ไม่รู้จะดูโอเวอร์ไปไหม (ไม่เวอร์หรอกน่า) ถ้าจะนิยามให้ ‘SPACEBAR ZINE’ เป็นมากกว่าร้านขายซีน แต่เป็นเมืองขนาดเล็กที่สุดในโลก ในพื้นที่ 1 ห้องบนชั้น 4 ตึก The UPPER GROUNDS ย่านจตุจักร ถึงอย่างนั้นก็ใหญ่พอที่จะหล่อเลี้ยงไฟฝันของคนในเมืองที่มีทั้งนักเขียน นักวาด นักออกแบบ หรือนักชอบถ่ายภาพ ฯลฯ ซึ่งล้วนอยากมีซีนหรือหนังสือทำมือเป็นของตัวเองสักเล่มสองเล่มหรือมากกว่านั้น โดยไม่ต้องลดความเป็นตัวเอง หรือแบกรับความกดดัน อยากทำอะไรก็ทำ ระเบิดไอเดียอย่างอิสระ 

เพราะโลกของซีนไม่มีกฎเกณฑ์ ไม่มีแบบแผนตายตัวว่าหนังสือสักเล่มควรจะออกมาในหน้าตา-รูปแบบไหน ขอแค่มีความน่ารักและเท่ในแบบคุณ ก็อาจเข้าตา SPACEBAR ZINE ที่พร้อมยินดีต้อนรับคุณเป็นพลเมืองอย่างอบอุ่น

เปิดประตูเข้าไป เรายังจำได้แม่นถึงความรู้สึกตื่นเต้นและแปลกใหม่เหมือนได้เดินชมเมืองที่รวมทุกความเป็นไปได้ และตะโกนบอกเราทันทีว่าโลกของสื่อสิ่งพิมพ์อิสระช่างอิสระสมชื่อและสนุกได้ถึงขนาดนี้เลยแหละ! 

ที่นี่มีทั้งซีนรูปทรงเทปแคสเซ็ต โฟโต้บุ๊กภาพถ่ายแปดเหลี่ยม หนังสือเย็บมือที่หน้าปกทำจากผ้าม่าน แผ่นพับที่วาดด้วยดินสอไม้ ภาพวาดบนสลิปใบเสร็จของ ป๊อด โมเดิร์นด็อก เกมกระดาษทายใจ หรือค่ายหนังในดวงใจของหลายคนอย่าง A24 ก็ยังทำซีนโปรโมตหนัง ซึ่งที่ร้านมีเรื่อง IN-YUN ว่าด้วยคอนเซปต์พรหมลิขิตจากหนัง Past Lives ที่สะดุดตาสาวที่เชื่อในพรหมลิขิตอย่างเราเข้าเต็ม ๆ และแม้แต่หนึ่งในเจ้าของร้านอย่าง วิว-วิมลพร รัชตกนก ก็มีซีนของตัวเองที่ชื่อ 17 18 19 ที่บันทึกภาพการทำงานบ้าง เที่ยวบ้าง ของเธอในญี่ปุ่น และซีนเล่มนี้ก็เป็นแรงบันดาลใจให้เด็ก ๆ หลายคน อยากทำซีนของตัวเองขึ้นมา บางคนก็ทำสำเร็จได้ไปโชว์งานที่ TOKYO ART BOOK FAIR ซึ่งนั่นคือสิ่งที่วิวบอกว่าดีใจที่สุด

ก่อนจะเริ่มทำความรู้จักเมืองนี้ให้มากขึ้นผ่านไกด์นำทัวร์อย่างวิวและ ภูภู่-วิศรุต วิสิทธิ์ ผู้เป็นเจ้าของร้าน สิ่งที่ย้ำความรู้สึกเราว่าที่นี่เหมือนเป็นเมืองจริง ๆ ก็ตอนที่บังเอิญมีช่างภาพหญิงอิสระชาวจีนคนหนึ่งเดินเข้ามาพร้อมหนังสือภาพถ่ายจำนวนมากของเธอ ตั้งแต่เล็มเล็ก ๆ จนถึงเล่มใหญ่ หน้าปกกำกับชื่อเธอไว้ว่า Zuo Na ซึ่งไม่ต้องเดาว่าเธอมาทำอะไร เธอมาเพื่อนำงานของเธอมาวางที่นี่

วิวไล่ดูภาพถ่ายของสาวต่างแดนคนนี้ทีละหน้า และเอ่ยออกมาเมื่อสะดุดตากับบางภาพในเล่มว่า “Cute” หญิงสาวกล่าวขอบคุณด้วยรอยยิ้ม และงานของเธอก็ได้เข้ามาอยู่ในเมืองแห่งนี้เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งนี่เป็นบรรยากาศที่วิวและภูภู่อยากให้เกิด คือทำให้ SPACEBAR ZINE เป็นคอมมูนิตี้โชว์ผลงานของเหล่าครีเอเตอร์ทั่วโลก นอกจากขายซีน ใครอยากทำซีนแต่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร พวกเขาก็รับบทเป็นโปรดิวเซอร์คอยชี้แนะให้ได้ แต่จะไม่ควบคุมหรือตัดสินงาน เพราะพวกเขาเชื่อว่าเสน่ห์ของสื่อสิ่งพิมพ์อิสระ คือการปล่อยให้นักสร้างสรรค์มีอิสระจริง ๆ จนถึงใครอยากจ้างทำซีน พวกเขาก็พร้อมสแตนด์บายนะ!

ซีนไม่กันซีน

เมืองนี้ไม่กันซีนใคร มีแต่ความปรารถนาดีให้คนทำซีน

วันที่วิวและภูภู่เปิดประตูต้อนรับเราเข้าไปนั่งพูดคุยด้านใน SPACEBAR ZINE เพิ่งเปิดเพียงครึ่งเดือน แต่ใช่ว่าพวกเขาจะเป็นน้องใหม่วงการเสียเมื่อไหร่ ถ้าใครรู้จัก Spacebar Design Studio เป็นอย่างดี ก็คงรู้กันอยู่แล้วว่า นอกจากออกแบบเว็บไซต์ สิ่งที่พวกเขาทำมาตลอดตั้งแต่ปี 2017 คือ ‘ซีน’

การมีหน้าร้านควบคู่ไปด้วยกลับอยู่ในสถานะเปิด ๆ ปิด ๆ อยู่หลายครั้ง เพราะเจ้าของร้านบอกว่าพวกเขากำลังลองผิดลองถูก และกำลังวางแผนให้กิจการของพวกเขามั่นคงและถาวรให้ได้มากที่สุด จนถึงตอนนี้ เราเห็นร้านนี้ออกมาเป็นรูปเป็นร่าง จึงหมายถึงสัญญาณว่าพวกเขาทำให้ธุรกิจนี้นิ่งได้แล้ว ประกอบกับทิศทางคนทำซีนที่เพิ่มขึ้นมากในปัจจุบัน ยิ่งทำให้พวกเขาชื่นใจและมีแรงใจในการทำงาน

“เหตุผลที่เราอยากเปิดร้านขึ้นมาจริงจัง เพราะในไทยยังไม่ค่อยมีฮับของคนทำสิ่งพิมพ์อิสระ แต่ตอนนี้เทรนด์สิ่งพิมพ์ค่อนข้างตอบโจทย์คนทำซีน และทำให้เราเกิดความมั่นใจที่จะเปิดหน้าร้าน

“อย่างที่เรารู้กันว่าสิ่งที่เป็นกระแสหรืออัปเดตวันต่อวัน ไม่ค่อยเวิร์กกับงานพิมพ์แล้ว เพราะไม่มีสิ่งใดเร็วกว่าอินเทอร์เน็ต เทรนด์สิ่งพิมพ์โลกจึงค่อนข้างเทมาทางเล่ม สะสมและเก็บได้นาน ซึ่งมีการเกิดขึ้นของ Self Publisher หลาย ๆ หนแห่งบนโลก คนเริ่มหันมาทำสิ่งพิมพ์ของตัวเองเพราะจับต้องได้ง่ายขึ้น ถ้าเทียบกับเมื่อก่อนที่คนอาจไม่รู้เครื่องมือในการทำหนังสือของตัวเองสักเท่าไหร่” วิวแชร์ให้ฟัง

เธอยกตัวอย่างว่า เมื่อ 4 – 5 ปีที่แล้ว ยังมีน้อง ๆ หลายคนมาถามว่าจะต้องไปพิมพ์ที่ไหนกันอยู่เลย แต่ในปีนี้เด็กหลายคนรู้หมดแล้วว่าพวกเขาต้องการจะทำอะไร และถ้าจะทำ ต้องทำอย่างไร ถึงขนาดเก็บเงินซื้อเครื่องพิมพ์ RISO กันเองแล้วก็มี ซึ่งส่วนหนึ่งที่เป็นส่วนใหญ่ ๆ ก็หลายคนมีความ ‘กล้า’ ที่จะทำและเป็นตัวเองมากขึ้น และซีนถือเป็นสิ่งพิมพ์ที่ตอบโจทย์มากที่สุด เพราะซีนไม่เคยกันซีนใคร หรือตัดสินใครว่างานดีหรือไม่ดี เพราะซีนแปลว่าอิสระ ไม่ยอมสูญเสียความเป็นตัวเองเพื่อใครหรอกนะ!

“ไม่ต้องย้อนไปเมื่อก่อนหรอก ตอนนี้ก็เป็นอยู่ บางครั้งโลกของครีเอเตอร์ทำให้คนทำงานกลัวการถูกตัดสิน หนังสือสักเล่มต้องผ่านหลายขั้นตอนกว่าจะพิมพ์ออกมาได้ ผ่าน บ.ก. ผ่านทีมนั้นทีมนี้ ผ่านโลกของทุน ผ่านผู้ให้ทุน ผ่านสำนักพิมพ์ กลับกันโลกของซีนอิสระ แค่มีเครื่องพิมพ์ คุณจะทำอะไรก็ได้

“ตอนเราเริ่มมาทำซีน เหตุผลก็แค่เราชอบวาดรูปเล่น ชอบถ่ายรูป แต่เรารู้สึกว่าไม่กล้าเอางานมาโชว์ เพราะเมื่อไหร่ที่เอางานไปให้สำนักพิมพ์ ต้องมาคิดว่าเราเก่งพอที่เขาจะเอางานไปตีพิมพ์ไหม แต่ซีนมันแค่เรากล้าทำและลองพิมพ์ออกมา โดยไม่ต้องให้ใครมาชี้ถูก ชี้ผิด งานแรกที่พิมพ์ เราพิมพ์ 100 เล่ม ก็ขายออกหมด เลยรู้สึกว่าคนโนเนมคนหนึ่งอย่างเรา ทำซีนที่เราชอบ ถ่ายรูปที่ชอบ วาดสิ่งที่ชอบ มันขายได้นะ โลกของซีนและสิ่งพิมพ์อิสระที่ไม่ตัดสินกันแบบนี้ ทำให้เรารักมันมาก”

เสน่ห์ของซีนคือการไม่กันซีนหรือขวางกั้นตัวตนของใครเลยสักนิด วิวบอกว่าเนื้อหาของซีนจะพูด หรือไม่พูดถึงความดีงามของสังคมก็ได้ ซีนจะอ่านแล้วได้อะไร หรืออ่านแล้วไม่ได้อะไรก็ได้ ซีนจะจรรโลงใจหรือไม่ต้องก็ได้ หรือซีนบอกเล่าเรื่องที่ส่วนตัวที่สุดอย่างเซ็กซ์ครั้งแรกของตัวเองที่ตีความด้วยวิชวลก็ยังได้ และนั่นทำให้คนรักซีน เพราะส่วนหนึ่งซีนก็ทำให้รักในงานของตัวเอง

ซีนสร้างซีนได้

“เราเรียกตัวเองว่า Zine Producer” เจ้าของร้านทั้งสองให้คำจำกัดความถึงหน้าที่ที่กำลังทำ

วิวเล่าว่าทุกวันนี้มีคนเข้ามาปรึกษาการทำซีนที่ร้านเยอะมาก สิ่งที่ Zine Producer อย่างเธอและภูภู่ทำ คือการกำหนดเป้าหมายของคนทำซีนตั้งแต่ต้น อยากทำเพื่ออะไร ถามคอนเซปต์ให้ชัดว่าอยากเล่าอะไร อยากใช้กระดาษอะไร มีจำนวนหน้าเท่าไหร่ และจำนวนพิมพ์ต่อเล่ม เพื่อคำนวณต้นทุน

พวกเขาทั้งคู่ยังตั้งใจทำให้ซีนทุกเล่มในร้านเป็นแค็ตตาล็อก เพื่อให้บรรดาคนอยากทำซีนนึกภาพออก แล้วเอาไปต่อยอดเป็นแรงบันดาลใจในการคิดต่อว่า ฉันอยากจะทำซีนแบบไหนกันแน่นะ

“เราอยากให้คนเข้ามาที่นี่แล้วเจอซีนหลากหลายแบบ แต่เราไม่ได้บอกว่าเราเปิดร้านเพื่อขายซีนเราตั้งใจเป็นฮับหรือคอมมูนิตี้ที่รวบรวมสิ่งพิมพ์อิสระไว้ด้วยกันมากกว่า อยากให้คนเข้ามาหยิบจับเล่มนั้น ดูเล่มนี้ ได้เห็นว่าโลกของซีนมีอะไรเจ๋ง ๆ อยู่มาก แต่ถามว่าอยากขายได้ไหม ก็ต้องอยากขายได้บ้างแหละ เพื่อให้มีเงินทุนมาหมุนเวียนร้าน ให้ร้านอยู่ได้” วิวเล่า และเฉลยเหตุผลว่า ทำไมที่ผ่านมาร้านถึงเปิด ๆ ปิด ๆ เนื่องจากเธอและภูภู่ไม่ได้คิดเชิงธุรกิจมากพอที่จะทำให้กิจการมั่นคง การเปิดร้านรอบนี้จึงเป็นการคิดมาอย่างดีและถี่ถ้วนแล้วว่า นอกจาก SPACEBAR ZINE ต้องเป็นพื้นที่โชว์ผลงานสิ่งพิมพ์อิสระจากทั่วทุกมุมโลก การรับบทเป็น Zine Producer ก็เป็นอีกสิ่งที่นอกจากช่วยไกด์ให้คนอยากทำซีนมองภาพออกว่าจะเริ่มต้นอย่างไรแล้ว ยังเป็นกำไรหล่อเลี้ยงธุรกิจและความตั้งใจของพวกเขาให้ไปต่อได้นาน ๆ

วิวพาเราชม ‘กำแพงเมืองซีน’ หรือชั้นวางซีนในร้านที่ตั้งเด่นและดึงสายตาตั้งแต่เข้ามา การมีกำแพงเมืองซีนก็กลายเป็นความแข็งแรงของ SPACEBAR ZINE ซึ่งชัดเจนว่าที่นี่เป็นพื้นที่ให้คนทำซีนได้โชว์ผลงานของตัวเอง เพื่อดันบาร์อุตสาหกรรมให้สูง และถูกมองเห็นอย่างกว้างขวางดั่งกำแพงเมือง

ซีนอยู่ข้างพี่ตานะคะ

ซีนแบบไหนที่อยู่ข้างพี่ (สาย) ตา ของ SPACEBAR ZINE บ้าง

วิวนิยามสไตล์กระชับ ๆ ว่า แค่น่ารักและเท่ เธอและภูภู่ก็อยากเลือกเข้ามาในร้านนี้แล้ว เพราะเวลาใครนึกถึงสิ่งพิมพ์อิสระที่น่ารักและเท่ ก็จะนึกถึงหรือแวะมาร้านนี้ ไม่ว่าคนไทยหรือต่างชาติ เธอเปรียบให้เห็นภาพว่า ถ้าคาแรกเตอร์ของร้านมีเอกลักษณ์เป็น Illustration ที่น่ารัก เท่ และงานภาพถ่ายที่เข้าถึงง่าย ร้านสิ่งพิมพ์อิสระอื่น ๆ ก็มีคาแรกเตอร์ที่แตกต่างกัน ซึ่งทำให้วงการสิ่งพิมพ์อิสระสนุก เช่น Vacilando Bookshop เน้นงานโฟโต้บุ๊ก Rock Paper Scissors Store ก็เลือกแมกกาซีนเท่ ๆ 

“ความสนุกตอนนี้ คือฮับของแต่ละที่เริ่มไม่ชนกันแล้ว เรารู้สึกว่ากำลังมาถูกทาง”

เมื่อเมืองแห่งความสร้างสรรค์นี้รวบรวมซีนและสารพัดสิ่งพิมพ์ทั่วโลกมาอยู่ในห้องเช่าเดียว เราจึงไม่ลืมซอกแซกถามวิวถึงเสน่ห์ของซีนแต่ละประเทศที่น่ารักและเท่กันคนละแบบให้ฟัง 

ญี่ปุ่น ประเทศที่ SPACEBAR ZINE รักที่สุด และได้รับแรงบันดาลใจเยอะที่สุด

“ประเทศที่รักที่สุด และเป็นกลิ่นอายของร้านเรามาก ๆ คือญี่ปุ่น อย่าง TOKYO ART BOOK FAIR เป็นงานที่เราอยากไปทุกปี แต่ก็ไม่ได้ไปทุกปี เพราะว่าคนส่งเยอะมาก ญี่ปุ่นถือว่าเป็นประเทศแห่งสิ่งพิมพ์ ประเทศที่คนรักงานกระดาษมาก ท่าทีของญี่ปุ่น เขาจะเท่ น่ารัก และเข้าถึงง่ายมาก ซึ่งญี่ปุ่นมีงานโฟโต้ค่อนข้างเยอะ มีฮับของงานโฟโต้ซีนแยกย่อยเยอะมาก เราว่าสิ่งที่ญี่ปุ่นต่างจากที่อื่น ไม่ใช่ครีเอเตอร์ แต่เป็นกลุ่มผู้อ่าน บางทีก็เป็นพนักงานบริษัท นักศึกษา จนถึงแม่บ้าน มีร้านซีนร้านหนึ่งที่เราเคยเขียนถึง เขาอยู่ในย่านเล็ก ๆ โดยเขาจะให้แม่บ้านแถวนั้นมาทำซีน เรียกว่า Zine School อาทิตย์ละครั้งสองครั้ง พอทำเล่มออกมาแล้ว เขาก็เอาไปโชว์บนผนัง ทำให้วัฒนธรรมที่นี่ต่างจากที่อื่น เหมือนไปไกลกว่านั้นแล้ว มันไม่ใช่นักวาด นักเขียน แต่คุณเป็นแม่บ้านหรือใครก็ได้ที่รักสิ่งพิมพ์ คุณก็ทำซีนได้”

เกาหลีใต้ ตัวแม่แห่ง Illustration และ Merchandise

“เกาหลี ส่วนใหญ่แทบจะเป็น Illustration ล้วน งานโฟโต้ค่อนข้างน้อย งาน Illustration เน้นความน่ารักอย่างเดียว และเน้น Merchandise เยอะมาก ถ้าไปเกาหลี ซีนเราจะขายได้ค่อนข้างน้อย แต่ว่าพอเอาพวกสินค้าอย่างเข็มกลัด โปสต์การ์ด สติกเกอร์ไปขาย จะขายได้”

ไต้หวัน ตัวแม่ ซ่า แสบ จี๊ด 

“เรื่องความแสบ ซ่า ต้องยกให้ไต้หวันจริง ๆ เล่มที่เราเอาไปแล้วขายได้มากที่สุดเกี่ยวกับ LGBTQ+ เพราะคนที่นั่นสนใจประเด็นนี้ คนบ้านเขาเป็นตัวเองกันมาก งานอาร์ตบุ๊กแฟร์บ้านเขาไม่เหมือนบ้านเราที่มีแต่สิ่งพิมพ์ แต่บ้านเขามีโซนสักหรือแฟชั่นฝังเพชรบนฟัน (Tooth Gems) เวลาไปไต้หวัน เราจะไม่เอาเล่มที่ยาก ๆ ไป แต่ต้องพกความแสบซ่าหรือเล่มที่มีสีสันสดใสไปแทน”

สิงคโปร์ โปรดักชันจริงจัง ดีไซน์แปลกแต่เนี้ยบ

“สิงคโปร์ มีโปรดักชันจริงจัง เล่นท่าแปลก ๆ เช่น Meantime Zine เป็นเพื่อนเราเอง ฮอตมาก เขาตัดรูปเล่มลักษณะมีรอยแทะ รอยตัด เพราะในเล่มนี้มีเรื่องเกี่ยวกับเสือหรือ Rubbish เป็นแก๊งทำซีนที่เป็นพ่อแม่ลูก เขาทำโปรดักชันยากมาก บางเล่มทำเป็นปี๊บขนม ทำเป็นกล่องไม้ที่ต้องหมุนน็อตอ่าน ทำเป็นซองแฟ้ม ทำเป็นกล่องเค้ก ซึ่งเวลาเราเห็นแล้วชอบก็เลือกงานเขามาวางที่ร้านด้วย”

แล้วคนไทยชอบทำซีนแบบไหนมากที่สุด – เราถามวิว และหลายคนก็น่าจะอยากรู้

“ครีเอเตอร์คนไทยชอบงาน Illustration เพราะเข้าใจง่ายผ่านรูปวาด หรือไม่ก็ที่มีธีมเล่มชัดเจน เช่น ล่าสุดเราจีบน้องชื่อ แพร ตั้งชื่อซีนว่า สมัยนั้น เขาวาดเปรียบเทียบการจีบกันของคนยุคก่อนกับคนยุคนี้ แล้วสื่อสารว่าอยากให้คน 2 ยุคหันหน้าเข้าหากัน คนไทยน่าจะชอบอะไรที่เป็นคอนเซปต์สนุก ๆ”

ความอิสระในการทำงานสร้างสรรค์ของซีนทำให้เห็นว่าเป้าหมายของร้านนี้ที่กล่าวว่า “ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ก็มีสิ่งพิมพ์เป็นของตัวเองได้อย่างอิสระ” ทำได้จริง ไม่ได้โม้ หรือพูดลอย ๆ เท่ ๆ คูล ๆ 

ซีนแปลว่าอิสระ

สำหรับทิศทางของคนทำและเทรนด์ซีนในอนาคต วิวบอกว่า

“มาแน่!” เพราะ “คนทำงานเยอะมาก และคนจะรู้จักมากขึ้นไปอีกว่า ซีนมีธรรมชาติเป็นแบบไหน เรารู้สึกว่ากลุ่มครีเอเตอร์ก็น่าจะเยอะมากขึ้น คอมมูนิตี้เราก็ซัพพอร์ตกันเองค่อนข้างเยอะเลยค่ะ

“สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้คือดิจิทัลพรินต์แบบออนดีมานด์ โรงพิมพ์ใหญ่ ๆ เริ่มจับงานทางนี้มากขึ้น เพราะเขารู้ว่ากลุ่มครีเอเตอร์ที่สร้างงานมักเริ่มพิมพ์งานเอง อย่าง Risograph ในไทยก็เฟื่องฟูมาก เด็ก ๆ เริ่มซื้อกันเพราะเป็นสีพิเศษ ตลาดเอเชียก็มีคนทำซีนเยอะขึ้น ทั้งเทรนด์ เทคโนโลยีมีความใหญ่ขึ้น ร้านเราอาจไม่มีเทคนิคแปลก ๆ แต่ก็มีบางเล่มที่เย็บมือ ซึ่งร่วมมือกับเพื่อนบ้านในอุตสาหกรรมเดียวกันที่พร้อมจะรองรับรูปแบบการพิมพ์หลากหลาย และการเย็บเล่มหลากหลายของเราในอนาคต

“การมีคนทำซีนเยอะขึ้นหรือมีเทคนิคการพิมพ์ที่หลากหลาย กำลังบอกว่าเทรนด์สิ่งพิมพ์โลกน่าจะมาทางนี้แหละค่ะ และบ้านเราควรจะมีฮับรองรับให้คนกล้าที่จะนำเสนองานได้มากขึ้น ยิ่งมีเยอะมากเท่าไหร่ ความกล้าในการทำงานของคนก็มากขึ้นเท่านั้น เราจะเห็นสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น ซึ่งการมี Physical Space กลางเมืองค่อนข้างตอบโจทย์ เพราะจับต้องได้ เราหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คอมมูนิตี้นี้โตขึ้น”

ฟังวิวพูดแบบนี้ เราว่าต้องมีหลายคนที่ผ่านมาอ่านรู้สึกมีไฟในการทำซีนของตัวเองแน่ ๆ

“ต้องบอกว่าสิ่งพิมพ์พวกนี้อาจไม่ได้พาคุณไปร่ำรวย แต่มันจะพาคุณไปสนุกและผจญภัยโลกสิ่งพิมพ์เสียมากกว่า ในแง่ของเงินทุน สุดท้ายจะมีคนคิดว่าทำไปทำไม ไม่มีใครซื้อหรอก แต่คำว่าไม่มีใครซื้อมากกว่าความรู้สึกอยากทำคอนเทนต์นั้นออกมาก่อนหรือเปล่า เราว่าความอยากจะทำให้ออกมาเป็นเล่มจับต้องได้ สิ่งนั้นอาจเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับบางคน มันจะพาเราไปทางไหน ค่อยว่ากัน

“ถ้าบอกว่าซีนไม่สร้างกำไรก็ไม่ใช่ เพราะมีหลายเล่มที่ทำแล้วเวิร์ก เช่น Short Haired Girls On Films เราพิมพ์ไปหลายร้อยเล่ม ทุกวันนี้ก็ยังพิมพ์อยู่ คนฮ่องกง คนเกาหลีชอบ เขาสั่งไปขายที่ประเทศของเขา บางคนทำมาก็เป็นรายได้ได้จริง ๆ แต่บางคนก็แค่อยากทำ เช่น Papa to Mama ของญี่ปุ่น เขาถ่ายหัวล้านพ่อ และถ่ายแม่มาทำวิชวลสวย ๆ มันอาจดูขายยากนะ แต่เขาอยากทำ แค่นี้ก็ดีมากแล้ว

“เราว่าไม่มีอะไรตอบโจทย์ความต้องการ ง่าย และทำให้คุณกล้าทำได้เท่าซีนอีกแล้ว”

เราเดินชมเมืองแห่งนี้อย่างเต็มอิ่ม กวาดสายตา และเปิดดูเสน่ห์ของแต่ละเล่มด้วยใจพองโตที่ได้เห็นว่าโลกสิ่งพิมพ์อิสระนั้นเปิดกว้าง และคนทำซีนก็ดูสนุกกับการทำงานที่ตัวเองรักมากเหลือเกิน 

เพราะซีนเป็นอิสระ จึงไม่ใช่แค่หนังสือสักเล่ม แต่เป็นส่วนหนึ่งของตัวตนใครสักคนต่างหาก

ก่อนเราจะเดินออกจากเมืองแห่งนี้ เราชวนวิวแนะนำ 5 เล่ม ที่สะท้อนหัวใจของซีนในยุคนี้มากที่สุด เรารับรองว่าคำตอบนี้คงจะทำให้คุณตกหลุมรักซีนและหลงเสน่ห์มันไม่มากก็น้อยเป็นแน่

1. Artist’s Zine Box

“เป็นโปรเจกต์แรกที่เราตั้งใจทำกับศิลปิน คนแรก คือ juli baker and summer ได้แรงบันดาลใจจากแมกกาซีนบุ๊กของญี่ปุ่น แมกกาซีนบุ๊กจะทำเป็นกล่อง มีของแถมกระจุกกระจิกอยู่ข้างใน สิ่งที่มีในซีนเล่มนี้ คือแก้วและโปสเตอร์สิ่งพิมพ์ 

“เล่มนี้เป็นผลงานจากการที่ป่านไปจัดนิทรรศการที่ญี่ปุ่น ชื่อว่า i said good bye to me เป็นบทสนทนาระหว่างเขากับคุณยาย ซึ่งเปรียบเปรยเป็นบทสนทนาระหว่างเขากับผีเสื้อ พูดถึงการโอบรับและยินดีกับทุกสถานการณ์ในชีวิต ไม่ว่าจะเกิด ผจญภัย หรือสูญเสีย

“เล่มนี้จึงเป็นเล่มที่สะท้อนให้เห็นว่าศิลปินก็จับโปรเจกต์มาทำเป็นซีนกันมากขึ้น”

2. Receipt

“งานสลิปใบเสร็จของ พี่ป๊อด โมเดิร์นด็อก เป็นตัวแทนของคนที่ทำงานกระจุกกระจิก แต่ไม่รู้จะเผยแพร่ออกมายังไงหรือทิศทางไหน ซึ่งงานชิ้นนี้ตอบได้ชัดว่า ซีนจะกลายเป็นอะไรก็ได้ แม้แต่ซองสลิป”

3. A24 IN-YUN

“นี่เป็นตัวอย่างว่า แม้แต่ค่ายหนังอย่าง A24 ก็ยังทำซีนเพื่อโปรโมตหนัง ซึ่งเขาทำซีนตั้งแต่ยุคแรก ๆ เลยนะ เพราะตำนานซีนแรกเริ่มเกิดจากแฟนซีน อย่างเราเป็นแฟนหนังมาร์เวล ก็ทำออกมาเป็นฟิกชัน หรือว่าหนังสือแฟนคลับ ค่าย A24 เลยเลือกทำซีนตั้งแต่หนังเรื่องแรก ๆ ของนาง 

“อย่างเล่มนี้มาจาก Past Lives เล่าเรื่องเกี่ยวกับอินยอน ซึ่งเป็นธีมของหนัง พูดถึงพรหมลิขิตที่จับเอาผู้กำกับ Celine Song และทีมงานหลาย ๆ คน คนเขียนบท รวมถึงนักวาด มาพูดถึงพรหมลิขิตที่ตัวเองพบเจอ ซึ่งดีมาก”

4. Short Haired Girls On Films

“นี่เป็นตัวแทนของงาน Illustration จากฝีมือศิลปินเดี่ยวอิสระซึ่งไม่ได้มีที่ทางปล่อยงานของตัวเอง และมีท่าทีเข้าใจง่าย เป็นการรวมผู้หญิงผมสั้นจากโลกภาพยนตร์มาทำซีน เล่มนี้ขายดีมาก”

5. Meantime Zine

“เล่มนี้เป็นเล่มที่ทำให้เห็นสีสันของซีน ทั้งวัฒนธรรม ไลฟ์สไตล์ ผู้คน คนทำเล่มนี้เขาเป็นทีมนักเขียนฟรีแลนซ์จากสิงคโปร์ รวมทีมกับนักออกแบบ ทำซีนสัมภาษณ์วัฒนธรรมและไลฟ์สไตล์ของคนท้องถิ่นในสิงคโปร์ ธีมแต่ละเล่มก็ต่างกัน เป็น Funny Stories, Love Stories, Ghost Stories และ Bad Stories”

SPACEBAR ZINE
  • ชั้น 4 The UPPER GROUNDS, เลขที่ 18 ถนนกำแพงเพชร 3 แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ (แผนที่)
  • เปิดวันพุธ-วันอาทิตย์ (ปิดวันจันทร์-อังคาร) เวลา 11.00 – 19.00 น.
  • 09 4547 4885
  • Spacebar Design Studio
  • spacebarzine.co

Writer

Avatar

พัชญ์สิตา ไพบูลย์ศิริ

นัก (ชอบ) เขียนบ้ากล้องที่ชอบถ่ายรูปตัวเองเป็นพิเศษ เสพติดเสียงธรรมชาติ กลิ่นฝน และสีเลือดฝาดบนใบหน้า ที่ใช้เวลาเขียนงานไปพร้อมๆ กับติ่งอปป้าอย่างใจเย็น

Photographer

ภรัณยู วรรณศรีพิศุทธิ์

ภรัณยู วรรณศรีพิศุทธิ์

นักศึกษาเอกญี่ปุ่นจากมหาสารคาม สนใจภาพถ่าย ชีวิตขับเคลื่อนด้วยเสียงเพลง อยากมีเงินไปมิวสิกเฟสติวัลเยอะๆ