17 พฤศจิกายน 2023
2 K

“ผมจำได้ มีอยู่วันหนึ่งนั่งคุยกับป๋อม” เขามองท้องฟ้าที่เริ่มมืด บนโต๊ะอาหารพร้อมกับแกล้ม หลังอยู่ในห้องตัดสินงานหลายชั่วโมง

“เราคุยกันว่าใครคือศักดาทุบตึกวะ มีคนธรรมดาที่มีความคิดสร้างสรรค์มากมาย ไม่ได้อยู่ในเอเจนซี่ นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดงาน Creativity for Sharing”

คนพูดคือ ต้น-รติ พันธุ์ทวี นายกสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย เจ้าภาพงานใหญ่วงการความคิดสร้างสรรค์ Adman Awards & Symposium ส่วนป๋อมที่เอ่ยถึง คือ ป๋อม-กิตติ ไชยพร จาก มานะ เอเจนซี่ที่เชื่อในพลังครีเอทีฟภาคสังคม

Adman 2023 มีงานหมวด Creativity for Sharing (คนในสมาคมเรียกสั้น ๆ ว่า CS) ตั้งแต่ปี 2018 วิธีการตัดสินคือตั้งคณะกรรมการซึ่งมีส่วนผสมระหว่างสื่อ คนโฆษณา และภาคเอกชน จากนั้นกรรมการจะคัดสรรโครงการหรือข่าวที่น่าสนใจมารอบปีเพื่อค้นหาผู้ที่ได้รางวัลประจำปี

CS ปีนี้น่าสนใจ เพราะในคณะกรรมการมีชื่อของ เอด้า จิรไพศาลกุล จากแพลตฟอร์มบริจาค Taejai และ พัชรินทร์ พัฒนาบุญไพบูลย์ จากนิตยสาร คิด และ CEA อยู่ด้วย

ทั้งคู่เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และสังคมมาก นั่นทำให้เวลามองงานเพื่อสังคมจะอ่านขาดว่าสังคมได้จริง ๆ หรือเปล่า การดีเบตงานในห้องตัดสินจึงเข้มข้นมาก

สังคมพัฒนาขึ้น แต่ก็ยังมีปัญหา นั่นคือโอกาสที่ทำให้คนกล้าคิด ความคิดสร้างสรรค์จึงเติบโต

การมองรายชื่องาน Adman Award & Symposium 2023 ในหมวด Creativity for Sharing จึงได้เห็นว่าสังคมกำลังเจอปัญหาอะไรอยู่ และคนที่เกี่ยวข้อง แก้มันได้อย่างไร

หวยหมวกกันน็อก มช.ทูเดย์

มช.ทูเดย์

การแก้ปัญหาที่ดี แต่คนสะดวกน้อยลง ไม่เคยง่าย 

นักศึกษาในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่คุ้นเคยกับการไม่สวมหมวกกันน็อกขี่มอเตอร์ไซค์ แต่คนที่ใส่ก็มี เพจข่าวในมหาวิทยาลัย มช.ทูเดย์ อยากกระตุ้นให้คนใส่หมวกกันน็อกมากขึ้น รวมถึงให้รางวัลคนที่ทำดีอยู่แล้ว ด้วยวิธีการที่ทุกคนอินและอยากทำตาม

มช.ทูเดย์ ร่วมกับกองพัฒนานักศึกษา และศูนย์บริหารจัดการเมืองอัจฉริยะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สุ่มแจกของรางวัลให้นักศึกษาที่สวมหมวกกันน็อกและใช้รถจักรยานยนต์ที่ลงทะเบียนยานพาหนะกับทางมหาวิทยาลัยแล้ว โดยใช้วิธีดูภาพเลขทะเบียนรถผ่านกล้องวงจรปิดภายในมหาวิทยาลัย แจกเดือนละ 2 งวด คือวันที่ 1 และวันที่ 16 ของทุกเดือน งวดละ 5 ท่าน ล้อกับการออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลจริง ของรางวัลเป็นคูปองใช้ในสหกรณ์ มช. และศูนย์อาหาร CMU Food Center 500 บาท

ง่าย สนุก ไม่ต้องอธิบายอะไรเพิ่มเลย


Khee

เศรษฐสิทธิ์ เศรษฐการุณย์

แอปพลิเคชันนี้ดังมากในช่วงเปิดตัว ไวรัลทุกกลุ่มเป้าหมาย เพราะมันแก้ปัญหาสามัญที่เราทุกคนเคยประสบ คือการหาห้องน้ำไม่เจอในยามข้าศึกประชิดตัว

เศรษฐสิทธิ์ เศรษฐการุณย์ เคยเจอปัญหานี้ เขาลองทำแอปพลิเคชันที่ให้ผู้ใช้ปักหมุดบอกตำแหน่งห้องน้ำที่เข้าไปขอใช้ได้ เพราะจากประสบการณ์ส่วนตัว ถ้าวินาทีนั้นมีใครสักคนบอกว่าห้องน้ำอยู่ที่ไหนก็แทบจะเป็นฮีโร่ช่วยชีวิตเราแล้ว 

Khee ยังใช้ได้ดีหลังหายจากหน้าสื่อ พัฒนาเพิ่มฟังก์ชันในการรีวิวคุณภาพของห้องน้ำ กรรมการเปิดเช็กระหว่างตัดสินก็ยังใช้ได้ดีอยู่ เป็นแพลตฟอร์มโชว์ความครีเอทีฟและบอกเล่าปัญหาของเมืองไปในตัว

อ่านเรื่องราวไวรัลแอป Khee บอกสถานการณ์ส้วมสาธารณะบ้านเราได้อย่างไรต่อได้ที่นี่


ขยะแลกภาษี

ชุมชนบ้านบาโงฆาดิง จังหวัดปัตตานี

ทุกเช้าวันศุกร์ ชุมชนบ้านบาโงฆาดิง ตำบลนาเกตุ จังหวัดปัตตานี จะให้คนในชุมชนนำขยะที่คัดแยกแล้วมาขายตามราคาที่กำหนด เงินที่ได้จากการขายขยะนำไปจ่ายค่าภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือน และภาษีป้าย รวมถึงจ่ายค่าธรรมเนียมการเก็บขยะของชุมชนได้ 

ฟังจากชื่อ งานนี้ดูเหมือนจะคิดเพื่อแก้ปัญหาคนไม่จ่ายภาษี แต่เรื่องเริ่มต้นจากชุมชนมีปัญหาจำนวนถังขยะไม่พอ อบต. สังเกตเห็นปัญหา เลยร่วมกับ สสส. ทำโครงการการจัดการขยะในชุมชนบ้านบาโงฆาดิง ให้ความรู้คนว่าขยะควรจัดการอย่างไร ถ้าแยกแล้วมีมูลค่าแค่ไหน เมื่อชุมชนตื่นตัว ก็คิดวิธีบริหารเอาเงินที่ขายขยะได้มาใช้กับการจ่ายภาษี เป็นเหมือนการสร้างแพลตฟอร์มให้คนจัดการขยะได้อย่างครบวงจร

งานนี้ถูกดีเบตจากกรรมการนานกว่างานอื่น มองและวิเคราะห์จากหลายมุม สุดท้ายผลลัพธ์ปลายทางไม่ได้ส่งผลเสียต่อระบบภาษี แต่คือการสร้างระบบบริหารขยะที่ปรับใช้ในพื้นที่ที่อยู่ไกลจากส่วนกลาง ให้ อบต. บริหารจัดการด้วยตัวเองได้

ในวันมอบรางวัล ตัวแทนจากชุมชนและ อบต. ก็เดินทางจากปัตตานีมารับรางวัลที่กรุงเทพฯ เองด้วย


ถึงบ้านแล้วบอกด้วยนะ (Get Home Safe Project)

พิมพิศา เกือบรัมย์

เกมอินเตอร์แอคทีฟในเว็บไซต์ เล่าเรื่องผู้หญิงคนหนึ่งที่ต้องกลับบ้านคนเดียวยามค่ำคืน เราต้องเลือกวิธีเอาตัวรอดในสถานการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจ ทุกตัวเลือกจะส่งผลให้ตอนจบของเกมไม่เหมือนกัน

เบื้องหลังของเกมนี้คือการให้ความรู้การเอาตัวรอดในยามคับขันสำหรับผู้หญิง เป็นผลงานวิทยานิพนธ์ของ พิมพิศา เกือบรัมย์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร 

เกมแบบนี้มีเยอะ งานของพิมพิศาต่างตรงที่เธอวิจัยมาจากเรื่องจริงทั้งหมด ทุกตัวเลือกค้นข้อมูลจากการสัมภาษณ์มาอย่างดี ที่เกินคาดอีกข้อคือผู้เล่นที่เป็นผู้ชายหรือ LGBTQ ก็ชอบ เพราะเคยประสบเหตุการณ์ตอนกลางคืนเช่นเดียวกัน


โครงการปลากด อุปกรณ์กายภาพบำบัดด้วยการเล่นเกม

มูลนิธิด้วยกัน เพื่อคนพิการและสังคม

โลกนี้มีแคมเปญช่วยผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรงเยอะมาก วิธีหนึ่งที่ฮิตคือการนำมาใช้กับอุปกรณ์เล่นเกมหรือการเล่นโซเชียลมีเดียผ่านมือถือ ส่วนมากงานแบบนี้จะใช้อุปกรณ์ในบริบทต่างชาติ นี่คืองานแรกที่ทำให้คนไทยใช้โดยเฉพาะ

โครงการปลากด สร้างโดยมูลนิธิด้วยกัน เพื่อคนพิการและสังคม พัฒนาอุปกรณ์กายภาพบำบัดที่เชื่อมต่อกับเครื่องเล่นเกม เพื่อให้เด็กที่มีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้ทำกายภาพบำบัดพร้อมเล่นเกมไปด้วย เบื้องต้นใช้กับ 3 เกม คือ Super Mario Maker, Mario Kart และเกมตีกลอง Taiko no Tatsujin ทั้ง 3 เกมเล่นง่าย และช่วยเรื่องกายภาพบำบัดได้จริง

ปัจจุบันโครงการอยู่ระหว่างพัฒนา ล่าสุดร่วมมือกับภาควิชากายภาพบำบัด คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ที่นี่มีทั้งเด็กและผู้สูงอายุมาทำกายภาพบำบัดเป็นประจำ ทีมงานเลือกตั้งสถานีทดลองการใช้งาน และกำลังพัฒนาเพื่อใช้งานได้ดียิ่งขึ้น นำไปเพิ่มสเกลการใช้งานได้กว้างยิ่งขึ้น


ช่าง ชรา ซ่อมให้เรียบ! 

มูลนิธิกระจกเงา

ในหมวด CS มีงานจากมูลนิธิกระจกเงา 2 ชิ้น คือแคมเปญจ้างวานข้า และ ช่าง ชรา ซ่อมให้เรียบ! ซึ่งน่าได้รางวัลทั้งคู่

สุดท้ายกรรมการให้งานนี้ เนื้อหาแคมเปญคือการให้โอกาสช่างผู้สูงวัย แต่ถูกทิ้งหลุดจากระบบจ้างงานเพราะอายุมาก รวมกลุ่มพวกเขามาที่มูลนิธิและเปิดรับให้คนทางบ้านส่งเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เสียและไม่ต้องการอีกแล้วให้พวกเขาซ่อม เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป 

ถ้า จ้างวานข้า คือการเปิดประตูบานแรกให้คนไร้บ้านได้รับโอกาสในการทำงานรับจ้างทั่วไป ช่าง ชรา ซ่อมให้เรียบ! ก็เป็นเหมือนภาคต่อของแคมเปญที่นำ Know-how จากงานแรกมาประยุกต์กับช่างมืออาชีพที่ถูกทิ้ง ต่อยอดให้กลายเป็นแพลตฟอร์ม รับงานสเกลใหญ่ขึ้นได้ สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น และยังแก้ปัญหาขยะเครื่องใช้ไฟฟ้าล้นเมืองได้อีกด้วย


Day/DM Cafe

ประติมา รักษาชนม์ และ วิสุทธิ์รัตน์ รุ่งนพคุณศรี

ประติมา และ วิสุทธิ์รัตน์ ศึกษาด้านเพศวิทยา อยากเผยแพร่ความรู้ให้กว้างขึ้น แต่งานแบบนี้มักจัดในที่มืด ๆ ลับ ๆ เหมือนอยู่ในผับตลอดเวลา 

ทั้งสองแก้ปัญหาด้วยการเปิดคาเฟ่ชื่อว่า Day/DM Cafe ในย่านวงเวียน 22 สร้างพื้นที่ให้ความรู้เรื่องเพศในบรรยากาศแบบคาเฟ่ญี่ปุ่น ถ่ายลง IG ได้ และมีกิจกรรมเพื่อเพศหลากหลายจากผู้รู้จริง

คอนเซปต์ของคาเฟ่ดีอยู่แล้ว ที่เจ๋งคือตำแหน่งของร้านอยู่ใกล้วัดคณิกาผล ซึ่งมีประวัติศาสตร์เชื่อมโยงกับคนทำงานทางเพศหรือ Sex Worker ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 คาเฟ่นี้เหมือนสานต่อบทบาทให้ความรู้ด้านเพศที่เข้ากับบริบทของยุคสมัย ยิ่งทำให้งานนี้มีความหมายยิ่งขึ้น อ่านเรื่องราวของ Day/DM คาเฟ่ย่านเยาวราชที่ชวนคนมาคุยเรื่องเพศด้วยกันตอนกลางวันแสก ๆ กับนักเพศวิทยาเพิ่มได้ที่นี่


แมวบิน นักจัดระเบียบบ้าน

แมวบิน นักจัดระเบียบบ้าน

ตั้งแต่พ้นโรคระบาดมา เราเห็นคนประกอบอาชีพนักจัดบ้านเยอะขึ้น 

ทุกคนมีจุดเด่นต่างกัน แมวบิน นักจัดระเบียบบ้าน ต่างจากเจ้าอื่นตรงที่ลูกค้าส่วนใหญ่มีปัญหาด้านสุขภาพจิต เป็นผู้ป่วยโรคสะสมของ (Hoarding Disorder) เคสแบบนี้ละเอียดอ่อนมาก นักจัดบ้านทิ้งของทุกอย่างได้ไม่ง่าย ทำให้หลายครั้งนักจัดบ้านต้องปฏิเสธงานเพราะรับมือไม่ไหว

แมวบินพยายามจัดการเคสแบบนี้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ วิธีการต้องทั้งใจเย็น รวดเร็ว ประนีประนอม และเด็ดขาดย้อนแย้งอุตลุดตามสถานการณ์ บ่อยครั้งต้องครีเอทีฟหน้างานเพื่อให้ทุกอย่างคลี่คลายด้วยดีที่สุด 

พวกเขารู้ว่างานจัดบ้านแบบนี้ไม่ใช่การแก้ปัญหาให้ครอบครัวหนึ่ง แต่เป็นตัวสะท้อนปัญหา Mental Health ของทั้งสังคม ยิ่งช่วยมาก ยิ่งได้มาก


ไอศกรีมลายกระเบื้องวัดอรุณฯ  

Pop Icon และ Arun Cafe

คุณอาจคิดว่า ‘เห็นบ่อยแล้ว’ แต่งานนี้ฉลาดตรงที่ทำเป็นไอศกรีมนี่แหละ

เที่ยววัดไทยเหงื่อไหลไคลย้อยทุกคน ลักษณะวัดบ้านเราไม่ค่อยมีพื้นที่ร่มเท่าไหร่ เราจึงเห็นรถเข็นขายไอศกรีมให้บริการทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นประจำ Arun Cafe ร้านกาแฟสวัสดิการในวัดอรุณฯ ร่วมมือกับ Pop Icon ผู้พัฒนาไอศกรีมลาย 3 มิติ นำลายกระเบื้องของวัดมาทำเป็นไอศกรีมขาย 

ความป๊อปของงานนี้ทำให้มันไวรัลทั้งในไทยและต่างชาติ จบงานนี้เรายังได้เห็น Pop Icon ไปพัฒนาไอศกรีมที่ดึงอัตลักษณ์ย่านอื่นมาทำเป็นลาย เช่น ไอศกรีมลายมังกรและสิงโตย่านเยาวราช เปิดรูปแบบใหม่ ๆ ให้นักสร้างสรรค์ทำสินค้าเกี่ยวกับย่านได้สนุกยิ่งขึ้น


จุดพักใจ

ภัทรดนัย เสตสุวรรณ

คนใกล้ตัวจะรู้ว่า เขื่อน-ภัทรดนัย เสตสุวรรณ เรียนด้านจิตวิทยาเข้มข้นมาก ชั้นหนังสือในบ้านอัดแน่นไปด้วยตำราวิชาการด้านนี้ เจ้าตัวเองก็อยากเผยแพร่ความรู้ โดยใช้จุดแข็งของตัวเองให้เป็นประโยชน์

จุดพักใจ คือโครงการของเขื่อนที่เขาจะไปนั่งตามที่สาธารณะ ถือป้าย 1 แผ่นบอกว่า ถ้าคุณมีปัญหา เล่าให้เขาฟังได้ มีเวลาประมาณ 10 – 50 นาทีต่อคน เขาจะฟังอย่างเดียว เก็บทุกเรื่องเป็นความลับ 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่เสียค่าใช้จ่าย

การเป็นบุคคลสาธารณะอาจช่วยให้งานนี้ถูกพูดถึง แต่หัวใจสำคัญคือการทุ่มเทของเขื่อนเอง เขาทำงานนี้ตั้งแต่ทำงานด้านจิตบำบัดที่อังกฤษ และเพิ่งลองกลับมาทำในไทย ด้วยใจอยากให้การบำบัดสุขภาพจิตในประเทศเรามีส่วนที่ให้บริการฟรีและเข้าถึงง่ายกว่านี้ 


รางวัลพิเศษจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

Praisan.org

วรพจน์ บุญความดี

งาน Adman 2023 ปีนี้ได้รับการสนับสนุนส่วนหนึ่งจาก กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จึงมีการตั้งรางวัลพิเศษเกี่ยวกับด้านสื่อ โดยให้คณะกรรมการในหมวด Creativity for Sharing ตัดสินเพิ่ม

งานที่ได้หมวดนี้คือ เว็บไซต์ Praisan.org โดย วรพจน์ บุญความดี นักธรรมชาติวิทยาที่อยากเก็บเสียงธรรมชาติจากระบบนิเวศ 12 แห่งทั่วไทยมาให้คนเข้าไปฟังกันฟรี ๆ แถมมีภาพระบบนิเวศนั้นให้เลื่อนดูแบบ 360 องศา (อ่านเรื่องของเขาได้ที่นี่)

จุดเด่นคืองานเสียงมีรายละเอียดมาก คราฟต์มาก ซึ่งมาจากเป้าหมายว่าไม่ได้ทำเพื่อการบำบัดหรือผ่อนคลาย แต่เป็นการเก็บรักษาและให้ความรู้คนเรื่องระบบนิเวศไทยมากกว่าที่เป็นอยู่

วันประกาศรางวัลวรพจน์ไม่ได้มาร่วมงาน ถ่ายคลิปตัวเองพูดขอบคุณแทน เขาอยู่ที่ดอยปุย กำลังเก็บเสียงธรรมชาติที่นั่น และอีกหลาย ๆ แห่งที่วรพจน์ยังทำงานอย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่มีใครให้รางวัลเขาก็ตาม

Writer

ศิวะภาค เจียรวนาลี

ศิวะภาค เจียรวนาลี

บรรณาธิการที่ปั่นจักรยานเป็นงานหลัก เขียนหนังสือเป็นงานอดิเรก