยครับ แต่เหนื่อยน้อยลงเรื่อย ๆ เพราะทุกอย่างรันไปเรื่อย ๆ จนตอนนี้มันเริ่มอยู่ได้ คนขับเริ่มเข้าใจในเทคโนโลยี ผู้โดยสารดูตำแหน่งบนรถเป็น เวลามีอีเวนต์มาจัดเขาก็เริ่มติดต่อให้เรานำรถไปบริการ คนเริ่มรู้แล้วว่าเราทำต่อ ก่อนหน้านี้มีข่าวว่ามันจะเลิก เป็นข่าวดังมากเลยนะ แต่พอตอนกลับมามันมาแบบเงียบ ๆ เราก็อยากให้ข่าวการกลับมาของขอนแก่นซิตี้บัสมันกระจายกว้างออกไป อันนี้คือความรู้สึก ณ ตอนนี้

“สำหรับอนาคต ถ้าธุรกิจซิตี้บัสกลับไปเหมือนก่อนโควิด มันจะเลี้ยงตัวเองได้ ข้อดีที่เรามารับช่วงต่อคือไม่มีค่างวด มีแค่ค่าบำรุงรักษา ค่าเชื้อเพลิง ค่าจ้างพนักงาน ถ้ากลับมามีรายได้เหมือนช่วงก่อนโควิด จะมีเงินเหลือพอให้เราไปพัฒนาอย่างอื่นให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นอย่างนั้นได้ก็ต้องอาศัยการสนับสนุนจากคนขอนแก่นด้วยกัน ให้หันมาใช้ขอนแก่นซิตี้บัสกันเยอะ ๆ”

ขณะที่ต้ากล่าวย้ำปิดท้ายบทสนทนากับเราว่า

บัสซิ่ง ทรานสิท รวมพลังคนอีสานสายเนิร์ด ผู้เข้ามารับช่วง Khon Kaen City Bus ไม่ให้หยุดวิ่ง ด้วยวิธีคิดสุดล้ำ

“เวลามีคนมาให้กำลังใจ เชียร์ให้เราทำต่อไปก็รู้สึกใจฟูนะครับ แต่ถ้าคนยังขึ้นน้อยลงเราก็จะแอบเศร้า พวกเราอยากท้าทายคนว่าให้กลับมาใช้ขนส่งสาธารณะเถอะ ดีจริง ๆ มันช่วยลดมลพิษ แก้ปัญหารถติด และเราใช้ชีวิตได้นะจริง ๆ แล้ว โดยที่ไม่ต้องแว้นมอเตอร์ไซค์หรือออกรถมาขับในเมืองขอนแก่น และถ้าเกิดว่าทำได้ เราก็อยากเห็นสิ่งนี้เกิดขึ้นในที่อื่นได้อีก เราอยากเห็นบัสซิ่งของเรา เทคโนโลยีของเรา สิ่งที่เราทำมันไปซัพพอร์ตขนส่งสาธารณะที่อื่นให้เขามีลมหายใจต่อได้ ซึ่งหมายความว่าคนในเมืองในต่างจังหวัดก็จะใช้ชีวิตได้จริง ในแบบที่มีทางเลือก”

รถขอนแก่นซิตี้บัสวนกลับมาจอดที่สถานี บขส.3 อีกครั้ง เพื่อส่งเราและผู้โดยสารท่านอื่น ๆ ให้เดินทางต่อไปยังจุดหมายที่ตั้งใจ ทว่าหลังจากฟังเรื่องราวของเหล่าคนอีสานสายเนิร์ดแห่ง บริษัท บัสซิ่ง ทรานสิท จำกัด ที่พยายามไปถึงเป้าหมายแบบเป็นมวยด้วยสกิลล์และใจที่มี สะท้อนให้เห็นว่าการไปถึงฝันนั้นไม่ง่าย แต่ก็ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้ ขอแค่มีสายตาที่มุ่งมั่น สติที่เข้มข้น วิชาและความถนัดที่ถึงกึ๋น ใจที่มั่นคงเด็ดเดี่ยว และสิ่งสำคัญ คือรู้จักยืดหยุ่นให้กับทุกโอกาสที่จะทำให้ไปถึงเป้าหมายสไตล์ไลฟ์แฮกเกอร์ เหมือนอย่างที่พวกเขาทำ ต่อให้ฝันไกลแค่ไหนก็ไม่เกินที่จะไปถึง ยิ่งถ้ามีกำลังใจมาช่วยหนุนเสริม ยิ่งช่วยต่อเติมพลังแห่งฝัน ดังนั้น มาร่วมเอาใจช่วยพวกเขา ทำให้ขนส่งสาธารณะของเมืองขอนแก่นกลับมาซิ่งอีกครั้งกันเถิด

Writer

สิทธิโชค ศรีโช

สิทธิโชค ศรีโช

มนุษย์ผู้ตกหลุมรักอาหารการกินมาตั้งแต่จำความได้ เคยโลดแล่นอยู่ในวงการสื่อสารด้านอาหารกว่าสิบปี ก่อนกลับบ้านนอกมาใช้ชีวิตติดกลิ่นปลาร้าที่อีสาน และยังคงมุ่งมั่นส่งต่อเรื่องราววัฒนธรรมอาหาร สุขภาพ และการดำรงชีวิตของผู้คนบนที่ราบสูง ให้โลกได้รับรู้

Photographer

Avatar

กานต์ ตำสำสู

จบวารสารศาสตร์ ม.สารคาม อายุ 26 เป็นคนสตูลที่เดินทางมาเรียนที่ภาคอีสาน ชอบฟังเพลงโลโซ คลั่งฟุตบอลไทย และชอบถ่ายภาพบ้านเกิดตัวเองเป็นชีวิตจิตใจ ปัจจุบันเปิดแล็ปล้างฟิล์มและห้องมืด ‘ฟิล์มกาหลง’ อยู่ขอนแก่น