ถ้าพูดถึงวัดโพธิ์ ทุกคนจะนึกถึงอะไรบ้างครับ พระมหาเจดีย์ 4 รัชกาล พระนอนองค์ใหญ่ ยักษ์วัดโพธิ์ ตุ๊กตาศิลาจีน ฤๅษีดัดตน จารึกวัดโพธิ์ มากมายเต็มไปหมดที่เราจะนึกออก 

สังเกตไหมครับ ไม่ว่าเรื่องไหนก็ล้วนแล้วแต่อยู่เขตพุทธาวาสทั้งนั้น แต่เชื่อหรือไม่ว่า เขตพุทธาวาสของวัดแห่งนี้กลับซุกซ่อนอาคารที่น่าสนใจเอาไว้มากมาย และหนึ่งในนั้นคืออาคารที่ไม่ได้เก่าแก่ ไม่ได้ใหญ่โต แต่กลับเต็มไปด้วยเรื่องราวและความพิถีพิถันอย่างไม่น่าเชื่อ ชื่อของอาคารหลังนี้คือ ‘ศาลาแดง’ ครับ

100 ปี ‘ศาลาแดง’ ตึกลับในวัดโพธิ์ฝีมือสถาปนิกชั้นครูกับศิลปินอิตาลี ที่ไม่เปิดให้เข้า
ศาลาแดง
ภาพ : ปฏิพล รัชตอาภา

มูลเหตุที่มาของการสร้างศาลาแดงแห่งนี้ต้องย้อนกลับไปเมื่อเกือบร้อยปีก่อนเลย ใน พ.ศ. 2464 หม่อมราชวงศ์โต จิตรพงศ์ หม่อมใน สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ จะจัดการถวายพระเพลิงให้แก่ หม่อมเจ้าแดง งอนรถ ผู้เป็นบิดา จึงมีพระประสงค์ที่จะสร้างอาคารหลังหนึ่งขึ้นมาในพุทธศาสนาเพื่ออุทิศกุศลถวายแด่บิดา พอนำเรื่องนี้ไปหารือกับพระญาณโพธิ (ใจ) พระราชาคณะในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) ท่านจึงได้ชักชวนให้สร้างอาคารเรียนพระปริยัติธรรมขึ้นมาหลังหนึ่ง หม่อมราชวงศ์โตก็ตกลงที่จะสร้าง

100 ปี ‘ศาลาแดง’ ตึกลับในวัดโพธิ์ฝีมือสถาปนิกชั้นครูกับศิลปินอิตาลี ที่ไม่เปิดให้เข้า

แต่ครั้นจะให้สร้างเอง ออกแบบเองก็เห็นจะยากเกินไป หม่อมราชวงศ์โต จิตรพงศ์ จึงได้กราบทูลสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ขอให้ทรงช่วยเหลือ ซึ่งข่าวดีก็คือท่านก็รับเป็นธุระให้ และยังได้ให้ หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กฤดากร มาช่วยออกแบบและควบคุมการก่อสร้างด้วย ดังนั้น ศาลาแดงจึงเป็นอาคารที่ได้ยอดจอมยุทธ์ด้านสถาปัตยกรรมถึง 2 คนมาร่วมสร้างอาคารหลังนี้

สำหรับสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ หรือ สมเด็จครู ทรงเป็นนายช่างแห่งกรุงสยามผู้รอบรู้และมีความชำนาญในศาสตร์มากมาย ทรงเป็นสถาปนิก นักออกแบบ นักเขียนรูป นักแต่งเพลง กวีและอีกมากมายจนนิ้วมือเราไม่มีทางจะนับได้พอ ยิ่งถ้าพูดถึงผลงานการออกแบบของสมเด็จครูนั้น มีทั้งงานสถาปัตยกรรมทั้งวัดและพระเมรุมาศ การออกแบบพัดรอง การออกแบบพระราชลัญจกรและดวงตรา การออกแบบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และมีมากมายหลายศาสตร์ที่สมเด็จครูทรงเชี่ยวชาญอย่างมาก ทำให้งานของสมเด็จครูเป็นงานที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และมีเหตุมีผลในทุกแง่และทุกมุมของการออกแบบ

ในขณะที่หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กฤดากร ถือเป็นสถาปนิกยุคบุกเบิกที่ได้รับการศึกษาวิชาสถาปัตยกรรมตามแนวสากล เพราะทรงศึกษาวิชาสถาปัตยกรรมจากเอกอลเดโบซาร์ (École des Beaux-Arts) หรือโรงเรียนวิจิตรศิลป์ที่ประเทศฝรั่งเศส และยังเป็นกลุ่มผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมสถาปนิกสยามฯ อีกด้วย ผลงานของหม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กฤดากร มีทั้งพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม วังไกลกังวล จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รวมถึงตึกจักรพงษ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ตึกแดงภายนอก : ตึกฝรั่งหลังเล็กสุดประณีต

ดูจากภายนอก ศาลาแดงเป็นอาคารสไตล์ฝรั่งขนาดเล็กทาสีแดงที่มีรูปทรงค่อนข้างเรียบง่าย มีหลังคายื่นออกมาทั้งด้านหน้าและด้านหลัง โดยด้านหน้าการทำช่องหน้าทรงซุ้มโค้ง และมีบันไดทางขึ้นวางขวาง ซึ่งก่อนเดินขึ้นบันได เราจะเห็นป้ายหินอ่อนที่มีข้อความว่า “พุทธศักราช ๒๔๖๔ หม่อมราชวงศ์หญิงโต จิตรพงศ์ ส้าง ศาลา นี้ไว้ เปนที่พระสงฆ์เรียนพระปริยัติ อุทิศผลกุศลถวายท่านพ่อ” เป็นหลักฐานยืนยันชัดเจนถึงประวัติการสร้างอาคารหลังนี้

100 ปี ‘ศาลาแดง’ ตึกลับในวัดโพธิ์ฝีมือสถาปนิกชั้นครูกับศิลปินอิตาลี ที่ไม่เปิดให้เข้า

รูปแบบของศาลาแดงนี้ถือเป็นงานสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกที่พบในประเทศไทยมาแล้ว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปะตะวันตกที่ถูกคัดสรรและปรับปรุงจนเหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศแบบประเทศไทย อย่างโครงสร้างหลังคาที่ยื่นออกมาเช่นนี้ ช่วยกันฝนสาดเข้ามาในตัวอาคารได้ด้วย ซึ่งพบมาก่อนแล้วในอาคารหลังอื่น เช่น พระตำหนักพญาไท

100 ปี ‘ศาลาแดง’ ตึกลับในวัดโพธิ์ฝีมือสถาปนิกชั้นครูกับศิลปินอิตาลี ที่ไม่เปิดให้เข้า

อย่างไรก็ตาม หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กฤดากร ก็ยังได้แอบใส่องค์ประกอบที่อาจเป็นสิ่งที่ท่านชอบเป็นการส่วนตัว คือ การทำซุ้มโค้งไว้ด้านหน้าอาคาร เพราะไม่ว่าจะเป็นที่ตำหนักใหม่ วังสระปทุม หรือ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล ซึ่งเป็นผลงานของหม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ ต่างก็มีองค์ประกอบนี้อยู่ด้วยทั้งนั้น สิ่งนี้จึงคล้ายกับเป็นลายเซ็นของท่านที่แอบแทรกเอาไว้ในผลงาน รวมถึงที่ศาลาแดงแห่งนี้ด้วย

100 ปี ‘ศาลาแดง’ ตึกลับในวัดโพธิ์ฝีมือสถาปนิกชั้นครูกับศิลปินอิตาลี ที่ไม่เปิดให้เข้า
ภาพ : thailandtourismdirectory.go.th

ส่วนถ้าใครสงสัยว่าทำไมอาคารหลังนี้ถึงได้ชื่อว่าศาลาแดง ก็เพราะว่าหม่อมราชวงศ์โต จิตรพงษ์ ทรงสร้างอาคารหลังนี้อุทิศแด่หม่อมเจ้าแดง งอนรถ อาคารหลังนี้จึงเป็นสีแดงตามชื่อของหม่อมเจ้าแดงด้วยประการฉะนี้

ตึกแดงภายนอก : โรหิตัสสสูตร

แต่สิ่งที่น่าสนใจไม่ได้มีตัวอาคารด้านนอกเพียงอย่างเดียว เพราะเมื่อเราเดินไปด้านหลังศาลาแดง จะเห็นว่ามีแผ่นจารึกอยู่แผ่นหนึ่ง ซึ่งจารึกตัวอักษรขอมอยู่ 7 แถวอยู่ภายในกรอบสีแดง โดยข้อความในจารึกนี้เป็นข้อความภาษาบาลี แปลความได้ว่า

100 ปี ‘ศาลาแดง’ ตึกลับในวัดโพธิ์ฝีมือสถาปนิกชั้นครูกับศิลปินอิตาลี ที่ไม่เปิดให้เข้า

“แต่ไหนแต่ไรมา ยังไม่มีใครบรรลุถึงที่สุดโลกด้วยการเดินทาง และเพราะที่ยังบรรลุถึงที่สุดโลกไม่ได้ จึงไม่พ้นไปจากทุกข์

“เหตุนั้นแหละ คนมีปัญญาดี และตระหนักชัดเรื่องโลก ถึงที่สุดโลกได้ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว รู้ที่สุดของโลกแล้ว เป็นผู้ระงับแล้ว จึงไม่หวังโลกนี้และโลกหน้า”

นี่ขนาดถอดคำแปลแล้วก็ยังฟังเข้าใจยากใช่ไหมครับ แต่จริง ๆ แล้ว ข้อธรรมนี้ถือเป็นเรื่องพื้นฐานมาก ๆ อย่างหนึ่งเลยนะครับ เพราะข้อความอักษรขอม ภาษาบาลีทั้ง 7 แถวนี้กำลังสอนเราว่า โลกที่แท้จริงนั้นไม่ได้อยู่รอบตัวเอง แต่อยู่ในตัวของเราเอง คือร่างกายและจิตใจของเราเอง ถ้าเรารู้จักและเข้าใจในร่างกาย อารมณ์ ความคิด ความรู้สึกต่าง ๆ ของตนเองได้ ก็จะทำจิตใจและร่างกายให้สงบได้ แม้จะเผชิญกับปัญหาหรือวิกฤตใด ๆ เพราะที่สุดแห่งทุกข์นั้นก็อยู่ในตัวของเราเองนี่แหละ

ซึ่งข้อธรรมนี้ก็ไม่ใช่ข้อธรรมไร้ชื่อไร้นามแต่อย่างใดนะครับ ชื่อของข้อธรรมนี้ก็คือ ‘โรหิตัสสคาถา’ ซึ่งมาจากโรหิตัสสสูตรในพระไตรปิฎกนั่นเอง โดยเป็นเรื่องราวของเทพบุตรองค์หนึ่งชื่อโรหิตัสสเทพบุตรที่มาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า เพื่อทูลถามว่ามีที่ไหนในโลกที่ไม่มีการเกิดแก่เจ็บตายรึเปล่า เพราะชาติที่แล้วเคยเกิดเป็นเทพบุตรผู้ความเร็วปาน The Flash และได้เหาะด้วยความเร็วสูงเพื่อตามหาสถานที่ดังกล่าวเป็นเวลาร้อยปีโดยไม่หยุดพัก สุดท้ายก็ตายลงระหว่างเหาะนั่นเอง และคำตอบของพระพุทธเจ้านั้น ก็คือโรหิตัสสคาถานั่นเองครับ

แล้วทำไมโรหิตัสสสูตรถึงมาอยู่ตรงนี้ได้ละ ก็เพราะว่าเมื่อครั้งที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ออกแบบอาคารหลังนี้ ได้ปรึกษากับ พระสาสนโสภณ (ต่อมาคือ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร)) วัดเทพศิรินทราวาส ซึ่งเป็นพระภิกษุที่สมเด็จครูจะมาปรึกษาข้อธรรมะด้วยเสมอ และท่านได้แนะนำให้เลือกโรหิตตัสสูตรให้แก่สมเด็จครูสำหรับใช้จารึกลง ณ ศาลาแห่งนี้

ทีนี้ เราลองมามองให้ลึกอีกสักชั้นดีกว่า ในเมื่อพระคาถาหรือพระสูตรในพระไตรปิฎกมีอยู่มากมาย เหตุใดจึงต้องเป็นโรหิตัสสูตร

ข้อแรก เพราะคำว่า ‘โรหิต’ นั้นแปลว่า ‘แดง’ ซึ่งตรงกับชื่อของหม่อมเจ้าแดง งอนรถ ท่านพ่อของหม่อมราชวงศ์โต จิตรพงศ์ และเป็นที่มาของศาลาหลังนี้

ข้อที่สอง เพราะข้อธรรมนี้มีเนื้อหาสำคัญว่าด้วยโลกที่แท้จริงคือร่างกายและจิตใจของเราเอง การบรรลุถึงความไม่เกิดก็คือการเข้าถึงปัญญา บรรลุสัจธรรมในกายและใจของเรานั้นเป็นธรรมที่ให้เกิดความสังเวช สอดคล้องเข้ากันได้ดีกับอาคารหลังนี้ที่มีอีกหน้าที่หนึ่ง นั่นก็คือ การเป็นสถานที่บรรจุพระอัฐิและอัฐิ นั่นเอง

และข้อที่สาม จะต่อเนื่องจากข้อที่สอง เพราะสถานที่แห่งนี้คือโรงเรียนสอนพระปริยัติธรรม จึงสอดคล้องกับคำสอนในโรหิตัสสสูตรว่าอาศัย ‘กาย’ และ ‘อาคาร’ ที่เปรียบเสมือนร่างกายนี้ ศึกษาธรรมะให้เข้าถึงความพ้นทุกข์ นับเป็นกิจของพระสงฆ์ รวมถึงชาวพุทธทั้งหลายที่อาศัยกายของตนในการไปถึงซึ่งพระนิพพาน

ตึกแดงภายใน : ภาพพุทธประวัติไทยร่างฝรั่งวาด

เมื่อเข้ามาด้านใน สิ่งแรกที่จะเตะตาเราก่อนเลยคือ ภาพวาดในกรอบโค้งเป็นภาพพุทธประวัติตอนพระพุทธเจ้าตรัสห้ามธิดาพญามาร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์การเสวยวิมุตติสุขในสัปดาห์ที่ 5 หรือที่เรียกว่า ‘อชปาลนิโครธ’ หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว โดยพระพุทธองค์ได้ประทับใต้ต้นไทรของคนเลี้ยงแพะ (ตรงกับชื่อตอนอชปาลนิโครธเลยครับ อชปาล = คนเลี้ยงแพะ นิโครธ = ต้นไทร) โดยธิดาพญามารทั้ง 3 คือ ตัณหา ราคา และอรตี ได้อาสาพระบิดาคือพญามารจะไปยั่วยวนพระพุทธเจ้า โดยแปลงกายเป็นหญิงในแต่ละช่วงวัย แต่ก็ไม่ได้ผลเพราะพระพุทธเจ้าทรงไม่สนพระทัยใด ๆ

100 ปี ‘ศาลาแดง’ ตึกลับในวัดโพธิ์ฝีมือสถาปนิกชั้นครูกับศิลปินอิตาลี ที่ไม่เปิดให้เข้า
ภาพ : ปฏิพล รัชตอาภา

ที่สำคัญ ภาพภาพนี้ยังเป็นภาพเดียวกันกับบนปกหนังสือ ‘ทศบารมีในพุทธศาสนาเถรวาท’ พระวิทยานิพนธ์ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ซึ่งภาพนี้ก็เป็นผลงานการออกแบบของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์เช่นกัน แต่เพียงแค่ออกแบบเท่านั้น ไม่ได้เป็นคนวาดลงไปในซุ้ม โดยได้ให้จิตรกรชาวตะวันตกเป็นผู้วาด นั่นก็คือ คาร์โล ริโกลี

คาร์โล ริโกลี เป็นจิตรกรชาวอิตาลีที่เข้ามาทำงานในสยามประเทศ โดยการชักชวนของกาลิเลโอ คีนี และได้เดินทางเข้ามาเมื่อ พ.ศ. 2453 และริโกลีได้กลายเป็นอีกหนึ่งจิตรกรชาวตะวันตกคนสำคัญแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ที่ฝากผลงานทั้งงานในสเกลใหญ่อย่าง ภาพภายในพระที่นั่งอนันตสมาคม พระที่นั่งบรมพิมาน หรือวัดราชาธิวาส และงานสเกลเล็ก เช่น พระบรมสาทิสลักษณ์ของพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ รวมถึงภาพวิถีชีวิตผู้คน เช่น คนกินข้าว คนสูบฝิ่น เป็นต้น

ตึกเรียนพระปริยัติธรรม ฝีมือ 2 สถาปนิกชั้นครู กับคาร์โล ริโกลี และสัญลักษณ์มากมาย ที่ไหนในโลกไม่มีการเกิดแก่เจ็บตาย
ตึกเรียนพระปริยัติธรรม ฝีมือ 2 สถาปนิกชั้นครู กับคาร์โล ริโกลี และสัญลักษณ์มากมาย ที่ไหนในโลกไม่มีการเกิดแก่เจ็บตาย

ด้วยผู้ออกแบบคือสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ดังนั้น ภาพพระพุทธเจ้าตรัสห้ามธิดาพญามารนี้จึงไม่ได้ออกมาเป็นไทยจ๋า แต่กลับมีกลิ่นอายความเป็นตะวันตกอยู่พอสมควร ไม่ว่าจะลักษณะของพระพุทธเจ้าที่คล้ายพระพุทธรูปศิลปะคันธาระของอินเดีย ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่เพิ่งเป็นที่รู้จักในประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 ในฐานะพระพุทธรูปที่เก่าแก่ที่สุดในโลก โดยมีลักษณะสำคัญคือมีมวยผมและร่างกายที่ดูมีกล้ามเนื้อ ส่วนจีวรที่มีการยับย่นสมจริงนี้ แม้จะเป็นแนวคิดจากทางตะวันตก แต่ก็พบมาแล้วตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 4 

อย่างไรก็ตาม ทั้งรูปลักษณ์ เครื่องแต่งกาย และท่าทางของธิดาพญามารทั้ง 3 กลับอ่อนช้อยอย่างไทย ทว่ามีใบหน้าอย่างฝรั่งและ ธิดาพญามารตนหนึ่งถือพวงองุ่นที่เป็นผลไม้อย่างฝรั่งด้วย ดังนั้น ภาพวาดนี้จึงเป็นงานที่เป็น East Meets West อย่างแท้จริง

ที่สำคัญ ริโกลียังแอบเซ็นลายเซ็นเอาไว้ในภาพด้วยนะครับ โดยอยู่บริเวณขวาล่างของภาพ เขียนว่า ‘C. Rigoli’ ซึ่งก็ย่อมาจาก Carlo Rigoli นั่นเอง

ตึกเรียนพระปริยัติธรรม ฝีมือ 2 สถาปนิกชั้นครู กับคาร์โล ริโกลี และสัญลักษณ์มากมาย ที่ไหนในโลกไม่มีการเกิดแก่เจ็บตาย

แต่ถ้าสังเกตงานออริจินอลของสมเด็จครูดี ๆ จะเห็นว่าใต้ภาพมีพระคาถาอักษรขอม ภาษาบาลี แปลความได้ว่า

“ความชนะของพระพุทธเจ้าองค์ใด ย่อมไม่กลับแพ้ ใคร ๆ ในโลกย่อมไม่กลับความชนะของพระพุทธเจ้าองค์นั้นได้ ท่านทั้งหลายจักนำหรือชักจูงพระพุทธเจ้าผู้ถึงแล้วซึ่งความไม่มาและไม่ไป ไปโดยทางไหนได้ฯ

“ตัณหาอันแผ่ไปในอารมณ์ต่าง ๆ ดุจตาข่ายที่จะนำไปในทิศทางไหน ๆ ย่อมไม่มีในพระพุทธเจ้าองค์ใด ท่านทั้งหลายจักนำพระพุทธเจ้าองค์นั้น ผู้ถึงแล้วซึ่งความไม่มาไม่ไป ไปโดยทางไหนได้ฯ”

และแน่นอนว่า เมื่ออยู่ใน First Draft ของสมเด็จครูแล้ว ท่านย่อมไม่ลืมที่จะนำมาใช้ประดับอาคารนี้แน่นอน แต่เพราะบริเวณใต้รูปนี้ถูกนำไปใช้ทำอย่างแล้ว ดังนั้น พระคาถานี้จะถูกโยกไปเขียนเหนือหน้าต่างแทน โดยวิ่งวนรอบอาคารแทน แบ่งออกเป็น 8 วรรค

ตึกเรียนพระปริยัติธรรม ฝีมือ 2 สถาปนิกชั้นครู กับคาร์โล ริโกลี และสัญลักษณ์มากมาย ที่ไหนในโลกไม่มีการเกิดแก่เจ็บตาย

แต่คำถามที่น่าสงสัยที่สุดตอนนี้ก็คือ ทำไมในตึกเรียนพระปริยัติธรรมถึงเลือกเขียนฉากพุทธรปะวัติตอนพระพุทธเจ้าตรัสห้ามธิดารพญามารล่ะ แทนที่จะเขียนฉากการแสดงพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าหรือพุทธประวัติตอนที่สอดคล้องกับหน้าที่ของอาคารนี้มากกว่า แต่ถ้าเราลองเชื่อมโยงภาพพุทธประวัติตอนนี้เข้ากับโรหิตัสสสูตรที่อยู่ด้านนอกอาคาร เราก็จะถึงบางอ้อทันที เพราะทั้งสองเรื่องนี้มีความสัมพันธ์กันพอดีอย่างไม่น่าเชื่อ

ในโรหิตัสสูตร โรหิตัสสเทพบุตรสงสัยเรื่องที่สุดของโลก และออกเดินทางตามหาที่สุดของความทุกข์ ในขณะที่พุทธประวัติและพระคาถาในอาคารแสดงว่า พระพุทธเจ้าทรงถึงที่สุดของโลกและที่สุดและทุกข์แล้ว ทรงชนะและทรงบรรลุแล้ว ดังนั้น ภาพพุทธประวัติตอนนี้จึงเป็นเหมือนเครื่องเตือนใจในพระภิกษุสามเณรทั้งหลาย ให้มีจิตใจที่สงบ ไม่ฟุ้งซ่าน หากมีกิเลสใดเข้ามาก็ขอให้ชนะ เช่นเดียวกับที่พระพุทธเจ้าชนะธิดาพญามาร รวมถึงยังเป็นเครื่องเตือนใจว่า การเล่าเรียนแต่พระปริยัตินั้นไม่เพียงพอ จะต้องมีการปฏิบัติให้ลึกซึ้งด้วย การเล่าเรียนธรรมะจึงจะถือว่าประสบความสำเร็จ

ตึกแดงภายใน : พระอัฐิและอัฐิภายใน

บริเวณใต้รูปพุทธประวัติตอนพระพุทธเจ้าทรมานธิดาพญามารนั้นเจาะเป็นช่อง 3 ช่อง แต่ละช่องมีจารึกหินอ่อน โดยแต่ละระบุรายพระนามและนามของผู้ที่หม่อมราชวงศ์โต จิตรพงศ์ อุทิศกุศลถวาย ประกอบด้วย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้างอนรถ, หม่อมเจ้าชายแดง ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้างอนรถ และหม่อมเจ้าหญิงอ่าง ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นเชษฐาธิเบนทร ซึ่งจารึกหินอ่อนแต่ละแผ่นมีการออกแบบตัวอักษรแตกต่างกันทั้งหมด

ตึกเรียนพระปริยัติธรรม ฝีมือ 2 สถาปนิกชั้นครู กับคาร์โล ริโกลี และสัญลักษณ์มากมาย ที่ไหนในโลกไม่มีการเกิดแก่เจ็บตาย

แต่จุดที่เก็บอัฐิในอาคารหลังนี้ไม่ได้แค่มีแค่ตรงแผ่นหินอ่อน 3 แผ่นนี้เท่านั้น บริเวณใต้แผ่นจารึกหินอ่อนทั้ง 3 แผ่นยังมีตู้หนังสือ ซึ่งถูกออกแบบมาสำหรับอาคารหลังนี้ โดยหนังสือภายในตู้นี้มีทั้งหนังสือที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้จัดหามา 

จุดสำคัญที่อยากจะให้ดูก็คือบริเวณฐานที่รองรับตู้หนังสือนี้ต่างหากครับ เพราะฐานหินอ่อนนี้ ถ้าสังเกตดี ๆ จะเห็นว่าบริเวณฐานที่เส้นเหมือนรอยตัดอยู่ และนี่แหละครับคือจุดเก็บอัฐิอีกจุดหนึ่งของศาลาแดงหลังนี้ เพราะเปิดออกมาได้ โดยเป็นที่เก็บอัฐิของราชสกุลงอนรถและราชสกุลจิตรพงศ์ทุกพระองค์และทุกคนเลยครับ

ตึกเรียนพระปริยัติธรรม ฝีมือ 2 สถาปนิกชั้นครู กับคาร์โล ริโกลี และสัญลักษณ์มากมาย ที่ไหนในโลกไม่มีการเกิดแก่เจ็บตาย
ภาพ : โลจน์ นันทิวัชรินทร์

การที่มีทั้งพระอัฐิและอัฐิของราชสกุลเอาไว้ภายในอาคารที่เป็นโรงเรียนสอนพระปริยัติธรรมนี้ ก็เพื่อให้ทุก ๆ พระองค์และทุก ๆ คนได้สดับฟังพระธรรมที่บรรดาพระภิกษุได้เรียนอยู่ตลอดเวลา แนวความคิดเช่นนี้เป็นแนวความคิดเดียวกับการที่คนในยุคปัจจุบันนำอัฐิของผู้ตายไปไว้ในเจดีย์หรือกำแพงแก้ว เพื่อให้ผู้วายชนม์ได้สดับฟังพระสงฆ์ทำวัตรทุกเช้าเย็นเลยครับ

ปริศนาศาลาแดง : ความซับซ้อนในการออกแบบจากการมันสมองของยอดช่าง

หากเราตัดสินจากภายนอก ศาลาแดงก็คงเป็นแค่อาคารหลังเล็ก ๆ หลังหนึ่งที่เป็นโรงเรียนของพระในเขตสังฆาวาส แต่พอเราค่อย ๆ มอง ค่อย ๆ ไขรหัสออกทีละข้อ ๆ เราก็จะเห็นถึงความประณีตของครูช่างในอดีตที่ออกแบบโดยใช้ทั้งอาคาร ฟังก์ชัน สี ภาพ และจารึก เข้ามาผสมผสานอย่างสอดคล้องเข้ากันได้ลงตัว ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งของศิลปะไทยที่สร้างหลังจากเริ่มรับวัฒนธรรมตะวันตก ทำให้เกิดการออกแบบอาคารแนวใหม่ที่มีความซับซ้อน มากไปกว่าคติความเชื่อหรือการจัดการพื้นที่ แต่มีการผสมผสานองค์ประกอบหลากหลายมากขึ้น

ดังนั้น อย่าได้ตัดสินอะไรเพียงแค่ตาเห็น แต่จงพิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนจะตัดสินอะไรลงไป เราอยู่ในยุคที่ทุกอย่างนั้นรวดเร็วไปหมด ทุกคนพร้อมตัดสินทุกสิ่งผ่านอารมณ์ความรู้สึกครั้งแรกโดยไม่ได้ไตร่ตรองให้ดีก่อน และสิ่งเหล่านี้ได้นำมาซึ่งปัญหามากมายตามมา ดังนั้น แม้ทุกอย่างจะรวดเร็ว แต่เราก็ลองเป็นคนช้าดูบ้างดีไหม เราจะได้เห็นอะไร มองอะไรได้รอบคอบยิ่งขึ้น

เกร็ดแถมท้าย

1. ศาลาแดงเป็นอาคารที่ตั้งอยู่ในเขตสังฆาวาส ปัจจุบันยังคงใช้งานในฐานะสถานที่สำหรับเรียนปริยัติธรรม ดังนั้น จึงเปิดเฉพาะช่วงเวลาที่ใช้งานเท่านั้น เว้นแต่จะขออนุญาตเป็นกรณีพิเศษ แต่ภายนอกอาคารนั้นเดินชมได้โดยอิสระครับ

2. ศาลาแดงของวัดโพธิ์แห่งนี้ไม่มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับย่านศาลาแดงนะครับ เพราะย่านศาลาแดงนั้นได้ชื่อมาจากหลังคาของสถานีรถไฟ ส่วนหนึ่งของทางรถไฟสายปากน้ำที่ตั้งอยู่บริเวณแถบนี้ จนกลายเป็นชื่อของทุ่งศาลาแดง ก่อนจะถูกใช้เป็นชื่อย่าน แยก และสถานีรถไฟฟ้า BTS ในเวลาต่อมา

3. ภายในเขตสังฆาวาสของวัดโพธิ์แห่งนี้ยังมีอาคารอีกหลายหลังที่น่าสนใจ เช่น พระตำหนักวาสุกรี หอไตรคณะเหนือ ซึ่งไว้มีโอกาสจะนำมาเล่าให้ฟัง หรือถ้าใครอยากรู้จักอาคารเหล่านี้ รวมถึงเขตพุทธาวาสของวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ผมเคยได้เขียนไว้แล้วในเมื่อครั้งที่ผมได้ไปร่วมกิจกรรม Walk with the Cloud : Night at the Temple ครับผม ไปอ่านได้นะครับ

Writer & Photographer

Avatar

ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

ต้า วัดไทย เด็กประวัติศาสตร์ศิลปะผู้ดูวัดมาแล้วกว่าพันวัดแม้จะยังไม่ครบทุกจังหวัด ชื่นชอบในความงามของศิลปะทั้งไทยและเทศรวมถึงเรื่องราวของสถานที่นั้นๆ ปัจจุบันยังคงออกเที่ยวชมวัดทุกศาสนารวมถึงวังต่างๆ อย่างต่อเนื่องพร้อมกับนำเรื่องราวมาเผยแพร่บน Facebook อยู่เป็นระยะๆ