Explore City

Pin a Toilet

Be a Hero

เป็น 3 คำแรกที่เราได้เห็น เมื่อเปิด ‘Khee (ขี้)’ แอปพลิเคชันที่ช่วยระบุตำแหน่งห้องน้ำบนแผนที่เป็นครั้งแรก

“ถ้ามีคนคนหนึ่งบอกผมว่าห้องน้ำที่ใกล้ที่สุดอยู่ที่ไหนโดยที่ผมไม่ต้องเอ่ยปากถาม ไม่สำคัญว่าเขาเป็นใคร เขาคือฮีโร่” นี่คือข้อความเท่ ๆ ที่เขากล่าวไว้

นอกจากชื่อแอปฯ ที่ตรงประเด็นจนต้องหลุดขำ เราพบว่าคนถูกอกถูกใจกันมากเพราะเราต่างก็เคยประสบปัญหานี้กันอย่างน้อยสักคนละ 10 ครั้งในชีวิต ถึงจะฟังดูเป็นเรื่องตลก แต่เมื่อถึงหน้างานจริงแล้วก็ตลกกันไม่ออกสักราย

เคยคิดไหมว่าการมีอยู่ของแอปฯ นี้บอกอะไรได้บ้าง

เมียงเมืองคราวนี้ เราจะพูดถึงสถานการณ์ห้องน้ำสาธารณะและกึ่งสาธารณะในประเทศไทย จริง ๆ แล้วการไม่รู้จะไปใช้ห้องน้ำที่ไหนในนาทีฉุกเฉินนั้นเป็นปัญหาของประเทศเราหรือว่าที่ไหนเขาก็เป็น พูดถึงห้องน้ำที่คนไทยอยากใช้ และเล่าถึงการจัดการเรื่อง Khee ๆ สำหรับประเทศอื่นในโลกด้วย

แอปฯ ที่โด่งดังในชั่วข้ามคืนนี้ เกิดมาจากเพื่อนของ เศรษฐสิทธิ์ เศรษฐการุณย์ นักพัฒนาแอปฯ ผู้ประสบเหตุฉุกเฉินในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต แต่ Google Maps ไม่ระบุตำแหน่งห้องน้ำให้ จากนั้นไม่นาน เหตุการณ์คล้ายกันก็เกิดขึ้นกับตัวเขาเอง คราวนี้เหตุเกิดในขนส่งสาธารณะ และ Google Maps บอกว่าห้องน้ำอยู่ห่างไปถึง 600 เมตร

‘ไม่รู้ห้องน้ำอยู่ไหน’ และ ‘ห้องน้ำอยู่ไกล’ เป็น Pain Point หลักที่นำไปสู่แอปฯ Khee

จริง ๆ แล้ว เมื่อเทียบกับหลายเมืองในโลก แม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วก็ตาม ห้องน้ำสาธารณะในไทยนั้นค่อนข้างดีในระดับหนึ่ง หากไปในย่านที่คุ้นเคย เราอาจแวะห้องน้ำที่เคยเข้าได้ หากเจอห้าง เราก็เลี้ยวเข้าไปใช้ห้องน้ำได้ เวลาออกต่างจังหวัด ก็จะมีปั๊มน้ำมันให้บริการห้องน้ำเป็นระยะ ๆ

แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ถือว่าไม่มีปัญหาเลยเสียทีเดียว เพราะนอกจากสถานการณ์ที่เราว่ามา การหาห้องน้ำก็ไม่ได้ง่ายนัก หนำซ้ำ จากการสำรวจของ Urban Design and Development Center (UddC) บางย่าน โดยเฉพาะชานเมืองกรุงเทพฯ อย่างพระราม 2 บางขุนเทียน บางมด ก็เรียกว่าขาดแคลนห้องน้ำสาธารณะจริง ๆ ไม่ได้คิดไปเอง นึกภาพว่าเราเดินตัวเปล่าอยู่ในละแวกบ้านคน แค่นั้นก็ไม่รู้ว่าจะไปต่อยังไงแล้ว

ของไทยดีพอรึยัง? : ไวรัลแอป Khee บอกอะไรได้บ้างกับสถานการณ์ส้วมสาธารณะบ้านเรา

หากว่าด้วยเรื่องความถี่ของห้องน้ำสาธารณะ QS Supplies บริษัทสุขภัณฑ์ในอังกฤษให้ข้อมูลว่าปารีสเป็นเมืองท่องเที่ยวหนึ่งที่ดีที่สุด เพราะเฉลี่ยมีถึง 6.72 ห้องต่อตารางกิโลเมตร ส่วนกรุงเทพฯ นั้น โดยเฉลี่ยแล้วประมาณ 2.5 กิโลเมตรถึงจะเจอสัก 1 ห้อง ตามรายงานของ UddC

เรื่องห้องน้ำเป็นสิ่งที่ ‘องค์กรห้องน้ำโลก’ หรือ World Toilet Organization (WTO) ขับเคลื่อนมาโดยตลอด โดยใน พ.ศ. 2549 ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมวันส้วมโลกของ WTO ด้วย

รัฐได้ใช้โอกาสในการประชุมครั้งนั้นผลักดันนโยบายห้องน้ำสาธารณะในไทยอย่างจริงจัง และกำหนดมาตรฐานคุณภาพส้วมสาธาณะด้วยคำย่อ HAS มาจากประเด็นย่อย 3 ด้านคือ ความสะอาดถูกสุขลักษณะ (Healthy) เพียงพอ เข้าถึงได้ (Accessibility) และปลอดภัย (Safety)

ของไทยดีพอรึยัง? : ไวรัลแอป Khee บอกอะไรได้บ้างกับสถานการณ์ส้วมสาธารณะบ้านเรา

ซึ่งหากเข้าไปดูในแบบประเมินเกณฑ์มาตรฐานของกรมอนามัยจริง ๆ จะพบว่า คำว่า ‘เพียงพอ’ นั้นมีให้เช็กเพียง 2 ข้อ คือ หนึ่ง มีส้วมนั่งราบสำหรับคนพิการ ผู้สูงวัย หญิงตั้งครรภ์ และประชาชนทั่วไปอย่างน้อย 1 ที่ และสอง ส้วมสาธารณะต้องพร้อมใช้งานตลอดเวลาที่เปิดให้บริการ 

ไม่มีข้อไหนที่กล่าวถึงความหนาแน่นของห้องน้ำในแต่ละพื้นที่

ทุกวันนี้จึงเป็นเรื่องของโชคชะตาหรือบุญกรรมที่ทำมา หากย่านไหนมีห้างหรือปั๊มให้แวะก็ถือว่าโชคดีไป ซึ่งนั่นก็เป็นพื้นที่ของเอกชน ไม่ได้มาจากที่รัฐวางแผน แล้วห้องน้ำก็กลายมาเป็น ‘จุดขาย’ ของเอกชนอย่างเป็นทางการ หลาย ๆ ปั๊มจึงมีป้าย ‘ห้องน้ำสะอาด’ ใหญ่เบ้อเริ่มติดอยู่ด้านหน้า

แล้วเราทำอะไรได้บ้าง

หากจะลองไปดูตัวอย่างที่อื่นในโลกบ้าง ในปี 2022 ที่ผ่านมา เบอร์ลินได้แก้ปัญหาด้วยการเพิ่มจำนวนห้องน้ำสาธารณะจาก 256 เป็น 418 ห้อง เมืองจะเปิดแผนที่ พิจารณาห้องน้ำที่มีอยู่ในพื้นที่ และวิเคราะห์ช่องว่าง ถ้าตรงไหนดูขาดก็จะเพิ่มลงไปให้เหมาะสม โดยคำนึงถึงการสัญจรทางเท้าและการเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งเบอร์ลินร่วมมือกับ Wall GmbH บริษัทสตรีทเฟอร์นิเจอร์ซึ่งสร้างที่จอดรถประจำทางและแผงขายหนังสือพิมพ์ในการสร้างห้องน้ำสาธารณะครั้งนี้

โปรเจกต์นี้ทำในช่วงโรคระบาด เริ่มตั้งแต่สิงหาคมปี 2020 รวมแล้วใช้เวลาประมาณ 3 ปี พวกเขาไม่ได้เน้นจำนวนเท่านั้น แต่ห้องน้ำใหม่ที่เพิ่งสร้างและห้องน้ำเก่าที่ถูกอัปเกรดยังออกแบบมาให้เป็นระบบอัตโนมัติ ผู้พิการเข้าใช้งานได้สะดวก และยกระดับให้ Public Space ใช้การได้ดีขึ้น ทั้งยังมีแอปฯ แผนที่ห้องน้ำ ‘Berliner Toilette’ ที่พัฒนาโดยเมืองเบอร์ลินด้วย แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของบริการสาธารณะได้อย่างดี

ทุกวันนี้กลายเป็นว่าเบอร์ลินมีระบบห้องนำสาธารณะสมัยใหม่ที่ดีที่สุดในเยอรมนี และเป็นหนึ่งในระบบใหญ่ที่สุดในยุโรปด้วย ในฐานะที่ห้องน้ำเป็นประเด็นที่ถูกมองข้ามมาตลอด เมื่อได้รู้เรื่องนี้ก็แอบทึ่งเหมือนกันที่ทางเบอร์ลินมีโปรเจกต์สำรวจห้องน้ำสาธารณะอย่างจริงจัง และปรับปรุงจนแตะเกณฑ์มาตรฐานดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

ของไทยดีพอรึยัง? : ไวรัลแอป Khee บอกอะไรได้บ้างกับสถานการณ์ส้วมสาธารณะบ้านเรา
ห้องน้ำใหม่ที่เบอร์ลิน เป็นมิตรต่อผู้พิการ

ในปีเดียวกัน ทางด้านลอนดอนก็เปิดตัวโปรเจกต์ Community Toilet Scheme ให้เหล่าร้านค้าและร้านอาหารมาลงชื่อเปิดให้สาธารณชนใช้ห้องน้ำได้ โดยแลกกับค่าธรรมเนียม 50 เซ็นต์ โดยทาง City Corporation จะให้การสนับสนุนเรื่องป้ายและงบสิ่งอำนวยความสะดวกที่สะอาดปลอดภัย ซึ่งเจ้าของร้านต่าง ๆ ก็เชื่อว่าป้ายโฆษณาห้องน้ำจะดึงดูดลูกค้าเข้าร้านมากขึ้น

ที่พิเศษคือ ร้านที่ลงทะเบียนจะปรากฏสัญลักษณ์อยู่ใน Interactive Mapping ของ City of London โดยบอกเวลาเปิด-ปิดห้องน้ำและรายละเอียดที่จำเป็น (แน่นอนว่าห้องน้ำของเอกชนไม่ได้เปิดใช้บริการตลอดเวลา)

ของไทยดีพอรึยัง? : ไวรัลแอป Khee บอกอะไรได้บ้างกับสถานการณ์ส้วมสาธารณะบ้านเรา
Interactive Mapping ชี้ตำแหน่งห้องน้ำในเมืองลอนดอน

การแก้ปัญหาของลอนดอนเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ไม่ต้องลงทุนเงินไปกับการสร้างห้องน้ำใหม่ ไม่ต้องเสียทรัพยากรในการก่อสร้าง แต่ลงทุนไปกับการวางระบบ ประสานความร่วมมือกับร้านต่าง ๆ ที่มีห้องน้ำอยู่แล้ว ประชาชนมีห้องน้ำใช้ทั่วถึง ส่วนเจ้าของกิจการก็ได้ประโยชน์

ตัดภาพมาที่ประเทศไทย ก็คงจะต้องเป็นหน้าที่ของรัฐหรือผู้มีส่วนร่วมจัดการเมืองในการสำรวจข้อมูลห้องน้ำสาธารณะ ห้องน้ำของเอกชน และคิดหาทางพัฒนาให้เหมาะสมที่สุด ส่วนแอปฯ​ หาห้องน้ำนั้น ตอนนี้ก็เป็นประชาชนที่ทำกันเอง

ผู้พัฒนาแอปฯ หลายประเทศลองทำแอปฯ ห้องน้ำมาตลอด เช่น แอปฯ Flush ที่มีห้องน้ำสาธารณะกว่า 190,000 ห้องในโลกปักไว้ ทั้งยังเลือกดูได้ว่าต้องการห้องน้ำที่เสียค่าเข้าหรือฟรี

แอปฯ ห้องน้ำยังระบุได้ถึงรายละเอียดความต้องการของผู้คน ดังที่มีหัวข้อ Disabled Access การเก็บค่าบริการหรือความสะอาด

เปิดดูแอปพลิเคชัน ‘Khee’ มองไปถึงสถานการณ์ห้องน้ำสาธารณะประเทศไทย อะไรที่เป็นปัญหา และจะพัฒนาไปทางไหนได้บ้าง

สำหรับแอปฯ Khee ยังไม่มีหัวข้อย่อยให้ระบุขนาดนั้น แต่มีส่วนให้ใส่รายละเอียดโดยรวม เราคิดไปถึงการพัฒนาแอปฯ ให้เลือกเปิด-ปิดเลเยอร์ที่ระบุลักษณะของห้องน้ำได้ตามความต้องการส่วนตัวของแต่ละคน เช่น ห้องน้ำชักโครงนั่งราบหรือนั่งยอง ความพร้อมของอุปกรณ์ทำความสะอาด ทิชชู หรือ ‘ที่ฉีดตูด’ ที่คนไทยต้องการมากเป็นพิเศษ

ทั้งนี้ยังนึกไปถึง Gender Neutral Toilet หรือห้องน้ำสำหรับทุกเพศ ซึ่งหลายประเทศที่มีการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศเริ่มผลักดันกันอย่างแพร่หลาย หากถึงวันที่ประเทศไทยเริ่มบ้างแล้ว ตัวเลือกห้องน้ำในลักษณะนี้ก็ควรจะระบุในแอปฯ ได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ถ้าแอปฯ Khee มีหน่วยงานรัฐที่มีฐานข้อมูลห้องน้ำสาธารณะในเชิงจำนวนและเชิงคุณภาพให้การสนับสนุนควบคู่ไปด้วยก็อาจเป็นเรื่องดี ประชาชนจะได้เข้าถึงข้อมูลห้องน้ำครอบคลุมขึ้น ส่วนรัฐก็จะมีประชาชนช่วยเก็บข้อมูลโดยธรรมชาติ

สุดท้ายแล้ว แอปฯ อาจจะนำไปสู่การวิเคราะห์เพื่อยกระดับระบบห้องน้ำสาธารณะของไทยในอนาคตก็เป็นได้

แด่อนาคตการ Khee ที่สดใสของลูกหลาน!

ข้อมูลอ้างอิง
  • thematter.co/brief/200933/200933
  • theurbanis.com/insight/16/04/2020/131
  • theurbanis.com/public-realm/09/12/2019/202
  • www.nytimes.com/2023/03/22/business
  • www.dawn.com/news/1297101
  • thegatewithbriancohen.com
  • www.bathroomcity.co.uk/blog
  • www.themayor.eu/en/a/view
  • edition.cnn.com/2020/06/23/health
  • digg.com/data-viz/link
  • City of London : Interactive Map
  • Khee Application

Writer

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน