พลังของหนุ่มสาวเป็นสิ่งมหัศจรรย์

ผมคิดอย่างนั้นเมื่อเห็นสิ่งที่ วิว-วิมลพร รัชตกนก และ ภูภู่-วิศรุต วิสิทธิ์ ได้ทำในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา

ชายหนุ่มหญิงสาวทั้งสองคือผู้ก่อตั้ง Spacebar Design Studio ที่เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ ในบทบาทของตัวละครสำคัญที่ขับเคลื่อนวงการ Zine อย่างแข็งขัน

หากใครได้ไปเดินงาน Bangkok Art Book Fair 2017 หรือ เทศกาลหนังสือศิลปะกรุงเทพฯ แล้วเห็นบูทที่คนมุงเยอะที่สุด-นั่นแหละบูทพวกเขา

จุดเด่นของวิวและภูภู่จากการสังเกตของผมคือเขาและเธอมีทั้งวิญญาณของศิลปินและผู้ประกอบการ มีทั้งเซนส์ของคนทำงานศิลปะและคนที่เท่าทันเทคโนโลยี ซึ่งส่งผลให้สตูดิโอของพวกเขาเติบโตขึ้นเรื่อยๆ อย่างช้าๆ แต่มั่นคงและลงลึก

ซึ่งคำว่า ‘เติบโต’ ในที่นี้ ผมไม่ได้ว่าหมายความเพียงขนาดของสตูดิโอที่วันนี้กว้างขวางขึ้นกว่าเมื่อครั้งที่เปิดวันแรก และไม่ใช่หมายถึงจำนวนพนักงานที่เพิ่มขึ้น แต่เติบโตในที่นี้ ผมหมายถึงสิ่งที่พวกเขาได้หว่านเมล็ดเอาไว้เริ่มงอกงาม

ไม่ว่าจะเป็นการทำเว็บไซต์ที่เริ่มมีการบอกปากต่อปากจนงานเริ่มล้นมือ หรือการเป็นส่วนหนึ่งที่ขับเคลื่อนวงการ Zine จนทุกวันนี้ Spacebar Design Studio น่าจะเป็นชื่อแรกๆ–หรืออาจเป็นชื่อเดียวด้วยซ้ำ เมื่อเรานึกถึงสถานที่ที่เปิดพื้นที่ให้ Zine โดยไม่ต้องรองานเทศกาลที่จัดปีละไม่กี่ครั้ง

คงอย่างที่ว่าไปในย่อหน้าแรก พลังของหนุ่มสาวเป็นสิ่งมหัศจรรย์ และนั่นเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผมเดินทางมาคุยกับเขาทั้งสอง

วิว-วิมลพร รัชตกนก และ ภูภู่-วิศรุต วิสิทธิ์

1.

ซีนเปิดตัว

หลังจากผลักประตูเข้าไป หญิงสาวผู้ก่อตั้งก็นั่งรอผมอยู่ก่อนแล้ว

เมื่อกวาดสายตาสังเกต ด้านหน้า-ผมเห็นนิทรรศการของศิลปินชื่อดังชาวไต้หวันนามว่า Enzo ที่กำลังจัดแสดงอยู่เป็นวันสุดท้าย ฝั่งซ้าย-เป็นเคาน์เตอร์ของร้าน ส่วนฝั่งขวา-อัดแน่นไปด้วย Zine หรือที่วิวขอนิยามง่ายๆ ด้วยคำไทยว่า ‘สิ่งพิมพ์อิสระ’ แทนคำว่า ‘หนังสือทำมือ’ ด้วยกลัวคนเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าต้องเย็บมือเท่านั้นหรือเปล่า

นิทรรศการ

ย้อนกลับไปก่อนหน้าที่วิวจะตัดสินใจเปิดสตูดิโอ เธอทำงานประจำอยู่ที่สื่อสำนักหนึ่งโดยมีงานเสริมที่ทำควบคู่ไปด้วยคือรับทำเว็บไซต์ ซึ่งเป็นทักษะที่ต่อยอดมาจากความสนใจส่วนตัวสมัยเรียน นับจนถึงวันนี้เธอทำมาแล้วกว่า 10 ปี จนวันหนึ่งเธอพบข้อเสียของการไม่มีออฟฟิศเป็นหลักเป็นแหล่งคือขาดความน่าเชื่อถือ เธอจึงตัดสินใจหาทำเลที่พอรับค่าเช่าไหวเป็นที่ปักหลักเปิดสตูดิโอ จนขยับขยายกลายมาเป็นสถานที่ที่เรานั่งคุยกันตอนนี้

หญิงสาวเล่าว่าสตูดิโอของเธอแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ Space Bar Online, Space Bar Zine และ Space Shop โดยส่วนที่เป็นรายได้หลักและหล่อเลี้ยงให้สตูดิโอของเธอให้อยู่รอดมาจนถึงทุกวันนี้คือ Space Bar Online ซึ่งรับทำเว็บไซต์

ลูกค้าที่มาจ้างเธอทำเว็บไซต์นั้นหลากหลาย ไล่ตั้งศิลปินยันนักธุรกิจ ไล่ตั้งแต่ เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ยันบริษัทขายอุปกรณ์ภาคพื้นท่าอากาศยาน

เว็บไซต์

ด้วยความที่ขาข้างหนึ่งคลุกคลีอยู่กับวงการสร้างสรรค์อยู่แล้ว ในขณะที่อีกขาหนึ่งก็คลุกคลีอยู่กับเหล่าโปรแกรมเมอร์ ทำให้เธอมีสิ่งที่หาไม่ได้ง่ายๆ ในบริษัทที่รับทำเว็บไซต์ นั่นคือสามารถเป็นตัวกลางคอยสมดุลระหว่างฝั่งดีไซเนอร์และฝั่งโปรแกรมเมอร์

“เหมือนเราเป็นล่ามระหว่างฝั่งนักออกแบบและฝั่งคนเขียนเว็บ” วิวเปรียบเทียบบทบาทของตัวเองให้เห็นภาพ “สมมตินักออกแบบเขาออกแบบเว็บไซต์มา เราจะเป็นคนดูว่าอันไหนใช้ได้หรือไม่ เพราะเราจะรู้ว่าฟังก์ชันที่นักออกแบบออกแบบมา ในเทคโนโลยีปัจจุบันอันไหนทำได้หรือไม่ได้ เราทำเว็บมาเยอะมาก โดยเฉพาะช่วงนี้ที่หลายคนวิ่งจากสื่อสิ่งพิมพ์ไปโลกออนไลน์”

เมื่อดูจากสิ่งที่เธอทำอย่างเว็บไซต์และ Zine ลึกๆ ผมค่อนข้างแปลกใจที่เห็นส่วนผสมทั้งสองนี้อยู่ในตัวคนคนเดียว

อันที่จริงเธอเชื่อในพลังของสิ่งพิมพ์หรือพลังของโลกออนไลน์กันแน่-ผมสงสัย

“เรารู้สึกว่ามันเกื้อกัน พอเราทำงานออนไลน์ เรารู้สึกว่ามัน transform กันไปมา ถ้าเราทำสิ่งพิมพ์เราจะได้ยินคนที่บอกเราว่า สิ่งพิมพ์มันตาย สิ่งพิมพ์ขายไม่ได้ แต่ถ้าคุณเอาสิ่งพิมพ์มาขายในออนไลน์มันขายได้นะ

“แล้วมีบางคนถามเราว่า ทำเว็บไซต์ได้เงินหลักแสน ทำซีนได้แค่เล่มละสองร้อย ทำไปทำไม เราก็ตอบว่ามันมีสิ่งที่ออนไลน์ให้เราไม่ได้เหมือนกัน เช่น ออนไลน์มันไม่ได้หยิบจับเป็นชิ้นเป็นอันออกมา ไม่ได้รู้สึกเหมือนเป็นการสะสม อย่างเราทำเว็บเราไม่ได้มองมันเป็นของสะสม มันเหมือนอยู่อีกโลกหนึ่ง แต่อย่างสิ่งพิมพ์ เราสามารถพูดได้ว่านี่คือสิ่งที่เราซื้อมาจาก Tokyo Art Book Fair เราเอามาหยิบ เอามาโชว์ได้ มันเป็นอารมณ์ของคนรักสิ่งพิมพ์แหละ ได้จับ ได้เปิด ได้เก็บขึ้นชั้น

“มันดูเป็นเรื่องง่ายมากเลยนะ แต่เราก็รู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ออนไลน์ให้เราไม่ได้”

Zine

Zine

2.

กำแพงเมืองซีน

หลังบทสนทนาเคลื่อนผ่านมาถึงเรื่อง Zine สายตาผมพยายามสังเกตที่ผนังซึ่งเต็มไปด้วยหนังสือขนาดกะทัดรัด-จะเรียกมันว่ากำแพงเมืองซีนก็คงไม่ผิดนัก เพื่อพยายามนับว่า Zine บนชั้นมีกี่เล่ม

“ถ้านับจากวันแรกตอนนี้ เรามี Zine เกิน 50 ปกแล้วที่เคยวางขายที่ร้าน ส่วนตอนนี้ก็มีประมาณ 30 กว่าปก” หญิงสาวคลี่คลายเมื่อผมตัดสินใจถามทันทีที่เห็นว่านิ้วมือไม่พอนับ

ฟังดูเหมือนไม่มีอะไรยาก ก็แค่รับมาขาย แต่ถ้ามันง่ายดายขนาดนั้นคงมีร้านแบบนี้เกลื่อนเมืองไปแล้ว

หลายคนอาจนึกไม่ออกว่ายากยังไง เลยขอพูดให้เห็นภาพ สมมติเราอยากเปิดร้านขายเสื้อผ้า เรายังพอรู้ว่าไปรับเสื้อผ้าราคาถูกจากที่ไหนมาขายได้ หรือถ้าจะเปิดแผงขายผักผลไม้ เราก็รู้ว่าต้องไปซื้อหาวัตถุดิบราคาส่งจากตลาดใด แต่กับ Zine สมมติเรามีใจอยากขาย คุณนึกออกไหมว่าเราจะไปหา Zine จากไหน

ยิ่งย้อนกลับไป 2 ปีก่อนตอนที่ Zine ยังเป็นคำแปลกหูในบ้านเรายิ่งยากเข้าไปใหญ่

สิ่งที่จุดประกายให้หญิงสาวเห็นแสงสว่างบนเส้นทางนี้คือ การได้ไปร่วมงาน Make A Zine ทั้งสองครั้ง ซึ่งจัดโดยนิตยสาร a day ท่ามกลางคนธรรมดามากมายที่ทำหนังสือทำมือมาแลกมาขาย เธอเห็นความเป็นไปได้ที่เริ่มก่อตัว

“โชคดีที่เจองาน Make A Zine เราเห็นเสน่ห์ที่สำคัญที่สุดของมันคือ ใครก็เป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ได้” วิวเริ่มเล่าเมื่อผมย้อนถามถึงจุดเริ่มต้นที่หันมาสนใจขับเคลื่อนวงการ Zine ในบ้านเรา “หมายถึงว่าเมื่อก่อน คนเราหรือแม้กระทั่งตัวเราเอง เวลาทำงานอะไรสักอย่างแล้วจะโพสต์ลงเพจจะกลัวว่าจะโดนตัดสิน กลัวว่าคนจะถามว่ามึงเป็นใครวะ ทำไมกล้าเอางานตัวเองมาโพสต์ แต่จากงานนั้นทำให้เรารู้สึกว่าเป็นไปได้ ครั้งที่ 1 เราทำ Zine ไปแลก ปรากฏว่าหมดเกลี้ยง แล้วยังมีคนหลังค์ไมค์มาถามอีกว่ายังเหลืออยู่ไหม ก็เลยรู้สึกว่าเป็นไปได้ว่ะ พองานจัดครั้งที่ 2 เราทำไปขาย 100 เล่ม ก็ขายหมดเลย เฮ้ย มันเป็นไปได้ว่ะ

“แต่ตอนนั้นเรารู้สึกว่าคนยังต้องพึ่งกับเทศกาลทุกครั้ง ต้องรอว่าเมื่อไหร่จะมีใครจัดงาน Zine อีก เพราะอยากปล่อยของ เราก็เลยคิดว่าจริงๆ มันไม่ต้องเป็นเทศกาลก็ได้นี่หว่า และเราก็ถามตัวเองว่าในไทยมีที่ไหนบ้างที่ทำหน้าที่นี้ เฮ้ย ไม่มีว่ะ

“ทำไมเราถึงไม่มีพื้นที่ที่เมื่อไหร่ก็มี Zine”

วิมลพร รัชตกนก

วิมลพร รัชตกนก

และเป็นคำถามนั้นเอง ที่ทำให้เกิด Space Bar Zine ซึ่งทำครบวงจรเกี่ยวกับการ Zine ไม่ว่าจะเป็น หนึ่ง-รับฝากขาย สำหรับคนที่ไม่รู้ว่าทำเสร็จแล้วจะไปวางจำหน่ายที่ไหน สอง-รับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและช่วยผลิต Zine ในฐานะโปรดิวเซอร์ สำหรับคนที่มีเรื่องเล่า มีไอเดีย แต่ไม่รู้จะเริ่มยังไง สาม-จัดเวิร์กช็อป เพื่อสร้างคอมมูนิตี้คนทำ Zine ให้แข็งแรงขึ้น

ในเมื่อ Zine ไม่ใช่สินค้าที่อยู่ๆ นึกจะขายก็ไปรับมาขายอย่างที่ว่าไป เธอจึงต้องทำหน้าที่ส่งเสริมการผลิตไปด้วย

“เราได้แรงบันดาลใจมาจากช่วงที่เราไปตามร้าน Zine ที่ญี่ปุ่น ที่นั่นมีวัฒนธรรมของ Zine ที่ดีมาก มีสตูดิโอเล็กๆ แห่งหนึ่งเขาตั้งกฎเกณฑ์ขึ้นมาว่าแต่ละเดือนจะคิดธีมขึ้นมา แล้วชวนแม่บ้าน ลูกเด็กเล็กแดงมาร่วมเวิร์กช็อป พิมพ์ Zine ขายกันที่ร้าน โดยที่ร้านจะหักเปอร์เซ็นต์จากการขาย แล้วที่ร้านมี Zine วางขายเยอะมาก

“ทุกวันนี้เราก็พยายามมากที่จะ educate คน แต่การ educate ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าไปยืนอธิบายหรือทำคอนเทนต์ออกมาสอน แต่ว่าการที่เราเอางานมาปล่อย หรือกระทั่งการที่ใครสักคนหยิบ Zine สักเล่มขึ้นมาเปิดู มันก็เป็นวิธีการหนึ่งที่เขาจะเข้าใจ Zine เหมือนกันนะ”

แล้วถ้าเป็นอย่างที่เธอว่า คุณลองคิดเอาเองว่า ร้านที่มี Zine จำนวนเกือบครึ่งร้อยวางเรียงบนผนังจะทำให้เราเข้าใจ Zine ได้มากขึ้นแค่ไหน

Zine

3.

ขโมยซีน

หนึ่งอุปสรรคที่ทำให้คนยังมอง Zine เป็นเรื่องไกลตัว คือการที่ใครบางคนยังมองว่าคนทำซีนต้องเป็นคนทำงานศิลปะ เป็นนักออกแบบ-คนธรรมดาอย่างฉันทำไม่ได้หรอก

แต่จากยอดขายที่ท่วมท้นถล่มทลายในงาน Bangkok Art Book Fair 2017 จนแทบจะเรียกว่าขโมยซีนในงานก็ไม่ผิดนัก ก็ช่วยยืนยันว่า เรื่องเล่าจากคนธรรมดาที่อาจจะสนใจการเขียนหรือมีเรื่องเล่า ก็ทำออกมาเป็น Zine ที่ผู้คนสนใจได้

“ก่อนหน้านี้คนจะมองว่า Zine จับต้องยาก แล้วมันจะมีความงงนิดนึงว่าข้อจำกัดของ Zine คืออะไร เราก็เลยเอาทักษะของการที่เราสื่อสารบนออนไลน์มาเล่า ว่า Zine คือเรื่องง่ายมากนะคะ มันคือสิ่งพิมพ์อิสระที่คุณจะพิมพ์อะไรก็ได้ รูปแบบ Zine ของสเปซบาร์เราจะพยายามทำให้ง่าย เป็นขนาด A4 ที่พับครึ่งเป็น A5 แล้วเย็บแบบมุงหลังคาเสียเยอะ เราทำวิธีการให้มันจับต้องง่าย ทำให้เขาเห็นว่ามันเกิดขึ้นได้จริง อาจจะด้วยสกิลล์การขี้ขาย เราก็เลยรู้เลยว่าเราจะทำให้คนเข้าใจได้ยังไง เข้ามาถึงก็จะอธิบายว่าซีนคืออะไร ถ้าจะทำซีนเริ่มต้นยังไง เรามีกระดาษอะไรให้เลือกบ้าง ช่วยเขาทำมันขึ้นมา เราพยายามทำให้เป็นมิตรมากขึ้น”

Zine Zine

“แล้วทำไมเราต้องทำ Zine ในเมื่อก็มีสิ่งพิมพ์ประเภทอื่นอย่างหนังสือเล่มหรือนิตยสารให้เสพมากมายอยู่แล้ว” ผมถามในสิ่งที่สงสัย

“เราชอบเสน่ห์ของมันตรงที่ใครๆ ก็ทำได้ แล้วมันทำให้เราเป็นคนที่กล้าโชว์สิ่งที่เราทำโดยที่ไม่ต้องยึดติดกับกรอบว่าคนจะมองยังไง แล้วเสน่ห์อีกอย่างของ Zine คือมันจะส่วนตัวแค่ไหนก็ได้ สมมติเราจะออกหนังสือสักเล่มเราก็จะคิดเยอะว่าเราจะเล่าเรื่องนี้ดีไหม แต่ Zine เราเล่าได้หมด ที่ร้านมีแม้กระทั่ง Zine เรื่องเซ็กซ์ครั้งแรก ซึ่งมันส่วนตัวมาก แต่ก็ทำออกมาได้

“หรืออย่างพี่โลเล (ทวีศักดิ์ ศรีทองดี) เขาทำโปรเจกต์ศิลปะ วาดตัว Monster เอาไปไว้ในหมู่บ้านที่ญี่ปุ่น แล้วให้คนแก่ถือแล้วถ่ายรูปเพื่อส่งให้ลูกๆ ดูว่าพ่อแม่โดน Monster โจมตี กลับมาบ้านบ้างนะ ซึ่งมันเป็นโปรเจกต์ที่น่ารักมาก ซึ่งเขาบอกว่าถ้าไปเสนอสำนักพิมพ์มันก็จะสั้นเกินไป แต่พอเป็น Zine มันทำได้ ก็เลยออกมาเป็น Zine ชื่อ Monslolita

เพราะฉะนั้น ถ้าให้เรานิยาม Zine เราว่ามันคือสิ่งที่เราชอบและอยากทำ และเมื่อใดที่มันกลายเป็นสิ่งที่ไม่ได้อยากทำแต่ต้องทำ มันก็อาจจะไม่ใช่ Zine”

Zine

Zine

Zine

4.

เลิฟซีน

นับจากวันที่เปิดร้านในทำเลแรกจนถึงตอนนี้ ผมพอจะมองเห็นความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง

ไม่ว่าจะเป็นขนาดของร้านที่กว้างขวางขึ้นแบบเท่าตัว จำนวน Zine ที่เพิ่มขึ้น วงการ Zine ที่คึกคักขึ้นและเข้าถึงง่ายขึ้น เครื่องพรินต์ที่ใหญ่ขึ้น แพงขึ้น เพื่อช่วยให้ผลิต Zine ได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น รวมถึงกิจกรรมต่างๆ ก็ถี่ขึ้น

แต่ยังไม่ทันที่ผมจะเอ่ยปากชมเชยสิ่งที่ Spacebar Design Studio ได้ทำ หญิงสาวผู้ก่อตั้งก็รีบออกตัว

“คนจะมองเหมือนว่าเราเล่นใหญ่มาก จะทำคอมมูนิตี้ อยากให้มันเกิดอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งจริงๆ เราสารภาพว่าเราเป็นคนที่ชอบทำงานเฉยๆ เราไม่มีจุดหมายเลยว่าฉันจะทำให้สังคมของ Zine เกิดขึ้น พูดตรงๆ ว่าเรากับภูภู่แค่ชอบทำงาน เห็นอะไรที่หยิบจับมาทำงานได้เราก็ทำ”

“ทำแล้วได้อะไร” ผมชวนเขาทั้งสองทบทวน

“คงแล้วแต่ประเภทของคนมั้ง เราแค่เป็นคนที่ชอบชาเลนจ์ตัวเองมากๆ สมมติทำอะไรจะต้องทำให้เสร็จ ทำให้ได้ พอเริ่มทำ Zine ก็อยากจะทำให้ได้

Zine

Zine

“สิ่งที่ได้สำหรับเราคงเป็นการที่รู้สึกว่างานที่ตัวเองทำมันมีคุณค่า รู้สึกว่ามันไม่ได้ปล่อยไปเฉยๆ มีคนที่เห็นในสิ่งที่เราทำ เราว่ามันก็เป็นสิ่งที่คนทำงานทั่วไปรู้สึกภูมิใจ

“รางวัลของการทำร้านคือการเห็นคนตัวเล็กๆ ได้มีสิ่งที่ตัวเองอยากทำ ในขณะที่เขาไม่กล้าไปทำที่อื่น นี่เป็นเรื่องที่เราภูมิใจที่สุด เรารู้สึกว่าเราสามารถทำให้คนตัวเล็กๆ มี Zine ของตัวเอง เราได้เห็นสายตาของเขาตอนที่เขาบอกว่า ‘ขอบคุณมากเลยนะครับ’ เหมือนเราได้สร้างโอกาสให้คน รู้สึกว่างานที่ทำเราไม่ได้ตอบแค่ตัวเองแล้ว แต่เราทำแล้วเราได้ให้คนอื่นด้วย

“นี่เป็นสิ่งพิเศษอีกขั้นของการทำงานนะ จากที่เราทำงานแล้วรู้สึกเติมเต็มตัวเอง แต่นี่เหมือนเราเติมให้คนอื่น แล้วเราก็ได้รับกลับมาด้วย”

โพลารอยด์Zine

The Rule

  1. สิ่งที่ชอบกับสิ่งที่ทำเงิน ถ้าเราทำให้ทั้งสองอย่างนี้ไปด้วยกันหรือเกื้อหนุนกันได้ เราจะไปต่อได้
  2. ถ้าเรามองธุรกิจให้เป็นการใช้ชีวิตและเรียนรู้ มันก็จะไม่มีวันเจ๊ง
  3. หาชาเลนจ์ให้กับงานอยู่เสมอ รู้จักปรับเปลี่ยนและพัฒนาตัวงานไปเรื่อยๆ อย่าหยุดนิ่ง

Writer

Avatar

จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์

อดีตบรรณาธิการบทสัมภาษณ์ The Cloud และเจ้าของนามปากกา jirabell เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่มชื่อ เราไม่ได้อยู่คนเดียวอยู่คนเดียว, ความทรงจำอยู่ที่ไหน ความคิดถึงอยู่ที่นั่น, Lonely Land ดินแดนเดียวดาย, The Fairy Tale of Underfox และ รักเขาเท่าทะเล

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan