นานแค่ไหนแล้วนะที่เราไม่ได้ยินเสียงธรรมชาติบริสุทธิ์ที่ปราศจากมนุษย์รบกวน 

ครั้งสุดท้ายที่เราได้ยินเสียงคลื่นกระทบฝั่งโดยไม่มีเสียงเพลงดัง ๆ เข้ามาแทรกคือเมื่อไหร่

ครั้งสุดท้ายที่เราได้ยินเสียงนกร้องในป่า โดยไม่มีเสียงรถราเข้ามาผสาน ผ่านมานานแค่ไหนแล้ว

เมื่อเสียงของมนุษย์ดังขึ้น เสียงของธรรมชาติก็ค่อย ๆ จางหายไป

“เสียงเป็นสิ่งที่หายไปเร็วมาก เร็วเกินกว่าที่เราจะรู้ตัว” 

มะเดี่ยว-วรพจน์ บุญความดี นักธรรมชาติวิทยาผู้หลงใหลการฟังเสียงธรรมชาติ ชวนให้เรานึกถึงสิ่งที่มักมองข้าม

จากจุดเริ่มต้นของการชอบฟังเสียงและบันทึกเสียงธรรมชาติเก็บไว้ฟังส่วนตัว มาวันนี้ เขาได้เริ่มโปรเจกต์ใหม่ที่ชื่อว่า ‘ไพรสาร’ หรือ Praisan.org เป็นเว็บไซต์รวบรวมเสียงธรรมชาติจากระบบนิเวศ 12 แห่งทั่วไทย มาให้คนเข้าไปฟังกันฟรี ๆ แถมมีภาพระบบนิเวศนั้นให้เลื่อนดูแบบ 360 องศา

Praisan เว็บไซต์รวมเสียงจากระบบนิเวศ 12 แห่งทั่วไทยกับความตั้งใจให้มนุษย์เบาเสียงลง

จุดเด่นของเว็บนี้ที่ต่างจากเสียงธรรมชาติทั่วไปในยูทูบ คือหนึ่ง เป็นเสียงที่มีความดิบของธรรมชาติที่แทบไม่ผ่านการปรุงแต่ง และสอง ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อความผ่อนคลายเพียงอย่างเดียว แต่มีไว้เพื่อให้คนได้เรียนรู้ระบบนิเวศนั้น ๆ ผ่านเสียงด้วย 

และนั่นก็ทำให้กว่าจะมาเป็นเสียงแต่ละ Track ต้องเลือกสถานที่อย่างพิถีพิถัน เพื่อให้ได้เสียงที่เป็นตัวแทนที่ดีที่สุดของแต่ละระบบนิเวศ 

แต่ความน่าสนใจไม่ได้อยู่แค่เสียงที่ปรากฏในเว็บเท่านั้น เพราะเบื้องหลังการเดินทางทั่วประเทศของเขาเต็มไปด้วยมุมที่น่าสนใจ น่าตื่นเต้น และเรื่องราวชวนคิดมากมาย และด้วยทักษะความเป็นนักสื่อสารธรรมชาติที่เล่าเรื่องสนุก ทำให้เมื่อฟังเขาเล่าแล้ว เราอยากเก็บกระเป๋าตามไปฟังเสียงธรรมชาติในสถานที่จริงเสียเดี๋ยวนั้น

Praisan เว็บไซต์รวมเสียงจากระบบนิเวศ 12 แห่งทั่วไทยกับความตั้งใจให้มนุษย์เบาเสียงลง
Praisan เว็บไซต์รวมเสียงจากระบบนิเวศ 12 แห่งทั่วไทยกับความตั้งใจให้มนุษย์เบาเสียงลง
Magical Moments

ห้วงขณะมหัศจรรย์ ยามเราเงียบเสียง

ความประทับใจแรกต่อโลกเสียงธรรมชาติสำหรับมะเดี่ยวเกิดขึ้นเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว ในค่ำคืนหนึ่ง ณ อ่าวมะนาว จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

วันนั้นเขายังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย และติดรถรับน้องของภาควิชาไปทำกิจกรรมกันนอกสถานที่ ซึ่งเจ้าตัวเคยเล่าถึงเรื่องนี้ในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า 

 ตอนกลางวันก็มีกิจกรรมเล่นสนุกตามประสานักศึกษามหาลัย แต่พอกลางคืนอันเป็นเวลาเหมาะสมที่จะตั้งวงร่ำน้ำโซดากัน เราผู้ไม่ค่อยถนัดในเชิงสุราเลยแยกออกมาเดินเล่นริมหาดคนเดียว 

ระหว่างที่เขาเดินเรื่อยเปื่อยออกห่างจากผู้คนมากขึ้น เมื่อเสียงมนุษย์เงียบลง เสียงธรรมชาติก็ปรากฏ – มันเป็นเสียงประหลาดบางเบาที่ดังมาจากท้องทะเล คล้าย ๆ โมบายกระทบกัน 

สองเท้าของเขาถูกดึงดูดให้ก้าวไปยังผืนน้ำเพื่อหาต้นตอของเสียง จนในที่สุดก็พบว่ามันคือเสียงของเปลือกหอยทับทิมนับล้าน ๆ ขนาดไม่เกินปลายนิ้วก้อยที่ถูกคลื่นซัดขึ้นมาและดึงกลับไปในทะเล 

“เวลาคลื่นซัดมาดังซู่ แล้วพอคลื่นดึงกลับก็เป็นเสียงกรุ๊งกริ๊ง ๆ มันจับใจเรามาก รู้สึกเหมือนเราเป็นคนแรกในโลกที่ได้ยินเสียงนี้”

Praisan เว็บไซต์รวมเสียงจากระบบนิเวศ 12 แห่งทั่วไทยกับความตั้งใจให้มนุษย์เบาเสียงลง

ค่ำคืนนั้น เขานั่งฟังเสียงโมบายธรรมชาติเป็นเวลานานราวกับต้องมนตร์ แต่เสียงนั้นถูกบันทึกไว้ได้แค่ในความทรงจำ เนื่องจากเขาไม่ได้มีเครื่องบันทึกเสียงติดตัว

หลายปีถัดมา มะเดี่ยวกลับไปยังอ่าวนั้นอีกครั้ง เพื่อหวังจะได้ฟังเสียงที่คิดถึง แต่ปรากฏว่าสิ่งที่หลงเหลือมีเพียงความว่างเปล่า หอยทับทิมนับล้าน ๆ หายไปแล้ว 

เสียงที่เราคิดถึงนั้น จางหายไปตลอดกาล เขาปิดท้ายโพสต์ในเฟซบุ๊กไว้เช่นนั้น 

เหตุการณ์นั้นนับเป็นหนึ่งในเหตุผลที่เขาเริ่มสนใจบันทึกเสียงธรรมชาติเก็บไว้เรื่อยมา จากวัยเรียนสู่วัยทำงาน จนมาถึงยุคล็อกดาวน์โควิด

เมื่อนักธรรมชาติวิทยาสายท่องป่าล่องไพรต้องมาอยู่ในห้องนาน ๆ ความเบื่อหน่ายก็เข้าครอบงำจนต้องหยิบเอาไฟล์เสียงที่เก็บไว้มาเปิดฟังเพื่อทดแทนความโหยหาธรรมชาติ แล้วเขาก็ฉุกคิดขึ้นมาว่า คนอื่น ๆ ก็น่าจะรู้สึกแบบเดียวกัน เขาจึงนำเสียงเหล่านั้นไปแบ่งปันในยูทูบ 

แต่ด้วยข้อจำกัดบางอย่างที่ยังไม่เป็นอย่างใจ เขาจึงเริ่มมีไอเดียเว็บไซต์เสียงธรรมชาติขึ้น และไปขอทุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จากนั้น เรื่องราวการเดินทางทั่วไทยเพื่อบันทึกเสียงธรรมชาติก็เริ่มต้น พร้อมด้วยประสบการณ์มากมายที่พร้อมมาเล่าสู่กันฟัง

Praisan เว็บไซต์รวมเสียงจากระบบนิเวศ 12 แห่งทั่วไทยกับความตั้งใจให้มนุษย์เบาเสียงลง
Unique Soundscape

เสียงเอกลักษณ์

“เป้าหมายหนึ่งคืออยากให้คนฟังได้เห็นว่าประเทศไทยมีระบบนิเวศที่ส่งเสียงตลอดเวลา แล้วแต่ละระบบนิเวศก็มีเสียงที่ไม่เหมือนกันเลย”

เมื่อเข้าไปที่หน้าแรกของเว็บไซต์ จะเห็นแผนที่ประเทศไทยพร้อมหมุด 13 แห่งจาก 12 ระบบนิเวศ ตั้งแต่ทะเลสาบที่บึงละหาน แม่น้ำที่โขงเจียม ป่าสนเขาดอยหลวงเชียงดาว ป่าเมฆแห่งดอยอินทนนท์ ป่าดิบชื้นที่ฮาลาบาลา ป่าดิบแล้งที่เขาใหญ่ หาดทรายที่เกาะมันใน ทุ่งนากลางวันที่เพชรบุรีและยามค่ำที่อ่างทอง ป่าชายเลนที่แหลมผักเบี้ย หมู่เกาะที่สมุย ทุ่งหญ้าที่เกาะพระทอง และสวนสาธารณะที่สวนลุมพินี 

นอกจากเสียง Soundscape ของแต่ละระบบนิเวศที่มีให้ฟังอย่างเต็มอิ่มกว่า 50 นาทีแล้ว แต่ละพื้นที่ยังมี Track สั้น ๆ เป็นเสียงของสิ่งมีชีวิตในพื้นที่นั้น เช่น นกจาบคา กบบัว เป็ดแดง แมลงภู่ ค้างคาวแม่ไก่เกาะ กระรอกท้องแดง ฯลฯ

“ไพรสารไม่ใช่เสียงสำหรับผ่อนคลายทั้งหมด แต่เราพยายามหาสมดุลระหว่างเสียงที่ฟังสบายและสะท้อนถึงเอกลักษณ์ของพื้นที่ โดยพยายามเกลี่ยให้มีหลายแบบ เช่น ถ้าฟังก่อนนอนก็อาจฟังเสียงคลื่นที่เกาะมันใน แต่ถ้าอยู่ในอารมณ์คึกคักหน่อยก็อาจฟังบึงละหานที่มีเสียงนกร้องกันโหวกเหวก ถึงแม้อาจไม่ผ่อนคลายเท่าไหร่ แต่ก็เป็นตัวแทนของระบบนิเวศที่ดี” 

มะเดี่ยวเล่าว่าการเลือกสถานที่จะอาศัยประสบการณ์ส่วนตัวเป็นหลัก โดยพยายามหาพื้นที่ที่เสียงรบกวนน้อย และมีสิ่งมีชีวิตที่เป็นตัวแทนของระบบนิเวศ เช่น เมื่อพูดถึงป่าดิบแล้งที่เขาใหญ่ก็พลาดไม่ได้ที่จะต้องมีเสียงของชะนีมือขาวและชะนีมงกุฎ เพราะเป็นที่เดียวในโลกที่มีชะนี 2 ชนิดนี้อยู่ด้วยกัน รวมถึงเสียงนกเงือกที่ขาดไม่ได้

“ส่วนป่าดิบชื้นที่ฮาลาบาลามีเอกลักษณ์คือต้นสยา ซึ่งเพื่อนที่เป็นนักพฤกษศาสตร์เล่าว่าเดิมทีเป็นไม้ป่าเต็งรังที่ต้นเล็กนิดเดียว แต่พอไปเกิดที่ฮาลาบาลาที่มีฝนตกทั้งปี น้ำเต็มที่ ก็เลยสูงใหญ่กลายเป็นไม้หลักของป่า ด้วยความที่เป็นป่าบนสันเขา เวลาลมพัดจึงมีเสียงเฉพาะตัว แล้วต้นไม้ที่หนาทึบตั้งแต่พื้นดินถึงเรือนยอดก็ทำให้เสียงมีหลายชั้นซ้อนกัน ใกล้ ๆ มีแมลงร้องระงมรอบตัว ไกลออกไปหน่อยเป็นเสียงนก ทั้งนกจาบดินอกลาย นกคัคคู ถัดไปวงนอกก็มีชะนีมือดำ ชะนีเซียมัง” 

Praisan เว็บไซต์รวมเสียงจากระบบนิเวศ 12 แห่งทั่วไทยกับความตั้งใจให้มนุษย์เบาเสียงลง
Praisan เว็บไซต์รวมเสียงจากระบบนิเวศ 12 แห่งทั่วไทยกับความตั้งใจให้มนุษย์เบาเสียงลง

คำบอกเล่าของเขาชวนให้เรานึกภาพตามถึงป่าเขียวชอุ่ม จากนั้นเขาก็อธิบายว่า แม้แต่ลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ก็นำไปสู่เสียงที่เป็นเอกลักษณ์ได้ เช่น ป่าเมฆแห่งดอยอินทนนท์ มีจุดเด่นคือความชื้นสูง ต้นไม้แน่นทึบ ทำให้เสียงนกที่นี่มีความแหลมสูง เนื่องจากเสียงความถี่สูงจะแทรกไปตามช่องว่างระหว่างกิ่งไม้ใบไม้ได้ดี 

“หรือที่เกาะพระทอง ถ้าหลับตาฟังจะรู้เลยว่าเป็นทุ่งหญ้าที่กว้างมาก เพราะมีเสียงจิ้งหรีดรายล้อมเต็มไปหมด ส่วนป่าชายเลนก็มีความพิเศษตรงที่มีน้ำขึ้นน้ำลง แล้วพอน้ำลงใหม่ ๆ จะมีเสียงกุ้งดีดขันป๊อกแป๊ก ๆ ระงมไปทั้งป่า โดยมีเสียงพื้นหลังเป็นเสียงนกในป่าชายเลน”

ส่วนเสียงของทุ่งนาก็มีทั้งกลางวันและกลางคืน โดยช่วงกลางวันเป็นเสียงของใบข้าวสีกันยามลมพัด เสียงรวงข้าวที่สั่นไหวไปมา เคล้าเสียงนกกระจาบที่ลงกินเมล็ดข้าว ส่วนทุ่งนากลางคืนก็เป็นเสียงกบเขียดออด ๆ แอด ๆ ทั่วทุ่ง 

“เราเชื่อว่ามีหลายคนที่เกิดและเติบโตมากับนาข้าว แต่ทุกวันนี้ต้องเข้ามาอยู่ในเมือง ไกลจากพื้นที่ที่เขาเคยผูกพันในวัยเด็ก เราหวังว่าถ้าเขาได้ฟังเสียงพวกนี้ก็อาจเหมือนได้นั่งไทม์แมชชีนย้อนกลับไปสู่ความทรงจำในอดีต” 

Praisan เว็บไซต์รวมเสียงจากระบบนิเวศ 12 แห่งทั่วไทยกับความตั้งใจให้มนุษย์เบาเสียงลง

ส่วนเสียงของมนุษย์ก็ไม่ได้ถูกตัดออกทั้งหมด เพียงแต่คัดเลือกให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและพอดี

“เราว่ามนุษย์ก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ อย่างสวนลุมฯ เราชอบที่มีเสียงจี้กงเข้ามานะ หรือที่โขงเจียมก็ประทับใจมาก เราไปตั้งอุปกรณ์รอตั้งแต่เช้ามืด พอพระอาทิตย์ขึ้นปุ๊บ เหมือนดีดนิ้วเลย นกตัวแรกเริ่มร้อง แล้วตัวอื่นก็ร้องตาม ๆ กัน เราก็กดบันทึกเสียง มีทั้งเสียงน้ำไหลตรงแก่ง เสียงปลาฮุบ นกร้อง แล้วอยู่ ๆ ก็มีเสียงระฆังไม้จากวัดฝั่งลาวดังขึ้นมา ปุ้ง ปุง ปุ่ง แล้วมันพอดีมาก กลมกลืนมาก ชอบมากเลย”

Praisan เว็บไซต์รวมเสียงจากระบบนิเวศ 12 แห่งทั่วไทยกับความตั้งใจให้มนุษย์เบาเสียงลง
Praisan เว็บไซต์รวมเสียงจากระบบนิเวศ 12 แห่งทั่วไทยกับความตั้งใจให้มนุษย์เบาเสียงลง

ความพิเศษของเสียงที่โขงเจียมไม่ได้มีแค่บนบกเท่านั้น แต่มะเดี่ยวยังได้พกไมค์ใต้น้ำ (Hydrophone) ไปบันทึกเสียงปลาด้วย 

“เราจ้างเรือชาวบ้านให้พาไปตรงที่มีปลาเยอะ ๆ พอดับเครื่องลอยลำ จุ่มไมค์ลงน้ำ โอ้โห เหมือนได้เข้าไปสู่อีกโลกหนึ่ง เราได้ยินเสียงปลาร้องเต็มไปหมด พูดแล้วขนลุกเลย คืออยู่ข้างบนมาหลายชั่วโมง ไม่ได้ยินอะไรเลย ทำให้เรารู้เลยว่ามีสิ่งมีชีวิตใต้น้ำอีกมากมายที่มองไม่เห็น” 

เจ้าของเรือคนนั้นยังเล่าให้มะเดี่ยวฟังอีกว่า ถ้าเป็นช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน จะมีฝูงปลาอพยพเข้ามาชนิดที่ว่าทำให้ผืนน้ำดำทะมึน มองลงไปจะเห็นเงาดำ ๆ ของปลาเต็มไปหมด ขนาดที่ได้ยินเสียงพวกมันแม้จะนั่งอยู่บนเรือ  

“เสียดายว่าตอนนั้นไม่ตรงกับช่วงที่เราไป ถ้ามีโอกาสก็อยากกลับไปฟังนะ มันน่าจะเจ๋งมากเลย” 

Praisan เว็บไซต์รวมเสียงจากระบบนิเวศ 12 แห่งทั่วไทยกับความตั้งใจให้มนุษย์เบาเสียงลง
Praisan เว็บไซต์รวมเสียงจากระบบนิเวศ 12 แห่งทั่วไทยกับความตั้งใจให้มนุษย์เบาเสียงลง

นอกจากจุดเด่นในเรื่องการเก็บเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ของระบบนิเวศแล้ว จุดเด่นอีกอย่างของเว็บนี้คือ ตลอดระยะเวลากว่า 50 นาทีของแต่ละ Track ไม่มีการใช้เสียงเดิมมาวนลูป ตั้งแต่วินาทีแรกจนถึงวินาทีสุดท้ายจึงไม่มีตรงไหนเหมือนกันเลย   

 “ถ้าเป็นคนที่ชอบฟังเสียงธรรมชาติ เราว่าเสน่ห์จริง ๆ คือความคาดเดาไม่ได้ อย่างเช่นเสียงคลื่น ถ้าตั้งใจฟังก็จะพบว่ามีทั้งดัง เบา เป็นจังหวะที่แตกต่างกัน หรือหาดที่มีเปลือกหอยก็ฟังสนุกมาก มันจะมีเลเยอร์ของเสียง หรือหาดทรายที่เม็ดทรายไม่เหมือนกันก็สนุก เช่น อ่าวท้องทรายที่เกาะสมุย ซึ่งเป็นทรายเม็ดใหญ่ เวลาคลื่นซัด เสียงจะไม่เหมือนที่อื่นและมีความเฉพาะตัวมาก”

ส่วนขั้นตอนการตัดต่อ เขาเล่าว่ามีแค่ตัดเสียงรบกวนออกไปบ้าง แต่พยายามปรับให้น้อยสุด เนื่องจากมองว่าเสียงในลักษณะนี้เป็นเหมือนการบันทึกความสมบูรณ์ของพื้นที่ในห้วงเวลานั้นไว้ หากปรับมากเกินไปก็จะสูญเสียข้อมูลตรงนี้ 

ความสำคัญอีกอย่างของโปรเจกต์นี้นอกเหนือไปจากการนำเอกลักษณ์ของระบบนิเวศแต่ละแห่งส่งตรงถึงบ้านผู้ฟัง คือการบันทึกประวัติศาสตร์ของเสียงธรรมชาติที่ไม่รู้ว่าจะอยู่ให้เราฟังได้อีกนานแค่ไหน 

Praisan เว็บไซต์รวมเสียงจากระบบนิเวศ 12 แห่งทั่วไทยกับความตั้งใจให้มนุษย์เบาเสียงลง
Endangered Sound

เสียงที่ใกล้สูญพันธุ์

“สิ่งหนึ่งที่ได้เรียนรู้จากโปรเจกต์นี้ คือมนุษย์เราเสียงดังมากเลย” 

นี่คือประโยคสั้น ๆ ที่มะเดี่ยวสะท้อนจากการเดินทางบันทึกเสียงทั่วไทย ตัวอย่างหนึ่งคือเกาะพระทอง จ.พังงา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เขาเคยประทับใจในความเงียบสงบ แต่เมื่อกลับไปคราวนี้ก็พบว่าความสงบนั้นหายไปแล้ว

“เกาะพระทองมีหาดทรายที่ดีมาก ปกติหาดอื่นจะเป็นอ่าวที่โค้งเว้าเข้าไป แต่พระทองเกิดจากทรายพัดเข้ามาทับถมจนกลายเป็นเกาะ ดังนั้นหาดของพระทองจะเป็นเส้นตรงยาวมาก ๆ แล้วเวลาคลื่นซัดเข้ามา เสียงก็จะไล่จากตรงโน้นมาถึงตรงนี้ มันยิ่งใหญ่มาก เรายังติดใจเสียงหาดทรายที่นั่นอยู่เลย”

แต่น่าเสียดายว่าเสียงของหาดทรายแห่งนั้นไม่อาจมาปรากฏในเว็บ Praisan.org เนื่องจากช่วงกลางวันมีเสียงรถอีแต๊กและเสียงเรือวิ่งกันวุ่น ส่วนกลางคืนก็มีเสียงเรืออวนลากที่ดังมาจากในทะเล แม้ว่าจะอยู่ไกลเกินกว่าสายตาจะมองเห็น แต่ความสั่นสะเทือนของเสียงก็เดินทางเข้ามาถึงเครื่องบันทึกได้ 

“ตอนแรกคิดว่าเกาะน่าจะทำงานง่าย แต่ปรากฏว่ายากมาก ด้วยความเป็นพื้นที่เปิดโล่ง เสียงเลยเดินทางได้ไกลโดยไม่มีอะไรกั้น แล้วก็มีเสียงเรือที่ไม่มีกฎหมายควบคุมระดับความดัง” 

ส่วนสถานที่ที่ติดอันดับการเจอเสียงรบกวนจนต้องพับอุปกรณ์กลับบ้านบ่อยที่สุด มะเดี่ยวยกให้อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ที่เจอตั้งแต่เสียงรถสปอร์ตเร่งเครื่องที่ได้ยินแม้จะอยู่ห่างถนนหลายกิโลเมตร เสียงเครื่องบินในชั่วโมงเร่งด่วนที่บินผ่านเกือบทุก 5 นาที รวมทั้งเสียงหึ่ง ๆ จากหม้อแปลงไฟฟ้า

ครั้งหนึ่งได้ข่าวว่าในเทรล กม.33 – หนองผักชี มีต้นไทรสุก นกเงือก ชะนีลงกินกันครึกครื้น เราก็หมายมั่นปั้นมือว่าจะเข้าไปเก็บเสียงความวุ่นวายใต้ต้นไทรผสมกับ Dawn Chorus ให้แสดงถึงความรุ่มรวยของป่าดิบผืนนี้ เขาเคยเขียนเล่าไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัวไว้อย่างนี้

เช้าวันถัดมา เขาออกเดินทางเข้าป่าตั้งแต่เช้ามืด และเมื่อถึงจุดหมายในช่วงฟ้าสาง เสียงนกก็ร้องดังเซ็งแซ่ เขากดบันทึกเสียงด้วยความอิ่มเอมใจ แต่ปรากฏว่าผ่านไปไม่กี่อึดใจ ในหูฟังของเขาก็ได้ยินเสียง ฮึ่ม ๆๆๆๆ บรึม ๆๆๆๆๆ แทรกเข้ามา

“ลืมไปว่าวันนี้เป็นวันอาทิตย์! เป็นวันที่มักมีไบเกอร์นัดกันมาขี่รถเล่นบนเขาใหญ่” 

สรุปว่าทริปนั้น เขาต้องพับเก็บอุปกรณ์กลับบ้านแบบคว้าน้ำเหลว 

ส่วนอีกครั้ง เขาก็ได้ข้อมูลจากนักวิจัยว่ามีจุดหนึ่งที่บันทึกเสียงชะนีมือขาวและชะนีมงกุฎร้องคู่กันได้ ซึ่งเขาก็ไปเก็บเสียงชะนีทั้ง 2 ชนิดได้ตามที่ใจหวัง แถมยังมีเสียงนกแก๊ก นกกระทาดง และนกอีกมากมายร้องประสานอยู่ข้างหลัง เขากลับบ้านด้วยความใจฟู เพียงเพื่อจะพบภายหลังว่า เสียงที่บันทึกมาใช้ไม่ได้

“พอกลับมาถึงกระบวนการในห้อง เปิดฟังอีกครั้งถึงกับเข่าอ่อน มันมีเสียงกลองเบส ดังตึ๊บ ๆๆๆๆ แทรกเป็น Background Noise อยู่เบื้องหลัง เสียงนั้นอยู่ไกลมาก แต่ก็ได้ยินชัดในห้องเงียบ ส่วนตอนที่อัดไม่ได้ยินเพราะมีเสียงนกดังเซ็งแซ่จนกลบเสียงต่ำไปหมด”

ข้อสันนิษฐานที่น่าจะเป็นไปได้มากสุดของเขา คือเป็นเสียงที่ดังมาจากยอดเขาเขียว ซึ่งเขาเคยได้ยินเจ้าหน้าที่เปิดเพลงเสียงดัง แม้จุดนั้นจะห่างออกไปหลายกิโลเมตร แต่เสียงความถี่ต่ำก็ขึ้นชื่อเรื่องการเดินทางไกล 

สำหรับตัวเขาเองอาจเรียกได้ว่าโชคร้ายที่มาผิดวัน แต่เขาก็ชวนให้คิดว่า ถ้ามองในมุมสัตว์ป่าที่อาศัยในแถบนั้น ซึ่งต้องทนอยู่ท่ามกลางเสียงแบบนี้ทุกวันหรือหลายวันต่อสัปดาห์ เสียงเหล่านี้จะรบกวนและเสียดแทงแก้วหูพวกเขาขนาดไหน โดยเฉพาะสัตว์บางชนิดที่ใช้เสียงความถี่ต่ำสื่อสารกัน เช่น ช้าง และอีกหลายชนิดที่มีศักยภาพในการได้ยินสูงกว่าเราหลายเท่า  

วรพจน์ บุญความดี นักธรรมชาติวิทยากับการเดินทางทั่วไทย เพื่อบันทึกเสียงธรรมชาติมาถ่ายทอดใน Praisan.org

ส่วนในบางพื้นที่ เมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลง เสียงของสิ่งมีชีวิตก็เปลี่ยนไป เช่น บึงละหาน จ.ชัยภูมิ ซึ่งในปีที่เขาไปเพื่อบันทึกเสียง บึงน้ำยังอุดมสมบูรณ์ เสียงนกร้องดังก้องรอบด้าน แต่เพียงแค่ 1 ปีถัดมา พบว่าพื้นที่ที่เคยเต็มไปด้วยบัวถูกแทนที่ด้วยจอกหูหนูยักษ์ซึ่งเป็นพืชต่างถิ่นรุกราน นกน้ำจึงลดน้อยลงอย่างชัดเจน  

“มันเศร้ามากเลยนะที่ต้องเห็นระบบนิเวศซึ่งเคยดีมาก ๆ กลายมาเป็นแบบนี้ภายในระยะเวลาแค่ปีเดียว หรือที่เชียงดาวซึ่งเป็นตัวแทนป่าสนเขาที่ดีมาก ในปีที่เราไปก็รู้สึกว่าเสียงนกเบาลง ไม่หนาแน่นเหมือนแต่ก่อนที่เคยมา เข้าใจว่าโดนไฟป่าหนักมาหลายปี” 

ส่วนเสียงของสายธารน้ำไหล ก็ไม่รู้ว่าจะเหลือให้ได้ยินอีกนานเท่าไหร่ เพราะทุกวันนี้ลำธารในป่ามากมายกำลังถูกทำลายด้วยโครงการสร้างฝายของหลายหน่วยงาน ซึ่งแม้จะอ้างว่ารักษ์โลก แต่แท้จริงแล้วคือการฆาตกรรมสายน้ำ และอาจทำให้ปลาบางชนิดหายไปอย่างไม่มีวันกลับ โดยที่มนุษย์บนฝั่งส่วนใหญ่ไม่เคยรู้ตัว 

แม้แต่แม่น้ำโขงที่เป็นสายเลือดหล่อเลี้ยงคนนับล้าน เสียงของสิ่งมีชีวิตที่นี่ก็กำลังจะหายไปจากโครงการเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง

“สาเหตุหนึ่งที่เราเลือกไปโขงเจียม เพราะอยากเก็บเสียงนกกระแตผีใหญ่กับนกเด้าลมแม่น้ำโขง ซึ่งมีที่เดียวในโลก ในช่วงน้ำลงเขาจะวางไข่ที่เกาะแก่งกลางแม่น้ำโขง แต่พอมีเขื่อนแล้วเขื่อนปล่อยน้ำไม่เป็นเวลา รังของเขาก็จะถูกน้ำท่วม เราไม่รู้ว่าเขาจะได้ส่งเสียงร้องอีกถึงเมื่อไหร่ ก็เลยอยากเก็บเสียงเขาไว้” 

นี่ยังไม่นับเสียงของปลาอีกหลายชนิดที่อาจหายไปอย่างถาวร 

ไม่ได้มีแค่ผืนป่ายอดดอย ลำธาร บึงน้ำ และแม่น้ำเท่านั้นที่ถูกคุกคาม แม้แต่หาดทรายที่สร้างมูลค่าทางการท่องเที่ยวมหาศาล ก็กำลังถูกทำลายด้วยโครงการเขื่อนกันคลื่นที่ระบาดหนักไปแทบทุกหาดของประเทศไทย ซึ่งนอกจากไม่แก้ปัญหาแล้ว ยังสร้างปัญหาเพิ่ม 

เรานึกถึงเสียงหอยทับทิมแห่งอ่าวมะนาวที่เขาเคยเล่าถึง และเสียดายเหลือเกินที่ชีวิตนี้คงไม่มีโอกาสได้ยิน ซึ่งมะเดี่ยวเองก็บอกว่าหลังจากวันนั้นก็ไม่เคยได้ยินเสียงนี้ที่หาดไหนอีกเลย

คงน่าเสียดายมาก หากเราจะปล่อยให้ความพิเศษทางธรรมชาติแบบนี้ค่อย ๆ จางหายไป 

และคงน่าเศร้ายิ่งกว่า ถ้าเราไม่แม้แต่จะตระหนักว่าเรากำลังสูญเสียสิ่งที่มีค่าอะไรไป

วรพจน์ บุญความดี นักธรรมชาติวิทยากับการเดินทางทั่วไทย เพื่อบันทึกเสียงธรรมชาติมาถ่ายทอดใน Praisan.org

Listen & Learn

หาก ไพรสาร หมายถึง สารจากพงไพร สารที่มะเดี่ยวอยากส่งไปให้ถึงคนฟังมากที่สุด คืออยากให้ผู้คนได้รับรู้ว่ารอบตัวพวกเขามีสิ่งมีชีวิตมากมายที่กำลังส่งเสียง และทุกเสียงล้วนงดงามและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว 

“ผมว่าการที่เราได้ยินเสียงสัตว์อื่น มันเปลี่ยนทัศนคติของเรา โดยเฉพาะสัตว์ที่เราไม่เคยคิดว่าจะส่งเสียงสื่อสารกัน เช่น ถ้าเขาได้ยินเสียงปลาที่แม่น้ำโขง อาจทำให้ตระหนักถึงพวกมันมากขึ้น มองว่ามีคุณค่ามากขึ้น”

นอกจากนั้น เสียงบางเสียงอาจทำให้เรารู้สึกตัวเล็กลง 

“ตอนได้ยินเสียงนกเงือกกรามช้างบินผ่านป่า ลองนึกถึงนกที่ตัวขนาดเมตรกว่า กระพือปีกดังฟึบ ๆๆๆ ทำให้รู้สึกว่าธรรมชาติมันยิ่งใหญ่เหลือเกิน หรือวันหนึ่งที่เชียงดาว เราได้ยินเสียงกุบ ๆๆ เป็นเสียงความถี่ต่ำและเบามาก ปรากฏว่ามันคือไก่ฟ้าหางลายขวางที่กำลังกระพือปีกประกาศอาณาเขตอยู่ไกล ๆ เราไม่นึกว่าจะได้ยิน แต่เสียดายที่พอมาเช็กเสียงแล้วเครื่องของเราบันทึกไว้ไม่ได้”  

วรพจน์ บุญความดี นักธรรมชาติวิทยากับการเดินทางทั่วไทย เพื่อบันทึกเสียงธรรมชาติมาถ่ายทอดใน Praisan.org

ในขณะที่บางเสียง แม้หูมนุษย์ไม่ได้ยิน แต่ด้วยเครื่องมือบางอย่างก็ช่วยให้เราเข้าไปสู่โลกนั้นได้ เช่น เขาเล่าว่าเมื่อไม่นานมานี้เพิ่งไปอบรมเรื่องค้างคาว และได้เห็นนักวิจัยใช้เครื่อง Bat Detector เปลี่ยนเสียงความถี่สูงของค้างคาวให้อยู่ในช่วงความถี่ที่เราได้ยินได้

“ตอนนั้นเรายืนกลางความมืด มองไม่เห็นและไม่ได้ยินเสียงอะไรเลย แต่พอเปิดเครื่องนี้ปุ๊บ เราได้ยินเสียงค้างคาวรอบตัวไปหมด นั่นแปลว่าจริง ๆ แล้วเขาอยู่รอบตัวเราตลอด แต่เราไม่เคยรับรู้ คือโลกของเราได้ยินแค่นี้ แต่ถ้าขยายมันออกไป ไม่ว่าจะด้วยเครื่องมือหรืออะไรต่าง ๆ เราก็จะรับรู้การมีอยู่ของอีกหลายชีวิตที่อยู่ร่วมโลกกับเรา”

ระหว่างที่คุย เขาชวนให้เรานิ่งฟังเสียงลมพัดใบไม้ พร้อมถามว่าได้ยินเสียงลมพัดต้นหว้าตรงโน้นไหม เป็นเสียงเบา ๆ ที่ถ้าวันไหนลมไม่แรงหรือถ้าไม่ใช่ที่โล่งก็จะไม่ได้ยิน… 

วรพจน์ บุญความดี นักธรรมชาติวิทยากับการเดินทางทั่วไทย เพื่อบันทึกเสียงธรรมชาติมาถ่ายทอดใน Praisan.org

เราพยายามนิ่งฟัง แต่ก็พบว่าคงต้องฝึกความละเอียดของโสตประสาทตัวเองให้มากกว่านี้ 

“เสียงต้นโพก็เพราะมาก อยากชวนไปฟังมากเลย เวลาที่ลมพัด เสียงใบโพที่กระทบกันไม่เหมือนเสียงอื่น เราฟังแล้วรู้สึกว่า นี่สินะที่ทำให้พระพุทธเจ้ารู้สึกสงบสุขจนเกิดปัญญา เขาก็เลยเลียนแบบใบโพไปไว้ในวิหาร ซึ่งเวลาที่แกว่งกระทบกันก็เหมือนเสียงใบโพจริง ๆ… อยากให้ลองไปฟัง” 

เราทดสิ่งนี้ไว้ในใจ และคิดว่าครั้งต่อไปที่เดินผ่านต้นโพจะลองหยุดฟังเสียงดู 

“เวลาเราเข้าไปพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ไม่ได้ใช้แค่การมองหรือการสัมผัส แต่เราเปิดโสตทั้งหมด เสียงก็เป็นหนึ่งโสต เรานั่งอยู่ตรงนี้อาจได้ยินเสียงนกตีทองร้องอยู่ตรงโน้น นกกิ้งโครงร้องอยู่ตรงนั้น เสียงก็เป็นอีกเลเยอร์ที่ซ้อนกับภาพที่เราเห็น เรามีความสุขกับการฟังเสียงต่าง ๆ อย่างเวลาไปวิ่งออกกำลังกายเป็นชั่วโมง ๆ ก็ไม่ใส่หูฟัง แต่จะคอยฟังเสียงรอบตัว” 

แต่น่าเสียดายที่ทุกวันนี้เมืองของเราเต็มไปด้วยความอึกทึก ไม่ว่าจะเสียงรถยนต์ เสียงเพลงดัง ๆ เสียงโฆษณา จนแทบไม่เหลือที่ว่างให้ธรรมชาติได้ส่งเสียง 

“เวลาขึ้นรถไฟฟ้า สังเกตว่าเกือบทุกคนมีหูฟังใส่ เห็นแล้วก็รู้สึกเศร้า เหมือนว่าเขาไม่มีทางเลือกเพราะต้องอยู่ในที่ที่เสียงดัง ถูกยัดเยียดเสียงต่าง ๆ เช่น เสียงโฆษณามาให้ เขาต้องหนีด้วยการใส่หูฟังเพื่อฟังเสียงที่เขาเลือกเอง เราก็คิดนะ ถ้าไม่มีเสียงโฆษณา แต่เปลี่ยนเป็นเสียงนกร้อง เสียงในป่ามาแทน คนอาจเปลี่ยนความรู้สึก จากความเคร่งเครียด ความเหนื่อยล้า มาเป็นอีกความรู้สึกหนึ่ง เราว่าเสียงเป็นสิ่งที่มีพลังมากนะ” 

และไม่ใช่แค่เป็นพลังให้คนตาดีเท่านั้น แต่เว็บไซต์ของเขายังมีฟีเจอร์เพื่อให้คนตาบอดเข้าถึงและใช้งานสะดวกด้วย 

“เวลาคุยกับคนตาบอดจะรู้เลยว่าเขาอยู่ในโลกของเสียงมาก อย่างเช่น โยชิมิ โฮริอุจิ (ผู้ก่อตั้งสมาคมคาราวานหนอนหนังสือ) เขารู้จักนกเยอะมาก เวลาคุยกับเขาเหมือนพูดภาษาเดียวกัน เขาบอกว่าเสียงนกปรอดสวนฟังคล้ายเสียงทอดไข่ดาว หรือตอนไปเขาใหญ่ด้วยกัน พอเดินไปถึงจุดหนึ่ง เขาก็ถามขึ้นมาว่าตรงนี้คือทุ่งหญ้าใหญ่ ๆ ใช่ไหม เพราะเขาได้ยินเสียงจิ้งหรีดร้องรอบตัวเต็มไปหมด คือเขามีวิธีรับรู้โลกไม่เหมือนเรา เลยเป็นแรงบันดาลใจให้อยากทำสิ่งนี้เพื่อพวกเขาด้วย” 

ส่วนก้าวต่อไปของเว็บไซต์นี้ มะเดี่ยวบอกว่า หากมีโอกาสได้ทุนรอบถัดไป อยากพัฒนาโดยเปิดกว้างให้คนทั่วไปเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมามีคนอีเมลมาคุยว่าชอบบันทึกเสียงธรรมชาติและอยากนำมาแบ่งปันด้วย

“ผมเชื่อว่าคงมีอีกหลายคนที่ชอบฟังและบันทึกเสียงธรรมชาติเหมือนกัน เพียงแต่ยังไม่มีพื้นที่ให้พูดคุยหรือแลกเปลี่ยน ก็อยากให้ตรงนี้เป็นพื้นที่ให้เขา และอยากจะทำเพิ่มเกี่ยวกับเสียงในทะเล ส่วนในอนาคตถ้าเป็นไปได้ก็อยากทำร่วมกับองค์กรอะไรสักอย่าง เพื่อที่ว่าหากวันหนึ่งเราไม่อยู่แล้ว ฐานข้อมูลเสียงนี้ก็จะมีคนดูแลให้มันอยู่ต่อไปได้”

วรพจน์ บุญความดี นักธรรมชาติวิทยากับการเดินทางทั่วไทย เพื่อบันทึกเสียงธรรมชาติมาถ่ายทอดใน Praisan.org
Before the Loss

ก่อนเสียงจะเงียบหาย

ทุกวันนี้มนุษย์เรารุกรานสิ่งมีชีวิตอื่นไม่ใช่แค่เชิงพื้นที่ แต่รวมถึงในมิติของเสียงด้วย

“อย่างเช่นที่อังกฤษ มีงานวิจัยว่านกในเมืองส่งเสียงร้องด้วยความถี่สูงขึ้น เพื่อหนีเสียงเครื่องจักร เสียงรถยนต์ แล้วก็ต้องร้องด้วยความดังที่เพิ่มขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าเปลืองพลังงานมากขึ้น” 

ส่วนสิ่งมีชีวิตในน้ำ ผลกระทบก็ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เผลอ ๆ บางชนิดอาจมากกว่า เช่น วาฬ โลมา ที่ใช้เสียงเป็นเครื่องมือหลักทั้งในการสื่อสาร นำทาง หาอาหาร หาคู่ เช่นเดียวกับปลาหลายชนิดที่ใช้เสียงเกี้ยวพาราสี ดังนั้น ไม่ว่าจะเครื่องยนต์เรือ เครื่องจักรในแท่นขุดเจาะ เสียงโซนาร์ของมนุษย์ ล้วนไปสร้างม่านหมอกทางเสียงที่ทำให้สัตว์ต่าง ๆ ไม่อาจใช้ชีวิตได้ตามปกติ 

ดังนั้น หากมนุษย์เราหันมาใส่ใจ ‘เสียง’ ของเพื่อนร่วมโลกมากขึ้น บางทีเราอาจระมัดระวังมากขึ้น เพื่อไม่ให้การใช้เสียงของเราไปรบกวนสปีชีส์อื่น ๆ ที่อาศัยในพื้นที่เดียวกัน หนึ่งในจุดเริ่มต้นที่ง่ายที่สุด เช่น ไม่ขับรถเร็วเวลาเข้าป่าและไม่เปิดเพลงเสียงดังเวลาอยู่ในพื้นที่ธรรมชาติ 

“การฟังเพลงก็เป็นธรรมชาติของมนุษย์ ความสนุกเป็นเรื่องปกติ แต่เราก็อยากให้คนเคารพสิ่งมีชีวิตอื่นที่อยู่ที่นั่นด้วย และถ้าเราตระหนักถึงการมีอยู่ของพวกเขา บางทีเราก็อาจแคร์พวกเขามากขึ้น”

และมันคงจะดีที่สุด ถ้าหากเว็บไซต์นี้จะกลายเป็นแรงบันดาลใจให้คนออกไปเรียนรู้ ศึกษา และลองฟังเสียงธรรมชาติในพื้นที่จริง ดื่มด่ำกับเสียงเหล่านั้น และร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยรักษาเสียงเหล่านั้นไว้

เพราะนั่นคงจะดีกว่าที่เว็บนี้จะกลายเป็นเพียงพิพิธภัณฑ์เสียงให้คนรุ่นหลังได้เข้ามาฟัง เนื่องจากเสียงจริง ๆ ไม่หลงเหลืออยู่อีกแล้ว

วรพจน์ บุญความดี นักธรรมชาติวิทยากับการเดินทางทั่วไทย เพื่อบันทึกเสียงธรรมชาติมาถ่ายทอดใน Praisan.org

Website : praisan.org

Writer

Avatar

เมธิรา เกษมสันต์

นักเขียนอิสระ เจ้าของเพจ ‘Nature Toon การ์ตูนสื่อความหมายธรรมชาติ’ สนใจเรื่องธรรมชาติ ระบบนิเวศ สรรพสัตว์ โลกใต้ทะเล และการใช้ชีวิตแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีผลงานหนังสือแล้ว 2 ชุด คือ ‘สายใยที่มองไม่เห็น’ และ ‘สายใยใต้สมุทร’

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ