กลับมา ‘ที่นี่’ เป็นครั้งที่ 2 หลังเรียนจบมาแล้ว 2 ปี

คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังเหมือนเดิม แม้ผู้คนในคณะที่คุ้นเคยจะเปลี่ยนหน้าไปมาก แต่ก็ยังเป็นที่พักใจของศิษย์เก่าหลายคน สองในนั้นคือคอลัมน์นิสต์ประจำ The Cloud เจ้าของคอลัมน์ ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ซึ่งเล่าเรื่องราวของผู้อยู่เบื้องหลังงานชิ้นโบแดงที่กลายเป็นปรากฏการณ์ในสังคมไทย

ช่อน-สุทธิโชค จรรยาอังกูร และ นัท-ปณัสย์ พุ่มริ้ว คือสองหนุ่มแห่งภาควิชาวารสารสนเทศ ผู้ขุดคุ้ย คัดสรร และนำเรื่องราวในความทรงจำกลับมาเล่าให้คนคิดถึงอีกครั้ง

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา สองนักค้นผู้คัดเบื้องหลังปรากฏการณ์ในความทรงจำมาเล่าให้คนคิดถึง
ช่อน (ซ้าย) นัท (ขวา)

หากนักอ่านทุกท่านเคยสังเกต ยอดมนุษย์..คนธรรมดา เป็นเพียงไม่กี่คอลัมน์ที่มีการใส่แหล่งอ้างอิงยาวเหยียดท้ายบทความ นั่นคือ ‘ความเนิร์ด’ ของนักเขียนทั้งสอง ซึ่งค้นคว้าข้อมูลมหาศาลก่อนไปสัมภาษณ์เจ้าของเรื่อง ถามว่ามหาศาลขนาดไหน ก็ถึงขั้นไปหอสมุดแห่งชาติเพื่อค้นนิตยสารเก่า ดูภาพขาวดำ หาวิทยานิพนธ์อ่าน เปิดวิดีโอรายการทั้งหมดดูเพื่อรื้อฟื้นความทรงจำ หากเป็นละครก็นั่งดูใหม่ตั้งแต่ต้น

“ก่อนเลือกสถานที่เป็นคณะนิเทศฯ ก็รีเสิร์ชก่อนว่าน้องเป็นรุ่นน้องที่คณะ” ทั้งสองหัวเราะ แต่สรุปว่า ไม่ได้ค้นหรอก น่าจะมีคนบอกมา

“ตอนนี้พวกเราเป็นฟรีแลนซ์เลยไม่มีออฟฟิศประจำ ส่วนมากเราก็มาค้นข้อมูล นั่งทำงานกันที่หอกลางของจุฬาฯ นัดกันที่คณะก็สะดวกดี” นัทเฉลย

แม้เรียนจบไปแล้ว แต่หลายอย่างยังคงวนเวียนอยู่กับความเป็นนิเทศ แม้แต่บทความแรกที่เขียนก็เป็นเรื่องราวของรุ่นพี่ที่สนิทกันอย่าง จ๋อง-พงศ์นรินทร์ อุลิศ โปรดิวเซอร์คนแรกของ Fat Radio

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา สองนักค้นผู้คัดเบื้องหลังปรากฏการณ์ในความทรงจำมาเล่าให้คนคิดถึง

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา

เราทราบว่าคุณทั้งสองเริ่มจากการทำเพจเฟซบุ๊ก แต่หลังจากนั้นกลายมาเป็นคอลัมน์ที่เริ่มด้วยบทความของพี่จ๋องได้ยังไง

นัท : ต้องเท้าความก่อนว่าเราสองคนเป็นเพื่อนกันตั้งแต่มหาวิทยาลัย

ช่อน : เป็นเพื่อนที่ชวนกันไม่เรียน

นัท : แต่ไปดูหนังที่ House RCA อะใช่ (หัวเราะ) จบแล้วเราทำงานสายเขียนทั้งคู่ จนมีเพื่อนชวนมาเป็นทีมรีเสิร์ชให้กับโปรเจกต์หนึ่ง ซึ่งตั้งใจเผยแพร่ข้อมูลลงบนเพจ พอค้นข้อมูลไปมา เราก็พบว่าข้อมูลทั้งด้านดีและข้อผิดพลาดคือสิ่งที่ดึงความเป็นมนุษย์ออกมา

ช่อน : คือเราสนใจเรื่อง ‘ชีวิตคน’ ที่ผิดพลาดและรู้จักเติบโต การทำโปรเจกต์นั้นเลยเป็นโอกาสให้เราที่เดินคนละทางได้มาเจอกันอีกครั้ง

นัท : พี่ที่ทำงานกับเราเขาบอกว่าเราสองคนรีเสิร์ชดี ไม่ลองทำเพจล่ะ พอดีกับที่ถึงจุดอิ่มตัวในการทำงาน ก็เลยมีเพจ ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 ซึ่งโพสต์ที่ได้รับความนิยมสูงมักเป็นเรื่องเกี่ยวกับความทรงจำ ทั้ง พี่กรณ์ เทพินทราภิรักษ์ ครีเอทีฟโฆษณาไทยประกันชีวิต ย.โย่ง-เอกชัย นพจินดา นักพากย์ฟุตบอล หรือ อาจารย์พรจันทร์ จันทวิมล ผู้ทำรายการพี่กระรอกน้อย พอมีคนมาคอมเมนต์เยอะ เลยรู้สึกว่าประสบการณ์ในยุคของเราได้รับความสนใจดี

ช่อน : ปลายปีนั้น ยอดไลก์เพจยังมีแค่ไม่กี่พัน เรามีโอกาสได้คุยกับ พี่ก้อง-ทรงกลด บางยี่ขัน ผ่านการแนะนำของรุ่นพี่คนหนึ่ง พร้อมลิสต์ประเด็นไป ซึ่งพี่ก้องคงมองว่าเนื้อหาในเพจของเราคล้ายความเป็น The Cloud อยู่ คือมี DNA ของคนทำนิตยสาร ละเอียด ลงลึก เราเลยเสนอคอนเซปต์ไปว่า เล่าเบื้องหลังปรากฏการณ์ในความทรงจำ แล้วลิสต์รายชื่อ 10 คนไปให้ พี่จ๋องคือหนึ่งในนั้น เราเลยเปิดหัวจากคนที่ใกล้ตัวและเป็นสิ่งที่เราผูกพัน คือ Fat Radio

นัท : ตอนนั้นไม่รู้ว่าคอลัมน์นี้จะผ่านหรือเปล่าเลยเสนอไปก่อน (หัวเราะ)

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา สองนักค้นผู้คัดเบื้องหลังปรากฏการณ์ในความทรงจำมาเล่าให้คนคิดถึง

แต่เรื่องของคนดังในวงการต่าง ๆ เป็นไปได้สูงว่ามีคนสัมภาษณ์มาเยอะแล้ว ทำยังไงไม่ให้ซ้ำ

นัท : นั่นคือสิ่งที่พี่ก้องบอก เขาอยากให้เราทำข้อมูลเอกซ์คลูซีฟ ท้าทายมากนะ เราเลยค้นข้อมูลให้เยอะ เพื่อต่อยอดจากสิ่งที่คนนั้น ๆ เคยให้สัมภาษณ์

ช่อน : เราให้ความสำคัญกับการรีเสิร์ชมาเป็นอันดับ 1 

นัท : ยกตัวอย่างก่อนตั้งคำถามสัมภาษณ์ น้าต๋อย เซมเบ้ พวกเราไปหอสมุดแห่งชาติ เพื่อดูว่าเขาเคยพูดเรื่องอะไรมาบ้าง บางอันช่อนเปิดอ่านวิทยานิพนธ์ที่มีคนเคยทำมาก่อน จากนั้นจึงตั้งคำถาม ซึ่งทำให้ตอนไปพูดคุย คำถามของเราช่วยรื้อฟื้นความทรงจำของเขา พร้อมได้ข้อมูลที่ลึกขึ้นด้วย

ใช้เวลารีเสิร์ชนานไหม แล้วต้องเยอะขนาดไหนถึงคิดว่าพอแล้ว

นัท : ประมาณ 1 อาทิตย์ (เปิดอัลบัมภาพให้ดู) ด้านในคือภาพจากนิตยสารเก่า หนังสือพิมพ์ เป็นข้อมูลที่เราถ่ายเก็บไว้ศึกษา บางอันยังเป็นภาพขาวดำอยู่เลย พ.ศ. 2520 ก็มี หรืออย่างตอนเขียน Hormones วัยว้าวุ่น พี่มีข้อมูลเดิมที่ช่อนเคยสัมภาษณ์พี่ย้งเมื่อ 10 ปีก่อน เลยนำมาผสมกับข้อมูลต่าง ๆ ที่ค้นเพิ่มเติม เช่น HAMBURGER MAGAZINE 

มีข้อมูลแล้วอุ่นใจ เราจะได้เห็นภาพและเล่าเรื่องได้อย่างชัดเจน

ช่อน : เราค้นเท่าที่มีให้ค้น บางอันบทสัมภาษณ์ไม่มีจริง ๆ ก็เอาเท่าที่ได้ อาจจะไปดูรายการของเขาที่พอมีแทน บางทีเราทำงานเหมือนไม่ใช่นักเขียน แต่เป็นนักคัดสรรเรื่องราวด้วย เพราะข้อมูลเยอะมาก

คิดว่าอะไรคือจุดเด่นของ ยอดมนุษย์..คนธรรมดา 

นัท : ความพิเศษคือเราอยากทำงานกับข้อมูล จุดเด่นเลยเป็นเรื่องข้อมูลละเอียด 

จุดที่ 2 คือเราย่อยข้อมูลให้เข้าใจง่าย เกิดเป็น Flow ในการคลี่คลายปมบางอย่าง แม้เรื่องจะยาวก็ตาม

ช่อน : และมีการอัปเดตข้อมูลให้ผู้อ่าน ด้วยจุดประสงค์ของคอลัมน์คือการพูดถึงปรากฏการณ์ เป็นเรื่องราวในอดีตเสียเยอะ อดีตเลยต้องมีการอัปเดตบ้าง ทำให้เราเห็นพัฒนาการของแหล่งข้อมูล ใส่ปัจจุบันและอนาคตเข้าไป เพื่อให้ทุกอย่างสมบูรณ์มากขึ้น

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา สองนักค้นผู้คัดเบื้องหลังปรากฏการณ์ในความทรงจำมาเล่าให้คนคิดถึง

แบ่งกันเขียนคนละครึ่งไหม

นัท : ช่อนเป็นคนเขียนหลัก ภาษาสวย ๆ คือของเขาเลย ผมเป็นคนอ่านคนแรกของคอลัมน์นี้ แต่เราก็คุยกันว่าจะเปิดอย่างไร มีอะไรก็แชร์กัน ย้ายไหม ตัดไหม ข้อมูลไหนขาดไป ประโยคนี้ยังไม่ได้เอามาใส่ เราทำงานไปพร้อม ๆ กันบนไฟล์ออนไลน์

ช่อน : เรารีเสิร์ช คิดคำถาม ไปสัมภาษณ์ด้วยกัน มีทั้งเรื่องที่เสนอกันเองและทางพี่ก้องเสนอมา

จากบทความแรกที่เขียนจนถึงบทความปัจจุบัน มีอะไรเปลี่ยนไปบ้างไหม

นัท : เรามีตากล้องถ่ายรูปสวย ๆ ให้แล้ว เนอะ น้องชาร์ป (ช่างภาพของเราเอง) ต้องขออภัยที่ช่วงแรกเราถ่ายกันเอง (หัวเราะ)

ช่อน : แต่ละเรื่องมีลักษณะเฉพาะตัว เราเลยมีรูปแบบงานที่ไม่เหมือนกันแต่แรก เอาว่าเริ่มใหม่ในทุกเรื่อง อะไรที่ยาวไป เยอะไป ลดทอนรายละเอียดได้ เราก็เอามาปรับในชิ้นถัดไปแทน

นัท : แต่ถามว่ายังเขียนยาวอยู่ไหม ก็อาจจะยาวขึ้นเรื่อย ๆ แต่ไม่ย้วยแล้วนะ ตอนนี้ความยาวน่าจะเป็นรองแค่ พี่โอ๊ค-โลจน์ นันทิวัชรินทร์ คอลัมน์ Heritage House (หัวเราะ) 

ถ้าถามว่าอะไรพัฒนาบ้าง คือเราเลือกข้อมูลได้แม่นขึ้น

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา สองนักค้นผู้คัดเบื้องหลังปรากฏการณ์ในความทรงจำมาเล่าให้คนคิดถึง
ยอดมนุษย์..คนธรรมดา สองนักค้นผู้คัดเบื้องหลังปรากฏการณ์ในความทรงจำมาเล่าให้คนคิดถึง

ยอดมนุษย์..คนคิดถึง

ค้นพบอะไรระหว่างรีเสิร์ชเรื่องราวในอดีตที่แทบจะลืมไปแล้วบ้าง

ช่อน : ค้นพบว่า ‘เราคิดถึง’ หลายเรื่องเราเลือกจากความสนใจส่วนตัว ไม่ว่าจะ The Shock ที่ฟังมาตั้งแต่เด็ก หรือ Soul After Six ก็ด้วย

นัท : เสียงบางเสียงที่เราเคยได้ยินเฉพาะตอนดูทีวี เสียงของน้าต๋อย ตอนคุยกันมันเหมือนไจแอนท์กำลังพูดกับเราอยู่ มันน่าตื่นเต้นมากที่ได้คุยกับคนที่สำคัญในความทรงจำวัยเด็ก ตอนเราสัมภาษณ์ พี่นาเดีย-ฤทัย สุทธิกุลพานิช ก็เปิดเพลงพี่เขาฟังเหมือนกัน

ช่อน : ตอนทำบทความ น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์ เราเปิดละครดูไปด้วย พูดตรง ๆ ว่าบางทีความทรงจำก็เลือนรางนะ พอเปิดดูใหม่เรากลับจำได้ ทำให้เราเข้าใจมากขึ้นว่าน่าสนใจตรงไหน

นัท : มีความสุขเนอะ อารมณ์ Nostalgia แล้วบางเรื่องที่ลืมคือลืมจริง ๆ ตอนทำ วิบูลย์กิจ เราก็เพิ่งจำได้ว่าเคยวิ่งไปหน้าโรงเรียนเพื่อรอดูว่ามีการ์ตูนเรื่องนี้ออกรึเปล่า

ได้เขียนเรื่องราวส่วนตัว หรือใส่ตัวตนลงไปในงานเขียนของตัวเองบ้างไหม

นัท : เขียนเสริม ๆ ไว้ในเรื่องบ้าง แต่เราใส่ตัวตนลงไปน้อย

ช่อน : บางเรื่องใส่ประสบการณ์ แต่ไม่ได้ใส่ตัวตน เป็นสไตล์ของเราว่าไม่ค่อยเอาตัวเองลงไปในเรื่อง

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา สองนักค้นผู้คัดเบื้องหลังปรากฏการณ์ในความทรงจำมาเล่าให้คนคิดถึง

ฟังมาเรื่อย ๆ ก็คิดถึงเหมือนกัน คอลัมน์นี้ทำให้ความทรงจำของทั้งผู้เขียนและผู้อ่านย้อนกลับมา แล้วตัวพวกคุณเองเจอเหตุการณ์ประทับใจอะไรตอนไปย้อนอดีตกับเจ้าของเรื่องบ้างไหม

นัท : อย่างเรื่อง แฟนฉัน โอกาสน้อยมากเลยที่ผู้กำกับ 6 คนจะมารวมตัวกันได้ เขาเองก็ไม่ได้รวมกันครบมาหลายปีแล้ว

น่าสนุกเลยนะคะ คุยกับ 6 คน

ช่อน : หลัก ๆ เขาคุยกันเอง เป็นโต๊ะสนทนา (หัวเราะ) เราไกด์ ๆ ให้

นัท : ความประทับใจคือ ช่อนเขียนนานมาก

ช่อน : เป็นเรื่องที่เขียนยากนะ แต่ถ้าถามว่าเขียนนานไหม The Shock ของ พี่ป๋อง เขียนนานสุด

นัท : ที่ประทับใจอีกก็คงเป็นเรื่องที่พวกเขาเองก็ดูสนุกกับการเล่าสิ่งเหล่านี้ แล้วก็จะเริ่มเถียงกัน เพราะจำได้ไม่ตรงกัน (หัวเราะ) เป็นการสัมภาษณ์ที่วุ่นวายแต่สนุกดี สักพักต้องลุกไปถ่ายรูปก่อน เพราะสมาชิกบางคนมีธุระต้องกลับก่อน แล้วคนที่เหลือก็กลับมาคุยต่อ

แฟนฉัน เป็นอีกบทความที่ภาพประกอบมู้ดฟิล์มให้ฟีลย้อนยุคดีมากเลย

นัท : ในคอลัมน์เรา ภาพประกอบส่วนใหญ่เป็นภาพเก่า ถ้าเป็นไปได้นะ ไม่ค่อยเป็น Portrait เราพยายามหาภาพเหตุการณ์ยุคนั้น ๆ ขอจากเคสบ้าง หรือเอาจากแมกาซีนเก่า บางทีแคปมาจากวิดีโอในยุคนั้น เพราะอยากให้คนอ่านที่มีประสบการณ์ร่วมกับเราได้เห็นภาพตอนนั้น

แล้วจากที่บอกว่าทั้ง 6 คนให้ข้อมูลไม่ตรงกัน การที่เจ้าตัวจำคลาดเคลื่อนถือเป็นปัญหาไหม

ช่อน : เรารีเสิร์ชแล้วรีเสิร์ชอีก จนกว่าข้อมูลจะแน่นอน บางเรื่องต้องยอมรับว่าเวลาผ่านไปนานจริง ๆ แล้วเขาก็ผ่านชีวิตกันมาเยอะ จะให้จำได้เป๊ะ ๆ คงไม่ไหว บางบทความเรารีเสิร์ชแล้วมาคุย แล้วกลับไปรีเสิร์ชย้อนหลังก็มี

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา สองนักค้นผู้คัดเบื้องหลังปรากฏการณ์ในความทรงจำมาเล่าให้คนคิดถึง

ยอดมนุษย์..คนไม่ธรรมดา

คุณนิยามคำว่า ‘ปรากฏการณ์’ ว่ายังไง ต้องใหญ่ขนาดไหนถึงจะเลือกบุคคลนั้น

นัท : ถ้าในการเลือกคน เราเลือกคนที่สนใจ เพราะพอไปพูดคุยจะเหมือนได้เติมเต็มจิ๊กซอว์อันหนึ่งในชีวิต เราจะได้รู้สักทีว่าเบื้องหลังผลงานที่เราชอบมีกระบวนการยังไง คนสร้างเป็นใคร แล้วทำไมเขาถึงคิดแบบนี้ ส่วนนิยามคำว่าปรากฏการณ์ ตามที่เราคิด คือเขาเป็นคนที่เริ่มต้นอะไรบางอย่างในสังคมไทยยุคนั้น

ช่อน : เรียกว่าเป็นสัญลักษณ์บางอย่างของยุคสมัยที่ทำให้กลายเป็นปรากฏการณ์ และก่อให้เกิดสิ่งตามมาอีกมากมาย 

สอดคล้องกับชื่อคอลัมน์ด้วย

นัท : ใช่ เราเชื่อว่าคนธรรมดาทุกคนมีความเป็นยอดมนุษย์ในตัว พวกเขาคือตัวอย่าง

#สนทนา #ยอดมนุษย์คนธรรมดา #เบื้องหลัง #ประวัติศาสตร์ #ปรากฏการณ์ #ความคิดถึง #ชีวิต #บาดแผล #การเรียนรู้ #วงการ
#สนทนา #ยอดมนุษย์คนธรรมดา #เบื้องหลัง #ประวัติศาสตร์ #ปรากฏการณ์ #ความคิดถึง #ชีวิต #บาดแผล #การเรียนรู้ #วงการ

เห็นว่าบทความถัดไปของ ยอดมนุษย์..คนธรรมดา คืออาจารย์อุ๊ อาจารย์วิชาเคมีที่ใคร ๆ ก็ต้องรู้จัก

ช่อน : ใช่ครับ ปรากฏการณ์ไม่ใช่แค่วงการบันเทิง แต่เราสนใจทุกวงการ อาจารย์อุ๊ เป็นครูกวดวิชาที่มีบทบาทในสังคมไทยมาก ๆ กลายเป็นสัญลักษณ์ของการกวดวิชาเลย

นัท : จากสยาม เขาย้ายไปวรรณสรณ์ เด็กนักเรียนต้องรู้จักตึกนี้ บางคนบอกว่าหลังเขาย้ายไป สยามเงียบลง มีกวดวิชาอื่น ๆ ตามอาจารย์อุ๊ไปด้วย เราว่านี่แหละคือคนที่สร้างปรากฏการณ์

หรือ แฟนฉัน ก็มาจากผู้กำกับที่ยังไม่เป็นที่รู้จัก 6 คน หนังอะไรใช้ผู้กำกับเยอะขนาดนี้ แล้วดันมากำกับหนังพล็อตที่ขึ้นชื่อว่ายังไงก็เจ๊ง เพราะเป็นเรื่องของเด็ก แต่สุดท้ายนี่คือหนังที่คนรักมาก ๆ

จากที่เผยแพร่มาแล้ว 40 กว่าบทความ คุณได้เรียนรู้อะไรจากการสัมภาษณ์บุคคลที่สร้างปรากฏการณ์ให้สังคมไทยบ้าง

นัท : ช่อน…

ช่อน : เอาก่อนเลย

นัท : (หัวเราะ) ก็… (คิดเล็กน้อย) มันธรรมดามากที่การสร้างงานจนกลายเป็นปรากฏการณ์จะต้องเกิดจากความอิน ความตั้งใจ และความรัก เราเห็นว่าทุกเส้นทางของทุกคนล้วนมีอุปสรรค มีคนที่ไม่เห็นด้วย แต่พวกเขาเหล่านี้เชื่อมั่นในสิ่งที่ทำ

ช่อน : เราคุยกับคนธรรมดาที่ได้ทบทวนชีวิตตัวเองจนตกตะกอนและบอกต่อได้ เบื้องหลังความสำเร็จอาศัยปัจจัยเยอะมาก ทุกคนล้มเหลวแต่ยังพยายาม ลองผิดลองถูกจนมันได้

พวกเขามีบาดแผลและการเรียนรู้ เราไม่ได้อยากอวยพวกเขา แต่นอกเหนือจากความคิดถึง เราอยากให้คนอ่านเอาประสบการณ์ที่เขาเล่าไปใช้ประโยชน์ได้จริง

นัท : อีกอย่างคงไม่ใช่สิ่งที่ได้เรียนรู้ แต่เราค้นพบว่า จากสิ่งที่เราอินและรักอยู่แล้ว พอได้คุยกับเจ้าของเรื่อง ไม่มีครั้งไหนเลยที่เรารู้สึกเฟล ยิ่งคุยกลับยิ่งรัก รักแล้วก็รักมากกว่าเดิม

#สนทนา #ยอดมนุษย์คนธรรมดา #เบื้องหลัง #ประวัติศาสตร์ #ปรากฏการณ์ #ความคิดถึง #ชีวิต #บาดแผล #การเรียนรู้ #วงการ

Writer

วโรดม เตชศรีสุธี

วโรดม เตชศรีสุธี

นักจิบชามะนาวจากเมืองสรอง งานประจำเป็นนักฟัง งานพาร์ทไทม์เป็นนักเขียน งานอดิเรกเป็นนักเล่า

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์