เราเชื่อว่าหากคุณอยู่ในแวดวงโฆษณา ชื่อ ชลิต มนุญากร อาจจะคุ้นหูอยู่บ้าง หรืออย่างน้อยหนังโฆษณาที่ชลิตมีส่วนร่วมน่าจะเคยผ่านตาคุณบ้างไม่มากก็น้อย หรืออย่างน้อยที่สุด หลังจากอ่านเรื่องราวและแนวคิดของเขาผ่านการทำบ้านของเขาและครอบครัว คุณอาจจะคลิกหาโฆษณาที่เขาทำในนาม AND FRIENDS ก็เป็นได้

บ่ายแก่ ๆ วันศุกร์ก่อนหยุดยาว ไม่ต้องพูดถึงการจราจรในเส้นสุขุมวิทว่าจะหนาแน่นและวุ่นวายขนาดไหน เราแยกตัวออกจากความวุ่นวายที่ถนนหลัก เข้าซอยย่อย จนถึงบ้านที่นัดหมาย หลังจากทักทายกันแล้ว เจ้าของบ้านชวนให้เข้าชมภายในบ้าน ทั้งบริเวณชั้นล่างและชั้นบน ก่อนกลับลงมานั่งคุยกันในสวนห้องนั่งเล่นที่มองเห็นสวนเขียว ๆ และบ่อน้ำบริเวณด้านนอกอย่างชัดเจน

“ผมเป็นคนชอบตั้งชื่อให้ข้าวของ อย่างรถ 2 คันนั้น ชื่อถั่วเหลือง อีกคันชื่อยานแม่เพราะภรรยาใช้ ส่วนบ้านหลังนี้ ผมตั้งชื่อไว้ว่า ‘Kasi House’ คำว่า Kasi เป็นคำต้นของนามสกุลแฟน อ้อ-อัมพิกา กสิวิทยานันท์ ผมอยากให้เขารู้สึกว่าบ้านนี้เป็นบ้านของเขา” ลิต-ชลิต มนุญากร เจ้าของบ้าน เริ่มบทสนทนาแบบเป็นกันเอง

เปลี่ยนบ้านเก่า 50 ปีเป็นบ้านคนโฆษณา สะท้อนเรื่องราวชีวิตและภารกิจทำขนมของแม่ลูก

หากบ้านหลังนี้เป็นเพื่อนใหม่ หากการทักทายถามไถ่ชื่อทำความรู้จักในเบื้องต้นเป็นขั้นตอนแรกในการทำความรู้จักแล้วนั้น ต่อจากนี้คือการทำความรู้จักเจ้าของบ้านอย่างเป็นทางการผ่านงานที่เขากำลังทำ 

ลิตเป็นหนึ่งในหุ้นส่วนบริษัทเอเจนซี่โฆษณา AND FRIENDS อย่างที่ทราบกันว่างานหลัก ๆ ก็คือทำโฆษณาตามโจทย์ที่ลูกค้าต้องการ มีทั้งงานออนไลน์ เฟซบุ๊ก และแตกแขนงมากขึ้นตามที่เขาขยายความให้ฟัง

“บริษัท แอนด์เฟรนด์สตูดิโอ เป็นบริษัทเอเจนซี่โฆษณา แต่คำว่าโฆษณาสมัยนี้มันเบลอ ๆ เนอะ นอกจากทำโฆษณาตามโจทย์ที่เราได้รับมาแล้ว ตอนนี้โปรเจกต์ที่กำลังทำอยู่คือกำลังทำให้ ททท. (การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย) มันก็จะควบรวมทั้งทำโฆษณาและทำทริปท่องเที่ยว ทริปออร์แกนิกที่ให้คนไปเดินป่า เรียนรู้ธรรมชาติ”

ทำไมถึงมาเลือกบ้านหลังนี้

“มันเป็นบ้านเก่าในละแวกนี้ซึ่งเป็นชุมชนดี แต่ที่ตัดสินใจจริง ๆ คือ ชอบบันได เป็นบันไดแบบยุคเก่า ราวบันไดสวยมาก วันแรกที่มาดูบ้าน เราลองเดินขึ้นบันไดก่อนเลย และบันไดยุคนั้น ขั้นบันไดมันจะเตี้ย ๆ แล้วก็กว้าง จำบรรยากาศได้ วันที่เราพาเด็ก ๆ มาดูบ้าน เห็นเด็ก ๆ วิ่งขึ้นบันได แล้วความรู้สึกมันใช่เลย หลังจากตัดสินใจซื้อก็ให้ อาจารย์จุลพร นันทพานิช มาสำรวจ อาจารย์บอกว่าน่าจะเป็นบ้านที่สร้างเมื่อ 40 – 50 ปี ซึ่งลองเช็กจากข้างบ้าน เขาก็ว่าประมาณนั้น”

เมื่อสถาปนิกสำรวจลูกก่อนสำรวจบ้าน

“เราได้ยินเรื่อง อาจารย์จุลพร (สถาปนิกผู้ออกแบบ บ.ป่าเหนือสตูดิโอ) จากใน The Cloud แล้วก็ทราบมาว่าแกทำสวนป่าให้ พี่ต่อ ผู้กำกับ เลยอยากให้แกมาออกแบบบ้านให้

“ตอนแรกเราก็ไม่แน่ใจว่าอาจารย์จะมาทำให้รึเปล่า เพราะอาจารย์แกรุ่นใหญ่ คงไม่มาทำให้เรา แต่เราก็โทรไปอ้อน โทรไปหาอาจารย์ อาจารย์ก็ อ๋อ ครับ ผมขอคิดดูก่อน ผมยังจำได้ คำถามแรกแกไม่ได้ถามเรื่องบ้านนะ อาจารย์ถามว่าเราเป็นใครก่อน เราก็แนะนำตัวตามประสา แล้วก็บอกว่ามีลูก 2 คน แกไม่ขอดูรูปบ้าน แกขอดูรูปลูก เราส่งรูปลูกให้ดู ว่าเราเป็นพ่ออย่างนี้ ลูกเรามีคาแรกเตอร์แบบนี้ ชอบเล่นชอบอะไรแบบนี้

เปลี่ยนบ้านเก่า 50 ปีเป็นบ้านคนโฆษณา สะท้อนเรื่องราวชีวิตและภารกิจทำขนมของแม่ลูก

“จำได้ว่าช่วงที่ติดต่อกับอาจารย์เป็นช่วงที่ปิดโควิดพอดี แล้วเราก็พาลูกหนีกรุงเทพฯ ไปอยู่ปราณบุรี อยู่ริมหาดหลายเดือนเลย ภาพที่ส่งไปให้ดูตอนนั้น ลูก ๆ เราเลยดูเป็นเด็กเอาต์ดอร์ เล่นดิน เล่นทรายอยู่กลางแจ้ง น่าจะถูกใจอาจารย์ แกเลยยอมทำให้” เขาหัวเราะ

ดีอยู่แล้ว ไม่ต้องพยายามไปดีไซน์เพิ่ม

“แบบเดิมของบ้านหลังนี้เมื่อ 40 ปีก่อนน่าจะสวย แต่เจ้าของเก่าต่อเติมจนแน่นไปหมด ติดกำแพงหมดทั้ง 4 ด้านเลย เราก็ตัดทอน รื้อ เลาะ สิ่งที่เกิน ๆ หรือฟังก์ชันที่ไม่จำเป็นออก ส่วนโครงสร้างหลัก ๆ ยังคงเหมือนเดิม 

“แนวทางของอาจารย์จุลพรคือเก็บของเดิมที่สวยแล้วทำให้เรียบร้อย ทำฟังก์ชันให้มันได้ ทำให้ร่วมสมัยขึ้น ทั้งวัสดุ สีสัน ส่วน Facade ปูนที่เป็นซี่ ๆ เป็นบังตา บังแดด อาจารย์บอกว่าเป็นลักษณะเด่นของการดีไซน์บ้านในยุคนั้น แกก็เก็บไว้ ไม่ได้ทำอะไรเลย”

เปลี่ยนบ้านเก่า 50 ปีเป็นบ้านคนโฆษณา สะท้อนเรื่องราวชีวิตและภารกิจทำขนมของแม่ลูก
เปลี่ยนบ้านเก่า 50 ปีเป็นบ้านคนโฆษณา สะท้อนเรื่องราวชีวิตและภารกิจทำขนมของแม่ลูก

ไม่ใช่อะไรก็ถมสูงไว้ก่อน

หากพูดถึงสิ่งที่กังวลสำหรับการอยู่อาศัยในละแวกนี้ ไม่ใช่เรื่องสภาพแวดล้อม ผู้คน เพื่อนบ้าน แต่กลับกลายเป็นเรื่องน้ำท่วม

“บ้านละแวกนี้ทุกหลังท่วมหมดเลย หลังนี้ตอนที่กำลังสร้างก็ท่วมนะ ท่วมเหมือนสวนสยามเลย ด้วยความที่ตัวบ้านต่ำกว่าถนน เวลาที่น้ำท่วมน้ำจะไม่เข้ามาทางรั้ว แต่จะเข้ามาทางท่อ ส่วนมากบ้านอื่นมักจะเอากระสอบทรายมากั้นน้ำ น้ำก็มุดเข้ามาทางท่อทั้งนั้น เพราะอย่างนี้อาจารย์เลยดีไซน์ให้ท่อเราเป็นระบบปิด

“เราปั๊มออกหมดเลย น้ำเสียก็ปั๊มออก ทำบ่อพักขนาดใหญ่ 2 บ่อ แล้วก็ปั๊มออกเพื่อให้น้ำไม่ไหลย้อน ส่วนที่จอดรถทำเป็นสโลปถมขึ้นมาเพื่อกันน้ำเข้า แกบอกว่ามันเป็น Sunken Design เราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับพื้นที่ ทำให้สวยในบริบทของมัน ไม่ใช่ได้ที่มาก็ถมให้สูงไว้ก่อน 

“ตอนแรกอยากจะดีดบ้านมาก เพราะกลัวน้ำท่วม แต่สิ่งที่จะตามมาอีกเป็นพรวน อย่างดีดบ้านปุ๊บ เงื่อนไขของเสาของคาน Facade คือมันต้องโละทุกอย่าง ดีไซน์บ้านเดิมก็จะเสียหมด หรือถ้าจะถมนี่ก็จะหนักเลย ชั้น 1 ก็จะเตี้ย 

“พอได้ฟังอาจารย์จุลวิเคราะห์เรื่องน้ำฝนให้ฟังว่า ด้วยระบบที่เราทำเนี่ย เรากลัวแค่น้ำฝนที่ตกจากฟ้าอย่างเดียว แกคำนวณน้ำฝนต่อตารางเมตรต่อวินาที ทำบ่อ แล้วคำนวณแรงสูบน้ำของปั๊มให้สูบออกได้เร็วกว่าน้ำฝนที่ตกลงมา”

ช่างไม้ที่สอนท่านอนที่ถูกต้อง

เพราะความต้องการนำวัสดุไม้มาเป็นส่วนประกอบในงานออกแบบ ไม้แต่ละชนิดจึงถูกเลือกมาใช้ตามความเหมาะสมในการใช้งาน ไม้สักสำหรับปูพื้นบริเวณระเบียงกึ่งเอาต์ดอร์ต่อเนื่องจากพื้นที่บ้าน ไม้แดงทนแดดไว้ตกแต่งพื้นที่ผนังด้านนอก รวมถึงมีทั้งไม้วงกบ ทำให้สีไม้แตกต่างกัน อาจารย์จุลพรจึงแนะนำให้ขัดผิวนิดหนึ่งแล้วทาด้วยน้ำมันขี้โล้ ซึ่งสีที่ได้ออกมาจะดำแบบยังเห็นลายไม้อยู่ กระดำกระด่างนิด ๆ เฟดนิด ๆ

เปลี่ยนบ้านเก่า 50 ปีเป็นบ้านคนโฆษณา สะท้อนเรื่องราวชีวิตและภารกิจทำขนมของแม่ลูก
เปลี่ยนบ้านเก่า 50 ปีเป็นบ้านคนโฆษณา สะท้อนเรื่องราวชีวิตและภารกิจทำขนมของแม่ลูก

เจ้าของบ้านมองว่ามันสวยดี แล้วพูดเสริมถึงบริเวณส่วนพื้นไม้ด้านนอกตัวบ้านว่า “ส่วนพื้นไม้ตรงส่วนเอาต์ดอร์อันนี้ดูเหมือนเป็นเนื้อไม้ดิบ ๆ แบบไม้สักเก่านะ แต่นี่คือทาเคลือบไม้แล้ว อาจารย์บอกว่าเป็นเหมือนชั้นแก้ว เป็นซิลิกาที่เขาทำมาเคลือบไม้ แต่ให้สัมผัสเหมือนไม้ที่ไม่ได้เคลือบอะไร ซึ่งคนดูไม่รู้ก็นึกว่าไม่ได้ทาอะไรเลย”

นอกจากความรู้เรื่องงานไม้จากอาจารย์จุลพรที่ลิตได้เรียนรู้เพิ่มในการทำบ้านครั้งนี้แล้ว สิ่งหนึ่งที่เจ้าของบ้านชื่นชมคืองานของช่างไม้

“ช่างไม้นี่เก่ง คือเราให้เขาช่วยทำชั้นวางหนังสือ เขาก็ใช้วิธีทำไม้ตั้งแล้วก็บากวางชั้นไม้เข้าไปนิดเดียว แค่ 3 มิลลิเมตร ไม่ใช้ตะปู เราไม่มั่นใจในความแข็งแรงช่างก็เลยใช้วิธีปีนโชว์ เราก็เลย โอเค ๆ” ลิตหัวเราะ 

“ชวนแกมาต่อเตียงให้หน่อย ผมก็เลือกแบบให้แก วันที่มาติดตั้ง แกก็พาลูกน้องมาคนหนึ่ง แบกกันขึ้นมาชั้นบนเลย เอามาเป็นเลโก้ต่อประกอบ แล้วแกก็แอบมาบอกเราว่า คุณชลิต คุณต้องนอนฝั่งซ้ายนะ เราก็คิดว่านี่มันเคล็ดโบราณรึเปล่า เพราะแกบอกว่าแกทำไม้โบราณ ปูแผ่นไม้ซ้ายทับขวา ช่างไม้ผมสอนแม้กระทั่งท่านอน แล้วก็มีการดีไซน์เพิ่มไว้ตรงหัวเตียง เพื่อความคิดจะได้ไม่เตลิดตอนนอน ซึ่งผมชอบมาก”

เปลี่ยนบ้านเก่า 50 ปีเป็นบ้านคนโฆษณา สะท้อนเรื่องราวชีวิตและภารกิจทำขนมของแม่ลูก

ขนมไทยกำหนดดีไซน์บ้าน

“ส่วนงานตกแต่งภายใน ได้ คุณเก๋ และ คุณแคท จาก SAB มาทำ ด้วยความที่เขารู้ว่าอาจารย์จุลพรเข้ามารีโนเวตบ้านให้ เขาเลยเข้ามาช่วยในส่วนตกแต่งภายใน ซึ่งหลัก ๆ ก็คือเข้ามาช่วยทำให้สอดคล้องกับการออกแบบสถาปัตยกรรม คุมบรรยากาศ คุมโทนสี

“โจทย์ในการออกแบบภายในเราเริ่มจากชุดครัวต้องใหญ่ เพราะแฟนผมเขาชอบทำขนมกับลูก ทำหลากหลายมาก ขนมฝรั่ง คุกกี้ โดยเฉพาะขนมไทยที่อุปกรณ์เยอะมาก ต้องมีที่เก็บของในครัวเยอะ แล้วพอชุดครัวใหญ่ปุ๊บ ทุกอย่างต้องลด เพราะ Island ที่ได้มานี่กินพื้นที่ไปครึ่งหนึ่งของบ้าน เราก็เลยใช้วิธีว่า ชั้นนี้ไม่ต้องเผื่อพื้นที่ดูทีวี 

“โชคดีเพราะว่าพี่ผมเขาทำแบรนด์ Boundary ซึ่งเป็นแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ที่เขานำเข้า เราก็เลยใช้ชุดครัวของเขา แต่ไม่มีปัญญาซื้อนะ ใช้วิธีทำหนังโฆษณาให้เขาแทน คราวนี้พอได้ Island ตัวใหญ่มา มันสวยเท่มาก ดีไซน์ชั้นนี้ก็เลยต้องโดนชุดครัวพาไป เรียกว่าดีไซน์เดินตามชุดครัว ล้อกันไปทั้งสีสัน รูปทรง สุดท้ายก็ออกมาเป็นแบบนี้ เพราะขนมไทยแท้ ๆ”

เปลี่ยนบ้านเก่า 50 ปีเป็นบ้านคนโฆษณา สะท้อนเรื่องราวชีวิตและภารกิจทำขนมของแม่ลูก

ส่วนกิจกรรมที่อยากให้ลูกทำ ก็ให้เอามาอยู่ในจุดที่มองเห็นง่าย ๆ

“ที่บอกว่าทำ ๆ ปรับ ๆ ไปเนี่ย ทำให้รู้ว่าเราให้ความสำคัญกับเรื่องอะไร ตอนที่เราปรับไปเรื่อย ๆ อย่างมุมตรงโซฟาที่นั่งตรงนั้น ผมทะเลาะกับตัวเองอยู่ 4 – 5 รอบ ปรับไปปรับมา จะมีทีวีดีไหม ถ้ามีทีวีในจุดที่เรานั่งบ่อย ๆ เราก็จะเน้นดูทีวี แต่ถ้ามีเปียโน มีเครื่องดนตรี เราและลูกก็จะเล่นดนตรี อยู่ที่เราเรียงลำดับความสำคัญ อยากให้อะไรอยู่ใกล้หู ใกล้ตา ใกล้มือ”

เปลี่ยนบ้านเก่าของครอบครัว ชลิต มนุญากร แห่งเอเจนซี่ AND FRIENDS ที่เชื่อว่าบ้านจะสะท้อนเรื่องราวที่บันทึกไว้ได้
เปลี่ยนบ้านเก่าของครอบครัว ชลิต มนุญากร แห่งเอเจนซี่ AND FRIENDS ที่เชื่อว่าบ้านจะสะท้อนเรื่องราวที่บันทึกไว้ได้

บ้าน พื้นที่แห่งการประนีประนอม

“ผมมองว่าทำบ้านเป็นเหมือนการประนีประนอมในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะดีไซน์ งบประมาณ การใช้ชีวิต คือเราก็มีจริต มีความชอบส่วนตัว ภรรยาชอบอีกแบบ ลูกอยากได้อีกแบบ แต่การทำบ้านมันสุดโต่ง มันเหนื่อยไป สุดท้ายก็คือการประนีประนอมกับทั้งคนและเงินในกระเป๋า 

“หรือแม้กระทั่งตอนตรวจรับงานผู้รับเหมา จริง ๆ ก็ต้องประนีประนอม คือบางเสา บางมุม รอยเล็ก ๆ น้อย กระเบื้องมีเป็นผนัง เราก็เห็นบางแผ่นเบี้ยว ต้องปล่อย ๆ ไปบ้าง เพราะไม่งั้นไม่เสร็จ หรือต้องรื้อออกมาทำใหม่หมด ทะเลาะกันอีก ที่แน่ ๆ ตอนอยู่จริง ๆ ไม่เคยมีใครเดินมองผนัง เงยหน้ามองฝ้าใช่ไหม เราก็ดูรวม ๆ อยู่ไปแบบสบาย ๆ มองกว้าง ๆ ว่าเรียบร้อยก็โอเค

“หลักการคือ ดูโล่ง สบายตา เป็นระเบียบ ไม่สวยเนี้ยบไม่เป็นไร อยากให้ของมีที่อยู่ของมัน เราโตมากับบ้านที่อยู่กันหลายคน ของมันจะรกมาก แล้วของบางชิ้น พอไม่ใช่ของเรา เขาไม่เก็บเราก็ไม่กล้าเก็บ ก็เลยรกไปหมด”

เปลี่ยนบ้านเก่าของครอบครัว ชลิต มนุญากร แห่งเอเจนซี่ AND FRIENDS ที่เชื่อว่าบ้านจะสะท้อนเรื่องราวที่บันทึกไว้ได้

หากมีคนถามว่าบ้านสะท้อนตัวตนผู้อยู่อาศัยหรือไม่ ลิตมองว่าใช่ แต่ในความหมายการสะท้อนตัวตนนั้นคือการสะท้อนเรื่องราวที่ถูกบันทึก ผู้คนที่ได้เจอระหว่างการเดินทางของตน และครอบครัวที่เกิดขึ้นและยังดำเนินต่อไปในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเจอภรรยาที่ชอบทำสวน ชอบตันไม้ ชอบตัดเสื้อ เจอลูก ๆ ที่ชอบวาดลูก ชอบกิจกรรมเอาต์ดอร์ เจอสถาปนิกที่เชื่อในเรื่องการรักษาอาคารเดิม ๆ ไว้ เจอผู้รับเหมาที่พร้อมรับฟังและปรับเปลี่ยนไปตามหน้างาน เจอร้านเฟอร์นิเจอร์ที่กำหนดสไตล์ในการตกแต่งบ้าน เจอช่างไม้โบราณงานเนี้ยบ ๆ เจออินทีเรียที่เข้าใจงาน เจอเพื่อนที่เอาต้นไม้จากงานแต่งมาให้ปลูกในสวน

ลิตพูดสรุปสั้น ๆ ให้ว่า “การที่เราเจอคนเหล่านี้ในชีวิต เลยทำให้เราได้บ้านแบบนี้ขึ้นมา ถ้าเราไม่เจอหรือขาดคนใดคนหนึ่ง บ้านก็ไม่ใช่บ้านแบบนี้แน่ ๆ”

เปลี่ยนบ้านเก่าของครอบครัว ชลิต มนุญากร แห่งเอเจนซี่ AND FRIENDS ที่เชื่อว่าบ้านจะสะท้อนเรื่องราวที่บันทึกไว้ได้
เปลี่ยนบ้านเก่าของครอบครัว ชลิต มนุญากร แห่งเอเจนซี่ AND FRIENDS ที่เชื่อว่าบ้านจะสะท้อนเรื่องราวที่บันทึกไว้ได้

Writer

สุภัทรา ณัฐพูลวัฒน์

สุภัทรา ณัฐพูลวัฒน์

บุคคลธรรมดาที่เคยทำงานหนังสืออยู่ช่วงหนึ่ง ปัจจุบันชอบทำสวน ชอบอยู่กับแมว หมา และหน้าหนังสือ

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์