‘ทรงวาด’ อาจไม่ใช่ชื่อถนนที่คุ้นหูคนทั่วไปนัก
แต่ถ้าขยายความว่าเป็นถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาที่ขนานกับสำเพ็งและเยาวราช ปลายทางเป็นท่าเรือราชวงศ์ หลายคนคงนึกภาพตึกแถวสไตล์ยุโรปที่ทอดยาวริมทางได้แล้ว
ถนนเส้นนี้ถือกำเนิดขึ้นจากปลายปากกาของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อลดความแออัดของบ้านเรือนในสำเพ็งอันเป็นมูลเหตุของเพลิงไหม้บ่อยครั้ง พร้อมกันนั้นก็ช่วยเชื่อมการคมนาคมระหว่างแม่น้ำสายใหญ่กับชุมชนชาวจีนไปในตัวด้วย
จากเส้นทางที่ ‘ทรงวาด’ บนแผนที่ ถนนเส้นนี้ได้พัฒนาเป็นพื้นที่แห่งโอกาส ซึ่งเปิดกว้างให้คนทุกชาติทุกศาสนาได้สร้างฐานะ เป็นที่มาของโกดังค้าข้าว ร้านค้าเครื่องเทศ วัดไทย มัสยิด โรงเรียน และศาลเจ้าจีน รวมทั้งตึกเก่าที่สรรค์สร้างขึ้นจากการผสมผสานของศิลปะหลายเชื้อชาติ
แม้ในวันนี้ถนนทรงวาดจะดูไม่คึกคักเหมือนอดีตยุครุ่งเรือง ด้วยตัวเมืองที่ขยับขยาย พื้นที่เศรษฐกิจจึงแผ่กว้างออกไปไกลจากย่านเมืองเก่า ถึงกระนั้นความสวยคลาสสิกของหมู่ตึกแถวและทำเลที่ตั้งติดแม่น้ำสำคัญของกรุงเทพฯ ก็ทำให้พื้นที่แห่งโอกาสซึ่งพร้อมนำพาคนกลุ่มใหม่ ๆ มาใช้ชีวิตอยู่ที่ถนนร้อยปีแห่งนี้ไม่เคยขาดสาย

กลาง พ.ศ. 2565 กลุ่มผู้ประกอบการหน้าใหม่ในย่านทรงวาดได้จับมือกันสร้างเครือข่ายในชื่อ ‘Made in ทรงวาด’ และยังตั้งใจจัดเทศกาลทรงวาดในช่วงปลายปี เพื่อเปิดภาพลักษณ์ใหม่ให้ถนนสายนี้กลับมาคึกคัก เติมเต็มบรรยากาศอันเงียบเหงาให้ทรงวาดพลิกฟื้นสู่วันคืนที่เคยมีชีวิตชีวาอีกครั้ง
จะมีร้านอะไรบ้าง ขอเชิญทุกท่านทัศนาได้ ณ บัดนี้
01
บ้านทรงวาด
ตึกเก่าอายุร่วมศตวรรษที่กลายร่างเป็น Airbnb ให้เช่าเหมาหลัง

อาคารหัวมุมแห่งนี้คือที่ตั้งของบ้านพักสุดเก๋นามว่า บ้านทรงวาด
ใน พ.ศ. 2561 อิน-อินทุกานต์ คชเสนี สิริสันต์ และ โอ๊ต-อาทิตย์ สิริสันต์ สองสามีภรรยาชาวสุขุมวิทผู้หลงใหลย่านเมืองเก่า และใฝ่ฝันอยากเปิดกิจการเล็ก ๆ ประเภทที่พักแรมของตัวเอง ด้วยความบังเอิญที่ทั้งคู่มาพบประกาศให้เช่าตึกเก่าริมถนนทรงวาดซึ่งเป็นมรดกตกทอดมานานกว่า 90 ปี เพียงแรกเห็น ทั้งสองคนก็รู้แล้วว่า นี่คือที่ที่ใช่สำหรับการสานฝันของพวกเขาให้เป็นจริง
โอ๊ตใช้เวลากว่า 6 เดือนในการออกแบบ ก่อสร้าง และตกแต่งอาคารเก่าเป็นที่พักแบบ Holiday Home Rental ในชื่อ ‘บ้านทรงวาด’ มี 4 ห้องนอน 1 ห้องนั่งเล่น เหมาะกับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมากรุงเทพฯ เป็นกลุ่มใหญ่ ๆ เพราะผู้เข้าพักจะต้องเช่าทั้งหลัง เมื่อทำการจองจะได้รับรหัสกดประตูเข้าบ้าน และจะครอบครองรหัสผ่านนั้นตลอดเวลาเข้าพัก ไม่มีล็อบบี้หรือพื้นที่ส่วนกลางให้คนนอกเข้ามาเพ่นพ่านเพื่อให้ผู้พักได้รับความเป็นส่วนตัวอย่างแท้จริง
“ต่างชาติชอบที่นี่เพราะเป็นโลเคชันที่ดีสำหรับการท่องเที่ยว จะไปท่าเรือราชวงศ์เดิน 2 นาทีก็ถึง จะไปเยาวราช 5 นาทีก็ถึง จะไป MRT วัดมังกร 8 นาทีก็ถึงแล้ว” อินกล่าวถึงจุดเด่นอีกด้านของบ้านทรงวาดที่เปิดมาเข้าปีที่ 4 แต่ต้องชะงักไปด้วยพิษโควิด-19
“ตอนนี้ลูกค้าเริ่มกลับมาแล้วค่ะ มาเต็มเลย ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวมาพักอยู่กัน 3 – 4 วัน นานที่สุดก็ประมาณ 10 วัน นอกจากโลเคชันจะใกล้แล้ว ยังมีครบทุกองค์ประกอบที่ชาวต่างชาติอยากมาอยู่ เช่นมี Pantry Room เล็ก ๆ มีเครื่องซักผ้าให้” เจ้าของบ้านทรงวาดบอกกับเรา
ที่ตั้ง : 835 ถนนทรงวาด แขวงจักรวรรดิ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร 10100
วัน-เวลา : จองล่วงหน้า
โทร : 08 9891 9122
Facebook : Baan Song Wat
02
เอฟ.วี
คาเฟ่ขนมและเครื่องดื่มไทยที่ ‘ไม่มีใครเอา’

ภายนอกของ เอฟ.วี อาจดูเหมือนกับอาคารพาณิชย์ของคนไทยเชื้อสายจีนที่มีดกดื่นในย่านนี้ แต่เมื่อสายตาเยี่ยมกรายเข้าไปในร้าน ไม่ว่าใครหน้าไหนก็ต้องตะลึงลานกับความพิลึกกึกกือของคาเฟ่สีทึมที่ตกแต่งฝาผนังด้วยภาพเขียนเชิงนามธรรมอวลกลิ่นอายของจีนหรือญี่ปุ่น กระถางปลูกกล้วยทั้งต้น หนำซ้ำยังมีเรือนไม้แบบอีสานหลังใหญ่ตั้งตระหง่านอยู่เหนือเคาน์เตอร์บาร์
ที่นี่คือคาเฟ่สุดแหวกแนวที่เกิดขึ้นจากความคิดของ โอ-โอภาส จันทร์คำ ซึ่งใช้ชีวิตช่วงต้นอยู่ที่ประเทศอังกฤษ แต่เพราะความรักในเกษตรกรรมและธรรมชาติตั้งแต่เด็ก เมื่อหวนกลับมาอยู่บ้านเกิด เขาจึงได้พบว่าของดีที่ประเทศไทยในสายตาเขา กลับกลายเป็นสิ่งที่คนทั่วไปไม่เห็นคุณค่า

“คอนเซ็ปต์ของร้านคือ ‘ไม่มีใครเอา’ ภาษาอังกฤษคือ ‘Unwanted’ พื้นฐานของประเทศไทยคือเกษตรกรรม เป็นกระดูกสันหลังของชาติ แต่ขณะที่โลกก้าวไปข้างหน้า มีใครเอาอะไรบ้างในกระดูกสันหลังของชาติ” โอภาสอธิบายที่มาของคาเฟ่ที่ไม่เหมือนใคร
เรือนไทยหลังนี้เคยเป็นบ้านในจังหวัดมุกดาหารที่ถูกทิ้งร้างเพราะเจ้าของบ้านเสียชีวิตไปหลายปี ตึกที่ตั้งร้านก็ถูกปักป้ายขายไว้นาน แต่ขายไม่ออก เครื่องดื่มและขนมหวานหลายเมนูก็ปรุงขึ้นจากพืชผลที่ไม่ใช่แนวตลาดนิยม แม้แต่ชื่อร้าน เอฟ.วี ที่ย่อมาจาก ‘Fruits and Vegetables’ ที่โอภาสว่าฟังดูธรรมดาเสียจนไม่มีใครเอาคำพื้น ๆ เช่นนี้มาตั้งชื่อร้าน
ต้องลองไปจิบเครื่องดื่ม กินขนม ชมเรือนไม้อีสานจากที่ซ่อนตัวอยู่ในตึกแถวย่านชาวจีนสักครั้ง แล้วคุณจะได้คำตอบว่า ร้านเจ๋ง ๆ นี้ ‘ไม่มีใครเอา’ จริงหรือเปล่า
ที่ตั้ง : 827 ถนนทรงวาด แขวงจักรวรรดิ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร 10100
วัน-เวลา : เปิดทุกวัน 10.00 – 19.00 น.
โทร : 08 1866 0533
Instagram : FV_BKK
03
อี-กา
ร้านอาหารไทยที่รวมวัตถุดิบประจำอำเภอทั่วไทยมาเสิร์ฟถึงที่

ออกจากร้าน เอฟ.วี มาแล้วก็อย่าเพิ่งเร่งร้อนไปไหนต่อ แค่เพียงเหลียวตามองทางขวามือ คุณจะได้พบร้านลำดับต่อไปที่น่าทำความรู้จัก
อี-กา ด้วยชื่ออาจไม่สื่อว่าร้านนี้ขายอะไร ครั้นได้เห็นฉายาพ่วงท้ายว่า ‘Thai Neighborhood Cooking’ หลายคนจึงรู้ว่าที่นี่เป็นร้านอาหารไทยที่ให้ความอร่อยในแบบบ้าน ๆ !
กะแจะ-ศิริวรรณ ธรณนิธิกุล ดีไซเนอร์ผู้ให้กำเนิดอี-กา เผยว่าร้านนี้เป็นส่วนหนึ่งของ ‘It’s Happened to be A Closet’ แบรนด์เสื้อผ้าและร้านอาหารที่มีชื่อเล่นว่า อิส_แฮพ_เพ่น แต่ละร้านของเธอจะมีชื่อเล่นเป็นสัตว์เสมอ ไล่มาจาก ‘Fox’ (A Fox Princess KITCHEN) ที่ให้บริการอาหารอิตาเลียนจานกะทัดรัดในสยามพารากอน เซ็นทรัล ชิดลม ลาดพร้าว และท่าเตียน ตามด้วย ‘Rabbit’ หรือ a) pink rabbit + Bob ซึ่งเสิร์ฟเค้กที่ท่าเตียน สวนจตุจักร Central Outlet สุวรรณภูมิ และที่ทรงวาดนี่เอง

เมื่อต้องคิดแบรนด์อาหารไทยที่สะท้อนถึงความเรียบง่าย แจะจึงเลือกนกกามาเป็นชื่อและสัญลักษณ์ประจำร้าน เพราะว่า “อีกาเป็นสัตว์ที่ฉลาด จริงใจ ชนพื้นเมืองในอเมริกาและอินเดียถือว่าเป็นสัญลักษณ์ที่ดี หมายถึงการเปลี่ยนแปลงที่ดี ชื่อก็เรียกง่าย ไม่กระแดะด้วย”
ค่าที่เจ้าของร้านเดินทางบ่อย เลยได้ลิ้มรสชาติอาหารเลิศรสของหลาย ๆ ถิ่นในเมืองไทย เธอพบว่าวัตถุดิบที่ถูกปากนั้นไม่ได้มาจากแหล่งเดียวกัน วัตถุดิบที่แจะและทีมงานร้านอี-กา เลือกใช้จึงผ่านการเฟ้นหามาจากทั่วสารทิศ อาทิ เครื่องแกงไตปลาจากอำเภอสิชล นครศรีธรรมราช เครื่องแกงป่าอำเภอท่าม่วง กาญจนบุรี เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงจิตวิญญาณความเป็น Thai Neighborhood Cooking โดยแท้จริง
ที่ตั้ง : 829 ถนนทรงวาด แขวงจักรวรรดิ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร 10100
วัน-เวลา : เปิดทุกวัน ยกเว้นวันพุธ 10.00 – 22.00 น.
โทร : 08 1565 2028
Instagram : ega_bangkok
04
PLAY Art House
แกลเลอรี่ศิลปะใต้โกดังเก็บรองเท้า

เลียบเลาะไปตามแนวอาคารพาณิชย์สีจืดที่ส่วนใหญ่ปิดประตูเหล็กยืดไว้ชั่วนาตาปี ครั้นมาถึงหน้า PLAY Art House ย่อมมีสักอึดใจที่สายตาของเราต้องหยุดนิ่งเพื่อพิจารณาดูสีน้ำเงินที่ฉาบทาต่อเนื่องกันถึง 3 คูหา เหล็กดัดลายสวยบนหน้าต่าง ตลอดจนหัวเสากรีกที่ปรากฏอยู่ทั้งด้านหน้าอาคาร และในโลโก้ทรงกลมซึ่งแขวนเด่นอยู่หน้าประตูทางเข้า
บิดาของ อุ๊ย-เกียรติวัฒน์ ศรีจันทร์วันเพ็ญ ซื้อตึกแถวอายุเกินร้อยปีแห่งนี้มาเมื่อหลายสิบปีก่อน เพื่อทำธุรกิจภัตตาคารอาหารจีน แต่เปิดมาได้ไม่กี่ปี ภัตตาคารก็ปิดตัวลง ลูกชายซึ่งหวนกลับไปจับธุรกิจทำรองเท้าของตระกูลจึงนำอาคารหลังนี้มาใช้ทำโกดังเก็บรองเท้านานถึง 20 ปี แต่ด้วยใจรักในศิลปะทุกแขนง เลยชักชวนศรีภรรยาให้ลองเปิดพื้นที่ชั้นล่างเป็นแกลเลอรี่แสดงงานศิลปะ และย้ายข้าวของในโกดังไปไว้ชั้นบน

ชื่อ ‘PLAY Art House’ นี้ก็มีที่มาสุดแสนหวาน เพราะพี่อุ๊ยกับภรรยาพบรักกันเมื่อตอนเรียนคณะนิเทศศาสตร์ สาขาศิลปะการแสดง ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และที่มีโลโก้รูปหัวเสากรีก ก็เพราะมันเป็นสิ่งที่มีอยู่คู่ตึกแถวคูหานี้ตั้งแต่ครั้งคุณพ่อผู้ล่วงลับซื้อตึกนี้มาทำภัตตาคาร
ผลงานที่จัดแสดงใน PLAY Art House จัดขึ้นในรูปแบบนิทรรศการเวียนซึ่งคู่รักหัวใจศิลป์เลือกเฟ้นมาเป็นอย่างดี โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นคนเด่นคนดังมาจากไหน ขอแค่มีผลงานที่ฝีมือดีเข้าตา แกลเลอรี่ใต้โกดังสินค้าแห่งนี้ก็พร้อมที่จะให้โอกาส
ที่ตั้ง : 993 ถนนทรงวาด แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร 10100
วัน-เวลา : เปิดวันอังคาร-พฤหัส 11.00 – 16.00 น. และวันศุกร์-อาทิตย์ 11.00 – 18.00 น.
โทร : 09 9252 9191 และ 09 1048 7187
เว็บไซต์ : playarthouse.com
05
MESA 312 Cultural Lab
สตูดิโอออกแบบกราฟิกของสาวสเปนผู้ตกหลุมรักทรงวาด

เจ้าของสถานที่ในลิสต์ของเรา โดยส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่ชาวบ้านย่านทรงวาดมาแต่เกิด บ้างมาจากพื้นที่อื่นในกรุงเทพฯ บ้างมาจากต่างจังหวัด แต่ไม่มีใครจากบ้านมาไกลเท่าเจ้าของสตูดิโอแห่งนี้
มีเรียม รูเอดา (Myriam Rueda) คือบุคคลที่เรากำลังพูดถึง กราฟิกดีไซเนอร์สาวชาวสเปนคนนี้จากบ้านเกิดในเมืองบาร์เซโลนามาดำเนินชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ พ.ศ. 2550 แม้จะเคยกลับบ้านที่แดนกระทิงดุไปแล้วหนหนึ่ง แต่ความผูกพันที่มีต่อเมืองไทยยังร่ำร้องให้เธอกลับมาที่กรุงเทพฯ อีกครั้ง และไม่เคยย้ายไปอยู่ไหนเป็นการถาวรอีกเลยตลอดสิบกว่าปีที่ล่วงมา

กลาง พ.ศ. 2563 คุณมีเรียมเกิดสะดุดตากับความงดงามอ่อนช้อยของศิลปะบนตึกแถวเก่าย่านทรงวาด ด้วยความช่วยเหลือจากพี่อุ๊ยแห่ง PLAY Art House เธอจึงได้เปิดสตูดิโอขนาดเล็กที่นี่
นอกจากห้องทำงานประจำของคุณมีเรียมแล้ว บางครั้งเธอก็ใช้ที่นี่เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับศิลปะ ประเทศสเปน หรือภาษาสเปน เพราะเธอยังมีอาชีพเสริมเป็นอาจารย์สอนภาษาสเปนให้แก่นักเรียนและนักศึกษาชาวไทยด้วย
“Mesa เป็นภาษาสเปน แปลว่า ‘โต๊ะ’ เป็นของสำคัญที่นำผู้คนมาร่วมทำงานและสนุกไปด้วยกัน” มีเรียมกล่าวด้วยภาษาอังกฤษติดสำเนียงสแปนิช ก่อนชี้ให้เราดูตารางจัดเวิร์กชอปที่แน่นขนัด ทั้งสอนวาดรูปสีน้ำ สอนถ่ายภาพ ฉายภาพยนตร์สเปนพร้อมเสวนากับผู้กำกับชาวสเปน เป็นต้น
ที่ตั้ง : 943 ถนนทรงวาด แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร 10100
วัน-เวลา : เปิดวันอังคาร – อาทิตย์ 10.30 – 18.00 น. (โปรดนัดล่วงหน้า)
โทร : 08 7076 5080
Facebook : mesa312
Instagram : mesa_312_
06
Pieces Café & Bed
คาเฟ่ ห้องพัก ร้านสัก 3 in 1

ร้านหน้าแคบปากตรอกสะพานญวนของสองสาว เหมียว-ปิยาภา วิเชียรสาร และ พิม-ชโลชา นิลธรรมชาติ ตั้งชื่อมาอย่างจงใจให้อ่านได้ทั้ง ‘Pieces’ และ ‘พิเศษ’
ตัวร้านนี้ก็ทั้งพิเศษและแยกส่วนได้เป็น Pieces (ชิ้น ๆ) สมชื่อ เริ่มจากร้านกาแฟชั้นล่างสุดซึ่งเปิดเฉพาะวันศุกร์ถึงอาทิตย์ รับลูกค้าเป็นรอบ รอบละไม่เกิน 5 ที่ นั่นหมายความว่าลูกค้าที่อยากมาจิบกาแฟทานขนมที่พิเศษนี้จะต้องจองเข้ามาล่วงหน้า

“ช่วงโควิดเราก็ปรับตัวไม่ให้มีของเหลือทิ้ง เลยเปลี่ยนระบบเป็นเปิดจองแล้วให้ลูกค้าทานขนมเป็นคอร์ส ถ้าจองเข้ามาก็จะได้ทานขนม 3 อย่าง เครื่องดื่ม 3 อย่างค่ะ” เหมียวบอกยิ้ม ๆ ก่อนที่พิมจะช่วยเสริมว่า “ร้านกาแฟก็จะเปิดทุกวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ เพราะเราสองคนจะอบขนมปังทุกวันพฤหัส เพื่อดูว่าลูกค้าจองเข้ามากี่คน แล้วค่อยวางแผนค่ะ”
เยี่ยมชมชั้นล่างเสร็จแล้ว เชิญขึ้นบันไดไปชมชั้นสาม ชั้นนี้ใครเห็นเป็นต้องทึ่ง เพราะด้านหนึ่งของห้องนี้เป็นเตียงคิงไซส์ใหญ่คับผนังห้อง ส่วนอีกด้านที่เชื่อมสู่ระเบียงตึกครบเครื่องด้วยชุดเฟอร์นิเจอร์และข้าวของซึ่งห้องพักในโรงแรมพึงมี
“เป็นที่พักที่ค่อนข้างเงียบนะคะ ลูกค้าส่วนใหญ่ ถ้ามาก็จะเป็นเพราะว่าตรงทรงวาดมันเงียบ แต่เดินไปรอบ ๆ อย่างเยาวราช หัวลำโพง มันวุ่นวายหมดเลย แต่เดินจากตรงนี้ไปได้หมด” สองสาวช่วยกันเล่า “ลูกค้าที่มาก็จะชอบพักคนเดียวแบบอินดี้ ๆ อยากอยู่คนเดียว ซื้อไวน์มาดื่มในห้องคนเดียว”
เดิมห้องพักของพิเศษมี 2 ห้อง แต่ตอนนี้ลดเหลือห้องเดียวที่ชั้นบนสุด เพราะห้องที่ชั้นสองถูกเจียดเนื้อที่ไปทำร้านสักด้วยมือ ซึ่งเป็นความท้าทายครั้งใหม่ที่เหมียวกับพิมกำลังจะประเดิมฝีมือเร็ว ๆ นี้
ที่ตั้ง : 214 ถนนทรงวาด แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร 10100
วัน-เวลา : ร้านกาแฟเปิดวันศุกร์-อาทิตย์ ต้องจองล่วงหน้า
โทร : 09 1052 9562
Facebook : Pieces café & bed
07
A Thing That Is Pieces Studio
สตูดิโอพิเศษที่ออกแบบสิ่งละอันพันละน้อยด้วยความสนุก
ถัดเข้ามาในตรอกจาก Pieces Café & Bed อีกนิดเดียว เป็นสตูดิโอออกแบบสุดมันของเหมียวและพิม ซึ่งไม่ได้มีแค่คอมพิวเตอร์ แต่มีทั้งจักรเย็บผ้า เครื่องตัดโลหะ ไปจนถึงเครื่องมือสำหรับงานพลาสติกรีไซเคิล
A Thing That Is Pieces Studio รับทำงานออกแบบความคิดสร้างสรรค์ ทำงานศิลปะ ออกแบบแบรนด์ ออกแบบผลิตภัณฑ์ และออกแบบตกแต่งบรรยากาศครบครัน สองสาวนิยามอาชีพที่หลากหลายของตนว่า ‘รับจ้าง’
“ปัจจุบันนี้ไว้ใช้ทำงานประดิษฐ์ให้ลูกค้า และมีเครื่องมือสำหรับงานจากพลาสติกรีไซเคิลด้วย เป็นความชอบและความสนใจส่วนตัว และเมื่อได้มาอยู่ในย่านนี้ทำให้เห็นขยะพลาสติกที่เยอะมาก ๆ คงดีถ้าขยะพลาสติกบางส่วนเปลี่ยนมาเป็นงานศิลปะ สร้างเรื่องราวและชีวิตใหม่ให้กับขยะพลาสติก เราชอบขั้นตอนวิธีการทำ รู้สึกตื่นเต้นแถมสนุก ได้ประสบการณ์ใหม่ ๆ ในทุกขั้นตอนเลย”
พิมและเหมียวชอบการทำงานที่หลากหลายไม่จำกัดกรอบ และเป็นนักผุดโปรเจกต์ร้อยแปดพันเก้า การมีพื้นที่สำหรับทดลองทำงานชิ้นใหญ่ ๆ ทำให้พวกเธอสนุกกับการค้นหามากขึ้น ปัจจุบันทั้งคู่กำลังสนใจศึกษาการรีไซเคิลพลาสติกและวัสดุเหลือใช้อย่างจริงจัง ผลลัพธ์ที่ได้ไม่ใช่แค่ตอบโจทย์การรักษ์โลก แต่ยังเป็นความท้าทายสำหรับนักออกแบบที่ได้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ด้วย ปัจจุบันสตูดิโอยังไม่ได้เปิดให้เข้าชม แต่ในอนาคตจะจัดกิจกรรมเกี่ยวกับศิลปะ รอติดตามกันได้เลย
ที่ตั้ง : ถนนทรงวาด แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร 10100
วัน-เวลา : นัดหมายล่วงหน้า
โทร : 09 1052 9562
Instagram : athing_thatispieces สำหรับงานพลาสติกรีไซเคิล และ pypopeningspace สำหรับงานออกแบบ
08
Aoon Pottery
สตูดิโอปั้นเซรามิกและช่างปั้นเซรามิกรุ่นใหม่

ถ้าคุณซื้อถ้วย จาน ชามที่ทำจากเซรามิกในรอบ 5 ปีหลัง ภาชนะชิ้นนั้นของคุณอาจกำเนิดจากสตูดิโอของ อุ่น พอทเทอรี (Aoon Pottery) ก็ได้นะ
บนชั้นสองของตึกแถวสีขาวที่ตกแต่งภายในสไตล์มินิมอล เป็นทั้งที่ทำงานและจัดแสดงผลงานจากแป้นหมุนของสองพี่น้องผู้หลงใหลงานเซรามิกทำมือ ง้วน-พลเสฏฐ์ กับ ฮง-ธเนสร์ โลหะชาละธนกุล
“เราว่างานอุตสาหกรรมมันก็จะให้เรื่องปริมาณ ให้เรื่องความสม่ำเสมอ แล้วก็ราคา แต่ไม่สามารถกำหนดความหนาบางในแต่ละใบได้ แต่ถ้าเป็นงานปั้นมือ คนปั้นอย่างเราควบคุมมันได้”
ง้วนพูดขึ้นพลางส่งตัวอย่างแก้วน้ำงานปั้นฝีมือเขาที่เบาดุจขนนก “ความหนาบางนั้นจะส่งผลกับเรื่องความสมดุลและความรู้สึก จริง ๆ แก้วน้ำใบนี้อาจจะมีน้ำหนักมากกว่าใบที่เราคิดว่าหนัก แต่ถ้าสมดุลดี มันก็จะไม่หนัก พวกทำมือก็จะกำหนดสิ่งนี้ได้”

สำหรับง้วนแล้ว เซรามิกไทยคือเซรามิกจากแหล่งดินในไทย ปั้นโดยคนไทย ให้คนไทยใช้ เขาเชื่อว่าดินในไทยแม้แต่แหล่งที่หลายคนว่าแย่ก็ยังมีดีหากรู้จักใช้ จึงเป็นเหตุให้เขาเสาะแสวงดินไทยจากทั่วประเทศมาทดลองปั้น ทั้งตั้งเป้าว่าจะต้องรู้จักแหล่งดินและชุมชนผลิตเซรามิกทั่วทุกภูมิภาค
ก่อนหน้านี้ Aoon Pottery เคยเปิด Testing Room ที่ชั้นล่างของสตูดิโอ ทำให้หลายคนเข้าใจว่าที่นี่คือคาเฟ่ แต่ง้วนบอกว่าเปล่าเลย เขาทำทุกอย่างเพื่อให้คนได้ทดลองใช้เซรามิกทำมือและเปิดใจใช้งานปั้นในชีวิตประจำวันต่างหาก
ในวันนี้ Aoon Pottery เป็นสตูดิโอทำงานเซรามิกจริงจัง และสถานที่ฝึกหัดนักปั้นเซรามิกโดยเฉพาะ หากต้องการหัดทำเพื่อความสนุก ง้วนแนะนำสถานที่เวิร์กชอปดี ๆ ได้มากมาย แต่จุดประสงค์ของคนรักงานปั้น คือการสร้างช่างปั้นมือโปรรุ่นใหม่ให้เมืองไทย
“ที่นี่จะมีรับแค่คนที่อยากเป็นช่างปั้นจริง ๆ ก็จะไม่ได้คิดค่าใช้จ่าย ให้มาฝึกงานแลก ทำงานแลกครับ”
ที่ตั้ง : 2/8 ซอยแยกปทุมคงคา แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร 10100
วัน-เวลา : นัดล่วงหน้า 1 วันเพื่อเข้าชม
โทร : 08 9447 7161
Facebook : aoon pottery
09
We didn’t land on the moon since 1987
บาร์จากเชียงใหม่ที่ย้ายความสนุกมาอยู่กรุงเทพฯ


ติดกับ Aoon Pottery คือบาร์เล็ก ๆ จากเชียงใหม่ที่ย้ายมาเปิดในย่านไชน่าทาวน์ หลังจากสถิตย์อยู่เมืองเหนือมา 9 ปี โดย ปิลัน หรือ ลัน ผู้เป็นเจ้าของได้บอกว่า ร้านนี้เป็นเสมือนจดหมายบอกรักของเขาต่อร้านของเขาและคนหลาย ๆ คนที่ผ่านเข้ามาในชีวิต เรื่องราวต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นของส่วนตัว แว่นตาพ่อ จดหมายเพื่อนสนิท หรือกระเป๋าเดินทาง ได้ถูกบรรจุและรวมกันอยู่ในทุกอณูของร้านอย่างมีเรื่องมีราว
ร้านนี้เน้นค็อกเทลง่าย ๆ คลาสสิก เช่น Mojito, Old Fashion, Gin Tonic, Long Island และเบียร์ขวดเล็ก เป็นต้น เหมาะกับมานั่งชิลล์เหมือนอยู่บ้านเพื่อนที่ไม่ต้องมีจริตมากมายอะไร ราคาไม่แพง 150 – 260 บาท อาหารง่าย ๆ เช่น ไข่กระทะ ฮอทด็อก ก็พร้อมเสิร์ฟให้ทานเล่น
ข้าง ๆ กันที่รอวันเปิดเร็ว ๆ นี้ คือร้านขายของชำสุดเปรี้ยวของ โอ-ศรัณย์ เย็นปัญญา เจ้าของคอลัมน์ ‘วัตถุปลายตา’ ที่เข็ดฟันที่สุดของ The Cloud แค่ส่องประตูร้านก็สัมผัสได้ถึงความแซ่บของสินค้าทั่วไทยและงานดีไซน์ที่รอวันเปิดตัว

ที่ตั้ง : ซอยแยกปทุมคงคา แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร 10100
วัน-เวลา : เปิดวันพุธ-เสาร์ 13.00 – 00.00 น.
โทร : 08 5499 6245
Instagram : wedidntlandonthemoonsince1987
10
LUK Hostel & Rise Cafe
โฮสเทล-คาเฟ่ ขวัญใจต่างชาติกลางซอยสำเพ็ง

จากถนนทรงวาดอันเงียบเชียบ แค่ทะลุซอกเล็กซอยน้อยไม่กี่อึดใจ คุณก็จะมาถึง ‘ซอยวานิช 1’ หรือ ‘สำเพ็ง’ ที่พลุกพล่านด้วยคนค้าขาย มอเตอร์ไซค์ขนส่งที่วิ่งผ่ากลาง หรือแม้แต่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เหลียวซ้ายแลขวาด้วยความตื่นตาในย่านพาณิชย์ที่เรืองรองมาตั้งแต่แรกสถาปนากรุงเทพฯ
LUK Hostel เกิดขึ้นได้เพราะมีคนกลุ่มหลังสุด ตึกหลังนี้ได้รับการรีโนเวตจากอาคารสำเพ็งพลาซาในอดีต เป็นโฮสเทลและคาเฟ่แสนชิคที่ดึงดูดสายตาทุกคู่ที่สัญจรผ่าน ด้วยผนังปูนเปลือยทั้งภายในและภายนอก ดาดฟ้าชั้น 6 ยังมี RISE Bar เป็นบาร์ลับหุ้มหลังคาเรือนกระจกที่ต้อนรับลูกค้าทุกคน ทั้งแขกในและนอกโฮสเทล

“เปิดมาได้ 4 – 5 ปี พอช่วงโควิดก็ปิดไป 2 ปี เพิ่งกลับมาเปิดใหม่สักพักนี่ล่ะค่ะ” อุ้ม-วิภาวี กิตติเธียร ผู้จัดการทั่วไปบอกด้วยแววตาเปี่ยมความหวัง “ตอนแรกเข้าใจว่าคนยังไม่ค่อยเที่ยวเท่าไหร่ แต่ปรากฏว่าไม่ได้มีแค่เราที่อึดอัด ต่างชาติเขาก็อัดอั้นอยากมาเที่ยวเหมือนกัน”
เราเรียกที่นี่ว่า ‘โรงแรมคนรุ่นใหม่’ ได้เต็มปาก เพราะนอกจากจะก่อตั้งโดยทีมคนหนุ่มไฟแรงอย่าง ศานนท์ หวังสร้างบุญ ลูกค้าที่เข้าพักโรงแรมส่วนใหญ่ก็เป็นนักท่องเที่ยวยุโรปอายุน้อยที่มาไทยพร้อมกระเป๋าแบ็กแพ็ก และความตั้งใจจะค้นหาตัวเองก่อนเข้าวัยผู้ใหญ่
“จริง ๆ แล้ว จะทรงวาดหรือที่นี่ก็เป็นย่านเดียวกันทั้งนั้นแหละค่ะ เราไม่อยากกั้นความเป็น Neighboorhood ของเราด้วยถนน เพราะยังไงเราก็อยู่ฝั่งตรงข้ามกัน เป็นย่านเดียวกัน เป็นคนรุ่นใหม่ที่ยังมีจิตใจรุ่นใหม่คล้าย ๆ กัน ยังอยากทำอะไรที่น่าสนใจเพื่อพัฒนาย่านของเราร่วมกัน” คุณอุ้มกล่าวถึงสาเหตุที่ LUK Hostel เข้าร่วมโปรเจกต์ Made in Songwat แม้โรงแรมของเธอจะไม่อยู่บนถนนทรงวาดก็ตาม
ที่ตั้ง : 382 – 384 – 386 ซอยวาณิช 1 แขวงจักรวรรดิ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร 10100
วัน-เวลา : เปิดทุกวัน 24 ชั่วโมง
โทร : 09 2280 3385
Facebook : LUK Hostel – ลุก โฮสเทล
11
Restaurant POTONG
ร้านอาหารไทย-จีน เจ้าของรางวัล Best Restaurant in The World

อดีตร้านขายยาจีนยี่ห้อ ‘ปอคุนเอี๊ยะป้อ’ ของต้นตระกูลชาวจีนฮกเกี้ยนในตึก 5 ชั้น สไตล์ชิโน-ยูโรเปียน เมื่อผลัดใบสู่ทายาทรุ่นที่ 5 อย่าง เชฟแพม-พิชญา อุทารธรรม ซึ่งใฝ่ฝันอยากเปิดร้านอาหารของตัวเองตั้งแต่เด็ก ร้านขายยาสมัยคุณเทียด (ปู่ของปู่) จึงได้รับการขัดสีฉวีวรรณใหม่ เป็น Fine Dining Restaurant กลางซอยสำเพ็ง
อาหารฝีมือเชฟแพมไม่ใช่ทั้งอาหารจีนแบบที่หารับประทานได้ในเมืองจีน และก็ไม่ใช่อาหารไทยในเมืองไทย แต่เป็นอาหารไทยปนจีนของชาวจีนโพ้นทะเลที่ถูกนำมาตีความใหม่และผสานกับความรู้สมัยใหม่ของเชฟแพม เพื่อสื่อถึงตัวตนของเชฟซึ่งเป็นคนไทยเชื้อสายจีน
“คอนเซ็ปต์หลักของ ‘โพทง’ คือกาลเวลา อยากให้ลูกค้าสร้างความทรงจำที่นี่ ไม่ว่าจะตึกเก่าปนใหม่ ไปจนถึงมื้ออาหารที่มีกาลเวลาเป็นแม่ครัว โดยวัตถุดิบและเครื่องปรุงที่นี่ทำเองแทบทั้งหมด” ต่อ-บุญปิติ สุนทรญาณกิจ คู่ชีวิตของเชฟแพมกล่าวถึงแนวคิดที่อยู่เบื้องหลังร้านของเขากับภรรยา

โพทงมีอาหารมากกว่า 20 คอร์ส แต่ละเดือนมื้ออาหารจะมีสลับหมุนเวียนทีละอย่าง รสชาติของร้านนี้ได้รับการการันตีคุณภาพจาก Condé Nast Traveler Hot List 2022 ให้เป็น Best Restaurant in the World มาแล้ว
อิ่มท้องกับอาหารฝีมือเชฟแพมแล้ว หากเข็มสั้นนาฬิกาชี้เลข 5 อย่าลืมแวะขึ้นไปเพลินอารมณ์กับเครื่องดื่มและบรรยากาศใน Opium Bar บาร์ลับที่อวลด้วยกลิ่นอายแหล่งแฮงก์เอาต์ของนิวยอร์ก ผสมความเป็นไชน่าทาวน์เยาวราชยามค่ำคืนด้วยนะ
ที่ตั้ง : 442 ซอยวาณิช 1 แขวงจักรวรรดิ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร 10100
วัน-เวลา : ปิดวันอังคาร-วันพุธ
โทร : 08 2979 3950 (จองโต๊ะล่วงหน้าเท่านั้น)
Facebook : Restaurant.Potong
12
กู่หลงเปา
ซาลาเปาสูตรแต้จิ๋วโบราณที่ส่งต่อความอร่อยมา 5 ชั่วอายุคน

นานกว่าร้อยปีแล้วที่ครัวร้าน ‘เตียท่งเซ้ง’ หรือ ‘กู่หลงเปา’ ตั้งมั่นอยู่ในทรงวาด
ตลอดเวลาที่ผ่านมา ร้านซาลาเปาแต้จิ๋วที่มีกรรมวิธีทำมือแบบโบราณแห่งนี้ได้เปลี่ยนมือเจ้าของจากรุ่นสู่รุ่น จนกระทั่งมาถึงรุ่นที่ 5 อย่าง นัท ที่ดูแลร้านร่วมกับอากู๋ (ลุง) มือปั้นซาลาเปาผู้ช่ำชอง
ด้วยมันสมองและสองมือของหนุ่มอนาคตไกล นัทได้ปรับปรุงแบรนดิ้งของร้านกู่หลงเปาให้ทันสมัยยิ่งขึ้น เช่น ทำช่องทางติดต่อออนไลน์ ออกแบบสินค้าใหม่ ๆ อย่างซาลาเปาอบ คิดค้นแพ็กเกจจิ้งที่ช่วยให้ซาลาเปาของร้านส่งไปขายไกลถึงเชียงใหม่หรือหาดใหญ่ได้ กระทั่งชื่อแบรนด์ใหม่ว่า ‘กู่หลงเปา’ เขาก็เป็นคนต้นคิด ขณะเดียวกันก็ไม่ลดทอนคุณค่าทางกาลเวลาของร้าน

ผลงานชิ้นล่าสุดของนัทคือการนำ ‘กู่หลงเปา’ เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ ‘Made in Songwat’ เป็นการยืนกรานว่าร้านซาลาเปาร้อยปีของตระกูลเขาไม่ใช่ร้านเก่าเก็บ หากเป็นร้านเก๋าที่พร้อมปรับตัวเข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนผ่านไปอย่างเร็วรี่
“ผมอยู่แถวสามแยกหมอมีมาตั้งแต่เกิด ประมาณ 30 กว่าปี ไม่ค่อยได้มาทรงวาด แต่ตัวครัวตั้งอยู่ในแหล่งทรงวาดมาร้อยกว่าปีแล้ว เมื่อประมาณ 3 ปีมานี้ก็ได้มาทรงวาดบ่อยขึ้น มารู้จักแต่ละร้านมากขึ้น ผู้คนแถวนี้เฟรนด์ลี่มาก ส่วนตัวคิดว่าถ้าเราชอบทรงวาดอยู่แล้ว ก็อยากทำให้สิ่งที่เราชอบเป็นที่รู้จัก และเข้าถึงได้ในวงกว้าง”
สูตรการทำซาลาเปาของกู่หลงเปายังเป็นสูตรแต้จิ๋วดั้งเดิมเมื่อศตวรรษที่แล้ว ไม่ได้ปรับเป็นอื่น มีเพียงการตลาด การขาย การสร้างแบรนด์เท่านั้น ที่นัทอยากเปลี่ยนเป็นขายส่งให้มากขึ้น
“ตอนนี้อยากจะทำครัวเป็นโชว์รูมครับ เป็นห้องกระจกที่คนผ่านมาเห็น ถ้าชอบก็ซื้อไปกินได้”
ที่ตั้ง : หน้าร้าน 660 – 662 ถนนเจริญกรุง แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร 10100
วัน-เวลา : วันจันทร์-เสาร์ 09.00 – 17.00 น.
โทร : 09 5797 5747
Facebook : GuLongBaoSalapao
13
โรงกลั่นเนื้อ
ร้านก๋วยเตี๋ยวเนื้อที่กำลังรอวันเปิดตัว

ท้ายสุด สุดท้าย… ขอพาไปพบน้องคนสุดท้องของชาว Made in Songwat อย่าง ‘โรงกลั่นเนื้อ’ ซึ่งยังรอวันอวดโฉมอย่างเป็นทางการในวันที่บทความนี้เผยแพร่
“จะเป็นร้านก๋วยเตี๋ยวครับ ชื่อว่า ‘โรงกลั่นเนื้อ’” กอล์ฟ-พลัฏฐ์ นิธิพิพิธชัย เท้าความขณะพาเราชมห้องแถวที่ยังปกปิดมิดชิด “ด้วยความที่หุ้นส่วนเขาชอบกิน เราก็คิดว่าจะทำยังไงให้มันอร่อย บวกความนั่งสบาย บวกกับศิลปะและวัฒนธรรมของถนนเส้นนี้ ก็คงจะเอาไปใส่”
กอล์ฟเผยว่าเขาหลงใหลในถนนทรงวาดมานานแล้ว เพราะชอบที่อยู่ริมแม่น้ำ คับคั่งด้วยตึกรามสวย ๆ จนดึงดูดให้มาเดินชมได้ไม่รู้เบื่อ
“มาเดินแล้วมันสวย มีร้านน่าสนใจเยอะเต็มไปหมด เรารู้สึกว่าอยากมาทำตรงนี้ ผมรู้สึกว่ามันจะเป็นนามสกุลที่ดีถ้าหากร้านแรกของผมมันจะมีนามสกุลทรงวาด แล้วถ้าในอนาคตร้านนี้เป็นที่พูดถึง เราก็จะรู้สึกว่าได้นำความเป็นทรงวาดติดตัวไปด้วยครับ”
เมนูของ ‘โรงกลั่นเนื้อ’ จะมีอะไรโดดเด่น ผู้ก่อตั้งร้านขออุบไว้ก่อน แต่เขารับประกันว่าจะต้องตรึงตาตรึงใจให้ผู้คนอยากกลับมาเยือนทรงวาดอีกแน่นอน