22 กุมภาพันธ์ 2024
8 K

Ratchaprasong

หลังจากห้าง Amarin Plaza ถูกคลุมด้วยผืนผ้าใบก่อสร้างอยู่พักใหญ่ ใครผ่านไปผ่านมาแถวย่านราชประสงค์ตอนนี้น่าจะเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงทีละน้อย อาคารสีขาวที่คุ้นเคยเปลี่ยนเป็นสีเทา หัวเสาที่คุ้นตาทาด้วยสีทอง และก้อนรังไหมเล็ก ๆ เริ่มก่อตัวอยู่บริเวณทางเข้าอาคาร Amarin Plaza เป็นสัญญาณการเปลี่ยนผ่านจาก Amarin Plaza สู่ ‘Gaysorn Amarin’ 

ทีมเกษรตั้งใจให้เกิด Placemaking ในย่านนี้ โดยเฉพาะเมื่อรวมกับ Gaysorn Centre และ Gaysorn Tower แล้ว ทั้ง 3 อาคารของ Gaysorn Village จะทำหน้าที่เชื่อมย่านราชประสงค์ให้กลายเป็น Urban Village ในคอนเซปต์เดียวกัน คือ Cocoon ที่สื่อถึงการเกิดใหม่

“รีโนเวตใหม่แล้วทำไมยังเก็บเสาโรมันเอาไว้”

นี่น่าจะเป็นหนึ่งคำถามในใจใครหลาย ๆ คนที่ได้เห็นการปรับโฉม Gaysorn Amarin

และเหตุผลก็คือ พวกเขาตั้งใจจะเก็บ Legacy เดิมไว้ แล้วต่อยอดไปสู่สถาปัตยกรรมร่วมสมัยที่มีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร และไม่มีใครเหมือน ตามสโลแกนที่ว่า ‘Forward to the Future with Old-new Spirit’ 

ในบทความนี้ เราจะเล่าตั้งแต่ที่มาที่ไปของการออกแบบอาคารแห่งนี้ในยุค 80s ไปจนถึงการย้อนเวลาสู่ 800 ร้อยปีก่อนคริสตกาลและศตวรรษที่ 20 เพื่อพาไปดูที่จุดเริ่มต้นว่าทำไมเสาโรมันมาอยู่ที่ Amarin Plaza แต่แรก

‘Amarin Plaza’

โครงการอัมรินทร์พลาซ่า ออกแบบโดย อาจารย์รังสรรค์ ต่อสุวรรณ ผู้ออกแบบอาคารที่สำคัญในประเทศไทยมากมาย

ขณะนั้นคือปี 1982 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตขึ้นมากจากการที่สหรัฐฯ เข้ามาทำสงครามกับเวียดนาม 

เมื่อเงินในประเทศมากขึ้น ผู้คนมีฐานะดีขึ้น ความต้องการความหรูหราก็เพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว อัมรินทร์พลาซ่าจึงถือกำเนิดขึ้นมาบนแนวคิดแบบ Postmodern 

แล้ว Postmodern คืออะไร

ในโลกตะวันตก คำว่า Postmodern ริเริ่มโดย Charles Jencks สถาปนิกชาวอเมริกัน เขาให้ความหมายว่าเป็นการพัฒนาต่อเนื่องมาจาก Modern จากเดิมอาคารออกแบบมาเรียบ ๆ ไม่ได้สื่อความหมายอะไรเป็นพิเศษ กลายเป็นการดึงองค์ประกอบเชิงศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ มาใช้ในการออกแบบอาคาร เพื่อสื่อสารความหมายที่ซ่อนอยู่กับผู้คนมากขึ้น 

“การตีความ Postmodern ของคุณพ่อ ท่านมองว่าสังคม เศรษฐกิจ และประชาชนขณะนั้นต้องการอะไร ผู้คนต้องการความหรูหรา ซึ่งสมัยก่อนความหรูหราไม่มีนะ ผมบอกได้เลยว่ารถ Mercedes-Benz มีน้อยมาก รถสปอร์ตไม่มีเลย เพราะภาษีนำเข้าแพง จนเรารู้สึกว่ารถ Mercedes-Benz หรือ BMW มันเกินเอื้อม เช่นเดียวกับของหรูหราที่น้อยคนจะได้ครอบครอง คนเลยหิวกระหายสิ่งนี้” 

ในเวลานี้คงไม่มีใครบอกเล่าเรื่องราวของคุณพ่อได้ดีไปกว่าลูกชาย ต้น-พรรษิษฐ์ ต่อสุวรรณ 

“ช่วงนั้นคนไทยกำลังบ้าสหรัฐฯ บ้าความมั่งคั่งร่ำรวย” คุณต้นกล่าว “แกบอกว่าองค์ประกอบที่ชัดที่สุดที่จะสื่อความหมายถึงความร่ำรวยคือองค์ประกอบคลาสสิกอย่างเสาโรมันนี่แหละ แกชอบพูดให้ฟังว่าคนชั้นสูงของไทยนำความคลาสสิกของยุโรปมาใช้นานแล้ว อย่างวังต่าง ๆ ในหลายที่ แค่ทำในคนละรูปแบบ คนละวิธีการ

“ยิ่งสมัยก่อนเราต้องขายงานด้วยรูป Perspective สีน้ำที่เขียนด้วยมือ ไม่ได้ทำด้วยคอมพิวเตอร์เหมือนสมัยนี้ มันยากมาก เลยต้องเลือกภาษาทางสถาปัตยกรรมที่สื่อความหมายถึงความหรูหรากับผู้คนได้ชัดและเร็วที่สุด ต้องเห็นปุ๊บแล้วซื้อเลย”

ด้วยเหตุนี้ เสาแบบ Ionic จาก 800 ปีก่อนคริสตกาล จึงปรากฏตัวขึ้นมาอีกทีในยุค 80 ในฐานะองค์ประกอบที่มีสัดส่วนสวยงามและแสดงถึงความมั่งคั่ง

ภาพ : Pansit Torsuwan

800 B.C.

ถ้าจะพูดถึงเรื่องราวต้นกำเนิดของเสา เราขอชวนผู้อ่านกระโดดขึ้นไทม์แมชชีนย้อนไปในสมัยกรีก-โรมัน เมื่อ 800 ร้อยปีก่อนคริสตกาล 

Vitruvius สถาปนิก-วิศวกรแห่งอาณาจักรโรมัน เล่าให้ฟังผ่านตำราของเขาว่าต้นกำเนิดของเสาคลาสสิกทั้ง 3 แบบ Doric, Ionic, และ Corinthian เกิดขึ้นมาเพื่อใช้งานในฐานะเสาของวิหารที่บูชาเทพเจ้า โดยใช้สัดส่วนระหว่างเท้ากับความสูง 

เสา Doric ใช้สัดส่วนผู้ชาย ในอัตราส่วน 1 : 6 ให้ความรู้สึกแข็งแรง บึกบึนแบบบุรุษ ในขณะที่ Ionic อ้างอิงความงามของสัดส่วนของผู้หญิงที่ 1 : 9 ให้ความรู้สึกอ่อนช้อย บอบบางแบบผู้หญิง และ Corinthian อ้างอิงสัดส่วนเดียวกับ Ionic แต่เพิ่มดีเทลใบไม้ Acanthus ให้ดูหรูหรามากขึ้น ว่ากันว่าได้แรงบันดาลใจมาจากตะกร้าที่วางบนหลุมศพของเด็กสาวในเมือง Corinth 

ในเวลานั้นเสาทั้ง 3 เป็นตัวแทนแห่งความศรัทธา ความรู้ทางคณิตศาสตร์ และภูมิปัญญาด้านความงามที่คนโบราณเชื่อมโยงสัดส่วนมนุษย์เข้ากับงานสถาปัตยกรรมได้

ภาพ : architecturaltravels.wordpress.com

20th Century-Modern

ศตวรรษที่ 20 ยุคแห่ง Modern เป็นช่วงเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เศรษฐกิจทั่วโลกฝืดเคือง งานออกแบบเลยเน้นไปที่ฟังก์ชันการใช้งาน ความเรียบง่าย และสัจจะวัสดุที่ใช้วัสดุต่าง ๆ อย่างตรงไปตรงมา ไม่เน้นการประดับตกแต่ง 

ถึงแม้จะไร้เงาเสาโรมันให้เล่าถึง แต่ช่วงเวลานี้ก็เป็นช่วงเวลาสำคัญ เพราะเป็นช่วงที่อาจารย์รังสรรค์เริ่มต้นสะสมความรู้ บ่มเพาะฝีมือ

คุณต้นเล่าว่าแรกเริ่มเดิมทีคุณพ่อไม่ได้ออกแบบด้วยการใช้องค์ประกอบคลาสสิกอย่างเสาโรมัน เพราะสมัยที่ท่านเรียนและเริ่มทำงานเป็นยุค Modern โดยได้ร่ำเรียนสิ่งนี้มาจากปรมาจารย์ด้าน Modern อย่าง Walter Gropius และอาจารย์อีกหลายท่าน ในฐานะคนไทยคนแรกที่ศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่ MIT ประเทศสหรัฐอเมริกา 

หลังจากเรียนจบทำงานได้ 2 ปี ก็บินกลับมาทำงานออกแบบสถาปัตยกรรมที่เมืองไทย ในสมัยนั้นสถาปนิกเก่ง ๆ ทุกคนต่างพยายามสร้างแนวทางการออกแบบของตัวเอง อาจารย์รังสรรค์ก็ได้เริ่มทดลองออกแบบในแนวทาง Modern ซึ่งอาคารยุคแรก ๆ อย่างคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ถือว่ามีความดิบอยู่มาก 

“มีบ้านอีกหลายหลังที่ดิบแบบสุด ๆ เอากระเบื้องมาทุบแล้วแปะเข้าไปเลย บางส่วนก็ก่ออิฐโชว์แนว หล่อคอนกรีตเปลือย ทำกรวดล้าง ทรายล้างนี่แกชอบใช้มาก เน้นใช้สีธรรมชาติของวัสดุ แกจะไม่ชอบทาสี คือทาสีแล้วมันไม่เก่ง ทาสีเมื่อไหร่เรากระจอก เพราะเมื่อคุณเป็นสถาปนิก พอตาเห็นปุ๊บ ต้องคิดออกมาได้เลยว่าวัสดุควรจะเป็นอะไร”

คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
ภาพ : Foto_momo

“หลังจากนั้นคุณพ่อถึงเริ่มเอาองค์ประกอบที่อ่อนช้อยเข้ามาใช้ เพราะทดลองแล้วว่า ถ้าดิบเกินไปอยู่ไม่สบาย ไม่มีชีวิตชีวา ไม่ Homey 

“ซึ่งการตีความคำว่า Homey ของแก คือหนึ่ง มีเส้นอ่อนช้อย สอง มีความ Luxury เลยเริ่มดึง Rose Window และเหล็กดัด Wrought Iron ซึ่งเป็นองค์ประกอบแบบฝรั่งมาเข้ามา สมัยก่อนยังไม่มีใครใช้ ช่างก็ยังทำไม่เป็น ดูจากรูปถ่ายมาแล้วเอามาดัดแปลง ขึ้นลายด้วยตัวเอง แกชอบเขียนเอง”

บ้านบุญนำทรัพย์
ภาพ : Foto_momo

“แต่โครงการสำคัญที่เป็นผลงานชิ้นปฏิวัติ คือโรงพยาบาลสมิติเวช สมัยก่อนโรงพยาบาลจะทึบ ๆ ไม่ค่อยน่าอยู่ มีกลิ่นอับ แกเสนอให้ คุณบัญชา ล่ำซำ ซึ่งเป็นเจ้าของฟังว่าแนวคิดคือเหมือนอยู่แบบบ้าน ต้องอยู่แล้วสบาย จึงทำโรงพยาบาลให้มีระเบียง ใช้ระบบปรับอากาศ ตัวอาคารใช้องค์ประกอบแบบคลาสสิกผสมกับคอนกรีตเปลือยและก่ออิฐโชว์แนว ตอนนั้นงานคอนกรีตเปลือยก็ลดลงเหลือแต่พวกเสากับหน้าบัน (Pediment) เส้นสายลดทอนความเหลี่ยม และเริ่มหล่อคอนกรีตเป็นแนวเส้นโค้ง ๆ”

โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท

“แกทำงานละเอียดบ้าเลือดมาก คิดแม้กระทั่งว่าพื้นต้องวิ่งเส้นทองเหลืองเพื่อกันไฟฟ้าสถิต เพราะฉะนั้นคุณบัญชาเลยมั่นใจให้คุณพ่อผมทำธนาคารกสิกรไทยมาแทบทุกอัน”

คุณต้นเล่าถึงพัฒนาการแนวทางในการออกแบบของคุณพ่อจากความดิบแบบ Modern จนเริ่มใช้องค์ประกอบเส้นโค้งที่อ่อนช้อยมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่การออกแบบอัมรินทร์พลาซ่าในเวลาต่อมา

80s – Postmodern

ย้อนกลับมาที่ยุค 80s ที่อัมรินทร์พลาซ่าถือกำเนิดกันอีกครั้ง โครงการอัมรินทร์พลาซ่าถือว่าเป็นโลกทัศน์ใหม่ของ Shopping Mall ในเวลานั้น โดยเป็นอาคาร Mixed-use ที่ผนวกประโยชน์ใช้สอยหลายรูปแบบไว้ในอาคารเดียวเป็นแห่งแรก ๆ ด้านบนเป็น Tower ตึกกระจกแบบ Modern ส่วนด้านล่างเป็นห้างสรรพสินค้า โดยมีเสาโรมันเป็นไอคอนสำคัญ 

“คิดว่าคุณพ่อใช้เสา Ionic เพราะดูมีดีเทล บ้านผมสร้างก่อนที่นี่น่าจะสัก 10 ปี ใช้เสา Doric ซึ่งความทรงตรง ๆ ของ Doric ช่างยังพอแต่งฉาบได้ Ionic มันยากกว่า เพราะช่างแต่งไม่ได้ ตัวหัวเสาต้องม้วนและย้อยลง แต่งแล้วมันจะหัก ทดลองทำแล้วยาก ตอนนั้นเลยไปหาเครื่องมือคือ GRC เพื่อที่จะหล่อเสาขนาดใหญ่แบบนี้ให้ได้ เสียดาย ถ้าเกิดรู้ว่าจะเป็นเมมโมรีได้แบบนี้นะ ผมจะยกมาให้ ตอนนี้พังไปหมดแล้ว ผมจำได้ว่าเอาไปใส่ต้นไม้ ถ้ามีแล้วจะเจ๋งมากเลยนะ 

“ถ้าพูดถึงหัวเสาจริง ๆ คุณพ่อก็ใช้ทุกอันนะ แต่ตัวนี้จะดูโก้สุด เพราะสัดส่วนมันได้ ตอนหลังแกก็ยังใช้เสา Ionic อยู่บ้าง แต่ไม่ใช่อันนี้ เพราะอันนี้ทำให้อัมรินทร์กรุ๊ปแล้วเลยไม่ใช้ซ้ำ เขาเอาไปใช้เป็นโลโก้บริษัทด้วย ซึ่งหลังจากนี้แกก็ใช้ภาษาแบบนี้ในการทำ Real Estate ของแกเอง แต่เปลี่ยนดีไซน์”

คุณต้นเล่าว่านอกจากภาษาสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิกแล้ว การเลือกทำอาคารที่มีช่องเปิดโล่งก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายของโครงการนี้ เพราะห้างสรรพสินค้าในยุคก่อนหน้าอย่างไทยไดมารูที่มีบันไดเลื่อนตัวแรกในประเทศไทย และอีกหลาย ๆ โครงการร่วมสมัยกัน ล้วนเน้นการสร้างห้างแบบปิดทึบ เพราะง่ายต่อการจัดแสดงสินค้า การไม่เห็นท้องฟ้าช่วงดึงให้ลูกค้าใช้เวลาพักผ่อนหย่อนใจในห้างได้นาน ๆ เพราะไม่รู้ว่าเวลาผ่านไปนานเท่าไหร่ บวกสภาพทางเท้าและอากาศที่ไม่เป็นใจ 

ในขณะที่ห้างสรรพสินค้าในไทยเน้นสร้างโลกภายในขึ้นมาใหม่ แต่อัมรินทร์พลาซ่ากลับทำตรงกันข้าม

“แบบของอัมรินทร์พลาซ่าก็โดนประเด็นนี้หนักว่าทำไมกระจกเยอะ ทำไม Facade ถึงเปิดโล่ง แต่เพราะคุณพ่อเชื่อว่าแยกนี้จะเป็นแยกที่มีทางเท้าเดินได้ แม้สมัยก่อนตรงนี้จะมีแค่โรงแรม President 

“ยิ่งเจอองค์ประกอบแบบเสาโรมัน บอร์ดทุกคนก็ช็อก สตันต์กัน ต้องใช้พลังงานเยอะมากที่จะโน้มน้าวให้เจ้าของซื้อแบบนี้ ทีนี้พอคุยกันไม่รู้เรื่องก็ต้องโชว์ด้วยผลงานเชิงประจักษ์ ซึ่งแปลว่าคุณต้องขายได้ ต้องมีคนยอมซื้อพื้นที่

“ความสำเร็จในยุคนั้นเป็นความสำเร็จแบบ Hands on ครับ มันต้องลุย ตอนนั้นคุณพ่อบอกเดี๋ยวผมขายให้ คือแกเอาแบบไปขายเอง แต่ก่อนจะเอาแบบไปขาย แก Run Cashflow กับ Business Model ดูก่อน ซึ่งจะทำได้ก็ต้องเข้าใจธุรกิจ ถ้าสถาปนิกไม่เข้าใจธุรกิจ แล้วได้โพยมาออกแบบจะไม่เป็นแบบนี้ มันต้องมีปัจจัยพิสูจน์ให้รู้ว่าทำได้ ที่แกชอบพูดถึง คือขายให้ ไข่ บูติก ร้านชุดแต่งงาน ก็เอารูป Perspective สีน้ำ เอาไปขาย เอาไปเล่าให้ฟังว่าทำไมทำแบบนี้”

ผลตอบรับตอนนั้นเป็นยังไง – เราถาม

“จริง ๆ ไม่รู้อัมรินทร์พลาซ่าประสบความสำเร็จหรือ McDonald’s ประสบความสำเร็จนะ (หัวเราะ) เพราะคิวยาวมาก ผมยังต้องมายืนรอเป็นชั่วโมง ตอนนั้นคนเห่อแฮมเบอร์เกอร์เพราะไม่เคยกิน มาเดินเล่นที่นี่แฮปปี้มีความสุขได้ใช้เงินสักหน่อย สมัยนั้นซื้อแฮมเบอร์เกอร์เท่ากับกินข้าวข้างนอกได้ 2 วันเลยนะ”

ภาพ : Facebook : ย้อนอดีต…วันวาน

“ส่วนเรื่องพื้นที่ก็ขายดีครับ เราเลยได้ใช้แบบนี้ ตอนนั้นน่าจะเป็นการตัดสินใจที่กล้า ๆ กลัว ๆ ของบอร์ดบริษัท แต่ตอนหลังน่าจะภูมิใจแหละ เพราะโลโก้ของอัมรินทร์กรุ๊ปก็เป็นหัวเสานี้ และเป็นโลโก้นี้อยู่นาน” 

Amarin Legacy

ในปี 2024 องค์ประกอบคลาสสิกอย่างเสาโรมันขยับสับเปลี่ยนหน้าที่จากสัญลักษณ์แสดงความหรูหรา เปลี่ยนมาเป็นองค์ประกอบที่บอกเล่าเรื่องราว Legacy จากยุคก่อนในหลาย ๆ แง่มุม

ในเชิงประวัติศาสตร์ เสาโรมันของ Gaysorn Amarin ทำหน้าที่เป็นตัวแทนสะท้อนภาพยุค 80s อันมั่งคั่ง ผู้คนนิยมความหรูหรา จากเสาโรมันในห้างอัมรินทร์พลาซ่า จึงพัฒนาไปสู่บ้านตากอากาศทรงโรมัน ไปจนถึงทาวน์เฮาส์ทรงโรมันที่พบเจอได้แทบทุกมุมเมือง ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันว่าอาจารย์รังสรรค์มีสายตาเฉียบแหลม มองขาดถึงงานสถาปัตยกรรม ความต้องการของลูกค้า ไปจนถึงสภาพเศรษฐกิจ จนเสาโรมันฮิตไปทั่วบ้านทั่วเมือง

“ผมภูมิใจในตัวคุณพ่อนะ ในฐานะดีไซเนอร์ที่สร้างปรากฏการณ์เปลี่ยนมุมมองเรื่องความหรูหราให้ทุกคนเห็นภาพและเข้าใจได้ จนทุกวันนี้ก็เข้าถึงได้หมดแล้ว ไม่ได้ Luxury เป็นพิเศษ”

นอกเหนือจากการบอกเล่าเชิงประวัติศาสตร์สังคมแล้ว Gaysorn Amarin ยังเป็นเสมือนพิพิธภัณฑ์การออกแบบที่มีชีวิตของสถาปนิกชั้นครูที่เราเข้าไปชมได้ดีเทลที่น่าสนใจต่าง ๆ ได้อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเสาโรมันที่ใช้สัดส่วนเดียวกันกับยุค 800 ปีก่อนคริสตกาล

“ผมว่าแกเกิดมาพร้อมกับเซนส์เรื่อง Proportion นะ มือกับตาแกเป๊ะอยู่แล้ว ไม่ได้ขนาดว่ามีหลักการต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้เป๊ะ ๆ คนเขาจะบอกว่าแกทำสเกลใหญ่เก่ง Atrium อะไรที่เวอร์ ๆ อย่างคอนโดที่พัทยานี่ สูง 50 ชั้น ทำแล้วดูไม่หลุด เพราะสำหรับหลายคนที่ไม่คุ้นกับสเกลใหญ่จะหลุดง่าย”

อีกสิ่งที่สำคัญคือฝีมือในเชิงช่าง เมื่องานในยุคใกล้เคียงกันโดยเฉพาะงานหล่อกรีตดี ๆ ทยอยล้มหายตายจากไปด้วยยุคสมัยทุนนิยม จึงเหลือไม่กี่ที่ที่ยังคงเก็บสัดส่วนและรูปฟอร์มสวยงาม เส้นสายคมกริบ แสดง Craftmanship ของช่างสมัยก่อนเอาไว้

“ช่างที่หล่อคอนกรีตต้องหล่อแบบมีฝีมือนะ คอนกรีตเทไปแล้วจะเผยออกมาให้มันสวย ไม่ใช่ว่าเอาแม่แบบมาวางแล้วเทโครมได้ และถ้าเป็นสมัยนี้ต่อให้คุณเขียนแบบได้ ก็หาช่างทำไม่ได้แล้วนะ 

“คุณพ่อผมท่านบอกว่าสมัยนั้นเคยไปตรวจงาน เจอช่างนอนอยู่ ก็ไปด่าช่างว่าทำไมอู้งาน ช่างบอกว่าไม่รู้เรื่องก็อย่ามายุ่ง มันต้องรอบ่ม คือเขาเอาหญ้าอะไรไม่รู้มาแช่น้ำ แกก็ถามว่าจะแช่ทำไม รีบ ๆ ทำให้เสร็จจะได้รีบทำงานอื่นต่อ ช่างก็บอกว่าจะทำแบบที่คุณว่าก็ได้ แต่ต้องทุบทิ้งทำใหม่อยู่ดี ซึ่งนั่นเป็นการเรียนรู้กับช่าง 

“ช่างสมัยก่อนเขาเก่งและมีประสบการณ์ รู้ว่าต้องใช้เวลาเท่าไหร่ ใช้ส่วนผสมเท่าไหร่ จะต้องเอาหญ้ามาบ่มน้ำผสมปูน กว่าออกมาได้เอฟเฟกต์แบบนี้ แล้วอยู่มาจนทุกวันนี้ยังสวยอยู่เลย เป็นอะไรที่ในโรงเรียนไม่ได้สอน สถาปนิกสมัยนั้นจะคลุกคลีกับช่าง เวลาติดกระเบื้องผนังเขาก็จะนั่งเล็งกับช่างเลย เพราะมันไม่ได้มีในแบบ ทำกันสด ๆ เพราะกระเบื้องออกมาไม่เท่ากัน เวลาตีแตกอะไรแบบนี้ เป็นยุคที่มี Craftmanship สูงมาก ไม่รวดเร็วแบบสมัยนี้”

“สมัยก่อนโชคดีที่ทั้งตัวผู้ออกแบบและผู้ก่อสร้างเป็นคนโบราณที่ให้ความใส่ใจกับดีเทล มีประสบการณ์ ที่สำคัญ เขาภูมิใจกับงานที่เขาทำ คือไม่ได้ทำงานเพื่อเงินนะ ทุกคนต้องการเงินอยู่แล้ว เขาทำงานเพื่อผลงาน เขาภูมิใจ แล้วเอาไปพูดต่อ ผมบังเอิญได้เจอคนเหล่านี้ตั้งแต่เด็ก รู้สึกว่ามันต่างกับตอนที่ผมเข้ามาทำวิชาชีพนี้ คนพวกนั้นเป็นคนโบราณซึ่งหาไม่ได้อีกแล้ว”

21st Century

“ผมคิดว่าโลกเปลี่ยน สถาปัตยกรรมก็เปลี่ยน สมัยนี้สิ่งที่จะสะท้อนความหรูหราไม่ได้เกี่ยวข้องกับ Decoration แต่เป็น Mood and Tone หรือ Form เช่น เอาทรงไข่มาอยู่ใน Grid แบบที่ออกแบบ Sale Gallery นี้ ซึ่งคอมพิวเตอร์ช่วยสร้างได้”

คุณต้นเกริ่นหลังจากเราถามถึงความคิดเห็นต่อการปรับปรุงรูปลักษณ์ครั้งใหม่ของ Gaysorn Amarin

“ผมบอกตรง ๆ ว่าผมให้คุณพ่อดู คุณพ่อไม่ได้ว่าอะไรเลยนะ ท่านยิ้ม ๆ เพราะเป็นคนไม่ค่อยพูด ท่านชอบเล่าแต่ไม่ค่อยพูดชมใคร แต่เท่าที่ผมเห็น ผมก็ตกใจว่ายังเก็บเสาเอาไว้ แล้วผมตื่นเต้นว่าทาง Developer และทีมทั้งหมดจะทำมันออกมายังไง ออกมาในแบบไหนให้มันประสบความสำเร็จ

“อย่างที่บอก ในสมัยนั้นเสาโรมันเป็นภาษาที่ทรงพลัง เป็นอาวุธ แต่สมัยนี้อาจเป็นเครื่องหลังที่ต้องแบก ผมพูดตรง ๆ โดยไม่อายเลยว่าเสาโรมันจะสื่อเหมือนเมื่อก่อนไม่ได้อีกแล้ว เพราะตอนนี้มันไปอยู่ตามตึกแถวต่างจังหวัดแล้ว เป็นอะไรที่ยาก เขาจะทำยังไงให้มันสื่อได้ นี่คือความน่าสนใจ ผมคงอยากมาดู มองว่าเป็นชาเลนจ์ที่สนุก และผมคิดว่าบ้านเราควรมีคนทำอะไรแบบนี้ เพราะไม่อย่างนั้นเราจะไม่ไปไหนเลย เราจะเป็น Copy Cat

“ซึ่งจริง ๆ แล้วหัวเสาพวกนี้ก็มีประวัติศาสตร์ของมัน ผมว่าดีกว่าตึกหลังหนึ่งที่สร้างขึ้นมาโดยไม่มีประวัติศาสตร์ ไม่มีรากอะไร นอกจากว่าคุณจะไปเอาสถาปนิกชื่อดัง ๆ มาออกแบบ แล้วคนรู้จักไปทั่วโลก อย่างงั้นก็คุ้มค่า แต่อย่างนี้สนุกกว่า มันท้าทาย ซึ่งยังมีอีกหลายตึกในเมืองไทยที่มีคุณค่าและน่าจะเป็นความท้าทายที่ดีได้”

หวังว่าโครงการนี้จะส่งอิทธิพลถึงโครงการอื่นบ้างใช่ไหม

“ใช่ เราก็หวังอย่างนั้น ตอนนี้เริ่มมีคนทำเยอะขึ้น มีน้องคนหนึ่งซื้อตึกกสิกรไทยที่เชียงใหม่ ซื้อมาแล้วแชตมาถามผมว่า พี่มีแบบมั้ย จะทำอะไรยังไม่รู้ แต่ผมมองว่าน่าสนใจ เขาบอกว่าถ้าเปิดตึกก็อยากชวนอาจารย์มา ชวนพี่ต้นมา ผมว่าถ้าสถาปนิกรุ่นใหม่ได้โอกาสทำแล้วทำได้สุดยอด มันไม่จำเป็นต้องเก็บแบบเดิมเป๊ะ แต่ต้องมาดูว่าจะทำยังไงกับมัน ซึ่งเราต้องเปิดกว้าง”

Forward to the Future with Old-new Spirit

คุณชาญ ศรีวิกรม์ ประธานบริหารกลุ่มเกษร พร๊อพเพอร์ตี้ กรุ๊ป ให้เกียรติพาเดินชมการแปลงโฉมครั้งสำคัญของ Gaysorn Amarin โดยเล่าให้ฟังว่าตั้งใจปรับปรุงต่อยอดจาก Legacy ของ Amarin Plaza ในคอนเซปต์ Old-new Spirit โดยรักษาเสาโรมันและองค์ประกอบคลาสสิกต่าง ๆ เป็นตัวแทนของอดีตที่รุ่งเรือง และผสานส่วนใหม่ที่ปรับให้เข้ากับการใช้ชีวิตในยุคสมัยนี้มากขึ้น 

โดยใช้ 4 คีย์เวิร์ดสำคัญที่ได้เรียนรู้จากแบรนด์ระดับโลก คือ Inspire, Creative, Connective, Original 

‘Inspire’ ในโลกทุนนิยมที่สิ่งใหม่พร้อมเข้าแทนที่สิ่งเก่าตลอดเวลา การปรับปรุง Amarin Plaza โดยต่อยอดจากประวัติศาสตร์รากทางศิลปะสถาปัตยกรรมที่มีอยู่เดิม ไม่เพียงทำให้ Gaysorn Amarin มีเอกลักษณ์และจุดยืนที่แข็งแรงเท่านั้น แต่การรักษา Legacy นี้ยังต้องการส่งต่อแรงบันดาลใจไปสู่สังคมด้วยเช่นกันในการไม่ละทิ้งอดีตเพื่อไปสู่อนาคต 

‘Creative’ การใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบเป็นอีกส่วนที่ต้องให้ความสำคัญ เพื่อผสานของเก่ากับของใหม่ โดยใช้คอนเซปต์ Cocoon ที่เป็น Identity เดียวกันจาก Gaysorn Village แทรกเข้ามาในโครงสร้างเก่า เพื่อให้ Mood and Tone อบอุ่น น่าเดิน และสเปซลื่นไหลมากขึ้น 

‘Connective’ การเก็บรักษาอดีตไว้พร้อม ๆ กับเพิ่มฟังก์ชันใหม่อย่างเข้าใจการใช้ชีวิต จะเชื้อเชิญให้คนทุกเพศทุกวัยเข้ามาที่ Gaysorn Amarin รุ่นใหญ่มารำลึกอดีต คนรุ่นใหม่เข้ามาสร้างความทรงจำ เพราะการปรับปรุงครั้งนี้มีพื้นที่รองรับแทบทุกกิจกรรมของคนเมือง โดยเฉพาะโซนเรณูที่ลงทุนทุบทะลุพื้นที่ชั้น 3 – 4 เพื่อให้เป็นที่พบปะสังสรรค์ตั้งแต่ช่วงเวลา Brunch จนถึง Bar 

‘Original’ การมีประวัติศาสตร์ มีรากเป็นของตัวเอง เสาโรมัน องค์ประกอบคลาสสิก และ Skylight ดอกพิกุล ที่เก็บไว้อย่างดีในวันนี้เป็นฐานที่พา Gaysorn Amarin ไปต่อได้อย่างสง่างาม เพราะการทุบสร้างใหม่ใคร ๆ ก็สร้างได้ แต่การต่อยอดจากของเดิมที่มีประวัติศาสตร์ จะนำไปสู่งานออกแบบที่มีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร และไม่มีใครเหมือน

หน้าที่ของเสาโรมันช่วงยุคนี้จึงไม่ใช่ภาพแทนความหรูหรา หากเป็นการเก็บรักษา Legacy ของความงาม ภูมิปัญญา สถาปัตยกรรม ความทรงจำในอดีต ไปจนถึงภาพเศรษฐกิจสังคมใน 3 ช่วงเวลา ตั้งแต่ 800 ร้อยปีก่อนคริสตกาล ผ่านมายุค 80 ข้ามมาสู่ปัจจุบัน และเตรียมส่งต่อคุณค่านี้สู่อนาคต 

Writer

Avatar

นิปุณ แสงอุทัยวณิชกุล

สถาปนิกที่สนใจในงานเขียน สถาปัตยกรรม ที่ว่าง เวลา และหมาฟลัฟฟี่

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล