“มีอยู่วันหนึ่ง ฉันนั่งอยู่ที่บาร์กับหวานใจวัยเด็กและสามีของฉัน คอยทำหน้าที่แปลข้อความไปมาให้ทั้ง 2 คนที่ไม่มีเหตุผลใด ๆ สักข้อเลยที่จะต้องมารู้จักกัน” หญิงคนหนึ่งพูดถึงเหตุการณ์ไม่มีวันลืม ยังจดจำได้ถึงสายตาที่มองมาและเสียงที่แว่วเข้าหูว่า “คนพวกนั้นเป็นใครกันน่ะ” “ทำไมถึงมานั่งด้วยกันแบบนี้” และในโมเมนต์นั้น เธอคิดในใจว่า “ฉันก็อยากเล่านะว่าเรามาลงเอยที่นี่ได้ยังไง งั้นถ้าฉันทำหนังเพื่อเล่าเรื่องนี้ล่ะ จะอยากรู้มั้ย”

ที่เพิ่งกล่าวถึงคือต้นกำเนิดของ PAST LIVES (2023) ผลงานกำกับและเขียนบทภาพยนตร์เรื่องแรกของ เซลีน ซง (Celine Song) จากค่าย A24 และนำเข้ามาฉายในไทยโดยค่ายผลิตหนังที่ผันตัวมาเป็นผู้นำเข้าภาพยนตร์อย่าง GDH โดยประเดิมด้วยเรื่องนี้เป็นเรื่องแรก ซึ่งหลังจากฉากนั่งคุยที่บาร์ เซลีนได้นำเรื่องนี้ไปบอกเพื่อนว่า “ฉันควรเขียนเรื่องนี้เป็นบทภาพยนตร์” โดยที่ไม่รู้เลยว่าจะมีใครเอาไปสร้างเป็นหนัง หรือจะมีใครยอมให้กำกับหนังเรื่องนี้มั้ย 

และจากฉากในชีวิตจริงนี้ กลายมาเป็นฉากเปิดที่มาพร้อมกับการต้อนรับขับสู้คนดูด้วยเสียงตัดสินคนแบบ Off-screen ที่ชวนให้สงสัยถึงความสัมพันธ์ประเภท ‘เราสองสามคน’ นี้ ก่อนที่จะพาคนดูย้อนไปชมเรื่องราวว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างก่อนจะมาลงเอยเป็นฉากสุดประหลาด ในหนังทั้งเรื่องที่เต็มไปด้วยความประณีต ละมุน อ่อนโยน แต่ก็ปวดร้าว เป็นหนังดราม่า-โรแมนติก แต่ก็ชวนให้คิดถึงประเด็นในแง่มุม Sci-fi อย่างโชคชะตา (ที่หนังใช้คำว่า ‘อินยอน’) ความผูกพันข้ามภพชาติหรือกลับชาติมาเกิด พื้นที่และเวลา กับโลกคู่ขนานไปพร้อม ๆ กัน และยังเป็นหนังรักสามเส้าแหวกขนบที่พูดถึงความรัก การมีตัวตน ซึ่งไปเกี่ยวข้องกับประเด็นภาษาและเชื้อชาติได้อย่างชวนตั้งคำถาม What If? และพินิจพิเคราะห์ตาม

Past Lives หนังรักสามเส้าที่เล่าอย่างไซไฟ แด่โชคชะตาและพื้นที่ในใจของสองคนทำได้แค่คิดถึง

แรงบันดาลใจจากเรื่องจริงของผู้กำกับ

จากการตั้งข้อสังเกตสื่อประเภทต่าง ๆ โดยเฉพาะหนังกับหนังสือ ผมได้ข้อสรุปว่า การจะทำอะไรสักอย่าง ถ้าเราอินกับประเด็นหรือธีมของเรื่องจริง ๆ และถ่ายทอดมันด้วยอารมณ์กับประสบการณ์ส่วนตัว หนังเรื่องนั้นจะออกมาลึกซึ้งจนคนดูสัมผัสได้ และกับ PAST LIVES ก็เช่นกันครับ

PAST LIVES เป็นหนังรักจุก ๆ เจ็บ ๆ ของคน 2 คนที่รักกันไม่ได้ เล่าเรื่องในระยะเวลา 24 ปี จากเด็กห้องเดียวกัน 2 คนชื่อ แฮซอง (Hae Sung) กับ นายอง (Na Young) ก่อนที่เด็กสาวจะย้ายไปอยู่กับพ่อแม่ที่แคนาดา โดยเปลี่ยนชื่อนามสกุลเป็น นอร่า มุน (Nora Moon) หลังจากนั้น 12 ปีต่อมา ทั้งคู่ได้ติดต่อกันอีกครั้ง เกิดเป็นความสัมพันธ์ประเภทที่ว่า เธอสารภาพว่า เธอชอบฉัน ฉันก็ชอบเธอ โอเค เราทั้งคู่ชอบกัน แต่แล้วเรื่องราวกลับไม่ได้ลงเอยอย่างที่คิด เพราะในอีก 12 ปี ทั้ง 2 คนมาเจอกันอีกครั้งที่นิวยอร์ก โดยที่ฝ่ายหญิงแต่งงานมีสามีแล้ว แล้วก็ ใช่ นั่นแหละครับ ฉากในบาร์ฉากนั้น

สำหรับ เซลีน ซง PAST LIVES เป็นความตั้งใจพูดถึงคอนเซปต์ความรักในระดับสากล ในฐานะสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยตัวของมันเอง ไม่ได้บรรจงสร้าง และหนังเรื่องนี้ค่อนข้างมีความเป็นหนังชีวประวัติที่รีดเค้นมาจากประสบการณ์ของตัวเอง ตั้งแต่เรื่องที่เธอเคยย้ายไปอยู่แคนาดากับพ่อแม่ ลงเอยที่สหรัฐฯ แต่งงานกับสามีอเมริกันที่เป็นนักเขียน สัมผัสและตั้งคำถามถึงการบิดพับของ Time & Space ที่พาเธอมารับรู้ความเป็นวัฒนธรรมคู่ของการเป็นคนเกาหลี-แคนาดา และรับรู้ 2 ภาษาพร้อม ๆ กัน (แต่ตัวละครนอร่าจะเป็นเกาหลี-อเมริกัน) ไปจนถึงฉากเราสองสามคนที่ตัวเอง รักวัยเด็ก และสามี มานั่งคุยกันในบาร์อย่างกระอักกระอ่วนใจ 

เพราะเธอรู้สึกว่าสิ่งที่ตัวเองเคยประสบพบเจอเป็นเรื่องพิเศษที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย ๆ ในขณะเดียวกันก็เลือกเล่าเพราะเป็นเรื่องของคนธรรมดาที่น่าสนใจ และยังถือเป็นผลพลอยได้ที่จะทำให้เธอไม่รู้สึกเหงาหรือโดดเดี่ยวด้วย เพราะทุก ๆ 1 การรับชม ไม่ว่าจะในโรงหรือบนสตรีมมิ่ง ทำให้เซลีนรู้สึกได้ถึงการมีเพื่อนร่วมชะตากรรม 

แต่แทนที่จะพูดถึงรักสามเส้าตามสูตร (ซึ่งก็เฮิร์ตพอแล้ว) ความน่าสนใจและเอกลักษณ์ของ PAST LIVES ที่จี้ใจคนดู คือการใช้ความโรแมนติกมาเป็นแบ็กกราวนด์ เพื่อขุดเจาะเอาสิ่งหรือประเด็นที่ใหญ่โตกว่านั้นออกมาวาง แล้วกางแผ่ จนไม่ผิดนักถ้าจะบอกว่ามีความ Sci-fi สอดแทรกอยู่ในทุกอณูของหนัง โดยเฉพาะไดอะล็อกที่โต้ตอบกันในเชิงทดลองทางความคิด (Thought Experiment) กล่าวถึงความเป็นไปได้มากมายที่เราสองจะลงเอยด้วยกัน ทำให้รักสามเส้านี้ลึกซึ้งทางความรู้สึกเป็นอย่างมาก และถึงจะมีความเป็นเรื่องส่วนตัว เรื่องราวนี้ก็กล่าวถึงการจากลาที่กระชากแรง สะท้อนและเชื่อมโยงไปยังสิ่งที่เราทุกคนต้องเจอเมื่อเติบโตขึ้น และชวนคิดว่าในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง คนเราจะเปลี่ยนไปอย่างไรได้บ้าง

Past Lives หนังรักสามเส้าที่เล่าอย่างไซไฟ แด่โชคชะตาและพื้นที่ในใจของสองคนทำได้แค่คิดถึง

ประตูที่ไม่เคยปิด

เลข 12 ปีที่มีการ Time Skip ไม่ใช่เลขที่สุ่มขึ้นมาหรือให้บวกกันแล้วได้ 24 เหมือนชื่อค่าย A24 (ถึงอย่างนั้นก็แอบคิดไม่ได้) หากมีนัยสำคัญคือเป็นระยะเวลาที่นานพอที่คนคนหนึ่งจะเปลี่ยนเป็นอีกคนได้ แต่ก็เป็นเรื่องน่าทึ่งเช่นกันหากอีกคนหนึ่งไม่เปลี่ยนความรู้สึกไปเลย และชายคนหนึ่งไม่เคยลืมผู้หญิงคนหนึ่ง ถึงขั้นไม่ยอมปิดประตูที่ปิดได้และควรปิด แต่เปิดมันอ้าไว้แล้วบิน 13 ชั่วโมงเพื่อมาเจอเธอคนนั้น

ดูเหมือนว่าสำหรับแฮซองแล้ว ประตูนี้ไม่เคยปิด และเขาไม่เคยมองเห็นรักวัยเด็กคนนี้เป็นนอร่าหรือนายองร่างโตแล้ว แต่เขามีเด็กหญิงนายองยืนรออยู่อีกฟากของประตูหัวใจเสมอ และการมาเจอนอร่าอาจหมายถึงการเปิดรับทุกความเป็นไปได้แม้จะมีอยู่เพียงน้อยนิดก็ตาม หรืออาจหมายถึงการตั้งใจมาเจอเพื่อปิดประตูความเป็นไปได้นี้ให้แนบสนิทอย่างถาวร ไม่ได้เห็นแสงและไม่ได้ยินเสียงใด ๆ เล็ดลอดมาอีก ซึ่งในขณะเดียวกัน แม้นอร่าจะเลือกเส้นทางตามล่าความฝันที่จะเป็นนักเขียนชื่อดังอย่างเด็ดขาด มุ่งมั่น แต่หนังก็แสดงให้เห็นค่อนข้างชัดว่าเสี้ยวส่วนของความเป็นนายองยังคงอยู่ในตัวเธอเสมอ ก่อให้เกิดเป็นความสับสนภายใต้ตัวตนและสถานะที่เหมือนจะเลือกจุดยืนแล้ว

“ในชีวิตจริงเราเจอประตูเหล่านี้กันอยู่ตลอดเวลา แต่บ่อยครั้งพวกเขาปล่อยผ่านไปโดยไม่ได้ถูกจดจำไว้ บางครั้งโมเมนต์เหล่านี้เหมือนประตูมิติที่เปิดไปสู่ความเป็นจริงอื่นซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิง และจักรวาลที่คุณได้ลงเอยกับใครสักคน สิ่งที่ทำให้ฉันอยากสร้างหนังเรื่องนี้ คือต้องการถ่ายทอดความรู้สึกที่ได้ส่องผ่านประตูนั้น จากนั้นก็เดินจากไปอย่างรู้สึกเชื่อมโยงกับมัน และแค่เพราะว่ามีประตูอยู่ตรงนั้น ไม่ได้หมายความว่าคุณจะเดินผ่านเสมอไป บางครั้งมันคือการที่เรารู้ว่าประตูอยู่ตรงนั้น และกลับเดินผ่านมันไปซะอย่างนั้น” เซลีน ซง กล่าว

พอผู้กำกับพูดเช่นนี้แล้วอดนึกถึงหนังเอเชียน-อเมริกัน ค่ายเดียวกันอย่าง Everything Everywhere All at Once ไม่ได้เลยครับ หนัง 2 เรื่องนี้คล้ายคลึงกันอย่างแปลกประหลาด ตรงที่เรื่องนั้นพูดถึงความสงสัยของตัวเอกว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากเธอไม่ได้จากประเทศจีนมาอยู่สหรัฐฯ พร้อมกับพาไปดูมัลติเวิร์ส ในขณะที่ PAST LIVES ก็พาท่องมัลติเวิร์สเช่นกัน หากแต่ท่องผ่านคำพูดและความ (ชวน) คิด แทนที่จะเป็นด้านภาพและซีจี

Past Lives หนังรักสามเส้าที่เล่าอย่างไซไฟ แด่โชคชะตาและพื้นที่ในใจของสองคนทำได้แค่คิดถึง

ภาษา และ ‘ความโคเรียน’

สำหรับหนังเรื่องนี้ ‘วัฒนธรรม’ และ ‘ภาษา’ ถือเป็นประเด็นหลักที่มีส่วนขับเคลื่อนเรื่องราวเป็นอย่างมาก ภาษาในเรื่องนี้มีบทบาทเป็นทั้งตัวเชื่อมตัวละครให้อยู่ในโลกเดียวกัน และผลักตัวละครให้อยู่ในอีกโลก เช่น ฉากที่นอร่าฝันแล้วละเมอเป็นภาษาเกาหลี หรือพูดภาษาเกาหลีกับแฮซอง โดยที่สามีอย่างอาเธอร์ไม่เข้าใจเลย เหมือนที่ในชีวิตจริงไม่ใช่แค่ข้ามประเทศ ในบางครั้งประเทศเดียวกันแต่คนละภูมิภาคก็อาจสื่อสารกันไม่เข้าใจได้เช่นกัน 

และนั่นทำให้เกิดปัญหากับทำหน้าที่เป็นเส้นแบ่งเขตแดนทางความรู้สึก ในขณะที่ทางด้านวัฒนธรรม เราจะได้ยินคำว่า ‘โคเรียน’ ค่อนข้างจะบ่อยมาก (โดยเฉพาะฉากหนึ่งช่วงกลางเรื่องที่ถ้าไปดูอาจหลุดขำได้กับความโคเรียนถี่ ๆ) เพราะเซลีน ซง ต้องการถ่ายทอดความเป็น Immigrant ที่อยู่ระหว่าง 2 โลก ความรู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่ง และส่วนมากมักมีวัยเด็กภายใต้ชื่อใหม่และวัฒนธรรมใหม่ สิ่งนี้เป็นตัวจับแยกโมเมนต์ต่าง ๆ ในชีวิต จนกลายเป็นชีวิตตอนนั้น-ชีวิตตอนนี้ที่มากกว่าแค่วัยเด็ก-วัยผู้ใหญ่

เพราะคำว่า ‘ตัวตน’ เป็นคำที่พกความหมายเชิงวัตถุวิสัย (Objective) มาด้วย แต่ในขณะเดียวกันก็ลึกซึ้งกว่านั้น และภาษากับวัฒนธรรมมีส่วนในการสร้างตรงนี้ ตั้งแต่ประวัติ ครอบครัว ความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนกว่านั้น จึงทำให้เซลีนสับสนอยู่บ่อยครั้งตั้งแต่ตอนนั้นจนถึงทุกวันนี้ในบางที ว่าตกลงแล้วเธอเป็นอะไร เป็นใครกันแน่ คนเกาหลีหรือแคนาดา จนเลิกคิดเพราะสุดท้ายได้ข้อสรุปว่าเธอก็เป็นทั้งคู่นั่นแหละ เพียงแต่ยังไม่ชินกับการเปลี่ยนโหมดไปมาสักที โดยเฉพาะช่วงเวลาที่ได้คุยกับคนเกาหลี

ในหนังเราจะได้เห็นนอร่าหรือตัวแทนของเซลีน ซง เป็นทั้งสะพานเชื่อมอดีต-ปัจจุบัน เชื่อมนิวยอร์ก-กรุงโซล เชื่อมแฮซองกับอาเธอร์ สามีของเธอไว้ด้วยกันผ่านภาษา โดยที่แฮซองเองยังเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นคนเกาหลีที่ตามมาสะกิดไหล่แรง ๆ ด้วยเช่นเดียวกัน จะเห็นได้ชัดเมื่อนอร่าไปพบแฮซองมา และสามีเธอถามว่า “คุณรู้สึกว่าเขาดึงดูดมั้ยล่ะ” เธอตอบกลับว่า “ไม่คิดว่าอย่างนั้นนะ เขาเป็นเด็กที่อยู่ในหัวฉันมานานมาก และตอนนี้เขาอยู่นี่แล้ว ฉันคิดว่าฉันคิดถึงโซลมากกว่า” และพร้อม ๆ กัน เธอก็สังเกตเห็นความเป็นเกาหลีมากในตัวเอง และความเป็นเกาหลีน้อย (ความอเมริกันเยอะ) ของตัวเองอย่างเด่นชัดเมื่อพูดคุยกับแฮซอง

กล่าวได้ว่าคนคนเดียวที่พกโลกเกาหลีทั้งใบมาด้วย และเป็นหลักฐานว่าชีวิตเกาหลีของนายองมีอยู่จริง เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่จับต้องได้ มาอยู่ตรงหน้าจะจะ คือแฮซองที่เป็นตัวแทนวัยเด็กของนอร่า และเป็นเรื่องที่เจ็บปวดไม่น้อยที่การบอกลาแฮซอง ไม่เพียงแต่เป็นการบอกลาคนที่เคยรู้สึกดีต่อกัน หากแต่ยังเป็นการบอกลาทั้งชีวิตหรืออีกไทม์ไลน์ที่เธอไม่มีวันได้รู้ด้วย

Past Lives หนังรักสามเส้าที่เล่าอย่างไซไฟ แด่โชคชะตาและพื้นที่ในใจของสองคนทำได้แค่คิดถึง

นักแสดงที่ใช่

“สิ่งสำคัญคือฉันเชื่อว่าในฐานะศิลปิน ฉันจะต้องไม่ปล่อยให้คนอื่นใช้จินตนาการที่มีลิมิตมาตีกรอบจินตนาการของฉัน”

นี่คือคำปฏิญาณอันมุ่งมันของเซลีน ซง ที่พร้อมสู้ไม่ถอยหากค่ายต้องการให้เปลี่ยนใจความสำคัญ แต่กลับกลายเป็นว่าแม้เธอจะทำหนังครั้งแรก ค่าย A24 ก็ให้อิสระเต็มที่ ตั้งแต่กำกับ เขียนบท จนถึงการแคสต์ใครก็ตามที่อยากได้มารับบท แฮซอง กับ นอร่า ซึ่งพอเข้าทางแบบนี้ เซลีนเลยดำเนินตามความตั้งใจ คือแคสต์คนที่เธอมองว่าเคมีเหมาะกับบทและเข้าใจหัวอกหัวใจตัวละครเท่านั้น แน่นอนว่าต้องมีทั้งส่วนที่เหมาะและส่วนที่ต้องปรับ แต่ก็ไม่ต่างอะไรไปจากการแต่งงานและชีวิตคู่ หากจะมองมันในทำนองนั้นนะ

การแคสต์นักแสดงนำหนังเรื่องนี้เกิดขึ้นผ่าน Zoom เนื่องจากช่วงนั้นสถานการณ์โควิด-19 เรียกได้ว่ากำลังเข้มข้น แน่นอนว่าพอเป็นออนไลน์ การจะสังเกตเคมีนักแสดงเป็นเรื่องยากกว่าแบบ In Person มาก ๆ แต่สุดท้ายแล้วเธอก็ได้คิดวิธีคัดนักแสดงได้อย่างแม่นยำ นั่นคือให้สวัสดีและบอกลา และ เกรตา ลี (Greta Lee) ที่รับบทเป็น นอร่า กับ ยู แทโอ (Teo Yoo) มีเคมีตรงนี้ ซึ่งเป็นเรื่องบังเอิญที่ดีมากที่ทั้งคู่เจอกันครั้งแรกผ่าน Zoom เนื่องจากในหนัง ทั้ง 2 ตัวละครก็กลับมา Reconnect กันผ่านวิดีโอคอลด้วย Skype เช่นเดียวกัน

Past Lives หนังรักสามเส้าที่เล่าอย่างไซไฟ แด่โชคชะตาและพื้นที่ในใจของสองคนทำได้แค่คิดถึง

ในการรับบทนอร่า เกรตามองเป็นเหมือนการเปลือยกายล่อนจ้อนและถอดหน้ากากต่อหน้าคนดู เพื่อให้คนดูเชื่อและรู้สึกได้ถึงความซื่อสัตย์ทางความรู้สึกของตัวละคร และสิ่งที่เธอชอบเกี่ยวกับบทหนังเรื่องนี้ คือการพูดถึงไอเดียใหญ่ของความรักกับเงื่อนไขความเป็นมนุษย์

สำหรับเกรตา ลี ที่เคยมีผลงานการแสดงใน Russian Doll ของ Netflix และ The Morning Show ของ Apple TV+ มาแล้ว เธอต่างกับตัวละครนอร่าตรงที่เป็นคนเกาหลี-อเมริกัน แต่ความใกล้เคียงนี้ทำให้เธอเข้าใจและโอบรับความรู้สึกหรือเข้าไปสวมผิวหนังนอร่าได้อย่างเข้าอกเข้าใจได้ไม่ยาก ซึ่งตัวละครนอร่าไม่ได้เป็นอย่างที่เห็นในหนังหากไม่ได้นักแสดงคนนี้ เซลีนเห็นความเป็นผู้หญิงที่มุ่งมั่นแรงกล้า ทะเยอทะยาน มีแพสชัน รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร และแข็งแรงเด็ดเดี่ยวในตัวเอง (สิ่งนี้บอกได้แล้วว่าเธอเป็นตัวของตัวเอง และหลุดกรอบภาพสังคมของเกาหลีที่มีการวาดไว้ตั้งแต่โบราณนานมา) รวมไปถึงการเป็นผู้ใหญ่ที่โตแล้วและมีความเป็นเด็กผู้หญิงตัวน้อย ๆ ได้ในเวลาเดียวกันเช่นกัน 

เธอชอบบทหนังเรื่องนี้มากที่สุดตั้งแต่เคยแสดงเรื่องไหนมา เพราะพูดถึงประเด็นความเป็น ‘เอเชียน-อเมริกัน’ ได้อย่างเป็น Sci-fi และมากกว่าหนังรักสามเส้าที่เคยมีมา ถึงขั้นบอกว่าเป็นบทที่รอคอยมาตลอดชีวิต (รวมถึงชอบที่มันเป็นหนังที่ไม่การเมือง ไม่ชี้นิ้ว) ซึ่งตัวเกรตาเองก็เคยประสบกับวิกฤตเดียวกับนอร่า นั่นคือเกิดคำถามว่า ตัวเองเป็นใครกันแน่ จะเกาหลีหรืออเมริกัน และนอกจากนี้ยังมีแรงกระทำจากภายนอก เช่นการที่เคยมีคนพูดกับเธอว่า เธอเกาหลีไม่พอนะ แต่ในขณะเดียวกันก็มีคนบอกเธอว่า เธออเมริกันไม่พอ ถึงได้รู้สึกคอนเนกต์กับบทเป็นพิเศษ เรื่องตลกคือหลังจากเกรตาบอกกับครอบครัวและเพื่อน ๆ ว่าเธอจะรับบทนี้ หลายคนประหลาดใจด้วยซ้ำว่าเธอพูดเกาหลีได้

เกรตาเสียใจเป็นอย่างมากที่รู้ว่าตัวเองไม่ได้บทนี้ จนเวลาผ่านไปหลายปี เกรตา ลี ถอดใจด้วยความรู้สึกปล่อยวาง แต่แล้วเธอก็เซอร์ไพรส์มากที่เซลีนติดต่อกลับมา จนถึงกับกรี๊ดและร้องไห้ เหตุผลที่เซลีนติดต่อกลับมานั้นเพราะเธอกังวลเรื่อง Time Skip ว่าจะต้องหานักแสดงอายุในช่วงที่มีเลขนำหน้าเป็น 20 – 30 เท่านั้น และเกรตา ลี ดูอายุมากเกินไป (ปัจจุบันเธออายุ 40) แต่แล้วก็เกิดเปลี่ยนใจ เพราะมองว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือการหานักแสดงที่ใช่สำหรับบท และนั่นคือสิ่งที่สำคัญที่สุด

ส่วนทางด้าน ยู แทโอ นั้นกลับกัน เขามีประสบการณ์ร่วมกับตัวละครแฮซองน้อยมากจนถึงขั้นต้องปรับเปลี่ยนโหมดกันยกใหญ่เลยทีเดียวครับ ในชีวิตจริงแทโอเป็นหนุ่ม 3 ภาษา เกิดและโตที่เยอรมนี ก่อนที่จะมาเรียนต่อที่สหรัฐฯ จากนั้นค่อยมาเติบโตในวงการบันเทิงเกาหลี ฉะนั้น เรื่องที่พูดอังกฤษไม่ได้ ดูขี้อาย หรือเป็นภาพลักษณ์ของความเกาหลีแท้ ๆ ตัวจริงแทบจะตรงกันข้ามเลยล่ะครับ เพราะแทโอพูดอังกฤษคล่องปร๋อ แต่สิ่งที่นักแสดง 2 คนพูดเหมือนกันคือร้องไห้ ทั้งเกรตาและแทโอต่างร้องไห้เมื่อได้อ่านบท เพราะรู้สึกทัชเป็นอย่างมาก และแทโอก็ได้เผชิญกับวิกฤตตัวตนไม่แพ้เกรตา โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยความที่เขาเติบโตมากับ 3 ท่ี 3 ภาษา

Past Lives หนังรักสามเส้าที่เล่าอย่างไซไฟ แด่โชคชะตาและพื้นที่ในใจของสองคนทำได้แค่คิดถึง

‘อินยอน’ คำที่มีความหมายลึกซึ้งกว่า ‘โชคชะตา’

อีกหนึ่งใจความของหนังหรือต้องเรียกว่าเป็นใจกลางเลยคือ ‘อินยอน (In Yeon)’ หรือที่ภาษาบ้าน ๆ ว่า ‘โชคชะตา’ แต่สำหรับเกาหลีจะลึกซึ้งกว่านั้น วัฒนธรรมเกาหลีมีคำเรียกนี้เพื่อนิยามว่าการที่คนเรามาเจอกัน ทั้งลงเอยเป็นเพื่อน เป็นคู่ชีวิต หรือแม้กระทั่งเดินสวนกันในตลาดแล้วชายเสื้อแตะกัน เกิดมาจากสายสัมพันธ์ที่ทับซ้อนกันด้วยประวัติศาสตร์ร่วมถึง 8,000 ชั้น หรือทั้งคู่เคยได้ข้องเกี่ยวกันในชาติที่ผ่านมา และชาติหน้าต่อ ๆ ไป หากมันมีจริง

คอนเซปต์ของอินยอนถูกนำมาตีแผ่สู่สายตาชาวตะวันตกและชนชาติอื่น ๆ (เช่นเรา) อย่างน่าสนใจและทำให้หนังเรื่องนี้ลึกซึ้งและโรแมนติกมากกว่าประโยคจีบฝ่ายตรงข้ามที่พูดว่า ขอโทษนะครับ เราเคยเจอกันมาก่อนมั้ย หรือ ชาติที่แล้วเราต้องผูกพันกันทางใดทางหนึ่งแน่ ๆ เพราะอินยอนเป็นมากกว่านั้น และยังใช้กับคนที่พบเจออย่างเช่นเพื่อนหรือพ่อแม่ โดยไม่ได้รู้สึกในเชิงโรแมนติกได้ด้วยเช่นกัน (ประเทศไทยอาจแปลไปอีกทางคือชาติก่อนเคยมีกรรมร่วมกัน) 

การมาของอินยอนนั้นจะไม่ทันได้ตั้งตัว ปฏิเสธไม่ได้ เป็นโชคชะตาที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง เหมือนความรักที่จะเกิดก็ต้องเกิด และไม่ว่าจะลงเอยด้วยดีหรือไม่ ทำได้แค่ Live and Learn ไปกับชีวิตและคนที่ได้พบเจอ ว่ามีเจอก็มีจาก (แต่ก็เป็นเรื่องดีที่คนคนหนึ่งจะอยู่กับเราไปนาน ๆ และไม่จาก)

แม้คำนี้จะใช้กันบ่อยแล้วในชีวิตประจำวันของคนเกาหลี ในฐานะคำที่ชวนสงสัยว่าเรามีอดีตอะไรร่วมกันมานะถึงได้มาอยู่ที่จุดนี้ (บางคนใช้กระทั่งกับพนักงานร้านกาแฟ Starbucks) เหมือนที่ในบทสัมภาษณ์นักแสดงพูดกับผู้สัมภาษณ์ว่า “เราสองคนมีอินยอนเหมือนกันนะ” หรือผมที่จะพูดกับผู้อ่านและ บ.ก. ที่ตรวจบทความว่า “เรามีอินยอนต่อกัน” จนแทบไม่ได้มีความหมายลึกซึ้งอะไรขนาดนั้น แต่สำหรับนอร่าและแฮซอง คำนี้ทำหน้าที่เติมเต็มคำในช่องว่างถึงความสัมพันธ์ที่บรรยายถึงคนที่มาพบกันแล้วมีความรู้สึกพิเศษให้กัน แต่ไม่ใช่เพื่อน ไม่ใช่คนรัก และไม่ใช่อดีตคนรัก ในเวลาเดียวกันได้เป็นอย่างดี เพราะความรู้สึกพิเศษ 24 ปีนั้นไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ 

Past Lives หนังรักสามเส้าที่เล่าอย่างไซไฟ แด่โชคชะตาและพื้นที่ในใจของสองคนทำได้แค่คิดถึง

Method Acting เล็กน้อย

เซลีน ซง มีวิธีถ่ายทอดเรื่องราวที่ตัวละครไม่ได้เจอกัน 24 ปีได้ค่อนข้างน่าสนใจ ซึ่งต้องบอกว่ามีความเป็น Method Acting เล็กน้อย แต่ไม่ได้มีอะไรรุนแรงนะครับ (ฮา)

วิธีการคือไม่ว่าจะต้องเวิร์กช็อปหรือซ้อมบทซ้อนการแสดงร่วมกันอย่างไร เธอจะไม่ปล่อยให้แทโอกับเกรตาแตะตัวกันเลยแม้แต่นิดเดียว เพื่อที่จะให้ไปกอดกันทีเดียวตอนถ่ายทำจริง ซึ่งถึงแม้แทโอจะพูดกลับไปอย่างเซ็ง ๆ ขำ ๆ ว่า ไม่เอาหน่า เราเป็นนักแสดงมืออาชีพนะ เซลีนก็ยังยืนกราน ทำให้กลายเป็นว่าฉากนั้นที่เราได้เห็นนอร่ากับแฮซองกอดกันครั้งแรกในรอบ 24 ปีในหนังนั้นสมจริง ท้ายที่สุดทั้งคู่ยอมรับว่าได้ผล เพราะมีทั้งความรู้สึกรัก ผูกพัน และถวิลหาอยู่ลึก ๆ ถึงขนาดหัวใจเต้นแรงและเหงื่อออกกันเลยทีเดียว 

ไม่ใช่เพียงแค่คู่พระ-นาง (ที่ไม่ได้คู่กัน) สำหรับแฮซองกับอาเธอร์ (สามีนอร่า) ที่ต้องเจอกันเป็นครั้งแรกก็ด้วยครับ จอห์น มากาโร (John Magaro) และ ยู แทโอ ถูกเซลีนกันไม่ให้เจอกันเลย เพื่อจะได้ไปเจอกันครั้งแรกอย่างกระอักกระอ่วนใจจนทำตัวไม่ถูก ซึ่งทั้งคู่ก็ทำตัวไม่ถูกจริง ๆ และเทกที่อยู่ในหนังคือเทกแรกที่ถ่ายทำ ส่วนฉากที่นอร่ากับอาเธอร์นอนกอดกันบนเตียง (ไม่ใช่ Method แต่อยากเสริมเฉย ๆ ครับ) ได้ต้นแบบมาจากรูปถ่ายของ โยโกะ โอโนะ และ จอห์น เลนนอน ที่ทำให้เห็นด้านอ่อนแอ ไร้อีโก้ เป็นสามีหัวใหม่ และความเป็นสามีที่รักของนอร่าในหนัง

Past Lives (2023) หนังรักสามเส้าที่เล่าอย่างไซไฟโดยค่าย A24 แด่โชคชะตา พื้นที่เล็ก ๆ ในใจของคนสองคนที่คิดถึง แต่รักกันไม่ได้

เราสองสามคน

สิ่งที่ผมชื่นชอบเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ไม่ใช่แค่การพูดถึงรักสามเส้าและโชคชะตาของฉันและเธอได้อย่าง Sci-fi แต่ยังนำเสนอประเด็นเราสองสามคนได้อย่างดูมืออาชีพ สมความเป็นผู้ใหญ่ PAST LIVES นำเสนอเรื่องราวที่ไม่ได้มีตัวดี ตัวร้าย ที่ต้องการสร้างสถานการณ์เป็น-ตายให้กับหนัง (ถ้าจะมีตัวร้าย โชคชะตาก็ไม่ใช่ตัวร้ายอีกในเมื่อมันเป็นเรื่องของ ‘ทางเลือก’) แต่คนเข้าถึงได้ด้วยประเด็นความสัมพันธ์ ครอบครัว ชีวิตสมรส ความรัก โชคชะตา และอินยอนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว 

หนังเรื่องนี้ไม่ใช่หนังที่เราจะรอดูว่าสุดท้ายแล้วนอร่าจะทิ้งสามีหรือไม่ หรืออาเธอร์จะเป็น Evil American Husband ที่คอยขวางระหว่างเรื่องราวความรักที่ดูยิ่งใหญ่หากได้ลงเอยกันรึเปล่า หรือไม่มีแม้แต่โมเมนต์ข่มกันหรือโชว์ว่าใครเป็น Alpha Male กว่ากัน แต่ถึงอย่างนั้น ด้วยกำแพงภาษาทำให้ผู้ชายทั้งสองอดไม่ได้ที่จะรู้สึกอ่อนแอ ไม่ปลอดภัย และในหัวเต็มไปด้วยความหวาดกลัวบางอย่าง

สิ่งที่น่าสังเกตคือตลอดทั้งเรื่องเป็นเรื่องของการส่งสายตาที่ทำให้คนดูสัมผัสได้ถึงความเขิน ความอินเลิฟ ไปจนถึงความเศร้า โดยเฉพาะเมื่อนอร่ากับแฮซองมาเจอกัน ทั้ง 2 คนจ้องตากันอย่างไม่ลดละสมกับเป็นรักเก่าที่ไม่ได้เจอกัน 24 ปี แต่ไม่ว่าทั้งสองจะได้จูบกันหรือไม่ (เป็นสิ่งที่อยากให้ได้ไปดูกันเอาเอง) สิ่งหนึ่งที่ผู้กำกับเซลีน ซง ยึดมั่น คือในช่วงที่ยังคลุมเครือ ทั้งคู่จะไม่มีบทจูบกัน เพราะทั้ง 2 คนมีการสัมผัสกันทางสายตา สีหน้า การกอด ที่มีความ ‘จริงแท้’ พอแล้ว และกำลังเดิมพันกับอะไรที่ใหญ่กว่านั้นมาก และจะไม่ปล่อยให้จูบมาทำลายสิ่งนั้น

Past Lives (2023) หนังรักสามเส้าที่เล่าอย่างไซไฟโดยค่าย A24 แด่โชคชะตา พื้นที่เล็ก ๆ ในใจของคนสองคนที่คิดถึง แต่รักกันไม่ได้

ส่งท้ายด้วยน้ำตา

เพราะเรื่องราวพาร์ตที่สองสามคนมาเจอกันในหนังเรื่องนี้เกิดขึ้นเพียง 2 วัน 1 คืนเพียงเท่านั้น ทำให้ถึงแม้ว่าจะเดาไม่ออกและไม่คาดหวังว่าจะมีการจบแบบ ‘วิ่งหนีออกจากงานแต่งเพื่อรักแท้ แล้วทิ้งให้อีกคนยืนเศร้า’ อะไรทำนองนั้น ความรู้สึกที่ได้จากการดูหนังคือการไม่รู้เลยว่าจะมีทางออกอะไรที่ดีกับทุกฝ่าย และไม่มีคนเจ็บในความสัมพันธ์เราสามคนที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกนี้

2 นาทีสุดท้ายก่อนขึ้นแท็กซี่คือโมเมนต์ที่ตราตรึงและทรงพลังที่สุดของหนังชนิดที่เซลีน ซง บอกทั้งทีมงานและนักแสดงว่า “ฉากนี้จะต้องออกมาดีที่สุดนะ เพราะถ้าเราทำไม่ถึง ทั้งเรื่องจะไร้ความหมายไปโดยทันที” นี่คือฉากที่แฮซองกับนอร่าจ้องตากันเฉย ๆ เกือบจะ 2 นาทีตามเวลาจริงโดยไม่พูดไม่จา ซึ่งความเงียบนี้คือ Comfortable in Uncomfortable Silences ในแบบที่ตัวละคร มีอา (Mia) ในหนัง Pulp Fiction ของ เควนติน แทแรนติโน (Quentin Tarantino) เคยพูดไว้ และยังมีฉากคู่ขนานที่สะท้อนถึงฉากตอนเด็กที่ทั้งคู่แยกจากกันโดยไม่พูดจากันสักคำ (ความยากของฉากนี้นอกจากเป็นการแสดงแบบลองเทกแล้ว คือการที่เกรตา ลี ในบทนอร่าต้องแสดงยาวโดยเดินต่ออีก 150 ก้าว) ทำให้ต้องลุ้นว่าหลังจาก 24 ปี สุดท้ายแล้วทั้ง 2 คนจะพูดอะไรก่อนจากกัน ใครพูดก่อน หรือทั้งคู่จะจากกันจริง ๆ หรือไม่ นี่จะเป็นการเจอกันครั้งสุดท้ายรึเปล่า นั่นเป็นคำตอบที่จะต้องไปค้นพบในโรงหนัง 

ที่พอพูดได้คือเพียงความเงียบงัน ความแน่นอน และการแสดงออกทางสายตาของนักแสดงทั้งคู่ โดยไม่ต้องมีคำพูดใด ๆ (เพราะแทนหมื่นล้านคำแล้ว) ทำให้ฉากนี้เป็น 2 นาทีที่สำคัญที่สุดโมเมนต์หนึ่งในชีวิตของทั้งสอง ถ้าให้นั่งเฉย ๆ ไม่มีอะไรทำหรือรอข้าวเวฟเสร็จ อาจดูเป็นช่วงเวลาที่นานโข แต่สำหรับคนดูที่เข้าใจและสำหรับตัวละครที่รอการได้อยู่ด้วยกันแบบ In Person มาทั้งชีวิต นี่เป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ที่ได้แต่ภาวนาให้เกิดข้อขัดข้องทางหลักฟิสิกส์ของจักรวาลให้เวลาเดินช้าลง หวังให้รถติดเพื่อที่ Grab จะมาช้ากว่านี้ หรือร้องขอให้เวลาหยุดลงตรงนี้จะได้มั้ย เพื่อที่เราจะได้อยู่กันนานกว่านี้ 

และสิ่งที่นักแสดงบอกว่าพวกเขาคิดอะไรตอนมองหน้ากัน กับที่พอจะเดาได้ไม่ยากว่าทั้งสองคิดอะไรอยู่ตอนที่ไม่มีใครเอ่ยปากพูด คือการสแปมคำว่า “I love you” “I love you” “I love you” “I love you” “I love you” “I love you” “I love you” “I love you” “I love you” ภายในใจ ไม่รู้กี่สิบกี่ร้อยกี่พันครั้ง

Past Lives (2023) หนังรักสามเส้าที่เล่าอย่างไซไฟโดยค่าย A24 แด่โชคชะตา พื้นที่เล็ก ๆ ในใจของคนสองคนที่คิดถึง แต่รักกันไม่ได้

PAST LIVES เป็นทั้งหนังดราม่า (ห้าม) โรแมนติกที่พูดถึงตัวตน ความรู้สึก ความฝัน ในแบบมนุษย์ธรรมดาที่ความรู้สึกที่มีต่ออีกคนไม่เคยธรรมดา เป็นหนังที่พูดประเด็น What If? ที่ตั้งคำถามในเชิง ‘Sci-fi’ ให้เราเห็นถึงมัลติเวิร์สหรือจักรวาลคู่ขนานมากมายที่ไม่ใช่เส้นนี้ กับอดีต ปัจจุบัน อนาคต เป็นหนังที่พูดประเด็น ‘แฟนตาซี’ ในเรื่องโชคชะตา (อินยอน) หรือถ้าชาตินี้ชาติหน้ามีจริง เราเป็นใคร เคยทำอะไรร่วมกัน และจะได้ลงเอยกันมั้ยนะ โดยมีเรื่องของ เชื้อชาติ ภาษา เวลา และพื้นที่ ส่งผลอย่างไรต่อความ ‘ดราม่า-ไซไฟ-โรแมนติก-แฟนตาซี’ เหล่านี้

สำหรับผมแล้ว PAST LIVES เป็นหนังที่ทำให้คนดูคิดตามและคิดเลยหนังไปถึงเรื่องส่วนตัวทั้ง 3 ทิศของเส้นเวลาได้เก่งมาก นอกจากนี้ในแง่หนึ่ง แฮซองกับนอร่า ทั้ง 2 คนยังเหมือนเอเลียนบนดาวโลก (ในแง่ที่คน 2 คนที่คอนเนกต์กัน รู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งกับดาวเคราะห์ดวงหนึ่ง แต่รู้และอุ่นใจที่มีอีกคนที่รู้จักตัวตนกันดีและเข้าใจกัน ไม่ได้หมายถึงสัตว์ประหลาดสีดำมันวาวน้ำลายเป็นกรดที่ออกแบบโดย H.R. Giger นะครับ) เขารู้ว่ามีอีกคนอยู่เสมอ แต่ยืนอยู่คนละเส้นขนานที่ไม่มีทางบรรจบกัน และทำได้แค่เห็นกับรับรู้ถึงการมีตัวตนของอีกคน

ไม่ว่าจะอย่างไรหรือต่อให้เป็นหนังที่สร้างมาจากเรื่องส่วนตัวผู้กำกับ เซลีน ซง ไม่เคยต้องการให้ตัวหนังตีกรอบหรือพูดแทนคนดู หากแต่หวังให้หนังเป็นมวลก้อนของความรู้สึกที่มีช่องว่างพอให้คนดูแทรกตัวด้วยประสบการณ์และอารมณ์ร่วม 

“ทั้งหมดขึ้นอยู่กับว่าคุณเป็นใคร ทำไมคุณถึงดูหนังเรื่องนี้ คุณมองมันในแบบไหน หรือคุณเคยผ่านประสบการณ์แบบไหนมา และขึ้นอยู่กับสถานะความสัมพันธ์หรือ Love Story ของคนดู รีแอ็กชันที่ฉันได้ยินหลังจากคนที่ดูหนังจบแล้ว มีทั้งคนที่ตั้งคำถามว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากเราเลือก ‘รัก’ แทนที่จะเลือก ‘รุ่ง’ หรือจะเกิดอะไรขึ้นหากไม่จากคนหรือสถานที่ที่เคยจากมา คนที่ถามว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าเฉียบขาดในเรื่องนี้กว่านี้ คนที่ตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์ตัวเอง คนที่โทรหาแฟนเก่า คนที่ Appreciate รักของคู่ตัวเองมากขึ้น หรือบางคนถึงกับโทรหารักเก่าหรือรักที่ทำให้รู้สึกค้างคาใจ มันเป็นอะไรที่เกินไปกว่าความตั้งใจตอนแรกของฉันมากค่ะ”

PAST LIVES เรื่องราวของเอเลียน 2 ตัวที่ต้องแยกทางกันบนดาวโลก กับเส้นคู่ขนานที่ไม่มีวันบรรจบกัน ฉายแล้ววันนี้ ทุกโรงภาพยนตร์ครับ

ข้อมูลอ้างอิง
  • www.nbcnews.com
  • www.latimes.com
  • cnn.com 
  • ew.com
  • www.thewrap.com
  • time.com

Writer

Avatar

โจนี่ วิวัฒนานนท์

แอดมินเพจ Watchman ลูกครึ่งกรุงเทพฯ-นนทบุเรี่ยน และมนุษย์ผู้มีคำว่าหนังและซีรีส์สลักอยู่บนดีเอ็นเอ