บอน เป็นต้นไม้ที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันดี บอนกลุ่มหนึ่งเป็นพวก ‘บอนสี’ ต้นไม้ยอดฮิตที่เลี้ยงกันมาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ อีกส่วนเป็นบอนที่ขึ้นตามพื้นที่ชื้นแฉะ ซึ่งเราเอาก้านมาแกงกินกันเป็นแกงบอน
ในช่วงที่วงการไม้ประดับเฟื่องฟูเช่นนี้ คนหันมาสนใจไม้ใบในกลุ่มบอนกันมากขึ้น แต่เนื่องจากคนส่วนใหญ่เรียกต้นไม้หลายชนิดรวมๆ กันว่าบอนเราเลยขอเฉพาะเจาะจงลงไปว่า บอนที่เราจะแนะนำ เป็นพืชที่อยู่ใน 2 สกุล คือ Colocasia กับ Alocasia ซึ่งทั้งคู่อยู่ร่วมวงศ์ Araceae เช่นเดียวกับไม้ดังๆ อย่าง มอนสเตอรา ฟิโลเดนดรอน หน้าวัวใบ และพลูด่าง ส่วนกระแส ‘บอนสี’ ที่กำลังฮิตกันมากช่วงนี้ เรารวมมาให้แล้วในบทความบอนเรื่องต่อไป บอนไทย บอนจีน บอนฮอลแลนด์ ควรเล่นตัวไหนดี
พืชในสองสกุลนี้มีจุดเด่นคือ แต่ละชนิดมีขนาดและรูปทรงใบแตกต่างกัน มีลวดลายเฉพาะตัว แต่ในความเหมือนนั้น ก็มีความแตกต่างกันอยู่มาก
Colocasia เป็นพืชในสกุลเดียวกับเผือกและบอน มีหัวขนาดใหญ่ ไม่มีลำต้น แต่ก้านที่แทงขึ้นมาอาจสูงได้ท่วมหัว เวลาแตกหน่อจะแตกห่างจากต้นเดิมเล็กน้อย
Alocasia แปลว่า ไม่ใช่โคโลคาเซีย เป็นพืชที่มีลำต้นอยู่ใต้ดิน เป็นเหง้ายาว ลำต้นเหนือดินเป็นลักษณะการซ้อนกันของกาบใบ และแตกหน่อใกล้ต้นเดิม
ที่เราต้องแยกความแตกต่างให้ได้ ก็เพราะโคโลคาเซียชอบน้ำ ชอบความชื้นแฉะ ปลูกให้แช่น้ำได้ ชอบอยู่กลางแจ้งรับแดดทั้งวัน แต่อโลคาเซียอยู่ในที่ชื้นได้ แต่ไม่ชอบแฉะ ต้องปลูกในวัสดุปลูกที่ระบายน้ำดี ทนแดดได้ไม่มาก เหมาะจะเลี้ยงแสงรำไร
ทั้งคู่ขยายพันธุ์ได้ด้วยการแยกหน่อ ถ้าใครมีประสบการณ์หน่อย ก็ขุดเอาหัวโคโลคาเซียมาฝานเป็นแว่นเพื่อขยายพันธุ์ แต่ต้องดูแลดีๆ เพราะอาจเน่าได้
ปัญหาของการปลูกต้นไม้กลุ่มนี้คือ เลี้ยงแล้วใบร่วง ซึ่งพืชกลุ่มนี้ทิ้งใบเป็นเรื่องปกติ ถ้าเลี้ยงในห้องแล้วมีแสงไม่เพียงพอ ใบก็จะทิ้งตัวเร็วกว่าปกติ ต้นยุบลงเรื่อยๆ แต่ถ้าได้แสงแดดที่เหมาะสม ใบก็จะเรียงแน่นและอยู่ทน อีกสาเหตุที่ทำให้ใบยุบก็คือ อโลคาเซียแช่น้ำมากไป เกิดเชื้อราเน่าจากโคน หรือมีแมลงอยู่ในวัสดุปลูก กินจากข้างใต้ แต่ไปส่งผลที่ยอด ถ้าปัญหาของการยุบเกิดจากความชื้นไม่เพียงพอ แก้ได้ด้วยการหล่อน้ำในจานรอง เพื่อให้มีความชื้นส่งไปยังต้นตลอดเวลา
สุดท้าย เนื่องจากพืชกลุ่มนี้มีลำต้นอยู่ใต้ดิน ถึงแม้ว่าใบที่พ้นดินขึ้นมาจะร่วงหมดแล้ว ก็อย่าเพิ่งโยนดินทิ้ง เพราะถ้าหัวใต้ดินยังไม่เน่าหรือแห้ง ก็อาจจะแตกยอดขึ้นมาใหม่ได้อีก
ดังนั้น ก่อนจะหาบอนมาปลูกประดับบ้าน อย่าลืมสอบถามชื่อวิทยาศาสตร์มาด้วย ว่าเป็นโคโลคาเซียหรืออโลคาเซีย เราจะได้ดูแลได้อย่างถูกต้อง
ถ้าใครสนใจอยากเข้าสู่วงการบอน เราขอแนะนำบอนน่าปลูก 12 พันธุ์ดังต่อไปนี้
Colocasia

01
หน้ากากฟาโรห์
Colocasia Pharaoh’s Mask
หน้ากากฟาโรห์เป็นไม้ต่างประเทศที่เพิ่งเข้ามาในเมืองไทย ด้วยรูปทรงประหลาดที่ขอบใบม้วนไปด้านหลังเป็นหน้ากาก เส้นใบที่ชัดเจน และความใหม่ จึงทำให้ตอนนี้เป็นโคโลคาเซียที่ดังที่สุด จึงมีราคาที่ค่อนข้างสูง

02
Black Coral
Colocasia esculenta ‘Black Coral’ (Taro)
บอนดำมีหลายสายพันธุ์ แต่พันธุ์ที่อยากแนะนำคือ Black Coral จุดเด่นคือใบสีดำสนิทเป็นมันวาว และดำทั้งก้าน ดำตั้งแต่แทงยอดออกมา ซึ่งจะไม่กลายเป็นสีเขียวเหมือนบอนอื่นๆ เลี้ยงง่ายมาก ปลูกได้ทั้งในกระถาง ลงดิน ถ้าปลูกริมบ่อน้ำก็จะแตกกอเร็ว เลี้ยงกลางแจ้งได้ไม่ต้องกลัวแดด

03
Colocasia esculenta ‘Lemon-Lime Gecko’
โคโลคาเซียตัวนี้เพิ่งถูกผสมขึ้นมาใหม่ในช่วงสิบปีที่ผ่านมานี่เอง ลักษณะเด่นอยู่ที่ลายจุดสีเขียวสด ซึ่งกระจายอยู่ทั่วใบสีเขียวเข้ม ตัดกับก้านสีม่วงเข้ม มีขนาดใหญ่ และมีราคาย่อมเยามาก

04
Colocasia esculenta ‘Mojito’
โคโลคาเซียตัวนี้มีลักษณะคล้ายกับ Lemon-Lime Gecko แต่ต่างกันตรงสีสันของใบ ตัวนี้จะมีสีพื้นของใบเป็นสีเขียวอ่อน และจะมีจุดสีน้ำตาลโปร่งกระจายอยู่ทั่วไป ดูแลง่ายไม่ต่างจากโคโลคาเซียตัวอื่นๆ

05
Colocasia esculenta nanciana
โคโลคาเซียตัวนี้มีชื่อที่เรียกกันง่ายๆ ว่า Nancy’s Revenge จุดเด่นคือฟอร์มใบสีเขียวขนาดใหญ่ แล้วมีแถบสีขาวเล็กๆ ป้ายอยู่กลางใบ เป็นไม้ฟอร์มใหญ่ที่มีลายโดดเด่นไม่ซ้ำใคร

06
บอนใบถ้วย
Colocasia esculenta (L.) Schott cv. Coffee Cups
เป็นบอนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวคือมีก้านสีดำพุ่งสูงขึ้นมา แล้วมีใบสีเขียวห่อเป็นทรงถ้วย เส้นก้านใบเป็นสีดำ เลี้ยงได้ทั้งในกระถางปกติและกระถางแช่น้ำ ถ้าเลี้ยงดีๆ สูงกว่าคนเลี้ยงได้สบาย
Alocasia

07
บอนกระดาดด่าง
Alocasia Macrorrhizos Variegated
บอนกระดาดเป็นบอนขนาดใหญ่ที่พบได้ทั่วไปตามธรรมชาติ นำมาปลูกประดับกันก็เยอะ เลี้ยงง่ายมาก แต่เราขอแนะนำบอนกระดาดด่างซึ่งตอนนี้คนกำลังสนใจตามหากันมากเป็นพิเศษ

08
Alocasia Watsoniana Doff
Alocasia Watsoniana Doff คล้ายกับต้นแก้วสารพัดนึก หรือ แก้วหน้าม้า (Alocasia longiloba Miq.) ที่เราคุ้นเคยกันดี แต่ต่างกันตรงรูปทรงใบและความเว้าของขอบใบ มีความโดดเด่นที่เส้นใบ เหมาะกับนักปลูกที่ชอบไม้ที่มีลายเส้นชัดเจน เป็นต้นที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก จึงตอบโจทย์คนที่มีพื้นที่ไม่มาก วางบนชั้นได้สบายมาก

09
อโลคาเซียหูช้าง
Alocasia Sarian
จุดเด่นอยู่ที่ความใหญ่และลวดลายของใบ ใบใหญ่คล้ายบอนกระดาด แต่ขอบใบเป็นรอยหยัก เส้นใบชัด เหมาะกับคนชอบไม้ฟอร์มใหญ่ที่ไม่โหล

10
อโลคาเซียม้าลาย
Alocasia Zebrina
อโลคาเซียม้าลายมีใบเป็นทรงสามเหลี่ยมขอบตรงไม่มีรอยหยัก สีเขียวเข้ม ใบหนา ใบใหญ่ จุดเด่นซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวคือ ก้านเป็นลายเขียวสลับดำ เป็นที่มาของชื่อม้าลาย แต่ก็มีตัวที่เป็นด้านดำล้วนด้วย ไม่ค่อยทิ้งใบ เลี้ยงในอาคารได้

11
Alocasia Regal Shield
จุดเด่นของอโลคาเซียตัวนี้คือ มีสีเขียวเข้มจนเกือบดำ เป็นทรงรูปหัวใจ มีขนาดใหญ่เกือบเท่าบอนกระดาด มีลายเส้นชัดเจน

12
Alocasia Jacklyn
ถ้าหน้ากากฟาโรห์คือโคโลคาเซียที่มาแรงที่สุดในช่วงนี้ Alocasia Jacklyn ก็คืออโลคาเซียที่มาแรงที่สุด พื้นเพดั้งเดิมมาจากประเทศอินโดนีเซีย จุดเด่นคือใบที่มีความหนา ฟอร์มใบเว้าสวยงาม ขอบใบมีรอยหยักที่ใหญ่และชัดมาก เช่นเดียวกับเส้นใบสีเขียวเข้มตัดกับเนื้อใบสีเขียวเข้มอ่อนไล่เฉดไม่เสมอกันทั่วทั้งใบ และก้านสีน้ำตาลมีลาย เรียกว่าแทบจะรวมฮิตจุดเด่นของอโลคาเซียดังๆ มาอยู่รวมกันในต้นเดียวเลย