ย้อนกลับไปเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2541 หลายคนอาจเคยสะดุดตากับความน่ารักและความสดใสของเด็กสาวคนหนึ่งในชุดซานตาคลอส บนหน้าปกนิตยสาร Katch ฉบับที่ 2

บทเพลง เซรามิก และการกลับมาของนักร้องเสียงใส นาเดีย สุทธิกุลพานิช

ในเล่มให้ข้อมูลสั้น ๆ ว่าเธอคือ นาเดีย-ฤทัย สุทธิกุลพานิช อายุ 18 ปี เป็นน้องใหม่ของคณะเศรษฐศาสตร์ ภาคภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ช่วงนี้กำลังวุ่นอยู่กับการฝึกซ้อมเป็นเชียร์ลีดเดอร์ ในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ และมีโครงการจะร้องเพลงในอีกไม่นานนี้..

บทเพลง เซรามิก และการกลับมาของนักร้องเสียงใส นาเดีย สุทธิกุลพานิช

เวลาผ่านไป 1 ปีเต็ม โครงการดังกล่าวก็กลายเป็นจริง เมื่อเสียงของนาเดียมาปรากฏในเพลง สงสัย ผลงานเปิดตัวของ mr.z RETURN to RETRO อัลบั้มชุดที่ 5 ของ สมเกียรติ อริยะชัยพาณิชย์ 

จากนั้นอีก 11 เดือนถัดมา เธอก็กลายเป็นศิลปินเดี่ยวของ Bakery Music ที่มีเพลงฮิตโดนใจอย่าง คนไม่พิเศษ,  Happy Anniversary, โลกใบใหญ่, รัก…ฉันรักเธอ, หวานฉ่ำ, โล่งอก, บีบ, Galaxy Of Love ฯลฯ

แม้ไม่ได้มีผลงานมากนัก เมื่อเทียบกับสมาชิกอื่นในค่ายขนมปังดนตรี แต่ด้วยน้ำเสียงที่เปี่ยมด้วยเสน่ห์ ฟังแล้วรู้สึกเหมือนโลกสดใส ก็ทำให้ใครหลายคนหลงใหลและจดจำเพลงของเธอได้ ต่อให้เวลาจะผ่านไปนานสักเพียงใดก็ตาม

ในวันที่นาเดียหวนกลับมาร้องเพลงอีกครั้งกับ ‘บ้านของหัวใจ’ เพลงประกอบภาพยนตร์ ‘FAST & FEEL LOVE – เร็วโหด..เหมือนโกรธเธอ’ ยอดมนุษย์..คนธรรมดา จึงถือโอกาสดีชักชวนเธอมาร่วมย้อนความทรงจำอันงดงาม ตลอดจนความสุขในชีวิตหลังวางไมค์ไปกว่า 15 ปี

01
สงสัย

ก้าวแรกบนถนนสายดนตรีของนาเดียจะเรียกว่า ความบังเอิญก็คงไม่ผิด เพราะเธอไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่า ตัวเองร้องเพลงได้หรือเปล่า รู้แต่เพียงว่าเป็นคนรักเสียงเพลงมาตลอดก็เท่านั้น

สมัยเด็ก ๆ นาเดียชอบฟังเพลงดิสนีย์มาก ส่วนคุณพ่อคุณแม่ชอบฟังเพลงเก่ายุค 50 – 60 โดยเฉพาะ Elvis Presley หรือ The Carpenters พอขึ้นรถเมื่อไหร่ก็ต้องเปิดฟังอยู่เสมอ ดนตรีจึงค่อย ๆ ซึมซับเข้าไปในจิตใจโดยไม่รู้ตัว

“ฟังมาแล้วทุกฟอร์แมตเลย เทป แผ่นเสียง มินิดิสก์ ซีดี เอ็มพีทรี แล้วเวลาให้ของขวัญกัน ตามสไตล์ ทุกคนก็จะอัดเพลงให้กัน เพราะรู้สึกว่ามีคุณค่ามากกว่าให้ของเป็นชิ้น ๆ เวลาเรากลับมาฟัง ทำให้นึกภาพช่วงเวลาต่าง ๆ ได้ดีขึ้น ก็คล้าย ๆ กับกลิ่นที่ทำให้เราจดจำโมเมนต์บางอย่างได้ ก็เลยรู้สึกชอบ และอยู่กับมันนานแล้ว”

ต่อมาเมื่อขึ้นชั้นมัธยมปลาย เธอก็ได้เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนอยู่ที่สหรัฐอเมริกา 1 ปี และตั้งใจจะเรียนต่อที่นั่นเลย แต่โดนคุณแม่เบรกไว้และให้กลับมาเมืองไทย เพราะไม่อยากให้ลูกสาวอยู่ที่นั่นเพียงลำพัง หากจะไปเรียนเมืองนอกอนุญาตให้ไปเฉพาะอังกฤษ เนื่องจากพี่ชายเรียนอยู่ที่นั่น

แต่ถึงอย่างนั้น ชีวิตที่แดนมะกันก็เปิดโลกการฟังให้เธอไม่น้อยเลย โดยเฉพาะบรรดาเพลงแนว Lounge Music ซึ่งยุคนั้นโดดเด่นหลายเพลง อย่างเพลงหนึ่งที่โดนใจมากเป็นพิเศษ คือ Zoot Suit Riot ของ Cherry Poppin’ Daddies

“หากเราไปตามคนพวกนี้ เขาอาจไม่ได้ทำเยอะ จะเรียกว่า One-hit wonder ก็ได้มั้ง แต่ว่าเพลงที่ออกมาในตอนนั้นมันมีเอกลักษณ์ เพราะสมัยนั้นเพลงที่นิยมจะเป็นอีกแนวหนึ่งหมด ส่วนเพลงพวกนี้จะย้อนอดีตหน่อย ซึ่งพอเขามาทำออกในช่วงที่ยุคของมัน ก็เลยโดดเด่นขึ้นมาในความรู้สึกของเรา”

เมื่อกลับมาอยู่ที่เมืองไทย นาเดียก็มีโอกาสได้รู้จักกับ สมเกียรติ อริยะชัยพาณิชย์ หนึ่งในผู้บริหารของ Bakery Music ผ่านการแนะนำของญาติผู้พี่อีกที ซึ่งพอสมเกียรติทราบว่า เธอเพิ่งเดินทางมาจากสหรัฐอเมริกา จึงชวนคุยถึงเรื่องราวต่าง ๆ กระทั่งรู้ว่า สาวน้อยคนนี้ก็สนใจดนตรีไม่แพ้กัน

บทเพลง เซรามิก และการกลับมาของนักร้องเสียงใส นาเดีย สุทธิกุลพานิช

“พี่สาลี่ (สมเกียรติ) ถามว่า ตอนนี้อเมริกาเขาฟังเพลงอะไรกันบ้าง ซึ่งคิดว่าเขาน่าจะถามแบบนี้กับหลายคนมาก ตอนนี้ฟังอะไรกันบ้าง ชอบเพลงแบบไหน เพราะเขาเป็นคนที่เก็บรายละเอียดเก่งมาก แล้วหาแรงบันดาลใจอยู่ตลอด ซึ่งเราชอบมาก เพราะเวลาคุยกับเขา จะได้ความรู้เพิ่มขึ้นด้วย แล้วจริง ๆ เขาเป็นเจ้าพ่อเพลง แต่มาถามเรา ก็เลยยิ่งรู้สึกประทับใจว่า คนคนนี้เปิดกว้างมากเลย รู้สึกภูมิใจนิดหนึ่ง แล้วหลังจากนั้นก็มีการแชร์เพลงกันเรื่อยมา”

หากแต่จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นเมื่อ สมเกียรติกำลังมีแผนจะทำอัลบั้มใหม่ หนึ่งในนั้นคือการจับมือกับวง Pizzicato Five จากญี่ปุ่น เปลี่ยนเพลง Sweet Soul Revue ให้เป็นภาษาไทย เขาเลยนึกถึงนาเดียขึ้นมา เพราะอยากได้คนที่สนใจเพลงแบบเดียวกันมาร่วมงานด้วย

แม้ไม่เคยทำงานสายนี้มาก่อน แต่นาเดียก็ดีใจที่ผู้ใหญ่ให้โอกาส จึงตอบตกลงทันที

แต่ด้วยความที่ไม่มีทักษะการร้องเพลงใด ๆ เลย สมเกียรติกับ บอย-ชีวิน โกสิยพงษ์ ผู้บริหารอีกคนของค่ายจึงส่งนาเดียไปเรียนกับ โจ้-อัมรินทร์ เหลืองบริบูรณ์ นักร้องนำของวง Pause ซึ่งเวลานั้นเป็นเทรนเนอร์ให้ศิลปินรุ่นใหม่ ๆ ของค่ายที่เตรียมจะมีผลงานในอนาคต

“วิธีสอนของพี่โจ้จะสบาย ๆ เขาจะไม่สอนว่า ต้องออกเสียงอย่างนี้ ต้องร้องแบบนั้นนะ แต่จะสอนให้เราหายใจ สอนว่าทำอย่างไรถึงจะไม่ทำลายกล่องเสียงตัวเอง เป็นเทคนิคของการรักษาเสียงมากกว่าให้ฝึกร้องมาก ๆ เพื่อเวลาร้องเพลงในห้องอัด ลมหายใจจะได้ไม่ขาดช่วง ซึ่งนี่เป็นบทเรียนที่จำมาถึงทุกวันนี้ แล้วก็ดีใจมากที่มีโอกาสได้เรียนกับพี่โจ้”

เวลาผ่านไปนานหลายเดือน ในที่สุดนาเดียก็พร้อมแล้วกับผลงานเพลงแรกในชีวิต

‘สงสัย’ เริ่มต้นบันทึกเสียงในช่วง พ.ศ. 2542 เธอยังจำได้ดีว่า เพลงนี้ไปอัดเสียงกันที่บ้านของบอยในซอยทองหล่อ ซึ่งพอไปถึงบอยก็บอกว่า “พี่ยังเขียนไม่เสร็จนะ แต่อัดไปก่อน แล้วพอร้องเสร็จแล้ว เดี๋ยวพี่มาเขียนต่อให้”

ตอนนั้นนาเดียอดประหลาดใจไม่ได้ว่า แล้วแบบนี้เนื้อเพลงจะเสร็จทันเหรอ แต่ปรากฏว่า เธอประเมินนักแต่งเพลงมืออาชีพอย่างบอยต่ำเกินไป เช่นเดียวกับประเมินฝีมือนักร้องมือใหม่อย่างตัวเองสูงเกินไป

บทเพลง เซรามิก และการกลับมาของนักร้องเสียงใส นาเดีย สุทธิกุลพานิช

“แม้เขาจะบอกว่าให้ร้องสไตล์ตัวเองเลยนะ แต่สงสัยถือเป็นเพลงที่ยากสุดเท่าที่จำได้ แล้วก็อัดนานมาก อัดประมาณ 3 – 4 ทุ่ม แล้วประมาณตี 1 ถึงเสร็จเท่าที่มีแล้ว จากนั้นเขาก็ไปปลุกพี่บอยขึ้นมาเขียนต่อ คือเพลงนี้มันค่อนข้างยาว พี่บอยก็มาเขียน Verse 2 ‘Vinyl ดี Cotton ดี สีที่สวยกับฉันเป็นแบบไหน’ 

“จำได้ว่า ตอนแรกคุณพ่อไปนั่งรอด้วย สักพักก็บอกว่า ‘ปะป๊ากลับก่อนแล้วกันนะ แล้วเดี๋ยวมารับ’ เพราะบ้านอยู่ใกล้กัน ซึ่งตอนที่ปะป๊ามารับ เกือบตี 5 แล้วมั้ง เปิดบ้านพี่บอยออกมา เห็นพระเดินบิณฑบาตแล้ว”

เพลง สงสัย เผยแพร่สู่สาธารณะในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนมกราคม พ.ศ. 2543 เปิดตัวอัลบั้ม mr.z RETURN to RETRO ผลงานรับสหัสวรรษใหม่ของค่าย Bakery Music

แม้ไม่ได้มาร่วมเปิดตัวอัลบั้มด้วยกัน เนื่องจากเวลานั้นเธอไม่ได้อยู่เมืองไทยแล้ว แต่เพลงสงสัยก็ได้รับการตอบรับที่ดีเยี่ยม โดยก่อนจะวางแผนอัลบั้มเต็มราวหนึ่งสัปดาห์ สมเกียรติได้ตัดเพลง ‘สงสัย’ ออกมาเป็นซีดีแผ่นพิเศษ จำหน่าย 500 แผ่น ปรากฏว่า เพียงสัปดาห์เดียวก็ขายหมดเกลี้ยง และนั่นเองที่ทำให้สาวน้อยนามว่า นาเดีย กลายเป็นที่รู้จักในฐานะสมาชิกคนใหม่ของค่ายขนมปังดนตรี

02
โลกใบใหญ่

หลังการบันทึกเสียงเพลงสงสัยผ่านพ้นไป บอยกับสมเกียรติพอใจกับผลงานที่ออกมามาก จึงทาบทามลีดธรรมศาสตร์คนนี้ให้มาทำงานเพลงเต็มตัว

นาเดียยอมรับตามตรงว่า ไม่ทราบเลยว่า พวกพี่ ๆ คิดอะไรกันอยู่ แต่เมื่อมีโอกาสเข้ามาก็ไม่ลังเลที่จะตอบรับ

“อาจเป็นเพราะตอนนั้น Bakery มีนักร้องผู้หญิงน้อยด้วยมั้ง จำได้ว่าเข้าหลัง พี่โหน่ง พิมพ์ลักษณ์ แป๊บหนึ่ง เข้าใจว่า ตอนนั้นเขาคงอยากลองค้นหาสไตล์นักร้องใหม่ด้วย คือพี่สาลี่ก็ไม่เคยพูดตรง ๆ นะ เขาเคยพูดแค่ว่าเสียงเราค่อนข้างยูนีก ไม่เหมือนใคร ดูเหมือนไม่เคยฝึกมาก่อน ซึ่งก็ไม่เคยฝึกจริง ๆ เพราะฉะนั้นเมื่อเขามั่นใจในตัวเรา แล้วทำไมเราถึงจะไม่ลองให้โอกาสตัวเองดูบ้าง

“แล้วเหมือนว่าช่วงนั้นเขาก็เริ่มทำ DOJO CITY กันแล้ว เป็นช่วงเชื่อมต่อกันพอดี เราก็เลยได้ไปถ่ายแบบให้ Katch ด้วย หลายคนก็เลยคิดว่าเราอยู่ DOJO แต่เข้าใจว่า Image กับ Position ของเราอาจจะไม่ลงตัวกับ DOJO แบบเป๊ะ ๆ เราอาจจะ Funky ไม่พอ ก็เลยได้มาอยู่กับ Bakery Music”

เพื่อเสริมทักษะการร้องเพลงให้แน่นขึ้น บอยจึงส่งนาเดียไปเรียนร้องเพลงเพิ่มเติมกับ ครูโรจน์-รุ่งโรจน์ ดุลลาพันธ์ ครูสอนร้องเพลงแถวหน้าของเมืองไทย ซึ่งสิ่งที่ครูโรจน์สอนก็เป็นเสมือนการต่อยอดกับสิ่งที่โจ้เคยแนะนำ โดยเฉพาะเทคนิคการร้องสดอย่างไรให้มีพลัง

“สิ่งหนึ่งที่ครูโรจน์บอกคือ ทั้งหมดมันขึ้นกับการฝึกฝน Practice makes perfect ต้องฝึกร้องบ่อย ออกกำลังกายสม่ำเสมอ  นี่เป็นเหตุผลว่า ทำไม พี่ป๊อด (ธนชัย อุชชิน) ถึงฝึกโยคะ ทำไมถึงออกกำลังกาย เพราะมันเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน เพราะการฝึกวิธีหายใจขั้นเทพ ทำให้เขารันโชว์ได้นานหลายชั่วโมง”

แต่ขณะที่ทุกอย่างกำลังเดินหน้า ก็เกิดจุดพลิกสำคัญ เพราะก่อนหน้านั้น นาเดียตั้งใจอยากจะไปเรียนต่อเมืองนอก จึงไปสมัครเรียนด้าน Marketing and Advertising ที่ London College of Arts ประเทศอังกฤษ ซึ่งหลังจากเซ็นสัญญาได้ไม่กี่สัปดาห์ ทางสถาบันก็แจ้งข่าวกลับมาว่า ตอบรับใบสมัครแล้ว ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำอัลบั้มโดยตรง

บทเพลง เซรามิก และการกลับมาของนักร้องเสียงใส นาเดีย สุทธิกุลพานิช

“ตอนนั้นเกรงใจมากเลย แต่ก็เข้าไปบอกตรง ๆ ว่า พี่คะ ได้โรงเรียนที่อังกฤษแล้ว ถ้าจะไม่ทำงานต่อก็เข้าใจนะ แต่ปรากฏว่าพี่ ๆ เขาดีมากเลย เขาบอกว่าไม่เป็นไร ไปเรียนได้เลย โดยเฉพาะพี่สาลี่บอกว่า อังกฤษนี่ดีมาก ไปแล้วก็เก็บพวก Trend พวก Culture ต่างๆ กลับมาเยอะ ๆ ด้วย มันช่วยเราทำเพลงต่อได้นะ ซึ่งตรงนี้ประทับใจมาก ตอนนั้นก็เลยได้ไปเรียนหนังสือ แล้วก็ยังได้ออกอัลบั้มด้วย”

ด้วยเหตุนี้ การทำอัลบั้มทั้งสองชุดของนาเดีย คือ Welcome – Sweet Morning และ Resources To Keep My Life Vital จึงมีกรอบระยะเวลาการทำงานที่ชัดเจน คือช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน นาเดียจะกลับมาบันทึกเสียง และช่วงปลายปี เธอจะกลับมาโปรโมต ถ่ายทำมิวสิกวิดีโอ เล่นคอนเสิร์ต เดินสายเยี่ยมแผงเทป รวมถึงให้สัมภาษณ์กับสื่อต่าง ๆ

แม้จะเป็นการทำอัลบั้มแบบทางไกล แต่สำหรับนาเดียแล้ว นี่ไม่ใช่อุปสรรคเลย

“ถ้าพูดตามตรง ความยากน่าจะอยู่ที่ทีมงานมากกว่า เพราะเรากลับมาเพื่ออัดเสียงจริง ๆ โดยเพลงส่วนใหญ่จะได้ไม่เกินอาทิตย์หนึ่ง คือถ้าได้เกิน 5 วันนี่ถือว่ามากแล้ว แล้วก่อนกลับก็จะมีการนั่งประชุมกัน แจกงาน เพลงนี้ให้ พี่บอยตรัย (ตรัย ภูมิรัตน) เขียนนะ เดี๋ยวเพลงนี้พี่บอยเขียนให้เอง”

แต่ถึงอย่างนั้น ก่อนเดินทาง บอยกับสมเกียรติก็มอบหมายการบ้านชิ้นหนึ่งให้นาเดียทำระหว่างอยู่ที่อังกฤษ คือเขียนไดอารี่บันทึกเรื่องราว ประสบการณ์ ความรู้สึกต่าง ๆ ในชีวิตถ่ายทอดเป็นตัวหนังสือ โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นเรื่องความรักเท่านั้น แล้วพอกลับมาเมืองไทยอีกทีก็ค่อยมาคัดเลือกส่งให้พี่ ๆ อ่าน เพื่อเป็นวัตถุดิบในการเขียนเพลง จึงอาจจะกล่าวได้ว่า บทเพลงทั้ง 14 เพลงจาก 2 อัลบั้ม ล้วนสะท้อนตัวตนของเธออย่างชัดเจน

อย่างในชุดแรกนั้น เพลง โลกใบใหญ่ เพลงเปิดตัวของนาเดีย บอยตรัยเคยให้สัมภาษณ์ว่า บอยได้วางโจทย์ง่าย  ๆ ว่า นาเดียเป็นเด็กผู้หญิงที่กำลังเรียนรู้ชีวิต กำลังเปิดประตูบานใหม่ไปสู่โลกใบใหญ่ เขาเลยเขียนเพลงนี้ออกมา

เช่นเดียวกับ Happy Anniversary บอยได้ถามนาเดียว่า รู้จักคนที่พูดภาษาฝรั่งเศสบ้างไหม เพราะเขาอยากจะเขียนเพลงที่มีภาษาฝรั่งเศสสักเพลง เนื่องจากเห็นเธอสนใจเพลงแนว French Lounge มากเป็นพิเศษ

บทเพลง เซรามิก และการกลับมาของนักร้องเสียงใส นาเดีย สุทธิกุลพานิช

“ตอนนั้นก็ถามพี่บอยว่า French Lounge ต้องร้องฝรั่งเศสด้วยเหรอ แกก็บอกว่า พี่ว่ามันต้องมีสักเพลง เราก็เลยบอกโอเคค่ะ เผอิญมีพี่สาวเป็นญาติกันชื่อพี่เอ๋ เพิ่งกลับมาจากเบลเยียมพอดี พูดฝรั่งเศสได้ ก็เลยชวนมา ซึ่งโจทย์ที่พี่บอยให้คือ เขียนคำมาให้เยอะ ๆ เลย เกี่ยวกับอาหาร เสื้อผ้า หรืออะไรก็ได้ แต่ไม่ต้องเรียงมาเป็นประโยค เดียกับพี่เอ๋ก็ไปเลย นึกอะไรออกก็เขียน แล้วเอาไปให้พี่บอย ซึ่งมันมหัศจรรย์มากเพราะพี่บอยร้อยออกมาเป็นเพลงเลย”

ส่วนชุดที่ 2 นั้นเพลงก็จะโตขึ้นไปตามวัย เนื่องจากเป็นช่วงชีวิตที่ต้องพึ่งพาตัวเองมากขึ้น คิดเองตัดสินใจเอง ไม่ได้มีผู้ใหญ่มาคอยแนะนำตลอดเวลา ทำให้เพลงช่วงนี้อาจจะมีความหม่น และค่อนข้างจริงจังมากกว่าชุดแรก

อย่างเพลง ฉันจะโชคดีเหมือนแม่ฉันนี้บ้างไหม? เพลงแรกของอัลบั้ม นาเดียเคยให้สัมภาษณ์ช่วงที่วางแผงใหม่ ๆ ว่า ประทับใจเวลาเห็นพ่อแม่ที่สามารถประคับประคองชีวิตได้เรื่อยมา  แม้จะมีขลุกขลักบ้าง แต่ก็สู้มาด้วยกันแล้วรอมชอม มีความสุขด้วยกัน และต่อให้มีความทุกข์ก็ยังอยู่ด้วยกัน

หากแต่เพลงที่ประทับใจมาถึงทุกวันนี้คงต้องยกให้ Don’t Blame It On Chocolate ซึ่งหากถอดความเป็นภาษาไทยก็หมายถึง อย่าโทษว่าเป็นความผิดของช็อกโกแลต เนื่องจากช่วงนั้นเวลากลับมาเมืองไทย หลายคนก็มักทักทายตลอดว่า อ้วนขึ้นหรือเปล่านะ

“เกลียดมากเลย จนตอนหลังต้องชิงบอกว่า อ้าว อ้วนขึ้นเหมือนกันเลย ไม่งั้นฉันจะเป็นฝ่ายรับฝ่ายเดียว แล้วก็เขียนเล่าให้พี่บอยอ่านว่า ช่วงแรกเราก็พยายามไปพูดนู่นพูดนี่เหมือนแบบ Blame It On Chocolate เพราะกินไอติม กินช็อกโกแลต แต่ความจริงทำไมเราต้องโยนความผิดให้นั่นนี่ด้วย มันเกิดจากตัวเองนั่นแหละที่คอนโทรลไม่ได้ ยูรับความจริงไม่ได้ ก็ไปหาที่พึ่งทางใจอย่างอื่น จากนั้นพี่บอยก็เอาเรื่องนี้ไปต่อยอด”

นอกจากเพลงที่บอกเล่าความเป็นนาเดียแล้ว สไตล์การร้องก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่นาเดียโดดเด่น และเป็นเอกลักษณ์ จนแฟนเพลงหลายคนรู้สึกว่าเป็นเสน่ห์ที่อยากจะเลียนแบบ โดยเฉพาะการใช้เสียงลม ๆ ซึ่งเธอค้นเจอระหว่างบันทึกเสียง

“ปกติแล้วที่ Bakery จะมีเนื้อมาให้ แล้วคนที่ร้องไกด์ส่วนใหญ่คือ พี่บอย ซึ่งเป็นเสียงผู้ชาย เพราะฉะนั้นเราก็ต้องหาสไตล์ของตัวเอง ซึ่งพออัลบั้มแรกออกไป ทุกคนจะบอกว่า เรามีเสียงลม มีเสียงหลบ เนื่องจากเวลาเข้าห้องอัด เราจะหาสิ่งที่สบายที่สุด เป็นเสียงของเราจริง ๆ ที่ไม่ต้องไปดัดแปลง ซึ่งการร้องแบบนี้ส่วนหนึ่งอาจเพราะเป็นคนแรงน้อยด้วย แต่พอร้องไปร้องมา การใช้เสียงลมนี่เหนื่อยมากเลย เพราะต้องเอาออกจากพุงเยอะเหมือนกัน”

หากสิ่งที่กวนใจนาเดียมากที่สุดคือ การพูดไม่ชัด เพราะสมัยก่อนเวลานักร้องร้องเพลงไม่ชัดเจนก็จะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก แต่บุคคลที่ทำให้เธอรู้สึกผ่อนคลาย และสนุกกับการทำงานในห้องอัดเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน คืออดีตนักร้องนำวงแกรนด์เอ็กซ์ ไก่-สุธี แสงเสรีชน Voice Producer คู่ใจนั่นเอง

“พี่ไก่ใจดี ใจเย็นสุด ๆ เพราะพอเห็นคนชอบพูดว่า ทำไมคนนี้ร้องไม่ชัดแล้วรู้สึกกลัว เลยอยากทำให้มั่นใจว่าร้องชัดเจน ซึ่งพี่ไก่ก็ช่วยแนะนำให้ แต่จะมีบางคำที่พี่ไก่บอกว่าไม่เป็นไร พี่ว่าเพราะแล้ว ซึ่งมันช่วยสร้างความมั่นใจให้เราได้ว่า ไม่จำเป็นต้องเป๊ะทุกอย่าง อย่างเพลง รัก…ฉันรักเธอ เป็นเพลงที่เสียงสูงมาก จำได้ว่าพูดคำว่า ‘รัก’ ไป 40 – 50 รอบ แล้วมีคำหนึ่งคือ ‘แอบ’ นั้นร้องลม พี่ไก่บอกว่า ‘เฮ้ย…พี่ชอบ เหมาะกับคำนี้มาก’ เราก็เอาจุดนี้ไปประยุกต์ใช้กับเพลงอื่นได้ คือเราต้องคิดถึงอารมณ์ คิดถึงความหมายด้วยเวลาเปล่งเสียงออกมาด้วย

“มีอยู่เพลงหนึ่งตลกมากคือ Happy Anniversary อัดเร็วมาก 2 ชั่วโมงเสร็จ เพราะต้องรีบไปขึ้นเครื่อง แล้วพี่ไก่ซึ่งปกติจะเป็นคนที่ระวังกับการออกเสียงมาก แต่ด้วยความที่ครึ่งหนึ่งเป็นฝรั่งเศสไปแล้ว เลยไม่มีใครรู้ว่าชัดหรือเปล่า กระทั่งตอนหลังไปให้เพื่อนคนเบลเยียมฟัง เขาก็บอก What’s this ฉันฟังเธอไม่รู้เรื่องเลย” นาเดียเล่าอย่างอารมณ์ดี

หลังกระบวนการบันทึกเสียงเสร็จเรียบร้อย ก็มาถึงอีกโจทย์ที่ยากไม่แพ้กัน นั่นคือการโปรโมต ครั้งนั้นนาเดียต้องฝึกเต้น ต้องถ่ายทำมิวสิกวิดีโอ และเตรียมตัวแสดงสด

บทเพลง เซรามิก และการกลับมาของนักร้องเสียงใส นาเดีย สุทธิกุลพานิช

สำหรับการฝึกเต้นนั้นได้ คริส หอวัง มาช่วยออกแบบท่าทางให้ สำหรับใช้เต้นในมิวสิกวิดีโอเพลง โลกใบใหญ่ ซึ่งถ่ายทำกันที่บ้าน Blue Elephant ตรงสาทร โดยสไตล์การเต้นก็จะเป็นกึ่ง ๆ ละครบรอดเวย์นิด ๆ ซึ่งนาเดียยอมรับว่า ไม่ง่ายเลย แต่โชคดีที่ตอนเด็ก ๆ เคยเรียนเต้นมาบ้าง พอถ่ายจริงก็เลยไม่ได้กังวลมาก

ส่วนผู้กำกับก็เป็น คณิณญาน จันทรสมา ผู้กำกับโฆษณามือดีแห่งฟีโนมีนา และมือกลองวง Pru โดยตอนนั้นเขารับหน้าที่ดูแลการผลิต ทั้งเพลง โลกใบใหญ่ และ Happy Anniversary

“จำได้ว่าตอนแรกที่รู้ว่า พี่คณิณมาถ่ายให้ดีใจมาก คือไม่ทราบเลยว่าเขาทำอะไร จนตอนหลังเขาก็มาบอกว่า โลกใบใหญ่ คือ มิวสิกวิดีโอแรกที่เขากำกับก็เลยยิ่งประทับใจมาก พอมาถึง Happy Anniversary แกก็ขึ้นเครื่องตามมาเลย ไปคนเดียว พร้อมกับกล้องอีกหนึ่งตัว แล้วก็มีเพื่อน ๆ รุ่นพี่จากอังกฤษมาช่วย ทำสไตลิสต์ แต่งหน้า ทำผม แล้วก็มีพี่อีกคนมาช่วยขับรถพาไปตามที่ต่าง ๆ

“ตอนที่ถ่ายก็เขินมาก เราไปเดินที่ Portobello Road Market แล้วก็ร้องเพลงไปมา นึกภาพว่าต้องร้องให้ซิงก์ตามเพลง แล้วเขาต้องมาตัดแล้วเอาเพลงใส่ให้ปากเราตรงอีกที เพราะฉะนั้นก็ต้องมีคนถือวิทยุ ใส่ซีดีแล้วเดินตาม เพื่อให้เราร้องถูกว่า ถึงตรงนี้แล้ว ส่วนเราก็ต้องดึ๊งดึ่งดึงไป ขณะที่พี่คณิณก็ถ่ายไป 

“สิ่งที่ประทับใจมากคือ เราได้เข้าไปในโรงหนังอันหนึ่งซึ่งเก่ามาก แล้วภาพที่ออกมานั้นสวยมาก ถ้าไปดูในมิวสิกวิดีโอจะเป็นภาพแดง ๆ ไม่รู้ตอนนี้ยังอยู่ไหม แล้วพอเดินไปอีกก็จะเจอฝรั่งคนหนึ่งดูซิกซ์ตี้หน่อย คนที่เราไปเต้นอยู่กับเขา เขาเป็นคนขายของมือสอง คุยกันไปคุยกันมา เขาก็บอกว่ายูมาบ้านไอ บ้านไอซิกซ์ตี้ทั้งแฟลตเลย แล้วตอนเย็นเราก็ไปบ้านเขา จำได้ว่าเป็นการถ่ายทำที่สนุกมาก”

อย่างไรก็ตาม คงไม่มีเรื่องไหนสร้างความหนักใจให้นาเดียเท่ากับการที่เธอต้องออกไปแสดงหน้าผู้ชมอีกแล้ว อย่างครั้งแรก ตอนเปิดอัลบั้มที่ ดิ เอ็มโพเรียม เธอตื่นเต้นถึงขั้นปวดท้องเลย เพราะไม่คิดว่าจะมีผู้ชมมารอมากขนาดนี้ จนสมเกียรติต้องบอกให้ใจเย็น ไม่ต้องกลัว 

“ปกติเป็นคนจำเนื้อไม่ค่อยได้ พี่สาลี่ก็เลยบอกว่า เดียไม่ต้องห่วง เอาเนื้อขึ้นไปเลยก็ได้ เราก็ ‘อะไรนะคะพี่’ แกก็บอกว่าไม่เป็นไรหรอก เอาขึ้นไปอ่านเลย เราก็เลยบอกว่า ‘บ้าเหรอ ไม่ได้หรอก มันน่าเกลียด’ แล้วมีอยู่งานหนึ่ง จำได้เลยว่าร้อง คนไม่พิเศษ แล้วส่วนตัวเป็นคนชอบมองคนดู ต้องโฟกัสไปที่คนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่ง จะได้ตื่นเต้นน้อยลง แล้วน้องคนหนึ่งน่ารักมาก ร้องเพลงได้ แล้วปรากฏว่าเขาร้องผิด ซึ่งเราก็ร้องตามเขา ก็ผิดด้วย เราก็ตายแล้ว ทำยังไง แล้วเหมือนเขารู้ตัว ก็หัวเราะกันใหญ่ ตลกดี เราก็เลยเลิกมองเขาไปเลย เดี๋ยวไปไกลกว่าเดิม”

แม้อัลบั้มของนาเดียอาจจะไม่ได้โด่งดังแบบถล่มทลาย แต่แฟนเพลงต่างก็ยังจดจำเสียงร้องใส ๆ ของเธอได้ไม่เปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับหลายบทเพลง ทั้ง สงสัย, คนไม่พิเศษ, Happy Anniversary, Galaxy Of Love, โล่งอก หรือ โลกใบใหญ่ ก็ข้ามเวลาถูกร้องถูกเล่นมาต่อเนื่องกว่า 20 ปี 

“อาจเป็นเพราะสไตล์เพลงด้วยที่ค่อนข้างยูนีก จะว่า Pop มันก็ไม่ Pop จะ Logue ซะทีเดียวก็ไม่เชิง มันเป็นเหมือนการผสมของหลาย ๆ แนวเพลงอยู่ในนั้น อาจจะเสียดายนิดหนึ่งคือ อัลบั้มที่สองน่าจะไปไกลกว่านี้ หากมีเวลาโปรโมตมากขึ้นสักหน่อย เพราะส่วนตัวคิดว่าเพลงค่อนข้างดี มาฟังตอนนี้ก็ไม่ได้รู้สึกว่าเก่า เนื้อร้องทำนองก็ค่อนข้างโมเดิร์น แต่อันนี้ก็ต้องถามคนฟังนะว่าคิดว่าอย่างไรบ้าง” นาเดียกล่าวพร้อมเสียงหัวเราะ

แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าคือ ระยะเวลาเพียง 2 ปีเศษในฐานะศิลปิน ได้ส่งผลให้เด็กสาวคนหนึ่งเติบโตขึ้นกว่าเดิมเยอะมาก ทั้งความรับผิดชอบและการรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ที่เข้ามาในชีวิต

“การร้องเพลงถือเป็นงานแรกจริง ๆ จำได้ว่าตอนทำโปรโมต เราก็ต้องไปออกสื่อ ไปพบคนนั้นคนนี้ ช่วงแรก ๆ ก็ไม่เข้าใจหรอกว่า ทำไมต้องไปด้วย จนทำไปสักพักถึงเข้าใจว่า ต้องทำนะ อย่างสมัยก่อนจะไปเยี่ยมแผงเทป เช่น ร้านน้องท่าพระจันทร์ หรือดีเจสยาม ซึ่งทุกคนต้อนรับดีมาก แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งเราต้องไปร้านของคุณป้าคนหนึ่ง ซึ่งเขาก็ถามว่ามาทำไม จะทำอะไรก็รีบทำ ตอนนั้นก็ช็อก คืออะไร เขาไม่อยากให้เรามาเหรอ กระทั่งตอนหลังย้อนกลับไปถึงคิดได้ว่า ทุกคนก็มีงานของเขา เราก็ต้องมองว่าเขาคือลูกค้าของเรา คือคนที่ต้องไปสวัสดี ไปขอบคุณเหมือนกัน 

“อีกเรื่องคือความตรงต่อเวลา ซึ่งมันสำคัญมากในงานแบบนี้ พูดตามตรงตั้งแต่ทำงานจนเลิกร้องเพลง จนมาทำงานบริษัทต่าง ๆ การตรงต่อเวลาเป็นสิ่งที่คนพึงจะต้องมี เพราะการที่เราจัดการตัวเองได้ ก็ทำให้คนอื่น ส่วนอื่น มันไปต่อได้เช่นกัน เพราะเราเคยเห็นว่าตอนที่ร้องเพลง หากเราช้าหรือใครช้า มันก็ต้องรอกันทั้งกอง งานก็เคลื่อนไปไม่ได้ เพราะทุกอย่างเชื่อมโยงกันหมด และนี่คือบทเรียนของเราที่ยังสำคัญมาจนถึงทุกวันนี้”

ย้อนเส้นทางและการกลับมาอีกครั้งกับ ‘บ้านของหัวใจ’ เพลงประกอบหนัง FAST & FEEL LOVE

03
Galaxy Of Love

หลังจากอัลบั้มชุดที่ 2 วางแผงไปได้ปีเศษ ๆ นาเดียซึ่งเรียนจบปริญญาโท ด้าน Development Economics จาก University College London เช่นกัน และเริ่มหางานประจำทำ จนมาได้ที่ Sasin Management Consulting จึงค่อย ๆ ปล่อยมือจากงานเพลง เหลือแต่เพียงแค่ร่วมแจมในอัลบั้มของคนอื่น เช่น เพลง พอ ในอัลบั้ม Million Ways to Love Part 1 ของ บอย โกสิยพงษ์ เมื่อ พ.ศ. 2546 และเพลง Honeymoon ของ Flure เมื่อ พ.ศ. 2548

“เหมือนช่วงชีวิตของเรากับ Bakery มันตรงกัน พอเรียนจบปุ๊บ เขาก็มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างพอดี แล้วอีกอย่างคือเราไม่ได้ถูกเทรนมาให้เป็นนักร้องอาชีพขนาดนั้น พูดตรง ๆ เราไม่ได้เก่ง แต่เราได้โอกาส ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่พิเศษจริง ๆ แล้วเราก็มีความสนใจมุมอื่นด้วย พอจบออกมาก็อยากลองทำงาน ซึ่งตอนนั้นลูกค้าคือ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไปทำเรื่องนโยบายสาธารณะ ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายเรามาก”

จากนั้นเธอก็โยกย้ายหน้าที่การงานมาตามลำดับ เปลี่ยนรูปแบบจากงานที่ปรึกษามาเป็นฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ของ Lowe Asia-Pacific มาทำเรื่องพัฒนาแบรนด์ที่ Unilever Thailand แล้วก็ย้ายไปทำงานที่สิงคโปร์ ก่อนที่จะมาทำงานเรื่องนวัตกรรมเต็มตัวที่ Fuchsia Innovation Center ของเมืองไทยประกันชีวิต ตั้งแต่ พ.ศ. 2559

“ช่วงที่อยู่ Unilever นอกจากการทำ Finance Business Plan แล้ว เรายังต้องคิดค้นนวัตกรรมของผลิตภัณฑ์ ให้เป็นชิ้นงานที่จับต้องได้ด้วย ถ้าเป็นสมัยนี้เขาเรียกว่า Design Thinking เราทำแบบนี้แทบทุกวันอยู่ 7 ปี แล้วพอมีโอกาสได้ข้ามมาอยู่ในอีกอุตสาหกรรมหนึ่ง ก็เลยรู้สึกว่าท้าทายมาก เพราะต้องนำกระบวนการกับระเบียบวิธีการวิจัยต่าง ๆ มาปรับใช้ เพื่อหาสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการให้เจอ เช่น ต้องทำอย่างไรถึงจะออกผลิตภัณฑ์ได้เร็วมากขึ้น หรือถูกขึ้นโดยที่ไม่ลดคุณภาพของผลิตภัณฑ์ แล้วกระบวนการตรงนี้ยังนำปรับใช้กับทุกอย่าง ตั้งแต่ประกันจนถึงน้ำยาซักผ้า

ย้อนเส้นทางและการกลับมาอีกครั้งกับ ‘บ้านของหัวใจ’ เพลงประกอบหนัง FAST & FEEL LOVE

“ยิ่งตอนหลังที่ได้มาทำงานเรื่องการลงทุนกับสตาร์ทอัพหลาย ๆ เจ้า ก็ยิ่งเห็นเลยว่า คนที่มีทรัพยากรจำกัด มีเงินจำกัด มีคนจำกัด มีเวลาจำกัด มีทุกอย่างจำกัด มันต้องใช้ความสร้างสรรค์ของมนุษย์ เพื่อจะหาทางออก เป็นซอฟต์แวร์ แพลตฟอร์ม หรือไม่ว่าจะทำอะไรก็แล้วแต่ เราใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้ เพราะนี่เป็นทรัพยากรที่มีไม่จำกัด”

ทว่าท่ามกลางชีวิตที่เพลิดเพลินกับการทำงาน อีกกิจกรรมที่ทำต่อเนื่องมานับสิบปีแล้วก็คือ การปั้นเซรามิก

สำหรับเธอแล้ว หากเพลงสอนเรื่องระเบียบวินัยและการเคารพผู้อื่น การปั้นเซรามิกก็สอนให้รู้จักการปล่อยวาง

นาเดียอยากเรียนปั้นมานานแล้ว แต่ไม่รู้จะไปเรียนที่ไหนดี กระทั่งเมื่อ พ.ศ. 2550 ระหว่างขับรถผ่าน The Racquet Club ซอยสุขุมวิท 49 ก็เหลือบไปเห็นป้ายเล็ก ๆ ยื่นออกมาจากห้องแถวด้านหน้าเขียนว่า บัทม์ เซรามิก สตูดิโอ แล้วมีรูปถ้วยวางอยู่ด้วย นาเดียจึงเลี้ยวรถเข้าไปในอาคารทันที พร้อมกับตรงไปยังสตูดิโอแห่งนั้น แล้วก็ได้พบกับ บัทม์ แก้วงอก ศิลปินปั้นเซรามิกเบอร์ต้น ๆ ของเมืองไทย ก็เลยตัดสินใจสมัครเรียนทันที

“อาจารย์บัทม์เรียนจบจากญี่ปุ่นแล้วก็เพิ่งกลับมาสอน ก็เลยเป็นเหมือนลูกศิษย์รุ่นแรกของแก ข้อดีของการเรียนปั้นเซรามิก ทำให้เรานิ่งขึ้น ปล่อยวางมากขึ้น เพราะงานเซรามิกทุกอย่างอยู่ที่มือเราคนเดียว คุณสร้างมันขึ้นมา ถ้าจะพังทลายก็อยู่ที่ตัวคุณ แล้วส่วนตัวเป็นคนนั่งสมาธิไม่เป็น ทุกคนจะชวนไปปฏิบัติธรรม แต่เราทำไม่ได้ การทำเซรามิกก็เป็นเหมือนการทำสมาธิ เพราะต้องมีอะไรอยู่กับมือตลอดเวลา เราชอบความรู้สึกชั่วขณะนั้น แล้วสมมติตอนปั้นมีคนเรียกแล้วหันไปคุยนิดเดียว มันสามารถพังมาทั้งอันได้เลย”

ย้อนเส้นทางและการกลับมาอีกครั้งกับ ‘บ้านของหัวใจ’ เพลงประกอบหนัง FAST & FEEL LOVE
ย้อนเส้นทางและการกลับมาอีกครั้งกับ ‘บ้านของหัวใจ’ เพลงประกอบหนัง FAST & FEEL LOVE

นอกจากสมาธิและความอดทน อีกสิ่งที่นาเดียได้เรียนรู้จากงานเซรามิก คือความเข้าใจชีวิต เพราะงานเซรามิกนั้นเชื่อมโยงกับปรัชญาของญี่ปุ่นที่เรียกว่า Wabi Sabi คือความสวยงามที่แท้จริงนั้นมาจากความไม่สมบูรณ์แบบ ผลงานแต่ละชิ้นที่ออกมานั้นไม่เหมือนกันเลย บางชิ้นใหญ่ บางชิ้นเล็ก หากแต่เบื้องหลังต้องเกิดขึ้นจากการเรียนรู้ ความพิถีพิถัน และความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ตั้งแต่ส่วนผสม อุณหภูมิการเผา จนถึงการลงน้ำหนักมือ การปรับรูปร่างให้ได้ขนาดหรือเป็นเอกลักษณ์

“ทุกคนมักจะพูดว่า เซรามิกเป็นเรื่องศิลปะ แต่อาจารย์บัทม์บอกว่า มันเป็นวิทยาศาสตร์ เพราะศิลปะนั้นออกมาจากมือเรา ผสมดินยังไง ใช้ความร้อนแค่ไหน ถ้าเผาไฟต่ำก็จะออกมาแบบหนึ่ง ถ้าเผาไฟสูงก็ออกมาอีกแบบ หรือถ้าคุณเอาดินไฟสูงมาเผาต่ำมันก็จะระเบิด ถ้าเอาดินไฟต่ำมาเผาไฟสูงก็ระเบิดเหมือนกัน แล้วหลายคนมักถามว่า ทำไมงานปั้นถูกต้องออกมาบูดเบี้ยว แต่ความจริงภายใต้ความบูดเบี้ยวนั้นมีความสมดุลอยู่ เพราะเราจะไม่สามารถทำให้บูดเบี้ยวได้เลย ถ้าฐานรากไม่สมดุล ถ้าสมดุลแล้ว เราจะไปผลักหรือบีบตอนหลัง เพื่อให้เกิดความเป็น Wabi Sabi”

หลังจากร่ำเรียนมานานถึง 15 ปี ปีนี้ถือเป็นปีแรกที่อาจารย์อนุญาตให้นาเดียทำผลงานขาย ที่ผ่านมามีเพื่อนที่คุ้นเคยกันสั่งซื้อเข้ามาอยู่เสมอ บางคนถึงขั้นโทรศัพท์มาถามว่า ช่วยสอนลูกปั้นหน่อย ซึ่งหากมีโอกาสเธอก็อยากสอนเช่นกัน เพราะสำหรับนาเดียแล้ว คุณค่าที่ได้รับจากการปั้นเซรามิกยิ่งกว่าอื่นใด คือ โอกาสในการสำรวจจิตใจและอารมณ์ของตัวเอง ซึ่งจะนำมาสู่ความสุขที่ยั่งยืนต่อไป

ย้อนเส้นทางของ นาเดีย สุทธิกุลพานิช และการกลับมาอีกครั้งกับ ‘บ้านของหัวใจ’ เพลงประกอบหนัง FAST & FEEL LOVE

04
บ้านของหัวใจ

หากนับเวลาที่นาเดียบันทึกเสียงเพลงล่าสุดของตัวเอง ก็คงต้องย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ. 2550 เมื่อเธอไปช่วยรุ่นพี่คนหนึ่งร้องเพลง ของฝากจากทะเล ซึ่งเป็นผลงานเก่าของ ศุ บุญเลี้ยง ลงในอัลบั้มที่ชื่อว่า อาบแดด แล้วหลังจากนั้นก็ไม่เคยมีเพลงใหม่อีกเลย ส่วนใหญ่เท่าที่มีก็แค่ไปร่วมแสดงคอนเสิร์ตบ้างประปราย

นาเดียไม่เคยคิดเลยว่า จะมีโอกาสได้กลับมาร้องเพลงอีกครั้ง กระทั่งวันหนึ่งก็มีสายโทรศัพท์จาก อ้อย-นภัทร ปรีชากรกิตติ อดีตพนักงานของ Bakery Music ติดต่อเข้ามา

“ตอนนั้นนั่ง Work from Home อยู่บ้าน แล้วพี่อ้อยซึ่งเป็นพีอาร์ของ Bakery ตั้งแต่ยุคแรก ๆ โทรเข้ามาแล้วถามว่า นาเดียยังร้องเพลงอยู่ไหม เราก็ถามว่า ทำไมเหรอพี่ พี่อ้อยก็ตอบว่า พอดีมีค่ายหนังอยากให้นาเดียไปร้องเพลงซาวนด์แทร็กหนัง เราก็ ‘อะไรนะคะพี่’ แล้วเราก็ถามต่อว่าค่ายอะไร พี่อ้อยก็บอกว่า GDH ค่ายวัยรุ่น เราก็อะไรนะไปประมาณ 3 รอบ แล้วเขาก็บอกว่าเดี๋ยวจะส่งรายละเอียดมาให้ ตอนแรกก็คิดว่า เขาคงถามเราเล่น ๆ ไม่ได้จริงจัง พอสักพักเขาก็ส่งเทรลเลอร์หนังมา ก็เลยโทรกลับไปถามพี่อ้อยว่า เขาซีเรียสจริง ๆ เหรอ พี่อ้อยก็บอกว่า ซีเรียส ผู้กำกับชอบ”

ความจริงแล้ว เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ผู้กำกับภาพยนตร์ FAST & FEEL LOVE – เร็วโหด..เหมือนโกรธเธอ เป็นแฟนเพลงของนาเดียมายาวนาน แล้วก็ตั้งใจอยากจะพาเสียงของเธอกลับมาพบกับน้อง ๆ รุ่นใหม่ แต่พอไปวางเพลงประกอบหนังแล้วไม่ค่อยลงตัว ได้เพียงแค่ใช้เพลง ฉันจะโชคดีเหมือนแม่ฉันนี้บ้างไหม? วางเป็นแบ็กกราวนด์เบา ๆ เท่านั้น  กระทั่งฝ่ายโปรโมตบอกว่าอยากให้ทำเพลง ‘Feel ความรัก’ สักเพลงเพื่อใช้โปรโมต เต๋อจึงนึกถึงนาเดียขึ้นมาทันที

หลังทราบความตั้งใจของผู้กำกับภาพยนตร์ นาเดียรู้สึกขอบคุณบวกกับความเชื่อที่ว่า หากมีคนเชื่อมั่นในตัวเรา ก็ไม่ควรปฏิเสธโอกาสนั้น จึงตอบตกลงรับข้อเสนอร้องเพลง บ้านของหัวใจ ซึ่งเป็นเพลงเก่าของวง Superbaker

แต่แน่นอนการกลับมาครั้งนี้ บอกเลยว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนาเดียร้างราวงการมานานแล้ว แต่เธอก็พยายามเต็มที่ และก็นับเป็นความโชคดีอย่างหนึ่ง เนื่องจากโปรดิวเซอร์ที่มาช่วยดูแลการผลิตคือ แทน-ธารณ ลิปตพัลลภ จากวง Lipta ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของน้องชายนั่นเอง

“พอรู้ว่าเป็นแทนก็ดีใจมาก โล่งไป 36 ตลบ เพราะอย่างน้อยเราก็อาจจะ Voice Concerns ได้เยอะขึ้น เช่น ขอลองคีย์นั้นคีย์นี้นะ ซึ่งแทนก็จะบอกว่าคีย์นี้ดีกว่านะ หรือเดี๋ยวเราลอง 2 เวอร์ชันเลย เผื่อพี่จะได้รู้ว่า ตรงไหนสบายใจกว่า ซึ่งความจริงแล้วกระบวนการนี้ก็คงต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นโปรดิวเซอร์ที่รู้จักหรือเปล่า แต่ตอนนั้นระยะเวลามันกระชั้นมาก พอเป็นแทนเราก็ไม่ต้องเคอะเขิน พูดได้เต็มที่”

ครั้งนั้นนาเดียต้องกลับไปฝึกเรียนร้องเพลงอีกครั้งกับ ครูแนน-สาธิดา พรหมพิริยะ รื้อฟื้นเทคนิคการหายใจ เปิดเสียง ซึ่งช่วยได้เยอะมาก แถมครูแนนยังแนะนำเทคนิคการช่วยร้อง อย่างเช่น ต้องหาที่ที่สบาย เวลาร้องจะได้รู้สึกสบายใจมากขึ้น ไม่ต้องเค้นอะไรมาก จากนั้นเมื่อเข้าสู่กระบวนการห้องอัด ทุกอย่างก็ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว โดยมี ตุ๊กตา-จมาพร แสงทอง มาช่วยทำหน้าที่ควบคุมการร้อง 

“เป็นการทำงานที่สนุกมาก เพราะเราชอบกระบวนการห้องอัดอยู่แล้ว มันเป็นความรู้สึกที่บอกไม่ถูก คือเราได้เห็นกระบวนการต่าง ๆ ตั้งแต่มีแค่ดนตรีจนเสร็จสมบูรณ์ ยิ่งครั้งนี้มีแทนอยู่ด้วย แล้วก็ได้เจอตุ๊กเป็นครั้งแรก ตุ๊กก็ช่วยเต็มที่ ตรงนี้พี่ร้องเร็วไปนะ เข้าเร็วไปนิด ช้าลงอีกนิดหนึ่ง คล้าย ๆ การทำงานกับพี่ไก่ สุธี ซึ่งทุกคนน่ารักมาก”

สำหรับนาเดียแล้ว เธอไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นศิลปินเลย แค่ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก ได้รู้ว่ายังมีคนคิดถึงอยู่ก็ดีใจมากแล้ว เหมือนทุกครั้งที่ได้ยินว่า เพลงของเธอได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของใครหลายคน เช่น บางคนเปิดเพลงคลอระหว่างการเดินทาง หรือใช้เพลงอย่าง คนไม่พิเศษ, Happy Anniversary หรือ Honeymoon ในงานแต่งงานของตัวเอง 

“เราอาจจะไม่มีโอกาสทำบ่อย ๆ แต่เรามีความสุขที่ได้ทำ มันเหมือนเราได้กลับมาติดต่อกับคนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นคนที่เรารู้จักชื่นชอบ แต่อาจจะไม่ได้ใกล้ชิดกันบ่อย ๆ เนื่องจากสายงานหรือกิจกรรมที่ทำไม่ตรงกัน แต่พอได้มาร้องเพลง บ้านของหัวใจ ก็ได้เจอคนกลุ่มนี้อีกครั้ง ก็เหมือนเราได้ดึงเอาความรู้สึกบางอย่างกลับคืนมา เหมือนกับเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว”

และทั้งหมดนี้คือชีวิตและเรื่องราวของนาเดีย หญิงสาวผู้สร้างรอยยิ้มและความสุขด้วยเสียงเพลงและแรงบันดาลใจมาตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี

ขอบคุณภาพประกอบจากคุณนาเดีย สุทธิกุลพานิช และนิตยสาร Katch

Writer

Avatar

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา

เพจเล่าเรื่องที่เชื่อว่าคนธรรมดาทุกคนต่างมีความเป็นยอดมนุษย์อยู่ในตัว