17 พฤศจิกายน 2023
4 K

งาน Adman Awards & Symposium 2023 เวียนมาและจบลงไปอีกครั้ง พร้อมบรรยากาศสนุกสุดเหวี่ยงของพี่น้องวงการโฆษณาในคืนประกาศรางวัลที่เพิ่งผ่านไปสด ๆ ร้อน ๆ

Wunderman Thompson Thailand เป็นเอเจนซี่ที่ได้รับการประกาศชื่อบ่อยที่สุดในค่ำคืนนี้ และครองตำแหน่ง Agency of the Year ไปเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน ในขณะที่ Netflix Thailand ก็ยังคงครองตำแหน่ง Advertiser of the Year เอาไว้ได้อย่างเหนียวแน่น 

Media Agency of the Year ในปีนี้ตกเป็นของ Initiative Thailand และ KLAK FILM ได้ตำแหน่ง Production Company of the Year ไปครอง

ในยุคสมัยที่การโฆษณาต้องปรับตัว ไอเดียยังเป็นส่วนประกอบสำคัญในการสร้างผลลัพธ์ ไม่ว่าจะเป็นด้านธุรกิจ การสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องต่าง ๆ หรือแม้แต่การสร้างความเปลี่ยนแปลง

ธีมงานในปีนี้คือ ‘DON’T MAKE ADS, MAKE !MPACT’ เป็นธีมที่เชิญชวนให้ทุกฝ่ายร่วมยกย่องคุณค่าของ Impactful Work ทุกชิ้นที่สรรสร้างขึ้นจากความสร้างสรรค์ในทุกรูปแบบ ไม่จำกัดแค่งานโฆษณา

ไผ่-ภาคย์ วรรณศิริ Chief Creative Officer, Wunderman Thompson Thailand ประธานการตัดสิน Adman Awards 2023 เล่าว่าชิ้นงานที่ส่งเข้ามาประกวดในปีนี้มีความหลากหลายมาก และมีชิ้นงานที่ได้รางวัลแตกต่างกันหลายชิ้น (ในบางปีจะมีชิ้นงานที่โดดเด่นจนกวาดหลายรางวัลเอาไว้คนเดียว) ซึ่งก็ทำให้เห็นทั้งคุณภาพงานที่ส่งเข้ามาและความเอาจริงเอาจังของกรรมการผู้ให้คะแนน

ในงานเทศกาลต่าง ๆ หมวดของรางวัลมักทำให้เราเห็นทิศทางที่วงการกำลังผลักดัน ซึ่ง Adman ปีนี้ก็มีหมวดใหม่ที่เพิ่มเข้ามา คือ ‘CREATIVE IMPACT Awards’ หมวดที่จะให้รางวัลกับงานโฆษณาซึ่งใช้ไอเดียในการส่งผลกระทบ สร้างความเปลี่ยนแปลงได้มากที่สุด และหมวด ‘30 YOUNG JUDGE’ ที่ให้นักโฆษณารุ่นใหม่อายุต่ำกว่า 30 ปีจาก 15 เอเจนซี่ มาร่วมกันเป็นกรรมการตัดสินงานโฆษณาที่พวกเขาเห็นว่าเป็นอนาคต รวมทั้งมีการนำหมวด ‘INTEGRATED MARKETING COMMUNICATION’ กลับมาใหม่หลังจากงดไป 2 ปีด้วย

จากการได้ต่อสายคุยกับประธานการตัดสินของทุกหมวดในเทศกาล ทำให้เราได้รู้ว่างานที่ได้รางวัลแต่ละชิ้นมีคุณสมบัติแบบไหน ในห้องตัดสินมีความคิดเห็นอะไรกันบ้าง ที่สำคัญ บทสนทนาชุดนี้ทำให้เราได้ฟังมุมมองและวิสัยทัศน์จากผู้นำวงการความคิดสร้างสรรค์ 15 ท่าน ผ่านงานรางวัลมากกว่า 20 ชิ้น

คอลัมน์ Best AD ในตอนนี้จึงขอหยิบยกเรื่องราวที่น่าสนใจ น่าเอาไปปรับใช้ และน่าเอาไปแบ่งปันมาเล่าสู่กันฟัง ผ่านงานรางวัลบางส่วนจากเวที Adman Awards & Symposium 2023

BEST

ในทุก ๆ เทศกาลการประกวด จะมีประเภทชิ้นงานที่กรรมการลงความเห็นว่าเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับหมวดนั้น ๆ เป็นงานชิ้นโดดเด่นที่สุด เมื่อเทียบกับงานอื่นในหมวดเดียวกัน ซึ่งในปีนี้ เวที Adman Awards มีทั้งหมด 3 ชิ้นงาน 

Title : ทรงอย่างแบด Hijack วันเด็กแห่งชาติ

Product : Paper Planes / ทรงอย่างแบด

Agency : GMM Music

Best : ENTERTAINMENT
Gold : CREATIVE IMPACT

Adman Awards ไม่ได้ให้รางวันแค่งานโฆษณา แต่ยังเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตสื่อบันเทิงประเภทต่าง ๆ ส่งผลงานเข้ามาประกวดได้ด้วย

และเราเชื่อว่าจะไม่มีโลมากระโดดครั้งไหนที่สร้างอิมแพกต์ได้มากเท่าที่งานวันเด็กแห่งชาติในซาฟารีเวิลด์ เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2566 อีกแล้ว

ตอนที่เด็ก ๆ หลายพันคนพร้อมผู้ปกครองกรูกันเข้าไปจับจองทีนั่งหน้าโชว์โลมา บ้านที่มีเด็กประถมก็รู้อยู่แล้วว่าเพลง ทรงอย่างแบด ของ Paper Planes ดังจับใจเด็ก ๆ แค่ไหน แต่โมเมนต์ที่โลมากระโดดตามสัญญาณมือของ ฮาย Paper Planes ทั้งประเทศก็ได้รู้ว่าวงร็อกวงนี้เป็นหัวหน้าแก๊งฟันน้ำนมที่แท้ทรู

พีท-ทสร บุณยเนตร Chief Creative Officer, BBDO Bangkok ประธานการตัดสินหมวด ENTERTAINMENT บอกว่า ที่ผลงานชิ้นนี้ได้รางวัล Best เพราะไม่ใช่แค่ขายเพลงหรือขายวง แต่สร้างปรากฏการณ์ เป็นการ Hijack วันเด็กแห่งชาติที่เงียบเหงามาหลายปีจากสถานการณ์โควิด พีทเล่าว่า “งานชิ้นนี้มีการวางแผนเพื่อที่จะสร้างอิมแพกต์ขนาดนี้ตั้งแต่การไม่เปิดเผยว่าวง Paper Planes จะไปเล่นที่ไหนในวันเด็ก จนพ่อแม่ผู้ปกครองต้องกดดันผ่านรายการ โหนกระแส ไปจนถึงการไปซ้อมคิวกับโลมา เพื่อทำให้จุด Climax ของโชว์เป็นจุดที่เด็ก ๆ มีความสุขที่สุด และทำให้ Paper Planes ได้รับตำแหน่งหัวหน้าแก๊งฟันน้ำนมไปในชั่วข้ามคืน” และในฐานะประธานกรรมการตัดสินหมวด CREATIVE IMPACT ไผ่-ภาคย์ วรรณศิริ ก็ให้ความเห็นไว้ว่า งานชิ้นนี้เป็นงานที่คิดมาเพื่อสร้างอิมแพกต์ มีความรุนแรงของไอเดียที่กระตุ้นความรู้สึกของผู้รับสารได้ เป็นการกล้าปักหมุดประกาศตัวว่าเป็นวงร็อกฟันน้ำนม เป็นการใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างตรงกลุ่มเป้าหมาย และสร้างอิมแพกต์ได้แบบไม่มีใครสงสัย


Title : The Air Drummer

Product : Robinson Salesation 

Agency : Wolf BKK

Production House : Happy Ending Film

Best : FILM
Gold : Film Craft Casting, Social Film, Film Promotion, Film TV

ภาพยนตร์โฆษณาที่ดีที่สุดของไทยในปีนี้เป็นหนังโปรโมชัน! 

เล็ก-ประเสริฐ วิจิตพาวรรณ Deputy Chief Creative Officer, Ogilvy Thailand ประธานกรรมการตัดสินหมวด FILM เล่าว่าหนังเรื่องนี้ให้วิธีคิดแบบคอนเทนต์ ซึ่งเข้ากับสื่อหลักในยุคนี้อย่างสื่อออนไลน์ คือไม่ได้เล่าแบบรีบร้อน แต่ก็ตรึงคนดูไว้ให้ดูจนจบได้ ด้วยการเล่าเรื่องที่แยบยล มีโครงสร้างดี มีความหักมุม แล้วก็เข้าโปรดักต์ได้อย่างชาญฉลาด เป็นงานที่ไปกวาดรางวัลมาแล้วจากหลายเวทีทั่วโลก และกวาด Engagement จากผู้ชมในโลกออนไลน์ไปได้อย่างล้นหลาม ซึ่งก็เป็นหนึ่งในเหตุผลที่คณะกรรมการเลือกให้งานชิ้นนี้เป็นงานภาพยนตร์โฆษณาที่ดีที่สุดในเวที Adman 2023

เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับความเห็นจาก ชาย-สหรัฐ สวัสดิ์อธิคม Creative Chairman & Founder, CJ WORX ประธานกรรมการตัดสินในหมวด Digital & Social ที่บอกว่าโฆษณาชิ้นนี้มีความเป็นโซเชียลอยู่มาก และในยุคนี้ก็ไม่ได้วัดกันด้วยรูปแบบหรือความยาวอีกต่อไป แต่วัดกันที่ความ ‘น่าพูดถึง’ ในโลกออนไลน์ 

งานชิ้นนี้น่าพูดถึง เพราะในช่วงต้นมีการสร้างความสัมพันธ์ (Relevancy) ผ่านความในใจที่ทำให้หลาย ๆ คนอยากยื่นมือไปบีบมือกับตัวแสดงว่าเคยผ่านความรู้สึกเหล่านั้นมาเหมือนกัน แต่ในตอนท้ายภาพยนตร์กลับหักมุม สร้างรอยยิ้มจาง ๆ ไปจนถึงหัวเราะหนัก ๆ ให้กับคนดูที่หน้าจอ จนได้ยอดไลก์ ยอดแชร์ไปอย่างล้นหลาม

ในแง่งานคราฟต์ งานชิ้นนี้สะกดคนดูด้วยหลาย ๆ องค์ประกอบ และหนึ่งองค์ประกอบที่ทำหน้าที่ได้โดดเด่นตั้งแต่ต้นจนจบคือตัวแสดงที่ อั๋น-วุฒิศักดิ์ อนรรฆพร Film Director / Founder of FACTORY01 Co., Ltd. ประธานการตัดสินในหมวด FILM CRAFT ให้ความเห็นไว้ว่า The Air Drummer มีการคัดเลือกนักแสดงอย่างลงตัวและครบเครื่อง โดยอั๋นสรุปไว้สั้น ๆ ว่า “ถ้าเปลี่ยนตัวแสดงหรือเปลี่ยนการแสดง หนังเรื่องนี้จะไม่อิมแพกต์เหมือนเดิม”


Title : First Generation

Product : Krungsri First Choice

Agency : Leo Burnett x Digitas

Production House : FACTORY01

Best : CRAFT
Gold : FILM CRAFT SCRIPT, 30 YOUNG JUDGE

เรายกให้งานชิ้นนี้เป็นชิ้นงานที่บอกทิศทางของวงการได้ดีที่สุดแห่งปี เพราะเป็นงานที่ 15 กรรมการรุ่นเยาว์ กลุ่ม 30 YOUNG JUDGE ที่ตั้งขึ้นมาครั้งแรกในปีนี้เป็นผู้ให้รางวัล 

คณะกรรมการรุ่นใหม่อายุน้อยกว่า 30 ปีที่คัดเลือกมาจาก 15 เอเจนซี่ บอกว่า First Generation เป็นงานโฆษณาที่พวกเขาอยากมอบรางวัลให้ เพราะบอกอนาคตของวงการโฆษณาทั้งในแง่การเอาอินไซต์มาใช้แบบเข้าอกเข้าใจจริง ๆ ในวันที่การทำความเข้าใจคนรุ่นใหม่เป็นทั้งเรื่องจำเป็นและยากกว่าที่เคย แล้วก็เป็นงานที่บอกแนวคิดและคุณค่าที่คน Gen Z มองหา คือการไม่ต้องถูกตีตราว่าเป็นอะไร แต่เป็นตัวของตัวเองที่เคารพกันและกัน

“และมากกว่าครึ่งห้องก็ใช้บัตร First Choice ด้วย” ไผ่-ภาคย์ วรรณศิริ ในฐานะหัวหน้าห้อง 30 YOUNG JUDGE สรุปอิมแพกต์ของงานชิ้นนี้ให้ฟัง 

และงานชิ้นเดียวกันนี้ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ นำโดย อั๋น-วุฒิศักดิ์ อนรรฆพร ผู้เป็นทั้งประธานการตัดสินในหมวด FILM CRAFT และเป็นเจ้าของผลงานชิ้นนี้ด้วย จึงไม่ได้อยู่ร่วมในการตัดสิน แต่เขาก็ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าห้องด้วยการไปรวบรวมเหตุผลที่เหล่ากรรมการมอบรางวัลนี้ให้กับงานชิ้นนี้มาว่า เป็นงานที่มีการกำกับศิลป์สร้างสรรค์ คือเรียบง่ายแต่ละเอียดลออ เล่าไอเดียของหนังผ่านทุกองค์ประกอบ 

แม้แต่พรีเซนเตอร์คนดังแห่งปีอย่าง พีพี-กฤษฏ์ อำนวยเดชกร ก็เป็นองค์ประกอบสำคัญที่เล่าไอเดียของเรื่องได้อย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งอั๋นบอกว่าเป็นเรื่องหาได้ยากในงานโฆษณาที่ใช้พรีเซนเตอร์ และอีกเรื่องที่เด่นไม่แพ้กันคืองานสคริปต์ ซึ่งเหมือนบทกวี ใช้คำเรียบง่าย แต่พูดเรื่องใหญ่จนเกือบจะเป็นปรัชญา และที่สำคัญคือเป็นสคริปต์ที่ทำให้การขายสินค้านี้น่าฟัง และขมวดคุณสมบัติของบัตร First Choice เอาไว้ได้อย่างสวยงามและครบถ้วน

เมื่อพิจารณาความคราฟต์ของชิ้นงานที่ส่งเข้ามาทั้งหมวด FILM CRAFT และ COMMUNICATION DESIGN CRAFT แล้ว กรรมการทั้ง 2 หมวดยกให้ First Generation เป็นโฆษณาที่ยกระดับความคราฟต์ให้กับวงการโฆษณาไทย

HUNGER

แคมเปญโฆษณาที่ได้รางวัลไป 26 รางวัล ซึ่งถือว่าเยอะที่สุดในเทศกาล และสร้างอิมแพกต์ด้วยไอเดียการสร้างประสบการณ์ให้เป็นที่พูดถึง

Title : Netflix : Taste the Hunger 

Product : Netflix 

Agency : Wunderman Thompson

Silver : INTEGRATED MARKETING COMMUNICATION, AD THAT WORKS, 30 YOUNG JUDGE

แคมเปญโปรโมตภาพยนตร์เรื่อง Hunger ซึ่งฉายผ่าน Netflix สร้างกระแสได้ตั้งแต่เริ่ม โดยมี Touchpoint หลัก ๆ อยู่ 3 ส่วน คือหนึ่ง บิลบอร์ดที่มีมีด สอง ร้านอาหารที่แบ่งออกเป็น 2 ข้าง และสาม ซอสโรซ่าที่เอาไว้ทำเมนูตามในหนัง 

แต่ละ Touchpoint เป็นส่วนประกอบของแคมเปญอย่างมีความหมาย และมีบทบาททำให้แคมเปญสื่อสารได้ตามที่ต้องการมากขึ้น จนได้รางวัลในหมวด IMC และ AD THAT WORKS มาครอง

และในภาพรวม ศาสตราจารย์วิทวัส รุ่งเรืองผล อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประธานกรรมการการตัดสินหมวด AD THAT WORKS บอกว่างานชิ้นนี้ได้รางวัลในหมวดประสิทธิภาพตรงที่ พอทุกสื่อมารวมกัน มันสร้างประสบการณ์ร่วมของผู้บริโภคกับภาพยนตร์ และนำไปสู่สิ่งที่แบรนด์ต้องการ คือทำให้คนรู้จักภาพยนตร์เรื่องนี้มากขึ้นได้ ซึ่งอธิบายได้จากรางวัลที่ Hunger Restaurant และ Roza x Hunger Cry Baby Sauce ที่ได้รับจากหลากหลายหมวด ซึ่งเราขอสรุปมาให้ฟังกันแบบรวบยอดตามนี้


Title : Hunger Restaurant

Product : Netflix 

Agency : Wunderman Thompson

Gold : BRAND ENVIRONMENT & EXPERIENCE DESIGN, OUT OF HOME GUERILLA MARKETING, EXPERIENCE & ACTIVATION BRAND-OWNED EXPERIENCES

Hunger Restaurant เป็นร้านอาหารที่แบ่งร้านออกเป็น 2 ด้าน เสิร์ฟอาหารที่ใช้วัตถุดิบเดียวกัน ต่างกันที่ด้านหนึ่งตกแต่งเป็นร้านแบบ Fine Dinning และอีกด้านตกแต่งเป็นแบบ Street Food 

งานชิ้นนี้ตั้งใจเอาเนื้อหาในภาพยนตร์ออกมาขยายความเพื่อให้คนดูได้มีประสบการณ์ร่วม และเราก็เชื่อว่ากระแสที่พูดเรื่องความเหลื่อมล้ำเป็นแรงผลักสำคัญที่ทำให้งานชิ้นนี้เป็นที่พูดถึง จนทำให้ไอเดียที่ต้องการสื่อสารชัดเจนยิ่งขึ้น งานชิ้นนี้ได้รางวัลทั้งในหมวดการออกแบบ สื่อนอกบ้าน และประสบการณ์ 

หนึ่ง-อัศวิน พานิชวัฒนา Chief Creative Officer, Creative Juice\Bangkok ประธานกรรมการหมวด EXPERIENCE & ACTIVATION พูดถึงงานชิ้นนี้ว่าเป็นงานที่ทำขึ้นมาเพื่อสื่อสารด้วย Experience สร้างผลกระทบต่อความรู้สึก ทำให้คนที่มากินอยากดูหนัง แล้วทำให้คนดูหนังอยากมากิน กรรมการชอบงานชิ้นนี้ตรงที่สื่อสารได้มากกว่า 1 มิติ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของงานที่ตั้งใจสื่อสารผ่านประสบการณ์

 จุดเด่นอีกข้อ คือการตัดสินใจทำร้านนี้ในระหว่างแคมเปญ และยังดูหนังเรื่องนี้ได้ใน Netflix ไม่ใช่ก่อนหรือหลังการฉายหนัง ซึ่งยิ่งทำให้ความตั้งใจสร้างประสบการณ์สื่อสารชัดเจน และงานนี้ก็ยังได้รางวัลในหมวด DESIGN ที่ออกแบบมาเพื่อประสบการณ์ และหมวด OUT OF HOME ด้วย

เข้-สมพัฒน์ ทฤษฎิคุณ Chief Creative Officer, GREYnJ UNITED ประธานกรรมการตัดสินหมวด OUT OF HOME บอกว่าร้านอาหารร้านนี้ตั้งอยู่หน้าห้างสรรพสินค้าแบบที่เห็นแล้วต้องหยุดดู ทำหน้าที่ชวนคนให้รู้จักหนังมากขึ้นได้ดี และที่โดดเด่นมากในงานชิ้นนี้สำหรับหมวด OUT OF HOME คือเป็นสื่อที่ให้ประสบการณ์ร่วม ไม่ใช่แค่การสื่อสารทางเดียวอย่างงานในสื่อ OUT OF HOME ส่วนใหญ่


Title : Roza x Hunger Cry Baby Sauce

Product : Netflix & Roza

Agency : Wunderman Thompson

Gold : DIRECT USE OF AMBIENT: SMALL SCALE, EXPERIENCE & ACTIVATION SPONSORSHIP & BRAND PARTNERSHIP, PUBLIC RELATIONS PLAN SPONSORSHIP & BRAND PARTNERSHIP

ไม่มีอะไรจะเป็นสื่อที่สร้างประสบการณ์ได้โดยตรงเท่าการได้กินรสชาติของอาหารที่เหมือนกันเป๊ะจากในภาพยนตร์อีกแล้ว 

เมื่อ Roza ออกซอสสูตร ‘ผัดงอแง’ Comfort Food ที่นางเอกของเรื่องเล่าว่ามักจะได้กินตอนเด็ก ๆ เวลาไม่สบายแล้วงอแง ในหนังเล่าว่าผัดงอแงนี้เป็นอาหารที่เรียบง่าย แต่พอทำด้วยฝีมือเชฟ บวกกับคุณค่าทางใจ อาหารจานนี้จึงเป็นจานพิเศษที่ใคร ๆ ก็อยากลอง 

พอ Roza ทำซอสนี้ออกมาเป็นแบบสำเร็จรูป ขั้นตอนการทำจึงง่ายมาก ลดกำแพงการเข้าถึงคนทำอาหารทุกระดับฝีมือ ส่งผลให้วินทั้ง Roza ที่สินค้าถึงกับขาดตลาดในบางห้าง และมีคนนำไปทำเป็นเมนูขายในหลายร้าน แล้วก็วินทั้ง Netflix ที่ได้คนเข้ามาในแพลตฟอร์มเพิ่มเพื่อดูหนังเรื่องนี้

ความเห็นจากห้อง Direct ที่มี โอห์ม-ดิศรา อุดมเดช Chief Executive Officer & Creative Founder, Yell Group เป็นประธานกรรมการตัดสิน บอกว่ากรรมการมอบรางวัลให้กับแคมเปญนี้ในหลายแง่มุม ทั้งความน่าตื่นเต้น ฉลาด เล่นกับกระแส และเป็นงานที่สร้าง Direct Response อย่างแท้จริง

เพิท-พงษ์ปิติ ผาสุขยืด Founder & CEO, Ad Addict ประธานการตัดสินหมวด PUBLIC RELATIONS PLAN ก็เล่าจากมุม PR ว่า ท่ามกลางสร้างกระแสการใช้เงินซื้อสื่อเพื่อประชาสัมพันธ์ที่ทำกันเป็นปกติในยุคนี้ งานชิ้นนี้เป็นการร่วมมือกันของ 2 แบรนด์ที่ทำงานตอบโจทย์ทั้ง 2 ฝ่าย และที่สำคัญที่สุดคือเป็นการรวมพลังกันเพื่อสร้างความเป็นที่พูดถึง เพิทบอกว่างานชิ้นนี้เป็นงานที่ ‘สมควรได้รับ Earned Media’ แม้ว่าในความเป็นจริงแคมเปญนี้จะมีการทำประชาสัมพันธ์แบบ Paid ด้วยหรือไม่ก็ตาม

Problem Solver

นักโฆษณาเป็นนักแก้ปัญหา ใน Adman ปีนี้ก็มีงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ผ่านวิธีการต่าง ๆ มาแก้ปัญหาที่เป็นปัญหาระดับโลก ไปจนถึงปัญหาเล็ก ๆ ระดับครัวเรือน

Title : SAVE MY VOICE

Product : Thai Health Promotion Foundation

Agency : VMLY&R THAILAND

Best META SPECIAL AWARD : BEST META PLATFORM CAMPAIGN IDEA, BEST CAMPAIGN FOR SOCIAL CHANGE & DEI
Gold : INNOVATIVE USE OF TECHNOLOGY

งานที่ใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์ คืองานที่ใช้เทคโนโลยีมาแก้ปัญหาที่มนุษย์ทำไม่ได้ เช่น การประมวลผลอย่างรวดเร็วหรือการใช้ข้อมูลจำนวนมาก

SAVE MY VOICE เป็นหนึ่งในชิ้นงานที่ตอบโจทย์นั้นและเป็นงานที่โดดเด่นที่สุดในปีนี้ จากหมวด INNOVATIVE USE OF TECHNOLOGY ชาย-สหรัฐ สวัสดิ์อธิคม ประธานกรรมการตัดสินในหมวดนี้เล่าว่า งานชิ้นนี้ใช้สื่อดิจิทัลมาเปลี่ยนชีวิตคน จากที่ไม่ได้ยินและมีปัญหาการพูด ให้กลายมาเป็นคนที่ใช้คำพูดสื่อสารได้ โดยใช้เทคโนโลยีทั้ง Big Data, AI ผ่านอุปกรณ์ที่ใช้งานง่าย เป็นการออกแบบเพื่อเสนอทางออก เอื้อให้ลงมือทำ และแก้ปัญหาได้จริง ๆ


Title : BREAST CANCER SIMULATOR PAD

Product :  Sabina

Agency :  VMLY&R THAILAND

Gold : EXPERIENCE & ACTIVATION CORPORATE PURPOSE & SOCIAL RESPONSIBILITY

Sabina แบรนด์ชุดชั้นในผู้หญิง ออกชิ้นงานมาเพื่อให้ความรู้เรื่องการคลำก้อนเนื้อเพื่อคัดกรองมะเร็งเต้านมแบบง่าย ๆ เพียงแค่เปลี่ยนฟองน้ำในชุดชั้นในให้เป็นฟองน้ำที่มีเม็ดพลาสติกอยู่ สาว ๆ ก็จะได้รู้ว่าจุดไหนที่ควรคลำ และพอคลำแล้วความรู้สึกแบบไหนถึงจะเป็นความผิดปกติ 

เป็นการใช้ความคิดสร้างสรรค์ที่เรียบง่าย เข้ากับสินค้า (มีรุ่นถอดฟองน้ำออกมาซักได้) และแก้ปัญหาได้ตรงจุดจน หนึ่ง-อัศวิน พานิชวัฒนา ประธานกรรมการหมวด EXPERIENCE & ACTIVATION บอกว่า เป็นไอเดียที่สมควรกับการได้รางวัลในหมวดนี้ เพราะทำให้เห็นปัญหาชัด คนเห็นแล้วหลงรัก เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน


Title : SangSom BAR

Product :  SangSom

Agency :  SOUR Bangkok

Gold : DESIGN AMBIENT/INSTALLATION/EXHIBITION

หมวด DESIGN ให้รางวัลกับความคิดสร้างสรรค์ด้านการออกแบบเพื่อตอบโจทย์อะไรบางอย่าง เซ่-พลอย ลุมทอง Creative Managing Director, C’est Design ประธานการตัดสินของหมวดนี้เล่าว่า งาน SangSom BAR เป็นงาน Installation ที่ตั้งใจสื่อสารความรักษ์โลกของแสงโสมในแบบที่เป็นตัวของตัวเอง และการลดปริมาณขยะในรูปแบบที่เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายที่รักความสนุก แสงโสมเลือกใช้การสร้างบาร์แบบที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ใช้เทคนิคด้านการออกแบบที่ทำให้ใช้ขวดเป็นส่วนหนึ่งของการตกแต่ง และนำกลับมาใช้ใหม่ได้ มีโครงสร้างที่ถอดและย้ายที่ได้ง่าย ที่สำคัญ งานชิ้นนี้สวยและสร้างอิมแพกต์ในฐานะงานออกแบบที่จะช่วยสร้างโลกให้ดีขึ้น


Title : Som-Sang What? Campaign

Product :  SangSom

Agency :  SOUR Bangkok

Gold : COMMUNICATION DESIGN CRAFT ART DIRECTION

หนึ่งในความสนุกของการทำงานโฆษณาคือการต้องหาแง่มุมสื่อสาร ‘เงื่อนไข’ ต่าง ๆ ให้ออกมาน่าจดจำ ดึงดูดใจ ตรงกับคาแรกเตอร์แบรนด์ และสร้างยอดขายให้ได้

งานชิ้นนี้เป็นงานที่ได้รับความสนุกนั้น และครีเอทีฟก็แก้ปัญหาโดยการเอาเงื่อนไขมาทำเป็นไอเดียเสียเลย 

โสมแสงที่เป็นแคมเปญจากแสงโสม ซึ่ง มิ้น-นพรัตน์ เอกสุวรรณเจริญ Creative Director & Head of Art, SOUR Bangkok ประธานการตัดสินในหมวดนี้และเจ้าของผลงานเล่าว่า งานนี้เกิดจากการสังเกตเห็นจุดแปลก ๆ ในแพ็กเกจจิงพิเศษของแสงโสมที่เจาะช่องหน้าต่างตรงระหว่าง 2 ขวดให้โผล่มาแค่คำว่า (แสง) โสม ของขวดซ้าย และ แสง (โสม) ของขวดขวา และหยิบตรงนั้นมาต่อยอดเป็นไอเดียสนุก ๆ ผ่านแพ็กเกจจิง เพลง มิวสิกวิดีโอ และสื่อ ณ จุดขาย

มิ้นเล่าด้วยว่างานในปีนี้น่าสนใจตรงที่ไม่ใช่งานจากสื่อเดิม ๆ แต่เป็นแคมเปญที่ใช้สื่อหลากหลาย และคิดมาเพื่อสนับสนุนกันและกันเป็นอย่างดี เป็นงานที่สเกลใหญ่ มีความพิถีพิถัน และกรรมการก็เชื่อว่างานชิ้นนี้จะสร้างอิมแพกต์จากการนำแนวคิดความคราฟต์ไปถึงคนในวงกว้าง ทำให้คนเห็นพลังของงานคราฟต์เพื่อการสื่อสารมากขึ้น


Title : Mom, It’s OK Not To Cook.

Product :  ZEN

Agency :  SOUR Bangkok

Gold : GOOD EQUALITY

ความคาดหวังจากบทบาทในสังคมเป็นเรื่องน่าหนักใจสำหรับสังคมยุคใหม่ ZEN ในฐานะร้านอาหารที่เสิร์ฟอาหารดีต่อสุขภาพ เลยถือโอกาสวันแม่ ปลอบใจแม่ ๆ และบอกสังคมว่าแม่ทำกับข้าวไม่เก่งก็ไม่เป็นไรนะ แม่เก่งอีกตั้งหลายอย่างนี่นา 

งานชิ้นนี้นอกจากทำให้แม่ ๆ รู้สึกดีขึ้น ทำให้สังคมได้ฉุกคิดเรื่องความคาดหวังว่าคนเป็นแม่ต้องทำอาหารเก่งทุกคนแล้ว ZEN ยังได้โชว์ Food Shot ยั่วน้ำลายไปพร้อมภาพน่ารัก ๆ ที่ทำให้ Mood and Tone ของงานชิ้นนี้น่าแชร์ไปบนหน้าฟีดตัวเอง จนทำให้ยอดการเข้าถึงและการมีส่วนร่วมทำให้แบรนด์เป็นที่จดจำ และเป็นตัวเลือกสำหรับมื้อพิเศษในวันแม่ด้วย

ลิต-ชลิต มนุญากร Creative / Founder of AND FRIENDS STUDIO ประธานกรรมการตัดสินหมวด GOOD บอกว่างานทุกชิ้นที่ส่งมาในหมวดนี้เป็นงานที่มีคุณค่าที่ดีทั้งนั้น แต่งานชิ้นนี้โดดเด่นขึ้นมาด้วยความเรียบง่ายแต่มีพลัง มีการหยิบประเด็นเก่าอย่างแม่กับการทำอาหารมานำเสนอในมุมมองใหม่ที่เซอร์ไพรส์คนได้ และขายของได้ด้วย 

Right Time & Place 

ในยุคที่มีสื่อมากมาย การสื่อสารแตกกระจายไปตามผู้รับสาร การเลือกช่องทางที่จะสื่อสารจึงเป็นเรื่องสำคัญ และในปีนี้ก็มีชิ้นงานที่นำไอเดียมาถ่ายทอดได้ถูกที่ ถูกเวลา จนสร้างอิมแพกต์ได้อยู่หลายงาน

Title : KFC Fried Chicken Incense Sticks

Product :  KFC

Agency :  Wunderman Thompson Thailand

Media Agency : Initiative Thailand

Gold : MEDIA PROMOTION, DIGITAL & SOCIAL PRODUCT & SERVICE

ลินดา-ปัทมวรรณ สถาพร นายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย, Chief Executive Officer of GroupM Thailand และประธานกรรมการตัดสินหมวด MEDIA บอกว่าในเทศกาลนี้งานส่วนใหญ่จะใช้ความคิดสร้างสรรค์เป็นตัวตั้ง แต่การใช้สื่อที่มีกลยุทธ์ก็เป็นปัจจัยสำคัญในการจะทำให้แคมเปญบรรลุเป้าหมาย คณะกรรมการจึงอยากใช้พื้นที่นี้ให้รางวัลชิ้นงานที่จะช่วยผลักดันให้นักสร้างสรรค์หันมาสนใจเรื่องนี้กันมากขึ้น

การทำธูปที่มีผิวและกลิ่นเหมือนไก่ทอด KFC เป็นสินค้าที่เพี้ยนและสนุกดี แถมยังเข้ากับกลุ่มเป้าหมายที่อยากเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ด้วย ในช่วงตรุษจีนที่หลายบ้านมีไก่บนโต๊ะไหว้ การที่ KFC เคียงข้างสายเพี้ยนของบ้านด้วยการออกธูปกลิ่น KFC ก็เป็นไอเดียที่ตีซี้กับกลุ่มเป้าหมายได้สนุกดี

งานชิ้นนี้ได้รางวัลในหมวด MEDIA เพราะนอกจากตัวธูปที่ส่งกลิ่นเหมือนตะโกนออกมาเป็นชื่อแบรนด์ KFC แล้ว แบรนด์ยังใช้สื่อเพื่อโปรโมตแบบถูกที่ถูกเวลา คือเลือกโปรโมตไอเดียแปลก ๆ กับกลุ่มคนรุ่นใหม่ผ่าน TikTok แล้วก็เลือกช่วงวันตรุษจีนที่เหมาะกับการสร้างบทสนทนาเรื่องไก่ เรื่องธูป และช่วงเวลากับคนในครอบครัว

เป็นความคิดสร้างสรรค์ที่ถูกที่ถูกเวลา เข้ากับแบรนด์ และเข้ากับกลุ่มเป้าหมายที่สนุกกับแนวคิดที่ต้องการให้ ‘ทุกคน’ ได้ใช้เวลาร่วมกัน แม้จะต้องจุดธูปเรียกมาก็ตาม


Title :  KFC Wheel for One

Product :  KFC

Agency : Wunderman Thompson Thailand

Media Agency : Initiative Thailand

Gold : MEDIA PRODUCT & SERVICE

KFC เป็นแบรนด์ที่พูดเรื่องการแบ่งกันกินมายาวนาน แต่เวลาเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน มีคนที่ต้องกินข้าวคนเดียวมากขึ้น KFC จึงออกเซตขนาดพอเหมาะสำหรับกินคนเดียว และสร้างแลนด์มาร์กสำหรับการกิน KFC คนเดียวแบบไม่แคร์สายตาใครในวันวาเลนไทน์

เป็นอีกแคมเปญที่ ลินดา-ปัทมวรรณ สถาพร บอกว่าเป็นการใช้สื่อได้ถูกที่ถูกเวลา แล้วทำให้ไอเดียได้รับการสื่อสารอย่างทรงพลัง

เพราะชิงช้าสวรรค์ที่มีที่นั่งตู้ละ 1 คน ตั้งอยู่หน้าห้างดัง ในวันที่มองไปทางไหนก็เห็นแต่คนมีคู่ ก็ทำให้การกินข้าวคนเดียวในวันวาเลนไทน์ (บนชิงช้าสวรรค์) กลายเป็นเรื่องที่น่าอิจฉาขึ้นมาเลย


Title : THE BEDTIME BROCHURE

Product :  Nora by Areeya Property

Agency : Norminee

Gold : DIRECT MAILING

โอห์ม-ดิศรา อุดมเดช ประธานการตัดสินในหมวด DIRECT ซึ่งเป็นหมวดที่ให้รางวัลความคิดสร้างสรรค์ที่ทำให้เกิดพฤติกรรมหรือความรู้สึกที่ต้องการได้โดยตรงจากสื่อที่ใช้เล่าว่า งาน THE BEDTIME BROCHURE เป็นชิ้นงานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการพาสื่อแผ่นพับ ซึ่งมีประสิทธิภาพที่สุดในวงการอสังหาริมทรัพย์ ให้เข้าไปอยู่ในเวลาที่คนคิดถึงครอบครัว คิดถึงอนาคตของลูก ซึ่งอาจนำไปสู่การซื้อบ้านได้มากที่สุด อย่างเวลาอ่านนิทานให้ลูก 

และที่สำคัญ นิทานเรื่องนี้สนุกด้วย แผ่นพับนี้เลยได้ไปอยู่บนชั้นหนังสือนิทานที่เด็ก ๆ หวงแหน แทนที่จะอยู่ในถังขยะเหมือนแผ่นพับอื่น ๆ


Title : SALA COCKPIT

Product :  COCKPIT

Agency :  CJ WORX

Gold : OUT OF HOME AMBIENT & SPECIAL BUILD: LARGE SCALE

เข้-สมพัฒน์ ทฤษฎิคุณ ประธานกรรมการตัดสินหมวด OUT OF HOME พูดถึงงานชิ้นนี้ว่า ไม่ใช่แค่ไอเดียที่เห็นแล้วเหลียวหลัง แต่ศาลา COCKPIT นี่ตั้งอยู่ข้างทางในช่วงเทศกาลที่คนเดินทางมาก เป็นช่วงเวลาและสถานที่ที่เหมาะเจาะในการชวนคนมาคิดถึงเรื่องการดูแลยางและน้ำมันเครื่อง และเพิ่มยอดขายให้กับลูกค้าได้ 

เขาเล่าด้วยว่าศาลาเหล่านี้ดัดแปลงจากศาลาข้างทางที่เสื่อมสภาพแล้วให้มาเป็นศาลาของ COCKPIT ทำให้งานสร้างสรรค์ชิ้นนี้มีคุณค่ามากกว่างานโฆษณาชิ้นหนึ่ง

งานโฆษณาที่สร้างอิมแพกต์จากเวที Adman ยังมีให้ติดตามอีกมากมายหลายชิ้น เราเสียดายมากที่เลือกมาเล่าไม่ได้ทั้งหมด แต่ขอแปะลิงก์ให้ไปติดตามกันได้ที่นี่

สุดท้ายนี้ขอแสดงความยินดีกับทุกรางวัลและทุกชิ้นงานที่แม้ไม่ได้รางวัล แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างอิมแพกต์ให้กับผู้บริโภค สินค้าหรือบริการ และสังคมของเรา

Writer

พิชญา อุทัยเจริญพงษ์

พิชญา อุทัยเจริญพงษ์

อดีตนักโฆษณาที่เปลี่ยนอาชีพมาเป็นนักเล่าเรื่องบนก้อนเมฆ เป็นนักดองหนังสือ ชอบดื่มกาแฟ และตั้งใจใช้ชีวิตวัยผู้ใหญ่ไปกับการสร้างสังคมที่ดีขึ้น