เครื่องมือบันทึกความทรงจำของบางคนอาจเป็นหน้ากระดาษ รูปถ่าย ภาพวาด หรือแม้กระทั่งการจรดตัวอักษรบนโลกโซเชียลมีเดีย แต่สำหรับครอบครัวอัสสกุล พวกเขาเลือกบันทึกเรื่องราวที่ผูกพันไว้ในสถาปัตยกรรม ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นบ้านสำหรับสมาชิกครอบครัว 50 กว่าชีวิต ออฟฟิศ และกิจการค้าขาย กระทั่งได้หวนกลับมาอีกครั้งในฐานะ ‘บ้าน’ ที่เปิดต้อนรับการจดจำครั้งใหม่ในอีกหลายรูปแบบ

บ้านตรอกถั่วงอก : พื้นที่แล้วแต่จะสร้างสรรค์ในตึกแถวอายุ 100 ปีย่านเยาวราช

‘บ้าน’ ที่กล่าวถึงคือ ‘บ้านตรอกถั่วงอก’ อาคารพาณิชย์ขนาด 5 คูหา ตั้งชื่อเรียกตามย่านในถนนสันติภาพ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และเมื่อไร่เรียงอายุย้อนไปราว 1 ศตวรรษ คุณอาจเคยรู้จักที่นี่ในชื่อ ห้างทองเบ๊ลี่แซ ซึ่งถ้าทัน ยุค 2490 ไม่มีใครไม่เคยได้ยิน สารคดีปล้นเบ๊ลี่แซ ของ สมบูรณ์ วิริยะสิริ ที่กลายเป็นภาพยนตร์ดัง ศาสนารักของนางโจร (2493) หรือที่ทำการบริษัทไทยสมุทรประกันชีวิตในอีก 50 ปีให้หลัง ตามคำบอกเล่าของ ซัน อัสสกุล ทายาทรุ่นที่ 3 ผู้รับอาสาพาเราสำรวจอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของพื้นที่ที่ตั้งใจสนับสนุนแพสชัน แรงบันดาลใจ และคอมมูนิตี้ของเหล่าคนทำงานสร้างสรรค์แห่งนี้

01

“เราไม่สร้างคำนิยามว่าคืออะไร
“ถ้าให้พูดตามตรง เราไม่อธิบายมันดีกว่า”

ซันเริ่มต้นพูดถึงตึกแถว 5 ชั้น ชั้นบนสุดเป็นเหตุผลแแรกให้คุณพ่อ (กีรติ อัสสกุล) อยากชุบชีวิตบ้านที่ทรุดโทรมผ่านการเวลาสู่บันทึกที่มาที่ไปของตระกูลไว้ย้ำความทรงจำครอบครัว และเหตุผลลำดับที่สองให้ทุกคนกลับมารวมตัวกัน ในสถานที่ไหว้บรรพบุรุษ แต่ไหน ๆ ต้องรีโนเวตทั้งที ถ้าทำให้สวยน่าอยู่เพียงชั้นเดียว อีกไม่นานคงกลับสู่สภาพเดิม เพราะไม่ได้รับการดูแลอย่างเป็นกิจจะลักษณะ จึงเป็นเหตุผลลำดับที่ 3 ให้สี่พี่น้อง วินด์ ซัน แซนด์ และ ซี อัสสกุล ช่วยกันคิดโปรเจกต์พัฒนาบ้านหลังนี้ผ่านโจทย์การอยู่ได้ในระยะยาวของอาคาร เคารพสิ่งที่มีอยู่และเป็นสิ่งที่ทุกคนสนใจร่วมกัน 

บ้านตรอกถั่วงอก : พื้นที่แล้วแต่จะสร้างสรรค์ในตึกแถวอายุ 100 ปีย่านเยาวราช

หลังจากใช้เวลาคิดอยู่นาน บูทีกโฮเทล ร้านอาหาร บาร์ หรือธุรกิจบริการต่าง ๆ ที่จัดการบริหารด้วยตัวเองเป็นอันต้องปัดตก เพราะเหล่าพี่น้องลงความเห็นกันว่า อยากทำครีเอทีฟสตาร์ทอัพ

“เรามีธีมชัดเจนว่าจะซัพพอร์ตคนที่มาทำงานด้วย เชื่อในสิ่งที่เขาทำและต้องเชื่อมโยงกับเรา” 

หากถอยกลับไปมองย่านเยาวราช แทบทั้งเส้นประกอบด้วยตึกแถว แต่สเปซที่ใหญ่พอให้สร้างคอมมูนิตี้สักอย่างหนึ่งได้น้อยมากจนแทบไม่มี ดังนั้น พื้นที่ทั้ง 4 ชั้นที่เหลือจึงออกแบบให้โล่งกว้างที่สุด ยึดจากแปลนเดิมที่เป็นตึกแถวตอนลึก มีคอร์ตยาร์ตตรงกลางแบ่งเป็น 2 ฝั่ง โดยชั้น 1 3 และ 4 เป็นห้องขนาดใหญ่ราว 120 ตารางเมตร และฝั่งด้านหลังราว 31 ตารางเมตร ให้หมุนเวียนจัดนิทรรศการ หรือให้เช่าสร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อการพบปะ ต่อยอดแพสชัน และมีเพียงชั้น 2 ชั้นเดียวที่วางระบบครัวเอาไว้

บ้านตรอกถั่วงอก : พื้นที่แล้วแต่จะสร้างสรรค์ในตึกแถวอายุ 100 ปีย่านเยาวราช

02

“การไม่อธิบายอย่างชัดเจนว่าตึกนี้มีไว้ทำอะไร
“ทำให้สถานที่ดูน่าสนใจและคนรู้สึกว่ามีสิ่งใหม่ตลอด”

ที่ผ่านมาบ้านตรอกถั่วงอกเคยจัดงาน Ghost 2565: อยู่ยังไงให้ไม่ตาย ของ Ghost Foundation ก่อตั้งโดย กรกฤต อรุณานนท์ชัย เป็นการการฉาย Video Installations ว่าด้วยเรื่องจิตวิญญาณ วัฒนธรรม สังคม บริบทพื้นที่ และองค์ประกอบจากอดีตที่หวนกลับมาใหม่ในความทรงจำ ผ่านรากแนวคิดแบบหลอนวิทยา (Hauntology) เมื่อจัดในย่านคนจีนเยาวราชและบ้านเก่า จึงมีมิติอาหารผ่านกระทะว็อกที่ Wendy’s Wok World มาเสิร์ฟ Chef’s Table โดยมีผู้คนรอบย่านมารับหน้าที่พนักงาน และร่วมกับ Na Projects กลุ่มคนทำงานเพื่อสังคมที่ใช้อาหารสนับสนุนการศึกษาด้านอาชีพแก่เยาวชนในกลุ่มเสี่ยงรวมถึงผู้ลี้ภัยด้วย

บ้านตรอกถั่วงอก : พื้นที่แล้วแต่จะสร้างสรรค์ในตึกแถวอายุ 100 ปีย่านเยาวราช

นอกจากนิทรรศการศิลปะ เสิร์ฟอาหารและเครื่องดื่ม บ้านตรอกถั่วงอกเคยเปิดบ้านเป็น Pop-up Living Room เป็นระยะเวลา 4 วันให้กับ Soho House คลับเฮาส์สำหรับคนแวดวงศิลปะและครีเอทีฟ ที่กำลังจะเปิดตัวในย่านสุขุมวิท 31 งานนี้เกิดขึ้นเพื่อสร้างคอมมูนิตี้และประสบการณ์การรับรู้แนวใหม่กับแบรนด์ รวมถึงงานดินเนอร์ส่วนตัวที่เล่าตัวตนผ่านเมนูของแบรนด์ LOUIS VUITTON และงานเปิดตัวเครื่องเพชรแบรนด์ไทย Premiera ส่วนงานล่าสุด คือ Dinner + Sing Song ที่กลับมาคอลแลบกับ Na Projects อีกครั้ง หลังจากทานข้าวเสร็จก็สนุกไปกับการร้องคาราโอเกะในอีกห้องหนึ่งของบ้าน

บ้านตรอกถั่วงอก : พื้นที่แล้วแต่จะสร้างสรรค์ในตึกแถวอายุ 100 ปีย่านเยาวราช

แม้งานทั้งหมดที่ผ่านมายังมีไม่มาก เพราะเพิ่งพร้อมเปิดบ้านได้ไม่นาน แต่ก็ไม่น้อยไปสำหรับตัวอย่างการสร้างสรรค์ของสเปซใหม่ ๆ ในแบบที่ทายาทหนุ่มอยากเห็นและอยากให้เป็น

“ผมว่าคนมาที่นี่เขาอยากเชื่อมโยงกันด้วยแรงบันดาลใจมากกว่า ซึ่งหายากนะ แต่การจะอธิบายว่า ให้เขามาดื่ม มาทานอาหาร มาทำธุรกิจที่นี่ ดูจะกลายเป็นการเจาะจงว่าตึกนี้ทำหน้าที่อะไรหรือทำกำไรเพียงอย่างเดียว จริง ๆ ที่ผ่านมา สิ่งที่เราทำก็ได้กำไรบ้าง ไม่ได้กำไรบ้าง และการที่สเปซอยู่ระหว่างการทำกำไรและไม่ทำกำไร มันคือโอกาสในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับทุกคนที่มาเยือน 

“ทุกคนที่มาจัดงานหรือมาทำธุรกิจ ผมรู้สึกว่าเขามาด้วยใจ ส่วนคนมาเยี่ยมชม เขาอาจมาดูงานศิลปะ แต่ในที่สุด เขาจะรู้สึกถึงแพสชันของคนจัด แพสชันของผมซึ่งสร้างสถานที่แบบนี้ขึ้นมา ผมว่าที่นี่มีเรื่องเล่าที่ลึกกว่าแค่อาหาร เครื่องดื่ม หรือบรรยากาศ” เจ้าบ้านขมวดเหตุผลที่ไม่นิยามตัวเอง

03

“เราพยายามหาบาลานซ์หรือองค์ประกอบ
“ที่เป็นความทรงจำของตึกนี้สำหรับทุกคน”

นอกจากข้อจำกัดเรื่องโครงสร้างที่ผุพังมากเพราะปิดไว้ไม่ได้ใช้งานราว 50 ปี เสาบางต้นแยกตัวออกจากการรับน้ำหนัก จึงต้องแก้ด้วยการลงเสาเข็มใหม่ ซันเล่าว่าความท้าท้ายในการการรีโนเวตอาคารเก่า คือการไม่พยายามทำอะไรมากเกินไป บาลานซ์เอาของใหม่ไปใส่ แล้วก็ดูแลรักษาของเก่า

ตัวอาคารไม่ปรากฏชัดว่าเป็นสถาปัตยกรรมรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง แต่มีความงามตามสมัยนิยม ณ ขณะนั้น โดยสร้างตามแบบแผนของชาวจีนโพ้นทะเล ให้เป็นที่พักอาศัยร่วมกับการค้าขาย หรือ ‘บ้านร้านค้า’ (Shophouse) ที่ผสานความเป็นจีนและตะวันตกเข้าด้วยกัน เสริมความอู่ฟู่ด้วยการประดับตกแต่งเสา-บันไดด้วยงานปูนปั้นแบบกรีกและโรมัน ใช้กระเบื้องสไตล์เพอรานากัน ลวดลายเรขาคณิตเรียงต่อกัน มีสีสันเป็นเอกลักษณ์ รวมถึงประตูและหน้าต่างไม้ฝีมือช่างท้องถิ่นที่ผ่านกาลเวลามาพร้อมกัน

บ้านตรอกถั่วงอก : พื้นที่แล้วแต่จะสร้างสรรค์ในตึกแถวอายุ 100 ปีย่านเยาวราช

การรีโนเวตเพื่อให้เป็นพื้นที่ให้เช่า ต้องยอมแลกความงดงามบางอย่างกับฟังก์ชัน เพื่อบันทึกสภาพเดิมของตึกไว้ให้ได้มากที่สุด ซันเล่าว่าพี่ชายของเขาชักชวนให้ Vernadoc มาบันทึกทั้งตึกผ่าน Vernacular Drawing เพื่อเก็บแปลนเก่าและรายละเอียดความทรงจำต่าง ๆ ที่อาจตกหล่นระหว่างทางเอาไว้

บ้านตรอกถั่วงอก : พื้นที่แล้วแต่จะสร้างสรรค์ในตึกแถวอายุ 100 ปีย่านเยาวราช
ภาพ : VERNADOC THIALAND

ร่องรอยต่อของอดีตที่อยากเก็บไว้ บวกกับการเติมของใหม่เข้ามาเพื่อการใช้งานเชิงฟังก์ชันนี้เอง ทำให้พวกเขาใช้เวลาถึง 5 ปีในการรีโนเวตทุกส่วนอย่างประณีต งานที่ใช้เวลานานคือพวกโครงสร้าง เพื่อให้มั่นใจแข็งแรง และวางระบบต่าง ๆ พร้อมรองรับการใช้งาน ด้วยความที่เคยเป็นตึกแถว 5 คูหา ผ่านการเป็นออฟฟิศของบริษัทไทยสมุทรประกันชีวิตมาแล้ว 1 ชั่วรุ่น จึงมาพร้อมกับกำแพงปูนกั้นแบ่งชั้น แบ่งห้องครบครัน ทำให้พื้นที่ด้านในมืดทึบ ระหว่างคอร์ตยาร์ดเต็มไปด้วยคอมเพรสเซอร์แอร์จนแทบมองไม่เห็นพื้น เขาเลือกแทนที่ความแข็งกร้าวของผนังเหล่านั้นด้วยการกรุกระจกใส เพื่อเปิดโล่งและนำแสงสว่างเข้าสู่พื้นที่ให้มากที่สุด แต่ไม่ลืมรักษาคาแรกเตอร์ของบ้านด้วยการวางประตูหน้าต่างและส่วนที่เป็นโครงสร้างไม้ไว้ในจุดเดิมทั้งหมด อีกนัยสำคัญคือการยึดโยงความเก่าและใหม่ที่ว่า ส่วนข้อดีของการกรุกระจกยังทำให้ผู้คนในแต่ละชั้นเห็นการเคลื่อนไหวของกันและกัน สร้างชีวิตชีวาให้กับพื้นที่มากขึ้น

บ้านตรอกถั่วงอก : พื้นที่แล้วแต่จะสร้างสรรค์ในตึกแถวอายุ 100 ปีย่านเยาวราช
บ้านตรอกถั่วงอก : พื้นที่แล้วแต่จะสร้างสรรค์ในตึกแถวอายุ 100 ปีย่านเยาวราช

แม้พื้นชั้นอื่น ๆ จะเป็นของเดิม แต่มีชั้นหนึ่งที่ทำขึ้นใหม่ โดยเลือกใช้กระเบื้องที่ตัดลายเดียวกับข้างบนออกมาเป็นชิ้น ๆ และนำมาประกอบกัน เพื่อให้เหมือนเงาสะท้อนจากกระเบื้องด้านบน

มีของบางอย่างที่จำเป็นต้องรื้อออกเพื่อขยายพื้นที่ อย่างช่องบันไดระหว่างชั้น 2-3 ก็นำลูกตั้งและลูกนอนมาเก็บไว้แทนที่ช่องพื้นที่ปิดไป หรือกะเทาะกำแพงออกเพื่อสร้างทางเดินเชื่อมรอบบ้าน ที่ไม่ได้ปิดผิวให้เรียบเนียนเสียทีเดียว ยังคงเผยในเห็นร่องรอยวัสดุเดิมเพื่อบอกว่าที่ตรงนี้เคยเป็นอย่างไรมาก่อน

ปัดฝุ่นบ้านเก่าย่านตรอกถั่วงอก เป็นพื้นที่แล้วแต่จะสร้างสรรค์ ไปพร้อมกับการบันทึกรอยต่อความทรงจำเก่าและใหม่ให้ทุกคน

“ตึกในสภาพเดิมสวยอยู่แล้ว เป็นอาคารพาณิชย์ทั่วไป มีการก่อสร้างที่หาไม่ได้แล้วในวันนี้ อีกเรื่องหนึ่งคือกาลเวลา เวลาผ่านไป ทำให้สภาพทุกอย่างมีความเก่าที่ยังคงความสวยงาม”

หากมองอย่างพินิจพิเคราะห์บ้านหลังนี้มีจุดน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ สิ่งที่ควรจะเป็นเส้นตรงในบ้านหลังนี้ส่วนมากเป็นเส้นเฉียง และไม่อยู่ในเส้นกริด อย่างคอร์ตยาร์ดที่เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมคางหมู เสา คานที่วางเฉียง อาจจะด้วยลักษณะที่ดิน บวกกับการก่อนสร้างสมัยก่อนที่ไม่ได้มีเครื่องไม้เครื่องมือเพื่อทำให้ทุกอย่างเป๊ะ นี่เองเป็นเสน่ห์ที่ทำให้อาคารมีความจริงชัดในความทรงจำ และยังมีอีกหลายคาแรกเตอร์ที่เก็บไว้ ไม่ใช่เพราะแค่เกี่ยวข้องกับความทรงจำเจ้าของบ้าน แต่เป็นใครสักคนที่เคยมาที่นี่

ปัดฝุ่นบ้านเก่าย่านตรอกถั่วงอก เป็นพื้นที่แล้วแต่จะสร้างสรรค์ ไปพร้อมกับการบันทึกรอยต่อความทรงจำเก่าและใหม่ให้ทุกคน

“ถ้าลงไปชั้น 4 จะเห็นรอยไหม้ที่พื้นกระเบื้องตรงระเบียง เราไม่ได้เปลี่ยนมัน เพราะว่าเป็นจุดที่เราเผากระดาษกงเต็กทุกครั้งที่มาไหว้ อันนี้เป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำที่เรามีต่อที่นี่ หรือแม้กระทั่งสี เราเพิ่งมาทราบในช่วงนี้ว่ามันเป็นสีเขียว เพราะเมื่อก่อนเห็นเป็นสีน้ำตาลหนา ๆ ช่างที่มาขัดเขาเอากระจกไปเก็บ และเห็นตรงรอยต่อว่าเป็นสีเขียว เราเลยขอให้เขาขัดสีเคลือบข้างนอกออก เพื่อให้เป็นสีแรก ซึ่งอันนี้ไม่ได้อยู่ในความทรงจำเราเลยนะ แต่เราว่ามันเกี่ยวข้องกับความทรงจำของคนอื่น

“สิ่งที่เราชอบเห็นมากคือเวลาที่มีคุณปู่ คุณตา หรือมีแขกที่มางานเขาไม่เคยรู้อะไรเกี่ยวกับที่นี่เลย แล้วไม่ร้องไห้ก็ช็อก เพราะเขาจำได้ว่าเคยวิ่งเล่น เคยอยู่ที่นี่ หรือว่ามีความทรงจำกับที่นี่ แล้วเขาก็บอกว่า เออ สีของประตูมันเคยเป็นแบบนี้เลย พื้นยังไม่ได้เปลี่ยน หรือบันไดตรงกลางระหว่างชั้นหนึ่งและชั้นสองก็เป็นบันไดเดิมเลยนะ แคบ ๆ เดินได้ทีละคน” ซันแบ่งปันความทรงจำของคนอื่นให้เราฟัง

ปัดฝุ่นบ้านเก่าย่านตรอกถั่วงอก เป็นพื้นที่แล้วแต่จะสร้างสรรค์ ไปพร้อมกับการบันทึกรอยต่อความทรงจำเก่าและใหม่ให้ทุกคน

ความท้าทายสุดท้ายที่ซันบอกว่ายากพอ ๆ กับเรื่องโครงสร้าง คือการสื่อสารรายละเอียดในเรื่องสี เพราะอย่างที่บอกว่าไม่ได้อยู่ในความทรงจำของเขา รวมถึงช่างเองก็ด้วย

“มีอยู่วันหนึ่งเราไม่ได้เข้ามาดูหน้างาน ช่างอาจจะคิดว่าหน้าต่างไม้สีนี้มันเก่า ดูไม่สวย เขาเลยขัดออกเกือบหมด เหลืออยู่หนึ่งบาน แต่ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของสตอรี่ที่นี่ไปแล้ว”

เขาเล่าพลางพาเดินไปดูหน้าต่างบานสุดท้ายของชั้น 3 ที่ยังหลงเหลือสีเดิมให้เห็น

ปัดฝุ่นบ้านเก่าย่านตรอกถั่วงอก เป็นพื้นที่แล้วแต่จะสร้างสรรค์ ไปพร้อมกับการบันทึกรอยต่อความทรงจำเก่าและใหม่ให้ทุกคน

04

“ตึกมีชีวิต มีจิตวิญญาน
“ถ้าเราทำสิ่งที่ดีต่อสเปซ เรารู้สึกว่าตึกเองก็แฮปปี้”

ในอนาคตซันวางแผนว่าอยากให้ที่นี่เป็นการทดลองเพื่อมองหาผู้เช่าในระยะยาว พร้อมกับการทำให้ที่นี่เป็นหมุดหมายให้คนมาโดยตั้งใจ ชั้นแรกอาจเป็นคาเฟ่ ชั้นที่ 2 เป็นร้านอาหาร ส่วนชั้น 3-4 เป็นบาร์ ส่วนพื้นที่ชั้นอื่น ๆ ก็จัดนิทรรศการแบบหมุนเวียน เพื่อให้มีคนมาใช้งานตึกให้คึกคักอยู่ตลอด

“ความแตกต่างระหว่างตึกแถวอื่นกับที่นี่ คือคอมมูนิตี้ เพราะเรามีหลายชั้น หลายสเปซ เขาได้ดูนิทรรศการ อยากกินกาแฟก็กินกาแฟได้ หรือมาดินเนอร์ที่นี่แล้วขึ้นไปดื่มต่อข้างบนก็ได้

“ผมว่าตรงนี้มันทำให้คอนเซปต์ของตัวตึกและคอนเซปต์ของแต่ละเจ้าที่จะมาเช่าในตึกนี้มันแข็งแรงขึ้น และการที่มีหลาย ๆ เจ้าในตึกเดียวกัน ผมมองว่ามันเป็นการซัพพอร์ตกันและกัน” 

เราใช้เวลาอีกเล็กน้อยในการสำรวจอาคาร เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการบันทึกเรื่องราวไม่ให้ตกหล่น ก่อนร่ำลากันในบ่ายแก่ ๆ

บางครั้งในแง่บริบทของเมืองเราอาจให้ความสนใจต่อสิ่งปลูกสร้างที่มีประวัติศาสตร์สำคัญ โดยอาจหลงลืมความเป็นพื้นถิ่น หรือจุดเล็กน้อยที่สุดท้ายจะประกอบกันเป็นบริบทใหญ่ และในแง่ของการขับเคลื่อนเมืองอย่างสร้างสรรค์ เราหวังว่าเรื่องราวของบ้านตรอกถั่วงอก จะเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการพัฒนาพื้นที่เล็ก ๆ ที่เติบโตอย่างเป็นมิตรกับย่านเก่า ผู้คน และมองหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการรักษาคุณค่าของอาคารเก่ากับการต่อยอดไปตามยุคสมัยได้ไม่มากก็น้อย

ปัดฝุ่นบ้านเก่าย่านตรอกถั่วงอก เป็นพื้นที่แล้วแต่จะสร้างสรรค์ ไปพร้อมกับการบันทึกรอยต่อความทรงจำเก่าและใหม่ให้ทุกคน

บ้านตรอกถั่วงอก

ที่ตั้ง : 306 ถนนสันติภาพ แขวงป้อมปราบ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร (แผนที่)

เว็บไซต์ : www.baantrok.com

Instagram : baantrok

Writer

Avatar

ปาริฉัตร คำวาส

อดีตบรรณาธิการสื่อสังคมและบทความศิลปวัฒนธรรม ผู้เชื่อว่าบ้านคือตัวตนของคนอยู่ เชื่อว่าความเรียบง่ายคือสิ่งซับซ้อนที่สุด และสนใจงานออกแบบเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี (กับเธอ)

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน