ภาพที่เห็นตรงหน้า คือกลุ่มคนในวัยกลางคนถึงผู้สูงอายุ สวมผ้ากันเปื้อนและถุงมือทะมัดทะแมง กำลังขัดถูราวจับ บันไดและพื้นที่ส่วนของต่างๆ ของสะพานลอยสาธารณะอย่างขะมักเขม้น ทุกคนมาพร้อมท่าทีกระตือรือร้นและอุปกรณ์ทำความสะอาดครบมือ “สวัสดีครับ เชิญครับ” แดดร้อนจนเหงื่อไหลซึม และแม้จะเหนื่อยหอบ แต่พวกเขาก็ส่งเสียงทักทายยิ้มแย้ม

พวกเขาคือคนไร้บ้านและที่มาร่วมโครงการ ‘จ้างวานข้า’ แพลตฟอร์มเล็กๆ ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่โอกาสให้คนไร้บ้านเข้าถึงระบบงานได้ เพราะภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่ระบบเศรษฐกิจได้รับผลกระทบอย่างมากจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้อัตราการจ้างงานลดลงหลายเท่าตัว

จ้างวานข้า แพลตฟอร์มสร้างอาชีพให้คนไร้บ้านที่รับทำความสะอาดพื้นที่ทุกรูปแบบ, มูลนิธิกระจกเงา

จากปกติที่คนไร้บ้านก็พอจะมีงานทำ แต่ไม่ใช่ว่าจะหางานได้ง่ายนัก กลายเป็นยิ่งหางานยากและถูกหลงลืมไปจากระบบสังคมที่ทุกภาคส่วนกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก นอกจากนี้ยังมีกลุ่มคนไร้บ้านหน้าใหม่ที่ตกงานกะทันหัน ขาดรายได้ ทำให้กลายเป็นคนไร้บ้าน

หญิงวัยเกือบ 60 ปีที่เราได้คุยด้วย ก่อนนี้เธอมีอาชีพรับจ้างทั่วไป รับทำความสะอาดบ้านรวมถึงทำงานในครัว แต่พออายุมากขึ้น ประกอบกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ทำให้ไม่มีใครต้องการจ้างทำงาน ไม่มีรายได้พอจะเช่าที่อยู่อาศัย และไม่มีทางเลือกใดๆ ทำให้ต้องกลายมาเป็นคนไร้บ้าน พยายามไปสมัครงานหลายแห่งแต่ก็ถูกปฏิเสธ เธอบอกว่านี่คืองานที่ทำให้เธอรู้สึกว่าชีวิตตัวเองนั้นมีคุณค่ากับคนอื่นเช่นกัน

จ้างวานข้า แพลตฟอร์มสร้างอาชีพให้คนไร้บ้านที่รับทำความสะอาดพื้นที่ทุกรูปแบบ, มูลนิธิกระจกเงา

งานของจ้างวานข้า คือการรับจ้างทำความสะอาดพื้นที่ทุกรูปแบบ โดยเป็นแพลตฟอร์มระหว่างคนไร้บ้านและนายจ้างที่มีโครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา เป็นตัวกลาง โดยแบ่งการทำงานออกเป็น 3 เฟส เพื่อจุดมุ่งหมายในการสร้างอาชีพระยะยาว และยกระดับความเป็นอยู่ของกลุ่มคนไร้บ้านให้ดีขึ้น

เราจะไปคุยกับ สิทธิพล ชูประจง หัวหน้าโครงการผู้ป่วยข้างถนนถึงการทำงานของมูลนิธิกระจกเงา ตั้งแต่การพยายามช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชข้างถนนที่ทุกคนรังเกียจและหวาดกลัว ตั้งแต่เกือบ 10 ปีก่อน มาจนถึงโครงการล่าสุดของจ้างวานข้าที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือการผลักดันให้บุคคลข้างถนนได้รับสิทธิและคุณภาพชีวิตอย่างที่ควร ในฐานะมนุษย์และพลเมืองไทยคนหนึ่ง

01

สังคมตีตราใครว่าบ้า

ในชีวิตคนเมืองอย่างเราๆ เชื่อว่าสักครั้งต้องเคยเดินผ่านบุคคลผมเผ้ารุงรัง เนื้อตัวมอมแมม หอบหิ้วข้าวของพะรุงพะรัง เดินรื้อถังขยะเพื่อหาอาหารประทังชีวิต บางคนพูดคนเดียว บางคนหัวเราะร้องเพลง และบางคนนั่งเหม่อลอยครุ่นคิด สังคมตีตราเขาเหล่านี้ว่าเป็น ‘คนบ้า’ 

เคยสงสัยไหมว่าพวกเขามาจากไหน ทำไมลูกหลานญาติพี่น้องจึงปล่อยให้มาใช้ชีวิตอยู่ข้างถนน อาจมีบางครั้งที่คนผ่านไปมาจะเหลียวมองด้วยความหวาดกลัว แล้วเดินหนีให้ไกล แต่ส่วนใหญ่พวกเขามักถูกหลงลืมไปในความรีบเร่งของสังคม

ก่อนหน้า ‘จ้างวานข้า’ มูลนิธิกระจกเงาทำงานขับเคลื่อนเรื่องคนไร้บ้านมานานหลายปี โดยเน้นไปที่ประเด็นผู้ป่วยข้างถนน ซึ่งจำนวนไม่น้อยเป็นโรคจิตเวชและผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม หลายคนเคยมีบ้านและครอบครัว แต่ด้วยเงื่อนไขชีวิต ความกดดันและเหตุผลมากมาย ทำให้พวกเขาเลือกเดินออกมาจากบ้านของตัวเอง

“ผู้ป่วยที่อาศัยข้างถนนเป็นที่พักพิง บ่อยครั้งถูกทำร้ายร่างกาย ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกตะเพิดไล่ ไปจนถึงถูกกลั่นแกล้ง แต่ด้วยอาการป่วยทำให้พวกเขาจำเป็นต้องอยู่ตรงนั้น ไปไหนไม่ได้ และลงเอยด้วยการถูกกระทำซ้ำๆ” สิทธิพลอธิบาย

โครงการ ‘ผู้ป่วยข้างถนน’ จึงถูกก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2555 เพื่อลงมือแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยมีภารกิจในการรับแจ้ง ตรวจสอบ และลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ป่วยข้างถนนเหล่านี้ให้เข้าถึงการรักษาพยาบาล เพราะภายใต้คำตีตราว่าบ้า เราอาจลืมไปว่าพวกเขาก็คือผู้ป่วยคนหนึ่งที่ต้องได้รับการรักษาจากจิตแพทย์อย่างถูกต้อง

02

ผู้ป่วยข้างถนนและคนไร้บ้าน

ตามพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551 เมื่อโครงการฯ ได้รับแจ้งเคส เจ้าหน้าที่จะต้องประเมินผู้ป่วยเบื้องต้นโดยขอข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้แจ้ง เพื่อแยกคนไร้บ้านทั่วไปและผู้ป่วยข้างถนนออกจากกัน 

จากนั้นลงพื้นที่ติดตามดูพฤติกรรมที่บ่งชี้ถึงอาการทางจิตเวช เช่น คุยหรือหัวเราะคนเดียว สภาพทางกายภาพเป็นอย่างไร โดยอาจสังเกตจากบริเวณที่ผู้ป่วยอยู่อาศัย หากพบการสะสมของสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ เช่น ใบไม้ ของเน่าเสีย ก็ยิ่งเป็นข้อมูลเพิ่มเติมในการบอกถึงอาการทางจิตเวชได้ชัดเจนยิ่งขึ้น 

เมื่อได้ข้อมูลจากการสังเกตผู้ป่วยทั้งทางพฤติกรรม กายภาพ และสิ่งแวดล้อมแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ ข้อมูลจากปากคำของผู้คนที่อาศัยในบริเวณนั้น ถ้าได้รับการประเมินว่าอยู่ในขอบข่ายของการเป็นผู้ป่วยจิตเวช ขั้นตอนต่อไปคือการพาผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลของรัฐเพื่อทำการรักษา

สิทธิพลเล่าว่า เป้าหมายของการรักษาผู้ป่วยจิตเวชคือการรักษาให้อาการดีขึ้น เพราะการได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องจนหายสนิทนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่ออาการดีขึ้นจนเป็นปกติ สถานพยาบาลจะส่งตัวผู้ป่วยกลับให้ครอบครัวดูแล 

แต่ผู้ป่วยข้างถนนที่ไม่มีคนข้างหลัง สถานพยาบาลและโครงการฯ จะส่งเข้าสู่สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง บางคนอาจต้องอยู่ในนั้นไปตลอดชีวิต โดยระบบในปัจจุบันยังห่างไกลจากปลายทาง ที่จะทำให้พวกเขากลับมาใช้ชีวิตในสังคมอย่างปกติสุขได้

ดังนั้นจึงต้องทำความเข้าใจก่อนว่า คนไร้บ้านทั่วไปกับผู้ป่วยข้างถนนนั้นแตกต่างกัน ในขณะที่ผู้ป่วยข้างถนนต้องได้รับการรักษาเยียวยา แต่คนไร้บ้านก็เหมือนคนทั่วไป ที่ต้องการโอกาสและพื้นที่ในการใช้ชีวิตเช่นเดียวกับพวกเราทุกคน เพราะแม้จะไร้บ้าน แต่พวกเขาก็พร้อมทำงานเพื่อหาเงินหล่อเลี้ยงชีวิต

03

จ้างวานข้าเถิด

ภายใต้สภาวะปกติ คนไร้บ้านก็นับเป็นกลุ่มคนที่ประสบภาวะยากลำบากในการใช้ชีวิตที่สุดกลุ่มหนึ่งของเมืองอยู่แล้ว จากสาเหตุหลายปัจจัยทำให้เขาเข้าสู่ระบบการทำงานยาก ทั้งข้อจำกัดด้านกายภาพ เนื่องจากคนไร้บ้านส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ สุขภาพไม่ดี เรี่ยวแรงน้อย ประกอบกับพื้นฐานการเป็นแรงงานไร้ฝีมือ ไม่มีทักษะอื่นๆ เลย” สิทธิพลอธิบาย

ภายใต้สถานการณ์ COVID-19 อย่างแรก คนไร้บ้านจำนวนมาก จากที่หางานยากอยู่แล้ว ตอนนี้โอกาสในการมีงานทำเพื่อหาเงินเลี้ยงชีพแทบเป็นไปไม่ได้ อย่างที่สอง จากผลกระทบและการถดถอยทางเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้จำนวนคนไร้บ้านหน้าใหม่เพิ่มขึ้นเท่าทวี และจะกลายเป็นหนึ่งในวัฏจักรไร้งาน ไร้เงินดำรงชีพนี้

จ้างวานข้า แพลตฟอร์มสร้างอาชีพให้คนไร้บ้านที่รับทำความสะอาดพื้นที่ทุกรูปแบบ, มูลนิธิกระจกเงา

ไม่ใช่แค่เรื่องปากท้อง แต่เป็นเรื่องความเป็นความตายด้วย เพราะคนไร้บ้านจำนวนมากไม่มีบัตรประชาชนหรือเอกสารยืนยันสิทธิ ซึ่งอาจจะมาจากการไม่เคยทำบัตร ไม่มีคนมายืนยันตัวตน หรือทำบัตรหาย ทำให้เข้าถึงหลักประกันสุขภาพของรัฐไม่ได้ จากสุขภาพที่ย่ำแย่อยู่แล้ว มีโอกาสที่จะแย่ยิ่งกว่าเดิมเมื่อไม่มีเงินเข้ารับการรักษาพยาบาล และไม่มีเงินที่จะไปซื้อยามาใช้เยียวยาอาการป่วยไข้

เป็นที่มาของ ‘จ้างวานข้า’ แพลตฟอร์มระหว่างคนไร้บ้านและนายจ้าง ที่มีโครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงาเป็นตัวกลางในการช่วยประสานงานและการันตีผลประกอบการทำงาน เพื่อให้นายจ้างที่มาจ้างวานสบายใจหายห่วง โดยรับจ้างทำความสะอาดพื้นที่ทุกรูปแบบ 

สิทธิพลอธิบายเพิ่มเติมว่า งานทำความสะอาด เป็นลักษณะงานที่สอดคล้องกับบริบทของคนไร้บ้านมากที่สุด เนื่องจากคนไร้บ้านส่วนมากเป็นวัยทำงานค่อนไปสู่วัยผู้สูงอายุ ดังนั้นงานทำความสะอาดที่ไม่หนักไม่เบาเกินไป จึงเป็นงานที่เหมาะสมกับทักษะอาชีพที่ส่วนมากเป็นแรงงานรับจ้างมาตลอดชีวิต และอาจจะมีทักษะด้านอาชีพอื่นๆ น้อย

จ้างวานข้า แพลตฟอร์มสร้างอาชีพให้คนไร้บ้านที่รับทำความสะอาดพื้นที่ทุกรูปแบบ, มูลนิธิกระจกเงา

04

เปิดประตูแห่งโอกาส

“การรับงานจ้างวานในเฟสแรกเน้นพื้นที่สาธารณะ เพราะเป็นพื้นขนาดใหญ่ ทำให้ดึงคนไร้บ้านเข้ามาทำงานได้ในปริมาณมากกว่า เราต้องการให้คนไร้บ้านเข้าสู่ระบบการจ้างงานให้มากที่สุด ในขณะเดียวกันก็ถือเป็นการคัดกรองคนไปในตัวด้วยว่า คนไร้บ้านที่มารับจ้างคนไหน ผ่านเกณฑ์ที่จะได้ทำงานในเฟสที่สองและสาม

“เฟสที่สอง เน้นพื้นที่ขนาดใหญ่อย่างโรงงานหรือโกดังเก็บของ และเฟสที่สามเน้นพื้นที่ส่วนบุคคลอย่างบ้านคนไปเลย ซึ่งค่าตอบแทนก็จะสูงขึ้นตามความละเอียดของงาน เราตั้งใจให้จ้างวานข้าเป็นแพลตฟอร์มหางานให้คนไร้บ้านในระยะยาว ซึ่งตอนนี้ยังเป็นแค่จุดเริ่มต้น

“คนไร้บ้านที่ฝีมือดี ตั้งใจทำงาน เราจะสอนให้เขาทำงานในเฟสต่อๆ มา เพื่อพัฒนาทักษะและการใช้เครื่องมือทำความสะอาด แต่ถ้าคนไหนไม่ผ่านเกณฑ์มาสู่เฟสสองและสาม เขาก็ยังจะได้ทำงานในเฟสแรกพื้นที่สาธารณะต่อไป”

จ้างวานข้า แพลตฟอร์มสร้างอาชีพให้คนไร้บ้านที่รับทำความสะอาดพื้นที่ทุกรูปแบบ, มูลนิธิกระจกเงา

สิทธิพลบอกว่า การที่โครงการฯ พยายามคัดกรองและฝึกให้คนไร้บ้านทำงานได้เทียบเท่ามาตรฐานคนทั่วไป เพื่อที่จะได้งาน ไม่ใช่การสร้างอภิสิทธิ์ให้พวกเขารับงานได้เหนือว่าแรงงานคนอื่น เพราะมันจะตอบข้อครหาว่า เขาก็อยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีด้วยสองมือของตัวเองเทียบเท่าคนอื่นๆ ในสังคม เพียงสังคมเปิดประตูให้โอกาส 

ตอนนี้ค่าจ้างที่คนไร้บ้านจะได้รับเมื่อมาทำความสะอาดพื้นที่สาธารณะคือ 400 บาทต่อคนต่อวัน โดยผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้จ่ายค่าแรง “สมมติไปกันสี่สิบคน จริงๆ ผู้ว่าจ้างต้องจ่ายหนึ่งหมื่นหกพันบาท แต่ถ้าผู้ว่าจ้างมีเงินแค่หมื่นเดียว ก็มาตกลงกันก่อนได้ 

“เพราะทางโครงการฯ เปิดรับเงินบริจาคสนับสนุนจากสังคม เพื่อนำมาช่วยตรงนี้ด้วย อีกหกพันที่จ่ายค่าแรงก็อาจจะมาจากการสนับสนุนของสังคม เพราะตอนนี้เราต่างต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ เพื่อให้คนที่เดือดร้อนมีพื้นที่ในการทำงาน”

จ้างวานข้า แพลตฟอร์มสร้างอาชีพให้คนไร้บ้านที่รับทำความสะอาดพื้นที่ทุกรูปแบบ, มูลนิธิกระจกเงา

05

ทางที่ต้องเลือกเดิน

“ก่อนจะไปถึงการผลักดันให้พวกเขาพ้นจากการเป็นคนไร้บ้าน กลับสู่ระบบการทำงานและสังคมปกติ คือทำอย่างไรให้ชีวิตข้างถนนที่แม้ไม่มีบ้านในฐานะพลเมืองไทย ยังได้รับคุณภาพชีวิตที่ดี มีสิทธิเข้าถึงการรักษาพยาบาลและสวัสดิการพื้นฐานต่างๆ อย่างคนทั่วไป แม้ว่าเขาเลือกที่จะอยู่ข้างถนน

“เพราะการอยู่ข้างถนนไม่ได้เท่ากับว่าคนไร้บ้านต้องมีคุณภาพชีวิตที่แย่ ทำไมเขาจะอาบน้ำสามเวลา อิ่มสามมื้อ ไม่ได้ ซักเสื้อผ้าหรือเข้าถึงสุขภาพอนามัยที่ดีไม่ได้ จุดมุ่งหมายของเราคือ สร้างนวัตกรรมทางสังคมอะไรบางอย่างที่ทำให้การเป็นคนไร้บ้านไม่ต้องเท่ากับแบบนั้น 

“อย่างจ้างวานข้าก็เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มเครื่องมือที่จะค่อยๆ ผลักดันการมีงานทำของคนไร้บ้าน ไร้ฝีมือ และสูงอายุ ไปถึงจุดที่ไม่โดนทอดทิ้งจากระบบการทำงานของสังคม” 

จ้างวานข้า แพลตฟอร์มสร้างอาชีพให้คนไร้บ้านที่รับทำความสะอาดพื้นที่ทุกรูปแบบ, มูลนิธิกระจกเงา

เรานึกถึงตัวเลขคนไร้บ้านของประเทศญี่ปุ่น ที่เคยมีสูงถึง 30,000 คน จากยุคฟองสบู่แตกใน พ.ศ. 2546 จากการพยายามทำความเข้าใจและผลักดันขององค์กรต่างๆ รวมถึงรัฐบาลญี่ปุ่น เพื่อเปลี่ยนทัศนคติของผู้คนจากตั้งแง่ ไปเป็นเข้าใจและยอมรับคนไร้บ้าน ในฐานะคนทำงานคนหนึ่งที่เลือกเดินออกมา ทำให้สามารถลดจำนวนคนไร้บ้านทั่วประเทศญี่ปุ่นลงเหลือไม่ถึง 5,000 คน แต่ก็แน่นอนว่าใช้เวลาเกือบ 20 ปี

หนทางในการสร้างความเข้าใจของสังคมต่อคนไร้บ้านและผู้ป่วยข้างถนน รวมถึงผลักดันข้อกฎหมายและการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการโอบอุ้มพวกเขาอย่างเท่าเทียมยังคงเป็นงานอีกยาวไกล 

แม้ไม่ใช่ทุกคนจะเป็นผู้ว่าจ้างที่มีพื้นที่สาธารณะหรือโกดังใหญ่สำหรับมอบงาน ซึ่งจะช่วยให้คนไร้บ้านไปทำความสะอาดในโครงการจ้างวานข้า เพื่อมีรายได้หล่อเลี้ยงชีวิต แต่ในฐานะเพื่อนร่วมสังคม เราทุกคนก็เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ได้ เพียงแค่เปิดใจ เปลี่ยนมุมมองที่ต่อกันเป็นความเข้าใจและพร้อมให้โอกาส 

จ้างวานข้า แพลตฟอร์มสร้างอาชีพให้คนไร้บ้านที่รับทำความสะอาดพื้นที่ทุกรูปแบบ, มูลนิธิกระจกเงา

ภาพ : มูลนิธิกระจกเงา

สนับสนุนโครงการได้ที่ โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงาบัญชี 202-2-58289-4 ธนาคารไทยพานิชย์ และแจ้งพื้นที่ให้กลุ่มจ้างวานข้าไปทำความสะอาดได้ที่ Facebook : มูลนิธิกระจกเงา เบอร์โทรศัพท์ 091-046-8598

Writer

Avatar

มิ่งขวัญ รัตนคช

อดีต Urban Designer ผู้รักการเดินทางสำรวจโลกกว้าง สนใจงานออกแบบเชิงพฤติกรรมมนุษย์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากน้ำหยดเล็กที่ไหลมารวมกัน